จีน-อินเดีย เกิด อินโดจีน-อินโดนีเซีย
 

235 อินโดจีน  ย้อนอดีต เคียงคู่ อินโดนีเซีย

   ในหนังสือนี้ https://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=samathijit&month=11-2021&date=24&group=29&gblog=13 ได้ปรารภเรื่องทัพมุสลิมเตอร์ก  ที่ยกมาตีชมพูทวีป และตั้งรัฐสุลต่านขึ้นที่เดลี  เมื่อ ค.ศ. 1206/ พ.ศ.๑๗๔๙  โดยบอกให้ทราบว่า  การทำลายล้างครั้งนั้น  เป็นจุดกำหนดแห่งการสูญสิ้นไปของพระพุทธศาสนาจากประเทศอินเดีย และได้เล่าความเป็นมาของชาวมุสลิมเตอร์กนั้นไว้  อันสืบเนื่องจากการเกิดขึ้นของศาสนาอิสลาม  ที่นับตามฮิจเราะฮ์ศักราช  เริ่มแต่  ค.ศ.622/ พ.ศ.๑๑๖๕
 
    ทั้งนี้ ได้เล่าไว้เพียงเท่าที่เกี่ยวกับชมพูทวีป
 
    เนื่องจากประวัติศาสตร์ของชมพูทวีปในอดีต  เชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับประเทศไทย และดินแดนข้างเคียงโดยรอบมาช้านาน   จึงเห็นควรเล่าเรื่องของดินแดนแถบนี้ไว้ด้วย    เพื่อเป็นส่วนประกอบเสริมความรู้  แต่ในที่นี้จะเน้นเฉพาะดินแดนที่ได้รับอิทธิพลจากชมพูทวีปนั้นตลอดมาจนถึงยุคที่เปลี่ยนเข้าสู่ศาสนาอิสลาม ได้แก่  มาเลเซีย  และอินโดนีเซีย

   ทั้งนี้  จะพูดไว้เพียงคร่าวๆก่อน


235 จีน–อินเดีย แล้วเกิดมีอินโดจีน–อินโดนีเซีย
 
   จีน และอินเดีย  เป็นอู่อารยธรรมใหญ่  ที่เจริญต่อเนื่องมายาวนานหลายพันปี  อีกทั้งสองประเทศนี้ก็ตั้งอยู่ไม่ห่างไกลกันนัก   จึงมีการเดินทางติดต่อค้าขายถึงกันมาแต่โบราณ
 
   ในช่วงที่ตะวันตกเริ่มต้นคริสต์ศักราช   พระพุทธศาสนากำลังเจริญรุ่งเรืองมากในชมพูทวีป   และแผ่มาถึงประเทศจีน  ดังที่พระเจ้ามิ่งตี่แห่งราชวงศ์ฮั่นได้ทรงรับนับถือพระพุทธศาสนาเมื่อ  ค.ศ.65/พ.ศ.๖๐๘  และในอินเดียเอง   ไม่กี่ปีหลังจากนั้น คือใน ค.ศ.78/พ.ศ.๖๒๑ ก็เข้าสู่ราชสมัยของพระเจ้ากนิษกมหาราช  (มีนครหลวงชื่อปุรุษปุระ  คือ Peshawar)  องค์พุทธศาสนูปถัมภกที่ถือกันว่ายิ่งใหญ่มาก   ถัดจากพระเจ้าอโศกมหาราช
 
   ในยุคแห่งความรุ่งเรืองนี้  ผู้เดินทางระหว่างจีน กับ อินเดีย  นอกจากพวกพ่อค้าวาณิชแล้ว  ก็มีพระภิกษุที่เป็นธรรมาจารย์ และหลวงจีน  ที่จาริกไปเผยแผ่ มาศึกษาและสืบพระพุทธศาสนา  มากขึ้นตามลำดับ
 
   จีน กับ อินเดียนั้น   แม้จะดินแดนจะไม่ห่างไกลกันนัก  แต่มีภูเขาหิมาลัยขวางอยู่   การเดินทางบกไปมาระหว่าง ๒ ประเทศนี้ จึงต้องอ้อมไกลไปโดยทางที่เรียกกันมาว่าทางสายไหม (Silk Road; เส้นทางนี้ขยายไปเชื่อมกับถนนของจักรวรรดิโรมัน /Roman roads ด้วย)  ผ่านแผ่นดินที่แห้งแล้งกันดารแห่งเอเชียกลาง  ข้ามภูเขา และทะเลทราย  ยากลำบากอย่างยิ่ง ทั้งยังมีภัยจากโจรผู้ร้าย  ตลอดจนบางกาลบางสมัยมีสงครามและการสู้รบระหว่างคนต่างถิ่นต่างเผ่า เป็นอุปสรรคมาก
 
