เพลงรักฤดูร้อน

54-เพลงรักฤดูร้อน3

ชื่อภาพ : กระดิ่งและกระติกไอติม
สถานที่ : เยาว์วัยนิวาส
เทคนิค : ลายเส้นปากกา สีน้ำบนกระดาษ
ขนาด : ๒๘ x ๓๘ เซนติเมตร




เพลงรักฤดูร้อน
sing along to that
summer love song



คุณที่รัก


สำหรับวัยรุ่น เสียงกระดิ่งรถจักรยานบุรุษไปรษณีย์ คือเสียงสวรรค์ แต่เปรียบกับเด็ก ๆ แล้ว เสียงกระดิ่งของรถขายไอติม คือเสียงเพลงรักที่พวกเขารอคอย


ไอติม ครับ แถวบ้านผมเขาเรียก ไอติม ลางคนก็เรียก ไอสะติม และลดรูปมาแค่ "สะติม"


ไม่มีเด็กคนไหนหรือผู้ใหญ่ก็เหอะเรียกเต็มยศเต็มอย่างว่าไอศกรีม(ice cream)หรอก ผมจะเขียนทั้งภาษาเขียนและภาษาปาก นั่นแหละครับ (ด้วยรำคาญพจนานุกรมอวดรู้ในคอมพิวเตอร์)


คนไทยเรารู้จักกินไอศกรีมกันตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ โน่นแล้ว โดยสั่งน้ำแข็งมาจากสิงคโปร์ ส่วนไอติมหลอด หรือไอติมแท่งที่ใช้น้ำหวานใส่หลอดสังกะสี ลงถังเขย่าให้แข็ง และมีก้านไม้เสียบนั้นเพิ่งมามีในสมัย ร.๗


กว่าจะพัฒนามาเป็นไอติมแบบที่เรียกว่า ไอติมแท่ง หรือ ไอติมนม ที่เรียกเช่นนั้นเพราะมีส่วนผสมของนมเป็นหลัก (ไม่ใช่น้ำหวานเหมือนไอติมหลอด) จากไอติมก้อนใหญ่ ห่อกระดาษแช่ในถังน้ำแข็งไว้ เขาจะตัดแบ่งขายเป็นแท่ง ๆ เสียบไม้ให้ถือรับประทานได้สะดวก


คุณคงนึกภาพออก แต่ไอศกรีมโบราณรุ่นแรก ๆ นั้น เป็นไอศกรีมที่ทำจากเนื้อมะพร้าวอ่อน หวานหอมกลิ่นดอกนมแมว และโรยหน้าด้วยถั่วลิสงคั่ว ต่อมาก็ดัดแปลง โดยใช้กะทิสดผสมกับน้ำตาลนำไปปั่นให้แข็ง เนื้อไอติมค่อนข้างใสเป็นเกล็ดน้ำแข็งละเอียด เวลารับประทานต้องขูดไอติมออกจากขอบหม้อโลหะเมื่อไอติมเริ่มแข็งตัว ตอนขายตักใส่ถ้วยเป็นลูก ๆ เรียกไอติมตัก กินกับถั่ว ข้าวเหนียว หรือลูกชิด บางคนกินกับขนมปังที่หั่นเป็นท่อน สมัยผมเร่ิมใช้ขนมปังแบบแผ่นประกบกัน ทั้งยังราดนมสดด้วย


ไอติมตักแบบนี้ยังมีขายมาจนปัจจุบัน แต่ไอติมที่ผมเกี่ยวพันทันได้หิ้วกระติกใส่ตะกร้าหวาย ผูกท้ายรถถีบ, รถหลิ้งขาย ก็คือไอติมหลอดครับ เพื่อนผมขายอยู่ก่อน เขาเห็นผมบ่นเรื่องหาบขนมขายตอนปิดเทอมฤดูร้อน เขาก็เลยชวนให้มาลองขายไอติมดู


ที่บ้านผมคนทำไอติมหลอดเป็นชาวญวน ไม่รู้มาตกค้างไทยสมัยไหน อยู่เขย่าถังไอติมออกมาเป็นลูกคนไทหัวปีท้ายปี (ยังเล่าไม่ได้ครับ แกตายไปแล้ว แต่เมียและลูกเต้ายังอยู่)


