การเก็บไข่ และการปฏิสนธิ
หลาย ๆ คนนึกกลัวการเก็บไข่ เหมือนอย่างดิฉันแน่ ๆ โดยเฉพาะเมื่อหมอที่คลีนิคผู้มีบุตรยากส่งตัวไปเจาะเลือด และทำ x-ray ดูปอด รวมทั้งไปพบกับวิสัญญีแพทย์เพื่อคุยกันเรื่องขั้นตอนการดมยา ซึ่งคุณหมอได้อธิบายว่า จะทำการวางยาคล้าย ๆ ให้หลับไม่ถึงขั้นสลบ และไม่น่ากลัวอย่างที่คิด แต่ขึ้นชื่อว่าเป็นการนำอุปกรณ์/ สิ่งแปลกปลอมเข้าไปดึงบางสิ่งบางอย่างในร่างกายออกมา ก็คงอดที่จึงนึกหวาดหวั่นไม่ได้แน่ ๆ
คุณหมอให้ยาฉีดเพื่อเร่งการตกไข่ อันนี้สำคัญมากที่คุณต้องฉีดให้ตรงตามเวลาที่หมอกำหนด มิฉะนั้น ถ้าไข่ตกก่อน ก็จะใช้การไม่ได้ ความพยายามตลอดระยะเวลาในการฉีดยากระตุ้นไข่ก็จะสูญเปล่าไปเลย เมื่อฉีดยาเรียบร้อย ก็เตรียมตัวไปเก็บไข่กันได้
หมอนัดตอน 7.30 น. ใส่ชุดเข้าห้องผ่าตัด แล้วก็เจอวิสัญญีแพทย์หนุ่ม (หล่อมาก) ก่อน คุณหมอเจาะเข็มใส่น้ำเกลือ ฉีดยา คอยบอกเป็นระยะ ๆ ว่าจะใส่เข็มน้ำเกลือ จะฉีดยาให้เราหลับแล้วนะ คุณหมอเจาะยังไงไม่ทราบ ตอนพยาบาลจับมือเราวางบนเตียง เลือดไหลกราว เราไม่รู้สึกตัวมากนัก เริ่มเบลอ ๆ แล้ว จากนั้น คุณหมอที่รักษาเราก็เข้ามา พร้อมกับทักทาย บอกว่า จะเก็บไข่แล้วนะ แปร๊บเดียว จากนั้น ก็หลับไปเลย
มารู้ตัวอีกที ก็เสร็จสิ้นกระบวนการแล้ว ตลอดเวลา เราไม่ได้รู้สึกเจ็บอะไรเลย หมอให้ยาแก้อักเสบและแก้ปวดมาทาน เมื่อยาเริ่มหมดฤทธิ์ ขอบอกเจ็บมาก ปวดท้องสุด ๆ เราเองเคยผ่านการผ่าตัดส่องกล้อง เพื่อตัดติ่งเนื้อ กับเลาะผังผืดมาแล้ว ยังไม่เจ็บเท่านี้เลยอ่ะ เราร้องไห้เลยตอนกลับบ้านไปแล้ว เพราะปวดท้องมาก
ตอนหลัง เราถึงรู้ว่าทำไมถึงปวดท้องมาก เพราะเรามีไข่เยอะ มีถึง 22 ฟอง ซึ่งหมายความว่า หมอต้องเจาะถุงไข่ไปทีละใบ ๆ เพื่อเก็บ แล้วมันจะไม่เจ็บได้ยังไงเนอะ ตอนนั้น เราไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่ามีอาการของภาวะการกระตุ้นรังไข่มากเกินไป (Ovarian hyperstimulation syndrome - OHS) เรามีอาการตัวบวมเล็กน้อย (มารู้ว่าเป็นตอนใส่ตัวอ่อน ครั้งแรก - ซึ่งเราเชื่อว่าทำให้ไม่ติด) เราท้องอืดมาก รู้สึกทรมาน แต่ก็ไม่คิดว่าเป็นอะไรมากนัก จากนั้น เราก็ไปใส่ตัวอ่อน ปรากฏว่า มารู้ว่า เรามีอาการบวมน้ำภายในตัว แล้วเราก็ปวดท้องตลอด (นึกว่าเป็นอาการใส่ตัวอ่อน) หลังจากนั้น เราเป็นไข้สูงด้วย ถ้าหลังการเก็บไข่แล้ว ลองสังเกตตัวเองด้วยว่า ตัวบวม ๆ ไหม ท้องอืดแบบผิดปกติไหม เพราะมันอาจเป็นอาการของภาวะ OHS ซึ่งถ้าเป็นมากจะทรมานมาก และต้องรับการรักษาด่วน เพราะอาจมีภาวะขาดน้ำ และภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ด้วย
