การดูนกในธรรมชาติ
ข้อความ : คู่มือสื่อมวลชน โครงการอบรมดูนก ห้องเรียนธรรมชาติสื่อมวลชน-เทเลคอมเอเชีย 8-10 พฤศจิกายน 2539

ก ารดูนกในธรรมชาตินี้ คุณหมอบุญส่ง เลขะกุล เคยเรียกว่า " ปักษีทัศนา " ส่วนชาวผิวขาวมักเรียกกันว่า Birdwatching หรือ Birding เป็นงานอดิเรกที่นิยมกันมาก ทั้งในทวีปอเมริกาเหนือและทวีปยุโรป ทั้งๆ ที่มีจำนวนชนิดของนกน้อยกว่าในทวีปอเมริกาใต้ ทวีปแอฟริกา หรือ ทวีปเอเชีย

เดิมชาวผิวขาวนิยมดูนกกันเพื่อความเพลิดเพลิน โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวซึ่งมีหิมะตก เพราะชาวผิวขาวไม่รู้จะไปไหน ต้องนั่งจับเจ่าอยู่แต่ในบ้าน จึงนำเอาอาหารต่างๆ ทั้งเมล็ดพืช เมล็ดข้าว ผลไม้ และอาหารอื่นๆ ไปใส่ไว้ในที่ใส่อาหารนก (bird feeder) แล้วนำไปวางไว้ในสวน เพื่อล่อให้นกเข้ามากิน เนื่องจากในฤดูหนาวมีหิมะตกตลอด อาหารจึงหาได้ยาก ทำให้ชาวผิวขาวได้ดูนกเพื่อคลายความเหงา ได้รับความรู้เกี่ยวกับนก และได้รับความเพลิดเพลินมากด้วย
ในปัจจุบัน การดูนกได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของงานอนุรักษ์ไปแล้ว และชาวต่างประเทศต่างมุ่งที่จะออกไปดูนกในธรรมชาติไกลจากบ้านเกิดเมืองนอนขอ งตน จึงเดินทางไปดูนกในทวีปอเมริกาใต้ ทวีปแอฟริกา หรือ ทวีปเอเชีย ซึ่งมีจำนวนชนิดของนกมากกว่าในทวีปอเมริกาเหนือ หรือในทวีปยุโรปหลายเท่านัก
การดูนก คือ การเดินทางไปชมธรรมชาติหรือป่าเขาลำเนาไพรที่เรามักนิยมทำกัน แต่ในการเดินทางไปชมธรรมชาติในครั้งนี้ เราจะเน้นที่นก ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องมีกล้องสองตา (binoculars) ติดตัวไปด้วยเสมอ เพื่อช่วยให้เราเห็นนกได้อย่างชัดเจน เห็นรายละเอียดของรูปร่างและสีสัน รวมทั้งพฤติกรรมต่างๆ ของนก ราวกับว่า นกที่เราเห็น กำลังเกาะ กระโดด หรือ บินอยู่ใกล้ๆ ตัวเรา ซึ่งกล้องสองตานี้จะช่วยให้เรากับนกอยู่ใกล้กันมากขึ้นเสมือนหนึ่งว่าเรากับ นกอยู่ในโลกเดียวกันนั่นเอง



Create Date : 03 สิงหาคม 2548
Last Update : 3 สิงหาคม 2548 15:58:15 น.
Counter : 566 Pageviews.

7 comments
อุ้มสีมาทำบุญ ๙ วัด ในวันขึ้นปีใหม่ที่จ.อุบลราชธานี อุ้มสี
(3 ม.ค. 2567 19:10:02 น.)
สวัสดีปีใหม่ Rain_sk
(1 ม.ค. 2567 21:38:33 น.)
๏ ... รามคำแหง แรงคำหาม ... ๏ นกโก๊ก
(2 ม.ค. 2567 14:22:51 น.)
BUDDY คู่หู คู่ฮา multiple
(3 ม.ค. 2567 04:49:04 น.)
  
