ประโยชน์ของน้ำมันมะพร้าว ในเรื่องสุขภาพ










ประโยชน์ของน้ำมันมะพร้าวในเรื่องสุขภาพ
สุขภาพที่ดีของมนุษย์ ขึ้นอยู่กับสถานภาพ 4 ประการ คือ

1. การรักษาสุขภาพให้แข็งแรง

จากบทบาททางสรีรวิทยาของน้ำมันมะพร้าวที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ทำให้ผู้บริโภคน้ำมันมะพร้าวมีสุขภาพดี แข็งแรง เพราะได้พลังงานทันทีที่บริโภคน้ำมันมะพร้าว นอกจากนั้น น้ำมันมะพร้าวยังมีคุณทางอาหาร โดยเฉพาะวิตามิน และเกลือแร่ ที่ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง อีกทั้งยังช่วยเพิ่มคุณค่าของอาหารโดยการเพิ่มการดูดวิตามิน เกลือแร่ และกรดอะมิโน เนื่องจากน้ำมันมะพร้าวเป็นโมเลกุลขนาดเล็ก จึงถูกย่อยง่าย และเคลื่อนที่เร็วไปตามของเหลวในร่างกาย จึงเป็นที่นิยมใช้หุงต้มอาหารสำหรับคนไข้ที่มีปัญหาการย่อยไขมัน และยังใช้ในสูตรน้ำนม เพื่อให้ไขมันที่จำเป็นแก่เด็กทารก และช่วยในการดูดซึมแคลเซียม และแมกนีเซียม ซึ่งจำเป็นสำหรับการพัฒนากระดูก

2. ช่วยให้ปลอดจากโรคไม่ติดเชื้อ

โรคไม่ติดเชื้อที่ น้ำมันมะพร้าวมีส่วนในการลดอัตราการเกิด ได้แก่

2.1 โรคหัวใจ : จากผลการวิเคราะห์พบว่า น้ำมันมะพร้าวมีคอเลสเตอรอล 0% ซึ่งน้อยกว่าน้ำมันถั่วเหลือง ซึ่งมี 28 ส่วน และที่สำคัญคือ เมื่อบริโภคน้ำมันมะพร้าวเข้าไป ในร่างกาย ก็ไม่ได้เปลี่ยนเป็นคอเลสเตอรอลในกระแสโลหิต อีกทั้งยังไม่ได้ทำให้หลอดเลือดแข็งตัวเหมือนกับน้ำมันพืชประเภทไม่อิ่มตัว เช่นน้ำมันถั่วเหลืองที่ถูกเติมไฮโดรเจน (hydrogenate) ในขบวนการผลิต และถูกเติมออกซิเจน (oxidize) ระหว่างเดินทางก่อนถูกบริโภค จนเกิดเป็นtrans fatty acids ซึ่งเป็นตัวการทำให้เกิดลิ่มเลือด และไปอุดตันหลอดเลือด นอกจากนั้นน้ำมันมะพร้าวยังมีวิตามินอีที่ช่วยขยายหลอดเลือดและป้องกันการแข็งตัวของหลอดเลือดที่เป็นสาเหตุของโรคหัวใจ นักโภชนาการสมัยใหม่จึงสรุปว่า น้ำมันมะพร้าวช่วยทำให้หัวใจมีสุขภาพดี เพราะเป็นหนึ่งในสองชนิดของน้ำมันบริโภค ซึ่งช่วยลดความหนืด (stickiness) ของเลือดที่เป็นสาเหตุของโรคหัวใจ

2.2 โรคมะเร็ง : น้ำมันมะพร้าวมีประสิทธิภาพในการป้องกันไม่ให้เกิดโรคมะเร็ง ด้วยกลไก 2 วิธี คือ

(1) เนื่องจากเป็นน้ำมันประเภทอิ่มตัวจึงไม่ถูกเติมไฮโดรเจน (hydrogenate) และแตกตัวเมื่อถูกกับอุณหภูมิสูง

(2) มีวิตามินอีช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระที่เป็นสาเหตุของการกลายพันธุ์ของยีน เกิดเป็นเซลล์มะเร็ง และการทำร้ายเซลล์ การใช้น้ำมันมะพร้าวชโลมตัว ก็ช่วยป้องกันมะเร็งผิวหนังได้ดีกว่ายาทากันแดดราคาแพง

