Ray Kroc วิสัยทัศน์กับอาณาจักร McDonald’s



ก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า ถ้าร้านฟาสต์ฟู้ดแฮมเบอร์เกอร์ที่ชื่อ McDonald’s กลายเป็นร้านที่ชื่อ Kroc’s มันจะดังและสร้างอาณาจักรมาได้จนถึงขนาดในทุกวันนี้หรือไม่ เพราะคงยังมีอีกหลายคนที่ไม่ได้ศึกษาวงการธุรกิจ และรู้ว่าร้านแมคโดนัลด์นั้น มีเจ้าของชื่อ Ray Kroc ซึ่งเป็นผู้ทำให้แบรนด์นี้โด่งดังไปทั่วอเมริกาและทั่วโลกในเวลาต่อมา

ประวัติความสำเร็จของ Ray Kroc นั้นน่าศึกษาและน่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะกว่าที่เขาจะไปซื้อร้าน ฟาสต์ฟู้ดเล็กๆ ที่ชื่อ McDonald’s แล้วมาพัฒนาจนมันกลายเป็นแบรนด์ที่ยิ่งใหญ่ได้ในภายหลังนั้น อายุก็ปาเข้าไป 52 แล้ว ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นเขาก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จสูงอย่างสูงมากมายอะไรในฐานะนักธุรกิจ ไม่น่าเชื่อใช่ไหมครับ

เรย์ เกิดเมื่อต้นศตวรรษที่ 20 คือเมื่อปี 1902 ในครอบครัวชาวเช็คที่อพยพมาอยู่ที่เมืองชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา คร็อคเป็นคนที่อยากประสบความสำเร็จเสมอมา และเชื่อเสมอว่าโอกาสดีๆ จะมาหาเพียงครั้งเดียวและจากไป เขาจึงรอคอยที่จะฉวยโอกาสที่มีเข้ามาเสมอ แต่ก็ยังไม่เคยได้คว้าโอกาสดีๆ เอาไว้เสียที พอเริ่มหนุ่มเขาก็พยายามหาเงินด้วยการตั้งใจจะไปเป็นคนขับรถพยาบาลในช่วงสงครามโลก แต่สงครามกลับสิ้นสุดลงเสียก่อน เขาจึงไปมีอาชีพเป็นนักเปียโนในระยะเวลาสั้นๆ ก่อนจะมาเป็นเซลส์ขายถ้วยกระดาษ

แต่โอกาสอันเล็กๆ ของเรย์ ก็เริ่มต้นที่เขาได้ไปพบกับนักประดิษฐ์เครื่องทำมิลค์เชครายหนึ่ง และเห็นว่ามันมีศักยภาพที่จะเติบโต เขาจึงเจรจาเพื่อขอเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องทำมิลค์เชคนี้แต่ผู้เดียวในประเทศ ซึ่งก็เป็นจุดที่ทำให้เขาได้ไปพบกับโอกาสอันยิ่งใหญ่ที่สำคัญกว่าในลำดับต่อมา บางทีโชคและชีวิตก็ขั้นตอนต่อเนื่องกันไปเหมือนกัน การเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องทำมิลค์เชคนี้ทำให้เรย์พอจะมีเงินขึ้นมากับเขาบ้างเหมือนกัน

แล้ววันหนึ่งเขาก็ต้องแปลกใจเมื่อมีร้านอาหารร้านหนึ่งในแคลิฟอร์เนียที่สั่งเครื่องทำมิลค์เชคถึง 8 เครื่อง ทั้งๆ ที่แต่ละเครื่องนั้นก็สามารถทำมิลค์เชคได้พร้อมๆ กัน ทีละ 5 แก้วอยู่แล้ว แสดงว่าร้านนี้ต้องทำมิลค์เชคพร้อมๆ กันในเวลาเดียวถึง 40 แก้ว เขาจึงรีบเดินทางไปยังร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดที่ชื่อ McDonald’s ในแคลิฟอร์เนียทันที แล้วเขาก็พบกับร้านที่เต็มไปด้วยผู้คนในท้องถิ่นพากันมาซื้อแฮมเบอร์เกอร์ที่ร้านเล็กๆ แต่บริการได้อย่างรวดเร็ว (จุดแรกเริ่มของแมคโดนัลด์ในขณะนั้นจะเป็นบริการแบบ Drive Trough คือขับรถเข้าไปซื้อที่ช่องสั่งอาหาร ซึ่งสอดคล้องกับวิถีชีวิตแบบอเมริกันในวันนั้น จึงไม่ต้องใช้พื้นที่ร้านขนาดใหญ่มาก แต่เน้นที่วิธีการผลิตที่รวดเร็ว)

