ชีวิตริมคลองก่อนใช้ถนนสัญจร


โดย...Insignia Museum

เมื่อขุดคลองดำเนินสะดวกเสร็จเรียบร้อยในปี พ.ศ. 2411 ความเจริญทางน้ำที่สะดวกสบาย ได้นำผู้คนเข้ามาทำมาหากินที่นี่มากขึ้น ชาวจีนจะอยู่ที่ราบลุ่มริมน้ำ ค้าขาย ทำสวนผัก ส่วนชาวไทย ชาวมอญ และชาวไตทรงดำ จะอยู่ในที่ดอนปลูกข้าวทำนา
ในสมัยรัชกาลที่ 5 คลองดำเนินสะดวกเจริญมาก สินค้าจำพวกพริกแห้ง หอม กระเทียม ในพระนคร ล้วนมาจากที่นี่ทั้งสิ้น คลองดำเนินสะดวกเป็นเส้นทางคมนาคมค้าขายที่สำคัญยิ่ง แห่งหนึ่งของเมืองไทย ทำให้ชาวบ้านมีฐานะดีกันทั่วหน้า อาจกล่าวได้ว่า คนที่นี่เป็นผู้ผลิตอาหารหล่อเลี้ยงคนเมืองหลวงมาร้อยกว่าปีแล้ว



ภาพคุณยายของผู้เขียน (ซ้าย)


เชื้อชาติที่มาตั้งรกรากริมน้ำ คือ คนจีน 2 กลุ่ม
กลุ่มแรก อพยพมาเมื่อสมัยเริ่มต้นของกรุงรัตนโกสินทร์ ชาวจีนกลุ่มนี้มากับเรือสำเภาแดง อั่งถ่าวจุ๋น หลังจากมาถึงเมืองไทยแล้ว พวกเขาได้พาสมัครพรรคพวกมาตั้งถิ่นฐานที่ดำเนินสะดวก น่าจะมาทางบางนกแขวก ชุมชนใหญ่อยู่ที่หลักแปด พวกเขาจัดตั้งสมาคมดูแลทุกข์สุขของกันและกัน เรียกว่าสมาคม ป๋อฮั้วหลีกี่ได้สร้างศาลเจ้ากวนอูไว้สำหรับสักการะ เรียก ศาลเจ้าโจ้วฉู่ และเป็นที่ประชุมกันของสมาชิกไปด้วย



ศาลเจ้าแห่งนี้ผู้เขียนรู้จักดีมาก เพราะเป็นสถานที่ที่ผู้เขียนได้อาศัยเรียนรู้ กอ ขอ กอกา ในชั้นอนุบาลของโรงเรียนวิชิตผดุงศึกษา จนมีความรู้มาถึงทุกวันนี้ มารู้เอาตอนโตแล้วว่าตัวเองเคยเล่าเรียนในหอประชุมของพวกอั้งยี่ใหญ่ของชาวจีนแต้จิ๋ว ซึ่งมีสมาชิกจำนวนมากจากชุมชนชาวจีนลุ่มแม่น้ำภาคกลางของไทยหลายจังหวัด

คนจีนอีกกลุ่มหนึ่ง ไม่มีประวัติ ที่มาที่ไปชัดเจนนัก รู้แต่ว่าเป็นกุลีขุดคลอง หรือพวกรับจ้างสร้างทางรถไฟ ผู้เขียนเข้าใจว่าน่าจะเป็นคนขุดคลองดำเนินสะดวกด้วย
คนจีนทั้งสองกลุ่มจะยึดอาชีพทำสวน หรือค้าขาย และมักอาศัยที่ริมน้ำชายคลองเป็นหลัก

จึงกล่าวได้ว่า คนดำเนินฯ ส่วนใหญ่จึงเป็นลูกหลานของคนจีนที่อพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในตอนต้นสมัยรัตนโกสินทร์ ส่วนใหญ่เป็นแต้จิ๋วและฮกเกี้ยน ตระกูลลิ้มหรือแซ่ลิ้ม เป็นตระกูลใหญ่ตระกูลหนึ่งในคลองดำเนินสะดวก นอกจากนี้ก็มีอีกหลายตระกูล เช่น แซ่ลี้ แซ่เล้า แซ่แต้ แซ่ฮู้ แซ่เฮ้า แซ่โง้ว แซ่บู๊ แซ่เฮ้ง ฯลฯ




พ่อ-แม่และคนรู้จักเป็นใครบ้างก็จำไม่ได้แล้ว



สำหรับตระกูลของผู้เขียน ด้านคุณพ่อ ใช้แซ่ "ฮู้" บรรพบุรุษอพยพมาจากเกาะไหหลำ นอกจากทำสวนแล้ว ยังชำนาญการต่อเรือสัมปั้น หรือเรือที่ใช้พายในคลองด้วย ด้านคุณแม่ ใช้แซ่ "เล้า" ชาวสวนขนานแท้ของรางนายร้อย
คนดำเนินฯ ชอบให้คนยกย่อง ใครทักทายก่อนจะชอบมาก คนที่ชอบทักทายก่อน จะเรียกว่า "คนปากหวาน" คนที่นี่จะถือศักดิ์ในลำดับญาติ หากเรียกขานกันได้ถูกต้องแล้ว ผู้ถูกเรียกจะภูมิอกภูมิในเป็นนักหนา หากลำดับญาติผิดเมื่อไหร่ ผู้ถูกเรียกจะงอนไป 5 วัน 7 วันทีเดียว เพื่อตัดปัญหานิ้ คุณพ่อของผู้เขียนจะเรียกผู้หญิงที่อายุอ่อนกว่า และมีสามีแล้วว่า “ซ้อ” ทุกคน


การผลิตทางเกษตรกรรม

พื้นที่ดินริมคลองดำเนินสะดวก เป็นพื้นที่ราบลุ่ม เต็มไปด้วยกอหญ้า ดงไผ่ พื้นที่ริมคลองจะกลายเป็นที่ปลูกที่อยู่อาศัย หรือสวนผักตามแบบคนจีน คือแต่ละสวนมีคันดินยกสูงเพื่อป้องกันน้ำท่วมในหน้าน้ำหลาก ภายในสวน จะยกร่องกว้าง ขนาด 3-4 เมตร และยาวไปตามความยาวของแต่ละสวน มีน้ำหล่อเลี้ยงตลอดทุกร่อง การทำสวนแบบคนจีนจะถอนหญ้าทุกต้นอย่างเกลี้ยงเกลา ภายในแปลงผักจะไม่มีพืชอื่นๆแซมได้เลย จะถอนหญ้าที่เข้ามาแซมจนหมดสิ้น หากพบการทำสวนแบบนี้ที่ไหน ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเจ้าของสวนมาจากดำเนินสะดวก

บนคันดินรอบสวนจะปลูกพวกมะม่วง มะพร้าว กล้วยน้ำว้า ชมพู่ และพืชสวนครัว เช่น โหระพา มะกรูด ตระไคร้ ในร่องน้ำจะมีสายบัว สำหรับต้นกล้วยน้ำหว้าและมะม่วงนั้น รากของมันจะช่วยไม่ให้คันดินกั้นน้ำพัง และลำต้นกำบังลมได้ดี การรดน้ำผักในร่องสวน จะใช้เครื่องมีที่เรียกว่า “ขนาด” ทำด้วยไม้ไผ่สาน คล้ายอุ้งมือขนาดใหญ่ที่จ้วงลงน้ำและวิดขึ้นฝั่ง ชาวสวนจะท่องไปตามท้องร่อง และวิดน้ำสลับกันไปซ้ายขวา เมื่อมีเครื่องยนต์วิดน้ำทุ่นแรง ฉีดน้ำพร้อมกัน 2 ข้าง เครื่องวิดน้ำวางบนเรือขนาดเล็กและชาวสวนจะลุยเข็นเรือเครื่องไปตามร่องน้ำ ท่องไปตามดินโคลนด้วยเท้าเปล่า เสร็จสิ้นภาระกิจแต่ละครั้งจะได้รอยแผลกลับมาจนเป็นเรื่องปกติ ยังสงสัยมาจนถึงทุกวันนี้ว่า ทำไมพวกเขาไม่หาวิธีที่ดีกว่านั้น



แต่ละขนัดสวน จะมีโรงระหัด วิดน้ำเข้า หรือ ออกจากสวน มีเครื่องยนต์ฉุดระหัดตัวใหญ่มาก เวลาติดเครื่องจะต้องใช้ที่หมุนล้อ ควงจี๋ แล้วหักเพลา เครื่องจึงทำงาน เพื่อลากจูงระหัดวิดน้ำเข้าสวนด้วยเลียงดังปานฟ้าถล่ม ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าเครื่องยนต์เหล่านี้ก่อนมาเป็นเครื่องฉุดระหัดของชาวสวน เขาใช้ทำอะไรมาก่อน

ชาวสวนมักไม่ได้เป็นพ่อค้า ต่อรองราคาไม่เก่ง ผลผลิตที่ได้นอกจากจะขายแลกเปลี่ยนกันที่ตลาดน้ำแล้ว ยังมีพ่อค้าไปรับถึงที่ โดยบรรจุเข่งขนาดใหญ่ เช่น มะละกอ มะเขือ ถั่วฝักยาว หอม กระเทียม เมื่อบรรจุเต็มเข่ง จะมีน้ำหนักราว 50-70 กิโลกรัม ส่วนใหญ่จะต้องล่องเรือมาส่งที่ท่ารถบรรทุกไปขายตามที่ต่างๆ เช่น ที่ปากคลองตลาด, แม่กลอง หรือในตัวจังหวัดราชบุรี

