บุพเพสันนิวาสของไทย กับแดจังกึมของเกาหลี












บุพเพสันนิวาสของไทย กับแดจังกึมของเกาหลี
โดย สารส้ม จากคอลัมน์ "กวนน้ำให้ใส"
นสพ.แนวหน้า ๑๔ มี.ค. ๒๕๖๑



หลังกระแสละครบุพเพสันนิวาสได้รับความนิยมจากประชาชน ผู้คนเดินทางท่องเที่ยววัดที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาจำนวนมาก พร้อมทั้งนิยมแต่งชุดไทยย้อนยุค

วัดไชยวัฒนาราม ปกติจะมีนักท่องเที่ยววันละประมาณ ๑,๐๐๐ คน แต่ปัจจุบัน อยู่ที่ (๖,๐๐๐-๗,๐๐๐ คน






นี่คือประตูแห่งโอกาสดี ๆ ที่เปิดขึ้นมาแล้ว

เมื่อวานนี้ นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยถึงกรณีนายกฯ ส่งข้อความสนับสนุนให้รณรงค์เรื่องการแต่งชุดไทย และการท่องเที่ยว จ.พระนครศรีอยุธยา ต่อเนื่องไปถึงเทศกาลสงกรานต์


รัฐมนตรีวัฒนธรรม บอกว่า ละครบุพเพสันนิวาสถือเป็นละครที่มีคุณค่า เป็นการเอาประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมมาสร้าง เป็นในแนวเดียวกันกับซีรี่ส์แดจังกึมของเกาหลีใต้ โดยละครบุพเพสันนิวาสไม่ได้ด้อยกว่าแดจังกึม ขณะนี้ เริ่มดังไปในต่างประเทศแล้ว ขณะนี้ วัดต่าง ๆ ได้เตรียมรองรับนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่จะเดินทาง มีระบบนำชมโดยนำเทคโนโลยี AR Code ๕ ภาษา ประกอบด้วย ภาษาไทย จีน ญี่ปุ่น อังกฤษ และฝรั่งเศส เอาไว้รองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วย นอกจากนี้ ทางจังหวัดและท้องถิ่นได้เข้ามาช่วยดูแลในเรื่องสถานที่จอดรถยนต์ และเรื่องการจราจร เพราะการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมสามารถสร้างรายได้ให้ท้องถิ่นได้








พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เปิดเผยด้วยว่า ส่วนตัวดูแต่ไม่กี่ตอน ถือว่าดี ทำให้คนในสมัยนี้สนใจรับรู้ว่าประวัติศาสตร์ประเทศชาติว่า เรามีความเป็นมาอย่างไร และการแต่งชุดไทยไม่ใช่เรื่องเคอะเขิน แต่เป็นเรื่องที่ดี ทำให้รู้ว่าเรามีขนบธรรมเนียมที่ดีอย่างไร และรู้วิถีชีวิตคนสมัยโบราณว่าเขาอยู่กันอย่างไร








๑. ละครเกาหลี “แดจังกึม” ถือเป็นกรณีศึกษาสำคัญ ว่าละครสามารถเป็นหัวจักรขับเคลื่อนอุตสาหกรรมวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวของประเทศได้อย่างสง่างาม และมีมูลค่าสูงมาก

กรณีของเกาหลี ภาครัฐเขาวางแผนผลักดันอุตสาหกรรมบันเทิง เพื่อให้เป็นกลไกสร้างความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ โดยมีคณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.ของเกาหลี) ทำหน้าที่วางแผนงานและส่งเสริมธุรกิจบันเทิงอย่างจริงจัง ผู้ผลิตภาพยนตร์ ผู้จัดละคร และค่ายเพลง ทำหน้าที่ผลิตผลงานสร้างสรรค์ออกมา แล้วมี กสช. วางแผนการตลาดและการประชาสัมพันธ์ให้อย่างครบครัน









แถมยังลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีไอซีทีในประเทศให้คนรุ่นใหม่ได้เข้าถึงและติดตามอย่างสะดวก รวดเร็ว ประสิทธิภาพสูงสุด สังเกตว่า ในทศวรรษที่ผ่านมาเทคโนโลยีด้านการสื่อสารของเกาหลีนั้นเติบโตเร็วแบบก้าวกระโดด (ล้ำหน้ายิ่งกว่าประเทศพัฒนาแล้วใด ๆ) ผู้คนจากทั่วสารทิศสามารถเข้าถึงและแลกเปลี่ยน “เนื้อหาทางวัฒนธรรม” ของเกาหลีได้อย่างง่ายดายและฉับไวกระทั่งเกิดผลสำเร็จเป็น “กระแสเกาหลีฟีเวอร์” มาโดยเงินจากเมืองไทยและอีกหลายประเทศกลับไป






แต่กรณีละครไทยบุพเพสันนิวาส มิได้เกิดจากการวางแผนดำเนินการอย่างเป็นระบบของทางการไทย แต่เสมือน “ถูกหวย” ละครที่ภาคเอกชนลงทุนผลิตและออกอากาศ อาศัยฝีมือและความแม่นยำของผู้ผลิตเอง เกิดมาถูกที่ถูกเวลา สอดคล้องกับจริตทางการตลาดของผู้คนที่เคลื่อนตัวมาอยู่ในโลกสังคมดิจิตอลมากขึ้น








