"เจ้านาย" ผู้มีสิทธิ์ในราชบัลลังก์ เมื่อปี พ.ศ. 2477 (ตอนที่ 3)
ตอนที่ 3 ความสูญเสียของราชสำนัก


ภายหลังจากการออกพระราชกฤษฎีการเลือกรัชทายาท ในปี พ.ศ. 2453 แล้ว ตลอดระยะเวลา 10 ปีแรกในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ดูเหมือนปัญหาเรื่องการสืบราชสมบัติจะหมดไป เพราะทุกฝ่ายต่างก็คาดหมายว่าสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ซึ่งต่อมาได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ จะได้เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ต่อไป เจ้านายพระองค์นี้นอกจากจะทรงมีพระปรีชาสามารถในหลายๆ ด้านแล้ว ยังทรงได้รับความนิยม และการสนับสนุนอย่างมากในหมู่พระราชวงศ์ ขุนนางข้าราชการ และประชาชนอีกด้วย


แต่แล้วก็เหมือนดวงชะตาของราชสำนักกำลังอับแสง เมื่อในวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2462 สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จสวรรคตด้วยพระโรคพระวักกะอักเสบเรื้อรัง ณ พระราชวังพญาไท และในปีถัดมา คือ ปี พ.ศ. 2463 ภายหลังจากที่เสร็จงานถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระพันปีหลวงได้ไม่นาน ข่าวร้ายที่ทุกคนไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นเมื่อสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ สิ้นพระชนม์อย่างกะทันหันด้วยพระโรคนิวมอเนีย เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน ระหว่างทางเสด็จไปประทับพักผ่อนที่ประเทศสิงคโปร์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา เป็นผู้แทนพระองค์ไปรับพระศพกลับคืนสู่พระนคร ทั้งยังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระอิสริยยศขึ้นเป็น “สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ” และโปรดเกล้าฯ ให้ใช้คำว่า “ทิวงคต” แทน “สิ้นพระชนม์” เพื่อให้สมกับพระเกียรติยศในฐานะที่ทรงเป็นพระรัชทายาท

เมื่อสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เสด็จทิวงคต สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ ซึ่งเป็นพระอนุชาพระองค์ถัดมาของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ทรงเลื่อนฐานะขึ้นเป็น “พระรัชทายาท ลำดับที่ 1 โดยพฤตินัย” และต่อมาจึงได้เลื่อนพระอิสริยยศเป็น “กรมหลวงนครราชสีมา”


ครั้นวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2465 ความชื่นชมยินดีได้มาสู่ราชสำนักอีกครั้ง เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระวรราชชายาเธอ พระอินทรศักดิ์ศจี ขึ้นเป็นสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิ์ศจี พระบรมราชินี เนื่องจากทรงพระครรภ์ จึงเป็นที่คาดหวังกันอย่างยิ่งว่าล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 6 จะทรงมีพระราชโอรสสืบราชสันตติวงศ์ แต่ความหวังนี้ก็เป็นอันสิ้นสลายลง เพราะต่อมาอีกเพียง 7 เดือน สมเด็จพระนางเจ้าพระองค์นั้นก็ทรงตกพระโลหิตขณะที่ประทับอยู่พระราชวังพญาไท และแม้ต่อมาจะทรงพระครรภ์อีกแต่ในระหว่างที่เสด็จแปรพระราชฐานไปประทับ ณ พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน พระครรภ์นั้นก็ตกเสียไม่เป็นพระองค์ นำความเสียพระราชหฤทัยมาสู่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอย่างยิ่ง


แต่ความสูญเสียของราชสำนักยังไม่ได้สิ้นสุดเพียงเท่านั้น เพราะในวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2466 สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนเพชรบูรณ์อินทราชัย ซึ่งทรงเป็นรัชทายาทลำดับที่ 2 ก็สิ้นพระชนม์ ณ วังเพชรบูรณ์ ทำให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเหลือสมเด็จพระราชอนุชาที่ร่วมพระครรภ์เดียวกันเพียง 2 พระองค์ คือ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนครราชสีมา กับสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา


จากการที่ทรงสูญเสียสมเด็จพระอนุชาไปแล้วถึง 2 พระองค์ ประกอบกับความหวังเรื่องที่จะทรงมีพระราชโอรสในการสืบสันตติวงศ์ก็ยังไม่วี่แวว จึงทรงพระวิตกเกี่ยวกับปัญหาการสืบราชสันตติวงศ์ในอนาคต ดังนั้นในเดือนพฤศจิกายน 2487 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรากฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ขึ้นเพื่อใช้เป็นหลักในการเลือกเจ้านายขึ้นเป็นพระรัชทายาท และป้องกันการแย่งชิงราชสมบัติหากพระองค์เสด็จสวรรคต แต่หลังจากกาตรากฎมณเฑียรบาลได้เพียง 2 เดือน สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนครราชสีมา ก็สิ้นพระชนม์ด้วยพระโรคปัปผาสะบวม ณ วังสวนกุหลาบ เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2467 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระอิสริยยศขึ้นเป็น “สมเด็จพระอนุชาธิราช” และให้ใช้คำว่า “ทิวงคต” เช่นเดียวกับสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ


พันตรี หลวงจบกระบวนยุทธ ได้บันทึกเหตุการณ์ตอนสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนครราชสีมา ทิวงคตไว้ว่า “...เมื่อทิวงคตนั้น เฝ้าอยู่ข้างพระที่ตลอดเวลา ประชวรครั้งนั้นประชวรไข้ทรงร้อนมาก ตรัสถามหมอว่าจะอาบน้ำได้หรือไม่ หมอทูลว่าได้จึงลงแช่พระองค์ในอ่าง พอขึ้นมาก็มีพระอาการปัปผาสะบวม ทิวงคตในวันนั้น ขณะประชวรน้ำพระเนตรไหลตรัสว่า ไหนใครๆ ว่าฉันมีบุญจะได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ทำไมถึงเป็นไปเช่นนี้ รับสั่งเสร็จไม่ถึงชั่วโมงก็ทิวงคต...”



Create Date : 09 เมษายน 2549
Last Update : 9 เมษายน 2549 21:21:29 น.
Counter : 3386 Pageviews.

6 comments
BUDDY คู่หู คู่ฮา multiple
(3 ม.ค. 2567 04:49:04 น.)
สวัสดีปีใหม่ ๒๕๖๗ มาช้ายังดีกว่าไม่มา
(2 ม.ค. 2567 07:30:30 น.)
พบเจอภาพอะไร? ส่วนหนึ่งของภาพน่าสนใจจึงตัดมาใช้ คุกกี้คามุอิ
(1 ม.ค. 2567 03:56:23 น.)
อุ้มสีมาทำบุญ ๙ วัด ในวันขึ้นปีใหม่ที่จ.อุบลราชธานี อุ้มสี
(3 ม.ค. 2567 19:10:02 น.)
  
สวัสดีครับ
โดย: เหงามาก IP: 124.120.197.149 วันที่: 13 เมษายน 2549 เวลา:12:57:09 น.
  
ตามมาเยี่ยมครับ
เขียนได้รายละเอียด
และชัดเจนดีครับ
โดย: นิค วันนี้ไม่เหงา IP: 61.90.160.163 วันที่: 14 เมษายน 2549 เวลา:14:25:59 น.
  
คุณรอยใบลานคะ ตามมาจากกระทู้พระตำหนักกรุณานิวาสน์นะคะ เกรงว่าคุณอาจไม่กลับไปอ่าน จึงมาตอบไว้ในนี้ เพราะวันก่อนผ่านไปเห็นค่ะ บริเวณที่เป็นพระตำหนัก อยู่ตรงข้ามกับร.ร.วชิราวุธ ตรงสี่แยกพอดีค่ะ อีกมุมหนึ่งเป็นพรรคชาติไทยค่ะ ถ้านั่งรถผ่านจะเห็นป้ายพระกรุณานิวาสน์ และป้ายสนามเทนนิส แต่ว่ามองเข้าไปไม่เห็นตำหนัก มีแต่รั้วกับตึก ไม่ทราบว่ารื้อบ้านไปหรือยัง

บ้านอีกหลังในยุคเดียวกัน คือบ้านคุณพระสุจริตสุดา อยู่ใกล้พระตำหนักจิตรลดาฯ เลยห้องแถวที่ปิดไว้ ข้างหน้าเป็นรั้ว มีตึกเก่าสองชั้นสีขาว มองเข้าไปจะเห็นบ้านโบราณค่ะ ถ้าผ่านลองมองเข้าไปนะคะ
โดย: s IP: 203.155.225.221 วันที่: 19 เมษายน 2549 เวลา:23:31:54 น.
  
ขอบคุณคุณ เอส ครับ ผมก็ตามเรื่องพระกรุณานิวาศน์เหมือนกัน


ขอบคุณพี่รอยใบลานมากครับ
โดย: ดนย์ วันที่: 26 เมษายน 2549 เวลา:0:35:01 น.
  
แวะมาเยี่ยมนะครับคุณรอยใบลาน
โดย: pacharawong วันที่: 27 เมษายน 2549 เวลา:1:50:16 น.
  
ดีใจค่ะ
โดย: กัน IP: 49.228.227.132 วันที่: 14 มกราคม 2558 เวลา:22:28:47 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Roybilan.BlogGang.com

รอยใบลาน
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 35 คน [?]

บทความทั้งหมด