ในราว 30-40 ปีมาแล้ว ชาวสวนนิยมปลูกกล้วยไข่ ในระหว่างที่กล้วยไข่ยังไม่มีผลผลิตนั้น จะต้องบนบานศาลกล่าวไม่ให้มีลมแรงพัดเข้ามา หากมีลมแรงๆน้องๆพายุอาจทำให้ต้นกล้วยหักเสียหายได้ แต่สิ่งที่น่ากลัวกว่าลม คือนักเลงขโมยกล้วย ดูแล้วไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นไปได้ ขโมยจะต้องแข็งแรงมาก สามารถตัดกล้วยแล้วแบกหลบเจ้าของ บางสวนต้องปลูกกระท่อมในดงกล้วยเฝ้ากันทั้งวันทั้งคืน เมื่อกล้วยให้ผลแล้ว เราชาวสวนจะตัดออกเป็นหวีๆ แล้วล่องเรือไปขายกันที่บางแค กรุงเทพฯ


ตลาดน้ำคลองลัดพลี ถ่ายตอนบ่าย น่าจะ พ.ศ. 2514


การค้าชุมชนริมน้ำ
ส่วนใหญ่จะมีตลาดนัดกันช่วงครึ่งวันเช้า มักจะอยู่ที่ปากคลองสำคัญๆ ยุดแรกจะอยู่ที่คลองดำเนินสะดวก ระหว่างปากคลองลัดพลียาวไปถึงปากคลองทองหลาง เมื่อมีเรือติดเครื่องสัญจรไปมามากขึ้น ทำให้มีคลื่นน้ำรบกวน เรือที่ค้าขายในคลองใหญ่ต้องหลบไปในคลองลัดพลี ยุคที่สองจะอยู่ที่คลองลัดพลี สิ้นสุดยุคที่สองเมื่อคนหันไปใช้ถนนกันมากขึ้น ยุคสุดท้ายคือ ปี 2528 ตลาดน้ำคลองต้นเข็ม หรือตลาดน้ำในปัจจุบัน

ผักผลไม้ที่แต่ละสวนนำไปขายนั้น จะเป็นผลไม้ตามฤดูกาล เช่น มีนาคม ถึงพฤษภาคม จะมีมะม่วงออกมาก ตลาดน้ำก็จะเต็มไปด้วยมะม่วง ผลผลิตที่แปลงจากมะม่วงสุกมีเพียงอย่างเดียวคือมะม่วงกวน นอกจากมีผลไม้จากท้องถิ่นดำเนินฯเองแล้ว ยังมีผลไม้มาจากถิ่นอื่นๆ เช่น เงาะ ลิ้นจี่ ทุเรียน

ผลไม้ที่เคยปลูกที่ดำเนินสะดวก ก็มี พุทราขนาดเล็ก พุทราแหลมทอง กล้วยหอม กล้วยไข่ มะละกอ ส้มโอ ส้มเขียวหวาน ส้มตรา (ส้มกา) องุ่น ละมุด ชมพู่ น้อยหน่า พุทรา มะพร้าว มะกอก มะยม มะเฟือง ฝรั่งเวียดนาม ฯลฯ ส่วนกล้วยน้ำว้าจะใช้ปลูกเพื่อกันคันดินพังมากกว่าปลูกเพื่อขาย พวกเราไม่เคยอยากกินกล้วยน้ำว้า เป็นผลไม้ที่คิดถึงอันดับสุดท้าย เมื่อโตแล้ว ก็ยังไม่ชอบอยู่ดี

ระยะหลัง พืชผักเริ่มมีการปลูกน้อยลง เพราะตัวแมลงรบกวนมาก ปลูกแล้วเก็บมาขายมักจะไม่ค่อยคุ้มทุน ทำให้เลิกปลูกกันไป ผักที่ชาวสวนดำเนินฯปลูกมานานแล้วก็เริ่มหายไปก็คือ หอมแดง กระเทียม ผักชี คื่นช่าย กะหล่ำปลี ผักกาดขาว แตงกวา แตงร้าน แตงโม ฟัก แตงไทย อ้อย ฟักทอง ข้าวโพด พริก ถั่วแระ ถั่วลิสงฯลฯ

ชาวสวนจึงหันมาปลูกผลไม้ยืนต้นกันมากขึ้น ผลไม้ยืนต้นที่นิยมปลูกคือ มะม่วง เป็นที่น่าเสียดายที่ปัจจุบันมะม่วงก็กำลังจะหายไปจากดำเนินฯ โดยเฉพาะมะม่วงอกร่อง ที่มีรสหวานสนิท เดี๋ยวนี้ต้นมะม่วงเป็นโรคตายไปมาก หรือไม่ก็ถูกโค่นลงเพื่อไปปลูกพืชอย่างอื่นแทน

ถ้าเปรียบเทียบมะม่วงอกร่องกับที่อื่นๆ แล้ว รสชาติของมะม่วงอกร่องของสวนดำเนินฯกินขาด ถ้ารับประทานกับข้าวเหนียวมูล เรียกว่ากินกันเพลินเลยทีเดียว มะม่วงที่ดำเนินฯมีหลายพันธุ์ เช่น อกร่อง หนังกลางวัน ตลับนาค ทองคำ การะเกด ทุเรียน ลิ้นงูเห่า น้ำดอกไม้ สาริกา เขียวไข่กา น้ำตาลปากกะบอก กลิ่นมูลใต้ ไอ้ฮวบ แก้ว สามฤดู สังขยา หนังกลาย ม่วงกลาย แรด เขียวเสวย อกร่องกะทิ อกร่องเขียว กาละแม แหม่มแก้มแดง มะม่วงที่กลายพันธุ์จะเหมารวมเรียกว่ามะม่วงเบ็ดเตล็ด

การรับจ้างแรงงานชุมชนริมน้ำ
ลูกชาวสวนอายุสัก 10 ขวบก็เริ่มช่วยงานของพ่อแม่ได้แล้ว บางคนปีกกล้าขาแข็งไปรับจ้างบ้านอื่นเก็บผักก็มี งานสวนบางอย่างสามารถใช้แรงงานของสมาชิกภายในครอบครัวได้ เช่น การใส่ปุ๋ย รดน้ำ ถอนหญ้า งานบางอย่างต้องใช้แรงงานหลายคนทำพร้อมกันในวันเดียว เช่น การพวนดินปลูกผักครั้งแรก หรือการโกยดินขึ้นร่องสวน การแบกหามผักออกจากร่อง ซึ่งต้องใช้พละกำลังมาก เจ้าของสวนจะต้องติดต่อหัวหน้าแรงงาน ที่เราเรียกกันว่า “เท้า” ระดมกำลังพล กันเป็นครั้งๆไป การจ้างแรงงานจำนวนมากจะคิดค่าจ้างรายวัน ในราวปี 2510-2515 แรงงานผู้หญิงจะตกราว 15 บาท แรงงานชาย 20 บาท เจ้าของสวนจะต้องเลี้ยงข้าวกลางวันให้กับแรงงานทั้งหญิงและชาย หากเป็นแรงงานชาย เช่น โกยดิน หรือแบกหามผักจากร่องสวน จะแถมข้าวต้นช่วงบ่ายสามโมงอีกรอบหนึ่ง


การบริโภค

หากเป็นชาวสวนจะปลูกผักสวนครัวไว้ที่คันดินรอบสวน จะเผื่อแผ่พืชผักสวนครัวนี้ให้กับครอบครัวที่ไม่มีที่ดินด้วย เมื่อยังไม่มีไฟฟ้าใช้ จะหุงข้าวด้วยเตาถ่านและดงน้ำออกจากหม้อลงใต้ถุน ในครัวจะปูพื้นด้วยไม้ไผ่ เรียกว่า “ฟาก” และกินข้าวกันในครัวนี้ การทำกับข้าวหรือปรุงอาหาร เขาอาจตกปลามาจากลำคลอง หรือใช้สวิงช้อนมา สำหรับเนื้อหมูอาจไม่ได้กินทุกวัน หรือวันเว้นวัน หากนึกเมนูไม่ออก ก็ตำน้ำพริกถ้วยหนึ่ง หุงข้าวหม้อหนึ่ง และลงไปเก็บผักในสวนมาจิ้มน้ำพริก เมื่อกินข้าวกินปลาแล้ว จะล้างถ้วยชามกันในคลองหน้าบ้านนั้นเลย

ช่วงหน้าน้ำหลาก น้ำจะท่วมได้ถุนบ้านเป็นเดือน มีปลาหลายชนิดว่ายกันมากมาย ทั้งปลาสร้อย ปลาซิว ปลาชนิดหนึ่งที่ตะกละมาก เราเรียกว่า ปลา “อ้าว” กินไม่เลือกแม้แต่อุจาระของคน ปลาชนิดนี้มีมาก แต่ชาวบ้านไม่ยอมกินมัน ส่วนใหญ่จะกิน ปลาช่อน ปลากราย ปลาเนื้ออ่อน ปลาตะเพียนขาว ปลาสลิด ปลาดุก มีอีกชนิดหนึ่งที่ชอบตอดขาคนเวลาอาบน้ำในคลอง เด็กๆอย่างเราเรียกว่าปลาโอกุ้ย ตัวสีเทาๆ เราไม่กินปลาพวกนี้เลย ส่วนปลาตะเพียนแดง ชาวบ้านก็ไม่กิน ด้วยข้อหาเดิมๆ ว่าชอบกินของสกปรก

