วิวัฒนาการ กว่าจะมาเป็นนก
ข้อความ : สาส์นสืบ ปีที่ 5 ฉบับที่ 18 มิถุนายน-สิงหาคม 2542 หน้า 19-20

ในตำราเก่าๆ มักรวมนกไว้ในคลาส (Class) เดียวกับสัตว์เลื้อยคลาน (Reptiles) ในไฟลั่มคอร์ดาต้า (Phylum Chordata) ทั้งนี้เพราะนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า นกวิวัฒนาการมาจากสัตว์เลื้อยคลาน ซึ่งร่องรอยของสัตว์เลื้อยคลานยังปรากฏให้เห็นอยู่ที่ขาและนิ้วเท้าของนก เพราะปกคลุมด้วยเกล็ดแข็งที่มีโครงสร้างไม่แตกต่างจากเกล็ดของสัตว์เลื้อยคลานเท่าใดนัก
อย่างไรก็ดี นกมีลักษณะพิเศษสำคัญหลายประการที่แตกต่างจากสัตว์เลื้อยคลาน เป็นต้นว่า มีขนนก (feather) อันอ่อนนุ่มปกคลุมลำตัว มีปีกซึ่งเป็นขาคู่หน้าที่ดัดแปลงไปให้เหมาะสมกับการบิน และมีขากรรไกรบนและล่างแข็งแรง ซึ่งกลายมาเป็นปากนก (beak) ด้วยเหตุนี้ ในปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์จึงแยกนกและสัตว์เลื้อยคลานไว้คนละคลาสกัน โดยจัดนกไว้ในคลาสเอวิส (Class Aves) และจัดสัตว์เลื้อยคลานไว้ในคลาสเรพไทเลีย(Class Reptilia)
จากซากดึกดำบรรพ์ (fossil) ของสัตว์เลื้อยคลานที่ขุดพบในสถานที่ต่างๆ ทำให้นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่า ในยุคไตรแอสซิค (Triassic Period)คือ เมื่อราว 225,000,000 ปีที่ผ่านมา สัตว์เลื้อยคลานกลุ่มหนึ่งซึ่งมีขนาดเล็กและเดินด้วยขาคู่หลัง ที่เรียกกันว่า ซูโดซูเชี่ยน (Pseudosuchian) ได้อุบัติขึ้นมาบนโลก แต่สัตว์ในกลุ่มนี้มีลักษณะแตกต่างกันจนแบ่งแยกออกได้หลายชนิด บางชนิดได้ขึ้นไปอาศัยอยู่บนต้นไม้เพื่อหลบหนีศัตรูบนพื้นดินและเพื่อหาแมลงซึ่งมีชุกชุมบนต้นไม้มากกว่าบนพื้นดิน
ด้วยเหตุนี้ รูปร่างของมันจึงค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้ชีวิตอยู่บนต้นไม้มากขึ้นทุกทีๆ การที่มันชอบใช้ขาคู่หน้าซึ่งเล็กกว่าในการโหนหรือเหนี่ยวกิ่งไม้เพื่อจับแมลง หรือเพื่อห้อยโหนโยนตัวจากกิ่งหนึ่งไปยังอีกกิ่งหนึ่ง ทำให้ขาคู่หน้าเริ่มยาวขึ้น และมีเล็บเท้าใหญ่และแข็งแรงขึ้น แต่ขากรรไกรของมันกลับเล็กลงเพื่อให้เบา มีสมดุล และเหมาะในการจับแมลง นอกจากนี้ สมองยังเจริญดีขึ้นอีกด้วย
การพัฒนาของร่างกายที่สำคัญยิ่ง คือ การควบคุมอุณหภูมิภายในร่างกายของมันให้คงที่ได้โดยไม่ให้เปลี่ยนแปลงไป แม้ว่าอุณหภูมิภายนอกร่างกายจะเปลี่ยนแปลงไปก็ตาม มันจึงสามารถจับแมลงที่เย็นจนแข็งได้ และสามารถหลบซ่อนตัวอยู่บนต้นไม้ที่มีลมพัดแรงได้ด้วย
เพราะเหตุนี้ เกล็ดซึ่งปกคลุมร่างกาย และแขนขาของมันจึงค่อยๆ แปรเปลี่ยนไปเป็นขนนก เพื่อให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย แต่ขนนกที่ขาคู่หน้าและหางจะค่อนข้างยาว เพื่อประโยชน์ในการทรงตัวอยู่บนต้นไม้ และเพื่อใช้ร่อนจากกิ่งไม้กิ่งหนึ่งไปยังกิ่งไม้อีกกิ่งหนึ่ง
นักวิทยาศาสตร์เรียก สัตว์เลื้อยคลานที่กำลังกลายมาเป็นนกนี้ว่า โปรเอวิส (Proavis) แต่ปัจจุบัน ยังไม่มีใครขุดค้นพบซากดึกดำบรรพ์ของสัตว์ชนิดนี้เลย แต่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า สัตว์เลื้อยคลานที่มีรูปร่างเหมือนหรือคล้ายคลึงกับโปรเอวิสเคยอุบัติขึ้นมาบนโลกนี้อย่างแน่นอน เพราะมนุษย์ได้ขุดค้นพบซากดึกดำบรรพ์ของนกชนิดแรกของโลกได้ ซึ่งมีลักษณะหลายอย่างที่เหมือนกับสัตว์เลื้อยคลาน และตั้งชื่อให้ว่า อาร์คีออพเทริกซ์(Archaeopteryx) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Archaeopteryx lithographica
ซากดึกดำบรรพ์ของนกอาร์คีออพเทริกซ์ ถูกขุดพบในแคว้นบาวาเรีย ทางตอนใต้ของประเทศเยอรมัน เมื่อราว 100 กว่าปีมาแล้ว นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่า มีอายุอยู่ในยุคจูราสสิค (Jurassic Period) คือ เมื่อราว 150,000,000 ปีที่ผ่านมา มีขนาดพอๆ กับอีกาตัวโตๆ สามารถเกาะกิ่งไม้ได้และบินได้ในระยะใกล้ๆ เชื่อกันว่า มันอาศัยอยู่ตามต้นไม้ที่ขึ้นงอกงามอยู่รอบๆ ทะเลภายในตื้นๆ ในขณะมีชีวิตอยู่ น่าจะมีรูปร่างคล้ายกับนกกระปูด(Coucal) เพราะมีปีกสั้นมนกลม แต่หางค่อนข้างยาว และรูปร่างค่อนข้างงุ่มง่าม

ถึงแม้ว่าจะเป็นนก เพราะมีขนนกปกคลุมลำตัว มีปีก มีขาและนิ้วเท้าแบบนกก็ตาม แต่มันมีลักษณะโครงสร้างทั้งภายนอกและภายในอีกหลายประการที่เหมือนกับสัตว์เลื้อยคลาน เป็นต้นว่า มีปากแบบสัตว์เลื้อยคลาน และมีฟันแหลมคม หางยาวประกอบด้วยท่อนกระดูกหลายท่อน กระดูกคอก็แตกต่างจากกระดูกคอของนกโดยทั่วไป นอกจากนี้ ที่หัวปีกยังมีนิ้วเท้าข้างละ 3 นิ้ว และมีเล็บแหลมคมอีกด้วย ซึ่งใช้เกาะจับกิ่งไม้ได้ นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่านกอาร์คีออพเทริกซ์ มีเลือดอุ่นเช่นเดียวกับนกในปัจจุบันอย่างแน่นอน
เนื่องจากซากดึกดำบรรพ์ของนกอาร์คีออพเทริกซ์มีลักษณะผสมระหว่างนกกับสัตว์เลื้อยคลาน จึงเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่แสดงว่า นกวิวัฒนาการมาจากสัตว์เลื้อยคลานอย่างแน่นอน และในยุคต่อๆ มา จึงได้วิวัฒนาการมาเป็นนกชนิดต่าง ทั้งที่สูญพันธุ์ไปแล้วและที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากในปัจจุบันมีนกที่ยังมีชีวิตอยู่ถึง 9,672 ชนิด นักวิทยาศาสตร์จึงต้องจัดหมวดหมู่ ซึ่งเรียกว่า อนุกรมวิธาน (taxonomy) เพื่อความสะดวกในการกล่าวถึง หรือศึกษาเกี่ยวกับนกและเพื่อรวบรวมนกที่คล้ายคลึงกันเข้าไว้ด้วยกัน และแยกนกที่ไม่เหมือนกันออกจากกัน
ในอดีต นักวิทยาศาสตร์ใช้ลักษณะของอวัยวะภายนอกและภายใน การสืบพันธุ์ และการเจริญเติบโตของลูกนก รวมทั้งพฤติกรรมต่างๆ ของนกเป็นหลักในการจำแนกหมวดหมู่ของนก ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่จำแนกนกที่มีชีวิตอยู่ในปัจจุบันออกเป็น 27 อันดับ (Order) เรียกการจัดหมวดหมู่แบบนี้ว่า การจัดหมวดหมู่ทางกายวิภาค (Morphological Classification)
อย่างไรก็ดี ในปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์ได้จัดหมวดหมู่ของนกใหม่ ซึ่งเป็น การจัดหมวดหมู่ทางชีวเคมี (Biochemical Classification) โดยนำผลจากการวิเคราะห์ยีน (gene) คือ DNA ของนกชนิดต่างๆ มาเปรียบเทียบกัน จนทำให้ทราบถึงวิวัฒนาการของ DNA ของนกชนิดต่างๆ และทำให้ทราบถึงความใกล้ชิดหรือห่างไกลของนกเชื้อสายต่างๆ ด้วย จึงเป็นการจัดหมวดหมู่ที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงที่สุด เพราะนกที่มีเชื้อสายใกล้ชิดกัน แม้ว่าจะมีรูปร่างต่างกันก็ตาม ควรจัดไว้ใกล้ๆ กัน
การจัดหมวดหมู่หรืออนุกรมวิธานของนกที่มีชีวิตอยู่ในปัจจุบันทั่วโลกเป็นผลงานของ ชาร์ล จี. ซิปลี่ (Charles G. Sibley) และ เบอร์ด แอล. มอนโรจูเนียร์ (Burt L. Monroe, Jr.) ซึ่งปรากฏอยู่ในหนังสือ Distribution and Taxonomy of the Birds of the World



