ชิงชัง พิมพ์ครั้งที่ 5 ในวาระครบรอบ 10 ปี













จากใจนักเขียน

นวนิยายชิงชัง บทประพันธ์ของ จุฬามณี ถูกตีพิมพ์รวมเล่ม และวางแผง เมื่อเดือน มีนาคม ๒๕๕๐นับได้ ๑๐ ปี ถ้าเป็นทางพระก็เรียกว่า เป็น ‘พระเถระ’ ผ่านการเรียนรู้และรู้เห็นมามาก...

ทุกวันนี้ เวลาเดินทางไปให้ความรู้หรือ แนะแนว กับ นักเรียน นักศึกษา และประชาชนโดยทั่วไป เบื้องต้นถ้าทางผู้ดำเนินรายการไม่เท้าความถึงประวัติความเป็นมาของผมแบบสั้น ๆผมก็จะพูดถึงเอง ส่วนที่เขียนบันทึกนั้น ก็บันทึกไว้ในเฟซบุ๊คบ้างแต่ไม่ได้ร้อยเป็นเรื่องราวแบบเขียนนิยายเพื่อบันทึกหน้าประวัติผลงานของตัวเองไว้...


เนื่องในวาระที่ ชิงชัง และนามปากกา จุฬามณี รวมถึง เฟื่องนครและชอนตะวัน มีอายุ ครบ ๑๐ ปี (ทั้ง ๓ นามปากกาเกิดขึ้นในปีเดียวกัน)ผมจึงถือโอกาสนี้ เขียนบันทึกนี้เพื่อเป็นอนุสรณ์ว่า กว่าที่ หนังสือนิยาย เรื่องนี้จะเกิดขึ้น นั้น ผมได้รับแรงบันดาลใจมาจากไหน


ย้อนกลับไปเมื่อปี ๒๕๔๓เดือนมีนาคม ผมเรียนจบจาก มหาวิทยาลัยรามคำแหง หัวหมาก ได้ใบรับรองปริญญาเรียบร้อยพอดีกับสิ้นบุญของปู่ ผมกลับนครสวรรค์ เพื่อบวชเณรหน้าไฟ หลังจากนั้น   ก็ตัดสินใจบวชพระต่อ ด้วยคิดว่า อายุ ๒๒ แล้วครบบวชแล้ว เรียนจบแล้ว รีบบวชทดแทนบุญของคุณพ่อแม่ซะสึกแล้วจะได้ไปทำงานได้อย่างเต็มที่ไม่ต้องมีเรื่องพะว้าพะวัง คนบวชใหม่ ก็เป็นเหมือนผลไม้ยังไม่ลืมต้น ชีวิตพระบวชใหม่ ในพรรษาแรกนั้น ยังเต็มไปด้วยความสับสน...แรกบวชนั้น แม่ถามว่า จะบวชกี่วัน ด้วยเป็นคนห่างวัดคิดว่าเรื่องบวชพระเรื่องวัดเป็นเรื่องไกลตัว ผมก็ตอบไปว่า ยังไม่รู้แต่ความที่ไม่รู้ ไม่เคยรับรู้ ไม่เคยอยู่ในความสนใจสักนิด กลับทำให้รู้สึกว่าน่าสนใจ ชีวิตในวัดเป็นอะไรที่รู้สึกสบายและคุ้นเคย จนกระทั่งจะใกล้เข้าพรรษาแม่ก็มาถามว่า ท่านจะบวชเอาพรรษารึเปล่า ตอนนั้นก็จวนแจแล้ว และก็บวชมาสี่ห้าเดือนแล้ว ถือว่านานมากสำหรับคนยุคปัจจุบัน ก็ตอบไปว่า คงเอายังไม่นึกอยากสึก ระหว่างสี่ห้าเดือนก่อนหน้านั้น นอกจากคร่ำเคร่งกับการท่องบทสวดมนต์อย่างเอาเป็นเอาตายเพราะอยากจะทดสอบว่าความจำของตัวเองนั้นดีเลิศขนาดไหน คือ ปกติ ไม่ชอบท่องจำอะไรแล้วไม่ได้เรียนสายท่องจำแบบพวกเรียนกฎหมายแต่ชอบจดจำและชอบเรื่องของจินตนาการมากกว่า ก็จดจำบทสวดมนต์ทั้งทำวัตรเช้า-เย็นเจ็ดตำนาน สิบสองตำนานได้ เมื่อบวชแล้วก็ต้องเรียน เข้าพรรษาเริ่มเรียน นักธรรมตรีได้อ่านพุทธประวัติ ศึกษาพระธรรมลงมือปฏิบัติมากยิ่งขึ้นและด้วยเป็นคนชอบอ่านหนังสือ พอเป็นพระ ก็มีเวลาที่จะอ่าน ก็อ่านไล่ดะไปหมดจนเกิดความเข้าใจ ศาสนาพุทธมากยิ่งขึ้น จนกลายเป็นความเลื่อมใสศรัทธาอย่างแรงกล้า


