บางความตายสร้างการจดจำได้มากกว่าบางชีวิต
Posted by: management2008
พฤศจิกายน 16, 2009
ที่มา manager online

ขอไว้อาลัยแด่อัจฉริยะบุคคลทางดนตรี ผู้เปลี่ยนแปลงโลก

การเสียชีวิตอย่างกระทันหันของ ไมเคิล แจ็กสัน ผู้ได้รับฉายาว่า King of Pop กำลังกลายเป็นปรากฏการณ์สะเทือนโลก เพลงที่เขาทิ้งไว้ยังทรงพลังทั้งในแง่ท่วงทำนอง ความไพเราะ และเนื้อหาที่เหนี่ยวนำสันติภาพให้กลับมาสู่โลก

พูดในเชิงสีผิว คนทั้งโลกรู้ว่าไมเคิลเป็นคนผิวดำ บรรพบุรุษของเขาก็คือทาสที่ถูกนำมาจากแอฟริกา ผิดกับ บารัค โอบามา ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นประธานาธิบดีผิวดำคนแรกของอเมริกา ซึ่งมีพ่อเป็นชาวเคนยาที่ไปเรียนต่อในอเมริกาและแม่ซึ่งชาวอเมริกันผิวขาว ว่ากันจริงๆ แล้ว โอบามาก็ไม่ได้ซึมซับประสบการณ์ความทุกข์ยากของคนผิวดำในอเมริกาอย่างไมเคิล แจ๊คสัน กล่าวอย่างสุดโต่งโอบามาอาจไม่ใช่ประธานาธิบดีผิวดำของแท้สักเท่าไหร่



แต่การขึ้นมาเป็น King of Pop ของนักร้องผิวดำอย่างไมเคิล แจ็กสัน ต้องถือว่าเป็นของจริง และแน่นอนว่าการปรากฏตัวของเขาในฐานะราชาเพลงป็อปย่อมส่งผลสะเทือนต่อสังคมอเมริกันไม่น้อย

มันคือพลังทางวัฒนธรรมของคนดำที่เปลี่ยนอุตสาหกรรมเพลงของอเมริกา คือหลังพิงให้คนผิวดำได้ก้าวขึ้นมาเทียมไหล่กับคนผิวขาว คือเรื่องราวที่สะท้อนความไม่เท่าเทียมทางเชื้อชาติ และคือการเรียกร้องให้โลกหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว ขณะเดียวกันก็ยังแฝงความเปลี่ยวเหงาของคนที่ยืนอยู่บนจุดสูงสุดของชีวิต แต่รอบกายมีแต่ความว่างเปล่า

คือ…Michael Jackson


เพลงคนดำในอาณาจักรแห่งเสรีชน

นัดดา บุรณศิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัท วอร์นเนอร์ มิวสิค (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะของผู้คร่ำsวอดในธุรกิจเพลงสากลมาเป็นเวลานาน อธิบายว่า เพลงของคนผิวสีนั้นเกิดมาเกือบ 100 ปีแล้ว โดยแนวเพลงแรกที่ถือเป็นต้นตำรับเลยก็คือแนวเพลงประเภท Blue

“การที่คนผิวดำมาเป็นทาสในอเมริกาซึ่งถือว่าเป็นดินแดนเสรีชน ทำให้พวกเขามีโอกาสได้จับเครื่องดนตรีของคนผิวขาว แล้วเมื่อเขาเล่นเป็นแล้ว เขาก็จะทำเพลงออกมาเพื่อให้กำลังใจตัวเอง ตอนนั้นเราก็เรียกเพลงพวกนี้ว่า Blues ซึ่งแปลว่าเศร้า ต่อมาเพลง Blues ก็พัฒนามาเรื่อยๆ เป็น Soul และก็ Rhythm&Blues มีจังหวะมากขึ้น”

สำหรับเนื้อหาของเพลง ก็จะมีลักษณะที่บรรยายความรันทดในชีวิตของตนเองว่าเป็นอย่างไร ใช้ชีวิตลำบาก ยากเข็ญอย่างไรบ้าง แล้วในยุคนั้นปัญหาความไม่เท่าเทียมกันในสังคมนั้นรุนแรงมาก ทางออกที่ดีที่สุดก็คือการระบายความรู้สึกออกมาในรูปของเพลงและดนตรี เพื่อระบายความโกรธ ความอัดอั้น ความเศร้าที่ตัวเองเจอมา

จากเนื้อหาและลักษณะการร้องแบบนี้เอง จึงทำให้เพลง Blues กลายเป็นที่โดนใจของใครหลายๆ คน โดยเฉพาะคนผิวสีซึ่งมีประสบการณ์เช่นเดียวกับเนื้อหาของเพลง แต่ทั้งนี้ เพลงของคนผิวสีก็ยังไม่ถูกยอมรับในสังคมอเมริกาเท่าใดนัก เนื่องจากนักจัดรายการวิทยุส่วนใหญ่เป็นคนผิวขาว และสังคมส่วนใหญ่ก็ยังยอมรับไม่ได้ ที่จะเอาดนตรีของคนที่เขามองว่าต่ำกว่า มาฟังหรือมาเล่น



จนกระทั่งในช่วง ปี 1950-1960 ก็มีคนหัวใส เริ่มเห็นว่าดนตรีแบบนี้น่าจะพัฒนาไปได้อีก จึงลองเอาดนตรีที่มีจังหวะสนุก สดใสมาใส่ในเพลงของคนผิวสีดู ขณะเดียวกันคนผิวดำเองก็เริ่มแทรกซึมตัวเองเข้าไปในวงการเพลงมากขึ้น เช่น เข้าไปร้องเพลงในผับในบาร์ ซึ่งบางส่วนก็ได้รับความนิยม เพราะคนพวกนี้มีความสามารถในการสร้างความสนุกสนานให้คนดูสูง ขณะที่หลายๆ คนก็เข้าไปอยู่วง Big Band หรือในวง Jazz ก่อนที่จะพัฒนาเข้ามาสู่ดนตรี Pop หรือที่เราเรียกว่า Motown ซึ่งก็มีศิลปินที่โดดเด่นหลายคน เช่น The Supreme, Marvin Gaye, Diana Ross และที่ได้รับความสำเร็จสูงสุดก็คือวง The Jackson 5 ซึ่งมีไมเคิล แจ็กสันอยู่ด้วย

“ผมมองว่าเหตุผลที่เพลงของคนผิวดำได้รับการยอมรับมากขึ้น นั้นมากจากการต่อสู้ของตัวเองที่ต้องการความเท่าเทียมในสังคมมากขึ้น ขณะเดียวกันเขาเองก็มีความสามารถด้านนี้สูง ทำให้คนผิวขาวก็ยอมรับมากขึ้น และที่สำคัญก็คือยุคสมัยมันเริ่มเปลี่ยนไป อย่างในครอบครัวหนึ่ง พ่อแม่อาจจะไม่ชอบเพราะเป็นเพลงของคนดำ แต่ลูกๆ ก็อาจจะไม่ได้มองตรงนั้น เวลาฟังก็อาจจะชอบเพราะสนุกดี แล้วเมื่อเด็กโตขึ้น เขาก็ยังฟังเพลงแบบนี้อยู่ เพลงมันก็เลยโตตามขึ้นเรื่อยๆ”

หลังจากผ่านยุค Motown ไปแล้ว ดนตรีของผิวดำก็ได้รับความนิยมสูงขึ้นในหมู่นักฟังเพลงตามลำดับ ยิ่งในช่วงที่ไมเคิล แจ็กสันออกอัลบั้มเดี่ยวเป็นครั้งแรก

