สัมภาษณ์คุณดังตฤณ
สัมภาษณ์คุณดังตฤณ วันเสาร์ที่ ๓ มีค. ๒๕๕๐ ตอน 1
เรื่อง ทาน ศีล ภาวนา
ส่งกระทู้นี้ทางเมล | พิมพ์กระทู้ | html word

หน้า: (รวม 3 หน้า) [1] 2 3 หน้าต่อไป ( คำตอบที่ยังไม่ได้อ่าน )


เนื้อความ : (ake) อ้างอิง |


น้องกระดิ่งน้อยพึ่งถอดเสร็จครับ
เด๋ยวน้อง เกด จะมาตกแต่ง สี ให้นะครับ
เชิญอ่านได้เลยครับ
_/\_

======================================

สัมภาษณ์คุณดังตฤณ ตอนที่ ๑
วันเสาร์ที่ ๓ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๐


ถาม: คุณดังตฤณคิดว่า หลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา จะเป็นเหมือนยาช่วยบรรเทาอาการปัญหาของสังคมในปัจจุบันหรือไม่อย่างไรคะ?

คุณดังตฤณ: ก่อนอื่นต้องเข้าใจนะว่าพระพุทธศาสนามีคำสอน ไม่จำกำจัดเฉพาะกาล คำสอนของพระพุทธศาสนานี้ เป็นคำสอนที่เข้ากันได้กับมนุษย์ ทุกเพศทุกวัย ทุกชาติภาษา ทุกยุคทุกสมัยนะครับ

ถ้าหากว่าเราเข้าใจตรงนี้ ก็จะได้ตัดคำว่า “ช่วยบรรเทาอาการมีปัญหาของสังคมในปัจจุบันได้หรือไม่?” เราตัดคำนี้ออกไปได้เลย แต่พุ่งตรงไปที่ประเด็นคำถามที่ว่า "จะช่วยบรรเทาอาการมีปัญหาของสังคมได้อย่างไร?" คือตัดคำว่าปัจจุบันทิ้ง แล้วบอกว่า "ช่วยคนได้อย่างไร?" ถามสั้นๆ อย่างนี้เลย

ช่วยคนได้ยังไง? ก็ต้องถามก่อนว่า คนมีปัญหาอะไรนะ? ถึงต้องใช้ยา คนเราเหมือนป่วยกันทางจิตทุกคน ป่วยมากหรือป่วยน้อยเท่านั้นเอง รู้ตัวหรือไม่รู้ตัวเท่านั้นเอง ถ้าหากป่วยมาก มนุษย์มีวิธีช่วยกัน โดยการจับเข้าโรงพยาบาลบ้า หรืออาจจะเข้าสถานบำบัดอะไรสักอย่าง อันนั้นคือป่วยทางจิตแบบมาก อย่างมากนะ แต่ถ้าป่วยน้อยเนี่ยะ คนจะไม่รู้ตัวว่าป่วย แล้วก็ไปมองกันว่านั่นเป็นอาการปกติ คืออยู่ร่วมกับสังคมได้ ใช้ชีวิตอย่างเอาตัวรอดได้ สามารถที่จะ..อืม..บางคนเนี่ยะช่วยเหลือสังคมได้ด้วยซ้ำ

เรามาดูนิยามกันว่า ป่วยทางจิตเนี่ยะ ป่วยยังไง? ทางพุทธศาสนาบอกว่า คนที่สำคัญผิดว่าอะไรที่มันไม่ใช่ของเรา..แล้วสำคัญว่าเป็นของเรา ไปสำคัญว่าสิ่งที่มันไม่เที่ยง..ว่ามันเที่ยง ไปสำคัญว่าสิ่งที่มันตั้งอยู่ไม่ได้ ทนอยู่ไม่ได้..ว่ามันตั้งอยู่ได้ ว่ามันทนอยู่ได้ อันนั้นแหละป่วยทางจิตแล้ว

คือไปสำคัญผิดว่า สิ่งที่ไม่ใช่ของเรา ว่าของเรา สิ่งที่มันไม่เที่ยง อยากให้มันเที่ยง นึกว่ามันจะต้องเที่ยง พอมันแสดงการแปรปรวนให้เห็น ก็เกิดอาการคลุ้มคลั่งทรมาน นี่แหละทุกข์ทางใจที่ทุกคนเป็นกัน ทีนี้ถ้าเป็นแบบปกติก็คือว่า อย่างเวลาญาติเสียชีวิต คนรักเสียชีวิต หรือมีอันต้องพรากจากบุคคลอันเป็นที่รัก ก็มีอาการฟูมฟายโวยวายขึ้นมาสักครั้งหนึ่ง แต่ถ้าบ้าแบบมาก ก็คือยังไม่ต้องเจออะไร ก็เกิดอาการคลุ้มคลั่ง วิปลาสขึ้นมา นี่คนทั่วไปจะมองกันแบบนี้ คืออยู่ๆ โวยวายคลุ้มคลั่งขึ้นมา ถือว่าบ้า แต่ถ้าอยู่กันปกติแล้วไม่โวยวาย จะโวยวายก็ต่อเมื่อมีการพรากจากไป อันนั้นน่ะนะ ถึงจะเรียกว่าเป็นปกติ แต่จริงๆ พุทธศาสนาถือว่า ทั้งหมดเนี่ยะ บ้าหมดเลย สำคัญผิดหมด คือ บ้าเพราะสำคัญผิด บ้าเพราะอุปปาทาน บ้าเพราะเกิดความไม่เข้าใจ บ้าเพราะยอมรับไม่ได้ว่าทั้งหลายทั้งปวงนี้มันไม่เที่ยง ไม่สามารถทนอยู่ในสภาพเดิมได้ แล้วก็ที่มันเป็นอย่างนั้นก็เพราะว่าไม่มีอะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นตัวเป็นตน ที่เราจะไปบังคับบัญชาไม่ให้มันเปลี่ยนแปลง ไม่ให้มันแปรปรวนไป

ทีนี้ กลับมาถึงคำถามว่า คำสอนของพระพุทธศาสนาเนี่ยะ จะเป็นยาช่วยบรรเทาอาการหรือว่าปัญหาของสังคม หรือว่าอีกนัยหนึ่งคือ แก้ปัญหาทางใจของมนุษย์ได้อย่างไร?

พุทธศาสนาบอกเลยว่า ก่อนอื่นให้ทำตัวให้รอดจากปัญหา ที่มันจะก่อให้เกิดอาการบ้า คลุ้มคลั่งวิปลาสหนักๆ ขึ้นมาซะก่อน ปมปัญหาของมนุษย์ก็คือ พอมันมีความเข้าใจผิดมาตั้งแต่ต้นแล้วเนี่ยะ นึกว่าของไม่ใช่ของๆ ตัวเอง แต่นึกว่าเป็นของๆ ตัวเอง ก็ตระหนี่หวงไว้ แม้แต่มีส่วนเกินอะไรมากมาย เราก็ไม่เจือจาน แล้วถึงต่อให้มันเป็นสิทธิอันชอบธรรมของตัวเองแล้วเนี่ยะ ก็รู้สึกว่ามันจะแตกสลายหายไปไม่ได้ ทั้งๆที่จริงๆ แล้วก็คือ วันหนึ่งมันจะต้องหายไป ถ้าเรารู้จักให้ทาน รู้จักที่จะเสียสละ มันก็จะมีใจที่จะรู้จักที่จะปล่อยวางในระดับเบื้องต้นแล้ว

อย่างถ้าใครเคยบริจาคหนึ่งพันบาท เวลาเงินหายหนึ่งพันบาท ก็จะทำใจได้ มันจะรู้วิธีจัดการกับจิตใจของตัวเอง ว่าจะคิดให้มันปล่อยวาง คิดให้มันสละได้อย่างไร แต่คนที่ไม่เคยบริจาคแม้แต่พันเดียว เรียกว่าโอ้โห! เรียกว่านอนไม่หลับไปเจ็ดวันเจ็ดคืน คลุ้มคลั่ง แทบจะไปพลิกแผ่นดินหา ไปโทษคนโน้นโทษคนนี้ ไปทำให้เกิดเรื่องเกิดราวอะไรขึ้นมาได้มากมาย เนี่ยะเป็นตัวอย่างนะ อันนี้เป็นยาขั้นต้น

ต่อมา ยาเม็ดแรกนี้ก็คือ ได้ชื่อว่า การรู้จักให้ทาน ยาเม็ดที่สองก็คือการรักษาศีล อย่างของของเราเนี่ยะ ถ้ามีสิทธิอันชอบธรรมของเราเนี่ยะ ถ้าหากว่าเราเก็บไว้เนี่ยะ เราก็รู้สึกหวง มันสามารถเข้าใจได้ว่าคนอื่นก็ต้องรู้สึกหวงเหมือนกัน แต่ทีนี้ถ้าหากว่ามันมีความไม่เข้าใจตั้งแต่ต้น ว่าของทั้งหลายไม่ใช่ของๆ เรา มันก็นึกว่าอะไรที่ ทั้งๆที่มันเป็นของๆคนอื่นเนี่ยะ ถ้าคนเราไม่มีศีล มันก็สำคัญไปว่ามันเป็นของๆ เราได้ คืออยากจะไปเอาของๆเค้ามา รู้สึกว่ามันน่าจะเป็นของๆ เรา ทั้งๆ ที่มันเป็นของๆ คนอื่น ไอ้ตัวนี้ถ้าหากว่าไม่มีศีล ก็จะทำให้เกิดความหลงผิดเข้าใจผิดมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งว่า เออ..ขโมยแล้วไม่รู้สึกอะไร ไม่รู้สึกสำนึก แต่รู้สึกธรรมดา ว่า..เออ..ของมันขโมยกันได้ นี่ขั้นต้นเนี่ยะแค่ที่ว่ามันไม่ใช่ของๆ เราเนี่ยะ พอทำใจไม่ได้แล้วมันสามารถที่จะลุกลาม เกิดอุปปาทานไปได้ถึงขั้นที่ว่าแม้แต่สิ่งที่เป็นสิทธิของคนอื่น เป็นสิทธิครอบครองของคนอื่น เราก็จะไปเอามาเป็นของๆ เรา นี่เป็นตัวอย่างที่ว่าถ้าไม่มีศีล ถ้าไม่ตั้งใจงดเว้น มันก็จะเกิดความเข้าใจผิดขั้นรุนแรงขึ้น

ต่อมายาเม็ดขั้นที่สามก็คือ การภาวนา ต้องตั้งต้นด้วยความเข้าใจอย่างนี้ก่อนว่า แม้มันจะเป็นของๆ เราจริงๆ เนี่ยะ ก็สละให้คนอื่นได้ แล้วของๆ คนอื่น ถ้าเขาไม่ให้ เราก็อย่าไปเอาของเค้ามา อันนี้เป็นเรื่องของศีล ในเรื่องของการภาวนานี้ เป็นการทำให้มีความเข้าใจต่อยอดลึกซึ้งไปกว่านั้น นั่นก็คือมีความเห็น มีการพิจารณา ว่าทั้งหลายทั้งปวงแม้แต่ แก้วตาเรา แก้วหูเรา จมูกนี้ ปากนี้ ลิ้นนี้ ผิวหนัง ร่างกายนี้ ทั่วทั้งตัว แม้กระทั่งจิตวิญญาณ ที่มันครองร่างนี้อยู่ ทั้งหลายทั้งปวงมันก็ไม่เที่ยง เหมือนกับของๆ เราเนี่ยะ ที่วันหนึ่งมันจะต้องแตกดับไป เหมือนกับคนรัก ที่วันหนึ่งต้องพรากจากกัน แล้วตัวเราแม้แต่ตัวเราเอง ร่างกาย ตั้งแต่เส้นผมถึงปลายเท้า ไปยังกระทั่งจิตวิญญาณที่มันครองกายอยู่เนี่ยะ ก็จะต้องแตกสลายไปเหมือนกัน แล้วมันไม่ใช่แค่ความเข้าใจชั่วครู่ แต่พระพุทธเจ้าให้เจริญสติตามเห็นเลย ตามเห็นเป็นขณะๆ ว่าไม่มีอะไรตั้งแต่ปลายผมถึงปลายเท้า และสภาพการรับรู้อารมณ์ความรู้สึกนึกคิด สุขทุกข์อะไรทั้งหลายแหล่เนี่ยะ มันไม่มีอะไรสักอย่างเดียวที่เที่ยง

ถ้าหากว่าใครไปถึง คือได้กินยาทั้งสามเม็ดนี้ครบถ้วน ไม่ว่าจะเกิดยุคไหนสมัยไหน ไม่ว่าจะเป็นเพศใดวัยใด ก็จะหายป่วย หายป่วยทางใจ แล้วก็ผลที่ออกมาเป็นขั้นสุดท้ายจริงๆเลยก็คือว่าจะไม่เป็นทุกข์ทางใจอีก อันนี้แหละคือสิ่งที่ทุกคนทุกยุคทางสมัยมีทุกข์ทางใจกันเสมอ

พุทธศาสนาเกิดขึ้นมาเพื่อที่จะแก้ทุกข์ทางใจอย่างเด็ดขาดด้วย แบบชนิดไม่กลับไม่เปลี่ยนอีก เพราะว่ารากของปัญหามันจบไปแล้ว ความเข้าใจผิดน่ะ ความเข้าใจผิดที่ทำให้เกิดการอยากประการต่างๆ การอยากที่ทำให้เกิดความกระวนกระวายไปต่างๆเนี่ยะมันหมดไปจากใจ เพราะฉะนั้นทุกข์ทางใจก็หายไป สรุปก็คืออาการป่วยทางใจมันหายไปอย่างเด็ดขาด


ถาม: การที่เราจะมีส่วนร่วมในการสร้างสังคมไทยให้เป็นพุทธแท้ ต้องเริ่มอย่างไรดีคะ? (เช่นถ้าเริ่มจากตัวจากตัวแก๊สนี้ ควรจะเริ่มอย่างไรดีคะ? )

คุณดังตฤณ: ควรจะเริ่มจากตัวเองก่อน ความเป็นพุทธแท้มันเริ่มจากความเข้าใจ แล้วต่อยอดเป็นการปฏิบัติจริง ถ้าหากว่าเรามีความเข้าใจ แล้วปฏิบัติจริงได้ จนกระทั่งตัวเรามีความเป็นพุทธออกมาจากจิตวิญญาณ ก็เท่ากับเราลดปัญหาของโลกไปได้หน่วยหนึ่งแล้ว เมื่อลดปัญหาของโลกไปได้หน่วยหนึ่ง มันก็จะมีกำลังใจที่จะลดปัญหาหน่วยอื่นๆ ที่เกิดจากหน่วยอื่นๆต่อไปอีก

แต่ถ้าคนเราไม่สามารถเป็นพุทธด้วยตัวเองแล้ว มันไม่สามารถมีกำลังใจ ไม่สามารถมีความเข้าใจ และไม่สามารถให้คำแนะนำในการปฏิบัติจริง ไม่ว่าจะเป็นในขั้นของทาน ของศีล หรือของการภาวนา ให้กับคนอื่นๆ เพราะฉะนั้นจุดเริ่มต้นที่ถูกต้องที่สุดก็คือ เริ่มจากตัวเอง หลายคนเลยเข้าใจว่า พุทธศาสนาเนี่ยะ เอาแค่เราช่วยกันเผยแผ่คำสอนของพระพุทธเจ้า แค่นี้ก็ถือว่าเป็นการมีส่วนร่วมช่วยแล้ว มันก็ช่วยจริงอยู่ในระดับหนึ่ง แต่มันไม่ได้ช่วยอยู่ในระดับที่เราช่วยออกมาจากมือของเราเอง เรายืมมือคนอื่นช่วย การยืมมือคนอื่นช่วยเนี่ยะ มันช่วยไม่ได้จริงหรอก เพราะว่ามันไม่ได้มีการลงมือจริง มันแค่ไปประคอง หรือว่าเอาป้ายโฆษณาไปช่วยแปะไว้ เค้าจะอ่านหรือไม่อ่านก็ไม่รู้ เค้าจะเข้าใจหรือไม่เข้าใจ..ก็ไม่รู้ เค้าจะปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติจริง..ก็ไม่รู้

แต่ถ้าหากว่าเราเป็นพุทธด้วยตัวเองแล้วเนี่ยะ อย่างน้อยที่สุด เรามีความเข้าใจ แล้วเราก็สามารถที่จะทราบได้ด้วย ว่าคนอื่นเค้าเข้าใจตามหรือเปล่า แล้วถ้าหากว่าเราอยู่ในขั้นของการปฏิบัติจริง ไม่ว่าจะในขั้นของทาน ของศีล หรือของการภาวนา เราก็สามารถที่จะมองเห็น เหมือนมองมาจากที่สูงนะว่า คนอื่นเนี่ยะเค้าอยู่ถึงขั้นไหน เค้ากำลังเริ่มต้นอยู่ที่เนิน หรือว่าเค้าไต่ขึ้นมาระดับหนึ่งแล้ว หรือว่าเค้ามาได้กลางทางแล้ว หรือว่าเค้าใกล้จะถึงจุดสุดยอดแล้ว เราก็จะสามารถเห็นได้ ตามระดับที่เราขึ้นมาถึงครับ

เพราะฉะนั้นสรุปคือการที่จะมีส่วนร่วมสร้างสังคมไทยให้เป็นพุทธแท้ ก่อนอื่นต้องทำความเป็นพุทธแท้ให้เกิดขึ้นในเราซะก่อนเป็นอันดับแรก


ถาม: อย่างแก๊ส หรือว่าผู้คนในช่วงวัยรุ่น อายุ 25-26 จะเป็นช่วงที่มองไม่ออกในเรื่องความทุกข์ หรือว่าจะไปแสวงหาธรรมะ แล้วถ้าเกิดว่าตัวหนูเอง หรือมีคนที่ไม่เข้าใจ หนูควรจะไปอธิบายให้เค้าเข้าใจอย่างไรดีคะ?

