ดูจิตให้ดูความพอดีเพื่อปรารภความเพียรละกิเลส (มัชฌิมาปฏิปทา)
วันนี้วันดีเป็นวันเพ็ญแห่งอาสาฬหมาส เพื่อเป็นการรำลึกถึงวันบูชาที่สำคัญที่สุดวันหนึ่งในพระพุทธศาสนา ตรงกับวันพระจันทร์เต็มดวง ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ คือเดือนอาสาฬหะ เป็นวันที่เจ้าชายสิทธัตถะ หลังจากได้ทรงตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ได้ทรงเป็นสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วได้ ๒ เดือน ได้ทรงแสดงปฐมเทศนา ทรงประกาศพระธรรมที่ทรงตรัสรู้เป็นครั้งแรก โปรดพระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้กรุงพาราณสี

ท่านโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรม รู้ชัดว่า "สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับไปเป็นธรรมดา"

โดยสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเปล่งพระพุทธวาจาให้เป็นที่ประจักษ์ว่า "อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ" คือ "โกณทัญญะได้รู้แล้วหนอ"

วันนั้นจึงเป็นวันที่พระรัตนตรัยเกิดครบองค์ ๓ คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และมีพระอริยสงฆ์องค์แรกที่เกิดขึ้นในโลก คือ ท่านอัญญาโกณฑัญญะ

พระธรรมที่ทรงแสดงในวันนั้น พระพุทธองค์ได้ทรงประกาศไว้อย่างชัดเจนว่า "ปุพฺเพ อนนุสฺสุเตสุ ธมฺเมสุ" แปลว่า "ธรรมที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสรู้มานั้น พระพุทธองค์ไม่เคยทรงได้ยินได้ฟังจากที่ไหนมาก่อน"

พระพุทธองค์จึงทรงประกาศตนเองว่าเป็น "พระสัมมาสัมพุทธเจ้า" ตรัสรู้ชอบด้วยองค์เอง เป็นการแสดงให้เห็นว่า "ฌานในสัมมาสมาธิ" ที่ทรงตรัสสั่งสอนไว้ในอริยมรรคมีองค์ ๘ นั้น พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง ไม่ใช่เป็นการต่อยอดความรู้มาจาก "รูปฌานหรืออรูปฌาน" ซึ่งเป็น "ฌานสมาบัติ" ที่เป็นของพราหมณ์ อันมีปรากฏอยู่ ก่อนที่พระพุทธองค์จะทรงอุบัติขึ้นมาเสียอีก

ฉะนั้น "สัมมาสมาธิ" จึงไม่ใช่ "สมาธิ" แบบทั่วๆ ไป และฌานในสัมมาสมาธินั้น ก็ไม่ใช่ฌานสมาบัติเช่นกัน


พระธัมมจักกัปปวัตนสูตร ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงในวันอาสาฬหมาสนั้น คือ อริยสัจ ๔ หรือ อริยมรรคมีองค์ ๘ (มัฌชิมาปฏิปทา) นั่นเอง ทำให้ท่านพระอาจารย์โกณฑัญญะ เกิดดวงตาเห็นธรรม เปล่งวาจาว่า "สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับไปเป็นธรรมดา"

พระพุทธองค์ทรงแสดงปฐมเทศนา ที่มีสาระสำคัญ ทำให้เกิดพระอริยสงฆ์ขึ้นในโลก เป็นสิ่งรับรองถึงผลของการตรัสรู้ของพระพุทะองค์ ที่มีบุคคลอื่นสามารถรู้ตามได้

ได้ทรงค้นพบ "มัฌชิมาปฏิปทา" ปฏิปทาในการปฏิบัติอันเป็นกลางๆ ไม่เข้าใกล้ที่สุดสองฝั่ง เป็นการปรารภความเพียร เพื่อความพอดี ในอันที่จะละกิเลสให้หมดลงไปได้

ในการเทศนาสั่งสอนนั้น พระพุทธองค์ทรงมักเน้นถึงการปรารภความเพียรเป็นที่ตั้ง เพื่อทำลายอวิชชาอันเป็นรากแก้วของกิเลสให้หมดไป

แต่ในปัจจุบันกลับมีการตีความกันเองตามชอบใจ จากอัตโนมัติอาจารย์ที่ไร้รากฐานจากการ "ภาวนามยปัญญา" ว่า "มัฌชิมาปฏิปทา" นั้น คือ ธรรมที่ง่ายๆ สบายๆ และลัดสั้น จนเกิดความสับสนในหมู่นักปฏิบัติชนคนรุ่นใหม่ ที่เชื่ออะไรง่ายๆ หรือที่เรียกว่า "มักง่าย" เพราะติดสบาย และยังชอบเรียนรู้แบบลัดสั้น โดยขาดความเข้าใจที่แท้จริง