...และด้วยเป็นคนชอบอ่านหนังสือกับ ยังเป็นมะม่วงไม่ลืมต้น จึงทำให้ต้องลงมือเขียน เริ่มจากเรื่องสั้นเริ่มจากเรื่อง ความรักสีส้ม ได้ลงในขายหัวเราะ เรือนตาย ได้ลงในสยามรัฐรอยแผลเป็น ขวัญเรือน และ วันชื่นคืนเคยที่เคยชิดใกล้ ได้ลง หญิงไทยการเขียนเรื่องสั้นนั้น หนึ่งเป็นความฝัน สองต้องการอยากรู้ว่าตนเองที่มีปริญญาตรี สื่อสารมวลชนของรามคำแหงนั้น มีความรู้ความสามารถสมปริญญา-ตรีใบนั้นหรือเปล่า หลังจากเรื่องสั้นได้ ลงนิตยสารก็ขยับมาเขียนเรื่องยาว เริ่มต้นราว ๆ กลางปี ๒๕๔๓ ในพรรษาแรกนั่นเอง เริ่มจากแจกันดอกหญ้า ไม่ต้องรักเท่าฟ้า(เขียนไม่จบ) แล้วก็มาเขียน ชิงชัง เมื่อกลางปี ๒๕๔๔(เขียนไม่จบ) สุดท้าย มาเขียน ตะเกียงกลางพายุนิยายแห่งธรรมที่ค่อนข้างชัดเจนเป็นเรื่องแรก เขียนเพราะอยากบอกเล่าว่า      ใจของคนที่ถูกฝึกโดยธรรมวิธีของพระพุทธเจ้านั้นสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองได้...ชั่วก็ดีได้ถ้ามีธรรม


ก่อนที่จะเขียนชิงชัง ผมเคยฝึกมือโดยการเขียน เรื่องสั้น และเขียนนิยายมาบ้างแล้วกระทั่งวันหนึ่ง อามณฑาที่ดูแลย่าอยู่ที่บ้านจะเดินทางไปบ้านสามีของอาที่จังหวัดอ่างทองหลายวัน อาก็บอกกับผม ขณะเดินบิณฑบาตว่าช่วงกลางวัน ให้เดินจากวัดคีรีวงศ์ กลับมาอยู่เป็นเพื่อนย่าหน่อยนะทิ้งย่าไว้คนเดียวแล้วเป็นห่วง...


หลังฉันเพลแล้วผมก็เดินกลับมาบ้านย่า(บ้านหลังที่ผมอยู่ปัจจุบันนี้)คือ ผมมาจาก บ้านที่อำเภอลาดยาว มาเรียนหนังสืออยู่ที่ในเมืองนครสวรรค์ตั้งแต่ปี  ๒๕๓๖ ถึงต้นปี ๒๕๓๙ ผมก็ไม่เคยคุยกับย่าในเรื่องราวลึกๆรึซักประวัติความเป็นมาในชีวิตของย่าแต่อย่างใดเพราะไม่เคยอยากรู้เรื่องในอดีตของใครทั้งสิ้น มีหน้าที่เรียนก็ไปเรียนกลับมาก็ช่วยย่าทำงานบดพริกป่นไป ทำการบ้าน ดูละคร เข้านอนเช้ามาก็ไปเรียนชีวิตก็วน ๆ เวียนอยู่อย่างนั้น...