คุณดังตฤณ: ก่อนอื่นความทุกข์ต้องเข้าใจก่อนเลยว่า ความทุกข์ไม่จำเป็นต้องทำความรู้จัก เพราะว่าทุกคนเป็นทุกข์มาตั้งแต่แรกเกิดอยู่แล้ว เห็นได้ชัด เด็กไหลออกมาจากท้องแม่ ทุกคนร้องไห้หมด ไม่มีใครหัวเราะออกมาจากท้องแม่ ทุกคนรู้จักการร้องไห้ก่อนการหัวเราะ ตรงนั้นเป็นข้อน่าสังเกตของชีวิต ทุกคนรู้จักทุกข์มาตั้งแต่วินาทีแรกที่ลืมตาดูโลก เอ่อ..ยังไม่ทันลืมตาดูโลกเนี่ยะ แค่ไหลออกมาเนี่ยะ ยังไม่ทันลืมตาเนี่ยะ ก็รู้จักความทุกข์กันแล้ว

เพราะฉะนั้นอย่าบอกว่า เราไม่เข้าใจว่าความทุกข์เป็นอย่างไร? หน้าตาความทุกข์เป็นอย่างไร? เราอยู่กับความทุกข์มาตั้งแต่วินาทีแรกที่ออกมาบนโลกนี้นะ แต่ว่าพอโตขึ้นมาแล้วเราเข้าใจเรื่องความทุกข์บ้าง เราสัมผัสความสุขบ้าง เราเห็นว่าอะไรที่ถ้าได้อย่างใจ จะเป็นความสุข ถ้าไม่ได้อย่างใจจะเป็นความทุกข์ เนี่ยะเรามองกันแค่นี้

แต่พระพุทธศาสนาเนี่ยะ อธิบายว่า ไม่ว่าเราจะสมหวังหรือว่าเราจะผิดหวัง เหล่านั้นเนี่ยะมันเป็นตัวหล่อเลี้ยงความทุกข์ไว้ทั้งนั้นเลย คือต้องเข้าใจจริงๆ ว่าต้นเหตุของความทุกข์มันคือความอยาก ตราบใดที่ยังมีความอยาก ไม่ว่าจะสมหวังหรือมันจะผิดหวัง ตราบนั้นเราหล่อเลี้ยงเชื้อของความทุกข์ไว้เสมอเวลาที่เราอยากแล้วสมอยาก มันดูเผินๆ เหมือนกับมีความสุข แต่ลองคิดดูว่า เราได้สิ่งที่อยากมาเนี่ยะ มันรักษาไว้ได้ไหม? วันหนึ่งมันก็ต้องแตกพังไป หรือวันหนึ่งบุคคลอันเป็นที่รักก็ต้องพรากจากไป หรือแม้กระทั่งว่าสมบัติยังอยู่ในมือ แต่เราก็เกิดความเบื่อหน่ายได้ แล้วก็อยากแล้วก็กระวนกระวาย ที่จะได้สิ่งอื่นๆสิ่งใหม่ๆ มาแทนที่ให้เกิดความสดใสสดชื่น เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าเราจะมองให้ออกว่าความทุกข์สัมพันธ์กับธรรมะอย่างไร เราต้องมองที่ตรงนี้

ธรรมะบอกเราว่า ทุกข์มันเกิดจากความอยาก ถ้าหากว่าดับความอยากได้ ก็ดับทุกข์ได้ ทีนี้การดับความอยาก ไม่ได้เกิดขึ้นจากการสั่งตนเอง สะกดจิตตนเองให้หมดอยาก หรือว่าไปเกิดกดไว้ บอกว่าฉันไม่อยาก มันไม่ใช่อย่างนั้น แต่เริ่มต้นจากการทำความเข้าใจอย่างเป็นขั้นเป็นตอนว่า ทั้งหลายทั้งปวงนั้นเริ่มจากการสละความตระหนี่ก่อน เพราะว่าการที่ยังมีก้อนความตระหนี่เนี่ยะ มันเป็นอาการทางจิตที่หวงแหนอย่างรุนแรง ไม่ให้แม้แต่ส่วนเกิน


ถาม: ซึ่งก็คือทาน ใช่ไหมคะ?

คุณดังตฤณ: ครับ ในขั้นต่อมาก็คือจะต้องงดเว้นพฤติกรรมผิดๆ นั่นก็คือการรักษาศีล ถ้าหากว่าเรารักษาศีลได้ เราก็จะรู้ว่าอะไรควรทำอะไร ไม่ควรทำ อะไรเป็นประโยชน์ อะไรเป็นโทษ ถ้าคนไม่รักษาศีล ไม่มีทางที่จะมองออกว่าอะไรเป็นประโยชน์อะไรเป็นโทษ และก็ในขั้นต่อมาที่มันจะดับความอยากได้อย่างแท้จริงเนี่ยะ

อือ...เมื่อกี้พูดตกไปนิดหนึ่ง เรื่องของทานเนี่ยะ เป็นการลดความอยาก อยากได้อยากมี อันเป็นส่วนเกิน ส่วนศีล ลดความอยากได้ อันเป็นความละโมบโลภมากเกินตัว ทีนี้พอมาถึงขั้นการภาวนาเนี่ยะ มันเป็นเรื่องของการดับความอยากถึงรากถึงโคน เพราะว่ามันย้อนเข้ามาที่จิตเลย เอามาตั้งต้นกันที่จิตเนี่ยะ ว่าจิตเดิมทีมันเป็นยังไงอยู่ แล้วใช้ชีวิตไปเนี่ยะจิตมันผิดไปยังไง มันบิดเบี้ยวไปยังไง เราไปทำให้มันตรงซะ ด้วยความเห็นที่ถูกต้อง แล้วด้วยการมีสติรู้ตามจริงว่าเกิดอะไรขึ้นกับจิตใจของเรา แต่ละที่ถูกกระทบ ถูกโลกกระทบ มีปฏิกิริยาอะไรทางใจที่มันสวนออกไป

เราเห็นว่า ไม่ว่าจะเกิดการกระทบกระทั่งอะไรทางหูทางตาขึ้นมา ถ้าหากว่าใจมันไม่คล้อยตาม มันมีสติ มันไม่ไป ยินยอมที่จะถูกเป็นฝ่ายกระทำอย่างเดียว ในที่สุดมันเกิดความรู้ขึ้นมาว่า กระทบส่วนกระทบ ความอยากก็ส่วนความอยาก ถ้าหากว่ามันมีกระทบแล้วมีสติรู้ทันว่านั่นคือกระทบ มันก็ไม่เกิดความอยาก หรือความอยากเกิดขึ้นแล้ว เราก็เห็นว่าความอยาก สักแต่เป็นแรงดันที่โป่งออกมาทางจิต แล้วก็มันยื่นออกไปจับ ออกไปคว้า ที่ท่านเรียกว่าทะยานอยากเนี่ยะ จิตมันทะยานออกไปจริงๆ ยื่นออกไปจับกับวัตถุที่มากระทบ ถ้ากระทบมาในทางดี เราก็อยากได้มา ถ้ากระทบมาในทางร้าย เราอยากพลักไสออกไป นี่แหละมันคือเงื่อนงำ ก็คือกลไกของความอยาก

ถ้าหากว่าเราเข้าใจต้นตอ ที่มาที่ไปของความอยากแล้ว มันก็เกิดความรู้สึกว่า เออ..ไม่เห็นต้องอยาก อยากไปเนี่ยะมันก็เป็นแค่อาการทางจิตอย่างหนึ่ง เมื่อเราเห็นแล้วว่าอาการทางจิตเป็นอย่างนี้ แล้วไม่ตามมันไป ไม่ตามใจมัน ในที่สุดความอยากมันก็แสดงความไม่เที่ยงให้เราเห็น มันจะเป็นเหมือนอาการหลอกๆ อะไรทางจิตชนิดหนึ่ง ที่พลุ่งพล่าน ที่สงบลงไปเอง ถ้าหากว่าเราไม่เข้าไปเติมเชื้อเติมอะไรให้กับมันด้วยความเข้าใจผิด แต่ว่าไปทำให้มันสงบด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง แล้วก็สติที่ถูกต้อง สติเนี่ยะไม่ใช่ไปกดเก็บกดมันไว้ แต่เห็นจริงๆ ว่ามันเกิดความอยาก แล้วเห็นว่าความอยากนั้นมันแสดงความไม่เที่ยงออกมาเองโดยที่เราไม่ต้องไปทำอะไรกับมันเลย คือไม่ทำอะไรกับมันเลย ไม่ทำจริงๆ แม้กระทั่งว่าการไปเติมเชื้อความอยากให้กับมัน ไม่ไปเร่งให้ความอยากตรงนั้นเนี่ยะมันเติบกล้าขึ้นมา

เพราะฉะนั้นสรุปของคำถาม ก็คือว่าวิธีที่จะทำความเข้าใจเรื่องความทุกข์กับธรรมะ ว่ามันมีส่วนสัมพันธ์กันยังไง? ถ้าหากว่าเรามองเห็นว่าทุกข์เกิดจากความอยาก แล้วเรารู้วิธีปฏิบัติที่จะทำให้ความอยากนั้นน่ะ มันหายไปได้อย่างไรอย่างถูกต้อง โดยไม่ต้องเก็บกด มีสติเท่าทัน รู้สึกสบาย ในที่สุดแล้วมันก็จะมองออกเอง อ่านออกเอง ว่าเออ..ทั้งหลายทั้งปวงเนี่ยะ มันเข้ามาที่ใจ มองเข้ามาที่ใจ เห็นเหตุของความทุกข์ แล้วก็ไม่ปล่อยให้เหตุของความทุกข์มันลุกลามไป นี่แหละคนทั้งโลกสามารถเข้าใจได้เพราะว่าความทุกข์กับความอยากเนี่ยะ มันประสบกันทุกชาติทุกภาษาทุกเพศทุกวัย ถ้าหากเข้าใจหลักการตรงนี้ได้ มันก็จะเริ่มมองเข้ามาข้างในแล้วก็มีสติอยู่กับข้างใน


ถาม: แล้วคิดว่าการปูพื้นฐานธรรมะเนี่ยะ ควรจะปูตั้งแต่เด็กๆหรือเปล่าคะถึงจะเป็นการดี?

คุณดังตฤณ: มันแล้วแต่คน เพราะว่าเด็กบางคนเนี่ยะพร้อมที่จะฟัง มันต้องดูด้วย เด็กแต่ละคนเนี่ยะ เค้ามีความซนแตกต่างกัน มีความกระวนกระวายที่แตกต่างกัน มีความอยากที่แตกต่างกัน ถ้าเราเอาธรรมะชั้นสูงมาให้เค้าในทันทีเนี่ยะ ทั้งๆ ที่เค้ายังไม่มีความทุกข์ แล้วก็ยังรู้สึกเหมือนชีวิตเป็นเรื่องงดงามเป็นเรื่องน่าบันเทิงใจ ธรรมะเนี่ยะไม่มีทางเข้าหูเค้าหรอก

แต่ว่าถ้าหากเราค่อยๆ สอนเค้าให้รู้จักเหตุรู้จักผล เหตุผลธรรมดาๆ นี่แหละว่าทำไมคนเราถึงต้องไปโรงเรียน? ทำไมคนเราถึงไม่ควรจะดื้อกับพ่อแม่? อย่างสอนเด็กนะ บางทีมันมีแต่ละคนมันมีอุบายแตกต่างกันไป อย่างเช่น บางทีมันดื้อกับพ่อแม่มากๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาละวาดกับแม่มากๆ เนี่ยะ เราอาจจะเอาตุ๊กตา กระปุกออมสิน อะไรของเค้าเนี่ยะ ของๆเค้าเองเนี่ยะ ไปแนบกับท้องเค้าแล้วก็ถามเค้าว่าเนี่ยะ ให้อุ้มไป 9 เดือนเนี่ยะ ไหวไหม? มันหนักไหม? ถ้าเขารู้สึกว่า เออ..มันหนักนะ เราก็บอกว่านี่แหละ ที่แม่อุ้มเรามา แล้วก็บอกว่ามันทิ้งไม่ได้แบบที่เราจะทิ้งของเล่นด้วย อ้า..ยิ่งกว่านั้นอีก เราอาจจะไปบิดพุงเค้า เล็กๆนะ คือบอกว่าเนี่ยะ เจ็บไหมเนี่ยะ? ถ้าเค้าบอกว่าเจ็บ ก็บอกว่านั่นแหละ เวลาที่แม่อุ้มท้องเราเนี่ยะ บางทีก็เจ็บอย่างเนี่ยะ แล้วก็ขัดขืนไม่ได้ด้วย เมื่อไหร่ที่เราจะดิ้นหรือเราจะเตะจะถีบอะไรเนี่ยะ คุณแม่ไม่สามารถที่จะไปห้ามเราได้

คือต้องมีอุบายอะไรง่ายๆ ยกตัวอย่างอย่างง่ายๆ คือไม่ใช่ธรรมะขั้นสูง แต่ต้องเป็นธรรมะขั้นพื้นฐาน ในแบบที่เด็กเค้าจะเข้าใจได้ว่าการมีเหตุมีผลเนี่ยะ มันจะช่วยให้มีความเข้าใจนะว่า อะไรเป็นประโยชน์? อะไรเป็นโทษ?


ถาม: ก็คือเหมือนกับว่าสอนให้เค้ารู้สึกเหมือนกับที่เราเคยรู้สึกใช่ไหมคะ? เหมือนกับตอนที่ได้อุ้มท้องเนี่ยะ

คุณดังตฤณ: อันนี้ที่จริงแล้ว มันเป็นอุบายของแต่ละคนนะ คือมันจะมีสถานการณ์มันจะมีจังหวะ มีอะไรที่มันเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของเด็กแต่ละคน ที่เราสามารถหาช่องแทรกให้ได้ คือมันจะต้องหัดเอาสิ่งที่อยู่ใกล้มือที่สุด ใกล้มือที่สุดมาเป็นข้อสอนธรรมะ อย่าเอาสิ่งที่อยู่ไกลตัวแล้วเค้ามองไม่เห็น สัมผัสไม่ได้ มันมีวิธีเดียวคือเอาสิ่งที่เป็นเหตุเป็นผล สิ่งที่อยู่แวดล้อมใกล้ตัว เค้าไปสอนเค้า ถ้าหากว่าเค้ามองไม่เห็น เค้าสัมผัสไม่ได้เนี่ยะ มันก็รับไม่ได้เหมือนกันโดยเฉพาะคำว่าธรรมะเนี่ยะ ที่มันจะเข้าสู่ใจเค้าได้จริงๆเนี่ยะ ก็คือเค้าเห็นก่อนว่าเหตุและผลที่มันน่ารับฟัง เฉพาะหน้าเนี่ยะ มันคืออะไร? ทำไมทำดีแล้วมันถึงมีความสุขได้? ทำไมทำชั่วแล้วมันถึงมีความทุกข์ได้?

อย่างกรณีเรื่องอาละวาดกับพ่อแม่อย่างเนี่ยะ มันเกิดขึ้นกับเด็กทุกคนอยู่แล้ว ทีนี้เราก็เอาจุดตรงนั้นมาเป็นตัวตั้ง ว่าการอาละวาดของเค้า มันไม่ได้ทำให้เค้ามีความทุกข์อย่างเดียว แต่มันทำให้พ่อแม่เป็นทุกข์ด้วย อย่างที่ว่าไปเนี่ยะว่าเราสามารถหาอุบาย หาอะไรมายัดใส่ท้องเค้าแล้วบอกว่าเนี่ยะแม่ทิ้งเราไม่ได้นะ หรือว่าบิดท้องเค้าว่าเราเคยบิดท้องแม่มา คือมันจะไม่รู้จนกว่าเราจะได้เป็นแม่คนด้วยตัวเอง ตรงนี้แหละที่เราสามารถที่จะให้ธรรมะเบื้องต้นกับเค้าได้ ถามว่าเรื่องบาปเรื่องกรรมสำหรับเด็ก เด็กที่ยังไม่มีข้อมูลอะไรอยู่ในหัวเลยจริงๆ มันก็พูดได้ง่าย บอกบุญเนี่ยะมันจะทำให้เรามีความสุขนะ แล้วบาปจะทำให้เรามีความทุกข์ พูดกรอกหูเขาบ่อยๆเนี่ยะ ตรงนี้มันจะติดอยู่ในหัวเค้า


ถาม: ใช้วิธีสอนเป็นการกระทำได้ไหมคะ? อย่างเช่นเราสอนให้เขาทำความดีแล้วเขาก็ทำดี เราก็ให้เขาสังเกตว่าเขารู้สึกอย่างไร มีความสุขไหม กับให้เขาสังเกตเวลาที่เขาโมโหโกรธ ก็ให้เขาดูว่าเขารู้สึกว่าเหมือนทึบๆตันๆในหัวไหม เราค่อยๆสอนอย่างนี้ได้ไหมคะ

คุณดังตฤณ: ตรงนี้เนี่ยะ คือภาวะที่เกิดทางจิตใจเนี่ยะ เด็กจะยังไม่เข้าใจหรอก คือเด็กจะมีภาวะที่ยังรับอารมณ์ที่มันง่ายเท่านั้น คำพูดที่มันง่ายเท่านั้น อย่างที่บอกว่าถ้ายกตัวอย่างใกล้ตัว ที่มันเป็นรูปธรรม ที่เค้าสามารถสัมผัสได้เนี่ยะ อันนี้มันจะง่าย แต่ถ้าพูดเรื่องจิตเรื่องใจนะ บางทีมันจะยาก เพราะว่าการพูดเรื่องจิตเรื่องใจเนี่ยะ มันเป็นเรื่องของการทำความเข้าใจในระดับนามธรรม เค้ายังแยกไม่ออกหรอก ว่าตัวเค้าเนี่ยะตรงไหนที่มันเป็นจิตใจ ตรงไหนที่มันเป็นร่างกาย เค้ารู้สึกว่าตัวเขามันเป็นก้อนอยู่ เพราะฉะนั้นจะรู้สึกทึบหรือว่าจะรู้สึกฟุ้ง รู้สึกอะไรเนี่ยะ บางทีรายละเอียดต่างๆ ลักษณะของภาวะต่างๆ มันยังไม่ปรากฏต่อเค้า แต่ถ้าบอกเค้าว่า เออ..เป็นไงรู้สึกดีหรือไม่ดี รู้สึกเป็นทุกข์หรือไม่เป็นทุกข์ ใช้คำง่ายๆ อย่างนี้ บางทีมันอาจจะเข้าใจได้ง่ายกว่า


ถาม: สังคมธรรมะออนไลน์นี้ มีข้อดีข้อเสียอย่างไรคะ? กับการที่คุณดังตฤณอยู่ในวงการธรรมะออนไลน์มานานแล้วน่ะคะ หรือว่าอย่างสื่ออื่นๆ อย่างนี้เราจะมีวิธีอย่างไรในการแนะนำคนมาใหม่ว่า สื่อแบบไหนหรือสารแบบไหนเป็นธรรมะของจริงน่ะค่ะ

คุณดังตฤณ: การที่เราจะพูดถึงข้อดีข้อเสียของธรรมะออนไลน์เนี่ยะนะ บางทีมันอาจจะทำได้ไม่ครอบคลุมหรอกเพราะว่าข้อดีมันมีเยอะเหลือเกิน และข้อเสียมันมีมากมหาศาลเหลือเกิน แต่จะขอพูดเอาแค่เท่าที่เราจะรับทราบเอาได้ง่ายๆก็แล้วกัน

พูดถึงข้อดีก่อนก็คือ เราได้เจอคนที่มีธรรมะได้ง่ายกว่าชีวิตจริง เพราะว่าชีวิตจริงนี่เราจะไปพูดคุยเรื่องธรรมะ บางทีมันยากเพราะความเห็นความเชื่อของคนเรา มันไม่ค่อยจะตรงกัน และก็ความอยากจะคุยของคนส่วนใหญ่นั้นจะอยากคุยเรื่องไร้สาระ เรื่องที่ชวนกันให้ลุ่มหลงการอยู่ในโลก

ส่วนข้อเสียก็คือว่าพอเราจับคนที่สนใจธรรมะเข้ามาอยู่ด้วยกันมากๆ เนี่ยะ แต่ละคนมีความเล็งไปในส่วนต่างๆของธรรมะแตกต่างกัน เช่นบางคนเล็งธรรมะเอาเฉพาะที่เป็นปัจจุบัน แต่ส่วนใหญ่เล็งไปเพื่ออนาคต อย่างเช่น ถ้าหากพูดถึงธรรมะขึ้นมา ก็นึกถึงการทำบุญขึ้นสวรรค์ หรือไม่ก็นึกถึงการที่จะได้นั่งสมาธิ ไปรู้ไปเห็นเทวดา ไปพิสูจน์สวรรค์นรก แล้วก็หลายคนเลยที่เข้ามาเพราะว่าอยากมีฤทธิ์มีเดช อยากรู้ใจคนอื่น อยากรู้ว่าคนอื่นคิดอย่างไร จะได้เอาหักหน้าเค้าบ้าง หรือว่าเอาไปล้วงความลับเค้าบ้าง อะไรต่างๆนี้ คือการเล็งไปแตกต่างกัน แต่พวกที่เล็งไปทางปัจจุบันก็คือว่าเข้าใจแล้ว เข้าใจแก่นของพระพุทธศาสนาเลยว่า พูดเรื่องของความทุกข์ และการดับทุกข์ อย่างพระพุทธเจ้าท่านตรัสเลยนะ ว่าท่านไม่สอนอย่างอื่น ท่านสอนอย่างเดียว เป็นศาสตร์แห่งการว่าด้วยเรื่องของทุกข์ และการดับทุกข์

ทีนี้ถ้าหากว่าเอาคนที่มีความเห็นแตกต่างกันในทางธรรมะสองกลุ่มมาคุยกัน บางทีก็คุยกันไม่รู้เรื่อง แล้วทะเลาะกัน หรือแม้แต่ต่อให้คนเข้าใจแก่นนะ ว่าพระพุทธเจ้าพูดเรื่องทุกข์และการดับทุกข์ แต่ว่ามันก็มีหลายแนวทาง มีหลายสำนัก หลายความเชื่อ ว่าวิธีที่จะดับทุกข์เป็นอย่างไร นี้คือข้อเสีย เพราะว่าเถียงกันเนี่ยะมันไม่มีทางจบ เพราะต่างคนต่างก็ยึดมั่นว่าความเชื่อของตนเองเนี่ยะถูกต้อง

ทีนี้เพื่อที่จะทำให้ความขัดแย้งต่างๆ คลี่คลายลงไปได้ ทุกคนต้องตกลงร่วมกันว่าจะใช้อะไรเป็นเกณฑ์วัดความถูกต้อง? เกณฑ์วัดความถูกต้องนี้ก็ไม่มีอะไรดีไปกว่าคำสอนดั้งเดิมของพระพุทธเจ้า เพราะว่าพระพุทธศาสนานี้เกิดขึ้นมาก็เพราะพระพุทธเจ้าคนเดียว คนอื่นตามหมด เป็นผู้ตามพระพุทธเจ้าหมด ถ้าเชื่อพุทธศาสนาหมายความว่าเชื่อพระพุทธเจ้า

ทีนี้คำพูดของพระพุทธเจ้าอยู่ที่ไหน? ก็อยู่ในพระไตรปิฎก ถ้าหากว่าอ้างอิงสิ่งที่อยู่ในพระไตรปิฎกมาแล้วยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ ตรงนั้นมันก็เป็นเรื่องเหลือวิสัยแล้วที่จะมาตกลงกัน เพราะบอกว่าพระพุทธเจ้าพูดไว้อย่างนี้ บอกไว้อย่างนี้ จะตีความอย่างไร? จะตกลงกันอย่างไร? ถ้าหากว่ายังไม่ได้ ก็ต้องแยกหมู่แยกเหล่ากัน อันนี้มันก็เป็นข้อเสีย ทีนี้ถ้าหากเราสามารถคุยธรรมะกันได้ง่ายๆ ก็อาจจะแปลว่าเราอาจหาเรื่องทะเลาะกันได้ง่ายๆเหมือนกัน เพียงแค่ว่าความเชื่อไม่ลงกัน แล้วก็เกิดการแยกก๊ก แยกเหล่ากันในสังคม

อินเตอร์เนทเนี่ย ก็กลายเป็นเหมือนตลาด ตลาดสดธรรมะ ใครอยากจะไปตั้งประเด็น ดีเบทอะไรก็ได้ ตั้งหัวข้ออะไรก็ได้ ใครอยากค้าน อยากสนับสนุน ก็เลือกเข้าไปตามอัธยาศัย มันกลายเป็นธรรมะที่ทำมากปากเสีย ธรรมะที่ทำให้คนปากเสีย ธรรมะที่ทำให้คนใจเสีย ธรรมะทีอาจจะลุกลามถึงขึ้นลงมือกระทำที่เสียหาย ตรงนี้เนี่ยะเป็นอิสระภาพที่ไม่มีขีดจำกัดของอินเตอร์เนท เอาล่ะเราก็ได้ทั้งข้อดีข้อเสียในที่สุดก็ตรงนี้แหละ


ถาม: คุณดังตฤณคิดว่าการสื่อสารในปัจจุบันมีผลหรือว่าเอื้อประโยชน์ในการเผยแผ่หลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาหรือไม่อย่างไรคะ?

คุณดังตฤณ: อินเตอร์เนทมันช่วยเยอะในการรวบรวมคน บางทีอินเตอร์เนทก็ไม่ใช่เป็นการเผยแผ่ศาสนาในเชิงรับ ในเชิงรับก็หมายความว่าถ้าคนสนใจแล้วค่อยเข้ามา แต่ยังสามารถเผยแผ่ในเชิงรุกได้มาก ก็คือว่าถ้าหากเรารู้แหล่งว่าที่ไหน คนเขามีความสนใจเรื่องอะไรกัน แล้วเอาธรรมะแทรกซึมเข้าไป แฝงๆเข้าไปเนี่ยบางทีคนเขาก็ได้รับศาสน์ที่เป็นธรรมะโดยไม่รู้ตัว

ยกตัวอย่างเช่น ในเวปบอร์ดเกี่ยวกับเรื่องความรักต่างๆ เนี่ยะ มีคนให้คำแนะนำกันเยอะแยะเลย ว่าควรจะแก้ปัญหาความรักอย่างโน้นอย่างนี้ แต่ถ้าหากว่ามีคนที่เข้าใจเรื่องของชีวิต เข้าใจเรื่องของความรักด้วย และเข้าใจธรรมะของพระพุทธเจ้าด้วย คำแนะนำของเขานอกจากทำได้จากในทางโลกๆ แล้วก็อาจจะแฝงเอาธรรมะขั้นพื้นฐาน สำหรับคนที่เป็นมือใหม่เข้าไปได้ด้วย และคนที่เป็นมือใหม่ทางด้านธรรมะเนี่ยะ หันเขามาหาธรรมะกันเยอะแยะเลยจากความผิดหวัง ความอกหัก หรือภาวะไม่สมใจอะไรต่างๆ อันเนื่องจากมีคนมีความสามารถที่จะนำธรรมะไปให้ โดยที่ไม่กระโตกกระตากให้รู้ตัวหรือไม่ใช่ธรรมะแบบตีปี๊บ แต่เป็นธรรมะเคลือบหวาน

เพราะฉะนั้นถ้าสรุปคำตอบก็คือ การสื่อสารในปัจจุบันบนอินเตอร์เนท พูดเฉพาะบนอินเตอร์เนท มันก็มีประโยชน์ในแง่ของการเผยแผ่ธรรมะเชิงรุกมากทีเดียว คือคนเขาไม่ได้เข้ามาถามเรื่องธรรมะ แต่ว่าเข้ามาถามเรื่องความรักเรื่องอกหัก หรือว่าเรื่องปัญหาชีวิตอะไรก็แล้วแต่เนี่ย แต่ว่าเราก็สามารถเข้าไปในที่เหล่านั้น แล้วก็เอายาเคลือบหวานไปให้เขา


ถาม: จากที่คนส่วนใหญ่มองว่าธรรมะเป็นเรื่องยากเข้าใจยาก ภาษาก็ยาก อย่างเช่นที่ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฏก นั่นคือสาเหตุที่ทำให้คุณดังตฤณผลิตงานเขียนในปัจจุบันหรือเปล่าคะ? คือต้องการที่จะสื่อเรื่องยากให้กลายเป็นเรื่องง่ายที่คนในปัจจุบันเข้าใจง่ายขึ้นน่ะค่ะ

คุณดังตฤณ: คือดั้งเดิมผมจะเป็นคนที่จำได้ว่าตัวเองเคยสงสัยอะไรแล้วได้คำตอบมาอย่างไร การที่เรายังจำได้อยู่นี่มีความสำคัญมาก เพราะคนส่วนใหญ่พอเรียนรู้อะไรไปมักจะลืมว่าขึ้นต้นมาเราสงสัยอะไร แล้วเราได้คำตอบอย่างไร ขึ้นต้นมาทุกคนโง่หมด ถ้าเราจำความโง่ของตัวเองได้ เราก็จะมีวิธีสื่อสารที่ไม่ยากเกินไป เพราะว่าเราจะนึกถึงตัวเองในสมัยอดีต ว่าในสมัยที่ยังไม่รู้อะไรเลยเราต้องการคำตอบแบบไหน? ต้องการวิธีอธิบายแบบไหน? ต้องการตัวอย่างประกอบแบบไหน แล้วก็ตัวเรามีนิสัยพื้นนิสัยอย่างไร ได้คำตอบมามีอะไรเป็นแรงบันดาลใจ เป็นแรงกระตุ้นให้เกิดความสนใจ หรือว่าให้เกิดความกระจ่าง ความจำได้นี่แหละเป็นตัวที่จะทำให้เราค่อยๆ พัฒนาวิธีการนำเสนอ

ซึ่งจริงๆ แล้วแรงบันดาลใจจริงๆ ก็มาจากพระพุทธเจ้านั่นแหละ เพราะพระพุทธเจ้าเป็นยอดของการทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย มีปรากฏเสมอเลยที่บอกว่า พระพุทธเจ้าเหมือนกับคนทำของคว่ำให้กลายเป็นของหงาย แต่คนยุคปัจจุบันบางทีเนี่ยะ ไปเข้าใจว่าการจดจำอะไรได้มากๆ หรือว่าการรู้ศัพท์แสงเยอะๆ หมายความว่าเป็นผู้รู้ ผู้น่ายำเกรง ผู้น่านับถือ ซึ่งพอมีสังคมแบบนั้นกันขึ้นมามากๆ ก็พากันลืมว่าวิธีของพระพุทธเจ้าเป็นวิธีถ่ายทอดธรรมะแบบตรงตัว ไม่ใช่เอาธรรมะตามใจฉัน ฉันอยากจะยัดเยียดอะไรคนรับก็ต้องรับไปตามนั้น โดยลืมว่ามนุษย์โดยธรรมชาติแล้ว จะรับอะไรก็ต่อเมื่อเกิดความสงสัยแล้วได้คำตอบที่ตรงประเด็น พูดง่ายๆ ว่าเรารู้ใจคน รู้ใจตัวเอง เริ่มจากรู้ใจตัวเองว่าต้องการอะไรในขั้นเริ่มต้น เราไม่ลืม ตรงนี้แหละจะเป็นตัวทำให้ของยากกลายเป็นของง่ายขึ้นมาเอง

