สวนสุขภาพแต้จิ๋ว : นกปรอดหัวโขน นกวัยเด็ก ยังไม่มีแต้มสีแดง ตอนที่ผมเริ่มดูนกใหม่ๆ ปรอดหัวโขนเป็นนกที่พบได้ไม่ยาก เมื่อเวลาผ่านไปในวันที่มีทุนทรัพย์เพียงพอที่จะซื้อกล้องถ่ายภาพ กลับพบว่าพวกมันหาได้ยากยิ่ง สามปีที่ซื้อเลนส์ถ่ายนกมา เฝ้าแต่คิดว่าวันใดจะได้จับภาพเค้ากลับมาไว้ในความทรงจำ แล้ววันนั้นก็มา ที่นี่คือสวนสุขภาพแต้จิ๋ว เป็นสถานที่ผมอยากจะปรบมือให้คนที่ค้นพบว่ามีนกให้ถ่ายภาพ โดยทุกฤดูหนาวมีคนได้นกหายากหลายตัว ผมอาจจะไม่ใช่คนนั้น แต่อย่างน้อยก็ได้นกที่ตามหามาตลอด ปรอดหัวโขน มีที่จอดรถ มีร้านกาแฟ อยู่ไม่ไกลจากถนนและทางด่วน เป็นที่หลับนอนตลอดกาลของชาวแต้จิ๋วที่เข้ามาก่อร่างสร้างตัว มีข่าวลือว่าอีกไม่นานอาจจะมีการขายที่ดินผืนนี้เพื่อสร้างคอนโด และนั่นก็อาจจะทำให้หนึ่งในสถานที่ดูนกของเรานั้นหายไป Red-whiskered bulbul (Pyucononotus jocosus) พบได้ตั้งแต่อินเดีย เนปาล ภูฏาน ตอนใต้และตะวันตกของจีน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของจีน สิงคโปร์ และหมู่เกาะในทะเลอันดามัน ปรอดสวน มี 9 สายพันธุ์ย่อย ในไทยพบ 2 สายพันธุ์ย่อยคือ P.j. pattani ซึ่งเป็นสายพันธุ์ย่อยหลัก ชื่อนั้นคงบ่งบอกว่าพบครั้งแรกที่ไหน กระจายตัวตั้งแต่ภาคเหนือจรดภาคใต้ และ P.j. emeria ที่พบเฉพาะภาคตะวันตกที่ติดกับชายแดนพม่า แตกต่างกันตรงที่มีรอยแต้มสีแดงบนแก้มขนาดใหญ่กว่า นกปรอดในโลกนี้มีทั้งสิ้น 109 สายพันธุ์ ในประเทศไทยพบถึง 36 ชนิด คิดเป็น 1/3 ของนกปรอดที่พบกันทั้งหมด บางชนิดก็เป็นนกน่ารำคาญ เช่นปรอดสวน (steaked bulbul) เพราะจำนวนที่พบเยอะมาก ชวนให้สับสนเวลามองหานกหายากสีน้ำตาลสายพันธุ์อื่น บางชนิดยังพอพบเห็นได้ทั่วไปอย่าง ปรอดหน้านวล ที่มีชื่อตรงตัวเลยว่า yellow vent bulbul ปรอดหัวสีเขม่า (sooty bulbul) ที่มีก้นสีแดง ที่เหลือนั้นก็เป็นนกในป่า ที่เราคงมีโอกาสพบยาก แต่หนึ่งเดียวที่เป็นตำนานคือ ปรอดแม่ทะ (straw-headed bulbul) ในตอนที่ผมดูนกใหม่ๆ มันเพิ่งถูกบรรจุใน Bird guide of Thailand โดยสถานที่ค้นพบแห่งแรกและถูกนำไปตั้งชื่อคือ อ. แม่ทะ จ. ลำปาง ปรอดหน้านวล โดยการเพิ่มชื่อลงไปในคู่มือเล่มนี้ได้ คือต้องมีรายงานที่แน่ชัด ไม่ต่ำกว่า 3 ครั้ง หลังจากนั้นก็แทบไม่มีใครพบเห็นมันอีกเลย เข้าใจกันว่ามันน่าจะอาศัยอยู่ตามป่า ในภาคเหนือของไทย ผมไม่ได้ดูนกมานานก็เลยไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่กลับกลายเป็นว่า ถิ่นอาศัยที่แท้จริงในปัจจุบัน และมีการพบนกชนิดนี้เป็นจำนวนมากคือ คาบสมุทรมาลายา สิงคโปร์ เกาะบอร์เนียว และภาคใต้ของประเทศไทย อ้าวแล้วก่อนหน้า นักดูนกไม่เคยเห็นมันตามป่าภาคใต้หรือไงนะ เรื่องนี้ก็น่าจะสัมพันธ์กับความนิยมนกกรงหัวจุกในภาคใต้ ที่อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้พวกมันไม่เหลืออยู่ตามธรรมชาติ กระทั่งมีนักดูนกไปพบเห็นมันทางภาคเหนือเป็นครั้งแรกแทน ในปี พ.