๒. อันที่จริง ละครเกาหลีก็มาถูกที่-ถูกเวลาด้วย

ยุคโน้น ละครซีรี่ส์เกาหลี ได้รับความสนใจ เพราะถือเป็นคอนเท้นท์ที่ยังมีราคาไม่แพง เทียบกับคุณภาพการถ่ายทำ ภาพสวย ตัวละครดูดี วัฒนธรรมค่านิยมสอดคล้องกับประเทศเอเชีย เพลงประกอบเพราะหู เนื้อหาจับหัวใจ โรแมนติก ที่คนในแถบเอเชียจึงนิยม


ซีรี่ส์เกาหลีที่มาโด่งดังในไทย เช่น ลิขิตรักแห่งดวงดาว (Wish Upon a Star), รักนี้ชั่วนิรันดร์ (Autumn in my Heart), เพลงรักในสายลมหนาว (Winter Love Song), แดจังกึม จอมนางแห่งวังหลวง, สะดุดรักที่พักใจ (Full House), เจ้าหญิงวุ่นวายกับเจ้าชายเย็นชา (Princess Hours) ฯลฯ

จากละคร ก็ลามไปถึงหนัง เพลง นิตยสาร เสื้อผ้า แฟชั่น อาหาร การ์ตูน เกมส์ออนไลน์จากเกาหลี

ไทยเรานำเข้าจากเกาหลีเยอะมาก รวมถึงการเดินทางไปเที่ยวเกาหลีใต้








๓. งานเขียนที่วิเคราะห์ถึงละครเกาหลีได้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะในมิติว่า ละครเกาหลีทำหน้าที่ถ่ายทอดวัฒนธรรมได้อย่างไร มีประโยชน์อย่างไร ว่าด้วยเรื่อง “การถ่ายทอดวัฒนธรรมผ่านละครเกาหลีอิงประวัติศาสตร์ แดจังกึม (Cultural Transmission via Korean Drama: Dae Jang-geum)” โดยคุณปริณดา เริงศักดิ์








ขออนุญาตหยิบบางประเด็นมาถ่ายทอดเป็นน้ำจิ้ม ดังนี้


(๑) การถ่ายทอดวัฒนธรรมด้านอาหาร

เนื่องจากแดจังกึมเป็นนางในที่ทำหน้าที่ปรุงอาหารถวายพระราชาและราชวงศ์ ทำให้ผู้ชมสามารถเห็นกรรมวิธีปรุงอาหารในห้องเครื่อง (ห้องครัว) ที่ล้วนใช้วัตถุดิบคัดสรรเป็นอย่างดีตามแบบฉบับของเกาหลีโบราณ และเห็นถึงความละเอียดประณีตในการเตรียมเครื่องปรุงต่าง ๆ อาทิ ถ้าต้องการจะทำให้ซีอิ๊วแป้งถั่วเหลืองมีรสชาติดี ควรใส่ในไหแล้วนำไปฝังไว้ใต้ต้นไม้ จะช่วยให้หมักได้เร็วและมีรสชาติดีขึ้น






อีกทั้งในแต่ละมื้อของอาหารเกาหลีจะต้องมีกิมจิ ซึ่งเป็นผักดองที่ทำมาจากกะหล่ำปลีจีน หัวผักกาด แตงกวา และพริกแดง และเป็นเครื่องเคียงอย่างเดียวที่นำมารับประทานกับข้าว จึงทำให้ผู้ชมรู้จักกิมจิ อาหารประจำชาติของเกาหลีอีกด้วย








(๒) การถ่ายทอดวัฒนธรรมด้านการแพทย์

ภายหลังจากที่แดจังกึมต้องออกจากวัง ทำให้ได้เรียนรู้วิชาทางการแพทย์ ละครถ่ายทอดถึงวิธีการฝังเข็มรักษาโรคแบบเกาหลีโบราณ ซึ่งแพทย์จะต้องมีความรู้และมีความเชี่ยวชาญสูง เพราะหากฝังเข็มผิดจุด ผู้ป่วยอาจมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ เหมือนดั่งแดจังกึมที่ช่วงแรก ๆ ยังไม่มีความมั่นใจพอที่จะฝังเข็ม จนเกือบจะทำให้คู่ซ้อมฝังเข็มแทบจะเอาชีวิตไม่รอดมาแล้ว






ละครบางตอนนำเสนอถึงการนำโสมเกาหลีมาใช้เป็นส่วนผสมของยารักษาโรคหลายขนาน แต่ถ้าผสมไม่ถูกวิธีก็จะกลายเป็นพิษต่อผู้ป่วยได้เช่นกัน ทั้งนี้ในตอนหนึ่งครูถามแดจังกึมว่า จะสามารถแยกแยะสมุนไพรกับพิษได้อย่างไร เธอตอบว่า ยากับพิษนั้นยากที่จะแยกออกจากกันได้ สำคัญอยู่ที่ว่า จะมีวิธีในการใช้อย่างไร นั่นเป็นเพราะหากแพทย์ใช้สมุนไพรไม่ถูกต้อง มันก็จะกลายเป็นยาพิษทำร้ายผู้ป่วยได้ในที่สุด