“ตอนนั้นก็เรียกว่าดังมากเลย แต่ถ้าจะถามเรื่องสีผิวเกี่ยวไหม ผมว่าคงไม่เกี่ยวนะ เพราะว่าในยุคนั้นก็มีคนกรุยทางเรื่องดนตรีของคนผิวดำมาให้เยอะแล้ว โดยเฉพาะเพลง Pop เพลงรักหวานๆ ส่วนตัวแล้วคิดว่า สาเหตุที่เขาโด่งดังเป็นเพราะความสามารถของเขาเองเป็นหลัก อย่างอัลบั้มแรกของเขาที่ชื่อ Off the Wall ทุกเพลงในนั้น ดังหมดเลยนะ โดนทุกเพลง คือเขาแต่งเพลง Pop เก่งมากเลย หรืออย่างตอนที่เขาเอาท่า Moonwalks มาใส่ในเพลง ก็กลายมาเป็นสิ่งที่ทุกคนกรี๊ด เป็นท่าที่ถูกใจทุกคนในโลก อันนี้ถือเป็นพรสวรรค์ของเขาจริงๆ”

สำหรับสถานการณ์ของกระแสเพลงคนดำในปัจจุบันนี้ นัดดาเล่าว่า ทุกวันนี้คนผิวสีสามารถแทรกซึมตัวหมดแล้ว และเรื่องผิวสีก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคฉุดรั้งคนที่มีความสามารถอีกต่อไป จะเห็นได้ว่าไม่ว่าจะเป็นดนตรี Rock, Pop, Jazz ก็มีคนผิวสีอยู่เต็มไปหมด

แต่หากถามว่า ดนตรีประเภทนั้นที่ยังถือว่าเป็นกระแสหลักของผิวสี ก็คงจะหนีไม่พ้น ดนตรีประเภท R&B Soul ซึ่งถือเป็นรากเหง้าทางดนตรีของคนผิวสี และ Hip-hop กับ Rap

“สังเกตได้เลยว่าเพลงประเภทนี้ แทบไม่มีคนผิวขาวเกิดขึ้นมาเลย R&B แทบไม่เห็นเลยนะ ส่วน Hip-hop รู้สึกจะมีแค่ Eminem คนเดียวมั้งที่เป็นคนผิวขาว”

แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่า การเติบโตของดนตรีเหล่านี้ จะไม่ได้แลกกับความเปลี่ยนแปลงอะไรเลย อย่าง Hip-hop ที่เปิดตามสถานีวิทยุก็มีลักษณะกลายพันธุ์มากขึ้น โดยเน้นเมโลดี้และจังหวะที่เต้นได้มากขึ้น เพื่อจะได้เอาไว้เปิดในผับในบาร์ และปรับเนื้อหาให้เหมาะสมกับความเป็นสาธารณะมากขึ้น



Michael Jackson …อัตลักษณ์ที่ตามหา

บนเส้นทางสายดนตรีที่ยาวนานนับ 40 ปี ราชาเพลงป็อบผู้นี้ยังมอบความสุข ความสนุก ความหวัง ความฝัน และแรงบันดาลใจอันใหญ่หลวงให้ผู้คนทั่วโลก ผ่านบทเพลงของเขา ที่ไม่ว่าจะเจือไว้ด้วยความสนุกสนาน คึกคัก หรือโศกเศร้า หัวใจสำคัญหรือจิตวิญญาณอันเป็น ‘แก่นแท้’ เป็น ‘ตัวตน’ ของไมเคิล แจ็กสัน ยังคงฉายชัด

ดังความเห็นจาก อนันต์ ลือประดิษฐ์ คอลัมนิสต์และนักวิจารณ์เพลง ที่กล่าวกับเราว่า

“จริงๆ แล้ว ไมเคิลก้าวไปไกลกว่า ‘คิงออฟป็อบ’ แต่เขาคือ ‘เมกะสตาร์’ หลายๆ คนที่ผมเคยพูดคุยด้วย เขาก็เห็นตรงกันว่า ไมเคิลคือสตาร์ที่ยิ่งใหญ่กว่าเพียงแค่เพลงป็อบ แต่เขาเป็นหนึ่งเดียวในโลก เป็นโมสาร์ตของโลกยุคนี้ก็ว่าได้ เขาเป็นหนึ่งเดียวที่ไม่มีใครมาแทนที่ได้ ไม่ว่าในอดีต อนาคต หรือปัจจุบัน”