2.3 โรคอ้วน : โรคอ้วนนั้นมีความสัมพันธ์กับสภาพต่าง ๆ เช่น การมีไขมันในเลือดสูงเป็นโรคเบาหวานมีความดันโลหิตสูง เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด ตลอดจนโรคข้ออักเสบ ภาวะหยุดหายใจ ขณะหลับ ฯลฯ การบริโภคน้ำมันมะพร้าวจะช่วยทำให้ร่างกายเกิดความร้อนสูง (ในขบวนการ thermogenesis) ทำให้ร่างกายมีอัตราการเผาผลาญอาหาร หรือเมตาบอลิซึม (metabolism) สูงเกิดเป็นพลังงานสำหรับใช้ในการดำรงชีวิต อีกทั้งยังช่วยทำลายไขมันที่ร่างกายสะสมอยู่ นำไปใช้เป็นพลังงาน ดังนั้น ผู้บริโภคน้ำมันมะพร้าวเป็นประจำจึงไม่อ้วน

2.4 โรคเบาหวาน : ผลพลอยได้ของการเพิ่มอัตราการเผาผลาญอาหารให้เป็นพลังงานจากการบริโภคน้ำมันมะพร้าวทำให้ร่างกายไม่สะสมน้ำตาล เพราะถูกใช้ไปเป็นพลังงานหมด อีกทั้งยังไม่ทำให้ผู้ป่วยอยากรับประทานอาหารที่เป็นแป้งหรือน้ำตาล จึงช่วยลดอัตราการเกิดโรคเบาหวานไปได้โดยปริยาย

2.5 โรคปวดเมื่อย โรคชราภาพก่อนวัย โรคมะเร็งผิวหนัง และโรคกระดูก : น้ำมันมะพร้าวเป็นน้ำมันที่ถูกดูดซึมเข้าทางผิวหนังได้ดี เพราะมีขนาดของโมเลกุลเล็กจึงนิยมใช้นวดตัวให้หายปวดเมื่อย และผ่อนคลายความเครียด อีกทั้งยังปกป้องการทำลายของแสงอัลตราไวโอเลตที่ทำให้ผิวหนังเหี่่ยวย่นแก่ก่อนวัย และเป็นมะเร็งผิวหนัง ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการของกระดูกให้แข็งแรง แพทย์แผนไทยจึงนิยมนำน้ำมันมะพร้าว มาประกอบเป็นสูตรยาแผนโบราณในการรักษาโรคที่เกี่ยวกับกระดูก อันเนื่องมาจากการประสบอุบัติเหตุ

3. ช่วยให้ร่างกายปลอดจากโรคติดเชื้อ

จุลินทรีย์ที่เป็นเชื้อโรคเป็นสาเหตุของโรคของมนุษย์มากมายเหลือคณานับ แต่ก็แปลกที่เด็กทารกแรกคลอดที่ดูดน้ำนมมารดาเป็นประจำมักไม่ค่อยเป็นโรคเหล่านี้ ทั้งนี้ก็เพราะมีภูมิคุ้มกันที่ได้มาจากน้ำนมมารดา ได้มีการค้นพบว่าสารสำคัญในนมน้ำเหลือง (cholostum) ของมารดานี้ คือ กรดลอริก ซึ่งเมื่อเข้าไป ในร่างกายก็เปลี่ยนไปเป็นสารโมโนลอริน ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นสารปฏิชีวนะนั่นเอง ผลการวิเคราะห์องค์ประกอบของน้ำมันมะพร้าวพบว่ามีกรดลอริกสูงมากถึง 48-53% ซึ่งมากกว่าในน้ำนมมารดามาก ในปัจจุบันวงการแพทย์สมัยใหม่ได้แนะนำให้ประชาชนกินยาเม็ดที่มีโมโนลอรินเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันโรค

4. การรักษาโรค

จากการที่น้ำมันมะพร้าวมีคุณสมบัติเป็นยาฆ่าเชื้อ และสามารถถูกดูดซึมเข้าไปในร่างกายได้ดี และรวดเร็ว ตำราอายุรเวทของอินเดียจึงได้ใช้น้ำมันมะพร้าวรักษาโรคมาไม่ต่ำกว่า 4,000 ปี แพทย์แผนไทยก็ได้ใช้น้ำมันมะพร้าวรักษาโรคทั้งภายในและภายนอกมาเป็นเวลาช้านาน เช่น ในตำราพระโอสถพระนารายณ์ ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาได้ใช้น้ำมันมะพร้าวเป็นยานวดแก้ปวดเมื่อย ยารักษาโรคกระดูก ยารักษาแผลเน่าเปื่อย ส่วนตำราแพทย์แผนไทยในปัจจุบันก็แนะนำให้ใช้น้ำมันมะพร้าวรักษาโรคกระดูกที่เกิดจากอุบัติเหตุ รักษา เม็ดผดผื่นคัน ลบริ้วรอย แผลฟกช้ำ ซ่อมแซมส่วนสึกหรอ และป้องกันแสงแดด และความร้อน แม้กระทั่งแพทย์แผนปัจจุบันชาวตะวันตก ก็ให้คนไข้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการย่อยอาหารหรือการดูดซึมอาหาร เด็กทารกรวมทั้งเด็กเล็กที่ไม่สามารถย่อยไขมัน กินน้ำมันมะพร้าวเป็นยารักษาโรค ศักยภาพของน้ำมันมะพร้าวในการรักษาโรคมีดังนี้

4.1 โรคที่เกิดจากการติดเชื้อต่าง ๆ เชื้อโรคที่กรดลอริกในน้ำมันมะพร้าวสามารถทำลายได้ ได้แก่ เชื้อแบคทีเรีย เชื้อราและยีสต์ เชื้อโปรโตซัว และเชื้อไวรัส โมโนลอรินหรือสารปฏิชีวนะในน้ำมันมะพร้าว มีจุดเด่นสองประการ คือ ไม่ทำให้เกิดการดื้อยาของเชื้อโรค และสามารถฆ่าเชื้อโรคบางชนิดที่มีเกราะไขมันห่อหุ้มเซลล์ ที่ยาปฏิชีวนะธรรมดา ไม่สามารถฆ่าได้ แต่น้ำมันมะพร้าว สามารถละลายเกราะไขมันนี้ได้ แล้วจึงเข้าไปฆ่าเชื้อโรคเหล่านี้ เท่าที่ได้มีการวิจัยพบว่า เชื้อโรคที่มีเกราะไขมันห่อหุ้มนี้เป็นโรคร้ายในปัจจุบันที่รักษายากมาก เพราะทำลายมันไม่ได้ อย่างดีก็หยุดไม่ให้มันขยายพันธุ์โรคเหล่านี้ เช่น ไวรัสโรคเอดส์ โรค SARS ซึ่งได้ผลเป็นที่น่าพอใจ และกำลังมีการทดลองเพิ่มเติมเพื่อยืนยันผล


น้ำมันมะพร้าว มีฤทธิ์ในการป้องกันและรักษาโรคติดเชื้อ โดยผ่านกรรมวิธี 2 ประการคือ

1.สร้างภูมิคุ้มกันโรค

น้ำมันมะพร้าว มีกรดลอริก(Lauric aicd) ที่เปลี่ยนเป็นสารโมโนลอริน(momolaurin) ในร่างกาย ช่วยป้องกันโรคติดเชื้อ (DAyrit 2000) น้ำมันมะพร้าวจึงทำหน้าที่เป็นสารปฎิชีวนะต่อต้านกับเชื้อโรค และไม่ทำให้เกิดการดื้อยาของเชื้อโรคดังเช่นยาปฎิชีวนะทั่วไป
กรดลอริกในน้ำมันมะพร้าวเป็นสารตัวเดียวกันกับที่มีอยู่ในนมน้าเหลือง(colostrum) ของมารดา ที่ช่วยสร้างระบบภูมคุ้มกันโรคได้ ดังนั้น ทารกมักจะไม่เป็นโรคใด ๆ ในระหว่างที่ดูดนมมารดา น้ำมันมะพร้าว มีกรดลอริกสูงถึง 50 % ซึ่งสูงกว่าที่มีในน้ำนมมารดา ซึ่งมีเพียง 3 %

2.ฆ่าเชื้อโรค

นอกจากจะสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกายแล้ว น้ำมันมะพร้าวยังสามารถมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรค ทั้งที่เป็นแบคทีเรีย เชื้อรา ยีสต์ โปรโตซัว และแม้กระทั่งไวรัส (Enig 1999, Kabara 1978) ยกตัวอย่างเช่น

:- ฆ่าแบคทีเรีย ที่เป็นสาเหตุของโรคกระเพาะ (Helicobacter pyroli) โรคไซนัส โรคทางเดินปัสสาวะ โรคฟันผุ โรคปอดบวม โรคหนองใน และโรคอื่น ๆ

:- ฆ่าเชื้อราที่ทำให้เกิดโรคกลาก โรคฮ่องกงฟุต

:- ฆ่าเชื้อยีสต์ที่เป็นสาเหตุของอาการตกขาวในช่องคลอด ที่เกิดจากเชื้อยีสต์ที่ชื่อ Candida albicans

:- ฆ่าเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของไข้หวัดใหญ่ คางทูม โรคเริม โรคหวัดนก hepatitis C และแม้กระทั่ง HIV ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคเอดส์


ความพิเศษในการฆ่าเชื้อโรคของน้ำมันมะพร้าว


1.ฆ่าเฉพาะเชื้อที่มีไขมันเป็นเกราะหุ้มเยื่อบุเซล : เนื้องจากเป็นไขมันประเภทหนึ่ง น้ำมันมะพร้าวจึงมีคุณสมบัติพิเศษในการละลายไขมันที่เชื้อโรคบางประเภท เช่น แบคทีเรีย และไวรัส ที่มีไขมันเป็นเกราะหุ้มเยื่อ (lipid-coated membrane) ของเซล

2.ไม่ฆ่าเชื้อที่เป็นประโยชน์ : น้ามันมะพร้าวไม่ทำอันตรายต่อจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ เช่นแบคที่เรียในลำไส้

3.ไม่เกิดการดื้อยา : น้ำมันมะพร้าวไม่ก่อให้เกิดการดื้อยาของเชื้อจุลินทรีย์ดังเช่น
ยาปฎิชีวนะ ซึ่งมักจะก่อให้เกิดการดื้อยา ทำให้ต้องใช้ในความเข้มขันที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ และในที่สุดก็ใช้ไม่ได้ผล

4. ไม่เป็นพิษต่อร่างกาย : แม้ว่าน้ำมันมะพร้าวจะมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรคได้ แต่น้ำมันมะพร้าว ก็ไม่เป็นอันตรายต่อระบบต่าง ๆ ในร่างกายของมนุษย์แต่อย่างใด



4.2 โรคผิวหนัง ผิวหนังที่ถูกอนุมูลอิสระเข้าทำลาย หรือจากการถูกทำร้าย จนเกิดเป็นแผลที่เชื้อโรคจะเข้าทำลายต่อโมโนลอริน ในน้ำมันมะพร้าวซึ่งเป็นสารปฏิชีวนะจะช่วยกำจัดเชื้อโรคเหล่านี้

4.3 รังแคหนังศีรษะ น้ำมันมะพร้าวมีสารปฏิชีวนะที่ทำลายเชื้อโรคที่ทำให้เกิดรังแค หากชโลมผมด้วยน้ำมันมะพร้าวจะช่วยรักษารังแคหนังศีรษะได้



ที่มาของบทความ

เรื่อง "บทบาทของนำมันมะพร้าวต่อสุขภาพ และความงาม"
มหัศจรรย์น้ำมันมะพร้าว

โดย ดร.ณรงค์ โฉมเฉลา



Create Date : 14 ธันวาคม 2554
Last Update : 15 ธันวาคม 2554 3:49:30 น.
Counter : 3076 Pageviews.

0 comments

Newyorknurse.BlogGang.com

newyorknurse
Location :
ราชบุรี .. New York ...   United States

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 164 คน [?]

บทความทั้งหมด