แต่ว่าทั้งนี้ทั้งนั้นเมื่อเราเจริญเติบโตขึ้นมาบนเส้นทางธรรมะ เราก็จะค่อยๆ เห็นค่าของการใช้ศัพท์แสง เพราะถ้าไม่พูด ไม่ล๊อคคำเอาไว้ ไม่บัญญัติว่าแบบนี้ ภาวะแบบนี้มีศัพท์สั้นๆเรียกไว้ว่าอะไร บางทีก็ต้องอธิบายยืดยาวใช้คำพูดมากมายแทนที่จะใช้คำๆเดียว

ยกตัวอย่างเช่น คำว่า “สติปัฏฐาน 4“ คนฟังทีแรกก็จะ "เอ๊ย..อะไรสติปัฏฐาน 4?" แต่ถ้าเราบอกว่า นี่คือวิธีปฏิบัติธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นทางเดียวที่จะดับทุกข์ดับโศกได้ ทำให้ถึงมรรคผลนิพพานที่ถูกต้องได้ บรรลุมรรคผลนิพพานที่ถูกต้องได้ อย่างนี้แทนที่เราจะต้องมาพูดว่า "วิธีการปฏิบัติธรรม ตามแนวที่พระพุทธเจ้าสอน ว่าจะทำให้ดับทุกข์ดับโศก บรรลุถึงมรรคผลนิพพานที่ถูกต้อง" เราพูดคำเดียว "สติปัฏฐาน 4" มันก็จบ ว่าโอเคเป็นวิธีการปฏิบัติแบบพระพุทธเจ้า ที่จะทำให้พ้นทุกข์ตามข้อตกลงทางศาสนาของพุทธเรา ว่ามีศาสนาขึ้นมาก็เพื่อที่จะทำให้พ้นทุกข์ได้เด็ดขาด มันก็มารวมลงที่คำๆ เดียว "สติปัฏฐาน 4"

ถ้าเสียเวลาจำแค่ครั้งเดียวมันก็ใช้ได้ตลอดชีวิต ไปพูดกับใครก็รู้เรื่องว่า อ๋อ...ถ้าปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าสอน ก็คือตามแนวทางสติปัฏฐาน 4 อันนี้เป็นตัวอย่าง ว่าบางทีพอเราเติบโตขึ้นมา เราจำเป็นต้องเข้าใจต้องเรียนรู้ แต่ขั้นต้นไม่ต้องก็ได้ เอาแค่อยากได้คำตอบอะไร แล้วได้คำตอบแบบง่ายๆ ถ้าหากมีคนที่สามารถให้คำตอบแบบนั้นได้ เราก็จะมาเข้าทาง แล้วต่อมาเราก็จะเกิดความสนใจขึ้นมาเอง ว่าศัพท์แสงที่อยู่ในพระพุทธศาสนามีอะไรบ้าง


ถาม: อืม คำตอบข้อเมื่อกี้ สามารถนำมาตอบข้อแปดได้เลยนะคะว่า การที่จะวางรูปแบบงานเขียนหรือลักษณะการเขียนนั้นเราต้องรู้ใจ...

คุณดังตฤณ: คือจริงๆ แล้วหนังสือแต่ละเล่มที่ผมเขียน จะมีจุดประสงค์ของตัวเอง ว่าจะพูดกับใคร? จะสื่อสารกับใคร? แล้วก็จะใช้วิธีไหน? ยกตัวอย่างเช่น พอเขียนหนังสือ “เสียดายคนตายไม่ได้อ่าน” จบแล้วก็มีฟีทแบค(ผลตอบรับ)มากมาย บางคนก็บอกว่ายาก บางคนก็บอกว่าง่าย ผมก็มาทบทวนดูว่าตรงไหนที่มันยาก ตรงไหนที่มันง่าย แล้วก็เกิดความคิดว่า ถ้าจะสื่อสารให้กับคนปัจจุบันจริง เราทำเรื่องของกรรมวิบากให้เป็นเรื่องของเกมส์ มันจะเข้าใจง่ายกว่า เพราะว่ายุคเรานี้เล่นเกมส์กันเยอะ ตั้งแต่เด็กถึงผู้ใหญ่ แล้วเกมส์ก็จะมีเรื่องของออปเจค(เป้าหมาย) เรื่องของเพลเยอร์(ผู้เล่น) เรื่องของคะแนน เรื่องของกฏเกณฑ์กติกาอะไรต่างๆ ซึ่งก็เป็นไปในแบบเดียวกันกับกรรมวิบากนั่นแหละ

กรรมวิบากก็มีออปเจค(เป้าหมาย) มีผู้กระทำ มีผู้ถูกกระทำ แล้วก็มีการสั่งสมบุญ มีการสั่งสมบาป อันนี้เป็นตัวอย่างว่าหนังสือแต่ละเล่ม บางทีมันไม่ได้เกิดจากแค่ความอยากจะสื่อสารอย่างเดียว มันเกิดจากความเข้าใจในแต่ละช่วง แต่ละเวลาด้วย เช่น รู้ว่าคนอ่านมีฟีทแบค(ผลตอบรับ)อย่างไร มีปฏิกิริยาตอบรับอย่างไร ตรงไหนที่เก็ท(เข้าใจ)ง่าย ตรงไหนที่เก็ท(เข้าใจ)ยาก อะไรอย่างนี้นะครับ


ถาม: ข้อ 9 นะคะ วัตถุประสงค์ที่คุณดังตฤณคาดหวังจากผู้ที่ได้มีโอกาสอ่านหนังสือคุณดังตฤณในเบื้องต้นคืออะไรคะ? เอาระดับเบื้องต้นก่อนแล้วค่อยไประดับสูงขึ้นก็ได้ค่ะ

คุณดังตฤณ: เอาแบบรวบยอดเลยก็แล้วกัน ทั้งเบื้องต้น เบื้องกลาง และเบื้องปลาย ก็คือให้มนุษย์หรือให้คนยุคปัจจุบัน ได้ย้อนกลับไปทำความรู้จักกับพระพุทธเจ้า ถ้ารู้จักกับพระพุทธเจ้าคนเดียวนะ ทั้งชีวิตได้คำตอบทุกอย่างทั้งหมดเลย ไม่ว่าจะสงสัยอะไร ไม่ว่าจะอยากได้อะไร ทั้งขั้นต้น ขั้นกลาง และขั้นปลาย รวมอยู่กับการทำความรู้จักกับพระพุทธเจ้าอยู่แล้ว

ขั้นต้นก็คือ คนที่รู้จักกับพระพุทธเจ้าก็จะรู้ว่ากรรมวิบากมีจริง เป็นของจริง

ขั้นกลางก็คือ สิ่งที่ควรทำก็คือให้ทาน รักษาศีล ทำให้ทานมีความตั้งมั่น ทำให้ศีลมีความตั้งมั่นในตน

และขั้นปลายก็คือ ปฏิบัติธรรมจนกระทั่งหลุดพ้นจากความทุกข์อย่างเด็ดขาด ตรงนี้แหละที่พระพุทธเจ้าสอนไว้หมด


ถาม: ผลงานที่ผ่านมารู้สึกว่าคุณดังตฤณจะเน้นเรื่องกรรมเป็นส่วนใหญ่ เป็นเพราะเหตุใดคะ?

คุณดังตฤณ: จริงๆแล้วเริ่มต้นขึ้นมา ผมเขียนหนังสือเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมก่อน แล้วพบความจริงว่าคนส่วนใหญ่ยังไม่มีลิ้งค์(การเชื่อมต่อ) ยังไม่มีตัวพาหะที่จะพาไปสู่ความเข้าใจ ว่าทำไมถึงต้องปฏิบัติธรรม? ก็เลยค่อยๆ รู้ ค่อยๆเข้าใจว่า ที่คนจะรับง่ายก็คือ เรื่องความเข้าใจเกี่ยวกับการกระทำและผลของการกระทำของตัวเอง ไม่ใช่พูดกันง่ายๆ ซื่อๆ ว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว แต่แจกแจงเป็นรายละเอียดออกไปเลย ว่าทำอย่างนี้แล้วมันมีผลให้เห็นใกล้ๆ ในปัจจุบันเป็นอย่างไร? เป็นความทุกข์ใจ เป็นความสุขใจ เป็นความรู้สึกทึบ เป็นความรู้สึกปลอดโปร่ง แล้วก็ขยายออกไปให้เห็นว่า นอกจากจะได้รับผลใกล้ทางใจแล้ว มันมีรูปธรรมอะไร ที่ไกลตัวออกไปในอนาคตซึ่งจะต้องได้รับผลอีก ตรงนี้ถ้าเข้าใจในเรื่องเหตุเรื่องผลมากขึ้นเรื่อยๆ จะค่อยๆ มองมาสู่โลกของความเป็นจริงว่า เออ..ทั้งหลายทั้งปวงที่มันปรากฏเป็นความแตกต่างกันระหว่างมนุษย์ทั้งหลาย ก็เพราะว่าแต่ละคนทำแตกต่างกัน พูดแตกต่างกัน คิดแตกต่างกัน เนี่ยมันก็ง่าย

พอคนเข้าใจแล้วว่า ทั้งหลายทั้งปวงที่ทำลงไป ทำดีแล้วจะต้องได้รับผลดีอย่างหนึ่ง ทำชั่ว แล้วจะต้องได้รับผลชั่วอย่างหนึ่ง แต่ทั้งดีทั้งชั่ว มันทำให้ติดวนอยู่ในอ่าง เหมือนพายเรืออยู่ในอ่างของความทุกข์เหมือนๆ กัน ตรงนี้แหละค่อยคลิก(เข้าใจ) ว่าทำไมถึงต้องปฏิบัติธรรมเพื่อให้พ้นทุกข์ไปเสีย เพราะฉะนั้นงานของผมจะมีครอบคลุมตั้งแต่เรื่องของการปฏิบัติเพื่อพ้นทุกข์ เช่น วิปัสสนานุบาล, ๗ เดือนบรรลุธรรม แล้วก็มหาสติปัฏฐานสูตร ซึ่งเหล่านี้เนี่ยเขียนแรกๆ เลย แต่ว่าเข้าไม่ถึงคนส่วนใหญ่เท่าไหร่ ก็เลยมาเอาเรื่องของกรรมวิบากเป็นตัวเชื่อมโยง เป็นสะพานเชื่อมโยงซะหน่อย แล้วก็ในเรื่องของกรรมวิบากเราก็เล่นได้เยอะ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของบทความธรรมะแท้ๆ หรือว่าจะเป็นนิยาย เรื่องสั้น นะครับ


ถาม: เหตุจูงใจที่คุณดังตฤณให้สื่อเนื้อหาธรรมะผ่านนวนิยาย เหมือนที่ตอบไปแล้วว่า เพื่อให้คนรับง่าย ซึมซับง่าย เหมือนกับเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ตัวละครบางช่วงคล้ายเรา เหมือนเราได้สัมผัสตัวละครอย่างใกล้ชิด…

คุณดังตฤณ: เริ่มต้นขึ้นมาจริงๆ แล้วมันมาจากความเข้าใจอารมณ์ของคนอ่านนิยายมากกว่า คือ พี่เป็นคนอ่านนิยายมากแล้วก็ติดหลง สมัยวัยรุ่นก็ติดหลงนิยายนะ อ่านได้ทั้งวันทั้งคืน แล้วก็เป็นคนที่จะมีแพชชั่น(ความรู้สึก) ค่อนข้างจะแรงในเรื่องการปรุงแต่งจินตนาการอะไรต่อมิอะไรต่างๆ เพราะฉะนั้นจึงเข้าใจว่าความต้องการของคนอ่านนิยายคืออะไร แต่ในขณะเดียวกันเราก็เข้าใจด้วยว่า ถ้าหากจะยกตัวอย่างสิ่งที่เกิดขึ้นจริงใกล้ตัวคนทั่วไปเนี่ย มันก็ต้องอาศัยคาแรกเตอร์(บุคลิก) ที่มันตรงกับคนส่วนใหญ่ หรือไม่ก็ตรงกับความต้องการจะเป็นของคนส่วนใหญ่ คนส่วนใหญ่อยากจะเป็นพระเอก คนส่วนใหญ่อยากจะเป็นนางเอก เราก็ยกให้ดูเลยว่า ตัวพระเอกจริงๆ นางเอกจริงๆ มันสามารถจะเป็นอย่างไรได้บ้าง ไม่ใช่ว่าจะระบายสีเฉพาะที่มันดีๆ เหมือนกับเป็นพระเอกในนิยายจ๋า เป็นพระเอกจ๋าในนิยายสมัยก่อน

หรือว่าจะไปพูดเรื่องความดีความชั่วเนี่ย คือเราไม่ได้พูดเรื่องความดีความชั่ว ตามที่คนส่วนใหญ่เกิดอคติ ไปสร้างว่าคนชั่วต้องเป็นอย่างนี้ คนดีต้องเป็นอย่างนี้ แต่เราเจาะรายละเอียดเลยว่า เหตุผลที่คนต้องทำบาป เหตุผลที่คนต้องทำบุญเนี่ย มันเป็นไปต่างๆ มันเกิดจากความเข้าใจบ้าง มันเกิดจากกิเลสบ้าง มันเกิดจากการยั่วยุ หรือบางทีมันเกิดจากการชักจูงบ้าง แต่ละคนมีเหตุผลในการกระทำแต่ละครั้ง มันไม่ได้ทำขึ้นมาลอยๆ

ไม่มีใครในโลกนี้ที่เป็นพระเอกเป็นผู้ร้าย ไม่มีใครในโลกนี้ที่เป็นนางเอกหรือนางมาร แต่ว่าแต่ละคนเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามเหตุตามผลในแต่ละช่วงของชีวิต และก็ในแต่ละครั้งของการกระทำ อย่างคนที่เราเคยว่าเขาเลวร้ายที่สุดในประเทศ ก็เห็นจะไม่พ้นพวกนักการเมือง ถ้าเรารู้จักนักการเมืองจริงๆ เราก็จะเห็นว่าเขาก็คือมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง ไม่ว่าจะยิ่งใหญ่แค่ไหน เขาก็จะมีภาคหนึ่งส่วนหนึ่งที่เขาใช้ชีวิตอย่างคนธรรมดา มีเหตุผลที่จะให้ มีเหตุผลที่จะปฏิเสธ หรือไปเล่นการเมืองเขาก็มีเหตุผลที่จะทำ ที่จะตัดสินใจ หรือว่าที่จะคิดผิด หรือคิดถูก ต่างๆ นานา มันมีเหตุผลแวดล้อมสารพัด ไม่ใช่ว่าใครเกิดมาตั้งใจจะเป็นคนชั่วแล้วชาตินี้ ไม่ใช่ว่าใครเกิดมาตั้งใจจะเป็นคนดีแล้วชาตินี้ ไม่ใช่แบบนั้น อันนี้แหละคือพื้นฐานของการเขียนนิยายของพี่นะ ก็คือว่ามันเป็นไปตามคนจริงๆ เหตุผลของคนจริงๆ


ถาม: ขออนุญาตถามแก่นของเรื่อง เช่นทางนฤพาน บางคนที่ได้คุยด้วยจะมองว่าเป็นการสื่อของลักษณะนิสัยของพระโพธิสัตว์อย่างเดียวเลย อย่างตนเองตอนที่ได้อ่านจะรู้สึกว่าคำว่าทางนฤพานนอกจากจะสื่อว่าเป็นเส้นทางรวมทั้งบุคลิกของผู้ที่จะเป็นพระโพธิสัตว์แล้ว ก็ยังจะสื่อถึงว่าทางนฤพานมีหลายสายที่จะเลือกเดิน มีทั้งที่เป็นสายตรง ก็คือปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าสอน กับสายอ้อมก็คือเป็นพระโพธิสัตว์ ใช่อย่างนี้หรือเปล่าคะ?