อาหารที่ผ่านการหมักดอง ไม่มีวันหมดอายุ เป็นที่ชื่นชอบของชาวบ้านมาก ได้แก่ หอยแมลงภู่ดอง รสจี๊ดจ๊าด กุ้งจ่อมที่ทำจากกุ้งตัวเล็กหมักมีกลิ่นรุ่นแรงมาก ของดองพวกนี้ต้องกินกับหอมแดง, ตะไคร้และข้าวสวย อีกอย่างหนึ่งคือปูดอง นี่ก็เป็นอาหารสูตรเด็ดของคนที่นี่ คนเก่าแก่ที่ไปอยู่ถิ่นอื่น หากได้กลับมาดำเนินฯจะแสวงหาของกินเหล่านี้ ซึ่งยังมีขายกันที่ตลาดท่ารถดำเนินฯ

การคมนาคม
การเดินทางในคลองดำเนินสะดวก หรือคลองใหญ่จะมีเรือเมล์ หรือเรือหางยาว เปลี่ยนไปตามแต่ยุคสมัย หากต้องการความเป็นส่วนตัวก็เหมาเรือสองตอน รูปทรงเหมือนเรือหางยาวขนาดสั้น มีที่นั่งแค่ 2 ช่อง คิดราคาตามแต่ตกลงกัน ซึ่งเรือแบบนี้มักจะคาบดัวยเครื่องยนต์ที่มีกำลังดี เช่น โตโยต้า คงเป็นเครื่องยนต์ที่เคยใช้ในรถยนต์มาก่อน
ทุกครอบครัวริมน้ำจะต้องมีเรือพายอย่างน้อย 1 ลำ คือเรือสำปั้น หรือเรือแปะขนาดเล็ก ยกเว้นบ้านที่ปลูกริมคลองใหญ่ที่เดินถึงกันหมด เรือก็อาจไม่จำเป็น
เมื่อความเจริญคืบคลานมาทางบกเรื่อยๆ เริ่มมี "ท่ารถ" ผู้คนริมน้ำที่มีหัวการค้าจะทะยอยไปซื้ออาคารตึกแถวที่ท่ารถกัน และย้ายไปปักหลักอย่างเป็นทางการจนถึงทุกวันนี้
เครื่องที่นิยมมาติดเรือบรรทุกผัก หรือรดน้ำผัก ได้แก่ เครื่องบิ๊ก, โรแท๊กซ์, คาวาซากิ, โตโยต้า

ธุรกิจร้านค้า
คงเหมือนอำเภอบ้านนอกทั่วไป ได้แก่
ร้านถ่ายรูป
มีสองร้าน ที่ "ตลาดลงยา" ชื่อร้านแสงเสน่ห์ อีกร้านหนึ่งอยู่ริมคลองใหญ่ ชื่อร้านนิวเทคนิค ร้านเหล่านี้นอกจาจะรับถ่ายรูปที่ร้านแล้ว ยังให้บริการตามงานต่างๆด้วย เขาจะมีการแต่งฟิล์มตามความพอใจของช่าง ไม่ได้ถามลูกค้าก่อนเลยว่าชอบหรือไม่ บางคนจึงมีไรผมดำปรื๋อ หล่อไปอีกแบบ

มีอยู่มากมายหลายร้าน ร้านที่ผู้เขียนประทับใจคือร้านเจ๊สมหมายอยู่ปากคลองมอญ ที่ร้านนี้มีโทรทัศน์ขาวดำให้เด็กๆอย่างเราดู ติดกันงอมแงมทีเดียว ส่วนใหญ่จะขายของตั้งแต่เครื่องประกอบอาหาร น้ำมันก๊าด ถ่านไฟฉาย จิปาถะ ขาดเหลืออะไร ก็พายเรือไปซื้อได้เมื่อนั้น


ร้านขายปุ๋ย ยากำจัดแมลง
ร้านเหล่านี้ต้องมีทุนมาก มักจะเป็นครอบครัวที่ร่ำรวยจากการค้าพืชสวน หรือนำของสวนไปขายที่กรุงเทพ เขากำหนดราคารับซื้อได้ พวกเขาร่ำรวยกันจากการเหมาซื้อหอมแดง ไปส่งแถวเยาวราช หรือเหมามะม่วงจากชาวสวนจำนวนมากล่องเรือไปขายที่บางแค กรุงเทพ

ผู้เขียนเคยเดินผ่านหน้าร้านขายปุ๋ยร้านหนึ่ง กลิ่นสารเคมีรุ่นแรงมาก กลิ่นจะฉุนขึ้นจมูกทันที มักเกิดความฉงนว่าเจ้าของร้านและลูกๆ ที่นอนดมกลิ่นอยู่ทุกวันนั้นเขาไม่รู้สึกอะไรเลยหรือ

นอกจากใช้เรือพายแล้ว หากเป็นบ้านริมคลอง จะมีทางเดินเท้าถึงกัน ขนาดกว้างหนึ่งเมตรครึ่ง บางบ้านสร้างชิดติดคลองมากไป ทำให้สร้างทางเดินเท้าไม่ได้ ก็อาศัยชานบ้านนั้นแหละเป็นทางเดิน ดังนั้นทางเดินเท้าบางช่วง เหมือนเดินเข้าไปในบ้านคนทีเดียว หากไม่ทักทายเจ้าของบ้าน จะถือว่าหยิ่งอีกแน่ะ

บางบ้านก็เหลือเกินเว้นทางเดินไม่ถึงเมตร เดินสวนกันแทบไม่ได้ หากมีอู่เรือก็จะใช้แผ่นกระดานพาดข้ามไป ผู้เขียนเคยพลาดท่าเดินตกน้ำมาแล้ว เดชะบุญที่ไม่เป็นอะไร บางบ้านก็เอาเปรียบที่สาธารณะ ทำอู่เก็บเรือยื่นไปในคลอง ทำให้บางคลองที่แคบอยู่แล้ว ก็แคบไปกันใหญ่ หากจะฟี้นฟูลำคลองต่างๆ เทศบาลควรลงมาดูเรื่องนี้ด้วย
สำหรับทางเท้าตามเรือกสวนไร่นา จะมีทางเดินที่ถึงกันตลอด เดินตามคันดินที่อยู่รอบสวน หากมีคลองกันก็จะมีสะพานเดินข้ามได้ ข้อเสียคือหากฝนตกจะลำบากมาก ลื่นไถลหกล้มหกลุกกันบ่อยๆ

ธนาคาร
ธนาคารรุ่นบุกเบิกมี 3 แห่ง คือ ธนาคารออมสินอยู่ติดกับโรงเรียนดำเนินสะดวก “สายธรรมจันทร์” เยื้องๆกับวัดโชติทายการาม เพื่อนบางคนมักจะเลียบๆเคียงๆ ไปถามพนักงานที่กดเครื่องคิดเลขกันโครมครามว่า พี่ๆ เรียนอะไรถึงได้มาเป็นพนักงานแบงก์

ธนาคารแห่งที่สองคือธนาคารนครหลวงไทย อยู่ติดกับโรงน้ำแข็ง "นายเชาว์" เสียดายที่ธนาคารแห่งนี้ถูกไปไหม้เสียราบเรียบ แถมไหม้โรงน้ำแข็งที่มีเพียงโรงเดียวของอำเภอไปด้วย ผู้เขียนจำได้ว่าวันไฟไหม้ เรือดับเพลิงของอำเภอไม่ยอมทำงาน ชาวสวนต่างนำเครื่องรดน้ำมาต่อสายยาง ร่วมดับเพลิงกันหลายราย สนุกมาก ใช้น้ำในลำคลองดำเนินสะดวกนั่นแหละ ที่น่าตลกคือมีบ้านมุงจากอยู่หลังหนึ่งห่างจากที่เกิดเหตุเป็นกิโลเมตร ใช้เครื่องรดน้ำฉีดเลี้ยงบนหลังคาบ้านของตนเอง กลัวว่าไฟจะไหม้มาถึง
ธนาคารแห่งที่สามคือธนาคารกรุงเทพพาณิชย์การ จำกัด อาคารอยู่ริมน้ำอยู่ไม่ไกลจากที่ว่าการอำเภอนัก และอยู่ฝั่งเดียวกัน พนักงานก็ไม่ใช่ใครที่ไหน เป็นลูกหลานคนดำเนินที่มีญาติพอมีสตางค์ฝากแบงก์ หรืออีกความหมายหนึ่งคือคนมีสตางค์ส่งลูกหลานเข้าไปดูแลบัญชีของวงศ์ตระกูล

ร้านซ่อมเครื่องยนต์ หรือโรงกลึง
มักเปิดซ่อมเครื่องเรือหางยาว เครื่องรดน้ำผัก และกลึงชิ้นส่วนพวกหัวฉีดยาฆ่าแมลง, หัวรดน้ำ, หางเสือเรือ เป็นต้น เด็กฝึกงานร้านเหล่านี้ต่อมายึดอาชีพช่างกลึงหาเลี้ยงครอบครัวได้สบาย

ร้านต่อเรือ หรือเรียกว่าอู่ต่อเรือ
มักจะรับต่อเรือหางยาว หรือเรือสองตอน มีอยู่ช่วงหนึ่งที่เรือคล้ายเรืออีแปะ แต่ขนาดใหญ่กว่า เราเรียกว่าเรือ “อีป๊าบ” เรือนี้น่าจะต่อมาจากถิ่นอื่น นำมาขายกันหลายลำ หลายขนาด เป็นเรือที่ชาวสวนนิยมใช้บรรทุกผัก รูปทรงนี้ใช่เลย เอาเรือนี้มาติดเครื่องยนต์ที่ท้ายเรือ วิ่งได้ฉิว