แต่วันนี้นั่งอยู่กันสองคน หนึ่ง เราโตขึ้นด้วย กับรู้สึกอยากรู้ว่า คนที่ผ่านโลกมาจนอายุแปดสิบกว่าปีเขาได้พบเจออะไรมาบ้าง จะเป็นเหมือน แม่พลอย ตัวละครในนิยายสี่แผ่นดิน ไหม กับอยากชวนคุยให้ไม่รู้สึกเงียบเหงาและห่างเหิน โดยการถามย่าด้วยประโยคแรกว่า“ย่าสามีคนแรกของย่า เป็นใคร ทำไมถึงได้เลิกกัน” คือ ย่ามีลูกกับปู่ ๑๐ คนและก่อนจะมาอยู่กับปู่ มีลูกมาแล้ว ๑ คน พอถูกหลานถาม ย่าที่เกิดปี ๒๔๖๖ก็นิ่งอึ้ง สายตามองไปนอกบ้าน ใจคงนึกถึงอดีตอันแสนยาวนานของตนเองแล้วย่าก็บอกเล่าว่า พ่อของลุง เป็นคนบ้านอยู่ติดกันที่ท่าน้ำอ้อยนั่นแหละเขาทำเสน่ห์ใส่ย่า ..ฮะ อะไรนะทำเสน่ห์...ตอนนั้นผมเองรู้สึกตกใจเป็นอย่างมาก เพราะเรื่องพวกนี้ถือว่าเป็นเรื่องไกลตัว หลังจากนั้น ก็ซัก ๆ แล้วก็ได้ความว่า พื้นเดิมคือ ย่าไม่ได้ชอบผู้ชายคนนี้เพราะเขาเป็นคนมีอุปนิสัยเกรกมะเหรกเกเร เป็นนักเลงหัวไม้ ขี้เกียจสันหลังยาวฯลฯคนไม่ชอบกันเนอะ ก็พูดถึงกันแต่ในทางไม่ดี สรุป ก็คือ เกลียด นั่นแหละ...แล้วทีนี้ผู้ชายอยากเอาชนะก็เลยทำเสน่ห์ใส่...พอได้กันไปแล้ว ก็พากันไปอยู่ที่ หนองโพธิ์อ.มโนรมย์ ชัยนาท (ไม่ใช่ หนองโพ ตาคลี) ก็ทำไร่ทำนากันไป แต่ย่าบอกว่า ความรู้สึกในตอนนั้นคือ เคยเกลียดอย่างไรก็เกลียดอยู่อย่างนั้นหุงหาข้าวปลาอาหารให้กิน ก็ไม่อยากกินด้วย ต่างคนต่างกิน อยู่กันมาจนได้ลูกหนึ่งคนก็คือ ลุง พ่อ(ผู้ใหญ่แก้ว) แม่(แม่ทองคำ) ก็ไปรับกลับเพราะสืบได้ว่าย่าถูกทำของใส่ หลังจากนั้นชีวิตของผู้ชายคนนั้นก็ระหกระเหินไปไม่ได้อยู่ที่ท่าน้ำอ้อยอีกเลย (เพราะถ้าแม่ทองคำ เจอที่ไหน ก็ด่า ด่า ด่า)...พอฟังแล้ว ไม่ได้สงสารย่าเลยนะ แต่สงสารและเห็นใจ ผู้ชายคนนั้นมากกว่า คิดในใจว่าที่เขา ทำลงไป ก็คงเป็น เพราะรัก


ความสงสารความเห็นใจ จะเรียกว่า เป็นอารมณ์สะเทือนใจ  ก็ได้ นอกจากนั้นย่าก็เล่าชีวิตในวัยเด็ก วัยสาวชีวิตของตัวเองซึ่งเป็น ลูกสาวผู้ใหญ่บ้านในยุคนั้นรวมถึงสอดแทรกประเพณี วิถีชีวิตครอบครัวใหญ่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา จนได้เห็นภาพประหนึ่งว่า ดูละคร...โดยเฉพาะเรื่องราวความขัดแย้งระหว่าง พี่ ๆ น้อง ๆซึ่งถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาสามัญของทุกครอบครัว...เพียงแต่จะเกิดขึ้นมากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับแรงจูงใจและปูมเหตุในความขัดแย้ง...