ประโยชน์ของการดูนก
การดูนกนั้นมีประโยชน์ต่อนักดูนก (birdwatcher or birder) มากมายหลายประการทีเดียว แต่อาจสรุปเป็นหัวข้อใหญ่ๆ ได้ดังนี้
1. ได้รับความเพลิดเพลิน แ ละช่วยผ่อนคลายความตรึงเครียด เนื่องจากนกเป็นสัตว์โลกที่น่ารัก และมักมีสีสันสวยงาม พฤติกรรมต่างๆ ของนก ไม่ว่าจะเป็นการกระโดด การบิน การหากิน หรือการทำรังวางไข่ ล้วนแต่เป็นสิ่งที่น่าสนใจ ทำให้เรามองแล้วเกิดความเพลิดเพลินสบายตาเป็นอย่างยิ่ง เสียงร้องของนกยังช่วยทำให้เราได้รับความเพลิดเพลิน นกจึงทำให้คนดูนกมีความสุข ความสดชื่น และผ่อนคลายความตรึงเครียดให้กับคนดูนกด้วย
2. ฝึกให้เป็นคนหูไวตาไว เพราะเราจะต้องคอยมองหานก คอยใช้กล้องสองตาส่องไปทางโน้นที ทางนี้ที ตั้งแต่บนพื้นดิน ในกอหญ้า ในพุ่มไม้ บนต้นไม้ทุกๆ ระดับความสูง ตั้งแต่โคนต้นจนถึงยอดไม้ แม้กระทั่งในท้องฟ้า หรือในน้ำ เพราะนกอาจจะอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่งก็ได้ นอกจากนี้ เรายังต้องแยกตัวนกออกจากสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวนกให้ได้ด้วย เราจึงจะรู้ว่า นกอยู่ตรงไหน เพราะนกหลายชนิดมักมีสีสันกลมกลืนกับสภาพแวดล้อม การฝึกหานกบ่อยๆ จะทำให้เราเป็นคนตาไว และเรายังต้องเป็นคนหูไวอีกด้วย เพราะนอกจากจะต้องฟังเสียงร้องของนกแล้ว ยังต้องค้นหาให้พบด้วยว่าเสียงร้องนั้นดังมาจากทางไหนด้วย เราจึงจะหานกพบ
3. ได้รับความรู้เกี่ยวกับชนิดของนก พฤติกรรมต่างๆ ของนกชนิดนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นการเดิน การกระโดด การบิน การหากิน การเกาะ หรือ การทำรังวางไข่ รวมทั้งได้รับความรู้เกี่ยวกับแหล่งอาศัย และการแพร่กระจายของนก ความสัมพันธ์ของนกกับสิ่งมีชีวิตอื่นและกับสภาพแวดล้อม หากเราเดินทางไปดูนกในธรรมชาติบ่อยๆ เราจะบอกได้ว่า ในพื้นที่นั้นๆ ควรจะพบนกอะไรได้บ้าง หรือ เมื่อพบนกชนิดใดชนิดหนึ่ง เราก็บอกได้ว่า ในพื้นที่นั้นมีพืชพรรณธรรมชาติเป็นแบบใด
4. เกิดความรักนก และคิดที่จะให้นกคงอยู่ต่อไป การดูนกจึงช่วยให้เรามีสำนึกที่จะอนุรักษ์นก และสภาพแวดล้อมที่นกอาศัยอยู่ เพราะเราคงช่วยกันรักษานกและสภาพแวดล้อมเหล่านั้น และช่วยกันประชาสัมพันธ์ให้ใครต่อใครช่วยกันอนุรักษ์นกและธรรมชาติด้วย แต่การที่เราจะช่วยกันอนุรักษ์นกได้ ต้องมีความรู้เกี่ยวกับนกด้วย ซึ่งก็ได้โดยการดูนกนั่นเอง ดังนั้น ในบางครั้ง นักดูนกอาจต้องเดินทางเข้าไปในป่าเพื่อสำรวจชนิดและประชากรของนกในพื้นที่อนุรักษ์ต่างๆ เพื่อเก็บไว้เป็นข้อมูลทางวิชาการเพื่อการค้นคว้าวิจัยต่อไป และเพื่อใช้เป็นแนวทางในการอนุรักษ์นกในพื้นที่นั้นๆ ด้วย
โดย: ยุง บิน ชุม วันที่: 3 สิงหาคม 2548 เวลา:15:59:23 น.
  