ร้านขายยา
ร้านที่คนรู้จักกันมากอยู่ที่คลองลัดพลี คือร้านหมอประดิษฐ์ หรือร้านโอสถศิลป์ มีลูกสาวสวย 3 คน ช่วยคุณแม่ขายยา
อีกร้านอยู่หัวมุมตลาดลงยา เป็นร้านคนจีน

ร้านเครื่องเขียน
ร้านศิริภัณฑ์ อยู่ใกล้กับที่ว่าการอำเภอ นักเรียนสายธรรมจันทร์เป็นลูกค้าประจำ
ส่วนร้านอื่น มีที่ตลาดลงยา 1 ร้าน ขายทั้งเสื้อผ้า เครื่องเขียน และจิปาถะ, ร้านครูมนู อยู่ที่ตลาดใกล้ปากคลองทองหลาง

ร้านตัดเย็บเสื้อผ้าชาย
ผู้เขียนได้ใช้บริการบ่อยๆ เพราะเสื้อกางเกงนักเรียนสำเร็จรูปยังไม่มีขาย ที่ไปประจำคือร้านที่ "ตลาดลงยา" ปากคลองลัดพลี เจ้าของร้านชื่อเฮียหลี วันนี้ยังนึกถึงสภาพร้านที่แคบๆ และม้วนผ้าด้านข้างแทบจะไม่มีทางเดิน เด็กๆลูกเฮียหลี รวมทั้งกลิ่นของผ้าต่างๆได้ดี

ร้านตัดผมชาย
ไม่ค่อยอยากกล่าวถึง เพราะผู้เขียนมีผมเส้นใหญ่และหนามาก เมื่อไปที่ร้านตัดผมที่ปากคลองมอญ ช่างประสิทธิ์จะบ่นประจำว่า ตัดไม่ค่อยเข้า แบตตาเลี่ยนแฮงค์บ่อยๆ จนช่างอารมณ์เสีย

ยังมีร้านขายของประเภทอื่นๆ อีกหลายร้าน ได้แก่ ร้านขายทอง, โรงพิมพ์, ร้านซ่อมวิทยุ, ร้านรับวาดรูปเหมือน, ร้านกาแฟ, ร้านขายอาหารพื้นๆ ,ร้านขายส่งไอศกรีม, ร้านส่งน้ำแข็ง, ร้านขายน้ำมัน, ร้านขายขนมของจีนโบราณหรือขนมแต่งงาน, ร้านทำเส้นก๋วยเตี๋ยว ,ร้านตัดเย็บเสื้อผ้าสตรี ,โรงหมู,โรงสีข้าว, ร้านทำฟัน, คลีนิคหมอ,ร้านขายเครื่องมือทำสวน

การพักผ่อนและหาความบันเทิง
ความสุขของเด็กและผู้ใหญ่จะมีในช่วงตรุษจีน ซึ่งจะมีงานที่วัดสำคัญๆ เช่น วัดโชติทายการาม มีหนังกลางแปลงและดนตรี 3 วันสามคืน คณะดนตรีที่มาเล่นกันบ่อยๆ คือ คณะสุรพล สมบัติเจริญ และคณะดังๆในสมัยนั้นที่สับเปลี่ยนกันมา เช่น สังข์ทอง สีใส, รวมดาวกระจาย, ศรคิรี ศรีประจวบ, ศรีไพร ใจพระ เป็นต้น



เด็กๆจะหยุดไปโรงเรียนโดยไม่ต้องให้ใครบอก ทุกคนพร้อมเพียงกันดีจริงๆ พวกเราชอบไปมุดรั้วที่กั้นไว้สำหรับเก็บค่าเข้าชมแสดงดนตรีกันบ่อยๆ หนัง กลางแปลงมี 2 เจ้าที่แข่งกันคือ ศรีสุวรรณ และทิพย์เนตร นักพากษ์ของศรีสุวรรณมักจะดุเด็กๆ ที่ไม่ค่อยจะดูหนัง และมักก่อกวนด้วยการก่อกองไฟแก้หนาวที่หน้าจอหนัง แต่ผู้คนก็ชอบนักพากษ์หนังคนนี้มาก

เด็กๆอย่างเราจะได้เงินแต๊ะเอียคนละ 3 บาท 5 บาท ก่อนดูหนังก็จะซื้อของเล่นจนเงินแทบหมด แล้วมานั่งก่อไฟกับเพื่อนๆ ให้นักพากษ์เกิดอาการหงุดหงิดเล่น เขาจะหยุดพากษ์และด่าพวกเราบ่อยๆ ส่วนมากพวกเราจะกลับกันเกือบเช้า ตื่นมาของเล่นหายหมดเลย เพื่อนบางคนหัวการค้า เขาตัดกระดาษหนังสือพิมพ์ นำไปขายให้คนที่ดูหนังใช้รองนั่ง ครึ่งหน้ากระดาษคิด สามสลึง

บ้านผู้เขียนไม่สามรถเดินทางเดินหน้าบ้านริมคลองไปจนถึงวัดได้ จะต้องเดินผ่านสวน แล้วไปขึ้นทางเดินริมคลองอีกที กลางคืนเดือนมืด มองพวกต้นมะพร้าวที่ถูกลมพัดเหมือนเปรตแลบลิ้นทุกที เราจะนัดไปดูหนังกันหลายๆ คน เมื่อไม่มีไฟฉาย เราใช้วิธีจุดเทียนตั้งในกระปํองนมที่เจอะรูเล็กๆ จนพรุน ป้องกันลมพัดไฟดับได้ดี เดินหิ้วกระป๋อง หันปากกระป๋องออกด้านหน้า เหมือนไฟฉาย

สำหรับโรงภาพยนตร์ชั้นดีที่สุด คือ ดำเนินเธียร์เตอร์ ฉายหนังไทยซะส่วนมาก จำได้ว่าเรื่องมนต์รักลูกทุ่ง ฉายอยู่นาน หากใครไม่ได้ดูจะเชยมาก พวกเราไม่ค่อยได้ไปโรงหนังกัน ต้องโอกาสพิเศษจริงๆ ถึงได้ดู เงินทองหายาก ค่าขนมไปกินโรงเรียนวันละ 1 บาท ตั้งแต่เล็กจนโตไม่เคยขยับขึ้นเลย

หน้าน้ำหลาก น้ำจะท่วมลานวัดทั้งหมด วันหนึ่ง เจ้าภาพงานบวชที่วัดใกล้บ้าน คือวัดสุน เขาจัดให้มีการฉายหนังกลางแปลง ผู้เขียนกับเพื่อนพายเรือสำปั้นไปดูกัน 2 คน ใครไปถึงก่อนก็ได้อยู่หน้าจอ หากใครอยู่ตรงกลางๆ จะพายเรือกลับบ้านก่อนหนังเลิกก็ไม่ได้ จะไม่มีทางออกเลย ต้องรอจนกว่าคนจะทยอยพายเรือกลับนั่นแหละ ยังจำหนังเรื่องนั้น ชื่อเรื่อง น้อยใจยา วันนั้นพายเรือกลับบ้านสว่างคาตา

ความบันเทิงอีกอย่างหนึ่งในยายเย็นของทุกครอบครัว คือ การฟังวิทยุ ที่ฮิตมากคือละครวิทยุ ที่จำได้ก็มีเรื่องโนรา, โนรี,มดแดง คณะแก้วฟ้า คณะเสนีย์ฯ รายการข่าวชาวบ้านที่ต้องฟังกันทุกบ้านของวุฒิ เวรุจันทร์ รายการคุยกันสองตายาย “ขุนเต่อ แม่ใส่ไส้” ที่นำเหตุการณ์ร้อนๆใกล้ตัว มาเสนอในเชิงปรึกษาหารือและออกความคิดเห็นตามประสาตายาย รายการขายหัวเราะ และยังมีพวกละครจีนกำลังภายใจหลายเรื่อง เช่น เตียวเซี้ยนผู้พลิกแผ่นดิน รายการของทวิช ธวัชชัย เกี่ยวกับการทำนายทายทักด้วยตำราพรหมชาติและขายธูปเทียนต่างๆ

หน้าเทศกาลตรุษจีน ชาวจีน ชาวไทยโดยมากเชื้อสายจีน จะประกอบพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ด้วยหมู เห็ด เป็ด ไก่ ผลไม้ อาหารคาว-หวาน ขนมเทียน ขนมเข่ง จุดประทัดกันดังสนั่นหวั่นไหว ญาติพี่น้อง ลูกหลาน เหลน ได้พบกันในวันไหว้

หลังจากญาติๆนำข้าวปลาอาหารที่ปรุงตามตำหรับจีน มาไหว้บรรพบุรุษแล้ว มื้อกลางวันจะรับประทานอาหารที่นำมาไหว้ร่วมกัน อย่างไม่ถือสา โดยเฉพาะเด็กๆ จะชอบมากเมื่อถึงหน้าตรุษจีน เพราะเด็กๆจะได้เงิน แต๊ะเอีย จากผู้ใหญ่ นายจ้างก็แจกเงิน แต๊ะเอีย กับลูกจ้าง เงินทองจะสะพัดในช่วงนี้ งานบุญงานกุศลตามวัดต่างๆ จึงนิยมจัดงานให้ตรงกับเทศกาลตรุษจีน เช่น งานปิดทองฝังลูกนิมิต หรืองานประจำปี

งานบวชพระ ก่อนเข้าพรรษา ชาวบ้านมักจะได้ยินเสียงทำขวัญนาคกันลอยมาไกลอยู่หลายวัน ชาวบ้านมักจัดงานบวชลูกชายก่อนวันเข้าพรรษา อาจจัดที่บ้าน หรือที่วัดแล้วแต่สะดวก เป็นงานที่คนดำเนินให้ความสำคัญมาก เพราะถือว่าผู้ไปร่วมงานจะได้บุญไปด้วย เมื่อก่อนมักจะจัดกัน 3 วันสามคืน วันสุกดิบ วันทำขวัญนาค และวันบวช



การบิณฑบาตของพระสงฆ์ จะพายเรือโดยมาก เป็นเรืออีแปะขนาดเล็ก เมื่อจะกลับวัดจะมีกับข้าวกับปลาในถ้วยเล็กๆ เต็มลำ
วันเข้าพรรษา ชาวบ้านจะปรุงอาหารอย่างเลิศรส นำไปถวายพระที่วัดใกล้บ้าน หากลูกบ้านใครบวชในพรรษานั้นด้วย ยิ่งต้องเตรียมของถวายพระเป็นพิเศษ

เทศกาลกินเจ แต่ละบ้านจะต้องล้างทำความสะอาดกันขนาดใหญ่ และจะต้องเปลี่ยนต้นไฝ่ที่หน้าบ้านด้วย เราเรียกต้นไฝ่แห้งๆนี้ว่า “ ชิวตี้” โรงเจใหญ่ ได้แก่ โรงเจฮะอี๊ตั้ว พวกเราจะรักษาสัจจะมากในเรื่องการกินเจ เพื่อให้รายชื่อของพวกเราที่ส่งให้โรงเจเผาขึ้นสวรรค์จะได้ไม่ด่างพรอย



โรงเจฮะอี๊ตั๊ว มีอาคาร 2 หลัง คือ อาคารหลังแรกคือ ศาลเจ้าเล่าโจ้ว เป็นอาคารไม้ชั้นเดียว ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่าอาคารหลังนี้เป็นที่ชุมนุมของ อั่งยี่ในอดีต ภายในมีแท่นบูชาของพระกวนกูพร้อมองครักษ์
ส่วนอาคารอีกหลังเป็นอาคารโรงเจ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2418 สร้างด้วยไม้สักทอง พื้นและฝาเป็นไม้ กลางห้องโถงเป็น พระหนี่เหล็กฮุด (คล้ายหลวงจีนอ้วนๆนั่งอย่างอารมณ์ดี) โรงเจนี้ถือการกินเจตามต้นแบบดั้งเดิมของพวกแต้จิ๋วที่มาจากเมืองจีน ผู้เขียนคุ้นเคยกับโรงเจนี้มาก เพราะในวัยเด็กที่เรียนชั้นประถมนั้น โรงเจนี้เป็นหอประชุมใหญ่ของโรงเรียนเรา และใช้ประชุมและสวดมนต์ทุกเย็นวันศุกร์

ดำเนินสะดวกมีศาลเจ้าหลายแห่ง ผู้เขียนขอกล่าวเพียง 2 แห่ง คือศาลเจ้าของชาวจีนแต้จิ๋ว ใกล้ปากคลองลัดพลี คือศาลเจ้าอาเนี้ย เคยมีโรงเรียนเอกชนมาเปิดสอนชั้นประถมที่นี่ ชื่อโรงเรียนวิชิตดำเนินศึกษา และฝั่งตรงข้ามเยื้องๆกัน เป็นศาลเจ้าแม่ทับทิม ของชาวไหหลำ ซึ่งเป็นที่สักการะของตระกูลของผู้เขียนด้วย คนกรุงเทพรู้จักศาลเจ้าแม่ทับทิมดีเพราะมีชื่อเสียงขจรไปไกล

ที่เล่ามานี้เป็นประวัติศาสตร์ของชีวิตริมน้ำ ที่ใช้ลำคลองสัญจรเป็นหลัก ก่อน ปี 2528 ซึ่งเป็นปีที่ตลาดน้ำคลองลัดพลีที่ยิ่งใหญ่ของไทย สลายตัวไป ผู้คนใช้ถนนสัญจรกันมาก และการหายไปของผู้คนวัยหนุ่มสาวในยุคนั้น ทั้งหมดนี้จึงเขียนจากความทรงจำในวัยเด็กของผู้เขียน ซึ่งแจ่มชัดขึ้นเรื่อยๆ ในวันนี้



Create Date : 06 กรกฎาคม 2551
Last Update : 9 กันยายน 2560 13:12:09 น.
Counter : 14224 Pageviews.

52 comments
สรุปวิชาสังคมไทยสังคมโลกในศตวรรษที่ 21 เรื่องปราชญ์ท้องถิ่น นายแว่นขยันเที่ยว
(10 เม.ย. 2567 03:05:45 น.)
สุริยุปราคา อเมริกา /นิวยอร์ก อินเดียน่า เทกซัส newyorknurse
(9 เม.ย. 2567 04:13:31 น.)
โรงงานผลิตอาหารเสริมผู้ชาย ตัวเลือกสำหรับคนที่ต้องการเป็นเจ้าของแบรนด์ที่ได้คุณภาพ สมาชิกหมายเลข 7213059
(3 เม.ย. 2567 00:10:02 น.)
เอื้องชมพูไพร สมาชิกหมายเลข 4313444
(21 มี.ค. 2567 02:45:05 น.)
  
ขอบคุณ สำหรับความรู้ ทางประวัติศาสตร์ ดีดี
โดย: พนบ. วันที่: 6 กรกฎาคม 2551 เวลา:20:51:15 น.
  
ความจริง ใช้เรือ ก็ไม่เปลืองพลังงานดีนะคะ
แถมได้ออกกำลังกายด้วย
ชีวิตก็ไม่ต้องเร่งรีบจนเกินไป
โดย: mungkood วันที่: 6 กรกฎาคม 2551 เวลา:21:14:35 น.
  
ชอบอ่านเรื่องความเป็นอยู่ของคนไทยสมัยก่อน ขอบคุณมากนะคะที่สละเวลา มาเล่าสู่กันฟังค่ะ
โดย: Why England วันที่: 6 กรกฎาคม 2551 เวลา:22:29:36 น.
  
เห็นโปสเตอร์หนังรุ่นเก่าแล้ว อยากดูหนังเก่ามาก ซื้อมาดูในบางเรื่อง ชอบบรรยากาศสมัยก่อนมาก
โดย: pantipngon วันที่: 19 กรกฎาคม 2551 เวลา:12:34:59 น.
  
ดีใจจริงที่มีคนขยายความเรื่องดำเนิน ใกล้บ้านเราด้วย เรากินเจตั๊วหลัก 8 เหมือนกัน ทุกวันนี้ก็ยังกินอยู่ที่เดิม
โดย: คนคลองเดียวกัน IP: 61.7.155.122 วันที่: 20 กรกฎาคม 2551 เวลา:20:58:29 น.
  
เมื่อ 18-20 ก.ค.ที่ผ่านมามีงานย้อนรอย เสด็จประพาสต้น ร.5 นะคะ ได้มาหรือเปล่า
โดย: คนคลองเดียวกัน IP: 61.7.155.122 วันที่: 20 กรกฎาคม 2551 เวลา:20:59:43 น.
  
เสียดายครับที่ไม่ได้ไปงานย้อนรอย เสด็จประพาสต้น ร.5 เนื่องจากมีอาการป่วยเล็กน้อยครับ ขอบคุณสำหรับข่าวเกี่ยวกับดำเนินฯ อยากจะกลับไปเยี่นมโรงเจอีกครั้ง ยินดีจริงๆที่คนคลองเดียวกันเข้ามาแจมครับ
โดย: Insignia_Museum วันที่: 20 กรกฎาคม 2551 เวลา:21:40:12 น.
  
ได้ความรู้เพิ่มขึ้นอีกมากเลย จะขอติดตามต่อไปนะคะ
โดย: ไผ่สวนตาล วันที่: 3 สิงหาคม 2551 เวลา:20:27:42 น.
  
อีกไม่นานก็จะกินเจ อีกแล้ว มีเวลาเชิญมาโรงเจ ตั๊วหลัก แปด โรงจฮะอี่ตั๊วค่ะ
โดย: คนคลองเดียวกัน IP: 61.7.155.122 วันที่: 8 สิงหาคม 2551 เวลา:23:43:27 น.
  
จะหาโอกาสไปครับ หวังว่าจะไปถ่ายรูปศาลเจ้ากวนอูที่เคยเรียนหนังสือตอนอายุ 6-7 ขวบ อยู่ กทม. ก็กินเจทุกปี ไม่ได้แต่งชุดขาวและไม่ได้ส่งชื่อให้โรงเจมาหลายปีแล้วครับ
โดย: Insignia_Museum วันที่: 10 สิงหาคม 2551 เวลา:1:50:23 น.
  
ดีใจจังที่มีคนรู้จัก โรงเจ ฮะอี่ตั๊ว ด้วย

หนูอยู่นนทบุรี

แต่เวลากินเจหนูก็จะไปที่นั้นทุกปีค่ะ

เพราะเป็นบ้านยายของหนู

อ่อ ถ้าใครไม่ได้ไปนานนะคะ

ถ้าปีหน้าพวกคุณมีโอกาศได้ไปก็จะเห็นอะไรใหม่ๆที่โรงเจค่ะ

แต่ขอบอกว่าไม่เยอะค่ะ

ถ้ามีโอกาศก็ขอเชิญที่ตั๊วนะคะ
โดย: Pasta IP: 124.121.28.113 วันที่: 26 ตุลาคม 2551 เวลา:22:50:56 น.
  
ร้านที่ผู้เขียนประทับใจคือร้านเจ๊สมหมายอยู่ปากคลองมอญ ที่ร้านนี้มีโทรทัศน์ขาวดำให้เด็กๆอย่างเราดู ติดกันงอมแงมที่เดียว ส่วนใหญ่จะขายตั้งแต่เครื่องประกอบอาหาร น้ำมันก๊าด ถ่านไฟฉาย จิปาถะ ขาดเหลืออะไร ก็พายเรือไปซื้อได้เมื่อนั้น

อยากทราบว่าผู้เขียน.....ข้อความข้างบน
เรียนที่ รร.สายฯ รึเปล่า ถ้าเรียน เรียนรุ่นไหน.....ปีอะไร...
ขอทราบชื่อได้หรือไม่..........เพราะร้านเจ๊สมหมาย......คือคุณแม่
..............ขอบคุณที่เล่าเรื่องราวต่าง ๆ ในอดีตได้อย่างดีเยี่ยม


โดย: tu2159@hotmail.com IP: 125.25.41.198 วันที่: 8 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา:13:49:46 น.
  
โอ๊วพี่ครับ พี่จำได้ไง บรรยาย ซ่ะ เห็นภาพ จริง ๆ

ที่พี่เขาเล่ามา เนื้อ ๆ ล้วน ๆ ละเอียดมาก ยันกลิ่นสาบ

ของผ้าใหม่ กินร้านขายยาฆ่าแมลง รวมทั้งลูกสาวร้าน

ขายยา 3 ใบเถา สวยจริง ๆ ครับ เรื่องจริง 100 %
โดย: เด็กคลองลัดพลี IP: 203.170.144.1 วันที่: 11 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา:14:20:41 น.
  
ยินดีมากครับที่คนดำเนินฯ มาลงชื่อไว้
โดย: Insignia_Museum วันที่: 22 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา:23:44:08 น.
  
เราบ้านอยู่ตรงข้ามร้านขายยา ไม่ได้กลับบ้านนานแล้ว ยิ่งอ่านยิ่งคิดถึงบ้าน
โดย: surakamol@ritta.co.th IP: 125.27.28.95 วันที่: 27 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา:20:43:10 น.
  
เขียนได้เห็นภาพเลยค่ะ นึกถึงบ้าน บ้านเราอยู่ข้างศาลเจ้าแม่ทับทิมค่ะ
โดย: เด็กหน้าศาล IP: 58.8.243.217 วันที่: 19 พฤษภาคม 2552 เวลา:16:47:43 น.
  
ลืมบอกไป ว่าเราศิษย์เก่า โรงเรียนวิชิตดำเนินศึกษาด้วยนะค่ะ
โดย: เด็กหน้าศาล IP: 58.8.243.217 วันที่: 19 พฤษภาคม 2552 เวลา:16:49:48 น.
  
ยืนดีครับที่เข้ามาเยี่ยม รร.วิชิตดำเนินศึกษา ภาพอาคารเรียนยังอยู่ในความทรงจำครับ เมื่อมีงานประจำปีที่ศาลเจ้า ผมเคยไปวิ่งเล่นเป็นประจำ มืดๆ ดึกๆ ก็ไม่เคยกลัว
โดย: Insignia_Museum วันที่: 28 พฤษภาคม 2552 เวลา:22:47:53 น.
  
ดีมากครับ
โดย: เด็กเรียน IP: 58.9.177.138 วันที่: 31 พฤษภาคม 2552 เวลา:19:58:26 น.
  
คุณรุ้หรืเปล่าขณะพวกเราชาวตลาดน้ำปากคลองลัดพลี กำลังฟื้นฟูตลาดน้ำอยู่ รออีก 3 เดือน อยากให้นักท่องเที่ยวได้ชมวิถีชีวิตของชาวตลาดน้ำอีกครั้ง เรากำลังจะเปิดบ้าน ต้อนรับนักท่องเที่ยวอีกแล้ว แถมยังมีอาหารชาวบ้านของชาวจีนที่อร่อยๆ รอคุณอยู่ ช่วยบอกต่อๆ กันด้วย แล้วจะแจ้งความคืบหน้าต่อไป ชาวตลาดน้ำเก่า ปากคลองลัดพลี ยินดีต้อนรับทุกท่าน ครับ
โดย: คนรักบ้านเกิด IP: 125.27.240.160 วันที่: 9 มิถุนายน 2552 เวลา:19:57:04 น.
  
ผมศิษย์เก่า "ว.ผ.ศ" รุ่นสุดท้ายครับ
คิดถึงภาพเก่า ๆ อยากย้อนรอยให้กลับเป็นเด็กอีกครั้ง

คนปลายคลองมอญ ศาลใหม่
โดย: โจโจ้ IP: 125.27.172.157 วันที่: 16 มิถุนายน 2552 เวลา:8:15:38 น.
  


ขอให้ตลาดน้ำปากคลองลัดพลี ที่กำลังฟื้นฟูตลาดน้ำ
อีก 3 เดือนข้างหน้าประสบความสำเร็จนะครับ

ขอให้เริ่มต้นจากนิสัยอารีอารอบของคนบ้านเรา
ใช้จุดเด่นที่เรามี คนทำอาหารอร่อยๆมีมากมาย
โปรดให้โอกาสเขา อย่างผัดไทยที่ฝีมือเทียบเท่าเจ๊หงษ์,
ก๋วยเตี๋ยวฝีมือเทียบเท่าเจ๊หนู, ข้าวแห้ง...

อย่างเอาเงินเป็นที่ตั้ง...แล้วสิ่งที่ดีๆจะตามมา

ค้นหาเอกลักษณ์ให้พบ แล้วปากต่อปากจะลือกันเอง..

หากมีข่าวคืบหน้าโปรดแจ้งให้ทราบครับ
ผมจะได้เป็นกระบอกเสียงให้อีกแรง

โดย: Insignia_Museum วันที่: 17 มิถุนายน 2552 เวลา:20:05:17 น.
  
เขียนได้ดีมากครับ ทำให้ผมนึกถึงภาพสมัยก่อนที่ยังจำติดตาและที่เขียนถึงร้านไอสครีม ก็เป็นบ้านอาม่าผมเองครับ ตอนนี้กำลังฟื้นฟูตลาดน้ำดำเนินสะดวก (คลองลัดพี) มีเส้นทางเดินทางมาใหม่ได้อีก 2 เส้นทาง แต่ขอเน้นทางเข้าใหม่ทางศาลตี่ลิ้วยี่ หรือทางเข้าเตาตาลพี่ศรี มีที่จอดรถข้างขวาง จอดรถเสร็จเดินชมวิถีชีวิตคนริมคลองเป็นบ้านไม้ชายคลองแบบเดิม ๆ จริง ๆ และทำทางเดินเลียบริมน้ำเพิ่มอีก กำลังปรับปรุงรับนักท่องเที่ยวครับ ยังไงก็มาแวะเที่ยวกันครับ และทางเข้าเส้นทางนี้จะสวนผักผลไม้ให้เห็น และยังมีนกหลากหลายชนิดให้ส่องดูกันด้วยครับ อาทิเช่น นกกระแตแต้แวด นกกระจิบ นกขุนช้างขุนแผน นกกระปูดตาแดง นกกาเหว่า นกกินปลา และนกอื่น ๆ อีกเยอะมาก เส้นทางเข้าก็ไม่ยากถ้าท่านมาจากถนนบางแพ-สุมทรสงครามก็ยูเทินใต้สะพานรถมาประมาณ 500เมตรจะเห็นทางแยกซ้ายมือเข้าตลาดน้ำคลองลัดพี ขับรถไปประมาณ 1 กม.จะเห็นทางแยกซ้ายมือเข้าเตาตาลพี่ศรีเข้ามาสุดทางเลยครับแค่ 1.7 กม ท่านก็จะถึงริมคลองลัดพีแล้วครับ ยังไงก็จอดไหว้เจ้าที่ศาลตี่ลิ้วยี่ด้วยครับ แล้วเดินเที่ยวริมคลองกัน......ให้มีความสุขครับ
โดย: บ้านชัยทัศน์ IP: 61.7.155.122 วันที่: 3 กรกฎาคม 2552 เวลา:15:27:00 น.
  
ตอนนี้ลูกหลานคนดำเนินได้ร่วมกันฟื้นฟูตลาดนำดำเนินสะดวกปากคลองลัดพลีดั่งเดิมในสมัยตอนที่เราเป็นเด็กในช่วงปีพ.ศ 2500-2520 ในสโลแกน เสน่ห์แห่งสายนำเมื่อวันวาน จึงอยากได้ไอเดียของคนแต่ละรุ่น เพื่อการมีส่วนรวมในการฟื้นฟูและพัฒนาชุมชน มีข่าวแจ้งให้ทราบว่าในขณะนี้ได้มีการทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ทางเรือทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 8.00 น ของทุกอาทิตย์ บริเวณปากคลองลัดพลี ขอเรียนเชิญนะครับ



โดย: ลูกหลานคนดำเนิน IP: 117.47.17.213 วันที่: 9 สิงหาคม 2552 เวลา:6:31:32 น.
  
ในส่วนของ จขบ. ได้แสดงความเห็นไว้แล้วในหัวข้อ

ล่องเรือ...เส้นทางดำเนินสะดวก-อัมพวา

แนวคิดในการจับระบบแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์วัฒนธรรม ซึ่งน่าจะเข้าไปทดแทนแหล่งท่องเที่ยวที่กำลังได้รับความนิยมในขณะนี้

ซึ่งที่ที่ได้รับความนิยมนั้น เขาก็กำลังประสบปัญหาความแออัดยัดเยียดของผู้คน พ่อค้า แม่ค้าก็ไม่มีอารมณ์จะขายของเพราะชุลมุนกันเหลือเกิน เพียงใครพกแบงก์พันไปซื้อของอาจก่อให้แม่ค้าอารมณ์หงุดหงิดได้

ควรจะต้องดูจุดดีของเขา ที่เห็นได้ชัดๆคือบริเวณทางเดินริมน้ำของตลาดน้ำที่มีชื่อเสียงอย่างอัมพวา มีการขยายทางเท้า คลองค่องข้างกว้างทำให้อากาศดี และเจ้าของบ้านสองข้างทางมีการอนุรักษ์ของเดิมๆให้คงอยู่
โดย: Insignia_Museum วันที่: 9 สิงหาคม 2552 เวลา:12:06:07 น.
  
ชอบจัง
โดย: c (chaiwatmsu ) วันที่: 16 สิงหาคม 2552 เวลา:19:56:28 น.
  
มีข่าวแจ้งให้ทราบในวันที่เสาร์ที่ 12-9-52 การท่องเที่ยวจังหวัดราชบุรีได้เชิญคณะสื่อมวลชนทั้งในประเทศและต่างประเทศประมาณ 50-70 คน มาเที่ยวชมวิถีชีวิตชุมชนของตลาดนำดำเนินสะดวกปากคลองลัดพลีและร่วมทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ทางเรือในเวลา 8.00น ขอเรียนเชิญทุกท่านนะครับ และชมเวปไซต์ของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มฟื้นฟูตลาดนำดำเนินสะดวกปากคลองลัดพลี tripdamnoen.freetzi.com ได้เลยนะครับ
โดย: ลูกหลานคนดำเนิน IP: 58.8.37.201 วันที่: 30 สิงหาคม 2552 เวลา:7:48:33 น.
  
มีข่าวแจ้งให้ทราบทางการท่องเที่ยวจังหวัดราชบุรีได้เปลี่ยนกำหนดการที่สื่อมวลชนจะมาเที่ยวชมเป็นวันเสาร์ที่ 19-9-52 แทนครับ
โดย: ลูกหลานคนดำเนิน IP: 58.8.34.2 วันที่: 2 กันยายน 2552 เวลา:13:55:02 น.
  
ดีใจที่ได้เกิด ที่ดำเนินสะดวก
โดย: เด็กศาลเจ้าแม่ทับทิม IP: 58.137.190.119 วันที่: 22 กันยายน 2552 เวลา:10:54:17 น.
  
ดีใจที่ได้เจอคนบ้านเดี่ยวกันบ้านอยู่ หลักหก กลับไปบ้านมาเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว เห็นแล้วใจหายนะ คลองที่เราโตมา มีแต่สวะ เต็มไปหมด ไม่ค่อยมีเรื่อวิ่ง แต่ก็สะอาดไปอีกแบบ เมื่อก่อนนั่งเรือหางยาวไปโรงเรียน ทุกวัน เดี่ยวนี้ไม่มีแล้ว ผมว่าบางครั่งเราไม่ต้องการความเจริญที่เข้ามาแทนวิถึชีวิตีๆ อย่างที่คลองดำเนิน เป็นอยู่ทุกวันนี้เนอะ ผมเดินทาง มาทั่วโลกแล้วนะ สุดทายผมว่า ดำเนินสะดวกเป็นที่ที่ผมจะหยุดการเดินทางไว้ที่น่ี
โดย: ทัวโลก ถึง ดำเนิน IP: 67.34.105.44 วันที่: 30 กันยายน 2552 เวลา:15:58:54 น.
  
ดีใจเช่นกันครับที่คนบ้านเดียวกันกลับมาช่วยกันพัฒนาตลาดน้ำดำเนินสะดวกปากคลองลัดพี อย่าลืมวันที่
8 พฤศจิกายน 2552 เป็นวันเปิดตลาดยังไงก็กลับมาบ้านเกิดเรากัน และอีกอยากช่วยกันสานต่อความเป็นดำเนินสะดวกให้คงความเป็นธรรมชาติ ช่วยกันอนุรักษ์ครับ
อย่าลืมมาเที่ยวลงเรือแจวหรือเรือจ้าง ชมวิถีชีวิตบ้านริมฝั่งคลองกันด้วยครับ
ปล.อาหารอร่อยราคาถูก ร้านกาแฟบ้านไม้มุมปากคลองมีมุมนั่งแบบสบาย ๆ เรือแจวราคากันเองไม่แพงครับ แวะมากันเยอะ ๆ ครับ
โดย: บ้านชัยทัศน์ IP: 61.7.155.122 วันที่: 21 ตุลาคม 2552 เวลา:11:21:55 น.
  
เด็กดำเนินเหมือนกันแม่ดำเนินพ่อคนโพธิ์หักตอนนี้ย้ายมาอยู่นนบุรีท่าอิฐอยากให้ดำเนินเหมือนเดิมจังอยากคุยกับคนดำเนินจังส่งเมล์มาน่ะgate_6644@hotmail.com.
โดย: เกดหลานครูแมวกับครูมนูญ IP: 124.121.58.69 วันที่: 2 เมษายน 2553 เวลา:12:49:07 น.
  
รบกวนขอรูปตลาดน้ำคลองลัดพลี ปี 2514 ด้วยครับ
รูปไม่โฃว์ใน blog น่ะครับ ขอบคุณครับ
phukrirk@yahoo.com
โดย: ภูเกริก IP: 127.0.0.1, 202.14.117.6 วันที่: 11 ตุลาคม 2553 เวลา:14:24:50 น.
  
ชอบอ่านครับ..
ทุกวันนี้ หนังกลางแปลง "ศรีสุวรรณ" ยังให้บริการอยู่นะครับ
โดย: อภิรักษ์ IP: 203.113.120.30 วันที่: 17 มิถุนายน 2554 เวลา:13:38:44 น.
  
เข้ามาอ่านแล้ว สงสัยจะไม่ทำบล็อกเรื่องนี้ดีกว่านะคะ

เพราะอ่านจากเจ้าของท้องถิ่นแล้ว มันกว่าเป็นไหน ๆ
โดย: tuk-tuk@korat วันที่: 29 กรกฎาคม 2554 เวลา:12:59:58 น.
  
ดีใจที่เล่าให้ฟังครับ... ผมก็ตระกูลลิ้มเหมือนกัน
โดย: tum IP: 124.120.202.227 วันที่: 28 มกราคม 2555 เวลา:19:34:37 น.
  
มีความสุขมากครับที่ได้เข้ามาอ่าน เหมือนได้นั่งไทม์แมชชีนของโดเรมอนย้อนกลับไปในอดีต ผมเป็นศิษย์เก่าที่โรงเรียนวิชิตดำเนินศึกษาปี 2525 ศิษย์เก่าโรงเรียนสายธรรมจันทร์ปี 2528 ศิษย์เก่าวิทยาลัยเทคนิคราชบุรีปี 2531 ร้านถ่ายรูปนิวเทคนิคก็เป็นร้านเพื่อนผมที่เรียนโรงเรียนวิชิตด้วยกัน และประวัติศาสตร์ของตลาดดำเนินสะดวกเรื่องหนึ่ง คือ มีไฟไหม้ครั้งใหญ่ซึ่งบ้านของผมก็ถูกไฟไหม้ในครั้งนั้นด้วยเช่นกันตอนนั้นผมพึ่งเรียนอยู่ปอหนึ่งเองครับ มีความสุขมากจริง ๆ ที่ได้เข้ามาอ่านเรื่องเล่าซึ่งใกล้ตัวมาก ขอบคุณมากครับที่สละเวลามาเล่าให้ฟัง
ขอบคุณครับ
โดย: chai IP: 61.91.84.18 วันที่: 16 เมษายน 2555 เวลา:17:18:16 น.
  
ชอบมากเลยค่ะ เรื่องเก่าๆ ภาพเก่าๆ ซึ่งในสมัยนี้แทบจะไม่มีให้เห็นแล้ว ขอบคุณอีกครั้งที่นำมาเผยแพร่ให้ทราบกันค่ะ
โดย: duangporn IP: 125.26.133.5 วันที่: 24 พฤษภาคม 2555 เวลา:19:28:24 น.
  
โอ้พระเจ้าที่นายพูดมาทั้งหมดมันช่างโดนใจจริงๆๆ นึกถึงตอนเป็นเด็กๆๆเลย..ไม่ค่อยได้กลับดำเนินแล้ว...คิดถึงดำเนินเสมอ..
โดย: คนดำเนิน IP: 1.2.175.180 วันที่: 20 กรกฎาคม 2555 เวลา:16:49:39 น.
  
ดีใจมากทำให้คิดถืงบ้านอยู่ข้างบ้านฃ้อเปราะคะ
โดย: เด็กข้างโรงเจ IP: 182.52.182.51 วันที่: 23 ธันวาคม 2555 เวลา:19:17:19 น.
  
ชอบเรื่องววเก่าๆแบบนี้จังเลย ต้องเข้ามาค้นอ่านแล้วละค่ะ คุณอิมฯ
โดย: ดอยสะเก็ด วันที่: 19 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา:16:21:46 น.
  
อ่านแล้วเห็นภาพเลยครับ
โดย: คันคลอง IP: 223.205.177.37 วันที่: 26 เมษายน 2556 เวลา:8:23:02 น.
  