วันนั้นผมเดินกลับวัดคีรีวงศ์มาด้วย ปมสองปม คือ ๑.สมบัติทำให้พี่น้องทะเลาะเบาะแว้งกันกับ เห็นว่า ถ้าเฉพาะสมบัติเรื่องจะไม่แรงพอจนเป็นที่น่าสนใจก็เลยต้องเพิ่มปมที่ ๒. ผู้ชายทำให้พี่น้องเกลียดกันซึ่งปมนี้ถือเป็นเรื่องสมมุติขึ้นมา


กลับถึงกุฏิก็เปิดคอมพิวเตอร์เปิดไฟล์เวิร์ด แล้วก็เขียน คำว่า นวนิยาย ชิงชัง...

จำได้ว่าช่วงเวลาไม่กี่วัน ตัวละคร ยอด อิน อิ่ม อุ่น บังอร อารีย์ เอื้องอรุณ ผู้ใหญ่แก้ว นางทองคำนายยัง นางย้อย ไอ้ยิ่ง รวมถึงตัวละครอื่นๆ หลั่งไหลออกมาจาก จินตนาการโดยหยิบยกประเด็น ที่เคย พบเห็นมาตั้งแต่เล็กแต่น้อย ไม่ว่าจะเป็นการถูกแย่งคนรัก อารมณ์เจ็บปวดของคนที่มีฝันมีหวัง และหวังนั้นพังทลาย อารมณ์โกรธ เกลียด อิจฉา ชิงชังจนเวลาล่วงไม่ไปไม่ทำสิบวัน เขียนได้เกือบยี่สิบบท


หลังจากนั้นก็ต้องวางไว้เพราะติดภารกิจพระกระทั่งว่างก็กลับมาคิดต่อว่าจะพานาวาชีวิตของพวกเขาเหล่านั้นไปจนถึงจดจบได้อย่างไรแรงบันดาลใจจากนิยายเรื่องอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นสี่แผ่นดิน แผลเก่า รวมถึง อาญารักซึ่งมีปมปัญหามาตั้งแต่ชั้นพ่อแม่จนถึงชั้นลูก ถูกวางไว้ในใจคร่าว ๆ แต่หาเวลาเขียนได้อย่างยากยิ่งเพราะหนึ่ง ใจที่มุ่งไปทางธรรมก็ต่อต้านไม่อยากคิดจินตนาการกับเรื่องรักใคร่ของโลกกระทั่งต้องวางมือไปโลดแล่นอยู่ในโลกของพระ จนกระทั่งได้เขียนนิยายตะเกียงกลางพายุ นิยายที่สอดแทรกศาสนาเต็ม ๆ จบไปก่อนหนึ่งเรื่อง


วันที่๑ มกราคม ปี พ.ศ. ๒๕๔๘ ผมเลือกที่เดินออกจากวัด เพราะปัญหารุมเร้า ทั้งปัญหาในวัดและ ปัญหาสุขภาพของพ่อที่ป่วยเป็นตับแข็ง ซึ่งต้องการคนดูแลพาไปหาหมอลาสิกขามาวันแรก       ผมต้องไปนอนเฝ้าพ่ออยู่ที่โรงพยาบาล แล้วก็สะดุ้งดื่นมาอย่างหวาดหวั่นใจว่าพรุ่งนี้ จะมีข้าวกินไหม เพราะอยู่วัดตื่นมาก็คว้าบาตรออกเดินแต่เมื่อชีวิตไม่สิ้นก็ดิ้นกันไป ปลอบตัวเองได้เท่านั้น กระทั่งกลาง ๆ ปีพี่ภานุมาศที่เล่นอินเตอร์เน็ตมาก่อนหน้า ก็บอกว่า เห็นมีข่าวประกวดนิยายรางวัล ‘ทมยันตีอะวอร์ด ครั้งที่ ๑’ และพี่ภานุมาศก็รู้ดีว่าผมมีต้นฉบับนิยายอยู่ในมือ ตั้งแต่บวชเป็นพระ หลายเรื่อง...