อันว่า "มัฌชิมาปฏิปทา" นั้น คือ ข้อธรรมที่ควรนำมาปฏิบัติธรรม ปรารภความเพียร เพื่อแก้อนุสัยสันดาน ที่เป็นเครื่องหมักดองอยู่ในสันดานจิตของตน

คำว่า ข้ออันควรปฏิบัติที่เป็นกลางๆ เพื่อเป็นไปนั้น การปรารภความเพียรในแต่ละคนย่อมไม่เท่าเทียมกัน สำหรับคนที่มักชอบทำอะไรสุดโต่งนั้น เป็นอะไรที่หาตรงกลางได้ยากมาก

เช่น บุคคลที่ติดนอนเป็นอาจินต์ เป็นผู้เกียจคร้านอยู่เป็นนิจ การนอนให้น้อยลงนั้น เป็นเรื่องยากมากสำหรับบุคคลนั้น ต้องค่อยๆปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง โดยต้องกำหนดระยะเวลาในการนอนขึ้นมา หรือหาอุบายโดยตั้งกติกาขึ้น เพื่อชักนำให้เกิดความเพียรในตนเอง เป็นการรับรู้ถึงข้อธรรม อันเป็นเครื่องแก้ความง่วงเหงาหาวนอนได้

เมื่อนำมาพิจารณาให้ดีแล้ว จะเห็นได้ว่า หัวข้อธรรมที่ท่านพระอาจารย์อัญญาโกณฑัญญะ ได้กล่าวมานั้น เป็นเรื่องของสัตว์โลก คือ จิตที่มักติดข้องด้วยความยึดมั่นถือถืออยู่ในโลกทั้งสิ้น หรือ จิตที่มักติดข้องอยู่ในอารมณ์นั่นเอง หาความพอดี (มัฌชิมา) ได้ยาก ในการปรารภความเพียร เพื่อประคองจิตของตน ให้มีสติสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ จิตของตนมักตกอยู่ในอารมณ์ฝ่ายกุศล หรือ อกุศล ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

ตรงตามที่พระบรมศาสดาทรงพยากรณ์ไว้ว่า "โลกคือหมู่สัตว์ อันอวิชชาคือความไม่รู้แจ้งตามความเป็นจริง ปิดบังไว้ จึงหลงงมงายอยู่ในความมืด เพราะความทะยานอยาก (ตัณหา) มีประการต่างๆ" นั่นเอง

ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ข้อธรรมที่ว่า "สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับไปเป็นธรรมดา" นั้น หมายความเกี่ยวเนื่องกับ จิตที่ติดข้องยึดถืออยู่ในอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลาย เพราะขาดความพอดีอันเป็นกลางๆ ในการปรารภความเพียรนั่นเอง

แต่กลับมีพวกอิ๊กคิวที่ชอบตีความไปตามจริตที่ติดความมักง่าย ชอบอะไรที่สบายๆ และเรียนรู้แบบลัดสั้น ที่ยังชอบปล่อยจิตใจให้ไหลไปตามกิเลส แต่ปลอบใจตนเองว่า "รู้นะ หรือรู้สึกเฉยๆ" ที่จัดเป็นสัญญาอารมณ์ชนิดหนึ่งเรียกว่า "เฉยโง่ (อัญญาณุเบกขา)"

มีความเห็นที่ผิดเพี้ยนไปว่า เมื่อ "สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นนั้น" ให้ตามรู้ก็พอ ไม่ต้อง ไม่ตั้ง ไม่พยายาม ไม่ต้องบังคับ เพราะบังคับบัญชามันไม่ได้ เมื่อสิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดขึ้นเองได้ สิ่งที่ว่านั้นจะดับไปของมันเองเป็นธรรมดา ให้ปล่อยไปตามยถากรรม

ซึ่งทำให้พระธรรมบทที่ท่านพระอาจารย์อัญญาโกณฑัญญะรู้ชัดนั้น เสียหายไปหมด เพราะความเขลาเบาปัญญา อันเกิดจากขาดการประกอบ (ภาวนามยปัญญา) ให้เกิดปัญญานั่นเอง

คำกล่าวที่ว่า "เป็นธรรมดา" นั้น ล้วนกล่าวถึงเรื่องราวในโลก เรื่องของคนในโลก ของหมู่สัตว์ทั้งหลาย หรือก็คือ เรื่องของจิตสามัญสัตว์โลก ที่ติดข้องในอารมณ์ ทำให้เกิดทุกข์ ทุกข์ควรกำหนดรู้ รู้แล้วต้องละเหตุแห่งทุกข์นั้น เป็นการสลัดคืน ความยึดถือออกไปให้หมดสิ้น เป็นธรรมดา