ภาพเครื่องมือการเก็บไข่ เครดิต จากเว็บโรงพยาบาลพญาไท ศรีราชา
หน้าตาไข่ของมนุษย์เรา เห็นแบบนี้ มีเปลือกด้วยนะ
การปฏิสนธิ
เมื่อเก็บไข่เสร็จ คุณหมอจะนำไปใส่หลอดทดลอง ในกรณีที่ทำหลอดแก้วแบบ IVF ก็จะปล่อยให้คุณจิ (ที่ผ่านการคัดกรองมาแล้ว) กับน้องไข่พบเจอกันตามบุญตามกรรมในหลอดทดลองค่ะ แต่ถ้าเป็นการทำ ICSI คุณหมอก็จะคัดเลือกคุณจิที่แข็งแกร่งที่สุด ฉีดจึ๊กใส่เข้าไปในน้องไข่กันเลยทีเดียวเชียว ทำนองคลุมถุงชน จากนั้นก็นำน้องไข่ก็มีการปฏิสนธิไปเลี้ยงในห้องแลป ค่ะ ส่วนใหญ่ก็เลี้ยงกัน 3 วัน หรือถ้าจะให้ดีก็มักจะขุนกันให้ระยะ Blast ซึ่งใช้เวลาประมาณ 5-6 วัน บางทีก็ได้แบบ Early Blast ก็มี กรณีเราตอนใส่ตัวอ่อนครั้งแรก เราใส่แบบ Early Blast ค่ะ แตกตัวงดงามมากมาย เป็นหลายสิบเซลล์ ซึ่งทางการแพทย์เชื่อว่า การใส่ตัวอ่อนระยะ Early Blast และระยะ Blast โอกาสที่จะติดมีสูงมาก เพราะว่าตัวอ่อนพร้อมฝังตัวเต็มที่แล้ว และตัวอ่อนที่ถูกเลี้ยงในห้องทดลองจนรอดถึง 5 วันจะต้องเป็นตัวอ่อนที่มีคุณภาพดีมาก เนื่องจากผ่านกระบวนการคัดกรองทางธรรมชาติมาแล้วเป็นอย่างดี ตัวที่ไปไม่ถึงดวงดาวก็มักจะตายไป และอยูรอดไม่ถึงระยะ Blast ค่ะ ตัวอ่อนในวันที่ 6 ก็จะเตรียมแตกตัวออกจากเปลือกไข่ (มนุษย์เราก็มีเปลือกไข่เช่นกันค่ะ ผู้หญิงเรายิ่งอายุเยอะแล้ว เปลือกไข่จะยิ่งหนา เจาะยากค่ะ) เมื่อแตกตัวออกจากเปลือกแล้วก็จะเกาะที่ผนังมดลูกที่มีความหนาพอเหมาะพอดี เคยหาข้อมูลมาว่า ต้องหนา 9 มิลขึ้นไป จะฝังดีค่ะ
แต่ตอนที่เราใส่ตัวอ่อนแช่แข็ง หมอละลายออกมา แล้วเลี้ยงถึงระยะ Day 3 เท่านั้น เหตุผลคือ กลัวไปไม่รอด แต่หมอก็ปลอบใจด้วยการบอกว่า ไม่มีข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนทางวิทยาศาสตร์ระบุว่า การใส่ตัวอ่อน Day 3 จะไม่สำเร็จมากเท่าการใส่ตัวอ่อน Day 5 และขณะเดียวกัน การใส่ตัวอ่อน Day 5 ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะประสบความสำเร็จมากกว่าคนที่ใส่ตัวอ่อน Day 3 มันขึ้นอยู่กับโชคชะตาของคุณ
ที่น่าสนใจค่ะ ตัวอ่อนจะมีตารางการเติบโตที่ค่อนข้างชัดเจน คือ 1 วันต้องแตกตัวกี่เซลล์ ในกรณีของเรา มีตัวอ่อนบางตัวที่โตเร็วมาก ซึ่งแตกเป็น 8 เซลล์ภายใน 1 วัน คุณหมอบอกว่าโครโมโซมน่าจะผิดปกติ
หน้าตาของไข่ที่ปฏิสนธิแล้ว 3 วัน แตกตัวเป็น 8 เซลล์
ตัวอ่อนระยะบลาส (Day 5) ซึ่งพร้อมจะฝังตัวใน 1-2 วัน