Create Date : 06 สิงหาคม 2548
Last Update : 6 สิงหาคม 2548 23:25:42 น.
Counter : 1955 Pageviews.

4 comments
สวัสดีปีใหม่ Rain_sk
(1 ม.ค. 2567 21:38:33 น.)
สวัสดีปีใหม่ Rain_sk
(1 ม.ค. 2567 21:38:33 น.)
สวัสดีปีใหม่ Rain_sk
(1 ม.ค. 2567 21:38:33 น.)
ประสบการณ์ ทำพาสปอร์ตที่สายใต้ใหม่ newyorknurse
(2 ม.ค. 2567 17:45:17 น.)
  
เคยใช้อยู่เหมือนกัน
โดย: นกแก้ว-->ไก่ (vewrriii ) วันที่: 29 พฤศจิกายน 2548 เวลา:10:53:53 น.
  
เคยใช้อยู่เหมือนกัน
โดย: นกแก้ว-->ไก่ (vewrriii ) วันที่: 29 พฤศจิกายน 2548 เวลา:10:53:57 น.
  
เคยใช้อยู่เหมือนกัน
โดย: นกแก้ว-->ไก่ (vewrriii ) วันที่: 29 พฤศจิกายน 2548 เวลา:10:54:01 น.
  
ล่าสุดนี้ยังพบว่า ได้โนเสาร์บางชนิด เช่น เวโลซิแรปเตอร์ มีขนบางๆแบบขนนก ปกคลุมตัวอีกตัว จากซากฟอสซิลรุ่นใหม่ ดังนั้นพอสรุปได้ว่า นกมาจากไดโนเสาร์ ชัวร์
โดย: Ophiophagus IP: 202.129.52.204 วันที่: 15 กรกฎาคม 2549 เวลา:20:16:00 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Forbird.BlogGang.com

ยุง บิน ชุม
Location :
กรุงเทพ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]