(๓) การถ่ายทอดวัฒนธรรมด้านการแต่งกาย

ในเรื่องนี้ผู้ชมจะได้เห็นชุดเครื่องแต่งกายเกาหลีจากการสวมใส่ของตัวละครที่สามารถบ่งบอกถึงฐานะและชนชั้นในสังคมได้ อาทิ เครื่องแต่งกายของพระราชา พระมเหสี พระสนม เชื้อพระวงศ์ลำดับขั้นต่าง ๆ ขุนนาง ทหาร นางในแต่ละขั้น ซังกุง หมอหลวง หมอหญิง หรือแม้กระทั่งสามัญชน เป็นต้น






เครื่องแต่งกายประจำชาติของเกาหลี เรียกว่า ฮันบก โดยฮันบกของผู้หญิงประกอบด้วย กระโปรงพันรอบตัว เรียกว่า ชิมา และเสื้อชอกอริ ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับเสื้อแจ๊กเกต ส่วนฮันบกของผู้ชาย จะประกอบด้วยชอกอริเช่นกัน แต่สั้นกว่าของผู้หญิง และสวมกางเกงเรียกว่า บาจิ อีกทั้งชุดของผู้หญิงและผู้ชายจะสวมคลุมทับด้วยเสื้อคลุมยาวที่เรียกว่า ดุรุมากิ








(๔) อิทธิพลต่อการท่องเที่ยว

“แดจังกึม ธีม ปาร์ค” เป็นโรงถ่ายจำลองที่สร้างเลียนแบบสถานที่จริงที่ทีมงานสร้างไว้สำหรับใช้ถ่ายทำ จนปัจจุบันได้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของประเทศเกาหลี สถานที่แห่งนี้ตั้งอยู่ในหุบเขาวัฒนธรรมยางจู จังหวัดเกียงกี มีพื้นที่รวมถึง ๖,๖๐๐ ตารางเมตร ภายในจัดสรรพื้นที่ออกเป็นส่วนต่าง ๆ ให้นักท่องเที่ยวได้ชมและรำลึกถึงฉากในละคร อาทิ แด จีอึน-เขตพื้นที่ของกษัตริย์ แดบิ จีอึน-เขตพื้นที่ของพระราชินี ซู รา กาน-ครัวหลวง ฯลฯ โดยร้อยละ ๕๐ ของนักท่องเที่ยวที่มาเยือนแดจังกึม ธีม ปาร์ค ล้วนเป็นนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่ได้ชมละครเรื่องนี้


การเดินทางไปท่องเที่ยวประเทศเกาหลีเพื่อตามรอยละครแดจังกึม ส่งผลให้ธุรกิจการท่องเที่ยวของเกาหลีเติบโตขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวไทย












๔. ละครบุพเพสันนิวาสของไทย ได้กะเทาะประตูแห่งโอกาสให้แล้ว ถือเป็นเรื่องดีที่จะมีการส่งเสริม ดำเนินการอย่างเป็นระบบ

มิใช่ทำแบบ “สามล้อถูกหวาย”

ควรมีแผนการจัดการทางวัฒนธรรมที่ชาญฉลาด เพื่อประโยชน์ในทางธุรกิจร่วมสมัย และเสริมคุณค่าประวัติศาสตร์และมรดกทางวัฒนธรรมของชาติต่อไป







ภาพและข้อมูลจาก
กระทู้พันทิป
fanpop.com
naewna.com
bbtvthai.com
ch3thailand.com
thaiticketmajor.com
movie24hoursonline.blogspot.com









บีจีและไลน์จากคุณญามี่ กรอบจากคุณ ebaemi

Free TextEditor





Create Date : 17 มีนาคม 2561
Last Update : 17 มีนาคม 2561 23:05:56 น.
Counter : 1633 Pageviews.

0 comments

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณข้ามขอบฟ้า, คุณmambymam, คุณสายหมอกและก้อนเมฆ, คุณtoor36, คุณSai Eeuu, คุณบาบิบูเบะ...แปลงกายเป็นบูริน, คุณวลีลักษณา, คุณภาวิดา คนบ้านป่า, คุณALDI, คุณAppleWi, คุณสองแผ่นดิน, คุณเริงฤดีนะ, คุณกะว่าก๋า, คุณnewyorknurse, คุณSweet_pills, คุณอุ้มสี, คุณฟ้าใสวันใหม่, คุณก้นกะลา, คุณJinnyTent, คุณRinsa Yoyolive, คุณkae+aoe, คุณ**mp5**, คุณล้งเล้งลัลล้า, คุณหอมกร, คุณThe Kop Civil, คุณmariabamboo


Haiku.BlogGang.com

haiku
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 161 คน [?]

บทความทั้งหมด