กติกาของรางวัลนี้มีอยู่ว่าคนที่จะส่งผลงานต้องไม่เคยมีผลงานนิยายรวมเล่มกับที่ใดมาก่อน และถ้าติด ๑ ใน ๒๐เรื่อง งานก็จะได้รับการพิมพ์รวมเล่มจากสำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรมพออ่านระเบียบการคร่าวๆ แล้ว ใจหนึ่งก็คิดว่า น่าสนใจ เพราะ ทุกคนที่ส่ง จะต้องเป็นมือใหม่ และรับตั้งยี่สิบเรื่อง มันน่าจะมีโอกาส แต่อีกใจ เรื่องที่คิดว่าดีที่สุด อย่างชิงชัง ก็ยังเขียน ไม่จบ กับภาระหน้าที่ตอนนั้นก็รัดตัวสุดท้ายก็สรุปกับพี่ภานุมาศว่า คงยังไม่ส่งหรอก รอโครงการที่สองแล้วกันเขาคงต้องจัดอีกแน่ๆ


ช่วงนั้นมีโอกาสประกวดร้องเพลงโครงการค้นคว้าฟ้าดาว ปีที่ ๒ ผมเห็นว่า การประกวดร้องเพลงมีการพัฒนาไปมากขึ้นมาร้องและมีคอมเม้นท์จากกรรมการซึ่งไม่ใช่วิจารณ์แบบเบาๆแต่ใช้ถ้อยคำค่อนข้างรุ่นแรง ก็เลยมาฉุกคิดได้ว่า ถ้างานที่เราเขียน ไว้ทั้ง ๔เรื่อง ไม่มีใครอ่านเลย แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราเขียนนิยายขนาดยาวได้เรื่องได้ราวหรือยัง...

เจตนาแรกที่จะส่งงานโครงการประกวดนักเขียนคือ อยากให้กรรมการอ่าน ไม่คิดหรอกว่า ตัวเองจะได้รางวัลอะไร เพราะตอนนั้น ต้องบอกว่าเพิ่งออกมาจากวัด ซึ่งอยู่มาเกือบห้าปี กับ ๕ พรรษา จนกลายเป็นเป็นผลไม้ลืมต้นลืมการต่อสู้ดิ้นรนแบบทางโลกไปมากทีเดียวเรื่องโพสต์นิยายตามอินเตอร์เน็ตที่มีมาก่อนหน้าบ้างแล้วก็ไม่รู้จัก...เมื่อตัดใจได้แล้วว่าต้องลองดูสักตั้งจึงหวนกลับไปมองงานในมือ เรื่อง แจกันดอกหญ้า(ชื่อเดิม ทุ่งเสน่หา)ไม่ต้องรักเท่าฟ้า ชิงชัง และ ตะเกียงกลางพายุ ประเมินด้วยความรู้สึกของตนเองว่าทุ่งเสน่หา และ ชิงชัง น่าจะส่งเข้าประกวดที่สุด แต่ปัญหาคือ ชิงชังยังเขียนไม่จบสุดท้าย เวลาก็กระชั้นเขามา เพราะทางโครงการบอกว่า ต้องส่งงาน วันที่ ๓๐ ธันวาคม๒๕๔๘ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่ไปรษณีย์เปิดทำการ และทางโครงการก็ต้องการต้นฉบับแบบหน้ากระดาษเอสี่ เรื่องละสาม      ก็อปปี้กับต้องบันทึกไฟล์งานลงแผ่นซีดีแนบไปด้วย เมื่อเป็นดังนั้นจึงมองไปที่ต้นฉบับชิงชัง แน่นอนว่า เวลาตั้งแต่เปิดเรื่อง พิมพ์ลงคอมฯและปริ้นออกมาเป็นกระดาษนั้น บัดนี้กระดาษเหลืองตัวอักษรเลือนรางและที่สำคัญที่สุดคือ ไฟล์งานที่บันทึกไว้ในโน๊ตบุ๊คที่หิ้วมาใช้ในวัดและบันทึกลงไดร์ฟเอ(แผ่นสี่เหลี่ยม)นั้นหายไปแล้ว...พอจะส่งงานประกวดก็เลยตัดสินใจ เอากระดาษนั้นไปจ้างเขาพิมพ์ทั้งหมดสามร้อยกว่าหน้าและตัวเองก็มานั่งเขียนตอนที่เหลืออยู่อีกประมาณสิบตอน...สารภาพไว้ตรงนี้เลยว่าทั้งเรื่อง ทุ่งเสน่หา และ ชิงชังแทบไม่ได้อ่านทวนซ้ำเลย และไม่เคยให้ใครอ่านต้นฉบับเต็มเรื่องด้วยเวทีแห่งนี้ไม่มีพี่เลี้ยงจริงๆ มีแต่ความรู้สึกของตนเองที่คิดว่า ดีแล้ว ล้วน ๆเลย... จำได้ว่า วันที่หอบหิ้วงานใส่กล่องไปส่งไปรษณีย์ เป็นวันที่ ๓๐ ธันวาคม๒๕๔๘ เป็นวันสุดท้ายที่ไปรษณีย์เปิดทำการพอดีเด๊ะ