วิสัยของเรย์ทำให้เขามองเห็นว่าธุรกิจนี้มีโอกาสเติบโตไปได้อีกมาก ความทะเยอทะยานอยากประสบความสำเร็จยิ่งขึ้น บวกกับวิสัยทัศน์และสัญชาติญาณในการเป็นนักขาย ทำให้สมองของเขารีบคิดถึงโอกาสในการทำเงินจากการขายเครื่องมิลค์เชคเป็นจำนวนมากหากร้านแมคโดนัลด์ขยายสาขาออกไปให้มากๆ เขาจึงเจรจากับสองพี่น้องแมคโดนัลด์ที่เป็นเจ้าของร้านเพื่อเสนอตัวเป็นตัวแทนขายแฟรนไชส์ออกไปทั่วประเทศ

แต่หลังจากได้ทำสัญญาร่วมธุรกิจกัน เรย์ก็รู้เขาว่าจะสามารถทำเงินได้น้อยมากจากส่วนแบ่งที่พี่น้องแมคโดนัลด์จะแบ่งให้ เขาจึงเกลี้ยกล่อมเสนอซื้อร้านและลิขสิทธิ์ชื่อ McDonald’s มาจากสองพี่น้องซึ่งไม่ต้องการจะจัดการร้านแฟรนไชส์ขนาดใหญ่ ด้วยเงินก้อนโตในขณะนั้นที่ราคา 2.7 ล้านเหรียญ(แต่พี่น้องแมคโดนัลด์ก็ยังไม่ยอมออกจากกิจการขายแฮมเบอร์เกอร์ โดยยังคงเปิดร้านอยู่ใกล้ๆ ในชื่อ Big M ที่สุดท้ายก็ต้องปิดกิจการไป)

จากนั้นเรย์ ซึ่งมีความทะเยอทะยานและหวังจะคว้าโอกาสสุดท้ายของชีวิตในการสร้างความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ให้ได้ จึงได้ใช้ทักษะในการเป็นนักจัดการและนักขายในการขยายสาขาแฟรนไชส์ออกไปทั่วอเมริกา โดยยังได้ตั้งบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่ซื้อที่ดินไว้ก่อนแล้วให้แฟรนไชส์ร้าน McDonald’s ต่างๆ ที่ขยายออกไปนั้นเช่าที่ของตนอีกที เป็นการทำรายได้สามต่อในคราวเดียว(ขายแฟรนไชส์, ขายเครื่องปั่นมิลค์ เชค และให้เช่าที่ดิน)

ปัจจุบัน Ray Kroc ไม่ได้อยู่ทันดูความยิ่งใหญ่ของร้านแมคโดนัลด์ที่ขยายสาขาออกไปทั่วโลกกว่า 30,000 สาขา เขาเป็นตัวอย่างของความไม่ย่อท้อและยังมีไฟแห่งความปรารถนาจะประสบความสำเร็จ(มากยิ่งขึ้น)อยู่ แม้ขณะที่ไปพบร้าน McDonald’s เขาก็อายุ 52 แล้ว และยังเป็นช่วงที่เขาต้องผจญกับความเจ็บป่วยหลายโรค(เบาหวาน ไขข้อ ฯลฯ) อีกทั้งเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของความมีวิสัยทัศน์ที่เหนือกว่าผู้คิดค้นผลิตภัณฑ์ต้นแบบด้วยซ้ำ (เช่นเดียวกับกรณีของระบบดอสที่บิล เกตส์ซื้อมา และร้านกาแฟสตาร์บัค ที่จะนำมาเล่าในคราวต่อๆ ไป)