การเตรียมตัวไปดูนกในธรรมชาติ
ก่อนออกเดินทางไปดูนกในธรรมชาติ ไม่ว่าจะเข้าไปดูนกในอุทยานแห่งชาติ เชตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ พื้นที่อนุรักษ์ หรือ แหล่งดูนก (birding spot) อื่นใด นักดูนกทุกคนควรจะต้องปฏิบัติดังต่อไปนี้ เพื่อให้การเดินทางไปดูนกในธรรมชาติได้รับประโยชน์สูงสุด
1. ศึกษาและหาข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ที่เราจะไปดูนกให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เช่น เส้นทางที่ใช้เดินทางไปยังสถานที่ดูนก เส้นทางภายในสถานที่ดูนก เส้นทางที่ใช้ในการดูนก (trail) พืชพรรณธรรมชาติ และลักษณะภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ลักษณะของที่พัก ซึ่งอาจเป็นบ้านพัก หรือต้องกางเต็นท์รวมทั้งการขออนุญาตเข้าไปใช้พื้นที่อนุรักษ์ หรือ บ้านพักด้วย
2. ศึกษาชนิดของนกที่อาจพบในสถานที่ที่จะไปดูนก โดยติดต่อขอรายชื่อนกที่สำรวจพบในพื้นที่นั้นๆ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือ โดยดูจากหนังสือคู่มือดูนก ซึ่งมีแผนที่เล็กๆ แสดงการแพร่กระจายของนกชนิดต่างๆ ในประเทศไทยไว้แล้ว
3. จัดเตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็นในการดูนกภาคสนามให้พร้อม ได้แก่ กล้องสองตา คู่มือดูนก สมุดบันทึก ปากกา หรือ ดินสอ ควรตรวจสภาพกล้องสองตาให้เรียบร้อยก่อนออกเดินทางทุกครั้ง เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในขณะส่องกล้องดูนก
4. จัดเตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็นในการเดินทางไปดูนกในธรรมชาติ เช่น หมวก กระติกน้ำ เต็นท์ ช้อน ถ้วย จาน แปรงสีฟัน ยาสีฟัน สบู่ ยาสระผม ผ้าเช็ดตัว ยารักษาโรค ยากันยุง และอุปกรณ์ส่วนตัวอื่นๆ ถ้าหากเดินทางไปดูนกในช่วงฤดูฝน ควรเตรียมร่ม เสื้อกันฝน และถุงพลาสติกเพื่อใช้ใส่กล้องสองตาไปด้วย
5. แต่งกายหรือจัดเตรียมเสื้อผ้า ซึ่งมีสีสันกลมกลืนกับสภาพแวดล้อม เช่น เขียว น้ำเงิน น้ำตาล เทา หรือ ดำ ไม่ควรใส่เสื้อผ้าหรือสวมหมวกสีขาว แดง แสด ส้ม ชมพู เหลือง หรือ สีสดใสอื่นๆ ซึ่งถือว่าเป็นสีเตือนภัย(warning colour) เพราะนกสามารถมองเห็นได้ชัดเจนแต่ไกล และอาจบินหนีไปก่อนที่เราจะได้เห็นตัว
6. ดูแลสุขภาพให้สมบูรณ์ก่อนออกเดินทางไปดูนกในธรรมชาติ เพราะในสถานที่ดูนก อากาศอาจหนาวเย็น และการเดินทางไปดูนกอาจต้องเดินทางไกล หรือ แบกสัมภาระมากมาย ถ้าหากร่างกายไม่แข็งแรง อาจเป็นไข้ได้ง่าย และเป็นอุปสรรคต่อคนอื่น
7. ในกรณีที่เดินทางไปดูนกเป็นกลุ่ม ถ้าหากสมาชิกในกลุ่มยังไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ควรจะทำความรู้จักและทำความคุ้นเคยกันไว้ก่อน เพื่อให้การดูนกของกลุ่มเป็นไปด้วยความราบรื่น
โดย: ยุง บิน ชุม วันที่: 3 สิงหาคม 2548 เวลา:15:59:38 น.
  