เมื่อรู้แล้ว ละเรื่องที่รู้ไม่เป็น ได้แต่ดูเฉยๆ หรือรู้สึกเฉยๆ (เฉยโง่) ก็คือความไม่รู้ (อริยสัจ ๔) นั่นเอง เพราะเป็นธรรมดาอยู่เองของสัตว์โลก จิตผู้ติดข้องยึดมั่นถือมั่นอยู่ในอารมณ์ทั้งหลาย เมื่อรู้แล้วไม่ยึดติดอยู่ในอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดเหล่านั้นเป็นไม่มี

ส่วนพระอริยเจ้าทั้งหลาย เมื่อรู้ว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดาของโลก เมื่อรู้แล้ว ท่านก็ละความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวงนั้น จิตของท่านก็เย็นได้ สิ่งทั้งปวงนั้นย่อมดับไปเองเป็นธรรมดา


ไม่ใช่อย่างที่พยายามครอบงำให้เชื่อตามๆ กันไปว่า "เมื่อราคะ โทสะ โมหะ เกิดขึ้น ให้ตามรู้ ไม่ต้องทำอะไร ให้รู้เฉยๆ (เฉยโง่) เดี๋ยวมันก็ดับของมันเอง สติจะเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ

การรู้แบบนี้เปรียบเสมือนว่าไม่รู้จักอารมณ์ เพราะละสิ่งที่รู้ไม่เป็น ปล่อยให้ราคะ โทสะ โมหะ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ตามยถากรรม ตามธรรมดาของโลกนั่นเอง นานวันไปกลับกลายเป็น "ถิรสัญญา" คุ้นชินกับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดเหล่านั้น เพราะจดจำได้อย่างแม่นยำ จึงรู้สึกเฉยๆ (เฉยโง่) กับการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปของอารมณ์ทั้งหลาย

อารมณ์ราคะ โทสะ โมหะ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปเร็วขึ้น ไม่ใช่เกิดจากการฝึกฝนอบรมจิต ให้รู้จักปล่อยวาง ตือจิตรู้จักละเหตุแห่งทุกข์ คืออารมณ์ทั้งหลาย มาอยู่ที่ฐานของสติ แต่เป็นสัญญาที่จดจำธรรมารมณ์ (ถิรสัญญา) ไว้ได้อย่างแม่นยำนั่นเอง

สิ่งใดที่เกิดจากสัญญา ทีไม่ใช่เกิดจากสติปัญญา (ในอริยมรรค ๘) นานวันที่ล่วงเลยไป ย่อมจืดจางลงได้เป็นธรรมดา เพราะสัญญาอารมณ์ ล้วนไม่เที่ยง เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา วนเวียนอยู่ในวัฏฏวน ไม่สามารถนำพาให้พ้นจากทุกข์ไปได้

เนื่องจากไม่ปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา ทำให้ไม่เกิดปัญญา (ทางธรรม)ไม่ รู้เห็นอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริงว่า ทุกข์ควรกำหนดรู้ และต้องรู้จักละเหตุแห่งทุกข์ที่กำหนดรู้นั้นด้วย

เมื่อกำหนดรู้แล้ว ต้องละเหตุแห่งทุกข์ให้เป็น จึงจะเย็นได้ (ดับ) การจะละสิ่งที่ถูกรู้ให้เป็น จึงจะเย็นได้นั้น ต้องเดินตามทางอริยมรรคมีองค์ ๘ คือทางเดินของจิต ที่มีสัมมาสมาธิเป็นใหญ่เป็นประธานในองค์มรรค ๘ นั่นเอง

เมื่อปฏิบัติได้ตามนี้ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ที่บริบูรณ์ จะยังคงอยู่กับเราตลอดไป


เจริญในธรรมทุกๆท่าน
ธรรมภูต





Create Date : 22 กรกฎาคม 2556
Last Update : 19 มกราคม 2558 16:23:51 น.
Counter : 735 Pageviews.

0 comments
สมบัติรูป สมบัตินามที่ถูกรูป ปัญญา Dh
(10 เม.ย. 2567 18:24:46 น.)
:: ถนนสายนี้มีตะพาบ โครงการที่ 349 :: กะว่าก๋า
(8 เม.ย. 2567 05:48:36 น.)
สักกายทิฐิ **mp5**
(8 เม.ย. 2567 11:07:04 น.)
: หยดน้ำในมหาสมุทร 27 : กะว่าก๋า
(4 เม.ย. 2567 05:11:37 น.)

Nujoy.BlogGang.com

ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]