[Books] Stiff เรื่องลับที่ไม่รู้ของศพ - Mary Roach
"The way I see it,
being dead is not terribly far off from being on a cruise ship.
Most of your time is spent lying on your back.
The brain has shut down. The flesh begins to soften.
Nothing much new happens, and nothing is expected of you."


― Mary Roach, Stiff: The Curious Lives of Human Cadavers



เรื่องลับที่ไม่รู้ของศพ
ผู้เขียน Mary Roach ผู้แปล สุกิจ และ วิรงรอง ตรีไตรลักษณะ


ได้จากห้องสมุดประชาชนโดยบังเอิญ เป็นหนังสือที่อยู่ในลิสท์ 'จะอ่าน' มาตั้งแต่วางแผงใหม่ๆ แต่ไม่ได้ซื้อซะที (รอโปรโมชั่น) พอเห็นในห้องสมุดเลยเพิ่งรู้ว่ามีแปลไทยด้วย เห็นปุ๊บคว้าปั๊บด้วยความดีใจ

ผลปรากฏว่าอ่านไปไม่ถึง 3 บท ก็เปิดคอมไปซื้อต้นฉบับ (ตั้ง $10 แน่ะ จริงๆ $7 แต่ถูก amazon ลงโทษที่เกิดเป็นคนไทย $3)

สาเหตุก็เพราะคำนิยมของต้นฉบับเกือบทั้งหมดต้องมีคำว่า 'ตลก' แต่ฉบับแปลมันอ่านแล้วเหมือนจะขำแต่ไม่ขำ เหมือนมีความตลกซ่อนอยู่แต่เข้าไม่ถึง พออ่านต้นฉบับเลยรู้ว่าฉบับแปลปลิดมุขตลกบางส่วนทิ้ง (แต่ไม่กระทบเนื้อหา) ไม่ได้บอกว่าแปลไม่ดีนะคะ เราคิดว่าที่เอาออกเพราะจะทำให้การอ่านไหลลื่นขึ้น และคงบรรยากาศสาระและวิชาการ ไม่โดนมุกโปกฮามาดึงอารมณ์ไปทางอื่น

บังเอิญว่าเราเป็นพวกเห็นมุขตลกและสำบัดสำนวนของคนเขียนเหมือนขนมหวาน เลยเกิดอาการเสียดาย ก็แหม บางคนก็ชอบหนามกุหลาบ ไม่อยากให้ริดจนเหี้ยนนี่นา

ต้องบอกก่อนว่าต้นฉบับไม่ถึงกับขำเอิ๊กอ๊าก เป็นแบบยิ้มหึๆ มุมปากกระตุกเป็นครั้งคราว แต่บรรยากาศในการอ่านถูกจริตกว่าฉบับแปล แค่ปกก็มองเห็นความแตกต่างของอารมณ์ขัน

อย่างไรก็ตามการอ่านฉบับภาษาไทยก็มีข้อดีตรงที่ผู้แปลทำการบ้านเรื่องศัพท์เฉพาะมาเป็นอย่างดี อ่านต้นฉบับแล้วสงสัยตัวไหน บางทีก็ลองเปิดฉบับแปลดูประกอบด้วย

ความดีความชอบของหนังสืออยู่ที่ทั้งเนื้อหาและอารมณ์ขัน คือคนเขียนหยอดได้ฮาๆในระดับที่เหมาะสมและยังคงศักดิ์ศรีของผู้ตาย ส่วนตัวรู้สึกว่าคำว่า 'ศักดิ์ศรี' เป็นสิ่งสำคัญมากในหนังสือเล่มนี้) ไม่น่าสงสัยเลยว่าทำไมติดเบสต์เซลเลอร์ อ่านแล้วจะรู้สึกว่าศพนี่ใช้ประโยชน์ได้เยอะมาก เช่น บริจาคอวัยวะ ฝึกผ่าตัด ทดสอบการเน่าเปื่อย เป็นตัวทดลองระดับความปลอดภัย เป็นหุ่นใช้ในกองทัพ ฯลฯ บางบทสนุกมาก บางบทก็น่าเบื่อ มีอยู่ 2-3 บทที่แม้แต่อารมณ์ขันของคนเขียนก็ช่วยไม่ได้ เราต้องกลับไปอ่านภาษาไทยเลย แต่บทที่มันส์ก็หนุกหนานเป็นพิเศษ อย่างเช่น สุดเสียดายหากทิ้งหัวไป (ฝึกผ่าตัด), ชีวิตหลังความตาย (การเน่าเปื่อยของศพ), ออกจากเตาเผาสู่ถังปุ๋ย (วิธีฌาปนกิจศพแบบเป็นมิตรกับธรรมชาติ)