คุณดังตฤณ: ใช่ ก็คือแต่ละคนแต่ละตัวเนี่ย จะเป็นสัญลักษณ์แทนคนแต่ละประเภท แต่ที่เรื่องดำเนินไปส่วนใหญ่เป็นบทบาทของเกาทัณฑ์ ซึ่งปรารถนาพุทธภูมิ ก็เพราะว่าคนทั้งโลกจะสนุกที่สุด หรือว่ารับได้ง่ายที่สุดก็จากอะไรแบบนี้ คือเวลาคนเขาไปดูหนังดูละครเนี่ย มันจะมีพระเอกอยู่ตัวหนึ่ง แต่คนทั่วไปไม่สามารถนิยามได้ว่าพระเอกจริงๆ ต้องมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง? เพราะว่าพระเอกบางทีทำตัวชั่วร้ายก็มีแล้วค่อยกลับเป็นดี แต่คำว่าดีนั้นสุดยอดหรือปลายทางของความดีอยู่ตรงไหน? ตรงนี้พุทธศาสนาของเรามีคำตอบ คือว่าการทำตัวเป็นผู้ยื่นข้อเสนอว่าจะเป็นเรือพาคนอื่นข้ามทะเลความทุกข์ไปถึงฝั่ง


ถาม: ทำไมคุณดังตฤณใช้ชื่อพระเอกว่าเกาทัณฑ์ที่หมายถึงธนู หรือว่าพุ่งตรงไปสู่เป้าหมายคะ?

คุณดังตฤณ: คำว่าเกาทัณฑ์เนี่ย ก่อนอื่นมันเท่ห์ดี แล้วก็ทำให้นึกถึงความเร็ว ความแรง ความตรง ความแน่วแน่ ที่จะพุ่งไป


ถาม: แก่นของเรื่องเกี่ยวกับ“เลือกเกิดใหม่”ล่ะคะ ต้องการที่จะเน้นว่ากรรมที่เราทำอยู่ตอนนี้มันจะเป็นแรงส่งไปเป็นผลกระทบในภายภาคหน้าใช่ไหมคะ?

คุณดังตฤณ: มันมีหลายชั้นอยู่ใน“เลือกเกิดใหม่” คือว่าทำปุ๊บได้ปั๊บก็มี ทำแล้วต้องรอการเผล็ดผลก็มี ทำแล้วต้องตายซะก่อนถึงจะรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็มี

ตอน“เลือกเกิดใหม่”มีความหมายมีนิยามที่ครอบคลุมทั้งเกิดใหม่ในปัจจุบันและก็เกิดใหม่ในแบบที่ร่างกายนี้มันแตกไปแล้วด้วย


ถาม: ไม่ทราบว่าวิเคราะห์ถูกหรือเปล่านะคะ อย่างณชเลเนี่ย เขาก็ปฏิบัติก็ดีอยู่แล้ว พูดก็ดีอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าการเลือกเกิดใหม่ของเขาเป็นทางความคิด เป็นมโนกรรมของเขา ใช่หรือเปล่าคะ?


คุณดังตฤณ: ตัวที่เป็นการเลือกเกิดใหม่จริงๆ เลย มีอยู่ 2 ตัวที่เป็นหลักจริงๆ คือพฤหัส กับอเวรา แล้วก็จองฤกษ์ด้วย ส่วนตัวอื่นเป็นตัวซับพอร์ท(เสริม) ส่วนณชเลเนี่ย เหมือนเขาดีของเขาอยู่แล้ว จะเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย เขาไม่ต้องเลือกเกิดใหม่ เขาอยู่ในที่ๆ ดีอยู่แล้ว อยู่ในภาวะที่ดีอยู่แล้ว แล้วก็ในขั้นสุดท้ายแค่คิดว่า เออ...แม้แต่ยังดีที่รู้สึกว่าคนอื่นมองว่าเขาดีที่สุดอยู่แล้วนั้น เขารู้สึกว่าเขายังดีไม่พอ มันมียิ่งกว่าดีอยู่ให้ไปให้ถึง อย่างฉากสุดท้าย จะจบด้วยการพุ่งไปข้างหน้าพร้อมกัน ด้วยการนั่งไปในรถยนต์ มันก็เป็นสัญลักษณ์แทนอย่างหนึ่งของการเดินทางไปร่วมกัน แล้วก็พุ่งไปสู่เป้าหมายที่มันชัดเจนขึ้น ตรงนี้มันเหมือนกับฉากเหตุการณ์ที่หย่อนไว้ แล้วก็ให้เข้าไปอยู่ในใจคนอ่านเองว่าตอนจบมันเป็นการเดินทางไปร่วมกัน แล้วก็มีความสามารถที่จะร่วมกันร่วมมือกันสร้างพาหนะไปสู่ที่หมายเดียวกัน คือต่อให้คิดว่าจะอยู่ร่วมกันฉันชายหญิงเนี่ย มันก็มีเป้าหมายอะไรที่ดีกว่าการอยู่ร่วมกันเฉยๆได้


ถาม: อย่างจองฤกษ์เนี่ย ทำไมคุณดังตฤณถึงเลือกใช้ชื่อนี้คะ?

คุณดังตฤณ: อันที่จริงก็ไม่มีความหมายเท่าไหร่หรอก แค่จะคิดชื่อให้มันดูเหมาะกับคาแรกเตอร์ ที่ออกจะมีอาการจองหอง คำว่า "จอง" นี่บางทีมันก็ไม่ได้มีความหมายตรงๆ หรอก แต่คำว่า "จองฤกษ์" พอใครเห็น ในส่วนลึกมันจะไปนึกถึงคำๆ นี้ได้ อย่างจองหองอะไรเนี่ย เพราะมันไปผูกกับคาแรกเตอร์ของจองฤกษ์ที่มีความยโสโอหัง หรือว่าความมีอีโก้(อัตตา)สูง มีความรู้ความสามารถแล้วดูถูกคนอื่น แต่ว่าคำว่าจองฤกษ์เนี่ยจะคิดว่าเป็นความหมายที่ดีก็ได้ คือว่า เมื่อไหร่ที่คิดจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง เมื่อไหร่ที่คิดจะทำให้ชีวิตของเราดีขึ้น เราก็จองฤกษ์ของเราด้วยตัวเราเอง เพราะว่าคาแรกเตอร์จองฤกษ์ก็คือว่าอะไรๆ เนี่ยะเขาคิดได้เอง ขอให้มีแรงบันดาลใจเท่านั้นเอง ส่วนว่าเขาจะทำอย่างไร เลือกเวลาอะไรแบบไหนนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างเขาเป็นคนกำหนด


ถาม: แล้วอย่างณชเล แปลว่าอะไรหรือคะ?

คุณดังตฤณ: "ณชเล" ก็คือ ที่ทะเล นั่นเอง "ชเล" แปลว่าทะเล "ณชเล" ก็คือ ณ, ที่, อยู่ตรงที่ทะเล อันนี้ไปอ่านปณิธาณกวีของอังคาร กัลป์ยาณพงษ์ แล้วมันมีคำหนึ่งที่ใช้ในโคลงสี่ ท่านอังคารพูดถึงคำว่า "ณชเล" คือไม่ได้เป็นคำติดกันนะ ณ เว้นวรรค ชเล ก็รู้สึกว่าเป็นคำที่สวยดี ชื่อมันก็ทำให้เกิดความรู้สึก เหมือนกับผู้หญิงใสๆ เด็กผู้หญิงใสๆ ได้ สิ่งที่ชื่อแต่ละชื่อจะมีความหมายว่าเด็กคนนี้เนี่ย ถ้าคนอ่านรู้ความหมาย คือพี่พูดถึงความหมายของ ณชเล ในเรื่อง ว่าหมายถึงอยู่ที่ทะเล เกิดที่ทะเล ก็จะทำให้นึกถึงจิตของณชเล ที่เปิดกว้างเหมือนคนยืนดูทะเลอยู่ได้ ถ้าหากว่าคาแรกเตอร์ของณชเลเป็นอย่างนั้นอยู่แล้วด้วย คือมีใจที่เปิดกว้าง ให้ทาน มีความรู้สึกอยากให้ มีความรู้สึกอยากเสียสละ พูดง่ายๆ ว่าใจกว้าง เป็นคนใจกว้าง มันก็เหมือนกับทะเล แล้วพอนึกถึงคำว่า ณชเล ก็จะมีทั้งภาพที่ตัวอักษรตัวชื่อก็มีความไพเราะด้วย มันก็นึกถึงเด็กใสๆที่รู้สึกเลยว่าน่ารัก แล้วก็ในขณะเดียวกัน ก็อาจจะนึกถึงใจที่มันกว้างขวางเปรียบเหมือนทะเลด้วย คือเหมือนยืนอยู่ที่ทะเลแล้วใจกว้าง


ถาม: แล้วอย่าง “พฤหัส” ล่ะคะ?

คุณดังตฤณ: “พฤหัส” มาจากความรู้ความเข้าใจอย่างหนึ่งว่าคนเกิดวันพฤหัสเนี่ยจะเป็นพวกที่ซื่อสัตย์ ไม่เจ้าชู้ แต่ว่าจะตั้งให้มันขัดแย้งกันซะอย่างนั้น มันไม่จำเป็นว่าเกิดวันไหนตามดวงแล้วจะต้องเป็นคนแบบนั้น มันมีคำพูดคำหนึ่งในคำพูดของพฤหัสก็คือว่า คนเกิดวันพฤหัสเนี่ยจะซื่อ จะจริงใจ จะรักเดียวใจเดียวอะไรอย่างนี้ พฤหัสจะพูดด้วยตัวของเขาเอง ซึ่งนั่นน่ะมันเป็นตามหลัก แต่ว่าของจริงมันจะเป็นอย่างไรก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

จริงๆแล้วคนจะเกิดวันอะไรก็แล้วแต่ สมมุติว่าเราเชื่อตามหลักการว่าเกิดวันพฤหัสจะเป็นคนซื่อ ก็หมายความว่าในอดีตเขาอาจจะรักเดียวใจเดียวแล้วไม่วอกแว่ก มาลงที่วันแบบนี้ แต่พอใช้ชีวิตใหม่ มันอาจจะมีกิเลสเพราะว่าเห็นตัวเองหล่อ เห็นตัวเองมีเสน่ห์ พอผู้หญิงมาชอบมากๆ ก็เลยกลายเป็นคนเจ้าชู้ไป ค่อยๆ เป็นค่อยๆไป ค่อยๆเปลี่ยน

ส่วน”มาวันทา” ก็มาจากการคิดชื่อว่าจะให้มันเก๋ๆ แล้วก็ดูมีความอ่อนน้อมถ่อมตน วันทาก็ไหว้ มาวันทาก็คือมาไหว้ มันไม่ได้มีสัญลักษณ์พิเศษ

ส่วน”ลานดาว”เป็นชื่อที่คิดได้ตั้งแต่สมัยวัยรุ่น แต่งเพลงไว้ชื่อเพลงลานดาว ช่วงนั้นชอบไปฝันเฟื่องกับเพื่อน เวลาคุยกับเพื่อนที่บ้านบางทีก็จะดูดาว แล้วก็วาดความฝันไปต่างๆนานา ว่าเออ...ผู้หญิงในฝันจะต้องเป็นอย่างโน้นอย่างนี้อะไรต่างๆ แล้วก็ผุดชื่อลานดาวขึ้นมา การมองไปบนฟ้าแล้วเห็นดาวมากๆ เนี่ยมันทำรู้สึกเหมือนกับ ถ้าเป็นผู้หญิงก็หมายความว่า ไม่ใช่เป็นดาวดวงใดดวงหนึ่ง แต่ว่าเป็นดาวทั้งฟ้า ทั้งผืนฟ้าเนี่ย มันทำให้เราฝันถึงผู้หญิง ก็เลยเป็นที่มาของชื่อลานดาว แต่ทีนี้ มันก็มาประกอบกับกรรมพยากรณ์ภาคแรกที่ลงตัวตรงพล๊อตเรื่องที่นางเอกมีทุกสิ่งทุกอย่างที่ผู้หญิงต้องการ แต่ว่าสิ่งที่ไม่มีก็คือความรู้สึกที่สมใจในเรื่องของความรัก ซึ่งอันนี้เนี่ย ชื่อก็กลายเป็นสัญลักษณ์ไปโดยปริยาย คือถึงแม้ว่าจะเป็นที่ใฝ่ฝันยังไง แต่สิ่งที่เป็นตัวดวงดาวเองก็ไม่ได้สมใจเสมอไป ตรงนั้นเนี่ยคนที่แหงนหน้ามองขึ้นไปจะมองไม่เห็น จะไม่เข้าใจ


ถาม: อย่าง”อมฤต”ในเรื่องเขาสามารถสะกดจิต มีความสามารถทางจิต ก็เลยตั้งชื่อว่าเป็นอมฤต?

คุณดังตฤณ: อมฤตนี่จริงๆแล้วเป็นชื่อที่จะบอกว่าเป็นรสอมฤต มาจากคำว่ารสอมฤต ซึ่งลานดาวสัมผัสแล้วเหมือนกับ โอย...ได้น้ำทิพย์ชโลม หรือว่าได้กินอะไรที่ไม่เคยกินมาก่อน อร่อยอย่างที่สุดวิเศษอะไรอย่างนี้ละนะ แต่ก็พบในเวลาต่อมาว่าอะไรที่รู้สึกว่าสมใจที่สุดแล้ว มันยังมีรายละเอียดอีก มันยังมีเงื่อนไขอะไรอีก ที่จะกินได้ตลอดไปหรือเปล่า? อันนั้นก็สัญลักษณ์บอกอย่างหนึ่งว่า รสที่นึกว่าเป็นรสอมฤตเนี่ย มันต้องคนที่คู่กับรสตรงนั้นด้วย คือเหมาะที่จะอยู่กับรสตรงนั้นด้วย

ส่วน”สรณะ” ก็คือที่พึ่ง แปลว่าที่พึ่ง ซึ่งอันนี้เป็นความหมายของพระโพธิสัตว์ คือพระโพธิสัตว์จะทำตัวเป็นที่พึ่งให้กับคนอื่น จริงๆ เป็นชื่อที่คิดขึ้นมาว่าจะให้เป็นตัวเอกตัวสุดท้าย ที่แสดงว่าลานดาวเหมาะสมกับคนแบบไหน คือ ภาวะของลานดาวเนี่ยที่เป็นผู้หญิงติดตาม หรือว่าคล้อยตาม หรือว่ายินดีตามพระโพธิสัตว์ ก็คือพูดง่ายๆ ว่าอันนี้มันจะมีเรื่องของความเข้าใจในพุทธศาสนา เกี่ยวกับการบำเพ็ญบารมีของพระพุทธเจ้า ว่าต้องช่วยคน แล้วไม่ใช่ช่วยแบบเอาตัวเข้าไปช่วยอย่างเดียว มันช่วยแบบฉลาดได้ด้วย แล้วก็ที่จะเป็นสรณะหรือว่าที่พึ่งอย่างแท้จริงเนี่ย ต้องมีทั้งความมุ่งมั่น สติปัญญา อุบายอันแยบคาย ตรงนี้แหละตรงที่ลานดาวจะรักได้จริงๆ ก็คือว่าได้ทำบุญร่วมกันมาก่อนด้วย เป็นที่พึ่งของลานดาวมาก่อน เพราะว่าในคำของหมออุปการะมีอยู่ตอนหนึ่งที่บอกว่า ที่เขารวยมาอย่างนี้ รูปร่างหน้าตาดีมาอย่างนี้ ก็เพราะว่าในอดีต เคยอยู่ในครอบครัวที่ดี แล้วก็ทำบุญกันเป็นงานอดิเรกแล้วก็ได้สามีที่มานำทางถูกต้องดี แล้วหนูก็มีความยินดีอยู่กับบุญในแบบนั้นๆมาตลอด

ตรงนี้ถ้าไปบวกกับในช่วงสุดท้าย ก็จะเห็นว่าสรณะนี่เองที่เป็นคู่บุญ แล้วคู่บุญในทางนี้ก็หมายความว่า เป็นผู้ริเริ่ม อย่างบทสุดท้ายจะเห็นว่าสรณะริเริ่มโครงการอะไรเยอะแยะ แล้วก็ลานดาวก็ยินดีด้วยแล้วก็สามารถช่วยเหลือส่งเสริมสนับสนุน คือในที่สุดแล้วทำให้ทานเสมอกัน ศีลเสมอกัน แล้วก็ในส่วนของการภาวนาก็มีเหมือนๆกันด้วย อย่างจะเห็นข้อหนึ่งจริงๆว่าลานดาวเนี่ยมีความสามารถมากมาย แต่ขาดไปข้อหนึ่งก็คือคิดเอง อย่างตอนที่เขาจะเลือกทำอะไรให้ชีวิตตัวเองให้ตัวเองทำอะไรเนี่ย มาวันทาก็เป็นคนคิดให้ นี่ก็เป็นเหตุว่าจริงๆแล้วถ้าหากเรามองนะ ว่าคนเก่งคนมีความสามารถเนี่ยมีอยู่เยอะ แต่ที่คิดเองแล้วมันตรงจุดตรงเป้าเนี่ย บางทีมันมองไม่เห็น มันมองไม่เห็นตนเอง ต้องให้คนอื่นตีให้



อ่านตอนที่ ๒ ต่อที่นี่ --> ตอนที่ ๒

แก้ไขโดย Lotion เมื่อ 20 มี.ค. 50 - 15:56

____________________________________




Create Date : 23 กันยายน 2550
Last Update : 23 กันยายน 2550 5:52:52 น.
Counter : 1887 Pageviews.