มากกว่าความเป็น คิง ออฟ ป็อบ มากกว่าเจ้าของเพลงฮิตและท่าเต้นมากพรสวรรค์ ไมเคิล แจ็กสันยังส่งมอบนัยอันท้าทายมนุษยชาติผ่านหลายบทเพลงของเขา มันคือการก้าวข้ามพรมแดนเรื่อง ‘สีผิว’ ก้าวผ่านความแบ่งแยกของเพื่อนมนุษย์ และเมื่อใครสักคนสามารถแปรเปลี่ยนความทุกข์หรือแรงกดดันในชีวิต ให้กลายเป็นแรงบันดาลใจอันสร้างสรรค์แก่โลกได้ …ย่อมไม่ธรรมดา

ยิ่งเมื่อมองย้อนถึงแรงกดทับของสังคมอเมริกันที่การเหยียดสีผิวคุกรุ่นรุนแรง แต่เด็กน้อยไมเคิลก็ยังสามารถหยิบฉวยมาเป็นแรงผลักดันในชีวิต ก้าวสู่การเป็นราชา เมกะสตาร์ที่โลกต้องจารึก



ดังทัศนะ ที่ ผศ.สุรัตน์ โหราชัยกุล อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองอเมริกัน ถ่ายทอดไว้

“ถ้าเรานำไมเคิล แจ็กสัน ไปเชื่อมโยงกับสังคมอเมริกัน เราก็ต้องยอมรับข้อเท็จจริงว่า คนผิวดำผ่านการดิ้นรนต่อสู้กันมาเยอะมาก โดยเฉพาะการต่อสู้เรื่องสิทธิ ดังที่เห็นได้ชัดเจนว่า ไมเคิล แจ็กสัน เกิดในปี ค.ศ.1958 แต่ก่อนหน้านั้น 1 ปี คือในปี 1957 เกิดคดีสำคัญมากคดีหนึ่ง นั่นคือมีการฟ้องร้องกันว่าเมื่อกฎหมายกำหนดให้นักศึกษาผิวดำมีสิทธิเข้าไปเรียนหนังสือได้ รัฐบาลก็ควรจะส่งเจ้าหน้าที่รัฐมาปกป้องเขาเพื่อให้เข้าไปเรียนได้อย่างปลอดภัย นอกจากนั้นก็มีการเรียกร้องของมาร์ติน ลูเธอร์ คิง”

นอกจากบริบทของสังคมอเมริกันดังที่กล่าวมาแล้ว สุรัตน์ มองว่า อีกบริบทหนึ่งที่ไม่อาจมองข้ามคือแรงกดทับในครอบครัว โดยเฉพาะการดิ้นรนอย่างหนักเพื่อให้ชีวิตมีสถานภาพที่ดีขึ้น เนื่องจากคนผิวดำมักจะอยู่ในฐานะที่ค่อนข้างยากจน ดังที่พ่อของไมเคิล แจ็กสัน มีความพยายามอย่างยิ่งที่จะดิ้นรนทำให้ตัวเองมีชื่อเสียงโด่งดัง แต่ตัวเองไม่สามารถทำได้ จึงไปฝากความหวังไว้กับลูก พยายามให้ลูกมีชื่อเสียง

ทว่า สิ่งสำคัญกว่านั้นก็คือ แม้เมื่อสภาพสังคมเปลี่ยนไป มีการต่อสู้เรื่องสิทธิมากขึ้น หรือถึงแม้มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จะได้รับชัยชนะก็ตาม แต่จิตใจของอเมริกันก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป

“ทัศนคติเหยียดสีผิวไม่เคยเปลี่ยน ซึ่งตรงนี้มันแสดงให้เห็นว่า แม้กฎหมายจะเปลี่ยน แต่จิตใจคนไม่เคยเปลี่ยน มันต้องใช้เวลา การต่อสู้ดิ้นรนเหล่านี้ ผมเชื่อว่า หลายๆ คนก็พยายามที่จะหาอัตลักษณ์ให้แก่ตัวเองด้วย อย่างไมเคิล แจ็กสัน ที่ผมมองว่า เขาเป็นคนหนึ่งที่พยายามฉีกแนวตัวเอง ฉีกภาพตัวเองออกจากความเป็นคนผิวดำ เพราะเมื่อก่อน ความเป็นคนผิวดำ มักจะอิงอยู่กับภาพผู้ชายที่แข็งแรง แข็งแกร่ง และบ่อยครั้งมักจะมีทัศนคติที่โยงคนดำไปเกี่ยวข้องกับการเป็นผู้ชายที่ชอบใช้ความรุนแรง เวลามีอาชญากรรมหรือเหตุความรุนแรงอะไร ใครๆ เขาก็มักจะโทษคนดำ ด้วยเหตุนี้ ไมเคิล แจ็คสัน จึงพยายามที่จะฉีกห่างจากอัตลักษณ์ตรงนี้”

ในแง่ของทัศนคติที่กดทับ สุรัตน์มองว่า หากเราลองวิเคราะห์ตามแนวคิดของคาร์ล มาร์กซ์ ต้องยอมรับว่ามีคุณูปการหนึ่งที่มาร์กซ์ทิ้งไว้ นั่นก็คือแนวคิดที่ว่าเราเป็นผลผลิตของโครงสร้าง เราเป็นผลผลิตของสังคม สังคมพยายามที่จะตีตรา พยายามที่จะบอกว่าเราควรจะเป็นใคร ขณะเดียวกันเราก็มีสิทธิที่จะดิ้นรน พยายามบอกสังคมให้รับรู้ว่าเราเป็นใคร บ่อยครั้งจึงเกิดการปะทะกัน

“บ่อยครั้งเราก็อยากบอกว่า เอาสิ ถ้าบอกว่าฉันเป็นแบบนี้ ฉันก็จะเป็นแบบนี้ เพราะฉะนั้น เมื่อเรากระเสือกกระสนอยากจะเป็นให้ได้ทั้งที่ตัวตนของเราไม่ได้เป็นแบบนั้น มันก็จะเกิดปัญหาตามมาเยอะมาก ในแง่หนึ่ง ผมว่าสังคมต้องมีส่วนรับผิดชอบ เพราะคนในสังคมเองก็เคยคิดทฤษฎีที่ว่า ถ้ามีหม้ออันหนึ่ง จุดไฟ เอาทุกคนใส่รวมกันไปในนั้น ทุกคนก็จะหลอมละลายเข้าหากัน ซึ่งมันไม่เคยเกิดขึ้นจริง มนุษย์ทุกคนเขามีอัตลักษณ์ของเขา ผมว่านี่คือสิ่งสำคัญ”


ด้วยเสียงเพลง…จากหัวใจ

“ดนตรีแบบคนดำที่ปรากฏอยู่ในงานของไมเคิล ไม่ใช่ดนตรีในแบบของคนดำทั่วไป”

อนันต์แสดงความเห็น ไมเคิล แจ็กสัน สามารถนำมรดกจากเพลงคนดำในยุคก่อนมาดัดแปลงให้เป็นสำเนียงของตัวเอง และด้วยความที่เขามี ‘เซนส์ ออฟ ป็อบ’ หรือมีสัมผัสที่แม่นยำของความเป็นป็อบ ทำให้เขารู้ดีว่าอะไรจะโดนใจคน เพราะฉะนั้นดนตรีของไมเคิล จะมองว่าเป็นดนตรีแบบคนขาวก็ไม่ใช่ เป็นดนตรีของคนดำก็ไม่เชิง

“มันคือดนตรีที่เป็นในแบบของไมเคิลคนเดียว การที่เขาพยายามทำตัวให้ขาว มันอาจเป็นปมทางจิตวิทยา แต่ดนตรีของเขามันสะท้อนออกมาด้วยตัวมันเองอย่างดีที่สุดแล้ว มันไม่มีขาวไม่มีดำ สำคัญกว่านั้น ผมมองว่าแม้เขามีความทุกข์ทรมาน ความเหงา ความเศร้า เขาสามารถแปรเปลี่ยนปัญหาในจิตใจเหล่านี้ให้ออกมาเป็นผลงานที่สร้างสรรค์ได้ และสร้างความสุขให้แก่ผู้คนได้ ซึ่งคนที่ทำแบบนี้ได้ ไม่ธรรมดาเลย”

แน่ล่ะ แม้เพลงของไมเคิลจะมีด้านที่พูดถึงด้านความเหงา ความเศร้าอยู่ไม่น้อย เช่นเพลง Ben ที่พูดถึงการเลี้ยงหนูและเขาเองก็เคยบอกว่า ตัวเขาและหนูตัวนั้นก็เชื่อมโยงถึงกันด้วยความเศร้า อนันต์จึงมองว่า

“หัวใจสำคัญในบทเพลงของไมเคิลคือความเป็นป็อบที่สนุกสนาน ขณะเดียวกันก็มีมิติของความเหงา มีความต้องการเพื่อน มีความเป็นเด็กซ่อนอยู่ ผมชอบที่ควินซี่ โจนส์ โปรดิวเซอร์ของไมเคิล พูดถึงเขาว่า ไมเคิลมีความเป็นเด็กซ่อนอยู่ ตัวของไมเคิล เป็นคนทำงานแบบคนสูงวัยที่มากด้วยประสบการณ์ แต่ขณะเดียวกันก็ทำงานด้วยจินตนาการแบบเด็กๆ นี่คือสิ่งที่ตอบความเป็นไมเคิล แจ็กสัน ได้ชัดเจนมาก”

ด้วยพรสวรรค์และความเป็นอัจฉริยะของไมเคิลที่ฉายชัดตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา อนันต์จึงเชื่อมั่นว่า

“ไมเคิลตายไปแล้ว แต่ผลงานของเขาไม่ได้ตายตาม เพราะเป็นผลงานที่อิงอยู่กับยุคสมัย และผมเชื่อว่าหลายๆ เพลงของเขาเป็นอมตะ เราจะยังร้องกันได้อีกเนิ่นนาน”

ขณะที่ วิภว์ บูรพาเดชะ นักวิจารณ์ดนตรีและบรรณาธิการนิตยสาร Happening กล่าวถึงอิทธิพลของไมเคิล แจ็กสัน ที่มีคุณูปการต่อการยอมรับคนผิวสีในสังคมอเมริกันว่า ความสำเร็จอย่างมโหฬารของไมเคิลนั้น เป็นสิ่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าการเหยียดสีผิวเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไปแล้วในสังคมตะวันตก และดนตรีเป็นเครื่องมือที่ทำให้คนยอมรับความแตกต่างเรื่องสีผิวได้มากขึ้น ซึ่งไมเคิลได้สะท้อนแนวความคิดต่างๆ ผ่านบทเพลงของเขามากมาย

“ผมว่าสิ่งที่โดดเด่นในงานของเขาก็คือ การที่เขาพยายามจะบอกให้ผู้คนหันมามอบความรักให้กัน แล้วก็หันมาดูแลกัน อย่างที่เขาเขียนในเพลง Heal The World หรือว่า We’re the World นี่คือสิ่งที่รู้สึกว่าเขาพยายามจะบอกกับผู้คน”

แต่ในขณะเดียวกัน บก.วิภว์ ก็รู้สึกว่ามีหลายเพลงของไมเคิล แจ็กสันที่สะท้อนถึงความกดดันและเปลี่ยวเหงาของป็อบสตาร์ชื่อก้องโลกผู้นี้