และเมื่อทางเว็บณ บ้านวรรณกรรม เปิดเผยรายชื่อนิยายทั้งหมดที่ส่งเข้าประกวดก็เห็นว่า ชิงชังที่มีความหนาถึง ๔๑๖ หน้าเอสี่ ขนาดฟร้อน ๑๖ อยู่ลำดับที่ ๑๕๑ทุ่งเสน่หา(แจกันดอกหญ้า) ๑๕๒ จากนิยายที่ส่งเข้าประกวด ๑๕๓ เรื่อง.....


หลังจากที่ส่งงานไปแล้วช่วงต้นปี ๒๕๔๙ พอรู้ว่า มีคู่แข่งมากมายก็แทบไม่เป็นอันทำอะไรรอลุ้นแต่ผลการตัดสิน และหวังใจจากชื่อเรื่องที่เห็นว่า สองเรื่องที่ส่งไปน่าจะเข้าตากรรมการบ้าง ตอนนั้นทางโครงการบอกไว้ว่า จะประกาศผลยี่สิบเล่มประมาณเดือนเมษายน แต่ทำไปทำมา ก็ทยอยประกาศผล ครั้งแรก ต้นเดือนกรกฎาคม ๕ เรื่อง ครั้งที่สอง กลางเดือน อีก ๔ เรื่องรวมเป็น ๙ เรื่อง และหนึ่งในนั้น ไม่มี นิยายทั้งสองเรื่องของเรา แต่ใช่ว่า อีก ๑๑เรื่อง ที่ยังเหลือ เราจะไม่มีหวังกระทั่งเดือนสิงหาคม ปีเดียวกัน ก็ได้รับโทรศัพท์จากสำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรมว่านิยายเรื่อง ชิงชัง เข้ารอบยี่สิบเล่มสุดท้าย และจะได้พิมพ์รวมเล่มตามกติกาแต่ว่าจะต้องเข้ามาคุยและมาเซ็นสัญญากันก่อน วันที่ได้รับโทรศัพท์นั้นผมเดินทางไปหาเพื่อนที่ดอนเมืองพอดี กำลังจะออกไปห้างไปดูหนังพอรู้ข่าวก็กระโดดตัวลอยดีใจมาก...


ปลายปี๒๕๔๙ นิยาย ที่เข้ารอบ ๒๐ เรื่อง ทางสำนักพิมพ์ฯ ก็ทยอยพิมพ์รวมเล่มเพราะช่วงปลายปี ประมาณเดือนธันวาคม จะมีการประกาศผลรางวัลที่ ๑ ซึ่งเงินรางวัลสูงถึงสามแสนบาท ถามว่า ลุ้นกับเงินก้อนโตไหม ตอบว่า ลุ้นมาก กระทั่งถึงวันตัดสินซึ่งจัด ที่อาคาร   เอสซีบี พาร์ค พลาซ่า ถ.รัชดาฯก็ยังไม่เห็นหนังสือผลงานของตัวเอง และแน่นอนว่า เรื่องที่ได้รางวัลที่ ๑-๕เป็นนิยายที่ได้พิมพ์รวมเล่มก่อนหน้านั้น...


และตั้งแต่วันนั้นผมก็เฝ้ารอภาพปก ซึ่งถือเป็นหน้าแรกที่ นักอ่านจะได้เห็น รอแล้วรอเล่า รออย่างทรมานพอ ๆ กับที่รอให้กรรมการประกาศผล กระทั่งเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๐จึงได้เห็นปกผ่านเว็บไซด์ ได้ตรวจอาร์ตซึ่งผ่านการอีดิดจากบก.ไปแล้วอีกรอบและได้เห็นผลงานของตัวเองที่งานสัปดาห์หนังสือที่จัด ณศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิตเป็นครั้งแรก

ตอนนั้นตื่นเต้นดีใจมาก เหมือนกับว่า บิดา-มารดาเห็นหน้าบุตรที่ถนอมไว้ในครรภ์ครั้งแรก...ผมจึงถือว่า วันที่เห็น ผลงาน ชิงชังแบบรูปเล่ม เป็นวันที่เริ่มต้นนับหนึ่งกับ บรรณพิภพ นี้...


และตั้งแต่วันนั้นจนถึง วันนี้...นับได้ ๑๐ ปีล่วงผ่านใจหนึ่งก็อยากทำอะไรเพื่อเป็นอนุสรณ์ให้กับชีวิตนักเขียน แต่ก็รู้ดีว่าตัวเองไม่มี ต้นสังกัดชัดเจนตลอดสิบปีบนเส้นทางสายน้ำหมึก งานเกือบสามสิบเรื่อง ส่งไปพิมพ์กับสำนักพิมพ์ต่าง ๆนับได้เป็นสิบแห่ง และท่ามกลางความผันผวนทางเศรษฐกิจประกอบกับทิศทางของวงการสื่อสิ่งพิมพ์เปลี่ยนไปทำให้ยากจะมีโอกาสพิมพ์งานเก่าฉลองวันครบรอบสิบปีของตัวเอง...แต่เมื่อปัจจุบันเทคโนโลยีการพิมพ์พัฒนาไปจนไม่จำเป็นต้องพิมพ์เพลทและพิมพ์ครั้งเดียวด้วยจำนวนหลายร้อยหลายพันเล่ม ผมจึงตัดสินใจ จัดหน้า ทำปก พิมพ์ชิงชังฉลองสิบขวบปี...


และเพื่อให้หนังสือเล่มนี้ทรงคุณค่ากับท่านผู้มีอุปการคุณ   ผมจึงได้ ตั้งใจเขียนจากใจนักเขียนขึ้นซึ่งนับว่าเป็นการเขียนครั้งแรกกับนิยายเรื่องชิงชัง พร้อมกันนี้ก็ได้ขออนุญาตนายปิยวัฒน์ ดีเหลือ อดีตนักศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล คณะศิลปะศาสตร์ เอกภาษาไทยซึ่งได้เคยนำ นวนิยายชิงชังไปวิเคราะห์วิจารณ์ในรูปแบบสารนิพนธ์มาพิมพ์รวมในเล่มนี้ด้วย...เพื่อเป็นอนุสรณ์ว่า งานชิงชังงานที่เป็นเรื่องแจ้งเกิด นามปากกา จุฬามณี งานที่เป็นจุดกำเนิดงานเขียนสไตล์ลูกทุ่งพีเรียด ซึ่งกลายเป็นงานที่ได้รับการยอมรับในวงกว้างและกลายเป็นเรื่องทันสมัยขึ้นมาเพราะหลังจากที่หนังสือนิยายชิงชังวางแผงในเดือนมีนาคม ปี ๒๕๕๐ จนถึงวันที่ ๑ธันวาคม ๒๕๕๐ ผมได้ไป เซ็นสัญญากับบริษัท exact ซึ่งผลิตละครออกอากาศทาง ททบ.๕ ในตอนนั้นดีใจว่างานที่ฟูมฟักมาหลายปี ได้ไปถึงฝั่งอย่างที่ใจปรารถนา ...เพราะระหว่างที่เรียนอยู่มหาวิทยาลัยรามคำแหงเคยคิดฝันอยู่ว่า อยากมีผลงานนิยายรวมเล่มอยู่ในร้านดอกหญ้า ร้านนายอินทร์ร้านหนังสือชั้นนำเหมือนนักเขียนชั้นครูที่เคยหยิบของท่านมาอ่าน และงานชิ้นนั้นจะถูกซื้อไปสร้างละครโทรทัศน์...


กระทั่งวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๕๒ วันที่รู้สึกปลาบปลื้มกับความฝันของตัวเองอีกครั้งเมื่อได้เห็นที่หน้าจอ ช่อง๕ มีคำว่า ชิงชัง บทประพันธ์ ของ จุฬามณีและตั้งแต่วันนั้น จนถึง         ๒๙ ตุลาคม ๒๕๕๒ ทุกวันจันทร์-วันพฤหัสเป็นช่วงที่ชีวิตมีความสุขเป็นอย่างมาก เพราะจินตนาการอันเกิดขึ้นจากการบอกเล่าเพียงสั้น ๆ ของย่ากลายเป็นภาพละครที่คนหลายล้านคนเฝ้าติดตามดูชีวิตของพวกเขา...และละครชิงชังทำให้ผมมีนิยายสไตล์นี้ออกมาอีกหลายต่อหลายเรื่อง


ที่สุดนี้ขอขอบคุณ ย่าหงษ์ เที่ยงธรรม ซึ่งเป็นผู้จุดประกาย ให้หลานคนนี้ ค้นพบว่าเรื่องรอบตัวของเรานั้นสามารถนำมาสร้างเป็นพล็อตนิยายได้แม้ว่าจะเป็นเรื่องของชาวบ้านร้านตลาดก็ตามที และ ทุกวันนี้ นักอ่านหลาย ๆ ท่านก็ให้การยอมรับว่า ถ้าจะอ่านงานลูกทุ่ง พีเรียดต้องอ่านงานของจุฬามณี...


ขอบคุณสำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม กับเวทีแจ้งเกิด โครงการถนนสู่ดวงดาว เพื่อชิงรางวัลทมยันตีอะวอร์ด ครั้งที่ ๑ ขอบคุณ บก.รักชนก นามทอนกับบทบรรณาธิการที่อ่านครั้งใดก็รู้สึกปลาบปลื้มใจ


ขอบคุณบริษัท เอ็กแซ็กท์–ซีเนริโอ ที่หยิบบทประพันธ์ ชิงชัง ไปเจียระไน โดยคุณศิริลักษณ์ ศรีสุคนธ์ มือเขียนบท ช่วยให้ชิงชัง เปล่งประกายงดงามขอบคุณนักแสดงทุกท่านที่ถ่ายทอดทุกเรื่องราวและอารมณ์ออกมาได้อย่างกับเดินออกมาจากหนังสือ


ขอบคุณมิ่งมิตรในสวนน้ำหมึกทุกๆ ท่าน โดยเฉพาะ        คุณโมริสาผู้ส่งงานเข้าประกวดโครงการเดียวกัน และ ยังเป็นมิตรที่ดีต่อกันจนถึงวันนี้


และสุดท้าย ขอขอบคุณเพื่อนนักอ่านทุก ๆ ท่านที่ได้อ่านและให้กำลังใจกับงานสไตล์ของผมจนผมสามารถพูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำและพูดได้อย่างไม่อายใครว่าปัจจุบันประกอบอาชีพนักเขียน


แน่นอนว่าหากงานที่เคยเขียน มีความผิดพลาดประการใดก็ขออภัยไว้ ณ ที่นี้ หากว่างานชิ้นนั้นยังประโยชน์ เป็นไปเพื่อยกระดับจิตใจ อย่างที่ผมตั้งใจไว้ก่อนจะลงมือเขียนก็ขอกุศลศรัทธาในความดีนั้น ช่วยดลบันดาลให้คนอ่านทุก ๆ ท่านมีสุขภาพร่างกายแข็งมีแต่ความสุข ความเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไปด้วยเทอญ...


ขอบคุณที่อยู่ด้วยกันมาตลอดสิบปี

จุฬามณี-เฟื่องนคร-ชอนตะวัน

๒๗สิงหาคม ๒๕๖๐

ณเรือนจิตรา

 *************************

สำหรับ ชิงชัง ฉบับ พิมพ์ครั้งที่ 5 มีความหนา 738 หน้า ราคา 500 บาท...พิมพ์แบบปริ้นออนดีมานด์ กระดาษถนอมสายตา ไม่มีจำหน่ายตามร้านหนังสือทั่วไป...

สนใจ สั่งซื้อที่ id line : nopnakrab

หรือที่ เฟสบุ๊ค นพนธ์ นครสวรรค์







Create Date : 27 กันยายน 2560
Last Update : 27 กันยายน 2560 22:57:58 น.
Counter : 2478 Pageviews.

1 comments
  
เคยดูเวอร์ชั่นละครค่ะ ช่อง 5 ติดมาก
โดย: kunaom วันที่: 28 กันยายน 2560 เวลา:17:01:42 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Julamanee.BlogGang.com

F_nakhon
Location :
นครสวรรค์  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]

บทความทั้งหมด