ศ. 2535 มีการประกาศให้นกปรอดหัวโขนเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ที่สามารถแจ้งการครอบครองนกที่มีมาก่อน รวมถึงลูกนกที่เกิดในกรงได้ แต่ก็อย่างที่เล่าไปมันไม่ได้ช่วยอะไร เพราะในระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา นกปรอดหัวโขนที่พบได้ในภาคกลางและเหนือเป็นจำนวนมาก เริ่มหายไป พรบ. สงวนและคุมครองสัตว์ป่า ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2562 และบัญชีรายชื่อแนบท้าย พ.ศ. 2567 แทบจะทำให้นกที่เห็นทุกชนิด กลายเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง แต่กระนั้นในทางการเมืองก็มีความพยายาม ที่จะปลดล็อคนกปรอดหัวโขนออกจากบัญชีรายชื่ออยู่เป็นระยะๆ ปรอดหัวสีเขม่า ความแพร่หลายในการประกวดนกกรงหัวจุก ที่ไม่ได้มีแต่เฉพาะในไทย ทำให้ปรอดแม่ทะถูกล่าเช่นกัน เพราะจัดว่าเป็นราชาของนกกรง ด้วยขนาดตัวที่ใหญ่ น้ำเสียงที่ไพเราะ ที่สำคัญหาได้ยาก ในปี พ.ศ. 2565 การประชุมภาคอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ (cites) เสนอโดยมาเลเซีย สิงคโปร์และอเมริกา กำหนดให้ปรอดแม่ทะ จากเดิมที่อยู่ในบัญชี 2 คือสามารถค้าสัตว์ป่าชนิดนั้นได้โดยการควบคุม เป็นบัญชี 1 คือ เป็นสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ห้ามค้าขายกันโดยเด็ดขาด สอดคล้องกับสถานภาพของนกในธรรมชาติ ในขณะที่ปรอดหัวโขนยังอยู่ในสถานะ LC (less concern) แต่ปรอดแม่ทะอยู่ในสถานะ CR หรือเสี่ยงต่อการสูญพันธ์เป็นอย่างยิ่ง ซึ่งเป็นสถานะสุดท้าย ก่อนที่จะเข้าสู่สถานะสูญพันธุ์ลำดับที่ 1 (EW) คือไม่มีการพบเห็นในธรรมชาติ เหลือเพียงการอยู่ในกรงเลี้ยงเท่านั้น มีสาเหตุมากมายที่ทำให้สัตว์ป่านั้นสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติ สาเหตุหลัก มักมาจากถิ่นที่อยู่อาศัยถูกบุกรุกทำลาย นกปรอดหัวโขนสามารถปรับตัวให้อยู่ในพื้นทีกิจกรรมของมนุษย์ได้ แต่กลับกลายเป็นว่า เสียงร้องไพเราะที่คนได้ยินนั้น กลับกลายเป็นสาเหตุให้พวกมันต้องหายไปจากธรรมชาติเสียเอง
มาชมนกด้วยคราบ
โดย: ทนายอ้วน วันที่: 28 ตุลาคม 2567 เวลา:19:54:47 น.
นกปรอดหัวโขนเสียงคงไพเราะมากนะคะ
ขอบคุณที่ทำให้รู้จักนกชนิดนี้ค่ะ โดย: Sweet_pills วันที่: 29 ตุลาคม 2567 เวลา:0:17:26 น.
ไปเปิดฟังในยูทูป วี๊ดหวี่หวี้วิ้ว
ก็ไม่ค่อยเพราะเท่าไหร่จ้า โดย: หอมกร วันที่: 29 ตุลาคม 2567 เวลา:7:15:59 น.
สวัสดีครับ
ผมเคยถ่ายรูปนกปรอดได้เยอะเลยครับ ไม่แน่ใจว่าพันธุ์อะไรแต่จะมีขนแดงๆแถวๆตา ที่ฮ่องกงมีเยอะมาก ใช้แค่เลนส์ 55-210 (APS-C) ก็ถ่ายได้แล้วเพราะต้นไม้ไม่สูงมากครับ แต่ผมถ่ายอย่างเดียวไม่ค่อยรู้ประวัติหรือนิสัยนกเท่าไหร่ครับ จะมาอาศัยอ่านที่ blog นี้หล่ะครับ โดย: กะริโตะคุง วันที่: 29 ตุลาคม 2567 เวลา:18:40:57 น.
ยินดีที่รู้จักเช่นกันนะคะ
ข้าวผัดซีอิ๊วแบบโบราณสีเข้มสวย ไม่ได้ทำนานแล้ว ขอบคุณไอเดียนะคะ โดย: Sweet_pills วันที่: 1 พฤศจิกายน 2567 เวลา:0:05:08 น.
ที่เชียงใหม่มีมากทีเดียวค่ะ นกปิ๊ดตะริว
โดย: tuk-tuk@korat วันที่: 6 พฤศจิกายน 2567 เวลา:13:09:03 น.
|
BlogGang Popular Award#20
ผู้ชายในสายลมหนาว
บทความทั้งหมด
|