แต่ดูเถอะ ทำไมผมจำไม่ได้ว่าไอติมสมัยนั้นหลอดละกี่สลึง กระติกหนึ่งประมาณกี่บาท เขาหักทุนไปกี่บาท คนขายได้กี่บาท... ผมไปรับไอติมมาขาย เขาจะใส่กระติกให้ กระติกอย่างที่เห็นในภาพนั่นแหละ คุณยังทันเห็นไหม ข้างในนั้นเป็นแก้วใสสีสวยจุไอติมได้ร่วม ๒o-๓o แท่งได้ แรก ๆ เขาก็ให้ทดลองขายก่อนหนึ่งกระติก ขายเก่งก็เพิ่มให้เป็นสองกระติก แต่ผมมีจักรยาน ไม่ต้องสะพายไหล่เดินขาย เขาก็ให้ตะกร้าหวายใหญ่ที่แบ่งเป็นช่อง แบบสอง-สี่- หก - แปดกระติก...


น่าเสียดายจริง ๆ ทำไมผมจำรายละเอียดอะไรไม่ได้ชัด ทั้งที่ภาพในสมองนั้นบรรเจิดทั้งสีสัน แสงและเสียง...


ผมจะเลือกทำเลร่มรื่นใต้ต้นไม้ใหญ่ลานกว้างกลางหมู่บ้าน จอดตั้งขาตั้งรถถีบ เปิดหมวกกระพือลมไล่เหงื่อร้อน ก่อนจะประจงลั่นรัวกระดิ่งราวกับนักดนตรีบรรเลงเพลงอันเพราะพริ้งเป็นระยะ ๆ เพื่อเรียกเด็ก ๆ ทั่วทุกทิศ มาชุมนุมรุมล้อม...ผมจดจำห้วงเวลารื่นรมย์ที่ผ่านเลยนั้นได้ดี...


ขณะก้มเปิดฝาจุกกระติก ไอเย็นพวยออกมากระทบจมูก...ขณะหยิบยื่นแท่งไอติมสีแดง เหลือง เขียว ส้ม ฟ้า ขาว ยื่นให้มือที่ชูสลอน และแววตาที่วาววามความหวังและขณะพวกเขาลิ้มเลียเคลียคลอ ดูดดื่มความสุขจนเหลือแต่ก้าน ความสุขที่หวาน...เย็น...และแสนชุ่มชื่นใจ...



เรื่องและภาพ โดย พิบูลศักดิ์ ละครพล
จากคอลัมน์ "ผ่านตามาตรึงใจ" นสพ.กรุงเทพธุรกิจวันอาทิตย์ ๒๒ มิ.ย. ๒๕๕๗
เฟซบุคกรุงเทพธุรกิจวันอาทิตย์












คุณพิบูลศักดิ์ลงภาพสีน้ำงาม ๆ และถ้อยคำเพราะ ๆ ในเฟซบุค เห็นแล้วชอบมาก ๆ
เอามารวมกับคอลัมน์บล็อกละบท เลือกบทที่เนื้อหาเข้ากันค่ะ










ฤดูว้าเหว่ของหัวใจ


ดูสิ...

มองออกไปนอกหน้าต่างความเศร้าตรม

ยังมีความอภิรมย์หลงเหลืออยู่

ขอเพียงเช็ดน้ำตาเงยหน้าดู

และเปิดใจเราเรียนรู้

ฤดูว้าเหว่ของหัวใจ (ตน)


(ฤดูว้าเหว่ของหัวใจ กุลสตรีปักษ์หลังพฤษภา ๕๗)


จาก เฟซบุคพิบูลศักดิ์ ละครพล







A Summer Place - Andy Williams





บล็อกนี้อยู่ในหมวดศิลปะค่ะ



บีจีจากคุณเนยสีฟ้า กรอบจากคุณsomjaidean100

Free TextEditor




Create Date : 23 มิถุนายน 2557
Last Update : 28 มิถุนายน 2557 20:49:21 น.
Counter : 3867 Pageviews.

0 comments
봄 처녀(Virgin spring) by 홍난파(NanPa Hong) ปรศุราม
(17 เม.ย. 2567 10:09:12 น.)
几度花落时( จี่ตู้ฮวาลว่อสือ) by 任光 (เหยินก่วง)​ ปรศุราม
(5 เม.ย. 2567 10:45:31 น.)
วาดสวย สมาชิกหมายเลข 4313444
(27 มี.ค. 2567 08:29:19 น.)
ภ า พ จิ ต ร ก ร ร ม ฝ า ฝ นั ง สมาชิกหมายเลข 7582876
(23 มี.ค. 2567 11:46:41 น.)

Haiku.BlogGang.com

haiku
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 161 คน [?]

บทความทั้งหมด