ซีสต์ที่เต้านม


ถุงน้ำที่เต้านม หรือที่เรียกว่า ซีสต์ Breast cysts คือถุงที่มีน้ำอยู่ภายในที่อยู่ที่หน้าอก (แปลแบบตรงตัวกันไปเลย) แต่ละคนอาจจะพบซีสต์ได้ บางคนเจอหลายซีสต์ก็พบได้บ่อย ส่วนใหญ่แล้วจะมีรูปร่างกลม และขอบเรียบ ถ้าเป็นซีสต์ที่ใหญ่พอสมควรอาจจะคลำได้ และรู้สึกเหมือนองุ่นนุ่มๆ หรือลูกโป่งที่มีน้ำอยู่ภายใน



ส่วนใหญ่จะพบในผู้หญิงอายุ 30 ขึ้นไป และจะยุบลงได้หลังจากเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน ยกเว้นว่ารับประทานยาฮอร์โมนทดแทน ซีสต์ที่หน้าอก ไม่จำเป็นต้องรักษายกเว้นว่ามีขนาดใหญ่หรือมีอาการเจ็บ ซึ่งส่วนใหญ่จะให้การรักษาโดยการเจาะดูดน้ำออกมาเท่านั้น

อาการของถุงน้ำที่หน้าอกได้แก่

• คลำได้ก้อนที่หน้าอก เป็นก้อนที่ค่อนข้างเรียบกลม และกลิ้งไปมาได้
• มีอาการเจ็บบริเวณที่มีก้อน
• ก้อนที่คลำได้จะมีขนาดใหญ่ขึ้นและตึงขึ้นในช่วงก่อนมีประจำเดือน และจะเล็กลงหลังหมดประจำเดือน

สิ่งสำคัญที่ต้องรู้เพื่อจะได้ไม่ต้องกังวลคือ การมีซีสต์แบบธรรมดา Simple cyst ไม่ได้เป็นปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงมะเร็งเต้านม หากคลำหน้าอกตรวจด้วยตนเองแล้วพบว่ามีก้อนใหม่เกิดขึ้น หรือก้อนที่เคยพบอยู่เดิมมีขนาดใหญ่ขึ้นควรพบแพทย์เพื่อตรวจให้แน่ใจ

สาเหตุ
เต้านมแต่ละข้างจะมีเนื้อเยื่อของต่อมน้ำนม อยู่ 15-20 กลุ่ม และมีการแตกออกเป็นท่อน้ำนมในแต่ละกลุ่มเพื่อให้ในการสร้างน้ำนม ท่อน้ำนมเหล่านี้ก็จะเป็นที่สะสมของน้ำนมที่สร้างขึ้นมา
ถุงน้ำที่เต้านม เกิดจากต่อมและเนื้อเยื่อรอบ ๆ มีการโตขึ้นผิดปกติ และไปอุดกั้นท่อน้ำนม ทำให้มีการขยายออกของท่าน้ำนมและมีของเหลวเข้าไปสะสมอยู่
• Microcysts เป็นซีสต์ที่มีขนาดเล็กมากจนไม่สามารถคลำได้ แต่จะพบได้เมื่อทำการตรวจ แมมโมแกรมหรืออัลตราซาวน์
• Macrocysts เป็นซีสต์ที่มีขนาดใหญ่ที่สามารถคลำได้ ส่วนใหญ่ที่สามารถคลำได้ชัดเจนคือ 2.5 เซนติเมตร ถ้ามีขนาดใหญ่มากจะเบียดเนื้อเยื่อรอบ ๆ ทำให้มีอาการเจ็บได้

สาเหตุของซีสต์ที่เต้านมไม่ชัดเจน แต่อาจจะเกิดจากการมีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายมากเกินไป
การตรวจและวินิจฉัยซีสต์ที่เต้านมมักจะทำหลังจากที่ตัวคุณหรือแพทย์ตรวจร่างกายพบว่ามีก้อนที่เต้านม โดยจะทำการตรวจต่อไปนี้

• การตรวจคลำเต้านมโดยแพทย์ แต่การตรวจนี้จะยังไม่สามารถบอกได้ว่า ก้อนที่ตรวจพบเป็นก้อนเนื้อหรือถุงน้ำกันแน่ จึงควรจะต้องทำการตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ เพื่อยืนยัน
• การตรวจอัลตราซาวน์เต้านม จะช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยได้ว่าก้อนที่ตรวจพบเป็นก้อนเนื้อหรือถุงน้ำ
• การเจาะดูดของเหลวด้วยเข็ม Fine-needle aspiration เป็นการตรวจที่แพทย์จะทำการเจาะดูดของเหลวออกจากในก้อนถุงน้ำ ถ้าของเหลวที่ดูดออกมาไม่มีเลือดปนก็ไม่ต้องทำการตรวจอย่างอื่นต่อ แต่ถ้ามีเลือดปนอยู่ในนั้นด้วยต้องส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม ถ้าดูดของเหลวไม่ออก หรือก้อนไม่ได้ยุบลงแสดงว่ามีส่วนที่เป็นเนื้อปนอยู่ด้วย จะต้องทำการส่งตรวจเพื่อหาเซลล์มะเร็งต่อไป

การรักษา
1. การใช้ฮอร์โมน โดยการใช้ยาคุมกำเนิดเพื่อปรับระดับฮอร์โมนในร่างกายและประจำเดือน อาจจะช่วยลดการเกิดถุงน้ำที่เต้านมได้ การหยุดฮอร์โมนทดแทนในหญิงวัยทองก็จะช่วยได้เช่นกัน
2. การผ่าตัด ในบางรายจำเป็นต้องผ่าตัด เช่นอาการค่อนข้างมาก หรือมีการเจาะดูดออกแล้วพบเลือดปน หรือสงสัยความเสี่ยงในการเกิดมะเร็ง

การป้องกันถุงน้ำที่เต้านม
• สวมชุดชั้นในที่มี support อาจจะช่วยบรรเทาอาการเจ็บได้
• หลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟ ยังไม่มีการวิจัยใดที่แสดงว่ามีความสัมพันธ์กับการเกิดถุงน้ำ แต่สำหรับอาการต่าง ๆ พบว่าอาการจะบรรเทาลงหากหยุดการดื่มกาแฟ
• ลดการรับประทานอาหารเค็ม เพราะความเค็มจะทำให้เกิดการคั่งของน้ำในร่างกาย


ด้วยความปรารถนาดีจาก โรงพยาบาลสมิติเวช



Create Date : 12 ตุลาคม 2553
Last Update : 12 ตุลาคม 2553 15:29:52 น.
Counter : 2438 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Samitivejhospitals.BlogGang.com

samitivej
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]

บทความทั้งหมด