COVID-19 ในเด็ก และภาวะแทรกซ้อนอันตรายที่ต้องจับตามอง


แม้ว่าเราจะรู้จักโรค COVID-19 มาได้สักระยะแล้ว แต่ก็ยังมีข้อมูลข่าวสารใหม่ๆมาให้ได้ติดตามอยู่เสมอ อย่างเช่นข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับภาวะแทรกซ้อนอันตรายที่ต้องจับตามองของผู้ป่วยเด็กที่ติดเชื้อ SARS-CoV-2 (เชื้อไวรัสที่ก่อโรค COVID-19) ที่มีรายงานมาเมื่อเร็วๆนี้

ข้อมูลในช่วงต้นของการระบาดของโรค COVID-19 ในทวีปเอเชีย พบว่าโรคนี้เกิดในเด็กได้ค่อนข้างน้อย เพียง 1-2% ของผู้ป่วยทั้งหมด อีกทั้งผู้ป่วยเด็กส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรงเมื่อเทียบกับผู้ใหญ่ โดยพบเด็กที่มีอาการรุนแรงเพียง 2-5% ของผู้ป่วยเด็กทั้งหมดเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามหลังจากมีการระบาดของโรคไปยังทวีปต่างๆ มากขึ้น มีจำนวนผู้ป่วยมากขึ้น ก็พบจำนวนผู้ป่วยเด็กที่มีอาการรุนแรงมากขึ้นด้วยเช่นกัน

ในขณะที่กำลังมีการระบาดของโรค COVID-19 อย่างหนักในทวีปยุโรป และอเมริกาเหนืออยู่นั้น ก็ได้มีการรายงานการเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติของกลุ่มผู้ป่วยเด็กและวัยรุ่นที่ต้องได้รับการรักษาในไอซียูด้วยอาการอักเสบของอวัยวะหลายระบบ อาการของเด็กๆ เหล่านี้มีความคล้ายคลึงกับโรคคาวาซากิ (Kawasaki) ซึ่งเป็นโรคที่มีการอักเสบของหลอดเลือดแดงทั่วร่างกาย โดยโรคคาวาซากินั้นมักพบในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี แต่จากรายงานเกี่ยวกับผู้ป่วยเด็กที่พบการอักเสบของอวัยวะหลายระบบที่สงสัยว่าจะมีความเกี่ยวข้องกับโรค COVID-19 นั้น พบว่าเกิดในช่วงอายุตั้งแต่ 2-17 ปีเลยทีเดียว

อาการที่พบในผู้ป่วยเด็กกลุ่มนี้ได้แก่ อาการไข้ ผื่นแดงตามตัว ตาแดง ปากแดง ปวดท้อง อาเจียน ท้องเสีย ไปจนถึง หัวใจอักเสบ หลอดเลือดหัวใจผิดปกติ ความดันต่ำ อวัยวะต่างๆ ล้มเหลว ช๊อค และเสียชีวิตได้ ซึ่งเมื่อได้ทำการตรวจเพิ่มเติม ก็พบหลักฐานว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้เคยมีการติดเชื้อ SARS-CoV-2 มาก่อนถึง 80% แพทย์จึงสังเกตเห็นความสัมพันธ์ของกลุ่มอาการอักเสบของอวัยวะหลายระบบนี้ ว่าอาจจะเกิดตามหลังการติดเชื้อ SARS-CoV-2 นั่นเอง

เนื่องจากอาการของโรคมีความคล้ายคลึงกับโรคคาวาซากิ การรักษาที่ใช้จึงมีความใกล้เคียงกัน คือการให้ยาเพื่อต้านการอักเสบ และการใช้อิมมูโนโกลบูลิน บางรายอาจมีการใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์เพื่อลดการอักเสบร่วมด้วย ซึ่งผู้ป่วยส่วนมากมีการตอบสนองต่อการรักษาที่ค่อนข้างดี

แม้ว่าภาวะแทรกซ้อนนี้จะดูรุนแรงและน่ากลัว แต่คุณพ่อคุณแม่ก็อย่าเพิ่งวิตกกังวลจนเกินไป เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยที่พบภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ยังมีน้อย และที่สำคัญในประเทศไทยและในทวีปเอเชียเอง ยังไม่มีรายงานว่าพบเด็กๆ ที่มีอาการการอักเสบของอวัยวะหลายระบบ ที่สงสัยว่าจะมีความเกี่ยวข้องกับโรค COVID-19 นี้

อย่างไรก็ตามโรค COVID-19 นี้ยังมีปริศนาอีกหลายอย่างที่เรายังต้องทำการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป ทางที่ดีที่สุดคือการป้องกันไม่ให้เด็กๆ ติดโรค โดยเด็กที่ป่วยเป็นโรค COVID-19 มักมีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยในครอบครัวที่มีการติดเชื้อ ดังนั้นหากคุณพ่อคุณแม่และผู้ใหญ่ในบ้านดูแลตัวเองได้ดี เด็กๆ ในบ้านก็จะปลอดภัยไปด้วยนั่นเอง



 
พญ.ตวงพร ตุรงค์สมบูรณ์
กุมารแพทย์โรคติดเชื้อ



Create Date : 01 มิถุนายน 2563
Last Update : 1 มิถุนายน 2563 16:27:08 น.
Counter : 749 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Ramtalk.BlogGang.com

หนึ่งเสียงในกทม.
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]

บทความทั้งหมด