5 comments
: รูปแบบของการตระหนักในการรับรู้ : กะว่าก๋า
(15 เม.ย. 2567 05:37:45 น.)
อยาก อยากได้ กฎที่ถูกที่ดี ปัญญา Dh
(14 เม.ย. 2567 05:37:27 น.)
Day..10 โฮมสเตย์ริมน้ำ
(11 เม.ย. 2567 08:25:45 น.)
: หยดน้ำในมหาสมุทร 31 : กะว่าก๋า
(9 เม.ย. 2567 05:58:44 น.)
  
การลงทุนข้าม(ภพ)ชาติมีความเสี่ยง โปรดศึกษา(ทางที่ถูก, ตรงที่สุด และเหมาะสมที่สุด)ก่อนลงทุนทุกครั้ง
จากคุณ : ake [ ตอบ: 18 มี.ค. 50 16:34 ] แนะนำตัวล่าสุด | ผู้ดูแลลานธรรม | ตอบ: 1311 | ฝากข้อความ |



ความคิดเห็นที่ 1 : (Burning Blood) อ้างอิง |



จากคุณ : Burning Blood [ ตอบ: 18 มี.ค. 50 22:02 ] แนะนำตัวล่าสุด 18 ม.ค. 49 | สมาชิกลานธรรมถาวร | ตอบ: 114 | ฝากข้อความ |



ความคิดเห็นที่ 2 : (กานต์) อ้างอิง |




____________________________________

มรรคผลอยู่ข้างหน้า มองหาแล้วจะพบ
--
จาก พี่ตุลย์ ดังตฤณ งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ ๓๓ วันที่ ๓ เมษายน ๒๕๔๘

-----------
วิมุตติปฏิปทา :

หนทางยังมีอยู่ ผู้เดินทางยังไม่ขาดสาย
ลงมือเสียแต่วันนี้ ก่อนที่กระแสลมแห่งกาลเวลา
จะพัดพารอยพระบาทของท่านหายไป เพราะถึงเวลานั้น
พวกเราก็จะต้องระหกระเหินไร้ทิศทาง ไปอีกแสนนาน ...

_/|\\_ _/|\\_ _/|\\_

พระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
จากคุณ : กานต์ [ ตอบ: 19 มี.ค. 50 01:38 ] แนะนำตัวล่าสุด 15 ก.พ. 50 | สมาชิกลานธรรมถาวร | ตอบ: 4742 | ฝากข้อความ |โฮมเพจ | MSN | ICQ |Yahoo |



ความคิดเห็นที่ 3 : (P’ Noi) อ้างอิง |


แต่จริงๆ พุทธศาสนาถือว่า ทั้งหมดเนี่ยะ บ้าหมดเลย สำคัญผิดหมด คือ บ้าเพราะสำคัญผิด บ้าเพราะอุปปาทาน บ้าเพราะเกิดความไม่เข้าใจ บ้าเพราะยอมรับไม่ได้ว่าทั้งหลายทั้งปวงนี้มันไม่เที่ยง ไม่สามารถทนอยู่ในสภาพเดิมได้ แล้วก็ที่มันเป็นอย่างนั้นก็เพราะว่าไม่มีอะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นตัวเป็นตน ที่เราจะไปบังคับบัญชาไม่ให้มันเปลี่ยนแปลง ไม่ให้มันแปรปรวนไป

เพราะฉะนั้นสรุปคือการที่จะมีส่วนร่วมสร้างสังคมไทยให้เป็นพุทธแท้ ก่อนอื่นต้องทำความเป็นพุทธแท้ให้เกิดขึ้นในเราซะก่อนเป็นอันดับแรก

อนุโมทนาสาธุ อ่านแล้วเหมือนฟังเทศน์เช้าวันอาทิตย์ค่ะ

ขอบคุณน้องกระดิ่งน้อยผู้ถอดคำพูดมาเป็นตัวหนังสือ น้องเอกผู้นำมาโพสต์และน้องเกดผู้ให้สีด้วยค่ะ

แก้ไขโดย คนไกลวัด เมื่อ 19 มี.ค. 50 - 01:56

____________________________________

สุขไม่เที่ยง ยึดถือแล้วเป็นทุกข์
จากคุณ : P’ Noi [ ตอบ: 19 มี.ค. 50 01:53 ] แนะนำตัวล่าสุด 14 ม.ค. 49 | ผู้ดูแลลานธรรม | ตอบ: 3602 | ฝากข้อความ |



ความคิดเห็นที่ 4 : (explorer) อ้างอิง |



จากคุณ : explorer [ ตอบ: 19 มี.ค. 50 01:55 ] ยังไม่แนะนำตัว | สมาชิกลานธรรมถาวร | ตอบ: 182 | ฝากข้อความ |



ความคิดเห็นที่ 5 : (P Q BOY) อ้างอิง |


อนุโมทนาครับ
จากคุณ : P Q BOY [ ตอบ: 19 มี.ค. 50 02:24 ] ยังไม่แนะนำตัว | สมาชิกลานธรรมถาวร | ตอบ: 188 | ฝากข้อความ |



ความคิดเห็นที่ 6 : (ตันหยง) อ้างอิง |


อนุโมทนากับทุกท่านด้วยค่ะ

เดี๋ยวกลับมาอ่านละเอียดอีกที เพราะจะได้เห็นและเข้าใจในตัวละครในนวนิยายของพี่ดังตฤณมากขึ้นค่ะ ว่าต้องการสื่อออกมาในแนวไหน ฯลฯ

____________________________________

ท่านให้วางทั้งสุขและทุกข์

การวางทางทั้งสองได้นี้เป็นสัมมาปฏิปทา

ท่านเรียกว่าเป็นทางสายกลาง

พระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา)
จากคุณ : ตันหยง [ ตอบ: 19 มี.ค. 50 07:48 ] แนะนำตัวล่าสุด 23 ต.ค. 49 | ที่ปรึกษาลานธรรม | ตอบ: 4228 | ฝากข้อความ |



ความคิดเห็นที่ 7 : (Embrace) อ้างอิง |


ขอขอบคุณและอนุโมทนากับผู้เกี่ยวข้องทุกท่านด้วย

____________________________________

ด้วยกายก็ดี ด้วยวาจาก็ดี ด้วยใจก็ดี กรรมน่าติเตียนอันใด ที่ข้าพเจ้ากระทำแล้ว ในพระรัตนตรัย ขอพระรัตนตรัย โปรดงดซึ่งโทษล่วงเกินอันนั้น เพื่อการสำรวมระวัง ในพระรัตนตรัย ในกาลต่อไป
จากคุณ : Embrace [ ตอบ: 19 มี.ค. 50 08:49 ] แนะนำตัวล่าสุด 08 มี.ค. 50 | สมาชิกลานธรรมถาวร | ตอบ: 251 | ฝากข้อความ |



ความคิดเห็นที่ 8 : (กระดิ่งน้อย) อ้างอิง |




____________________________________

ความรู้สึกไม่เคยว่าง ให้รู้สึกถึงความไม่ว่างนั้นตามจริง

=== //airwebhosting.com/cdthamma/Pramote/ ===
ฟังพระธรรมเทศนา พระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
ที่สวนโพธิญาณอรัญวาสีทั้งหมด (แผ่น 1 - 11)

===//www.wimutti.net/pramote/===
ฟังพระธรรมเทศนา พระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
ที่สวนโพธิฯ - สวนสันติธรรม และศาลาลุงชิน
จากคุณ : กระดิ่งน้อย [ ตอบ: 19 มี.ค. 50 09:36 ] ยังไม่แนะนำตัว | ผู้ดูแลลานธรรม | ตอบ: 1769 | ฝากข้อความ |



ความคิดเห็นที่ 9 : (จ.จริงใจ) อ้างอิง |


อนุโมทนา สาธุ ค่ะ

____________________________________

ให้ให้จงหมั่นให้ ใครใคร
เสร็จอย่าจำใส่ใจ จดไว้
ให้แล้วก็แล้วไป หมดเรื่อง กันนา
แต่รับจงอย่าได้ หมดปลื้มลืมคุณ
... สท/st...
จากคุณ : จ.จริงใจ [ ตอบ: 19 มี.ค. 50 12:23 ] แนะนำตัวล่าสุด 29 มิ.ย. 49 | สมาชิกลานธรรมถาวร | ตอบ: 176 | ฝากข้อความ |


ความคิดเห็นหน้าต่อไป | เดินทาง | tao64 | แพม | A Student | P’ Noi | สงบเสวนา | pum_anatta | Juan | satima | นายชม | msati | jellynim | psp1 | อภิวรรณ | s_boonnak@yahoo.com | Siam |

หน้า: (รวม 3 หน้า) [1] 2 3 หน้าต่อไป


(อ่านคำตอบล่าสุด ) « กระทู้ก่อน | ชีวิตกับธรรมะ | กระทู้ต่อไป »

ผู้อ่าน 0 ท่าน (0 ผู้เยี่ยมชม 0 สมาชิกไม่เปิดเผยตัว) 0 สมาชิก :



: ค้นพระไตรปิฎก และ ค้นหาศัพท์ในพจนานุกรมพุทธศาสน์ :

อนุญาตให้สมาชิกลานธรรมตอบกระทู้เท่านั้น


ลานธรรมเสวนา ค้นหา คู่มือการใช้งาน หน้ารวมกระทู้ทุกหมวด - สติปัฎฐาน ๔ ---- ห้องดูจิต (กระดานแนะนำ) ---- หนังสือ มหาสติปัฏฐานสูตร - ชีวิตกับธรรมะ ---- ห้องสมุดธรรมะ - ธรรมทาน - สมาชิกสัมพันธ์ - ข่าวสารลานธรรม ---- คลังกระทู้เก่า ---- ธารน้ำใจสู้ภัยพิบัติ (ปิดชั่วคราว) ---- กรณีการแต่งตั้งรักษาการณ์สมเด็จพระสังฆราช ---- ปริยัติธรรม (ปิดปรับปรุง) ---- บันเทิงธรรม (ปิดปรับปรุง)



Powered by Invision Power Board © 2003 IPS, Inc.
โดย: srisawat วันที่: 23 กันยายน 2550 เวลา:5:53:48 น.
  
น้องผู้หญิงคนนึงได้สัมภาษณ์ คุณดังตฤณ
เรื่อง ทาน ศีล ภาวนาตาม post ตาม link ด้านล่างครับ (ตอน 2)

=======================================================


สัมภาษณ์คุณดังตฤณ
วันเสาร์ที่ ๓ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๐


ถาม: เป็นชาวพุทธอย่างไร จึงได้ชื่อว่ามีปัญญานำ (ไม่ใช่เป็นพุทธเพราะได้ชื่อว่าสืบต่อกันมา งมงาย หรือมีแต่ศรัทธา)?

คุณดังตฤณ: ...การมีปัญญานำก็คือมีเหตุมีผลนั่นเอง คือรู้ว่าอะไรเป็นเหตุที่เป็นประโยชน์ รู้ว่าอะไรที่เหตุที่ทำให้เกิดโทษนะ...อย่างเนี้ยที่เรียกว่ามีปัญญานำ แต่ถ้าคนไม่มีเหตุผลนะ ก็คือ ใครบอกว่าอะไรเป็นยังไงจะไม่สืบสาวจะไม่สนใจว่าเหตุผลที่มาที่ไปมันเป็นยังไง ก็อย่าเชื่อตามอย่างนั้นน่ะที่เรียกว่างมงายและไม่มีปัญญานำ


ถาม: จากหนังสือ 7 เดือนบรรลุธรรม ถ้าเราเป็นชาวพุทธที่แท้ เราควร ตั้งเป้าการปฏิบัติ เพื่อเป็น พระโสดาบัน หรือ อย่างไรคะ?

คุณดังตฤณ: ...ตอนแรกต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ปฏิบัติธรรมไปแล้ว..โอเคว่าบั้นปลายก็คือได้เป็นพระอรหันต์สูงสุดเลย แต่ก่อนเป็นพระอรหันต์ มีลำดับขั้นมา เริ่มต้นด้วยโสดาบัน ตามมาด้วยสกิทาคามี ตามมาด้วยอนาคามี เนี่ย..อันเนี้ยเค้าเรียกว่าเป็นส่วนของการทำความเข้าใจ แต่ในส่วนของการปฏิบัติจริง ที่ควรตั้งเป้า – ไม่ควรตั้งเป้าที่การได้เป็นอริยะขั้นนั้นขั้นนี้ แต่ตั้งเป้าเพราะว่าใจเราจะมีความสงบสบายลง ลดความอยากลง ลดกิเลสลง อันนี้ต่างหากที่ควรตั้งเป้า และการตั้งเป้าเนี้ยมันจะเป็นได้จริง ทำได้จริงตั้งแต่วันนี้เลย ตั้งแต่วันแรกที่เริ่มต้น


ถาม : เข้าใจว่าตอนนี้ คนส่วนใหญ่ ถ้าตายไปจะไปไม่ค่อยดี เนื่องจาก สังคมยุคปัจจุบันมีแนวโน้มบีบให้จิตมีอกุศลมาก ไม่ทราบมีส่วนถูกต้องอย่างไรคะ? (คุณเอกตั้งคำถามให้)

คุณดังตฤณ: ก็จริง…แต่มันไม่ใช่จริงเฉพาะสมัยนี้ สมัยไหน ๆ ก็เหมือนกันหมดน่ะ โลกมนุษย์เนี่ยมันไม่ค่อยมีอะไรดี ๆ กระตุ้นให้มีความรู้สึกที่เป็นกุศล แต่ว่ามันจะบีบคั้น หรือกระทบกระแทกให้เกิดความรู้สึกโลภ โกรธ หลง เพราะฉะนั้นถ้าเราจะแก้..เราต้องแก้ที่ความเข้าใจ ตั้งต้นกันด้วยการฟังหลักการที่ถูกต้อง ว่าทำไมมันถึงเกิดมาเป็นแบบนี้ ตายไปแล้วจะไปไหนได้บ้าง แล้วก็ไอ้ที่ยังอยู่เนี่ยทำยังไงถึงจะเกิดผลดีที่สุดเท่าที่มันจะคุ้มกับการมีชีวิตนึง


ถาม: ในวงการพระพุทธศาสนา การภาวนาหรือเรียกอีกอย่างว่าการดูจิต (แก๊สเข้าใจถูกต้องไหมคะ?) นั้น สำคัญไฉนคะ? ทำไมจึงเน้นให้ดูจิต?

