โรคอ้วนในเด็ก แค่ไหนถือว่าอ้วน




เกณฑ์การตัดสินภาวะอ้วนในเด็กทำได้ยากกว่าผู้ใหญ่  เนื่องจากเด็กเป็นวัยที่กำลังเจริญเติบโต  มีน้ำหนักและส่วนสูงเพิ่มขึ้นตลอด  ปัจจุบันตัวชี้วัดความอ้วนที่นิยมใช้กันในเด็กคือน้ำหนักตัวที่เหมาะสมกับความสูงนั้น ๆ (Weight for Height) และดัชนีมวลกาย (Body Mass Index หรือเรียกย่อ ๆ ว่า BMI) ซึ่งคำนวณได้จากน้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัมหารด้วยส่วนสูงเป็นเมตรยกกำลังสอง  หน่วยเป็นกิโลกรัมต่อตารางเมตร  ในผู้ใหญ่เราจะถือว่ามีภาวะน้ำหนักเกิน (Overweight) เมื่อ BMI มีค่าเกิน 25 และจะถือว่าอ้วนเมื่อ BMI เกิน 30 ในภาวะปกติ  ทั้งเด็กชายและหญิงจะมี BMI เปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ ตามวัยโดยมีค่ำต่ำสุดในช่วง 13.5-18 ระหว่างอายุ 4-6 ขวบ  หลังจากนั้น BMI จะเริ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในประเทศไทยเราถือว่าเด็กอ้วนเมื่อน้ำหนักตัวที่เหมาะสมกับความสูงนั้น ๆ มีค่าเกิน 120% ของปกติ  ส่วนในบางประเทศเช่นอเมริกา  ถือเกณฑ์เด็กอ้วนเมื่อ BMI เกิน percentile ที่ 95 ของอายุนั้น ๆ  เป็นที่น่าเสียดายว่าปัจจุบันในเด็กไทยยังไม่มีการทำกราฟมาตรฐานของ BMI ในแต่ละช่วงอายุ  ดังนั้นเมื่อผู้ปกครองสงสัยว่าลูกจะอ้วนหรือเปล่าควรให้กุมารแพทย์เป็นผู้ประเมิน  ปัจจุบันเด็กไทยราว ๆ 14-15% เป็นเด็กอ้วน 



สาเหตุหลัก ๆ ของโรคอ้วนในเด็ก

95% ของโรคอ้วนในเด็กเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน  เช่นได้รับพลังงานจากอาหารเกินกว่าที่ร่างกายใช้ไป  ร่วมกับมีปัจจัยเสี่ยงบางอย่าง เช่น ประวัติอ้วนในครอบครัว  พบว่าเด็กที่มีพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งอ้วนจะมีโอกาสเป็นเด็กอ้วนเพิ่มขึ้น 4-5 เท่าเทียบกับเด็กปกติ  แต่จะเพิ่มขึ้นเป็น 13 เท่าถ้าทั้งพ่อและแม่อ้วน อย่างไรก็ตามยังมีเด็กอ้วนอีกส่วนหนึ่งที่เกิดจากความผิดปกติของต่อมไร้ท่อ  เช่นโรคขาดไทรอยด์ฮอร์โมน, Growth hormone, Cushing’s syndrome , ความผิดปกติของการหลั่งอินสุลิน, ภาวะพร่องหรือดื้อต่อฮอร์โมนเลปติน หรือโรคทางพันธุกรรมบางอย่างที่มีภาวะอ้วนเป็นหนึ่งในอาการแสดงของโรค  เช่น Prader-Willi Syndrome เด็กกลุ่มที่เสี่ยงต่อโรคอ้วนคือ เด็กที่แรกเกิดมีน้ำหนักตัวมากหรือน้อยกว่าปกติ, เด็กที่มีพ่อแม่อ้วน, เด็กที่เริ่มอ้วนตั้งแต่อายุน้อย ๆ  ก็ยิ่งมีโอกาสเป็นผู้ใหญ่อ้วนมากขึ้น  นอกจากนี้ภาวะโภชนาการเกินในวัยทารกก็เป็นอีกปัจจัยเสี่ยงหนึ่ง  ทารกที่กินนมผสมจะมีโอกาสเป็นเด็กอ้วนได้ง่ายกว่าเด็กที่กินแต่นมแม่  และเด็กที่กินนมแม่เป็นระยะเวลานานจะมีโอกาสเป็นเด็กอ้วนได้น้อยกว่าเด็กที่กินนมแม่เพียงช่วงสั้น ๆ



ผลกระทบหรือภาวะแทรกซ้อนในเด็กอ้วน

ผลกระทบที่สำคัญที่สุดในเด็กอ้วนคือการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่อ้วน  ในต่างประเทศมีการศึกษาพบว่าผู้ใหญ่ที่อ้วนมาก ๆ จะมีอายุสั้นกว่าปกติถึง 5-20 ปี

ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยในเด็กอ้วนคือความผิดปกติของข้อที่รับน้ำหนักมาก  โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเข่า  นอกจากนี้บางคนยังนอนกรนหรือหยุดหายใจตอนกลางคืนจากภาวะทางเดินหายใจถูกอุดกั้น  ซึ่งถ้าเป็นเรื้อรังโดยไม่ได้แก้ไขอาจเกิดภาวะหัวใจวายตามมาได้  นอกจากนี้ยังอาจพบโรคเบาหวาน  ซึ่งปัจจุบันเริ่มพบในเด็กอายุน้อยลงเรื่อย ๆ  บางรายอาจมีผิวหนังบริเวณคอ, รักแร้, ขาหนีบ ข้อพับดำคล้ำ (Acanthosis Nigricans) ซึ่งเกิดจากภาวะฮอร์โมนอินสุลินในเลือดสูง  สีคล้ำของผิวหนังดูเผิน ๆ เหมือนขี้ไคล  แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่  ไม่สามารถทำให้จางลงได้ด้วยการถูหรือใช้ครีมใด ๆ ทา  แต่สามารถจางลงได้เมื่อลดน้ำหนัก  ผิวหนังสีคล้ำนี้เป็นสัญญาณเตือนว่าถ้าไม่ลดน้ำหนัก  ท้ายที่สุดเด็กคนนั้นก็จะมีโอกาสเป็นเบาหวานสูงในอนาคต  โดยอาจมีอาการเริ่มต้นที่พ่อแม่สังเกตได้คือกินจุแต่ผอมลง หิวน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อย หรือบางรายอาจมีปัสสาวะรดที่นอนตอนกลางคืน ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่อาจพบได้คือไขมันในเลือดสูง  ซึ่งสามารถตรวจพบได้จากการเจาะเลือด  ส่วนใหญ่พบว่าดีขึ้นเมื่อลดน้ำหนักตัวลง  มีเพียงน้อยรายที่ต้องทานยาเพื่อลดระดับไขมันในเลือด ภาวะมันจุกตับ  ก็เป็นอีกภาวะหนึ่งที่พบได้ในเด็กอ้วนที่มีไขมันในเลือดสูง  ภาวะนี้จะหายได้เช่นกันเมื่อลดน้ำหนักตัวลง



วิธีรักษาหรือแก้ไข

ปัจจุบันยาลดความอ้วนในเด็กยังมีที่ใช้น้อยมาก และมีข้อบ่งชี้ในโรคอ้วนบางอย่างเท่านั้น  การศึกษาส่วนใหญ่ทำในผู้ใหญ่  ดังนั้นในเด็กส่วนใหญ่จะเน้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมากกว่า ในเด็กเล็กการควบคุมน้ำหนักตัวให้คงที่แทนการลดน้ำหนักเป็นวิธีหนึ่งที่ใช้ได้  โดยอาศัยหลักการว่าเมื่อเด็กโตขึ้น  ส่วนสูงเพิ่มขึ้น  จะทำให้ BMI ลดลง  ส่วนในเด็กโตหรือวัยรุ่นการควบคุมน้ำหนักให้คงที่อาจไม่เพียงพอ  ต้องลดน้ำหนักโดยการควบคุมอาหารร่วมกับออกกำลังกาย ในแง่ของอาหาร  พบว่าการดื่มน้ำอัดลมหนึ่งกระป๋องต่อวันสามารถทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นถึง 7 กิโลกรัมต่อปี  ดังนั้นวิธีที่ง่ายที่สุดในการควบคุมอาหารคือการงดดื่มน้ำหวาน, น้ำผลไม้, หรือน้ำอัดลม  ถ้าอยากดื่มน้ำอัดลมอาจเปลี่ยนเป็นชนิด diet ที่มีสารให้ความหวานเทียมแทนน้ำตาล  หรือถ้าอยากดื่มน้ำผลไม้ให้เปลี่ยนเป็นเจือจางลงเท่าตัวหรือให้กินผลไม้เป็นลูก ๆ แทน  ซึ่งมีประโยชน์มากกว่าเนื่องจากผลไม้จะมีเส้นใยอยู่ด้วยซึ่งย่อยและดูดซึมช้ากว่าน้ำผลไม้เปล่า ๆ หรือน้ำหวานมาก  ทำให้อิ่มท้องได้นานกว่า  นอกจากนี้การออกกำลังกายอย่างน้อย 20-30 นาทีต่อวัน  5 วันต่อสัปดาห์ก็ทำให้ร่างกายเผาผลาญพลังงานส่วนเกินได้มากขึ้น  ช่วยให้การลดน้ำหนักได้ดีขึ้นด้วย นอกจากนี้ถ้าเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยงของทอดของมัน  โดยเฉพาะพวก fast food  เนื้อสัตว์ที่เคยทอด  อาจจะต้องเปลี่ยนเป็นวิธีปรุงโดยการต้มแทน  การทอดอาหารถ้าเป็นไปได้ให้ใช้กระทะ Teflon ที่ไม่ติดน้ำมัน  จะทำให้ใช้น้ำมันน้อยกว่า ที่สำคัญที่สุดในการรักษาโรคอ้วนในเด็กคือ  ผู้ปกครองและทั้งครอบครัวต้องให้กำลังใจและปฏิบัติตนให้เป็นตัวอย่างแก่เด็กด้วย





Create Date : 06 กุมภาพันธ์ 2555
Last Update : 6 กุมภาพันธ์ 2555 20:56:16 น.
Counter : 1057 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Samitivejhospitals.BlogGang.com

samitivej
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]

บทความทั้งหมด