JEDIYUTH’s Review: Revolutionary Road ถนนแห่งฝัน สองเรานิรันดร์
Revolutionary Road เป็นการกลับมาพบกันอีกครั้งของคู่ขวัญไททานิก ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ และ เคต วินสเลต ที่สร้างตำนานรักบันลือโลกบนแผ่นฟิล์มร่วมกันเมื่อสิบปีที่แล้ว มีชื่อภาษาไทยที่ฟังดูหวานว่า “ถนนแห่งฝัน สองเรานิรันดร์” ซึ่งถ้าใครไม่รู้เนื้อเรื่อง หรือไม่เคยอ่านนิยายต้นฉบับที่เขียนโดยริชาร์ด เยตส์ มาก่อน ก็คงคิดว่านี่จะเป็นหนังรักโรแมนติก เรื่องราวการต่อสู้ความฝันของคู่รัก ที่จริงแล้วไม่เลยครับ มันเป็นหนังสะท้อนปัญหาชีวิตครอบครัวในแง่มุมของความเป็นจริงจนบางคนอาจคิดว่า ถ้าแจ็คกับโรสหนีตามกันสำเร็จ ได้ไปใช้ชีวิตร่วมกันดังที่ฝันไว้ พวกเขาก็อาจติดกับชีวิตชานเมืองอันน่าเบื่อแบบในหนังเรื่องนี้ และลงเอยเหมือนกันก็เป็นได้

หนังเปิดเรื่องด้วยการนำเราไปรู้จักคู่สามีภรรยา แฟรงก์ (ดิคาปริโอ) และ เอพริล (วินสเลต) วีเลอร์ ที่ใครต่อใครมองว่าพวกเขาเป็นคู่ที่ “พิเศษ” เป็นคู่ที่เหมาะสมและหล่อสวยด้วยกันทั้งคู่ สามีเป็นพนักงานบริษัทใหญ่โตในนิยอร์กชื่อว่าน็อกซ์ ส่วนภรรยาก็มีเป็นแม่บ้านที่เพียบพร้อม แต่บนฉากหน้าที่ดูน่ารักเหมือนบ้านที่พวกเขาอยู่นั้น ทั้งคู่ต่างมีชีวิตคู่ที่ระหองระแหงกันมาตลอด

แฟรงก์ไม่ได้ชอบงานที่เขาทำ เขาเกลียดมันด้วยซ้ำ พ่อของเขาเคยทำงานที่บริษัทนี้และเขาก็เคยฝันในตอนเด็กว่าจะไม่ลงเอยแบบพ่อ แต่เขาก็กลับลงเอยแบบเดียวกัน ขณะที่เอพริลก็พยายามดิ้นรนด้วยการเป็นนักแสดงละครเวทีตามที่ฝัน แต่ก็กลับล้มเหลว และชีวิตพวกเขาไม่ได้พิเศษหรือแตกต่างจากคนอื่นเลย แฟรงก์ใส่สูทและหมวกไปทำงานออฟฟิศในนิวยอร์กด้วยชุดที่แทบแยกไม่ออกจากคนทำงานอื่นๆ ชีวิตแม่บ้านของเอพริลก็แทบไม่ต่างจากเพื่อนบ้านในถนนสายเดียวกัน

ทั้งคู่ดูจะมีหวังหลุดพ้นจากชีวิตชานเมืองอันน่าเบื่อนี้เมื่อเอพริลนึกถึงสมัยที่พวกเขาคบกันใหม่ๆ ทั้งคู่เคยฝันถึงการใช้ชีวิตแบบโบฮีเมียนในปารีส และเป็นสิ่งที่แฟรงก์เคยสัญญาเอพริลก่อนแต่งงานว่าจะไปใช้ชีวิตร่วมกันเช่นนั้น เธอเสนอความคิดแก่เขาเรื่องย้ายไปอยู่ปารีส เธอจะทำงานเลี้ยงแฟรงก์เองขณะที่เขาก็ค้นหาตัวเองไปว่าอยากทำอะไรกับชีวิต ความคิดของเอพริลได้เติมสีสันคืนกลับมาให้ชีวิตคู่นี้อีกครั้ง แม้ว่าจะถูกมองจากใครต่อใคร ว่า เป็นการตัดสินใจแบบเด็กๆ มีเพียงจอห์น กีฟวิ่งส์ (ไมเคิล แชนนอน) หนุ่มนักคณิตศาสตร์ที่เพิ่งออกจากโรงพยาบาลบ้าที่ดูจะเข้าใจพวกเขามากที่สุด