การใช้อุปกรณ์ดูนก
อุปกรณ์ดูนกที่นักดูนกทุกคนจะต้องมี คือ กล้องสองตา (binoculars) แต่สำหรับนักดูนกที่มีความชำนาญในการใช้กล้องสองตาแล้ว หรือ นักดูนกมืออาชีพ อาจมีกล้องเทเลสโคป (telescope) ด้วยก็ได้ สำหรับนักดูนกมือใหม่ที่ไม่เคยออกไปดูนกในธรรมชาติ เมื่อมีกล้องสองตาอยู่ในมือ ควรปฏิบัติตามขั้นตอนดังต่อไปนี้ ก่อนออกเดินทางไปดูนกในธรรมชาติ
1. ปรับระยะห่างของตาทั้งสองข้าง (interpupillary distance) โดยการโค้งลำกล้องทั้งสองข้าง ซึ่งมีบานพับกลาง (central shaft) รองรับอยู่ จนกระทั่งลำแสงทั้งสองด้าน อยู่ตรงกึ่งกลางของตาทั้งสองข้าง และเราจะเห็นภาพอยู่ในกรอบวงกลมเดียวกันพอดี
2. ส่องกล้องไปยังวัตถุที่อยู่นิ่ง เช่น ตอไม้ พุ่มไม้ หรือ ไม้ยืนต้น โดยใช้ตาซ้าย มองดูวัตถุนั้น แล้วปรับภาพที่เห็นให้ชัดที่สุด ด้วยวงแหวนปรับโฟกัส(focus ring) ซึ่งอยู่ตรงกลางกล้อง
3. มองวัตถุเดิมอีกครั้งด้วยตาขวา แล้วปรับภาพที่เห็นให้คมชัดที่สุดอีกครั้งด้วยวงแหวนปรับระยะเลนส์ใกล้ตา (diopter adjustment) ซึ่งอยู่ทางด้านขวาของตัวกล้อง เป็นอันว่าเราได้ปรับกล้องสองตาของเราให้เหมาะสมกับสายตาของเราเรียบร้อยแล้ว
4. เมื่อปรับกล้องเรียบร้อยแล้ว ต่อไปเมื่อเราส่องกล้องไปดูนกที่ไหน เราก็ปรับเพียงโฟกัสตรงกลางกล้องเท่านั้น เราก็จะเห็นนกทุกตัวชัดเจน
ภายหลังจากปรับกล้องสองตาเรียบร้อยแล้ว นักดูนกควรจะต้องปฏิบัติดังต่อไปนี้ในระหว่างดูนกในธรรมชาติ
ทั้งนี้เพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุดในการดูนก
1. ให้คล้องสายสะพายกล้องสองตาไว้กับคอเสมอ ไม่ว่าจะกำลังเดิน กำลังยืน หรือ กำลังนั่ง จะได้ไม่เผลอทำกล้องตกกระทบกับพื้น หรือ ตกน้ำจนบุบ หรือ ชำรุด จนปริซึมเคลื่อน และใช้งานไม่ได้ ถ้าสายสะพายยาวเกินไป ควรปรับให้ยาวพอเหมาะ กล้องสองตาจะได้ไม่แกว่งไปกระทบกับต้นไม้ หรือ ก้อนหินจนชำรุด
2. ถ้าฝนตก ให้เก็บกล้องสองตาไว้ในเสื้อ หรือ ถุงพลาสติก เพื่อป้องกันมิให้กล้องสองตาเปียกฝน จนอาจมีราขึ้นที่เลนส์จนใช้ดูนกต่อไปไม่ได้
3. พยายามฝึกฝนใช้กล้องสองตาส่องหานกอยู่บ่อยๆ เพื่อจะได้ส่องกล้องตามนกได้ทัน เนื่องจากนกบางกลุ่ม เช่น นกกินแมลง (Babblers) หรือ นกจับแมลง (Flycatchers) กระโดดหรือบินจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งได้ไวมาก แม้จะเห็นนกด้วยตาเปล่าแล้ว แต่เราอาจส่องกล้องตามนกไม่ทัน เมื่อกลับมาจากการดูนกในธรรมชาติแล้ว นักดูนกจะต้องทำความสะอาดกล้องสองตา โดยใช้เครื่องเป่า (blower) เป่าฝุ่นที่ติดอยู่บนเลนส์ใกล้ตา และเลนส์ใกล้วัตถุให้หมดก่อน โดยจับกล้องให้เอียง เพื่อฝุ่นละอองจะได้หลุดร่วงได้โดยง่าย แล้วใช้แปรงปัดเลนส์เบาๆ ไปทางเดียวกันอีกครั้ง ถ้าเลนส์เปื้อนมากๆ อาจใช้กระดาษเช็ดเลนส์หรือผ้าเช็ดแว่นตาทำความสะอาด ถ้าหากสิ่งเปรอะเปื้อนยังไม่ออก จะต้องใช้น้ำยาล้างเลนส์ช่วยด้วย อย่างไรก็ดี การใช้น้ำยาล้างเลนส์บ่อยครั้งเกินไป อาจทำให้สารเคลือบเลนส์หลุดออกไปได้ จึงต้องระมัดระวัง เมื่อทำความสะอาดกล้องสองตาเรียบร้อยแล้ว ควรเก็บกล้องใส่กล่องตามเดิม และควรใส่สารดูดความชื่น (silica gel) ไว้ในกล่องใส่กล้องด้วย แล้วนำกล้องไปเก็บไว้ในที่ที่ไม่ร้อนเกินไป หรือ ชื้นเกินไป และปลอดภัยต่อการตกหล่น สำหรับกล้องที่เปียกน้ำหรือชื้นมากๆ ควรเช็ดให้แห้ง แล้วใส่ไว้ในถังข้าวสาร เพื่อให้ข้าวสารดูดความชื้นออกจากตัวกล้อง
โดย: ยุง บิน ชุม วันที่: 3 สิงหาคม 2548 เวลา:15:59:54 น.
  
