### รู้ทันโรคนิ่วกันหน่อยเป็นไร ###



ผลกระทบจากโรคนิ่ว ในชีวิตประจำวัน










โรค “นิ่ว” เป็นโรคที่มีผลกระทบอย่างยิ่งต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

โรค “นิ่ว” เป็นโรคที่มีมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ เพราะมีรายงานออกมาว่า

พบนิ่วในกระเพาะปัสสาวะภายในโครงกระดูกของมัมมี่ ที่ประเทศอียิปต์

มัมมี่ตัวนั้นเข้าใจกันว่าเป็นเด็กชายอายุประมาณ 16 ปี ซึ่งเสียชีวิต

มาแล้วราว 7,000 ปี จนถึงปัจจุบัน โรคนิ่วเป็นปัญหาสาธารณสุขที่พบมากทั่วโลก

และอุบัติการณ์ก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ

สำหรับในประเทศไทยเอง ก็มีอุบัติการณ์โรคนิ่วในไตสูงมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

การมีนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะจะส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้

เช่น การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ การทำงานของไตเสื่อมลง

และอาจร้ายแรงจนเกิดภาวะไตวายเรื้อรัง และโรคไตระยะสุดท้าย

ซึ่งทำให้ถึงแก่ความตายได้ นอกจากนี้โรคนิ่วในไต ยังมีอุบัติการณ์

การเป็นนิ่วซ้ำสูงมาก ทำให้ทั้งผู้ป่วยและภาครัฐต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายในการรักษา

และป้องกันการเกิดนิ่วซ้ำสูงมาก ดังนั้นโรคนิ่วในไตจึงจัดเป็นปัญหาสุขภาพ

ที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชากรไทยเป็นอย่างยิ่ง

โดยทั่วไปแล้ว โรคนิ่วนั้นมักเริ่มเกิดขึ้นที่ไตก่อน ต่อมาก็เลื่อนตำแหน่งไปยังกรวยไต

ท่อไต กระเพาะปัสสาวะ และท่อปัสสาวะ ซึ่งถ้านิ่วมีขนาดเล็กก็จะหลุดออกมาเองได้

ตอนผู้ป่วยปัสสาวะ แต่ถ้านิ่วมีขนาดใหญ่ก็จะไปอุดตันตามตำแหน่งต่าง ๆ

โรคนิ่วนั้นมีอยู่สองชนิดด้วยกัน คือ

นิ่วในถุงน้ำดี และนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ

นิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ ได้แก่ นิ่วในไต นิ่วในท่อไต นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ

 และนิ่วในท่อปัสสาวะ ซึ่งนิ่วทั้งสองประเภทนี้มีความแตกต่างกันในเรื่องส่วนประกอบ

สาเหตุ และการดูแลรักษา แต่ที่เรียกว่านิ่วเหมือนกัน อันนี้คงเป็นเพราะว่า

 ลักษณะที่เห็นนั้น คล้ายก้อนหินเหมือนกัน

เพราะฉะนั้น คนเป็นโรคนิ่ว จึงต้องรู้ว่าเป็นนิ่วที่ใด

สำหรับสาเหตุการเกิดโรคนิ่วนั้น มีอยู่หลายประการด้วยกัน

ทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อม เมตาบอลิซึม พันธุกรรม วิถีการดำเนินชีวิต

และอุปนิสัยการกินอาหารของแต่คน แต่ในที่นี้จะกล่าวถึง นิ่วอันเกิดจาก “สารก่อนิ่ว”

 ที่มีอยู่ในปัสสาวะตามปกติ ได้แก่ แคลเซียม ฟอสเฟต ออกซาเลต ยูเรต

ในภาวะที่มีปริมาณผิดปกติและสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย

สารเหล่านี้สามารถรวมตัวกันจนกลายเป็นก้อนผลึกแข็งและมีขนาดใหญ่ขึ้น

จนกลายเป็นนิ่วอุดตันที่บริเวณต่าง ๆ ของทางเดินปัสสาวะ

องค์ประกอบส่วนใหญ่ในก้อนนิ่วเป็นผลึกแร่ธาตุ เช่น แคลเซียมออกซาเลต

 แคลเซียมฟอสเฟต ยูเรต แมกนีเซียมแอมโมเนียมฟอสเฟต เป็นต้น

นิ่วที่พบมากที่สุดในประเทศไทย คือ นิ่วแคลเซียมฟอสเฟต

รองลงมาคือ นิ่วกรดยูริก

สำหรับสารที่ป้องกันการก่อผลึกในปัสสาวะเรียกว่า “สารยับยั้งนิ่ว”

ที่สำคัญได้แก่ ซิเทรต โพแทสเซียม และแมกนีเซียม

ปัจจัยเสี่ยงด้านความผิดปกติทางเมแทบอลิซึมที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคนิ่วในไต

ของคนไทย คือ การมีสารยับยั้งนิ่วในปัสสาวะต่ำ ได้แก่

ภาวะซิเทรตในปัสสาวะต่ำพบประมาณร้อยละ 70-90

และภาวะโพแทสเซียมในปัสสาวะต่ำพบประมาณร้อยละ 40-60

ปัจจัยเสี่ยงต่อโรคนิ่วอาจแบ่งได้เป็นปัจจัยภายใน เช่น กายวิภาคของไต

พันธุกรรม เชื้อชาติ และปัจจัยภายนอก เช่น ปัจจัยทางภูมิศาสตร์ อากาศ

 และฤดูกาล ปริมาณน้ำที่ดื่ม พฤติกรรมการกิน อาชีพ และยาบางชนิด

กลไกการเกิดโรค สามารถตรวจวัดได้จากสาเหตุการเกิดนิ่วในไต คือ

การมีสารก่อนิ่วในปัสสาวะสูงกว่าระดับสารยับยั้งนิ่ว ร่วมกับปัจจัยเสริมคือ

ปริมาตรของปัสสาวะน้อย ส่งผลให้เกิดภาวะอิ่มตัวยวดยิ่งของสารก่อนิ่วในปัสสาวะ

จึงเกิดผลึกที่ไม่ละลายน้ำขึ้น เช่น แคลเซียมออกซาเลต แคลเซียมฟอสเฟต

และ ยูเรต ผลึกนิ่วที่เกิดขึ้นจะกระตุ้นให้เกิดการอักเสบ

ส่งผลให้เซลล์บุภายในไตถูกทำลาย ตำแหน่งถูกทำลายนี้จะเป็นพื้นที่

ให้ผลึกนิ่วเกาะยึดและรวมกลุ่มกัน จนเกิดการทับถมของผลึกนิ่วเป็นเวลานาน

จนกลายเป็นก้อนนิ่วในที่สุด

ในคนปกติที่มีสารยับยั้งนิ่วในปัสสาวะสูงเพียงพอจะสามารถยับยั้ง

การก่อตัวของผลึกนิ่วได้ โดยสารเหล่านี้จะไปแย่งจับกับสารก่อนิ่ว

 เช่น ซิเทรตจับกับแคลเซียม หรือแมกนีเซียมจับกับออกซาเลต

ทำให้เกิดเป็นสารที่ละลายน้ำได้ดี และขับออกไปพร้อมกับน้ำปัสสาวะ

ทำให้ปริมาณสารก่อนิ่วในปัสสาวะลดลงและไม่สามารถรวมตัวกันเป็นผลึกนิ่วได้

นอกจากสารยับยั้งนิ่วในกลุ่มนี้แล้ว โปรตีนในปัสสาวะหลายชนิด

ยังทำหน้าที่ป้องกันการก่อผลึกในปัสสาวะ และเมื่อเคลือบที่ผิวผลึก

จะช่วยขับผลึกออกไปพร้อมกับปัสสาวะได้ง่ายขึ้น

ปัจจุบันมีหลายงานวิจัยระบุว่าความผิดปกติของการสังเคราะห์

และการทำงานของโปรตีนที่ยับยั้งนิ่วเหล่านี้เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคนิ่วไต

ส่วนนิ่วที่พบได้บ่อยในประเทศไทยอธิบายได้ว่า

ก้อนนิ่วสามารถจำแนกชนิดคร่าว ๆ ออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ

นิ่วชนิดเนื้อเดียวที่มีองค์ประกอบเพียงอย่างเดียว

และนิ่วชนิดเนื้อผสมที่มีหลากหลายองค์ประกอบรวมกัน

นิ่วส่วนใหญ่ที่พบในประเทศไทยจะเป็นนิ่วเนื้อผสม

ซึ่งเราสามารถแบ่งชนิดนิ่วได้จากองค์ประกอบหลักที่สำคัญในก้อนนิ่ว ได้แก่

นิ่วแคลเซียมออกซาเลต นิ่วแคลเซียมฟอสเฟต นิ่วยูเรตหรือนิ่วกรดยูริก

นิ่วสตูไวท์หรือนิ่วติดเชื้อ นิ่วซีสทีน และนิ่วชนิดอื่น ๆ

ขอบคุณข้อมูลจาก ผศ.นพ.วิทย์ วิเศษสินธุ์

หน่วยศัลยศาสตร์ระบบปัสสาวะ ภาควิชาศัลยศาสตร์

คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

#RamaChannel








Create Date : 21 มีนาคม 2557
Last Update : 21 มีนาคม 2557 21:22:39 น.
Counter : 4827 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Poungchompoo.BlogGang.com

tangkay
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]

บทความทั้งหมด