เวลา กับความเข้าใจ ความเข้าใจของคนเรามีหลายระดับ โดยทั่วไปก็เป็นเพียงการตรึกตรองเอาตามตรรกะ พอเห็นว่ามันเมคเซนส์ ก็เรียกว่าเข้าใจ เราเคยเป็นคนของโลกนี้มาก่อน เราเป็นพวกตรรกะดี เลยคิดว่า อะไรๆเราก็เข้าใจได้ง่ายๆแหละ แต่เมื่อได้ลงทุนพิสูจน์ความเข้าใจโลกด้วยตัวเอง ก็พบว่า มันไม่จริงเลย ความเข้าใจที่แท้จริงของจิตใจตัวเองนั้น มันอยู่ที่ประสบการณ์ด้วย ตัวอย่างที่เห็นง่ายๆ การอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง อ่านตอนเด็ก ก็รู้สึกอย่างหนึ่ง พอโตขึ้นมาไปหยิบมาอ่านใหม่ ก็รู้สึกแตกต่างไปจากเดิม รู้สึกว่าความเข้าใจในเนื้อหามันมีมิติที่แตกต่างออกไป เราเคยเห็นคนขี่จักรยาน เรามองแล้วก็เข้าใจว่าเขาขี่จักรยานกันยังไง แต่เมื่อไหร่ที่ยังไม่ได้ขี่เอง ก็ยังไม่เข้าใจอะไรๆที่มันเกิดขึ้นจากการขี่จักรยานได้อย่างถ่องแท้ เช่นเดียวกับการตามดู เข้าใจตัวเอง มันต้องใช้เวลา บวกปัญญา บวกความหมั่นเพียร แล้วมันจะเห็นได้ว่า เราเข้าใจตัวเองในมิติที่แตกต่างออกไปได้ ฉะนั้น คำสอนที่สอนจิตใจเรานั้น แต่ละคำสอน เราต้องใช้เวลา เมื่อจิตใจพร้อมและเห็นตามจริงตามคำสอนนั้นเมื่อไหร่ มันจึงไม่ใช่ความเข้าใจที่เกิดขึ้นแต่ที่สมองเท่านั้นแล้ว แต่มันเข้าใจไปถึงจิตถึงใจอย่างแท้จริงเลยแหละ คำสอนดีๆ เราจึงต้องจำเอาไว้ ไม่ใช่จำไปเชื่อเป็นตุเป็นตะ แต่เพื่อให้สักวันหนึ่ง เมื่อจิตใจมีคุณภาพพร้อมที่จะเข้าใจมัน เมื่อระลึกถึงคำสอนนี้ได้ ก็จะลงล็อก แล้วก็จบข่าวไปหนึ่งข่าว เท่านั้นเอง เอ๊า ก็เท่านั้นแหละ จะเอาอะไรมากกว่านี้ล่ะ ^^ |
บทความทั้งหมด
|