“อย่างเช่นเพลงชื่อ Black or White น่าจะเป็นมุมมองที่เกิดจากความกดดันส่วนตัวของเขา ซึ่งน่าจะสื่อถึงความเท่าเทียมกันทางสีผิวด้วย แล้วก็มีหลายๆ เพลงที่นอกจากจะพูดถึงเรื่องสีผิวแล้ว ยังสื่อถึงความเหงา เปล่าเปลี่ยวของตัวไมเคิลด้วย อย่างเช่น You’re Not Alone ที่นับเป็นเพลงดังเหมือนกัน เนื้อเพลงพูดถึงความเหงาที่เขาบอกกับคนฟังว่า คุณไม่ได้อยู่คนเดียว แต่จริงๆ แล้วถ้าอ่านถึงเนื้อเพลงมันก็น่าจะสื่อถึงตัวเขาเองด้วย เพราะเพลงนี้แต่งในช่วงอัลบั้มที่ไมเคิลผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว ประสบความสำเร็จมีบ้านใหญ่ๆ มีข่าวคราวที่ไม่ค่อยดีบ้าง จริงๆ แล้วเขาเป็นคนเหงามาก ถ้ามองเรื่องเพลงของไมเคิล แจ๊กสัน จะเห็นว่ามีทั้งแง่มุมทางด้านบริบทของสังคม และมุมมองของตัวเขาเองรวมอยู่ด้วย”

ในช่วงที่คิง ออฟ ป็อบประสบความสำเร็จสูงสุดนั้น จุดเด่นงานเพลงของไมเคิลมีหลากหลายด้านในสายตานักวิจารณ์เพลงชาวไทยอย่างวิภว์ นับตั้งแต่ตัวเพลงและดนตรีที่มีการนำดนตรีหลายๆ อย่างมาผสมผสานกัน ไปจนถึงวิธีการร้องแบบใหม่ๆ ไปจนถึงเนื้อเพลงที่พูดถึงเรื่องหลายเรื่องที่มีประเด็นน่าสนใจ อย่างเพลง ‘Man in the Mirror’ ที่พูดถึงการปรับปรุงตัวเอง หรือแม้กระทั่งเพลงที่หมิ่นเหม่ต่อศีลธรรมอย่างเพลง Billie Jean เป็นต้น ซึ่งสะท้อนทั้งสภาพสังคมอเมริกันและมุมมองของไมเคิล ที่พยายามจะเปลี่ยนแปลงโลกด้วยบทเพลงของเขา

ส่วนการตายของไมเคิล แจ๊กสัน จะกลายเป็นอมตะอย่างเช่นการจากไปของราชาเพลงร๊อก แอนด์ โรล อย่างเอลวิส เพรสลีย์, จอห์น เลนนอน หรือเคิร์ท โคเบน หรือไม่นั้น? บก.วิภว์กล่าวว่า ต้องดูไปนานๆ ว่า แฟนเพลงทั่วโลกจะยังรำลึกถึงไมเคิล แจ๊กสันไปอีกนานแค่ไหน

“ข้อเสียเปรียบอย่างหนึ่งของไมเคิลก็คือ เขามาจากไปในตอนที่ผ่านจุดพีกมาแล้ว แต่ถ้าพูดถึงในมุมกลับกันก็คือในแง่เนื้องาน เขามีงานที่เยอะมากและเป็นงานที่เรียกว่าหลักไมล์ทางดนตรีอยู่หลายเพลง ซึ่งนับว่าเป็นเพลงที่ขายดีตลอดกาล รวมทั้งอิมเมจไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเต้นทั้งหลาย หรือว่าการแสดงโชว์ที่เป็นเอนเตอร์เทนเนอร์ชั้นดีในการโชว์ ผมเชื่อว่าจะมีแฟนเพลงอยู่กลุ่มหนึ่งที่มีจำนวนมากทั่วโลกที่ไม่ลืมเขาง่ายๆ” บก.วิภว์ทิ้งท้าย



…Heal the world make it better place. For you and for me and the entire human race…

มากกว่าความไพเราะ หวานเศร้า ลึกซึ้ง แต่น้ำเสียงของไมเคิล แจ็กสัน ที่ขับกล่อมคนทั้งโลกผ่านบทเพลง ‘Heal the world’ ยังมอบอะไรได้มากมายกว่านั้น มันคือความฝันใฝ่ คือโลกอุดมคติ คือเสียงที่ขับขานจากหัวใจ



Create Date : 17 พฤศจิกายน 2552
Last Update : 18 พฤศจิกายน 2552 15:27:47 น.
Counter : 1645 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Jeeup.BlogGang.com

Jeeup
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]

บทความทั้งหมด