   ด้วยเหตุนี้  จึงมีการค้นหาทางเดินเรือขึ้นมาเป็นทางเลือก  และการจาริกทางทะเลก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นตามลำดับ
 
   ทางบกนั้น  ถ้าจากจีนมาอินเดีย  ก็ผ่านเอเชียกลาง  อ้อมวกเข้ามาทางแคว้นโยนก และหรือแคว้นคันธาระ (คืออัฟกานิสถานและปากีสถานในปัจจุบัน) โดยเฉพาะผ่านเมืองตักศิลาแล้วลงมาทางตะวันออกตามลำดับ
 

 
   แต่ทางทะเล   มีแผ่นดินเป็นแหลมใหญ่ หรือ คาบสมุทรคั่นกลางระหว่างจีน กับ อินเดียนั้น (ดูแผนที่จะเห็นชัด)  ซึ่งสมัยก่อนถอยหลังไปประมาณครึ่งศตวรรษนี้เอง  ยังมีคำเรียกรวมๆ ว่า “อินโดจีน”  หรือ คาบสมุทรอินโดจีน (Indochina/Indochinese  peninsula) ซึ่งแปลว่า ผืนแผ่นดินหรือคาบสมุทรที่อยู่ระหว่างอินเดีย กับ จีน
 
   อินโดจีน นี้ประกอบด้วย  (เรียงต่อจากจีนลงมา)  เวียดนาม  ลาว  กัมพูชา  ไทย  พม่า  มลายู  (ต่อมาขยายเป็นมาเลเซีย)  
 
   จากผืนแผ่นดินนี้  มองลงไปในทะเล  มีหมู่เกาะที่อยู่ในเส้นทางผ่านหรือใกล้ทางผ่าน อันชวนให้แวะอีกมาก เช่น สุมาตรา ชวา เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่รวมอยู่ในอาณาจักรที่ปัจจุบันเรียกชื่อตามสายตาของฝรั่ง ว่าประเทศอินโดนีเซีย (Indonesia) ซึ่งแปลว่า“แดนหมู่เกาะอินเดีย” (มาจากคำกรีก-ละติน: Indo–(อินเดีย)+nes (เกาะ)+ - ia (ดินแดน,ประเทศ)
 
   นอกจากค้าขายแล้ว  พ่อค้าวาณิช เป็นต้น   ที่เดินทางผ่านไปมานั้น  บางทีก็แวะพำนักอยู่นานๆ ตลอดจนตั้งถิ่นฐานอยู่เป็นหลักแหล่ง  กลายเป็นเจ้าถิ่นเสียเอง จึงปรากฏว่า  ต่อมา   ได้เกิดมีบ้านเมือง  ตลอดจนอาณาจักรต่างๆขึ้นมา  ตามชายฝั่งทะเล  และใกล้ทะเล   บนเส้นทางพาณิชย์เหล่านี้
 
   ผู้ที่สร้างบ้านตั้งเมืองเหล่านี้  มีทั้งชาวชมพูทวีปที่เป็นผู้นำตั้งตัวขึ้นเป็นใหญ่  ที่ถือว่าเป็นผู้เจริญ  ดังที่ตำราฝ่ายตะวันตกเรียกแว่นแคว้นเหล่านี้ว่า  Indianized kingdoms คือเป็นอาณาจักรเยี่ยงอย่างอินเดีย
 

 



Create Date : 27 พฤศจิกายน 2564
Last Update : 21 ธันวาคม 2566 11:07:47 น.
Counter : 740 Pageviews.

0 comments
: หยดน้ำในมหาสมุทร 34 : กะว่าก๋า
(12 เม.ย. 2567 05:52:40 น.)
อยาก อยากได้ กฎที่ถูกที่ดี ปัญญา Dh
(14 เม.ย. 2567 05:37:27 น.)
Day..10 โฮมสเตย์ริมน้ำ
(11 เม.ย. 2567 08:25:45 น.)
: หยดน้ำในมหาสมุทร 32 : กะว่าก๋า
(10 เม.ย. 2567 06:04:44 น.)
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Samathijit.BlogGang.com

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]

บทความทั้งหมด