Jimmy’s Analysis

ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของ Ray Kroc นั้นนอกจากจะเกี่ยวข้องกับความทะเยอทะยานและวิสัยทัศน์ของเขาแล้ว ยังมีสิ่งหนึ่งที่อาจเรียกได้ว่าเป็นตัวช่วยที่สำคัญอันหนึ่งที่ผู้ที่ร่ำรวยอันดับต้นๆ ทั้งในระดับโลกและระดับประเทศจะต้องมีก็คือ “อำนาจของผลิตภัณฑ์” แต่การจะได้ครอบครองผลิตภัณฑ์ดีๆ เหล่านี้ก็ต้องมีวิสัยทัศน์ในการมองเห็นสิ่งที่คนอื่นมองไม่เห็น แล้วรีบคว้าโอกาสนั้นไว้ พี่ต้องแมคโดนัลด์เป็นนักประดิษฐ์ที่ดีแต่ขาดวิสัยทัศน์ ส่วนเรย์ไม่ใช่นักประดิษฐ์ แต่เป็นนักจัดการที่มีวิสัยทัศน์ เขาจึงไม่สามารถสร้างความสำเร็จได้ด้วยตัวเอง แต่ต้องรอการมาของสิ่งประดิษฐ์ที่ยอดเยี่ยมนั้นด้วย เหมือนเช่นที่เขาเล็งเห็นศักยภาพของเครื่องทำมิล์เชคก่อนหน้านั้น (ซึ่งก็จะเห็นได้ว่า แม้เรย์จะมีความสามารถในการจัดการ และเครื่องทำมิลค์เชคจะมีศักยภาพ แต่ก็มีขนาดจำกัด เรย์จึงพัฒนาตลาดมันได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น)

อำนาจของผลิตภัณฑ์(ระบบการผลิตและBusiness Model) ที่พี่น้องแมคโดนัลด์สร้างขึ้น บวกกับทักษะในการจัดการของเรย์ ทำให้ร้าน McDonald’s ก้าวถึงจุดสูงสุดของศักยภาพได้ ไม่อาจขาดไปอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเรื่องนี้ก็คล้ายๆ กับจุดเริ่มต้นของบริษัทไมโครซอฟท์และร้านกาแฟสตาร์บัค ที่ผู้คิดค้นกับผู้พัฒนา(ที่มีวิสัยทัศน์) เป็นคนละคนกัน และจบลงด้วยผู้มีวิสัยทัศน์ได้คว้าเงินก้อนโตไป


Key Success Factors ของเรย์ คร๊อค จึงมีดังนี้

1.มีความทะเยอทะยาน ความพยายาม และทักษะการขายเป็นเบื้องต้นของความสำเร็จระดับพื้นฐาน

2.ความไม่ย่อท้อแม้วัยจะเลยมาถึง 52 ปีแล้วก็ยังคงมีความฝันอันแรงกล้าอยู่


*****จากนั้น Key Success ที่นำมาซึ่งความสำเร็จระดับสูงก็คือ******

3.ความเป็นนักจัดการผู้มีวิสัยทัศน์ สามารถมองออกว่าธุรกิจอะไรมีศักยภาพในการเติบโต

4.อาจเป็นโชคด้วยที่ทำให้เขาบังเอิญมาพบ”ธุรกิจที่มีศักยภาพสูง” ที่ไม่มีใครเห็น เพราะเรย์ไม่ได้สร้างระบบการผลิตนี้ขึ้นมาเอง แต่ต้องมาพบจึงมองเห็นโอกาสต่อยอด

5.เสริมด้วยความสำเร็จของ McDonald’s ดังที่กล่าวไปข้างต้น ถ้าเรย์คิดซื้อเพียงแต่ซื้อระบบมา แล้วเปลี่ยนชื่อร้านโดยใช้ชื่อของตนเองแทนว่า ร้าน Kroc (ซึ่งก็จะไปพ้องเสียงกับคำว่า Croc คือจระเข้) บางทีร้านนี้อาจไม่เกิดก็ได้ พลังของชื่อก็มีส่วนเหมือนกันนะครับ



*เรื่องคนที่มีทักษะการจัดการไม่อาจเริ่มธุรกิจได้ด้วยตัวเองได้หากขาด Know How ในการประดิษฐ์สินค้านั้น ผู้สนใจให้ไปติดตามอ่านเรื่อง การทำธุรกิจแบบ 3 ขา หรือ Tripod Theory ดูที่บล๊อกนี้ครับ

//www.bloggang.com/mainblog.php?id=jimmywalker&month=20-02-2008&group=11&gblog=1




Create Date : 18 มีนาคม 2551
Last Update : 18 มีนาคม 2551 9:38:03 น.
Counter : 10634 Pageviews.

2 comments
  
อยากทราบว่าเงินที่ใช้ในการลงทุนซื้อแฟรนไชส์
โดย: aom IP: 222.123.205.57 วันที่: 3 มกราคม 2552 เวลา:15:02:31 น.
  
รายละเอียดเพื่อศึกษาก่อนจะตัดสินใจซื้อแฟรนไชส์ เช่นเงินลงทุน
โดย: มิ้นท์ IP: 202.28.54.175 วันที่: 19 มกราคม 2552 เวลา:14:09:32 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Jimmywalker.BlogGang.com

Jimmy Walker
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 12 คน [?]

บทความทั้งหมด