คุณดังตฤณ: การดูจิตเป็นคำเฉพาะของครูบาอาจารย์ชั้นหลังนะ แต่จริง ๆ แล้วเนี่ย พูดถึงพฤตินัยของสติปัฏฐานสี่เนี่ย มันก็คือการดูเข้ามาในกายของตัว ดูเข้ามาในความรู้สึกสุขทุกข์ของตัว ดูเข้ามาที่ภาวะของจิตของตัว และก็ดูสภาพธรรมทั้งหลายทั้งปวงทั้งภายนอกภายใน...ว่ามันไม่เที่ยง ไม่ทน นะ แล้วก็ไม่ใช่ตัวตน แต่ทีนี้ถ้าหากเอามาพูดกันยืดเยื้อ ยืดยาวเนี้ยบางทีมันไม่เข้าใจ ง่าย ๆ ก็ ครูบาอาจารย์ท่านก็ย่นย่อลงมาเหลือสั้น ๆ แค่ การดูจิต เพราะว่าถ้าดูจิตได้อย่างเดียวเนี่ย มันครอบคลุมทุกอย่างอยู่แล้ว แม้แต่การดูสภาพทางกายสภาพทางสุขทุกข์อะไรต่าง ๆ ทั้งหลายเนี่ย ประชุมแล้วมันก็ลงมาอยู่ที่จิตนั่นแหล่ะ ถ้าจิตมีสติ ถ้าจิตมีความเป็นกุศลไม่มีความเป็นความอกุศล ตรงนั้นเนี่ยมันก็เป็นอะไรที่ครบถ้วนบริบูรณ์อยู่แล้วในการปฏิบัติธรรมแบบสติปัฏฐานสี่


ถาม: คุณดังตฤณช่วยกรุณาแนะวิธีดำเนินจิตหรือประคองจิตในสังคมยุคปัจจุบัน สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้ริเริ่มภาวนา? หรือคุณดังตฤณ มีวิธีใดในการเปิดใจ (สะกิด) ให้คนที่ยังอยู่ครึ่ง ๆ กลาง ๆ คืออยากพ้นทุกข์ก็อยาก แต่ยังติดอยู่ในสิ่งยั่วยุ (กิเลส) ทางโลกอยู่ (เช่นหนูเป็นต้น)? ^_^”

คุณดังตฤณ: ก็ใช้หลักของ ทาน ศีล และก็ภาวนานั่นแหล่ะ ยกตัวอย่างเช่น เราตั้งสติดูก่อนว่า ตอนเนี้ย เรามีความตระหนี่มั้ย? ถ้าจิตมีความตระหนี่เราก็ดูว่า เออ... ถ้าให้ไปแล้วเนี่ยมันเป็นสุขหรือว่าเป็นทุกข์? มันเป็นความโล่งหรือเป็นความทุกข์หนัก? ถ้าเห็นว่า การให้มันมีความปลอดโปร่ง มันมีสภาพที่ดี เราก็ให้ตัดสินว่า การให้นั้นน่ะเป็นคุณ เป็นคุณทั้งกับคนที่รับ คือเค้าได้ของไปใช้ และก็ในแง่ของเราคือ ใจเราเบาลง หรือแม้แต่เรามีเรื่องกับใคร ถ้าเราให้อภัยเป็นทาน ตัวผู้ได้รับการอภัยเค้าก็เกิดความรู้สึกโล่งอกสบายใจว่าพ้นจากเวรกัน และส่วนของเรา เราก็รู้สึกว่า เออ..มันมีความสว่างขึ้น มีความรู้สึกเป็นเมตตามากขึ้น มีความรู้สึกนุ่มนวลมากขึ้น เนี่ย ถ้าเห็นแบบเนี้ยได้เราก็ตัดสินได้ว่า จิตที่เป็นทานเนี่ย เป็นของดี

ต่อมา ดูในกรอบของศีล คือถ้าหากว่า เราจะทำอะไรตามกิเลสแล้ว อย่างยุงกัดปุ๊บ ตบยุงทันที ดูซิว่ามีความเหี้ยมเกรียมอยู่มั้ย? รึว่า ถ้าอยากได้ของใคร อยากจะได้เงินในส่วนที่เรานึกว่าอยู่ในความดูแลของเรามาเนี่ย แล้วเราทำทันที เรารู้สึกยังไง? เลวร้าย หรือว่ามันดีงาม? เนี่ยศีลข้ออื่น ๆ ต่อไปเนี่ยดูเป็นข้อ ๆ ไป นะว่าแต่ละข้อเนี่ย ทำแล้วจิตเป็นยังไง ถ้าทำแล้วจิตเป็นอย่างไร ถ้าหากว่าทำแล้วจิตมันดีเราก็ทำไป ถ้าทำแล้วจิตมันแย่หรือว่าเสียหายก็อย่าไปทำ

ต่อมาเนี่ย ดูได้อีกในขั้นลึกซึ้งที่มันเป็นเรื่องของสติปัญญาจริง ๆ นั่นก็คือว่า ดูเข้าเลยไปตรง ๆ ว่าขณะจิตหนึ่ง ๆ เนี่ย เกิดความอยากหรือเกิดความสงบจากความอยาก ถ้าหากอยากมาก ๆ อาจจะรู้สึกเหมือนจิตมันพุ่ง ๆ ออกไป มันทะยานออกไป มันยืดออกไปจับกับวัตถุที่ล่อตาล่อใจ แต่ถ้าหากว่ามันมีสติ มีสัมปชัญญะ มีปัญญา มีความสว่าง มีความสะอาดอยู่เนี่ย มันจะรู้สึกนิ่ง ๆ เฉย ๆ วางเฉย เป็นการวางเฉยในแบบที่เปี่ยมสุข มันสุขที่ไม่ต้องอยาก ไม่ต้องดิ้นรน มันมีความสงบ ไม่กระวนกระวาย เนี่ยถ้าหากเราเห็นตามหลักของทาน ศีล ภาวนา เค้าเรียกว่าเป็นการดูจิตได้แล้ว คือพูดง่าย ๆ ว่าดูจิตไปในขณะที่ทำทาน รักษาศีล แล้วก็ภาวนาที่คิดว่าเป็นการภาวนา


ถาม: ทาน ทำให้จิตเปิด เป็นอย่างไรคะ? และทำทานอย่างไรจึงเรียกว่าได้ประโยชน์สูงสุด? (ในสังคมปัจจุบันค่ะ)

คุณดังตฤณ: ทำให้จิตเปิดเนี่ยนะ มันก็คือว่า พระพุทธเจ้าก็ให้รู้ว่า การทำทานของเราเนี่ย ทำไปด้วยความเลื่อมใส เลื่อมใสในการให้ทาน ว่าทำทานเป็นของดี ลดความตระหนี่ เป็นเรื่องของความเข้าใจ และก็ศรัทธาเลื่อมใสในผลของทาน รู้ว่าทานมีผล คือไม่ใช่ไปโลภนะว่าจะเอาโน่นเอานี่ แต่ว่า ให้เกิดความอุ่นใจว่าทำทานเนี่ยนะ เราจะอยู่รอดปลอดภัย เราจะมีความสบาย ไม่ต้องตกทุกข์ได้ยาก และก็ทำด้วยความเข้าใจว่าของที่ให้ไป มันมีประโยชน์อย่างไรกับผู้รับ ไม่ใช่สัก ๆ แต่ทำไป แต่ไม่รู้เลยว่าของนั้นมีคุณภาพแค่ไหน แล้วเอาไปใช้จะเกิดผลอย่างไร และก็ทำด้วยความอ่อนน้อม ลองดูจิตตัวเองว่า ตอนโยนเศษกระดูกให้หมาแบบทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ กับประคองใส่ทิชชู่ไป ไปวางให้มันถึงพื้นเนี่ย ความรู้สึกมันดีกว่ากันแค่ไหน เนี่ยทำทานให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับจิตจริง ๆ ต้องทำด้วยองค์ประกอบเหล่านี้


ถาม: คุณดังตฤณช่วยกรุณาแนะวิธีดำเนินจิต หรือประคองจิตในสังคมยุคปัจจุบัน สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้ริเริ่มภาวนา?

คุณดังตฤณ: ก็ดูแค่ว่า จิตแบบไหนมันดีก็รักษาไป จิตแบบไหนมันแย่หรือว่าเกิดความลังเลสงสงสัยก็อย่าไปเอามัน


ถาม : คำว่า สมถะ สมาธิ วิปัสสนา กับกรรมฐาน เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรคะ?

คุณดังตฤณ: ตัวที่เป็นคู่กันจริง ๆ คือ สมถะกับวิปัสสนา "สมถะ" หมายความว่าทำให้จิตสงบจากกิเลสชั่วคราว ส่วน "วิปัสสนา"นั้น หมายถึงการใช้จิตที่มันสงบจากกิเลสชั่วคราวนั้นไปรู้เห็นอะไรต่อมิอะไรตามจริง ว่าไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน ส่วนคำว่า "สมาธิ" หมายถึงการที่จิตมีความสงบ มีความตั้งมั่นนะ มันคนละความหมายกันกับสมถะ สมถะเนี่ยคือแค่สงบลงมาจากกิเลส ไม่มีราคะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ อย่างนี้เค้าเรียกว่า เป็นสมถะได้แล้ว แต่สมาธิเนี่ยมันหมายถึงจิตต้องตั้งมั่นด้วย มันตั้งมั่นอยู่ในอาการรู้ในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ส่วนคำว่า "กรรมฐาน"เนี่ย หมายความว่ารูปแบบ วิธีที่จะปฏิบัติจิต ฝึกจิต ยกตัวอย่างเช่น กรรมฐานที่ใช้ลมหายใจเป็นเกณฑ์ เค้าเรียกว่า อาณาปานสติกรรมฐาน หรือว่ากรรมฐานที่ใช้กสิน คือการหลับตาแล้วก็นึกเอาถึงรูปวงกลม รูปสีขาว สีแดงอะไรต่าง ๆ พูดง่าย ๆ ว่ารูปแบบวิธีที่แตกต่างกันที่จะทำให้จิตเข้าสู่ความสงบหรือเป็นสมาธิเนี่ย ล้วนเป็นกรรมฐานทั้งสิ้น ส่วนคำว่า สติเนี่ย เอาง่าย ๆ เลย คือ มีความสามารถระลึกได้ถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ทีนี้ที่เป็นสติในความหมายของการปฏิบัติธรรมที่แท้จริงก็คือ ยอมรับตามจริงว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นเฉพาะหน้า อาการที่ยอมรับตามจริงนั่นแหล่ะคือสติแหล่ะ สติในความหมายของสัมมาสติ คือรู้ว่ากาย เวทนา จิตและก็ธรรมเนี่ยมันไม่เที่ยง มันไม่ใช่ตัวตน


ถาม: สติปัฏฐานนี่คนส่วนใหญ่ ต้องเริ่มจาก กาย จิต ก่อนใช่ไหมคะ?

คุณดังตฤณ: เริ่มจากตรงไหนก็ได้ที่รู้สึกว่ามันเข้ามาในขอบเขตของตัวเองนะ ไม่ว่าจะเป็นจิต ไม่ว่าจะเป็นกาย มันขึ้นอยู่กับแต่ละขณะ อย่างถ้าสมมติว่ากำลังฟังพระเทศน์อยู่ แล้วจิตใจโปร่งเบาสบาย แล้วเกิดความสุขเนี่ย ความสุขเกิดขึ้นมาก่อนก็ดูความสุข แต่ถ้าหากว่ากำลังอยู่ในอารมณ์เซ็ง ๆ นะ แล้วรู้สึกว่า เอ้อ..ถ้าดูลมหายใจ ลากลมหายใจยาว ๆ แล้วมันชัดกว่าอย่างอื่นนะ ก็อาจจะดูลมหายใจไปก่อน แต่ว่าถ้าเอาตามรูปแบบจริง ๆ แล้วเนี่ย พระพุทธเจ้าให้นั่งสมาธิดูลมหายใจจนกระทั่งจิตนิ่งเกิดความสว่างเกิดความสงบในขั้นฌาน แล้วค่อยเอาฌานนั้นน่ะไปต่อยอด ดูทั้งความรู้สึกสุขทุกข์ ทั้งสภาวะจิตทั้งสงบและไม่สงบ มีราคะไม่มีราคะ มีโทสะไม่มีโทสะ มีโมหะไม่มีโมหะ ทั้งหลายทั้งปวงเนี่ยล้วนแล้วแต่ไม่เที่ยง อันเนี้ยคือตามมาตรฐานดั้งเดิมของพระพุทธเจ้าเป๊ะ ๆ แต่ไม่มีใครทำได้ตั้งแต่วันแรกหรอกนะตามมาตรฐานสากลแบบนั้น ส่วนใหญ่ก็จะขึ้นต้นด้วยการดูสิ่งที่ดูได้ง่ายที่สุดสำหรับตัวเอง ซึ่งก็คือสิ่งที่กำลังปรากฏเด่นที่สุดในตัวเองนั่นเอง


ถาม : การออกกำลังกาย สามารถช่วยเรื่องการทำสมาธิได้อย่างไรคะ?แล้วจะมีวิธีการฝึกสมาธิในตอนออกกำลังกายอย่างไร? การฝึกโยคะ จะช่วยเป็นแนวทางในการฝึกสมาธิได้ดีมั้ย? แล้วจากตรงนั้น จะพัฒนามาเป็นการเจริญสติได้อย่างไร?

คุณดังตฤณ: ถ้าร่างกายกระชุ่มกระชวยจิตมันก็จะตื่นตัว ถ้าร่างกายมีความแข็งแรงทำให้เกิดความกระตือรือร้นง่าย มันก็มีส่วนที่จะส่งเสริมให้เกิดความคึกคักและก็รู้สึกว่ามันมีกำลังที่จะภาวนาได้นาน ๆ


ถาม : จำเป็นมั้ยที่ต้องรู้เนื้อหาธรรมะมาก ๆ จึงจะปฏิบัติได้ดี?

คุณดังตฤณ: แล้วแต่คน บางคนรู้มากยิ่งฟุ้งซ่าน บางคนรู้น้อยแต่รู้ตรงจุดมันก็ปฏิบัติได้ทันที แต่มันก็มีนัยกลับกัน บางคนรู้น้อยแล้วก็รู้แบบหลงทางไปเลย บางคนต้องรู้มากซะก่อนมันถึงจะปลงใจ มีความสงบพอที่จะเริ่มต้นฝึกจริงจัง มันแล้วแต่คน


ถาม: คนที่ อกหักแรงๆ หรือ เป็นหนี้หนัก หรือป่วยหนักๆ เจียนตาย จะมีวิธีการ manage(จัดการ) จิตใจอย่างไรคะ?

คุณดังตฤณ: อกหักแรง ๆ เนี่ย คือพูดอะไรไม่ฟังหรอก จะเอาคนรักคืนมาอย่างเดียว ทีนี้เราก็ต้องดูด้วยว่าเค้ามีความเต็มใจที่จะช่วยตัวเองรึเปล่า? ฟื้นฟูจิตใจตัวเองรึเปล่า? ถ้าหากว่า มีความเต็มใจที่จะฟื้นฟูจิตใจตัวเอง ตรงนั้นน่ะเราค่อยพูดได้ ว่า เออ..มันไม่มีอะไรเสียหายไปยิ่งกว่าจิต ถ้าหากว่าเราเสียคนรักไป เสียพ่อแม่ เสียเงินทอง เสียโลกไปทั้งใบเนี่ยนะ มันจะไม่เท่ากับเสียจิตไปดวงเดียว เพราะว่าสิ่งที่มันเป็นแก่นของชีวิตที่แท้จริงเนี่ยมันไม่ใช่ของภายนอกหรือบุคคลภายนอก แต่มันเป็นจิตใจของเราเอง ถ้าหากว่า เค้าคลิ้กว่า เออสิ่งที่เสียไปมากที่สุดจริง ๆ เสียหายที่สุดจริง ๆ ก็คือจิต ตรงเนี้ยมันก็จะเริ่มกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกขึ้นมาได้ แต่ว่าวิธีแก้หรือวิธีทำให้คนอกหักรู้สึกดีขึ้นมันไม่จำเป็นต้องเป็นแค่คำ ๆ นี้ แต่ละคนมีคลิ้กที่ต่างกัน...นะ...


ถาม: คนที่พอรู้หลักรู้ธรรมอยู่แล้ว แล้วเกิดมีอารมณ์ที่อกหักหรือว่าเสียใจเนี่ย สามารถที่จะภาวนาได้ทั้ง ๆ ที่...?