การใช้กล้องเทเลสโคป
เทเลสโคปเป็นอุปกรณ์ดูนกที่มีประโยชน์มากสำหรับใช้ดูนกที่อยู่ในระยะไกล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นกชายเลนตามชายทะเล หรือ นกเป็ดน้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ เนื่องจากมีกำลังขยายสูงมาก ตั้งแต่ 20 เท่า จนถึงกว่า 40 เท่า ซึ่งมีทั้งแบบโฟกัสคงที่ (fixed focus) และแบบเลนส์ซูม (zoom lens)แต่เนื่องจากเทเลสโคปมีราคาแพง มีน้ำหนักมาก ไม่สะดวกในการถือไปไหนมาไหน และต้องใช้ตั้งอยู่บนสามขา (tripods) เสมอ จึงไม่เหมาะกับนักดูนกมือใหม่จะมีไว้ใช้งาน แต่สำหรับนักดูนกที่ดูนกจนมีความชำนาญแล้ว หรือ นักดูนกมืออาชีพ เทเลสโคปก็อาจเป็นอุปกรณ์ที่จำเป็นในการไปดูนกในธรรมชาติ
ก่อนใช้เทเลสโคปนั้น นักดูนกจะต้องใช้กล้องสองตา (binoculars) ส่องหานกก่อน เมื่อพบนกแล้ว จึงใช้เทเลสโคปส่องดูนก ซึ่งจะทำให้นักดูนกเห็นรายละเอียดของนกมากขึ้นกว่าเดิม แต่เทเลสโคปนั้น ใช้ส่องดูนกได้เฉพาะนกที่อยู่นิ่งๆ เท่านั้น นกที่กำลังเคลื่อนไหวนั้น ไม่สะดวกที่จะใช้เทเลสโคปส่องดู ในเวลาไปดูนกในธรรมชาติเป็นกลุ่มนั้น ถ้าเป็นไปได้ ควรจะมีเทเลสโคปติดตัวไปด้วย 1 ตัว เพื่อจะได้ใช่ส่องดูนกที่อยู่ในระยะใกล หรือ เพื่อจะได้เห็นรายละเอียดของนกมากขึ้น แต่เมื่อสมาชิกคนใดในกลุ่มตั้งเทเลสโคปส่องดูนกแล้ว สมาชิกคนอื่นๆ ควรจะเข้าคิวกันดูนกผ่านเทเลสโคปตามลำดับก่อนหลัง และสมาชิกแต่ละคนไม่ควรดูนกนานเกินไปด้วย เพราะนกอาจจะบินไปก่อนที่สมาชิกคนอื่นจะได้ดู ภายหลังจากกลับมาจากการดูนกภาคสนามแล้ว จะต้องทำความสะอาดเลนส์ใกล้ตาและเลนส์ใกล้วัตถุของเทเลสโคปทุกครั้ง เช่นเดียวกับกล้องสองตา
โดย: ยุง บิน ชุม วันที่: 3 สิงหาคม 2548 เวลา:16:00:22 น.
  
ข้อปