ตำนานพระพุทธเจ้า โดย เครื่องสำริด วงษ์ทองอยู่
ห้  อ  ง  ส  มุ  ด  ส่  ว  น  ตั  ว

หนังสือที่นำมาแนะนำกันในวันนี้ เป็นอีกเล่มที่ชอบมากที่สุด
เป็น พุทธประวัติของพระพุทธเจ้า แบบฉบับที่อ่านง่าย เข้าใจง่าย และเห็นภาพชัดเจน

ในวันที่โลกพัฒนาไปอย่างไม่หยุดยั้งทางด้านเทคโนโลยี

ก็ยิ่งดูเหมือนว่าคนไทยชาวพุทธจะยิ่งห่างไกลพุทธศาสนา โดยเฉพาะการ
ตระหนักถึงคุณค่าของพุทธประวัติน้อยลงไปทุกที

อยากจะแนะนำสำหรับคนที่นับถือศาสนาพุทธ
ควรมีเก็บไว้ประจำบ้านค่ะ



ตำนานพระพุทธเจ้า

 เครื่องสำริด  วงษ์ทองอยู่  เรียบเรียง
โอม  รัชเวทย์  สร้างภาพ

สำนักพิมพ์อมรินทร์ ธรรมะ  :  เล่มเดียวจบ
ปกแข็ง  195 หน้า  ราคา 339 บาท

พุทธประวัติฉบับประชาชน หนังสือมงคลของชีวิต



ตำนานพระพุทธเจ้า เล่มนี้ ได้เรียบเรียงพุทธประวัติขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ไว้อย่างดีมากแล้ว หากจะตัดใจความใดออกไปเป็นเรื่องยากหรือนำมาเล่าแบบอย่างย่อได้อีก
ดังนั้น เราจึงขอยกประเด็นสำคัญที่มีในหนังสือเล่มนี้ มาเล่ากันนิดหน่อยค่ะ

หนังสือเล่มนี้แบ่งออกเป็น 29 บท แต่ละบทก็จะมีเหตุการณ์สำคัญ
เชื่อว่าคงไม่มีพุทธศาสนิกชนใด ไม่รู้จักพุทธประวัติหรือเรื่องราวของพระพุทธเจ้า
และวันสำคัญทางศาสนาพุทธ ตามพุทธศักราชของปฏิทินไทย

เล่มนี้ได้เรียบเรียงพุทธประวัติของพระพุทธเจ้าได้ออกมาเข้าใจง่าย
จึงอยากจะทำรีวิวและแนะนำเพื่อนชาวพุทธทุกคน
ควรมีไว้ประจำบ้านค่ะ

เราจะแบ่งการรีวิวออกเป็นทั้งหมด 5 ตอน นะคะ
คือ ประสูตร เสด็จออกบรรพชา ตรัสรู้ เผยแผ่พระธรรม และปรินิพพาน





 

ประสูตร

พระโพธิสัตว์สันดุสิต ได้มาจุติในครรภ์ของ พระนางสิริมหามายา
พระมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนะ กษัตริย์แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ เมืองหลวงของแคว้นสักกะ


ประสูติในศุกร์ เวลาเที่ยงวัน ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6  ปีจอ ก่อนพุทธศักราช 80 ปี
คือ วันเพ็ญที่พระจันทร์เต็มดวงตอนเที่ยงคืน หรือ วันวิสาขบูชา นั่นเอง

ทรงมีพระนามว่า เจ้าชายสิทธัตถะ แปลว่า ผู้สำเร็จความมุ่งหมายแล้ว
คราวที่พระพุทธเจ้าประสูตร ได้มีทั้งคน สัตว์ สิ่งของ เกิดขึ้นในเวลาเดียวกันตามสถานที่อันสมควร
ซึ่งเรียกว่า สหชาติ รวมเจ็ดอย่าง ที่จะเกี่ยวข้องกับพระองค์ต่อไป

นั่นก็คือ  เจ้าหญิงยโสธราพิมพา พระอานนท์ นายฉันนะ อำมาตย์กาฬุทายี
ม้ากัณฑกะ ต้นพระศรีมหาโพธิ์ และ หม้อขุมทรัพย์ทั้งสี่




เมื่อพระกุมารมีพระชนมายุได้ 5 วัน 
มีตัวแทนพราหมณ์ 8 คนทำนายดวงชะตาของพระกุมาร

พราหมณ์ 7 คน ได้ทำนายไปสองทางว่า..
หากครองราชบัลลังก์เป็นพระราชา จะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิที่ยิ่งใหญ่
ถ้าเสด็จออกบรรพชา ก็จะได้เป็นพระศาสดาเอกของโลก


มีเพียงพราหมณ์หนุ่มอายุน้อยคนเดียวชื่อ โกณฑัญญะ ยกนิ้วเดียว
ทำนายว่า พระกุมารสิทธัตถะ จะเสด็จออกบรรพชาและตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน

ส่วนพระนางสิริมหามายา ประสูตรพระกุมารได้ 7 วัน ก็สิ้นอายุขัย
ไปจุติเป็นเทพบุตรอยู่ในสวรรค์ชั้นดุสิต  พระเจ้าสุทโธทนะก็แต่งตั้งพระนางปชาบดีโคตมี
พระขนิษฐาของพระนางสิริมหามายาเป็นพระมเหสี ทำหน้าที่ดูแลเจ้าชายสิทธัตถะ

ต่อมาพระนางมีพระโอรสและพระธิดาที่มีหน้าตาคล้ายเจ้าชายสิทธัตถะ
คือ เจ้าชายนันทกุมารและเจ้าหญิงรูปนันทา

เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะมีพระชนมายุได้ 8 ขวบ ในขณะที่พี่เลี้ยงเผลอ
ทิ้งเจ้าชายให้ประทับอยู่ใต้ร่มเงาของต้นหว้าเพียงลำพัง พระองค์ทรงทำวิปัสนากรรมฐานโดยไม่มีใครสอน

ระลึกรู้ถึงลมหายใจเข้าออก นั่งสมาธิ จิตและกายสงบนิ่ง
โดยมีร่มเงาของต้นหว้าช่วยบดบังแสงอาทิตย์ตลอดเวลาให้เป็นที่น่าอัศจรรย์ใจอย่างยิ่ง

ส่วนพระเจ้าสุทโธทนะ ก็พยายามให้เจ้าชายสิทธัตถะเป็นพระราชาไม่อยากให้ออกผนวช
จึงทำทุกอย่างไม่ให้เจ้าชายออกผนวช ให้หลงมัวเมาอยู่ในโลกความสุขสำราญและให้อภิเษกกับ
เจ้าหญิงยโสธราพิมพาซึ่งเป็นพระธิดาของพระเจ้าสุปปพุทธแห่งกรุงเทวทหะ





 

เสด็จออกบรรพชา

ครั้นเมื่อเจ้าชายมีพระชนมายุ 29 พรรษา เทวดาได้ส่ง "เทวทูตทั้งสี่"
ชักจูงให้เจ้าชายทรงออกบวช ด้วยการแปลงกายเป็นคนแก่  คนเจ็บ  คนตาย และนักบวช

ทำให้เจ้าชายทรงรู้ทรงเห็นแล้วก็คิดหาทางหลุดพ้นจากการเกิดแก่เจ็บตาย
สุดท้ายทรงคิดออกบวช แต่ในขณะนั้น พระโอรสของพระองค์ก็ประสูตรพอดี พระองค์ทรงอุทานมาว่า
"ราลุลัง ชาตัง" แปลว่า บ่วงได้เกิดขึ้นแล้ว และทรงตั้งชื่อพระกุมารว่า "ราหุล"

เจ้าชายตัดสินใจเสด็จออกจากเมืองด้วยความมุ่งมั่นว่าจะบวชเป็นสมณะ
เพื่อหาหนทางแห่งการหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด อันเป็นความทุกข์ของมนุษย์ในครั้งนี้
โดยเสด็จออกจากวังกับม้ากัณฐกะและนายฉันนะ ผู้เป็นสหชาติของพระองค์

หลังจากส่งเสด็จเจ้าชายแล้ว ม้ากัณฐกะก็ตรอมใจตายไปเกิดเป็นกัณฐกะเทพบุตร
ส่วนนายฉันนะ กลับวังพร้อมกับเครื่องประดับทั้งหมดของเจ้าชายที่ฝากถวายพระบิดาที่กรุงกบิลพัสดุ์

เจ้าชายเสด็จข้ามแม่น้ำอโนมานทีไปอีกฟากหนึ่ง อยู่ในแคว้นมัลละ
ตรงริมฝั่งนี้มีสวนมะม่วง ชื่อว่า อนุปิยอัมพวัน ทรงใช้ดาบตัดพระเกศาและทรงประกาศว่า

"เราตั้งใจจะปฏิบัติตนเป็นสมณะ ด้วยความปรารถนาจะค้นหาหนทางแห่งการหลุดพ้น
จากการเวียนว่ายตายเกิดด้วยความเพียรพยายาม หากความเพียรพยายามนี้เป็นผลสำเร็จ ขอให้เส้นผมของเรา
จงอย่าได้ตกถึงพื้นเลยแม้สักเส้นเดียว
" จากนั้นก็โยนพระเกศาไปในอากาศ

ท้าวสักกะ ผู้ปกครอง สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ตรงเข้าไปเอาพานทองรองรับเส้นพระเกศานั้นทั้งหมด
แล้วนำไปบรรจุไว้ในพระเจดีย์จุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งยังอยู่มาจนถึงทุกวันนี้


ท้าวฆฎิการพรหมนำผ้ากาสาวพัสตร์ซึ่งเป็นผ้าย้อมสีฝาดสีเหลืองเหมือนแก่นไม้ขนุน
ถวายแด่เจ้าชายสิทธัตถะและบาตรดินถวายไว้สำหรับออกบิณฑบาต พระนามที่ใช้เรียกขานก็เปลี่ยนเป็น
พระสมณโคดม ตามชื่อตระกูล (โคตมะหรือโคดม) ของพระองค์


พระองค์ต้องทรงสละความสุขและทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งทรัพย์สมบัติ
ครอบครัว และบ้านเมือง นับเป็นการสละอันยิ่งใหญ่อย่างไม่มีที่เปรียบได้
การเสียสละที่ยิ่งใหญ่นี้ มีชื่อเรียกเฉพาะว่า มหาภิเนษกรมณ์






พระสมณโคดมประทับอยู่ที่สวนมะม่วงอนุปิยอัมพวัน ครุ่นคิดหาทางหลุดพ้นการเวียนว่ายตายเกิดได้ 7 วัน
ก็เสด็จไปทางทิศใต้เข้าสู่เขตกรุงราชคฤห์ ไปประทับบำเพ็ญเพียรอยู่ที่เชิงเขามัณฑวะนอกเมือง

กรุงราชคฤห์เป็นเมืองหลวงของแค้นมคธ ซึ่งเป็นแคว้นใหญ่ของชมพูทวีป
พระราชาที่ครองแคว้นนี้ก็คือ พระเจ้าพิมพิสาร พระองค์ได้ทรงโน้มน้าวพระทัยของพระสมณโคดม
ให้เลิกเป็นนักบวชแต่ไม่สำเร็จ จึงทูลขอคำสัญญาว่า..

..หากค้นพบสิ่งนั้นและรู้แจ้งเป็นจริงจนเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว
ขอให้เสด็จมาแสดงธรรมที่แคว้นมคธก่อนที่อื่น
..

จากนั้นพระสมณโคดมก็เสด็จจากราชคฤห์ต่อไปยังกรุงพาราณสี นครหลวงของแคว้นกาสี
แล้วทรงไปขอศึกษาในสำนักของ ท่านอาฬารดาบส กาลามโคตร ผู้เชี่ยวชาญการบำเพ็ญเพียรทางจิตภาวนา
จนสำเร็จวิชาเหล่านั้นหมดจบในเวลาอันรวดเร็ว แล้วเสด็จต่อไปจนถึงสำนักของ ท่านอุทกดาบส รามบุตร
จนเรียนจบ ก็ยังไม่พบว่าความรู้เหล่านี้ จะนำไปสู่การหลุดพ้นได้อย่างที่ต้องการ

พระสมณโคดมเสด็จไปต่อจนใกล้ถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่งริ่มฝั่ง แม่น้ำเนรัญชรา
ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม
และได้เลือกสถานห่างไกลจากหมู่บ้าน พำนักและบำเพ็ญเพียรภาวนา

พราหมณ์โกณทัญญะที่เคยทำนายว่าเจ้าชายสิทธัตถะจะต้องออกบรรพชาและตรัสรู้
พอทราบข่าวว่าเจ้าชายเสด็จออกบรรพชา จึงชวนนักบวชอีก 4 คน ได้แก่ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ
รวมกันเป็นห้าองค์ เรียกว่า ปัจจวัคคีย์ ติดตามหาพระสมณโคดมจนพบที่นี้




พระสมณโคดมทรงบำเพ็ญเพียรพยายามหาหนทางหลุดพ้นด้วยวิธีการต่าง ๆ ก็ยังไม่สำเร็จ
จนมาขึ้นหนักสุด คือ การทรมานร่างกายหรือที่เรียกว่า การเพ็ญทุกรกิริยา ตลอดระยะเวลาเกือบ 6 ปี
จนท้าวสักกะหรือพระอินทร์ทรงหาทางชี้แนะด้วยเสียงพิณสามระดับ

คือ เสียงพิณที่เนิบนาบหย่อนยาน และเสียงที่ตึงมากเกินไปกลายเป็นแหลม
และเสียงพิณสุดท้ายคือ เสียงปรับได้ระดับพอดี ไพเราะ ทันใดนั้นพระองค์ก็ทรงเกิดสติปัญญา
นั่นก็คือ การยึดมั่นใน "ทางสายกลาง" จึงตัดสินใจเลิกทรมานพระวรกาย

การกลับมาเสวยพระกระยาหารทำให้พระวรกายกลับมาแข็งแรง ทำใหัปัญจวัคคีย์ไม่พอใจและผิดหวัง
ทุกคนคิดตรงกันว่าพระสมณโคดมหมดความเพียรแล้วจึงชวนกันหนีพระสมณโคมไป



ในคืนวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 6 พระสมณโคดมได้ทรงพระสุบิน 5 เรื่องใหญ่ เรียกว่า ปัญจมหาสุบิน
ทำให้พระสมณโคดมทรงมั่นพระทัยว่าพระดำริต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจะนำไปสู่ความสำเร็จในการตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า
และในเช้าของวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 6 ปีระกา ก่อนพุทธศักราช 45 ปี

นางสุชาดา ธิดาของเศรษฐีในตำบลอุรุเวลาเสนานิคมทำ ข้าวมธุปายาส ใส่ถาดทองคำมาแก้บนที่ต้นไทร
เห็นเป็นพระสมณโคดมประทับสงบนิ่งอยู่ นางก็คิดว่านั่นคือ เทพารักษ์ประจำต้นไทร
พระสมณโคดมหาบาตรดินมารับของถวายปรากฎว่าบาตรดินนั้นหายไป

เมื่อไม่มีบาตรดินรับ พระสมณโคดมทรงได้แต่ยื่นพระหัตถ์ออกไปแตะถาด
พระนางสุชาดาเลยถวายทั้งข้าวมธุปายาสพร้อมทั้งถาดทองคำด้วยกันเลย แล้วจึงกลับบ้าน

(ต้นไทร* ที่นางสุชาดาถวายข้าวมธุปายาส)

พระสมณโคดมจึงแบ่งข้าวมธุปายาสในถาดออกเป็น 49 ก้อน
แล้วค่อย ๆ เสวยจนหมด และถือถาดทองคำไปที่แม่น้ำเนรัญชรา ทรงตรัสอธิฐานว่า..
"ถ้าเราจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ขอให้ถาดนี้จงลอยทวนกระแสน้ำขึ้นไป"



ความอัศจรรย์ใจจึงบังเกิดขึ้น ถาดทองลอยทวนกระแสน้ำขึ้นไปไกล 1 เส้น (40 เมตร)
แล้วจึงจมลง ถาดทองนั้นจมลงไปถึงเมืองบาดาล ที่อยู่ของ พญากาฬนาคราช ทำหน้าที่เฝ้าถาดทองคำ
ของพระพุทธเจ้าองค์ก่อน ๆ  ซึ่งในกัปนี้มีพระพุทธเจ้า 5 พระองค์

ซึ่งขณะนี้ได้อุบัติขึ้นและเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว 3 พระองค์
คือ พระกกุสันธะ พระโกนาคมน์ และพระกัสสปะ


ซึ่งทั้งสามองค์ต่างก็มาลอยถาดเสี่ยงทายแบบเดียวกัน พระสมณโคดมจะเป็นพระพุทธเจ้าองค์ที่สี่
ถาดที่จมลงเข้าไปซ้อนอยู่ข้างล่างสุดของสามถาดแรก ทำให้พญากาฬนาคราชสะดุ้งลืมตาขึ้น
แล้วรู้ทันทีว่า บัดนี้จะมีพระพุทธเจ้าองค์ใหม่บังเกิดขึ้นแล้ว



เมื่อพระสมณโคดมเสี่ยงทายแล้ว ก็เดินข้ามแม่น้ำเนรัญชราไปทางทิศตะวันตก
ไปประทับบำเพ็ญเพียรใต้ต้นโพ หรือ ต้นอัสสัตถพฤกษ์

ระหว่างนั้น มีชายตัดหญ้าชื่อ โสตถิยะ เห็นพระสมณโคดมจึงเกิดความเลื่อมใส
ถวายหญ้าคา 8 ฟ่อน ทรงนำไปปูลาดเป็นที่รองนั่งใต้ต้นโพ ท้าวสักกะเฝ้าติดตามพระสมณโคดมมาตลอด
ก็บันดาลให้กองหญ้าที่ปูลาดสูงแปดชั้นให้กลายเป็น รัตนบัลลังก์

รัตนบัลลังก์นี้ ได้เสื่อมสลายไป จนราว พ.ศ.300
พระเจ้าอโศกมหาราช ได้ทรงสร้างขึ้นมาใหม่ตรงที่เดิม ตั้งชื่อใหม่ว่า วัชรอาสน์
และอยู่มาจนถึงทุกวันนี้

พระสมณโคดมประทับนั่งสมาธิบนรัตนบัลลังก์ ทรงหันพระปฤษฎางค์ให้ต้นโพ
หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก ทอดพระเนตรเห็นสายน้ำของแม่น้ำเนรัญชรา
ทรงอธิษฐานเป็นคำมั่นในพระทัยว่า

..แม้พระโลหิต พระมังสาในพระวรกายจะแห้งหายไปหมดจนเหลือแต่พระนหารู
และพระฉวีหุ้มพระอัฐ แต่ถ้ายังไม่ตรัสรู้ก็จะไม่ทรงลุกจากรัตนบัลลังก์นี้อย่างเด็ดขาด
..

สิ้นคำอธิษฐานของพระสมณโคดม เหล่าเทวดาในสวรรค์ทุกชั้นฟ้า
พากันแสดงความปีติยินดีและกล่าวคำสรรเสริญ สาธุ สาธุ สาธุ ต่างโปรยดอกไม้ทิพย์จากสวรรค์
ส่งกลิ่นหอมชื่นใจไปทั่วบริเวณนั้นและพากันลงมาถวายสักการะรอบพระองค์

ส่วน พญามารวสวัตดี ผู้กุมชะตาชีวิตของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตบนโลกไว้
ไม่ให้หลุดพ้นไปจากอำนาจที่กำหนดให้มีการเกิด แก่ เจ็บ ตายจะต้องเวียนว่ายตายเกิด
เมื่อรู้ว่าพระสมณโคดมทรงมุ่งมั่นจะหาหนทางหลุดพ้นไปให้ได้

จึงยกพหลพลมารมาเป็นกองทัพใหญ่ หมายใจจะทำลายการบำเพ็ญของพระสมณโคดม
เมื่อเหล่าเทวดาเห็นพญามารวสวัตดียกพลมาเป็นกองทัพก็หวาดกลัว จึงพากันหนีกลับวิมานไปหมด
ทิ้งให้พระสมณโคดมเผชิญกับกองทัพมารเพียงลำพัง แต่พระองค์ทรงหาได้หวาดกลัว




เมื่อกองทัพสาดอาวุธพุ่งใส่หมายทำร้ายพระสมณโคดม บรรดาอาวุธร้ายแรงของมาร
กลับกลายเป็นดอกไม้นานาพรรณ ดอกไม้เหล่านั้นก็ค่อย ๆ ร่วงหล่นโปรยปรายลงแทบพระบาทของพระสมณโคดม
พญามารโกรธจัด จึงกล่าวตู่ว่ารัตนบัลลังก์ที่พระสมณโคดมประทับอยู่นั้นเป็นของตนให้รีบลุกเสีย

พระสมณโคดมตรัสตอบว่า รัตนบัลลังก์นี้เป็นของพระองค์ พระองค์ไม่เคยทำสิ่งไม่ดี พญามารถามหาพยาน
บัดนั้น นางวสุนธรา พระแม่ธรณี ล่วงรู้ถึงเหตุการณ์จึงปรากฎกายขึ้นและรับเป็นพยานให้และกล่าวว่า

"น้ำที่พระสมณโคดมราดรดลงบนพื้นดินหลังจากความดีทุกครั้ง เรารองรับเก็บไว้ที่มวยผมของเรามั้งหมด"
กล่าวจบ ก็คลายมวยผมยาวใช้มือขวาจับโคนผมส่วนบนศีรษะ มือซ้ายจับส่วนปลายม้วนรวมกันเป็นเกลียวให้ยื่นพาดลง
ฉับพลันนั้นสายน้ำก็หลั่งไหลออกมามากมายมหาศาล ไหลเชี่ยวพัดพาเหล่ามารทั้งกองทัพล้มลุกคลุกคลาน

พญามารวสวัตดีที่ขี่ช้างชื่อ คีรีเมขล์ ตัวสูง 150 โยชน์ 2,400 กิโลเมตร
ความแรงของกระแสน้ำยังพัดพญามารไปไกลสุดขอบจักรวาล กองทัพจึงแตกพ่ายหายไปหมดสิ้น
การที่ทรงพิชิตมารลงได้ ก็คือ การสามารถกำจัดกิเลส นั่นเอง








 
ตรัสรู้

พระสมณโคดมประทับทำสมาธิจิตสงบนิ่งอยู่บนรัตนบัลลังก์จนจิตใจแน่วแน่เป็นหนึ่งเดียว
อย่างที่เรียกว่า ฌาน หรือการเข้าฌาน หรือการหยั่งรู้นั้น เกิดลำดับดังนี้

ยามแรก  พระสมณโคดมทรงหยั่งรู้ถึงชาติก่อน ๆ ของพระองค์เองได้หมดทั้งหมด
คือ ระลึกชาติได้

ยามที่สอง  เกิดการหยั่งรู้ถึงเรื่องราวอันเป็นความทุกข์ของมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายในโลกว่า
เมื่อเกิดมาแล้วต้องรับความทุกข์ที่เป็นไปตามกรรม คือ การกระทำในชาติก่อน ๆ ที่ผ่านมา รวมถึงความเป็นไป
ของสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นบนโลกนี้ ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ทรงหยั่งรู้ได้ทั้งหมด

ยามที่สาม  เกิดความรู้ที่กระจ่างชัดถึงวิธีที่จะให้ทำลายกิเลสที่เป็นต้นเหตุให้มนุษย์และสัตว์โลก
ต้องมีการเวียนว่ายตายเกิด รู้ว่าเมื่อทำลายกิเลสได้ จะหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดนี้ และรู้ว่าวิธีหรือ
หนทางที่จะทำลายความทุกข์ให้สำเร็จนั้นมีอะไรบ้าง

นั่นก็คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค  หรือที่เรียกว่า อริยสัจ 4 นั่นเอง




การรู้แจ้งชัดได้ด้วยตนเองเช่นนี้ เรียกว่า ตรัสรู้
ผู้ตรัสรู้ เรียกว่า พระพุทธเจ้า

ทันทีที่พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นนั้น ผืนแผ่นดินก็เกิดอาการไหวสั่นสะเทือนเลื่อนลั่นรุนแรง
เป็นการแสดงความยินดีและไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์หรือสัตว์ เทวดาบนสรรค์ชั้นฟ้าพากันแสดงความยินดี
โปรยดอกไม้ทิพย์ลงมาเป็นเครื่องสักการะบูชาพระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าตรัสรู้ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีีระกา หรือ วันวิสาขบูชา
ก่อนพุทธศักราช 45 ปี ทรงมีพระชนมายุ 35 พรรษา หลังจากเสด็จออกบรรพชา 6 ปี


พระองค์ทรงใช้ 7 สัปดาห์ หรือ 49 วันหลังตรัสรู้ ใช้เวลาทบทวนและจัดลำดับข้อธรรมะต่าง ๆ
ระหว่างเจ็ดสัปดาห์นี้ ทรงเปลี่ยนสถานที่และทรงเปลี่ยนอิริยาบถในแต่ละสัปดาห์ รวม 7 ครั้ง โดยไม่ฉันอาหารเลย

สัปดาห์ที่สามทรงเดินอย่างมีสติเรียกว่า เดินจงกลม ไปโดยรอบ ต้นพระศรีมหาโพธิ 
*
ในสัปดาห์ที่ห้าทรงเปลี่ยนไปประทับที่ ต้นไทร พระพุทธเจ้าทรงเผชิญกับธิดาทั้งสามของพญามารวสวัตดี
ต่างพยายามแสดงกิริยายั่วยวนหวังทำลายสมาธิแต่ก็ไม่สำเร็จ

สัปดาห์ที่หกทรงเปลี่ยนไปประทับที่ใต้ ต้นจิก  มีฝนตกลงมา พญามุจลินทนาคราช
ใช้ลำตัวขดเป็นวงล้อมรอบพระองค์เป็นชั้น ๆ สูง 7 ชั้น แล้วแผลงฤทธิ์แผ่เศียรออกเป็น 7 เศียร
ขึ้นบดบังสายฝนไว้ ที่เรียกว่า นาคปรก นั่นเอง เมื่อฝนหยุดตกก็ทูลลาจากไป

สัปดาห์ที่เจ็ดเป็นสัปดาห์สุดท้าย ทรงเปลี่ยนไปประทับที่ต้นเกด (ต้นราชายตนะ)
ระหว่างนั้น ทรงรู้สึกเป็นสุขอย่างยิ่งจากการได้ตรัสรู้ ความสุขที่เกิดจากการหลุดพ้นนี้เรียกว่า วิมุติสุข

ในวันสุดท้าย มีพ่อค้ามอญสองคนชื่อ ตปุสสะและภัลลิกะ ผ่านมาเห็นพระพุทธเจ้า
ต่างก็เลื่อมใส จึงแสดงความเคารพถวายข้าวสัตตุก้อนสัตตุผง (คล้ายข้าวตู) แต่พระองค์ไม่มีบาตรรับ
ท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ ต่างก็รีบนำบาตรทำด้วยหินมาถวายเพื่อรับของถวาย

ตปุสสะและภัลลิกะ ทูลขอแสดงตนเป็น อุบาสก คือ ผู้ยึดมั่นในพระพุทธเจ้าและพระธรรมของพระองค์
พระพุทธเจ้าทรงอนุญาต ทั้งสองจึงเป็น อุบาสกสองคนแรกในพุทธศาสนา อุบาสกทั้งสองทูลขอสิ่งที่จะนำไปบูชา
พระองค์ทรงยกพระหัตถ์ขึ้นลูบพระเศียรมีเส้นเกศาติดออกมา 8 เส้น จึงประทานให้ทั้งสอง

ตปุสะและภัลลิกะ ได้นำไปบรรจุไว้ในเจดีย์ที่สร้างขึ้นหลายองค์
หนึ่งในจำนวนนี้ คือ พระมหาเจดีย์ชเวดากอง ในนครย่างกุ้ง ประเทศเมียร์ม่า นั่นเอง

จากนั้นพระพุทธเจ้าเสด็จไปประทับใต้ต้นไทรทรงมีความวิตกว่า
ธรรมะของพระองค์นั้นลึกซึ้งมาก ทรงเกรงว่าจะเป็นการยากที่คนทั่วไปจะเข้าใจได้

ท้าวสหัมบดีพรหม จึงมาเฝ้าและทูลขอให้พระองค์แสดงธรรมโปรดสัตว์โลกทั้งหลายเถิด
โดยให้เหตุผลว่าระดับสติปัญญาของมนุษย์และสัตว์โลกนั้นเปรียบเหมือน ดอกบัว 4 เหล่า ได้แก่

เหล่าแรก คือ ดอกบัวที่เพิ่งผลิออกมาใหม่ ยังจมอยู่ในดินโคลน
เปรียบเหมือนผู้ที่่ไม่มีสติปัญญาพอจะคิดสิ่งใด ๆ ได้เลย

เหล่าที่สอง คือ ดอกบัวที่แม้จะเติบโต แต่ก็ยังอยู่ใต้ผิวน้ำ
เปรียบเหมือน ผู้ที่มีสติปัญญาพอประมาณ จะต้องได้รับการศึกษาอบรมให้มากขึ้นอีก

เหล่าที่สาม คือ ดอกบัวที่เจริญเติบโตขึ้นจนลอยปริ่ม ๆ อยู่กับผิวน้ำ
เปรียบเหมือน ผู้มีสติปัญญาพอที่จะรับฟังและเข้าใจพระธรรมของพระพุทธเจ้าได้

เหล่าที่สี่  คือ ดอกบัวที่บานอยู่เหนือน้ำ เปรียบเหมือน ผู้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด
พร้อมจะเข้าใจในพระธรรมของพระพุทธเจ้าอย่างลึกซึ้งและหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดได้โดยง่าย

เมื่อพระพุทธเจ้าทรงเห็นตามคำเปรียบเทียบของท้าวสหัสบดีพรหมแล้ว
ทรงตรัสตอบว่า พระองค์จะเลือกเผยแผ่พระธรรมคำสอนแก่สัตว์โลกที่มีสติปัญญา






 
ปฐมเทศนา
เผยแผ่พระธรรม


พระพุทธเจ้าระลึกถึงฤาษี อาฬารดาบส กาลามโคตร และ อุทกดาบส รามบุตร แต่ทั้งสองท่าน
ได้เสียชีวิตไปก่อนหน้านี้แล้ว จึงนึกถึงปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ผู้เคยปรนนิบัติพระองค์ ตอนที่ทรงทรมานพระวรกายเกือบ 6 ปี

ซึ่งขณะนั้น ปัญจวัคคีย์ทั้งห้าประพฤติตนเป็นนักบวชอยู่ที่ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้กรุงพาราณสี
แคว้นกาสี ห่างจากที่พักของพระพุทธเจ้า  18 โยชน์ (288 กิโลเมตร)

วันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 พระพุทธเจ้าแสดงพระธรรมเทศนาครั้งแรก
เรียกว่า ปฐมเทศนา ให้กับปัญจวัคคีย์ทั้งห้า ธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง คือ ธัมมจักกัปปวัตนสูตร
ซึ่งหมายถึงว่า การประกาศพระพุทธศาสนาได้เริ่มขึ้นแล้ว หลังตรัสรู้ได้ 2 เดือน

(ธรรมเมกขสถูป
* คือ  จุดที่เชื่อกันว่า  พระพุทธเจ้า ทรงแสดงปฐมเทศนา แก่ปัญจวัคคีย์ 
ธรรมราชิกาสถูป* คือ เป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง อนัตตลักขณสูตร โปรดปัญจวัคคีย์)

เมื่อพระพุทธเจ้าแสดงธรรมจบ โกณฑัญญะ ได้ธรรมจักษุ  คือ ดวงตาเห็นธรรม
ต่อมาพระโกณฑัญญะ จึงได้ชื่อว่า "พระอัญญาโกณฑัญญะ" และได้ทูลขอบรรพชาอุปสมบท
เป็น พระภิกษุสงฆ์องค์แรกในพุทธศาสนา วิธีอุปสมบทนี้เรียกว่า เอหิภิกขุอุปสัมปทา
ใช้เฉพาะการบวชโดยคำพูดจากโอษฐ์ของพระพุทธเจ้าเท่านั้น

พระรัตนตรัย อันเป็นแก้วประเสริฐสุดสามประการของชาวพุทธศาสนา
บังเกิดครบถ้วนแล้ว คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

ต่อมาวัปปะและภัททิยะได้ธรรมจักษุพร้อมกัน และมหานามะได้ธรรมจักษุพร้อมกับอัสสชิ
ทั้งสี่จึงทูลขออุปสมบท พระพุทธเจ้าจึงประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาเหมือนกับพระโกณฑัญญะ
ในเวลานั้นจึงมี พระอรหันต์ คือ ผู้หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดแล้ว 6 องค์

เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้ ทรงแสดงปฐมเทศนา และทรงอุปสมบทสาวก
จนเกิดพระรัตนตรัยครบด้วยสมบูรณ์แล้ว การประกาศพระศาสนา จึงเริ่มตั้งแต่บัดนั้นมา

วันที่ทรงแสดงธรรมปฐมเทศนา คือ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ในเดือนอาสาฬหะ
หลังตรัสรู้ได้ 2 เดือน ถือเป็นวันสำคัญของพุทธศาสนาวันหนึ่ง
นั่นก็คือ วันอาสาฬหบูชา นั่นเอง




ที่กรุงพาราณสี มีชายหนุ่มชื่อ ยสะ หรือ ยสกุลบุตร บิดาคือเศรษฐี มารดาคือ นางสุชาดา
ที่เคยถวายข้าวมธุปายาสไปถวายแด่พระสมณโคดม วันหนึ่งยสกุลบุตรรู้สึกเบื่อหน่ายความวุ่นวาย
จึงออกไปเดินเล่นไปถึงชายป่าอิสิปตนมฤคทายวัน
* พร้อมกับบ่นไปตลอดทาง"ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ"

เจอพระพุทธเจ้าที่กำลังเดินจงกรมอยู่ชายป่า พระพุทธเจ้าได้ยินเสียงบ่นมาเช่นนั้น
ก็ตรัสตอบไปว่า "ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง จงมาที่นี่เถิด"

พระพุทธเจ้าแสดงธรรมให้ยสกุลบุตรจิตใจสงบลง และเทศนาอริยสัจ 4 จนยสกุลบุตรได้ธรรมจักษุ
ต่อมาบิดาได้ออกมาตามหาเจอพระพุทธเจ้า ๆ จึงได้แสดงธรรมแก่มหาเศรฐษี จนบรรลุได้เป็น โสดาบัน 
โสดาบัน คือ ขั้นต้นที่จะนำไปสู่การเป็นพระอรหันต์ จึงทูลขอเป็นอุบาสก

ดังนั้น มหาเศรษฐีที่เป็นสามีของนางสุชาดา จึงเป็นอุบาสกผู้ถึงพร้อมพระรัตนตรัย
คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ คนแรกในพุทธศาสนา

ฝ่ายยสกุลบุตรได้ยินพระธรรมเทศนาซ้ำเป็นรอบที่สองก็บรรลุเป็นพระอรหันต์เวลานั้น
เป็นพระอรหันต์องค์ที่ 7 ในพุทธศานา ในขณะที่ยังเป็นฆราวาส (ผู้ครองเรือน ไม่ใช่นักบวช)
ต่อมายสกุลบุตรจึงทูลขออุปสมบท ตามมาด้วยสหายทั้งสี่ของพระยสะ

ต่อมาสหายของพระยสะอีก 50 คนเดินทางมา ได้เข้าเฝ้าและฟังพระธรรมเทศนา
ก็ทูลขออุปสมบท หลังจากนั้นก็ทรงเทศนาสั่งสอนจนพระภิกษุทั้ง 54 รูปต่างก็สำเร็จเป็นพระอรหันต์

พระพุทธเจ้าจึงทรงให้พระอรหันตสาวกทั้ง 60 องค์เดินทางแยกย้ายกันไปประกาศพระศาสนา
โดยให้ไปคนละเส้นทางไม่ให้ไปด้วยกัน และอนุญาตให้พระสงฆ์อุปสมบทให้กับบุรุษ
ผู้เข้าใจในพระธรรมและปรารถนาจะอุปสมบท



วันที่ 1 ค่ำ เดือน 12 พระพุทธเจ้ามุ่งสู่ อุรเวลาเสนานิคม เพื่อใช้เป็นฐานในการประกาศศาสนา
จนไปถึงริมแม่น้ำเนรัญชรา เจอสำนักของชฏิล นักบวชที่เกล้าผมเป็นมุ่นมวยสูงและนิยมการบูชาไฟ สามพี่น้อง 
และคิดว่าตัวเองเป็นพระอรหันต์ ทั้งสามให้พระองค์พักอาศัยด้วยความไม่เต็มใจนัก

และก็เกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ นานาจนทั้งสามยอมรับว่าตัวเองไม่ได้เป็นพระอรหันต์
จึงทูลขออุปสมบทเป็นสาวกทั้งสามคนพร้อมกับลูกศิษย์ของสามพี่น้อง 1,003 รูป เป็นพระอรหันต์ทั้งหมด
ทั้งหมดเดินทางไปกรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ เพื่อที่แสดงธรรมให้กับพระเจ้าพิมพิสาร
ตามที่พระเจ้าพิมพิสารได้อาราธนาไว้

พระเจ้าพิมพิสารและชาวเมืองได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าที่ประทับอยู่ที่ สวนลัฏฐิวัน อยู่นอกเมืองมคธ
และได้ฟังพระธรรมเทศนา เกือบทั้งหมดต่างก็ได้ธรรมจักษุสำเร็จเป็นพระโสดาบัน
พระเจ้าพิมพิสารทรงนิมนต์พระพุทธเสด็จไปฉันภัตตาหารในพระราชวัง

และถวายพระราชอุทยานเวฬุวัน เป็นพระอารามสำหรับพระสงฆ์อยู่จำพรรษา
พระพุทธเจ้าทรงรับถวาย ดังนั้น วัดเวฬุวัน กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ จึงเป็นวัดแรกในพระพุทธศาสนา

(สวนไผ่
* ที่ในอดีตพระเจ้าพิมพิสารกษัตริย์แห่งมคธถวายพระพุทธเจ้า
และสร้างวัดเวฬุวันขึ้นเป็นวัดแรกของพุทธศาสนา)


ขณะที่พระพุทธเจ้าอยู่ที่วัดเวฬุวัน เกิดอัศจรรย์แผ่นดินไหว จึงทรงหยังรู้ด้วยญาณว่า
ปิปผลิมาณพ กับ นางภัททกาปิลานี ผู้มีคุณธรรมเป็นเลิศ ทิ้งทรัพย์สมบัติมหาศาลแสดงเจตนาจะออกบวช

ทั้งสองจึงแยกย้ายกันออกบวช ปิปผลิมาณพได้พบกับพระพุทธเจ้า
ได้บวชให้กับปิปผลิมานพแต่เป็นการบวชคนละอย่างกับภิกษุรูปอื่น ๆ เพราะปิปผลิมีอายุมากแล้ว
จึงได้ชื่อว่า พระมหากัสสปะ และประทานจีวรเก่าของพระองค์ให้กับพระมหากัสสปะ
การประทานผ้านุ่งห่มที่พระองค์ใช้อยู่แก่พระสาวกเช่นนี้เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว

ส่วนนางภัททกาปิลานี ไปบวชที่สำนักของนักบวชปริพาชก
ครั้งเมื่อทราบว่าพระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้สตรีบรรพชาเป็นพระภิกษุณีได้
นางจึงมาขออุปสมบทในสำนักพระภิกษุณีของพระนางปชาบดีโคตมีผู้เป็นภิกษุพระองค์แรก



นอกกรุงราชคฤห์ มีสองหนุ่มนิสัยดี สง่างาม เป็นบุตรของผู้ดีมีสกุลจิตใจโอบอ้อมอารี
คนหนึ่งชื่อ อุปติสสะ บุตรของมหาเศรษฐี มารดาชื่อสารี ชาวบ้านเรียก สารีบุตร อยู่หมู่บ้านนาลันทคาม
อีกคนชื่อ โกลิตะ  บิดาเป็นพราหมณ์ มารดาชื่อโมคคัลลี ชาวบ้านจึงเรียก โมคคัลลานะ อยู่หมู่บ้านโกลิตคาม

สารีบุตรเป็นผู้มีสติปัญญาเฉียบแหลม โมคคัลลานะเป็นผู้มีพละกำลังเข้มแข็งมีอิทธิฤทธิ์มากคนหนึ่ง
สองคนเป็นสหายกัน วันหนึ่งเกิดความเบื่อหน่ายและคิดหาทางพ้นทุกข์ จึงแยกย้ายไปหาผู้ช่วยสอนวิธีการหลุดพ้น
สารีบุตรได้เจอพระอัสสชิเถระหนึ่งในปัญจวัคคีย์ ฟังธรรมเทศนาจนได้ดวงตาเห็นธรรม สำเร็จเป็นถึงโสดาบัน

กลับมาเล่าให้โมคคัลลานะ ก็เข้าใจถ่องแท้จนได้ดวงตาเห็นธรรม
จึงชวนกันไปเฝ้าพระพุทธเจ้าที่วัดเวฬุวัน กรุงราชคฤห์ พร้อมด้วยบริวารอีก 250 คน
พระพุทธเจ้าเห็นจึงบอกกับพระสงฆ์ตรงนั้นว่า ทั้งสองคนคือ คู่สาวกของพระพุทธเจ้า
ที่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ในอดีตต้องมี




ทั้งสองได้ฟังพระธรรมเทศนาจากพระพุทธเจ้าจนบรรลุเป็นพระอรหันต์ และในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3
พระพุทธเจ้าประชุมสงฆ์  ณ วัดเวฬุวัน และ ประกาศแต่งตั้งพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะเป็น "อัครสาวก"
พระสารีบุตรเป็นอัครสาวกเบื้องขวาและพระโมคคัลลานะเป็นอัครสาวกเบื้องซ้าย

ประชุมสงฆ์ครั้งนี้ มีเหตุประจวบเหมาะเรียกว่า จาตุรงคสันนิบาต
คือ การประชุมพร้อมด้วยองค์ 4  คือ
1. วันนั้นดวงจันทร์เสวยมาฆฤกษ์ (คือ ดวงจันทร์เดินมาถึงดาวฤกษ์ชื่อมฆา)
2. พระสงฆ์ 1,250 รูป มาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย
3. พระสงฆ์เหล่านั้นล้วนเป็นพระอรหันต์
4. พระสงฆ์เหล่านั้นทั้งหมดล้วนเป็นเอหิภิกขุ

พระพุทธเจ้าทรงแสดง พระโอวาทปาฏิโมกข์ ที่เป็นหลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนาครั้งแรก
หลักธรรมนี้ แบ่งออกเป็น 3 ประการ คือ อุดมการณ์ 4 ข้อ,  หลักการ 3 ข้อ และการปฏฺิบัติ 6 ข้อ

ในส่วนของหลักการ มีใจความเป็น หัวใจของพระพุทธศาสนา
นั่นก็คือ การทำความดี ละเว้นความชั่ว และ ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใส

วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 จึงนับเป็นวันสำคัญของพุทธศาสนา
คือ วันมาฆบูชา นั่นเอง





จากนั้นพระพุทธเจ้าก็รับนิมนต์จากพระเจ้าสุทโธทนะแห่งกรุงกบิลพัสดุ์
โดยมี อำมาตย์กาฬุทายี เดินทางไปนิมนต์พระองค์ถึงวัดเวฬุวัน โดยพระเจ้าสุทโธทน
ได้สร้างที่พักรอคอยต้อนรับพระพุทธเจ้า คือ นิโครธาราม

ครั้งเมื่อเสด็จมาถึงเห็นพระประยูรญาติไม่ทำความเคารพพระองค์เนื่องจากถือว่า
มีพระชันษาสูงกว่า พระพุทธเจ้าจึงแสดงปาฏิหาริย์ลอยพระองค์ขึ้น แล้วเสด็จเดินจงกรมอยู่กลางอากาศ
ทุกคนตกตะลึงและยอมรับพระพุทธองค์ ก้มกราบพระพุทธเจ้าด้วยความสำนึกผิด

จากนั้นก็มีสายฝนโปรยปลายลงมา ฝนนั้นมีหยดน้ำเป็นสีแดงไหลลื่นลงไป
คล้ายหยดน้ำที่ราดลงบนใบบัว เมื่อตกต้องร่างกายของผู้ไม่ต้องการจะเปียก ก็จะไม่เปียก
ต่อเมื่อปรารถนาให้น้ำฝนเปียกก็จะเปียก ฝนนี้จึงมีชื่อเรียกว่า โบกขรพรรษ

การกลับมาโปรดพระประยูรญาติครั้งนี้ ได้อุปสมบทให้กับเจ้าชายนันทะ น้องชายต่างมารดา
เจ้าชายราหุล พระโอรสของพระพุทธเจ้าที่เกิดกับพระนางยโสธราพิมพา
ราหุลกุมาร จึงเป็น สามเณรองค์แรกในพระพุทธศาสนา

สามเณรราหุล พระชันษา 7 ขวบ ทรงตั้งพระทัยศึกษาและปฏิบัติธรรม
จนสำเร็จเป็นอรหันต์ตั้งแต่ยังเป็นสามเณร เมื่อพระชันษาครบ 20 พรรษาก็ทรงรับการอุปสมบท
และได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ที่รักการศึกษายิ่งกว่าผู้ใด

การอุปสมบทในครั้งนี้ สร้างความตกพระทัยและเสียพระทัยแก่พระสุทโธทนะ
เนื่องจากเกรงจะไม่มีใครสืบราชสมบัติต่อ จึงทูลขอพระพุทธเจ้าว่า

หากจะบรรพชาอุปสมบทกุลบุตรใด จะต้องได้รับอนุญาตจากผู้เป็นบิดามารดาก่อน
พระพุทธเจ้าประทานบัญญัติข้อนี้และประกาศแก่หมู่สงฆ์ให้รู้ทั่วกัน


จากนั้นพระพุทธเจ้าจึงเสด็จไปยังอุทยานอนุปิยอัมพวัน ใกล้นครกุสินาราแห่งแคว้นมัลละต่อ
ส่วนพระสาวกอื่น ๆ แยกย้ายกันไปประกาศพุทธศาสนา  มีเจ้าชายแห่งศากยวงศ์ 5 พระองค์ ทูลขออุปสมบท

ได้แก่ เจ้าชายภัททิยะ เจ้าชายอนุรุทธ เจ้าชายอานนท์  เจ้าชายภัคคุ เจ้าชายกิมพิละ
และจากโกลิยวงศ์ 1 พระองค์ คือ เจ้าชายเทวทัตต์ กับมหาดเล็กของเจ้าชายศากยะทั้งห้าชื่อ อุบาลี ด้วย

และมีภิกษุเพียง 5 รูปสำเร็จพระอรหันต์ ส่วนพระอานนท์ทรงบรรลุเป็นพระโสดาบัน
ส่วนพระเทวทัตต์ ทรงได้เพียงญาณชั้นต่ำระดับโลกิยญาณที่สามารถเหาะและแปลงตัวได้เท่านั้น



คราวหนึ่งพระพุทธเจ้าทรงพระประชวรด้วยพระอาการอ่อนเพลีย
พระอานนท์จงเสร็จไปแจ้งเจ้าชายอภัยขอ หมอชีวก มารักษา ซึ่งเป็นหมอที่เก่งในกรุงราชคฤห์
เมื่อรักษาเสร็จพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมโปรดหมอชีวกจนบรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน

หมอชีวกขอทูลเป็นแพทย์ประจำพระองค์และสาวกสงฆ์ที่จำพรรษาอยู่ที่วัดเวฬุวันตลอดไป
หลังจากนั้น ก็รักษาพระพุทธเจ้าทุกครั้งเมื่อทรงพระประชวร รวมทั้งคราวที่ทรงถูกพระเทวทัตต์ลักลอบทำร้าย
จนมีพระอาการห้อพระโลหิต หมอชีวกถวายการรักษาจนหายเป็นปกติ



มีคนป่วยต้องการให้หมอชีวกรักษา ก็เข้ามาอุปสมบทเป็นจำนวนมาก บางรายเป็นโรคติดต่อร้ายแรง
ไม่สมควรอยู่ร่วมกับผู้อื่น พระพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติห้ามผู้ป่วยบางโรคอุปสมบท

หมอชีวกเข้าใจว่าพระพุทธเจ้าคือ พระพรหม คือผู้ที่มีจิตที่ประกอบด้วย "พรหมวิหารสี่"
ซึ่งได้แก่ เมตตา (อยากให้ผู้อื่นมีความสุข)  กรุณา (อยากให้ผู้อื่นพ้นทุกข์)
มุทิตา (ยินดีที่ผู้อื่นได้ดี) อุเบกขา (รู้จักวางเฉย) 

พระพุทธเจ้าทรงตอบว่า ถ้าในความหมายของหมอชีวก คือ ผู้ปราศจาก
ความพยาบาท (ความคับแค้นเคืองใจ ความเจ็บใจ ความคิดร้าย) 
ราคะ (ความกำหนด ความติดใจหรือความย้อมใจติดอยู่ ความติดใคร่ในอารมณ์)
โทสะ (ความคิดประทุษร้าย) และโมหะ (ความหลง ความไม่รู้ตามเป็นจริง อวิชชา) แล้ว
พระองค์จึงจะทรงเห็นด้วยเพราะพระองค์ทรงละไปหมดสิ้นแล้ว ทั้งความพยาบาท ราคะ โทสะ และโมหะ



ตลอดระยะเวลาที่ประกาศพระศาสนาอยู่ 45 พรรษา ศาสนาพุทธเจริญรุ่งเรืองอย่างมั่นคง
ที่กรุงสาวัตถี แคว้นโกศล และแคว้นมคธ และพระพุทธเจ้าประทับจำพรรษาที่กรุงงสาวัตถี รวมแล้วถึง 25 พรรษา
วัดที่สำคัญในกรุงสาวัตถีที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ มี 2 วัด คือ

วัดพระเชตวัน สูง 7 ชั้น เป็นวัดที่ใหญ่ที่สุด สร้างด้วยเงินจำนวนมากที่สุด มีความสำคัญมากที่สุด
พระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับจำพรรษาที่วัดนี้มากกว่าพระอารามแห่งอื่น ๆ คือ 19 พรรษา วัดนี้สร้างโดย
อนาถบิณฑิกเศรษฐี ที่ใจบุญทำบุญบำรุงศาสนาด้วยความเลื่อมใสศรัทธาและยังช่วยเหลือผู้ยากไร้ตลอดมา

เมื่อสิ้นชีวิตแล้วจึงไปบังเกิดเป็นเทพบุตรบนสวรรค์ชั้นดุสิต
พระพุทธเจ้ายกย่องว่า อนาถบิณฑิกเศรษฐีเป็นเลิศกว่าอุบาสกทั้งหลายในการถวายทาน
นับเป็นมหาอุบาสกของพุทธศาสนา



เศรษฐีนีผู้สร้างวัดที่กรุงสาวัตถีถวายพระพุทธเจ้าอีกคนหนึ่ง ก็คือ นางวิสาขา
นางเป็นสตรีที่งามพร้อมที่เรียกว่า เบญจกัลยาณี คือ มีความงามอยู่ 5 ประการ คือ
มีผมงาม เนื้องาม (คือเหงือกและริมฝีปากแดงงาม) กระดูกงาม ผิวงาม วัยงาม

พระอารามที่นางวิสาขาสร้างขึ้นมาคือ วัดบุพพาราม มิคารมาตุปราสาท เป็นอาคารสูงสองชั้น
แต่ละชั้นมี 500 ห้อง รวมเป็น 1,000 ห้อง นางใช้เงินที่ได้จากการขายเครื่องประดับ
ที่มีชื่อว่า มหาลดาปสาธน์ ซึ่งบิดาให้เป็นของขวัญในวันวิวาห์
พระพุทธเจ้าจำพรรษาที่วัดนี้ เป็นเวลา 6 พรรษา

นางวิสาขาเป็นผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา รักษาศีลและทำบุญสม่ำเสมอ
นางวิสาขาอายุยืนถึง 120 ปี เมื่อสิ้นชีวิตแล้วไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นนิมมานรดี (สูงกว่าชั้นดุสิตหนึ่งชั้น)
พระพุทธเจ้าทรงยกย่องว่า นางวิสาขาเป็นเลิศกว่าอุบาสิกาทั้งปวงในการถวายทาน
นับเป็นมหาอุบาสิกาในพระพุทธศาสนา



ในช่วงพรรษาที่สี่ของการประกาศพระพุทธศาสนา พระเจ้าสุทโธทนะทรงพระประชวร
พระพุทธเจ้าเสด็จไปกรุงกบิลพัสดุ์พร้อมด้วยสามเณรราหุลและสาวกสงฆ์ ทรงแสดงพระธรรมเทศนา
พระบิดาจนสำเร็จอรหันต์ก่อนสวรรคต

พระนางปชาบดีโคตมี ผู้เป็นพระมาตุจฉาทูลขออนุญาตให้สตรีออกบวช
พระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธถึงสามครั้ง  แม้กระทั่งพระพุทธเจ้าไปจำพรรษาอยู่ที่กูฎาคารศาลาในป่ามหาวัน
ณ กรุงเวสาลี แคว้นวัชชี นางปชาบดีโคตมีก็ทรงไม่ละความพยายาม

ปลงผมและนุ่งห่มผ้ากาสาวะ (ผ้าย้อมฝาด) ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าที่กรุงเวสาลีพร้อมกับเจ้าหญิงศากยะจำนวนมาก
พระอานนท์สงสารเห็นใจจึงช่วยพูดขอร้องให้พระพุทธเจ้าทรงยินยอมให้นางปชาบดีโคตมีอุปสมบท
พระพุทธเจ้าจึงทรงให้พระนางปชาบดีโคตมีปฏิบัติครุธรรม

ครุธรรม นี้คือ ธรรมอันหนัก เป็นหลักประพฤติด้วยความเคารพและไม่ละเมิดตลอดชีวิต
มี 8 ข้อ นางปชาบดีโคตมีทรงทรับครุธรรมแปดแล้วทรงอุปสมบทเป็น ภิกษุณี 
พระนางมีฉายาใหม่ว่า
พระภิกษุณีปชาบดีเถรี  นับเป็นพระภิกษุณีรูปแรกของศาสนาพุทธ



ส่วนเจ้าหญิงศากยะและสตรีทั้งหลายเหล่านั้น พระพุทธเจ้าตรัสอนุญาตให้พระสงฆ์อุปสมบทให้ทั้งหมด
ต่อมาพระนางยโสธราพิมพาเสด็จมาขออุปสมบทในสำนักของพระภิกษุณีปชาโคตมีเถรี
ได้ฉายาว่า ภิกษุณีภัทกากัจจานา

ภิกษุณีในพุทธศาสนาจะต้องรักษาสิกขาบท คือ ถือศีลเป็นข้อปฏิบัติ 311 ข้อ
ในขณะที่พระภิกษุมีเพียงศีล 227 ข้อ และสามเณรถือศีล 10
ภิกษุณี เป็นหนึ่งในสี่ของพุทธบริษัท



พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปจำพรรษาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ สวรรค์ชั้นที่สอง เป็นเวลาสามเดือน
เพื่อแสดงพระธรรมเทศนาโปรดพระพุทธมารดา คือ พระนางสิริมหามายาที่สิ้นพระชนน์แล้วมาบังเกิดเป็นเทพบุตร
อยู่บนสวรรค์ชั้นดุสิต (ชั้นที่สี่) ได้เสด็จลงมาเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อสดับพระธรรมเทศนา พร้อมด้วยเหล่าเทวดาจากทุกชั้นฟ้า

ในวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จกลับสู่โลกมนุษย์ ท้าวสักกะ (พระอินทร์) จึงเนรมิตบันได
ทอดจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ลงมาสู่โลกมนุษย์ ขณะที่พระพุทธเจ้าทรงยืนที่เชิงบันใดเบื้องต้นบนสวรรค์

ทันใดนั้นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเคยขวางกั้นอยู่ทั้งสิบทิศระหว่างสามโลก คือ
เทวโลก (โลกของเทวดา)  มนุษยโลก และยมโลก (นรก) ก็เปิดออกโล่งตลอด ทำให้มองเห็นกันทั้งสามโลก
ปาฎิหาริย์ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงนี้ เรียกว่า โลกวิวรรณปฏฺิหาริย์ หรือ พระพุทธเจ้าเปิดโลก




เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนับเป็นมหัสจรรย์ "มหาสมาคม" ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งที่สาม
ครั้งแรกเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปขจัดภัยที่กรุงเวสาลี  ครั้งที่สองเมื่อทรงกระทำยมกปฏิหาริย์

ชาวเมืองสาวัตถีและชาวเมืองสังกัสสะที่มารอรับเสด็จนั้น เตรียมทำบุญตักบาตรพระพุทธเจ้าและสาวก
การทำบุญตักบาตรในวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงมาจากสวรรค์ดาวดึงส์ซึ่ง ตรงกับวันออกพรรษา
กลายมาเป็นประเพณีตักบาตรในวันออกพรรษาเรียกว่า ประเพณีตักบาตรเทโว
คำว่าเทโว ย่อมาจาก "เทโวโรหนะ" ที่แปลว่า การลงจากเทวโลก






ในส่วนของโจรองคุลิมาล ที่ฆ่าคนมาแล้ว 999 ศพ แล้วมาเจอพระพุทธเจ้า
วิ่งตามพระพุทธเจ้ายังไงก็ตามไม่ทัน เรียกให้พระพุทธเจ้าหยุด พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า
"เราหยุดแล้ว ส่วนท่านสิยังไม่หยุด"

และเรื่องราวของ พระเทวทัตต์ ผู้ถูกธรณีสูบ เนื่องจากทำอนันตริยกรรม
คือ กรรมยิ่งใหญ่ที่สุดถึง 2 ประการ คือ ทำร้ายพระพุทธเจ้าได้รับบาดเจ็บจึงถึงห้อพระโลหิต
และทำให้สงฆ์แตกแยก เรียกว่า สังฆเภท

เราขอข้ามไป ด้วยเหตุที่ว่า  คงได้ยินได้อ่านได้ฟังมาเยอะกันมาแล้ว
และ ตอนยมกปาฏิหาริย์ และ ตอนมหัศจรรย์มหาสมาคม  เราไม่ได้นำมารีวิวในวันนี้
ถ้าสนใจ มีหนังสือมาแนะนำในช่วงท้ายค่ะ









 
ทรงปลงพระชนมายุสังขาร และ
เสด็จดับขันธปรินิพพาน


ในเดือน 3 ปีมะเส็ง พรรษาที่ 45 หลังตรัสรู้ อีกสามเดือนพระพุทธเจ้าจะมีพระชนมายุ 80 พรรษา
พระพุทธเจ้าเสด็จไป ต.ปาวาลเจดีย์ อยู่ระหว่างวัดมหาวันและเวฬุคาม ทรงหยุดพัก และทรงดำริจะให้พระอานนท์
ทูลขอให้พระองค์มีพระชนมายุอยู่ต่อไปอีกอย่างหน้อย 1 กัป (คือเท่าอายุของโลก)


จึงทรงเทศนาให้พระอานนท์ฟังถึงอานุภาพของการภาวนา อิทธิบาท 4
คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา พร้อมกับการทำสมาธิ  แต่พระอานนท์นิ่งเฉยเสียด้วย
พญามารวสวัตดีดลใจให้พระอานนท์ให้นิ่งไว้

พระพุทธเจ้าทรงแสดงเทศนาซ้ำถึง 3 รอบ เพื่อให้พระอานนท์สะดุดพระทัยแต่ก็ไม่เป็นผล
ขณะที่พระอานนท์เสด็จออกไปจากพระพุทธเจ้าแล้ว พญามารมาทูลทวงขอให้พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน
หลังจากที่เคยทูลขอไว้ครั้งตอนพระพุทธเจ้าตรัสรู้ใหม่ ๆ

พระพุทธเจ้าเคยตรัสไว้กับพญามารว่า จะปรินิพพานก็ต่อเมื่อ พุทธบริษัทสี่ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา
มีความเจริญมั่นคง และพระศาสนาของพระองค์รุ่งเรื่องแผ่ไปทั่วชมพูทวีปแล้ว
เมื่อพญามารวสวัตดีทวงถามพระพุทธเจ้า ก็ตรัสตอบว่า

..."นับแต่นี้ไปอีก 3 เดือน ตถาคตจะปรินิพพาน".. ทันใดนั้น
ก็เกิดอัศจรรย์ขึ้น แผ่นดินสั่นไหว สัตว์โลกเกิดอาการหวาดหวั่น เกิดเสียงหวีดหวิวในอากาศ
พร้อมเสียงกลองทิพย์จากสวรรค์ถูกตีกระหน่ำดังลั่นไปทั่วจักรวาล

พระพุทธเจ้าทรงปลงพระชนมายุสังขาร ณ ปาวาลเจดีย์ แคว้นวัชชี
ในเวลากลางวันของวันเพ็ญเดือน 3 ปีมะเส็ง พรรษาที่ 45 หลังการตรัสรู้
ขณะนั้นพระองค์ มีสติสัมปชัญญะบริบูรณ์




พระอานนท์เมื่อรู้ว่าพระพุทธเจ้าจะเสด็จปรินิพพานก็ตกใจมาก จึงทูลขอให้พระพุทธเจ้าอยู่ไปจนถึงหนึ่งกัป
พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า "อย่าได้ร้องขอเลย ขณะนี้ไม่ใช่เวลาที่จะขอแล้ว"
พระอานนท์เศร้าโศกเสียพระทัยอย่างหนัก พยายามทูลขอให้พระพุทธเจ้าอยู่ต่อไปถึงสามครั้งก็ไม่สำเร็จ

จากนั้น พระพุทธเจ้าและสาวกเดินทางต่อไปยัง นครปาวา แคว้นมัลละ
และหยุดประทับพักการเดินทางใต้ต้นไม้ ทอดพระเนตรเห็นสายน้ำเล็ก ๆ อยู่ไม่ไกล
จึงให้พระอานนท์ไปตัดน้ำมาให้เสวย นับเป็นครั้งแรกที่พระพุทธเจ้าทรงขอน้ำเสวยระหว่างการเดินทาง

(ปัจจุบัน สายน้ำเล็ก ๆ หนึ่งสาย พบมีสิ่งก่อสร้างอยู่ริมแม่น้ำ
เป็นตำแหน่งที่ พระอานนท์มาตักน้ำเพื่อถวายแด่พระพุทธองค์ เพื่อระงับความกระหาย
*

จนมาถึง สวนมะม่วงของนายจุนทะ นายจุนทะ* บุตรช่างทอง ดีใจมาก
จึงนิมนต์ไปเสวยภัตตาหารที่บ้านของตน ได้ปรุงภัตตาหารถวายพระพุทธเจ้า ชื่อว่า สูกรมัทวะ
(แปลต่าง ๆ กันว่า เนื้อสุกรอ่อน เนื้อหมู หน่อไม้ เห็ด ข้าวที่ปรุงพิเศษ)

พระพุทธเจ้าเสวยเสร็จ จึงตรัสบอกกับนายจุนทะว่า อย่าเอาสูกรมัทวะนี้ไปถวายภิกษุรูปอื่น หากมีเหลือให้เอาไปฝังดิน
ผลจากการเสวยสูกรมัทวะเป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าประชวรหนัก ด้วยอาการพระบังคนหนักออกมาเป็นพระโลหิต
พระพุทธเจ้าทรงรักษาพระอาการประชวรด้วยการทำสมาธิ จากนั้นก็เดินทางต่อไปยังเมืองกุสินารา





พระพุทธเจ้าตรัสแก่พระอานนท์ว่า ต่อไปภายหน้าหากมีผู้ใดกล่าวโทษนายจุนทะว่าถวายบิณฑบาตร
แล้วทำให้พระองค์อาพาธ จงบอกแก่ผู้นั้นว่า พระองค์ยกย่องการถวายบิณฑบาตรที่มีอานิสงส์ยิ่งกว่าครั้งใดอยู่ 2 ครั้ง
คือ เมื่อถวายแล้วตรัสรู้ (นางสุชาดาถวาย) กับเมื่อถวายแล้วเสด็จปรินิพพาน (นายจุนทะถวาย)

พระพุทธเจ้าตรัสให้พระอานนท์เอาผ้าปูลาดบนแท่นใต้ต้นสาละคู่
* ในสาลวโนทยาน
พระพุทธเจ้าทรงทอดพระวรกายลงประทับใน ท่าสีหไสยา (แปลว่า ท่านอนอย่างราชสีห์ คือ นอนตะแคงขวา
แขนซ้ายพาดไปตามลำตัว เท้าซ้ายซ้อนบนเท้าขวาเสมอกัน แบมือขวารองรับศีรษะด้านข้าง)



พระองค์ตรัสแก่พระอานนท์ว่า การบูชาพระองค์โดยการปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระองค์
ที่เรียกว่า ปฏิบัติบูชา จึงจะเป็น การบูชาที่แท้จริง

เมื่อพระองค์เสด็จปรินิพพานแล้ว หากมีใจรำลึกถึงพระองค์ ให้ไปยัง สังเวชนียสถาน 4 ตำบล
คือ สถานที่ประสูติ (ลุมพินีวัน) สถานที่ตรัสรู้
* (พุทธคยา) สถานที่แสดงปฐมเทศนา* (อิสิปตนมฤคทายวัน)
และสถานที่ปรินิพพาน
* (สาลวโนทยาน)


 ภาพบน  :  สวนลุมพินีวัน สถานที่ประสูตร     Credit : ภาพจากคุณก๋า
ขอขอบคุณคุณก๋า กะว่าก๋า ที่เอื้อภาพมา ณ ที่นี้ค่ะ


พระองค์ทรงปลอบพระอานนท์ว่า..
สังขารนั้นไม่เที่ยงแท้ถาวร มีเกิดขึ้นมาแล้วก็ต้องมีดับสลายไป
เป็นธรรมดาของโลก ไม่ควรจะโศกเศร้าเสียใจ

"เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว ภิกษุจะคิดว่าศาสดาไม่มีแล้ว จึงขอให้ภิกษุทั้งหลายจงจำไว้ว่า
แม้ไม่มีตถาคตผู้เป็นศาสดาแล้ว แต่ยังมีพระวินัยที่กำหนดไว้และพระธรรมที่แสดงไว้
ให้ภิกษุทั้งหลายจึงยึดถือพระธรรมวินัยเป็นศาสดาต่อไป
"

เมื่อใกล้ถึงปัจฉิมยาม พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระปัจฉิมโอวาท
(คำสั่งสอนสุดท้าย) " ว่า..

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตขอเตือนว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา
พวกเธอทั้งหลายจงกระทำสิ่งที่จะเป็นประโยชน์แก่ตนและผู้อื่นให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด
"

หลังจากนั้นไม่ทรงตรัสคำใดอีกเลย ในช่วงเวลาปัจฉิมยาม
พระพุทธเจ้าทรงทำสมาธิเข้าฌาน เริ่มตั้งแต่ปฐมฌาน ไปจนถึงจตุตถฌาน (ฌานที่สี่)
และกำลังเข้าสู่อรูปฌาน ที่ชื่อ อากาสานัญจายตนะ พระองค์ก็เสด็จปรินิพพาน
พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานในช่วงต่อของฌานทั้งสองนี้

พระสาวกผู้เป็นพระเถระอาวุโสที่เฝ้าอยู่ระหว่างปรินิพพานนั้น
มี 2 รูป คือ พระอานนท์  และ พระอนุรุทธ

พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน ในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีมะเส็ง
พระชนมายุ 80 พรรษา
นับเป็นพรรษาที่ 45 หลังการตรัสรู้

พระพุทธเจ้าประสูตร ตรัสรู้ และ ปรินิพพาน ในวาระดิถีเดียวกัน
คือ วันวิสาขปุรณมี  ตรัสรู้หลังวันประสูตร 35 ปี  ปรินิพพานหลังวันตรัสรู้ 45 ปี



มัลลกษัตริย์ถวายพระเกียรติยศพระพุทธเจ้าเทียบเท่าพระเจ้าจักรพรรดิราชผู้ยิ่งใหญ่
เคลื่อนพระพุทธสรีระเข้าไปในนครกุสินาราทางประตูทิศเหนือ แล้วออกจากประตูเมืองไปทางทิศตะวันออก
ตรงไป จิตกาธาน (เชิงตะกอน) สถานที่ถวายพระเพลิงชื่อ มกุฏพันธนเจดีย์
* 

วันแรม 8 ค่ำ เดือน 6 เป็นวันที่แปดที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน พระมหากัสสปะและ
สาวกสงฆ์ทั้งห้าร้อยมาถึงมกุฏพันธนเจดีย์ แล้วขึ้นไปกราบนมัสการพระพุทธสรีระบนจิตกาธาน

พระสรีระของพระพุทธเจ้าสิ้นไปในกองเพลิง ส่วนที่เหลืออยู่ไม่ถูกเผา ได้แก่
ผ้าพันพระพุทธสรีระชั้นในสุด 1 ผืนและชั้นนอกสุด 1 ผืนและพระอัฐิ มีพระเขี้ยวแก้วทั้งสี่
พระรากขวัญ (กระดูกไหปลาร้า) 2 ข้าง และพระนลาฎอีกหนึ่ง รวมเป็น 7

พระบรมสารีริกธาตุแตกออกเป็นชิ้นส่วนเล็ก ๆ คล้ายเมล็ดถั่วแตกบ้าง
กลมเหมือนเม็ดถั่วเขียวบ้าง  คล้ายข้าวสารหักบ้าง และเล็กสุดคือ เท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาด
รวบรวมได้ 20 ทะนาน (20 ลิตร)

โทณพราหมณ์แห่งนครกุสินารา ซึ่งเป็นที่นับถือของผู้คนทั้งชมพูทวีป
ช่วยเจรจาให้มีการแบ่งปันพระบรมสารีริกธาตุออกเป็น 8 ส่วนเท่า ๆ กัน คือมอบให้แก่
มัลละ ราชคฤห์ เวสาลี กบิลพัสดุ์ อัลลกัปปะ เทวทหะ เวฏฐปถะ และ ปาวา

ส่วนโทณพราหมณ์แอบเอาพระเขี้ยวแก้ว 1 องค์ใส่มุ่นมวยผมเอาไว้
ท้าวสักกะเห็นจึงแอบหยิบเอาแล้วนำไปบรรจุไว้ในพระเจดีย์ธาตุจุฬามณี บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
โทณพราหมณ์จึงขอทะนานทองไปสักการะบูชาแทน

ส่วนกษัตริย์ราชวงศ์โมริยะแห่งนครปิปผลิวันมาถึงทีหลัง เลยยกพระอังคารธาตุ
(ส่วนที่เป็นเถ้า) ให้ไป  กษัตริย์ทั้งเก้าเมืองและโทณพราหมณ์ นำพระบรมสารีริกธาตุ พระอังคารธาตุ
และทะนานทองไปบรรจุไว้ในสถูปเจดีย์  ตามที่ต่าง ๆ กัน

พระศรีศากยมนุโคตม  พระสัมมาสัมพุทธเจ้า  พระพุทธโคคม
ทรงหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดอันเป็นความทุกข์ จะไม่มีการเกิดอีก

(ปาวาลเจดีย์
* สถานที่พระพุทธองค์ปลงอายุสังขาร
และสถานที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุหลังปรินิพพาน 1 ใน 8 ส่วน
ที่ได้รับการแบ่งโดยโทณพราหมณ์)  






คุ  ย  กั  น  ท้  า  ย  บ  ล็  อ  ก

ขอนำบทความปกหลัง
มากล่าวไว้ตอนท้ายของบล็อก ดังนี้

ต ำ น า น พ ร ะ พุ ท ธ เ จ้ า เล่มนี้ ได้รับการเรียบเรียงขึ้นมาใหม่
เพื่อให้ผู้คนทั่วไปอ่านได้อย่างสนุก มองเห็นถึงความจริงที่อยู่เบื้องหลังของปาฎิหาริย์ต่าง ๆ
ง่ายต่อการจดจำและนำเอาไปประยุกต์ใช้กับชีวิต

ที่สำคัญ สามารถที่จะหยิบมาอ่านได้เรื่อย ๆ อย่างไม่รู้เบื่อ
เพราะทำให้เรามองเห็นว่า พระพุทธองค์ทรงเสียสละอะไร แสวงหาสิ่งใด
เพื่ออะไร และพระองค์ทรงมอบสิ่งนั้นต่อมนุษยชาติอย่างไร


เรานำมาเล่าและรีวิวให้อ่านกันอย่างรวบรัดตัดความที่สุด
สำหรับเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ ซึ่งมีรายละเอียดปลีกย่อยค่อนข้างเยอะมาก
ไม่สามารถนำมาเล่าได้ครบทั้งหมดและได้ตัดออกไปบางตอน

แต่ก็พยายามจะเก็บใจความสำคัญมาให้อ่านในบล็อกให้ได้มากที่สุดค่ะ
หากสนใจ ไปหาอ่านกันได้ในหนังสือที่แนะนำในช่วงท้ายนี้




ปัจจุบัน ทางสำนักพิมพ์ได้จัดพิมพ์รูปเล่มออกมาใหม่
ปกแข็งเหมือนเดิมแต่ขนาดเล่มใหญ่ขึ้น ปกและภาพวาดประกอบเนื้อหาใหม่



ข้าพเจ้าขออนุโมทนา
กับคนที่ทำหนังสือเล่มนี้ออกมาด้วยค่ะ


และขอขอบคุณ     คุณเย็น mcayenne94
ที่อนุญาตให้นำลิ้งค์เรื่องราวตอนที่คุณเย็นไปสังเวชนียสถานที่ประเทศอินเดีย
นำมาประกอบการรีวิวหนังสือครั้งนี้ ทำให้บล็อกสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ขอขอบพระคุณมา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ

หมายเหตุ :  สัญญลักษณ์ " 
* "  ที่อยู่ในเนื้อหาของบล็อกด้านบน
คือ จุดลิ้งค์ไปดูสถานที่จริงในพุทธประวัติ ที่ประเทศอินเดีย โดย คุณเย็น
ที่เธอไปกราบสักการะบูชาและพาเที่ยวชมค่ะ



 บ ท ส่ ง ท้ า ย :
ขอขอบคุณ : ทุกคะแนนโหวต BlogGang Popular Award #14  โหวตให้กับ JinnyTent Blog นะคะ
รางวัลชมเชย Best Friendly  รางวัลชมเลย Best Travel Blog และรางวัลอันดับ 3 Best Book Blog



Create Date : 10 กันยายน 2562
Last Update : 12 กันยายน 2562 17:32:19 น.
Counter : 15658 Pageviews.

36 comments

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณฟ้าใสวันใหม่, คุณสายหมอกและก้อนเมฆ, คุณโอน่าจอมซ่าส์, คุณmcayenne94, คุณhaiku, คุณกะว่าก๋า, คุณtoor36, คุณธนูคือลุงแอ็ด, คุณnewyorknurse, คุณkae+aoe, คุณสาวไกด์ใจซื่อ, คุณเริงฤดีนะ, คุณInsignia_Museum, คุณภาวิดา คนบ้านป่า, คุณทนายอ้วน, คุณmariabamboo, คุณสองแผ่นดิน, คุณหอมกร, คุณRananrin, คุณเนินน้ำ, คุณSweet_pills, คุณอาจารย์สุวิมล, คุณKavanich96

  
รายละเอียดเยอะมากเลยนะคะ
เหมือนได้ทบทวนพุทธประวัติไปด้วย

ขออนุโมทนาบุญด้วยค่ะ
ต้องมีความเพียรเป็นเลิศเพื่อการนี้เลยนะคะ

โดย: ฟ้าใสวันใหม่ วันที่: 10 กันยายน 2562 เวลา:18:27:13 น.
  
อ่านถึง ปฐมเทศนาฮื่อ ปัญจวัคคีย์แล้วเน่อ..
แล้วจะมาอ่านใหม่
โดย: ไวน์กับสายน้ำ วันที่: 10 กันยายน 2562 เวลา:18:51:25 น.
  
สุดยอดเลย​ค่ะ​ ละเอียดฝุดๆเลยค่ะ​ ลูกชายจะสอบจะเอาให้อ่านดีกว่า​ อ่านง่ายกว่าหนังสือเรียนเยอะเลย👏👏
โดย: นกคนสวย IP: 223.24.161.134 วันที่: 10 กันยายน 2562 เวลา:18:57:14 น.
  
เยี่ยมไปเลยค่ะคุณจิน
โดย: โอน่าจอมซ่าส์ วันที่: 10 กันยายน 2562 เวลา:19:39:23 น.
  
อนุโมทนาสาธุกับคุณจินด้วยค่ะ
เรียบเรียงไว้ครบถ้วน งดงาม
ยังกับเขียนวิทยานิพนธ์ทีเดียวค่ะ
ขอบุญกุศลการเผยแพร่ธรรมะ
ได้น้อมนำให้คุณจินให้เกิดปัญญาญาณ
ได้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ ในที่สุดด้วยค่ะ

ถ้ามีโอกาส ไปสังเวชนียสถาน
สักครั้งในชีวิต จะนึกภาพสถานที่
และหนทาง ลักษณะเมืองที่พระพุทธองค์
และพุทธสาวก เคยจาริกผ่านไปได้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้นค่ะ ถ้าเย็น มีโอกาส ก็อยากไปอีก
แต่ละสถานที่ของสังเวชนียสถานมีพลังงาน
ที่เหนี่ยวนำให้สงบ และเกิดปัญญาได้ง่ายค่ะ
โดย: mcayenne94 วันที่: 10 กันยายน 2562 เวลา:20:02:57 น.
  
@นกคนสวย
ขอบคุณที่มาหื้อกำลังใจนะเจ้า จุ๊บ ๆ
โดย: JinnyTent วันที่: 10 กันยายน 2562 เวลา:20:26:54 น.
  
เรียบเรียงได้ละเอียดมากครับปี้จิน
แสดงถึงความตัง้ใจในการทำบล็อกนี้ขึ้นมาเลยครับ

4 สังเวชนียสถาน
ผมเกยมีโอกาสไปเยือนแล้ว
แต่ละที่แม้จะเหลือแต่ซากกองอิฐกองปูน
แต่ก่หื้อความรู้สึกตี้อิ่มเอิบใจครับ

ผมชอบงานภาพของคุณโอมและทีมงานครับ
ตามซื้อเก็บไว้เกือบทุกเล่มเลยที่เป๋นประวัติพระอรหันต์
แต่เล่มนี้ถ้าจะยังบ่าได้ซื้อเก็บไว้ครับ

โดย: กะว่าก๋า วันที่: 10 กันยายน 2562 เวลา:22:57:28 น.
  
เล่มนี้ยังไม่เคยอ่านครับ อนุโมทนาด้วยครับ

สนพ.นี้ ถ้าเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า เล่มที่ผมได้อ่าน คือ พระพุทธเจ้าไม่ได้มีแค่หนึ่ง อ่านสนุกเหมือนกัน
โดย: คุณต่อ (toor36 ) วันที่: 10 กันยายน 2562 เวลา:23:50:49 น.
  
สมัยลุงแอ็ดเป็นเด็กวัดนั้นปี2498+นั้น
ภาพถ่ายประวัติพระพุทธเจ้าที่เริ่มแต่ครั้ง
ประสูติจนถึงปรินิพพานลุงแอ็ดได้ชมในทุกที่จะต้อง
ขึ้นไปทำความสะอาดบนศาลาวัดในเช้าของวันพระ๘ค่ำและ๑๕ค่ำ
ที่ชาวบ้านจะมาทำบุญกัน

วันนี้ลุงแอ็ดกับเข้ารร.อีกครั้ง เพื่อเรียนพูดภาษาอังกฤษ กับครูอาสาชาวอังกฤษ
จึงถือโอกาสฝึก....
Thank you friends for generous sharing
โดย: ลุงแอ็ดคิดถึงอดีตที่ผ่านมา (สมาชิกหมายเลข 4365762 ) วันที่: 11 กันยายน 2562 เวลา:1:20:16 น.
  
สมัยลุงแอ็ดเป็นเด็กวัดปี2498+นั้น
ภาพถ่ายประวัติพระพุทธเจ้าที่เริ่มแต่ครั้ง
ประสูติจนถึงปรินิพพานลุงแอ็ดได้ชมในทุกที่จะต้อง
ขึ้นไปทำความสะอาดบนศาลาวัดในเช้าของวันพระ๘ค่ำและ๑๕ค่ำ
ที่ชาวบ้านจะมาทำบุญกัน

วันนี้ลุงแอ็ดกับเข้ารร.อีกครั้ง เพื่อเรียนพูดภาษาอังกฤษ กับครูอาสาชาวอังกฤษ
จึงถือโอกาสฝึก....
Thank you friends for generous sharing
โดย: ลุงแอ็ดคิดถึงอดีตที่ผ่านมา (สมาชิกหมายเลข 4365762 ) วันที่: 11 กันยายน 2562 เวลา:1:21:30 น.
  

อนุโมทนาบุญด้วยนะคะ
โดย: newyorknurse วันที่: 11 กันยายน 2562 เวลา:4:22:09 น.
  

สวัสดียามเช้าครับพี่จิน

โดย: กะว่าก๋า วันที่: 11 กันยายน 2562 เวลา:6:19:42 น.
  
หนังสือดี ภาพก็สวยมากเลยนะคะ
โดย: kae+aoe วันที่: 11 กันยายน 2562 เวลา:8:21:31 น.
  
ทรงปรงพระชนมายุสังชาร - ทรงปลง / สังขาร

น่าซื้อเก็บไว้จริงๆ ด้วยพี่จิน


เพลงยินดี ของ บอย อิเมจิน อยากให้ฟังนะคะ มีธรรมะแทรกสูงมาก จริงๆ เพลงของศิลปินคนนี้มีความเป็นธรรมะหลายเพลงเลยค่ะ เป็นเพลงรักที่แทรกธรรมะ ดีค่ะพี่

บันทึกการโหวตเรียบร้อยแล้วค่ะ



บันทึกการโหวต Blog ในวันนี้

ผู้เขียน Blog หมวดเนื้อหา Blog ได้รับโหวต
กะว่าก๋า Literature Blog ดู Blog
Rinsa Yoyolive Review Travel Blog ดู Blog
บาบิบูเบะ...แปลงกายเป็นบูริน Review Food Blog ดู Blog
JinnyTent Book Blog ดู Blog

ระบบจะบันทึกคะแนนโหวต เฉพาะการโหวต 10 ครั้งล่าสุดในแต่ละวันเท่านั้น
โดย: สาวไกด์ใจซื่อ วันที่: 11 กันยายน 2562 เวลา:9:56:19 น.
  
ภาพน่ารัก น่าอ่านมากค่ะ
โดย: sawkitty วันที่: 11 กันยายน 2562 เวลา:12:10:57 น.
  
ตำนานพระพุทธเจ้า สรุปใจความสำคัญได้น่าอ่านมากครับ
การที่ได้อ่านครั้งนี้ ทำให้เกิดภาพที่ชัดเจนในแต่ละช่วงเวลาของพุทธประวัติ
ส่วนภาพประกอบก็สวยงามตามแบบการเขียนลายเส้นอย่างไทย

โดย: Insignia_Museum วันที่: 11 กันยายน 2562 เวลา:16:11:05 น.
  
บล็อกพี่จินใช้พลังงานสูงมากครับ
อีกคนที่เขียนบล็อกละเอียดแบบนี้
คือน้องชีริว
ข้อมูลแน่น ตั้งใจเขียน

ตำนานพระพุทธเจ้าพี่จินเขียนได้ละเอียด
แม่นยำในข้อมูลครับ

โดย: กะว่าก๋า วันที่: 11 กันยายน 2562 เวลา:19:05:02 น.
  
ยาวมากนะคะ
เมื่อคืนพี่เข้ามาอ่าน หลายช่วงที่ไม่คุ้นเคย
ก็อ่านกลับไปกลับมา น่าจะใหช้เวลาอยู่ตรงนี้
เป็นครึ่งชั่วโมง แต่อ่านจบแล้วก็กลับไปนอน
เพราะทั้งหมดตัวและหมดแรง อิอิ

วันนี้กลับมาส่งกำลังใจค่ะ
ขอบคุณรีวิวนี้นะคะ หลายตอนลืมๆไปแล้ว
ได้กลับมาปัดฝุ่นใหม่

ขออนุโมทนาบุญที่เขียนบล็อกมีประโยชน์
เช่นนี้นะคะ

โดย: ภาวิดา คนบ้านป่า วันที่: 11 กันยายน 2562 เวลา:20:09:04 น.
  
ชอบรูปการ์ตูนมากครับ ดูเป็นจริง เข้าใจง่ายครับ
โดย: ทนายอ้วน วันที่: 11 กันยายน 2562 เวลา:20:17:19 น.
  
JinnyTent Book Blog



แวะมาส่งกำลังใจค่ะพี่จิน
พี่จินหลับฝันดีค่ะ
โดย: mariabamboo วันที่: 11 กันยายน 2562 เวลา:21:11:36 น.
  
•Good late night
•สวัสดียามดึกครับ
• If you are near
• ถ้าคุณอยู่ใกล้ๆ
• You can apply to study together.
• คุณสามารถมาสมัครเรียนด้วยกัน
• No need to pay tuition fees.
• ไม่ต้องเสียค่าเรียนครับ
• Please
• เชิญน่ะครับ
• see you next time
• แล้วพบกัน นะครับ

โดย: ลุงแอ็ดคิดถึงอดีตที่ผ่านมา (สมาชิกหมายเลข 4365762 ) วันที่: 11 กันยายน 2562 เวลา:21:46:13 น.
  

สวัสดียามเช้าครับพี่จิน

โดย: กะว่าก๋า วันที่: 12 กันยายน 2562 เวลา:6:26:28 น.
  
JinnyTent Book Blog ดู Blog
โหวตๆ ค่ะคุณจิน วาดพระพุทธองค์ไม่สวยเท่าไหร่ค่ะ


โดย: หอมกร วันที่: 12 กันยายน 2562 เวลา:8:27:13 น.
  
สวัสดีอีกรอบค่าพี่จิน

หนูเชียร์นะคะ อยากให้พี่จินลองไปกินดู การได้ลองไปกินร้านอื่นๆ บางทีเราก็เอามาปรับใช้กับของเราเองได้ค่ะ

นี่มีคนไปเมนท์แนะนำให้ไปลองบันยันทรี หนูว่าจะหาโอกาสไปอยู่ค่ะ
โดย: สาวไกด์ใจซื่อ วันที่: 12 กันยายน 2562 เวลา:9:18:51 น.
  
ขอบคุณครับปี้จิน
งานเขียนก่เป๋นส่วนหนึ่งของผมแน่นอนครับ
สะท้อนตัวตน ความชอบ ความสนใจ๋ของผมอยู่ในนั้น

ปกติผมชอบอ่านหนังสือตี้มันจบครับ
ถ้าซื้อมาแล้วยังบ่าจบ
ก่รอได้ครับ ยังบ่าอ่าน
เว้นแต่ว่าแน่ใจ๋แล้วว่าคนเขียนบ่าเขียนต่อแน่ๆ
ก่จำใจต้องอ่านทั้งที่มันบ่าจบครับ 555
อย่างเรื่อง Vagabond รอเป๋น 10 กว่าปีเหมือนกั๋นครับ
สุดท้ายนักเขียนบอกหมดเฝ่า ก้ายละ สุขภาพบ่าดี
เลิกเขียน
ผมก่เลยต้องเอามานั่งอ่านทั้งที่มันบ่าจบครับ 555

ตอนนี้ยังตามซื้อประมาณ 10 กว่าเรื่องครับ
ยังบ่าจบ ก่ยังบ่าอ่าน

โดย: กะว่าก๋า วันที่: 12 กันยายน 2562 เวลา:19:24:52 น.
  
อยากหามาให้น้ำปิงอ่านจังเรย
โดย: ทนายอ้วน วันที่: 12 กันยายน 2562 เวลา:20:41:21 น.
  
ขอบคุณสำหรับการรีวิวหนังสือที่ไม่รู้สึกว่ารวบรัดตัดความแม้แต่น้อยค่ะคุณจิน
เยี่ยมมากๆค่ะ
ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน
บล็อกนี้ก็ยังคงให้ความรู้ ให้ประโยชน์
จนถึงรุ่นลูกรุ่นหลานนะคะ

ขอบคุณมากนะคะคุณจิน
โดย: Sweet_pills วันที่: 12 กันยายน 2562 เวลา:23:46:12 น.
  
มาอ่านต่อ และอ่านซ้ำบางต๋อนพ่อง...ทำฮื่อหู้
เพิ่มจั๊ดนัก..

บางต๋อน เหมือนในพระไตรปิฏก แหะ ๆ เกยอ่าน
ดูเหมือนกั๋นเน่อ..แต่อ่านได้หน่อยเดี๋ยว จึงฮู้ว่าตี่
มาของ ศิล ตี่มาของข้อห้าม

แต่ยังอ่านบ่าปะว่า พระองค์ห้ามฉัน หลังเตี่ยงวัน
อย่างใด

วันนี้ผมก็เขียนถึง คำสอนของพระพุทธเจ้าตี่บล๊อก
เหมือนกั๋น แต่เพียงเสี้ยวเดียว กั๋วเพื่อน ๆ หลับ
ก็พยายามเหมือนกั๋น..
โดย: ไวน์กับสายน้ำ วันที่: 13 กันยายน 2562 เวลา:6:08:24 น.
  

สวัสดียามเช้าครับพี่จิน

โดย: กะว่าก๋า วันที่: 13 กันยายน 2562 เวลา:6:26:46 น.
  
ขอบคุณพี่จินค่ะ
น่านไปแล้วก็ยังไม่ทั่วค่ะ คงได้กลับไปอีกรอบ แฮร่
โดย: mariabamboo วันที่: 13 กันยายน 2562 เวลา:15:19:28 น.
  
สวัสดี จ้ะ น้องจิน

เป็นการรีวิวหนังสือที่น่าอ่านมากจ้ะ ได้อ่านพระ
พุทธประวัติที่ละเอียด รีวิวละเอียดมาก บางเรื่อง
ก็ยังไม่ทราบก็มีบ้าง แต่หลาย ๆ เรื่องในพระพุทธ
ประวัติ เป็นการทบทวนความรู้ที่ชาวพุทธสมควรรู้
และอ่านมาก จ้ะ ขอบใจที่น้องจินมาชวนไปอ่าน
นะจ๊ะ ครูใช้เวลาอ่านช่วงเช้าแล้วกลับจากเรียน
ภาษาจีนช่วงเย็นมาอ่านต่อ อ่านอย่างละเอียด เก็บ
เรื่องราวทุกตอนไว้ ขอชมว่า สรุปใจความสำคัญ
ได้ครบถ้วน อ่านง่าย รูปประกอบก็สวยงาม จ้ะ
โหวดหมวด รีวิวหนังสือ จ้ะ
โดย: อาจารย์สุวิมล วันที่: 13 กันยายน 2562 เวลา:20:10:30 น.
  
ที่ร้านก่ต้องเจอคนที่รับมือยากเป๋นระยะๆครับ
ผมสอนน้องสาวเรื่อย
ว่าต้องทำใจ๋หือ้ได้
เพราะเฮาเป๋นพ่อค้า เป๋นคนบริการ
ทะเลาะไปก่เสียผลประโยชน์

ได้น้อย
ดีกว่าบ่าได้เลย
บ่าเลยเลย
ดีกว่าปุดตืนครับ 555

โดย: กะว่าก๋า วันที่: 13 กันยายน 2562 เวลา:21:13:34 น.
  
ดีใจที่ได้พบคุณจินอีกครั้งนะคะ
อาหารอร่อยมาก จานที่เกลี้ยงเป็นหลักฐานค่ะ อิอิ

เจ้าของร้านน่ารักมากไม่แปลกใจเลยค่ะที่ลูกค้ามาอุดหนุนไม่ขาดสาย
ขอบคุณสำหรับของฝากแสนอร่อยด้วยนะคะ

แล้วเราพบกันใหม่ค่ะคุณจิน
ฝันดีคืนนี้นะคะ
โดย: Sweet_pills วันที่: 13 กันยายน 2562 เวลา:21:50:42 น.
  

สวัสดียามเช้าครับพี่จิน

โดย: กะว่าก๋า วันที่: 14 กันยายน 2562 เวลา:6:53:17 น.
  
ขอบคุณที่แบ่งปัน
โดย: Kavanich96 วันที่: 15 กันยายน 2562 เวลา:3:02:13 น.
  
ได้ความรู้มากๆครับขออนุญาติแชร์ครับ
โดย: เข้ม IP: 171.98.68.11 วันที่: 30 พฤษภาคม 2563 เวลา:15:32:58 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Jinnytent.BlogGang.com

JinnyTent
Location :
เชียงใหม่  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 43 คน [?]

บทความทั้งหมด