ท่อนหนึ่งที่ประทับใจมากในเล่มคือเมื่อกล่าวถึงศพชื่อ H ที่บริจาคหัวใจ คนเขียนบอกว่าในอเมริกามีคนรอรับการบริจาคหัวใจตับไตอยุ่แปดหมื่นคน โดยที่เสียชีวิตไปวันละสิบหกคน แต่ความจริงที่น่าเศร้าและเจ็บปวดก็คือ เกินครึ่งของครอบครัวผู้ตายที่บริจาคอวัยวะได้จะปฏิเสธ และเลือกที่จะปล่อยให้อวัยวะพวกนั้นถูกเผาหรือเน่าเปื่อย เรายอมให้หมอลงมีดเพื่อช่วยชีวิตเราและคนที่เรารัก แต่ไม่ยอมให้ช่วยคนแปลกหน้า Hไม่มีหัวใจอีกต่อไป แต่คำว่า ไร้หัวใจ เป็นคำสุดท้ายที่เราจะใช้เรียกเธอ

สำหรับความน่ากลัว ตัวเองเป็นคนไม่ชอบดูหนังผี อ่านนิยายผี หรือเรื่องสยองขวัญด้วยประการทั้งปวง แต่เล่มนี้อ่านสนุกมาก ซึ่งก็ไม่ใช่เพราะมันแหวะแหยะเละน้ำหนองไหลแมลงไต่ศพ ในเรื่องมีบรรยายประมาณนี้บ้าง แต่ไม่เยอะ อย่างไรก็ตาม มีสิ่งที่อยากเตือนอยู่ 2 ข้อ คือ 1. ในหนังสือมีบทที่เราคิดว่าเศร้าหดหู่ คือช่วงที่เอ่ยถึงการทดลองกับสัตว์ ใครรักลิงรักหมา ก่อนจะอ่านบทผ่าตัดเปลี่ยนหัว ควรทำใจให้มากๆ 2. เวลาอ่านอย่ากินอาหารใดๆ โดยเฉพาะบท 'กินฉันสิ' ถ้าจินตนาการสูง อย่าอ่าน ก่อน-หลัง-ระหว่าง กินข้าว

จุดสังเกตอย่างหนึ่งในสำนวนการเขียนของ Mary Roach ก็คือ เวลาไม่ได้พูดถึงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ เธอจะเล่าเรื่องราวด้วย สรรพนามบุรุษที่หนึ่ง รูปปัจจุบัน (first-person-present-tense) ซึ่งปกติเราไม่ค่อยชอบ แต่ในกรณีนี้กลับเวิร์ค รู้สึกว่าเป็นเทคนิคที่ดี เหมือนเรากำลังเดินทางไปเจอเรื่องราวต่างๆพร้อมกับเธอ สไตล์การเขียนของเธอมักว่าสาระจัดๆแล้วตบท้ายด้วยมุกจิกกัดติงต๊อง ซึ่งบางคนอาจจะไม่ชอบ แต่สำหรับเราแล้ว การเขียนเรื่องที่สยองและละเอียดอ่อนให้อ่านสนุกเบาสบายได้ถือเป็นสิ่งน่าชื่นชม

คิดว่าน่าจะได้อ่านหนังสือเล่มอื่นๆของเธอด้วยแน่ๆ กำลังเล็งเรื่อง Bonk กับ Gulp อยู่

