โรคเส้นเลือดสมอง


บุคคลทุกคนมีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดสมอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีอายุมากกว่า 45 ปี และมีปัจจัยเสี่ยง

1. โรคเส้นสมองมีอาการแสดงอย่างไรบ้าง และต้องช่วยเหลือเบื้องต้นอย่างไร
ตอบ สมองของเราจะควบคุมการทำงานของร่างกายด้านตรงข้ามตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า และมีหลอดเลือดมาเลี้ยงแยกกันทั้งสองข้าง เมื่อเกิดเส้นเลือดสมองตีบหรือแตกข้างใดข้างหนึ่งก็จะแสดงอาการผิดปกติของ ร่างกายข้างตรงข้าม มักเป็นทั้งซีก
อาการที่พบบ่อยได้แก่ แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก ชาครึ่งซีก พูดไม่ชัด การมองเห็นผิดปกติ (เห็นภาพซ้อน มองไม่เห็นครึ่งซีก หรือมองไม่เห็นเลย) เวียน ศีรษะโคลงเคลง ทรงตัวไม่ได้ ปวดศีรษะรุนแรงหรือต่างจากที่ปวดเป็นประจำ อาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน ดังนั้นเมื่อพบผู้ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมองให้รีบนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที

2. หากเป็นโรคนี้แล้ว ต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลนานเท่าไหร่
ตอบ ระยะเวลาการรักษาตัวในโรงพยาบาลขึ้นกับความรุนแรงของโรค ถ้าความรุนแรงน้อย เช่น พูดไม่ชัด แขนขาอ่อนแรงเล็กน้อย ใช้เวลาอยู่ในโรงพยาบาลประมาณ 3-7 วัน ถ้าความรุนแรงมาก เช่น ซึม ขยับแขนขาไม่ได้ นอนติดเตียง ต้องนอนโรงพยาบาลอย่างน้อย 7 วัน แต่ผู้ป่วยที่มีอาการมากมักมีผลแทรกซ้อนระหว่างนอนโรงพยาบาล เช่น ติดเชื้อในปอด/ทางเดินปัสสาวะ แผลกดทับ และ ลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดดำที่ขา ซึ่งมีความจำเป็นต้องอยู่โรงพยาบาลนานขึ้น

3. การดูแลผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องเดินลำบากที่บ้านต้องดูแลอย่างไร มีอุปกรณ์ช่วยเดินอะไรบ้าง
ตอบ บ่อยครั้งที่เราจะพบผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองกับปัญหาการช่วยเหลือตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีปัญหาอ่อนแรงครึ่งซีก จะทำให้หยิบจับสิ่งของและเคลื่อนไหวลำบาก โดยทั่วไปผู้ป่วยที่มีอาการมากจะได้รับการกาพภาพบำบัดตั้งแต่อยู่ในโรง พยาบาล ฝึกให้ช่วยเหลือตนเองเบื้องตน ร่วมกับใช้อุปกรณ์เสริม สำหรับการเดิน เช่น อุปกรณ์เสริมเพิ่มความแข็งแรงของขา ไม้ค้ำยัน ไม้เท้าในลักษณะต่างๆ


4. หากเป็นโรคเส้นเลือดสมองแล้ว ต้องเป็นอัมพาตทุกคนหรือไม่
ตอบ ไม่ทุกรายที่จะเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต โรคเส้นเลือดสมอง มีอาการตั้งแต่รุนแรงน้อยไปมาก บางรายเป็นเพียงชั่วคราวแล้วหายไปภายในเวลาไม่เกิน 24 ชั่วโมง หรือที่เรียกว่า Transient ischemic attack (TIA) ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มที่เป็น TIA ก็ จะกลับมามีอาการเหมือนปกติ ผู้ป่วยที่มีอาการน้อยหลายๆ ราย ก็สามารถกลับมาเป็นปกติ หรือใกล้เคียงปกติได้ หลังการรักษาด้วยยาและกายภาพบำบัด  โดยเฉพาะ 3-6 เดือน แรกหลังเกิดอาการโรคหลอดเลือดสมอง ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นกับความรุนแรงของพยาธิสภาพในสมอง และสภาวะร่างกายและจิตใจของผู้ป่วยแต่ละคน

5. ความดันโลหิตสูง เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เส้นเลือดสมองแตกใช่หรือไม่
ตอบ ใช่ ความดันโลหิตสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักอย่างหนึ่งของเส้นเลือดสมองแตกและเป็น ปัจจัยที่สามารถควบคุมได้ ผู้ที่มีโรคความดันโลหิตสูงจะมีความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองทั้งตีบและแตก มากกว่าคนปกติ 2 ถึง 5 เท่า ถ้าควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติจะสามารถลดโอกาสการเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้ประมาณ 30 ถึง 40% ซึ่งสามารถทำได้โดยควบคุมอาหารโดยเฉพาะอาหารมัน และเค็ม  ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานยาลดความดัน และมาพบแพทย์ตามนัดอย่างเคร่งครัด


ข้อคำถาม (FAQ)

1. ทราบมาว่าอาการของโรคเส้นเลือดสมองตีบ หรืออุดตันต้องรีบมาโรงพยาบาลภายใน 3 ชม. จะช่วยส่งผลให้การรักษาที่ได้ผลดีกว่าอย่างไรคะ

ตอบ ปัจจุบันสำหรับโรคหลอดเลือดสมอง โดยเฉพาะเส้นเลือดสมองตีบ ถ้ามาโรงพยาบาลภายใน 3 ชั่วโมงหลังเกิดอาการ สามารถให้ยาละลายลิ่มเลือด (recombinant tissue plasminogen activator หรือ Actilyse) ซึ่งตัวยาจะไปสลายลิ่มเลือดที่อุดตันอยู่ จากการศึกษาพบว่าผู้ป่วยที่ได้รับยาจะดีขึ้นมากกว่าผู้ไม่ได้รับยาประมาณ 30% โดยจะดีขึ้นใกล้เคียงปกติหรือเหลือความพิการเพียงเล็กน้อยที่ 3 เดือนหลังให้ยา


2. บุคคลกลุ่มใดมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคเส้นเลือดสมอง

ตอบ บุคคลทุกคนมีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดสมอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีอายุมากกว่า 45 ปี และมีปัจจัยเสี่ยงดังต่อไปนี้ สูบบุหรี่ ดื่มสุรา เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดส่วนปลาย หัวใจเต้นผิดจังหวะ ไขมันในเลือดสูง อ้วน ขาดการออกกำลังกาย และผู้มีประวัติโรคหลอดเลือดสมองในครอบครัว ไม่ทุกคนที่มีปัจจัยเสี่ยงจะต้องเป็นโรคหลอดเลือดสมอง และผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองอาจมีเพียงปัจจัยเสี่ยงอย่างใดอย่างหนึ่ง คำแนะนำสำหรับบุคคลทั่วไป ควรตรวจเช็คร่างกายประจำปี ถ้าพบความผิดปกติให้พบแพทย์เพื่อได้รับการดูแลถูกต้อง จะช่วยลดโอกาสการเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้


3.  มีการตรวจอะไรที่ช่วยประเมินความเสี่ยงของโรคเส้นเลือดสมองได้บ้าง

ตอบการตรวจประเมินความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง ที่นอกเหนือจากการตรวจปัจจัยเสี่ยงที่กล่าวข้างต้น คือการตรวจประเมินการทำงานของหลอดเลือดสมอง หลอดเลือดบริเวณคอ และหัวใจ ทำได้โดย เอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (magnetic resonance angiography) การใช้คลื่นเสียงหรืออัลตราซาวนด์ (carotid duplex and transcranial doppler ultrasound) และตรวจหัวใจโดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูง (echocardiography)

ปัจจุบันการตรวจด้วยเครื่องมือเหล่านี้เริ่มเป็นที่แพร่หลายมากขึ้น  แต่ ไม่แนะนำให้ตรวจในบุคคลทั่วไป ยังจำกัดอยู่เฉพาะในผู้ป่วยโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง หรือบุคคลที่สงสัยว่ามีความผิดปกติของหลอดเลือดเท่านั้น


ด้วยความปรารถนาดีจาก โรงพยาบาลสมิติเวช
//www.samitivejhospitals.com/allhealth_article_detail.aspx?id=219&lid=th



Create Date : 15 ธันวาคม 2553
Last Update : 15 ธันวาคม 2553 18:25:47 น.
Counter : 1019 Pageviews.

1 comments
  
โดย: MaFiaVza วันที่: 15 ธันวาคม 2553 เวลา:19:41:34 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Samitivejhospitals.BlogGang.com

samitivej
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]

บทความทั้งหมด