คิดถึง บ้านอะ.คิดถึงตอนเป็นเด็ก วิ่งเล่นหน้า โรงเรียนวิชิตดำเนินศึกษา..ไป นั่งดู พวก พี่ๆๆเล่น ล้อต๊อก กะ ต้นจามจุรีหน้าโรงเรียน....
โดย: ทิดทูน IP: 1.2.155.63 วันที่: 2 ตุลาคม 2556 เวลา:17:52:15 น.
  
ผมน่าจะรู้จักผู้เขียน เพราะบ้านผมอยู่ริมคลองไม่ห่างจากตลาดน้ำมากนัก เริ่มเรียนที่ ว.ผ.ศ ต่อที่ ว.ด.ศ เข้ากทม.เรียนที่สวนกุหลาบและจบแพทย์จากจุฬา ผมเคยไปถ่ายรูปทั้งที่ร้านแสงเสน่ห์และร้านนิวเทคนิค ได้ไปดูงิ้วแต้จิ๋วและงิ้วไหหลำที่ศาลเจ้าทั้งสองเป็นประจำ ชอบไปงานวัดดูวงดนตรีสุรพลและรักการดูหนังกลางแปลงเป็นชีวิตจิตใจ เคยพายเรือไปกับเพื่อนหน้าน้ำท่วมที่วัดสุนจอดใกล้กับศาลาการเปรียญดูหนังไทยเรื่องชาติเจ้าพระยา[มิตร-เพชรา-ชนะ]มีประสบการณ์เอาเรือออกยากเช่นกัน แต่โชคดีที่คนมักกลับหลังจากหนังไทยจบ ถึงวันนี้ผมไม่มีโอกาสกลับมาอยู่ดำเนินอีกแต่ทุกภาพและทุกเหตุการณ์ยังแจ่มชัดในความทรงจำตลอดไป
โดย: suttiwong IP: 182.52.83.246 วันที่: 8 ตุลาคม 2556 เวลา:20:47:36 น.
  
ยินดีครับ คุณ suttiwong ที่แวะมาทักทาย เราอาจเป็นเด็กร่วมสมัยกัน และมีความทรงจำดีๆร่วมกัน
โดย: Insignia_Museum วันที่: 8 ตุลาคม 2556 เวลา:21:04:40 น.
  
ขอคาราวะผู้เขียนครับ คือผู้เขียนพอรู้จักโรงกลึงเฮียเล็กที่อยู่ปากคลองสามวาบ้างไม๊ครับคือผมเกิดทีหลัง ได้แค่ทันเรียนวัดประสาทสิทธิ์ 1 ปี ประมาณปี พศ 2525 ตอนป1 แล้วก็ย้ายมาเพรชบูรณ์ตั้งแต่นั้นมา ตอนนั้นจำได้เพียงแค่เวลาเดินไปโรงเรียนต้องเดินผ่านสะพานไม้ของโรงสีครูยงค์ และวิหารหลวงพ่อไตรรัตน์ ซุ้มยังเป็นไม้....ประมาณช่วงนี้แหล่ะครับ คืออยากฟังประวัติคุณเตี่ยผมบ้าง จะดีจะร้ายยังไงก็ฟังกันขำๆครับ พอจะพอรู้บ้างไม๊ครับ เพราะเมื่อก่อนถ้าจำความรู้สึกไม่ผิดแล้ว เราจะรู้กันทั้งอำเภอไช่ไม๊คับ ขอความกรุณาเล่าให้ฟังหน่อยน๊ะครับอยากรู้มาก ครับ pramotj@hotmail.com ส่งไปเตือนด้วยครับ ...ส่วนตัวผมก็ไปมาหาสู่ที่นั่นประจำ เพราะคุณแม่เป็นคนที่นั่นมักจะพาไปสังสรรค์กับญาติพี่น้องที่นั่น ส่วนตัวผมตอนนี้คุณแม่เสียแล้ว ก็อยากจะกลับไปตั้งต้นชีวิตใหม่ที่นั่นเหมือนกัน เพราะรู้สึกมีความทรงจำดีๆเก่าๆกับดำเนินมากครับ..ทั้งวัฒนธรรม และความดีงาม..ปล. เลี๊ยบ
โดย: mot IP: 14.207.183.145 วันที่: 14 มีนาคม 2557 เวลา:21:01:40 น.
  
ต้องขออภัย ไม่สามารถให้ข้อมูลได้ครับ
โดย: Insignia_Museum วันที่: 14 มีนาคม 2557 เวลา:21:32:47 น.
  
ผมก็ศิษเก่าวิชิตดำเนินศึกษาคนหนึ่งรุ่นปี14-16เรียนป5-ป7มีคุณครูที่จำได้ก็คุณครูสุภรณ์ คุณครูประสงค์ คุณครูมนูญมีคุณครูวินัยเป็นครูใหญ่ต่อมาก็มีคุณครูจิราภรณ์มาแทนคุณครูวินัยเพื่อนที่เรียนด้วยกันที่พอจำชื่อได้ก็มีโชติ ปรีชา เผชิญโชค เบญจวรรณ ปราณี หลังจบป7ก็ออกมาทำงานที่กรุงเทพพักหนึ่งแล้วถึงกลับมาเรียนต่อศีกษาผู้ใหญ่ที่วัดโชติจำชื่อเพื่อนรักคนหนึ่งได้ ชื่อสร้อยลดา นานๆจะกลับดำเนินที่ ไม่เคยเจอกับใครเลย อ่านบทความนี้แล้วรู้สึกคิดถึงเพื่อนสมัยเด็กเลยที่เขียนมาถ้าเผอิญใครที่เป็นเพื่อนๆได้อ่านติดต่อมาคุยกันได้ที่kitsada.953@gmail.com
โดย: วิเชียร IP: 27.55.104.75 วันที่: 30 ตุลาคม 2557 เวลา:9:57:52 น.
  
ดีมากเลย เป๊ะมากอะ ที่เล่ามานี่ ใช่เลย
โดย: ไพฑูรย์ แซ่ลี้ IP: 124.122.57.227 วันที่: 28 พฤษภาคม 2559 เวลา:0:14:11 น.
  
ผมคนดำเนินครับ จบม.ศ.3 ที่รร.ตรงจิตวิทยาบ้านแพ้ว พ.ศ.2511 บ้านเตี่ยอยู่หลักห้าตรงปากคลองสามวา คานเรือที่ติดกันเป็นบ้านลุง จำบรรยากาศเหล่านี้ได้ดี เวลานั้นตลาดนำ้ปากคลองโพธิ์หักน่าจะคึกคักกว่าที่ปากคลองลัดพลีนะครับ หลังจากรถยนต์เข้าถึง เรือก็ค่อยๆลดลง ทั้งเรือแดง เรือโยง เรือหางยาว รวมทั้งพอมีเขื่อนวชิราลงกรณ์ ทำให้ไม่มีหน้านำ้อีกเลย ปลาที่เคยชุกชุมก็พลอยหายไปด้วย ผู้เขียนบรรยายได้ดีมาก ขอบคุณที่ทำให้มีความสุขครับ
โดย: เปี่ยม บุญเพ็ญ IP: 58.9.54.37 วันที่: 8 พฤษภาคม 2561 เวลา:20:27:13 น.
  
บ้านริมคลองจะมีเครื่ิองมือหาปลากันทุกบ้าน เด็กๆแค่ขุดไส้เดือน หรือหาแมงแกลบมาเกี่ยวเบ็ดก็จะมีปลาเป็นกับข้าวได้แล้ว คันเบ็ดทำง่ายๆจากไม่ไผ่ผูกสายเอ็นถ่วงตะกั่วก็เพียงพอ รอกตกปลายังไม่มีใช้ ปลาที่หาได้ช่วงหลังนำ้ท่วมจะอร่อยมาก เช่นปลากระทิง ปลาตะกรับ ปลากด ปลาฉลาดพวกผู้ใหญ่จะใช้ปลาสร้อยเกี่ยวเบ็ดเอาไปล่อปลาช่อน ปลาชะโดกัน ถ้าวางข่ายก็จะได้ปลาใหญ่เช่นปลายี่สก ปลาตะเพียน ปลากระมัง เยอะมาก บ้านที่มียอก็ยิ่งสนุก กับการยกยอปลาสร้อยหัวแข็งได้กันเป็นกระสอบๆเอาไปหมักเกลือทำนำ้ปลา (ปลาสร้อยหัวแข็งจะออกทะเลโตเป็นปลากระบอก) ช่วงนำ้ท่วมใหม่ๆนำ้จะขุ่นมาก เศษสวะ ผักตบชวาลอยมากับนำ้ เด็กๆเล่นนำ้ก็จะเป็นตาแดงกัน ปลาที่มากับนำ้ใหม่เป็นพวกปลาตะกละมาก เช่นปลาอ้าว ปลาแก้มชำ้ ปลาแขยง ปัจจุบันนี้ปลาที่พบมากคือ ปลานิล นอกนั้นแทบไม่เจออีกเลย
โดย: เปี่ยม บุญเพ็ญ IP: 58.9.54.37 วันที่: 8 พฤษภาคม 2561 เวลา:21:34:00 น.
  
ยินดีครับคุณเปี่ยมที่เข้ามาเพิ่มความรู้และประสบการณ์ในช่วงนั้น ทำให้บทความนี้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
โดย: Insignia_Museum วันที่: 9 พฤษภาคม 2561 เวลา:13:22:35 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Klongrongmoo.BlogGang.com

Insignia_Museum
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 66 คน [?]

บทความทั้งหมด