CHANTHABURI :: ภารกิจเที่ยวหัวใจใหม่ ตอนย้อยรอยไปดูหมูดุดกัน
หลังจากที่ตอนที่แล้วพวกเราไปเดินสำรวจ ศูนย์เพาะพันธุ์สัตว์น้ำ กันมาแล้ว ตอนนี้จะพาเพื่อนๆ ไปเดินเท้าเยี่ยมชมโครงการในพระราชดำริกันต่อค่ะ พี่วิทยากรพาพวกเราไปทางลัด (ลัดจริงๆ) พวกเราเลยได้มีโอกาสได้เห็นระบบชลประทานน้ำเค็มแห่งแรกที่เค้าเอาไว้ใช้เลี้ยงกุ้งทะเลด้วยล่ะ
จากนั้นพี่วิทยากรก็พาพวกเราเข้าไปชมโครงการสะพานทางเดินศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนอ่าวคุ้งกระเบน ระหว่างทางก็ได้เห็นบ่อเลี้ยงกุ้งด้วยล่ะ เพื่อนรู้ไหมว่าป่าชายเลนนั้นเกี่ยวพันกับเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งอย่างไร คำตอบมีมาฝากกันค่ะ ป่าชายเลนนั้นเป็นตัวดูดใช้ธาตุอาหารที่เกิดจากการเลี้ยงกุ้งทะเล ซึ่งเป็นการบำบัดน้ำทางชีวภาพนั้นเอง ประโยชน์ก็จะทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเลได้เลี้ยงกุ้งทะเลอย่างยั่งยืนด้วยระบบนิเวศน์ทางธรรมชาติค่ะ เมื่อใดที่เกษตรกรเลี้ยงกุ้งด้วยวิธีธรรมชาติมากที่สุด พวกเราก็จะได้ทานกุ้งที่ปลอดสารพิษกันค๊า
พวกเราเดินเข้ามาตามสะพานไม้ที่มีความยาวถึง 1,790 เมตรที่ลดเลี้ยว เข้าไปในป่าชายเลน ที่นี่แหละเค้าเรียกว่า "พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต" เป็นแห่งเรียนรู้ให้กับบุคคล นักเรียนและนักศึกษาได้เป็นอย่างดีทีเดียว เข้าใจความหมายที่บอกว่า "ความรู้ไม่มีเฉพาะในห้องเรียน"เลยล่ะ
พวกเราเดินไปเรื่อยๆ ก็เจอกับหอดูนกแหละ สูงทีเดียวเสียดายที่เวลามีน้อยไปหน่อยก็เลยไม่ขึ้นไปดูด้านบน
แต่วันนี้มีนักท่องเที่ยวมา ค่อนข้างเยอะร้องเพลงกันลั่นสนั่นป่าเลย ขึ้นไปบนหอดูนกก็คงไม่ได้เห็นหรอก
นี่แหละมาเที่ยวป่าก็ควรอย่าส่งเสียงดังกันนะคะ เพราะจะไปรบกวนสัตว์ที่เค้าอาศัยอยู่บริเวณนี้ค่ะ ขนาดคนยังรำคาญเล้ย .
แล้วสัตว์จะไปเหลือเหรอ แค่มันพูดออกมาเป็นคำพูดไม่ได้แค่นั้นเองแหละ
บริเวณนี้แหละที่มีเรื่องเล่าว่า หลังจากหมูดุดหรือปลาพะยูน ได้หายไปจากอ่างคุ้งกระเบนตั้งแต่ช่วงปี 2533 จนเข้าปีที่ 16 แล้ววันที่ทุกคนรอคอยก็มาถึง เย็นวันอาทิตย์ที่ 23 เมษายน 2549 หมูดุดน้อยตัวหนึ่ง ว่ายเข้ามากินหญ้าทะเลที่มีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์บริเวณปากอ่าวคุ้งกระเบน ในช่วงเวลานั้นเป็นเวลาเดียวกันที่ชาวประมงวางอวนล้อมจับปลาหัวแข็งในอ่าวคุ้งกระเบนพอดี ผู้คนแถบนี้จึงได้มีโอกาสเห็นและทักทายกับหมูดุดน้อยน้ำหนักถึง 200 กิโลกรัม ยาวประมาณ 2 เมตร จากนั้นมาก็ไม่มีใครเป็นหมูดุดน้อยตัวนี้อีกเลย
แต่การกลับมาของพะยูนถือว่าไม่ใช่เรื่องธรรมดา แต่เป็นสิ่งที่ชี้วัดว่า ระบบนิเวศทางทะเลในอ่าวคุ้งกระเบนที่เคยเสื่อมโทรมลงอย่างมากนั้น ได้ฟื้นคืนสู่ความอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง โดยเฉพาะระบบนิเวศของหญ้าทะเลอาหารหลักของพะยูน ซึ่งหากเราช่วยกันรักษาความสมดุลของทรัพยากรธรรมชาติชายฝั่งแห่งนี้ให้อยู่อย่างยั่งยืน เราก็คงได้มีโอกาสทักทายกับเจ้าหมูดุดน้อยอีกแน่นอนค่ะ
เพื่อนรู้ไหมว่า หมูดุดหรือพะยูน เนี่ยกินหญ้าทะเลวันละกี่กิโลกรัม คำตอบคือ 30 กิโลกรัมเลยทีเดียว ถ้าฝูงหนึ่งมีสัก 6 ตัว ก็กินวันละ 180 กิโลกรัม ดังนั้นเราต้องมีหญ้าทะเลเยอะมากๆ อ่ะ เพื่อให้พวกมันได้กลับมาเยี่ยมเยียนเรา มิน่าล่ะหมูดุดน้อยหลุดมาตัวเดียว ถ้ามันอยู่สัก 10 วัน มันต้องกินหญ้าทะเลถึง 300 กิโลกรัมเลยทีเดียวอ่ะ