แต่แล้วความฝันของทั้งคู่ก็พังครืนเมื่อแฟรงก์เริ่มลังเลหลังจากได้เลื่อนขั้นในบริษัทให้มีตำแหน่งสูงขึ้น และได้เงินเดือนเยอะขึ้น มันเหมือนกับว่าแฟรงก์เริ่มพอใจกับชีวิตขณะนั้นแล้ว ขณะที่เอพริลเองก็ตั้งครรภ์ลูกคนที่สามยิ่งเป็นเหตุผลให้แฟรงก์เอามาอ้างไม่ให้ย้ายไปปารีส

เมื่อแฟรงก์สารภาพว่าเขาเคยนอกใจยิ่งทำให้เอพริลรู้ว่าเธอนั้นหมดรักในตัวของแฟรงก์แล้ว และไม่อาจเชื่อคำสัญญาของแฟรงก์ได้อีกต่อไป เธอมองออกว่าชีวิตในอนาคตจะเป็นอย่างไร และก็คงเป็นอย่างนั้นตลอดไป จนนำไปสู่การตัดสินใจที่นำไปสู่โศกนาฏกรรม

Revolutionary Road ในฉบับนิยายนั้น ได้รับการยกย่องอย่างมากเพราะการประพันธ์อันทรงพลังของเยตส์ที่วิพากษ์วิจารณ์ชีวิตของผู้คนยุค 50 ของสหรัฐ ที่ถูกรัฐสร้างค่านิยมภาพลวงของครอบครัวในฝัน ให้ว่าทุกครอบครัวดำเนินชีวิตไปอย่างสอดคล้องคล้ายคลึงกัน เพื่อความปลอดภัยและมั่นคงของประเทศชาติ ใครมีแนวคิดที่แตกต่างก็มักถูกมองว่าไม่เป็นอเมริกัน ถูกใส่ร้ายว่าเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นบ้า หรือเป็นพวกที่เพี้ยน ซึ่งเยตส์มองว่าแนวคิดนั้นถือเป็นการทรยศต่อจิตวิญญาณการเป็นนักปฏิวัติอันกล้าหาญที่สุดและดีที่สุดของชาวอเมริกัน ซึ่งจิตวิญญาณนั้นได้ถูกใส่ไว้ในตัวละครของเอพริล

“ผมหมายความว่าชื่อเรื่องของนิยายนั้นบอกถึงถนนสายปฏิวัติที่มีมาตั้งแต่ปี 1776 ได้มาถึงทางตันในยุค 50” เยตส์เคยกล่าวไว้ในการสัมภาษณ์ปี 1972 ซึ่งชะตากรรมของลูกคนที่สามของครอบครัววีเลอร์และของเอพริลก็ได้เป็นสัญลักษณ์ของเส้นทางปฏิวัติที่พบ “ทางตัน” ตามที่เยตส์บอก

การดัดแปลงเป็นบทหนังของจัสติน เฮย์เธนั้นสะท้อนปัญหาชีวิตครอบครัวชานเมืองของอเมริกันตามขนบนิยมที่เป็นสาระสำคัญของฉบับนิยายออกมาได้ดีครับ แต่ไม่อาจสะท้อนยุคสมัยออกมาได้ จึงทำให้หนัง Revolutionary Road ดูมีความเป็นหนังย้อนยุคน้อยมากในแง่ของอารมณ์หนัง ทำให้หลังจากชมจบแล้ว ผมจึงรู้สึกว่าหนังเรื่องนี้ไม่แตกต่างจากหนังเรื่องอื่นที่มีเนื้อหาคล้ายคลึงกันก่อนหน้านี้นัก เช่น American Beauty ที่สร้างชื่อให้เมนเดสเอง หรือหนังอังกฤษที่ตั้งคำถามต่อชีวิตคล้ายๆกันอย่าง Metroland หรือหนังในโทนที่อบอุ่นกว่าอย่าง Pleasantville หนังในโทนสยองขวัญอย่าง The Stepford Wives หรือแม้แต่แง่คิดแฝงในหนังตลกอย่าง The Adams Family จะต่างกันก็เพียงพูดถึงตัวละครคนละตัวและเลือกใช้การตัดสินใจคนละอย่างกันเท่านั้น ดังนั้นถ้าหนังเรื่องนี้ออกฉายสักเมื่อสิบปีก่อน ผมคงรู้สึกว่าเป็นหนังที่น่าตื่นเต้นในแง่เนื้อหากว่านี้ และตอนจบของหนังคงเป็นอะไรที่ทรงพลังกว่านี้ครับ

ในแง่ของการเล่าเรื่อง เมนเดสใช้เทคนิคการเล่าเรื่องด้วยภาพแบบเดียวกับที่เขาใช้ใน American Beauty แต่ไม่อาจทำให้กระชากใจเท่า หลายครั้งที่ผมรู้สึกว่าหนังแน่นิ่งเกินไป และไม่ไปไหน การแสดงของวินสเลตนั้นยอดเยี่ยม เธอได้มีโอกาสเล่นบทที่ท้าทายหลายฉากมาก รวมถึงได้ปล่อยคำพูดเด็ดๆ หลายช่วง ขณะที่ดิคาปริโอนั้นก็ไม่ทำให้ผิดหวัง แม้ว่าจะยังคงเป็นบทของผู้ชายที่ดูกระล่อน ขี้คุย และเจ้าชู้ คล้ายหนังหลายเรื่องก่อนหน้านี้ของเขา จะแตกต่างอยู่ก็แต่ในรายละเอียดของตัวละคร แต่ที่ลืมไม่ได้เลยก็คือบทบาทการแสดงของไมเคิล แชนอน ออกเพียงสองฉาก แต่ทำให้รู้สึกว่าเป็นฉากที่น่าจดจำที่สุดในหนัง

หลังจากชมหนังเรื่องนี้จบ อย่างหนึ่งที่ทำให้ผมรู้สึกดีก็คือรู้สึกว่าโชคดีครับที่ไม่ได้มีชีวิตร่วมสังคมเดียวกับตัวละคร ผู้คนในสังคมของเราและยุคของเรานั้นมีทางเลือกมากกว่า มีโอกาสที่จะได้ใช้ชีวิตตามที่ฝันกันมากขึ้น แม้บางคนไม่ได้ใช้ชีวิตตามที่ฝัน ก็รู้จักให้ถนนของความฝันกับถนนของความจริงไปคู่กันได้ มิเช่นนั้น ความฝันของเราก็คงไม่ต่างจากชะตากรรมของเด็กในท้องของเอพริล

คะแนน 7/10

Revolutionary Road ถนนแห่งฝัน สองเรานิรันดร์

กำกับ : แซม เมนเดส

นำแสดง : ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ, เคต วินสเลต, เคธี่ เบ็ตส์, ไมเคิล แชนน่อน, แคธรีน ฮาห์น, เดวิด ฮาร์เบอร์, โซอี้ คาซาน

เว็บไซต์ภาพยนตร์: //www.revolutionaryroadmovie.com




Create Date : 07 กุมภาพันธ์ 2552
Last Update : 7 กุมภาพันธ์ 2552 10:38:07 น.
Counter : 1937 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Jediyuth.BlogGang.com

JEDIYUTH
Location :
กรุงเทพ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]

บทความทั้งหมด