บทสุดท้ายของเล่มคือคำถามว่า คนเขียนจะทำอย่างไรกับศพของเธอเมื่อตายไปแล้ว ซึ่งจะว่าไปก็เป็นการกระตุ้นให้คนอ่านคิดด้วย ตัวเราเคยทำเรื่องบริจาคอวัยวะและดวงตาไปแล้ว แต่ยังไม่ได้บริจาคร่างกาย ถามว่าอ่านจบแล้วอยากบริจาคร่างกายไหม จากเดิมที่สนใจอยู่แล้ว ตอนนี้อยากบริจาคมากขึ้น จะเอาศพไปเป็นอาจารย์ใหญ่หรือทำการทดลองวิทยาศาสตร์อะไรก็ได้เราไม่ถือ ขอแค่ไม่ใช่เรื่องอาวุธหรือศาสนา แต่โดยส่วนตัวแล้วเราคิดเหมือนกับคนเขียน นั่นคือ เราขอเห็นความสำคัญของคนที่อยู่ข้างหลังก่อน ตัวเราไม่อยู่แล้ว แต่คนข้างหลังยังต้องอยู่ต่อ โดยเฉพาะพ่อแม่ เราคิดว่าเขาคงทุกข์ใจถ้าศพของเราจะถูกเอาไปทดลองนู่นนี่ จนกว่าจะคุยให้เข้าใจได้เราคงยังไม่บริจาค เว้นแต่วันหนึ่งไม่มีใครเหลือแล้ว เอาฟอร์มมาให้กรอกได้เลย

3.5 ดาว ปัดขึ้นเป็น 4


Link เพิ่มเติม
วิธีแสดงความจำนงบริจาคอวัยวะ
ข้อมูลผู้แสดงความจำนงบริจาคดวงตา
การอุทิศร่างกายเพื่อการศึกษา การวิจัย และการรักษาทางการแพทย์

ภาพปกจาก https://my.dek-d.com/nonaenaja/blog/ และ wikipedia




Create Date : 29 กันยายน 2558
Last Update : 23 ธันวาคม 2562 15:10:02 น.
Counter : 2772 Pageviews.

5 comments
  
จริงด้วยค่ะ มองปกแปลกับออริจินอล คนละอารมณ์เลยนะ ..
อ่านรีวิวแล้วอยากอ่านจังค่ะ กำลังพยายามจะให้การบ้านตัวเองด้วยการฝึกอ่านหนังสือภาษาอังกฤษอยู่เลย มีฝรั่งแนะให้อ่านฮอบบิทว่ามันอ่านง่าย (เหรออออ) แต่เรารู้เรื่องอยู่แล้วเลยไม่อยากอ่านเท่าไหร่ แต่ต้องสั่งจากอะเมซอนเลยหรือ
จดลงลิสต์ไว้ก่อนละกัน ขอบคุณสำหรับรีวิวค่ะ
โดย: prysang วันที่: 30 กันยายน 2558 เวลา:22:46:36 น.
  
อ่านแล้วอย่าลืมรีวิวนะค้า เล่มนี้ศัพท์เทคนิคเยอะอะค่ะ หลายคำอ่านแล้วต้องเปิดดิค ฉบับแปลมีข้อดีที่อ่านแล้วเข้าใจเลย
โดย: Froggie วันที่: 1 ตุลาคม 2558 เวลา:19:18:26 น.
  
ไม่ใช่นิยายใช่ไหมคะ เป็นหนังสือวิชาการที่สอดแทรกอารมณ์ขันเชิงเสียดสี?
โดย: ออโอ วันที่: 2 ตุลาคม 2558 เวลา:10:23:16 น.
  
ต้นฉบับท่าทางจะอ่านยากนะคะ โดยเฉพาะคนที่ไม่ได้มีพื้นฐานทางนี้

แต่ก็นะ ฉบับแปลถ้าตัดส่วนตลกออก มันก็น่าเสียดายจริง ๆ ด้วย
โดย: Serverlus วันที่: 2 ตุลาคม 2558 เวลา:14:08:26 น.
  
@ออโอ >> ไม่ใช่นิยายค่ะ ส่วนตัวคิดว่าเป็นสารคดีที่อ่านสนุก ไม่เชิงเสียดสี แต่ลีลาของคนเขียนต้องร้ายไปตามหัวข้อน่ะค่ะ

@Serverlus >> ยังเชียร์ฉบับแปลอยู่นะคะ จากมุกตลก 10 ส่วน เราคิดว่าตัดไปประมาณ 2 ส่วนเท่านั้นค่ะ แต่ที่เหลือบางทีอารมณ์ขันจะลึกหน่อย
โดย: Froggie วันที่: 3 ตุลาคม 2558 เวลา:7:38:23 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Froggie.BlogGang.com

Froggie
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 29 คน [?]

บทความทั้งหมด