คุณดังตฤณ: ถ้าอกหักอยู่เนี่ย ตอนนั้นกำลังเป็นอกุศลจิตอยู่นะ ถ้าอกุศลจิตมันดำเนินไป ไอ้กุศลจิตมันก็เข้ามาแทรกแซงไม่ได้ สติมันก็ไม่เกิดหรอก...นะ... ทีนี้มันต้องมีอะไรมากระตุ้นซะก่อน คือบางทีเนี่ยอย่าไปพูดว่า คนปฏิบัติธรรมหรือเอ่อ...เข้าใจธรรมะมาขั้นไหนแล้ว แต่เอาเป็นว่า ธรรมะอยู่ในใจคน ๆ นั้นแค่ไหนแล้วนะ ถ้าหากว่าธรรมะอยู่ในใจคน ๆ นั้นมากแล้วเนี่ย มันไม่หลงไปตั้งแต่ตอนที่จะรักแล้วหล่ะ...นะ... คือมันอาจจะใช้ชีวิตปกติแบบคนทั่วไปก็ได้ ครองเรือนได้ แต่ว่ามันจะไม่ได้เริ่มต้นที่ความหลง มันเริ่มต้นจากความรู้สึกว่า เอ้อที่อยู่ด้วยกันเพื่อเกื้อกูลกัน แต่ก็ไม่จำเป็นว่าต้องครอบครองกัน ตรงนี้เนี่ยมันก็ไม่มีอาการถลำเข้าไปตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นมันก็ไม่ต้องถอนออกมามาก แต่ทีนี้ถ้า ครึ่ง ๆ กลาง ๆ เหมือนกับเตรียมใจไว้ แต่ก็ยังถลำอยู่ และก็สามารถที่จะถอนออกมาได้บ้างอะไรงี้ อันนี้ก็อาจจะใช้วิธีระลึกถึงครูบาอาจารย์ อ่านคำสอนที่เคยรู้สึกว่าสว่าง กระจ่างนะ...แล้วมันก็จะถอนขึ้นมาได้ระดับนึง แต่ถ้าเป็นประเภทที่ว่า อวดอ้างว่าตัวเองปฏิบัติธรรมแต่ว่าใจยังถลำไปในเรื่องความรัก ไปในเรื่องความหลงอะไรได้เต็มตัวมิดหัวเนี่ย ไอ้แบบเนี้ยมันต้องนับหนึ่งใหม่เหมือนคนธรรมดาทั่วไป ธรรมะไม่ได้ช่วยนะ เพราะว่าธรรมะไม่ได้เข้าไปอยู่ในใจอย่างแท้จริง


ถาม: เมื่อละเมิดศีลไปแล้ว มีกลวิธีในการฟื้นฟูจิตใจหรือฟื้นฟูศีลอย่างไร?

คุณดังตฤณ: ตามหลักแล้วเนี่ย ท่านก็ให้สำนึกผิดอย่างแท้จริง แล้วไม่ต้องคิดมาก เพราะยิ่งคิดมากเท่าไหร่เนี่ย จิตก็ยิ่งมัวหมองมากขึ้นเท่านั้น แต่พอสำนึกผิดแล้ว ตั้งใจอย่างแข็งแรงว่าจะไม่ให้มันผิดอีก เนี่ยแค่เนี้ยเพียงพอและก็มากที่สุดเท่าที่จะทำได้แล้ว ทำมากกว่านี้ไม่ได้ เพราะอดีตมันเป็นสิ่งที่แก้ไขไม่ได้ด้วยการย้อนกลับไป แต่แก้ไขได้ด้วยการไม่ทำอีก


ถาม: ปฏิบัติไปแล้วจะรู้ได้อย่างไรคะ ว่าไม่หลง คือถ้าไม่มีคนแนะนำจะมีการ ตรวจสอบอย่างไร?

คุณดังตฤณ: กิเลสลดลง ความอยากลดลง หรือเมื่อเกิดความอยากขึ้นมาแล้วหายไปอย่างรวดเร็ว มีสติรู้ว่า ขณะนี้กำลังอยู่ท่าไหน กำลังอยู่ที่ไหน กำลังเป็นใคร และก็ต้องปฏิบัติหน้าที่อะไร สิ่งเหล่าเนี้ยมันเป็นเครื่องวัดได้หมด พูดง่าย ๆ ว่ากิเลสน้อยลงและก็สติดีขึ้น


ถาม: คุณดังตฤณคิดว่า มีข้อได้เปรียบ – เสียเปรียบของการปฏิบัติธรรม ระหว่างคนที่อายุยังน้อย กับคนที่สูงอายุ มีหรือไม่อย่างไรคะ?

คุณดังตฤณ: ข้อได้เปรียบของการปฏิบัติในระหว่างอายุยังน้อย คือว่ายังมีกำลัง ยังมีเรี่ยวแรง แต่ข้อเสียเปรียบก็คือว่า มันจะขาดความเข้าใจชีวิตมากพอที่จะอิ่มตัว มากพอที่จะปลงใจปฏิบัติจริงจังให้ต่อเนื่อง ส่วนคนสูงอายุ ข้อเสียเปรียบก็คือ เรี่ยวแรงน้อยแล้วนะ แต่ว่าข้อได้เปรียบก็คือ มีความเข้าใจชีวิต เห็นจริง ๆ ว่าอะไรทั้งหลายทั้งปวงเนี่ยมันยึดมั่นถือมั่นไปก็เปล่าประโยชน์ แม้แต่ร่างกายตัวเอง สังขารตัวเองนะ ที่รู้สึกว่าเป็นตัวของตัวเองมาตลอดเนี่ย จริง ๆ แล้วมันจะเหี่ยวย่นลง มันจะมีอาการโรยรา มีอาการโรยแรง หรือว่ามีโรคภัยไข้เจ็บอะไรเนี่ย ไม่สามารถกำหนดได้สักอย่างเดียว มันต้องเป็นไปตามนั้น อันนี้มันจะเห็นจริง ๆ จากสิ่งที่ปรากฏในชีวิต ไม่ใช่แค่คิด ๆ เอา หรือว่าเดาเอาว่ามันน่าจะรู้สึกอย่างนั้น น่าจะรู้สึกอย่างนี้ แต่มันรู้สึกด้วยตัวเองตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมงว่า นี่แหล่ะที่เรียกว่าของจริงของชีวิตมันต้องแปรปรวนไป มันต้องเสื่อมไป


ถาม : สุดท้ายนี้ คุณดังตฤณมีอะไรที่เป็นข้อคิด/แง่คิดให้ผู้ฟังหรือผู้อ่านบ้างไหมคะ?

คุณดังตฤณ: ถ้าหากเราจะได้อะไรจากธรรมะมากที่สุดเนี่ยนะ มันไม่ใช่ด้วยการนึกคิดเอาหรือว่าดูคนอื่น ว่าเค้าจะเป็นยังงี้ ว่าเค้าจะพูดยังงั้นยังงี้ แต่ต้องด้วยการที่ถามตัวเองให้เป็น ว่า ชีวิตเราต้องการอะไร เอาคำตอบอะไรที่มันโดนใจที่สุดนะ หรือว่ามีโจทย์ข้อไหนที่เรารู้สึกว่าถ้าตั้งแล้วเนี่ย เราวิ่งไปชนคำตอบของโจทย์ให้ได้แล้วเนี่ยจะเกิดประโยชน์สูงสุด ถ้าเรารู้จักคิด รู้จักถามเข้ามาที่ตัวเองอย่างนี้นะว่าอะไรเป็นประโยชน์สูงสุดในชีวิตเรา อะไรเป็นคำถามที่น่าได้คำตอบที่สุด ชีวิตก็จะมีความหมายขึ้นมาทันที มันจะมีจุด (หมาย?) มันจะมีทิศทาง มันจะมีความรู้สึกที่ชัดเจนกับอนาคตข้างหน้านะว่า ชีวิตที่เหลือจะเป็นไปเพื่ออะไร ถ้าหากว่าคำตอบนั้นมาจากพระพุทธศาสนา เราก็เชื่อกันได้ว่า สิ่งที่จะได้รับคือการพ้นทุกข์อย่างสิ้นเชิง


กราบขอบพระคุณ คุณดังตฤณมากค่ะ

อ่านตอนที่ ๑ --> ตอนที่ ๑

____________________________________

การลงทุนข้าม(ภพ)ชาติมีความเสี่ยง โปรดศึกษา(ทางที่ถูก, ตรงที่สุด และเหมาะสมที่สุด)ก่อนลงทุนทุกครั้ง
จากคุณ : ake [ ตอบ: 05 มี.ค. 50 23:24 ] แนะนำตัวล่าสุด | ผู้ดูแลลานธรรม | ตอบ: 1311 | ฝากข้อความ |



ความคิดเห็นที่ 1 : (benyapa) อ้างอิง |


อนุโมทนากับคุณดังตฤณและคุณเอกด้วยนะคะ ขอให้ธรรมคุ้มครองตลอดไปนะคะ

____________________________________

www.rescuetaskforce.org

การยกโทษ อาจดูเหมือนเรายอม เราไม่ติดใจ ไม่เอาเรื่อง
แล้วจะทำให้เขากำเริบ ส่วนเราเสียเปรียบ
ความจริงไม่ใช่ เรากำลังบำเพ็ญบารมิขั้นสูงสุด คือ "อภัยทาน"
อันเป็น "ทานบารมี" ที่สูงส่ง
การยอมแพ้อาจเป็นชัยชนะยิ่งใหญ่ข้ามภพชาติ
(ส่วนหนึงจาก "อภัยทาน" )

"อย่าให้บาปออกมาจากกายและวาจา
ให้มันเดือดอยู่ในใจของเรา เอาไว้ดู"
(จากซีดีธรรมเทศนาพระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชโช แผ่นที่14"

***(ดาวน์โหลดเสียงธรรมฟรี)***
www.cddhamma.org/
//four.fsphost.com/freedm/1.htm
//three.fsphost.com/bhudda/indek.htm
จากคุณ : benyapa [ ตอบ: 05 มี.ค. 50 23:46 ] แนะนำตัวล่าสุด 04 ก.ค. 49 | สมาชิกลานธรรมถาวร | ตอบ: 2124 | ฝากข้อความ | MSN |

โดย: srisawat วันที่: 23 กันยายน 2550 เวลา:5:55:42 น.
  
ความคิดเห็นที่ 2 : (บุญยัง) อ้างอิง |


อนุโมทนาครับ

____________________________________

ทุกลมหายใจคือความเปลี่ยนแปลง
แม้แต่ของที่เราเห็นว่ามันอยู่นิ่งๆ
ก็ยังเปลี่ยนแปลงไปทุกวินาที
นิ่งอยู่ที่ใจ วาง รู้
จากคุณ : บุญยัง [ ตอบ: 05 มี.ค. 50 23:51 ] แนะนำตัวล่าสุด 29 เม.ย. 50 | สมาชิกลานธรรมถาวร | ตอบ: 278 | ฝากข้อความ | MSN |Yahoo |



ความคิดเห็นที่ 3 : (~Duo~) อ้างอิง |



จากคุณ : ~Duo~ [ ตอบ: 06 มี.ค. 50 00:41 ] ยังไม่แนะนำตัว | สมาชิกลานธรรมถาวร | ตอบ: 272 | ฝากข้อความ |



ความคิดเห็นที่ 4 : (ศิราภรณ์ อภิรัฐ) อ้างอิง |


สาธุค่ะ

____________________________________

" ดวงคนเรามีดวงเดียว คือดวงใจ
ขอให้กำหนดใจเราให้ดี ทุกอย่างจะดีเอง "

-หลวงปู่ขาว อนาลโย-
จากคุณ : ศิราภรณ์ อภิรัฐ [ ตอบ: 06 มี.ค. 50 00:48 ] แนะนำตัวล่าสุด 03 พ.ค. 50 | สมาชิกลานธรรมถาวร | ตอบ: 275 | ฝากข้อความ |โฮมเพจ | MSN |



ความคิดเห็นที่ 5 : (explorer) อ้างอิง |



จากคุณ : explorer [ ตอบ: 06 มี.ค. 50 01:16 ] ยังไม่แนะนำตัว | สมาชิกลานธรรมถาวร | ตอบ: 182 | ฝากข้อความ |



ความคิดเห็นที่ 6 : (กานต์) อ้างอิง |




____________________________________

มรรคผลอยู่ข้างหน้า มองหาแล้วจะพบ
--
จาก พี่ตุลย์ ดังตฤณ งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ ๓๓ วันที่ ๓ เมษายน ๒๕๔๘

-----------
วิมุตติปฏิปทา :

หนทางยังมีอยู่ ผู้เดินทางยังไม่ขาดสาย
ลงมือเสียแต่วันนี้ ก่อนที่กระแสลมแห่งกาลเวลา
จะพัดพารอยพระบาทของท่านหายไป เพราะถึงเวลานั้น
พวกเราก็จะต้องระหกระเหินไร้ทิศทาง ไปอีกแสนนาน ...

_/|\\_ _/|\\_ _/|\\_

พระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
จากคุณ : กานต์ [ ตอบ: 06 มี.ค. 50 01:21 ] แนะนำตัวล่าสุด 15 ก.พ. 50 | สมาชิกลานธรรมถาวร | ตอบ: 4742 | ฝากข้อความ |โฮมเพจ | MSN | ICQ |Yahoo |



ความคิดเห็นที่ 7 : (มุแอน) อ้างอิง |


อนุโมทนาค่ะ

____________________________________

มีลมหายใจเป็นเพื่อนสนิท
มีกัณลยาณมิตรเป็นพระพุทธเจ้า
จากคุณ : มุแอน [ ตอบ: 06 มี.ค. 50 08:38 ] ยังไม่แนะนำตัว | สมาชิกลานธรรมถาวร | ตอบ: 51 | ฝากข้อความ | MSN |



ความคิดเห็นที่ 8 : (Burning Blood) อ้างอิง |


อนุโมทนาด้วยครับ ว่าแต่ตอน 1 อยู่ไหนครับเนี่ย
จากคุณ : Burning Blood [ ตอบ: 06 มี.ค. 50 08:54 ] แนะนำตัวล่าสุด 18 ม.ค. 49 | สมาชิกลานธรรมถาวร | ตอบ: 114 | ฝากข้อความ |



ความคิดเห็นที่ 9 : (ake) อ้างอิง |


ตอน หนึ่งยังถอดไม่เสร็จครับ

____________________________________

การลงทุนข้าม(ภพ)ชาติมีความเสี่ยง โปรดศึกษา(ทางที่ถูก, ตรงที่สุด และเหมาะสมที่สุด)ก่อนลงทุนทุกครั้ง
จากคุณ : ake [ ตอบ: 06 มี.ค. 50 09:27 ] แนะนำตัวล่าสุด | ผู้ดูแลลานธรรม | ตอบ: 1311 | ฝากข้อความ |


ความคิดเห็นหน้าต่อไป | เดินทาง | สุนทร | ริสารัตน์ | dhammaboot | P Q BOY | oak | Embrace | อัปปมัญญา | ดบัสวนี | นายธรรมชาติ | Bluefriday | P’ Noi | บุญรักษ์ | ธรรมชาติธรรมะ | s_boonnak@yahoo.com | A Student | แพม | มะเหมี่ยว | ธรรมเนียบขาว | venfaa | สงบเสวนา | psp1 | ทวีพร | ตันหยง | ธนัช | MaewMeaw_uk |

หน้า: (รวม 4 หน้า) [1] 2 3 4 หน้าต่อไป


(อ่านคำตอบล่าสุด ) « กระทู้ก่อน | ชีวิตกับธรรมะ | กระทู้ต่อไป »

ผู้อ่าน 1 ท่าน (1 ผู้เยี่ยมชม 0 สมาชิกไม่เปิดเผยตัว) 0 สมาชิก :




โดย: srisawat วันที่: 23 กันยายน 2550 เวลา:5:56:35 น.
  
2 ตอน
//larndham.net/index.php?showtopic=25350
//larndham.net/index.php?showtopic=25113&hl=
โดย: srisawat วันที่: 23 กันยายน 2550 เวลา:5:57:49 น.
  
เคยได้หนังสือจากเพื่อนๆ ใน bloggang เหมือนกันครับ

อ่านแล้วรู้สึกดีมากๆ เพลินดีจังครับ

โดย: มิสเตอร์ฮอง วันที่: 23 กันยายน 2550 เวลา:15:55:36 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Pingpo.BlogGang.com

srisawat
Location :
นครราชสีมา  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]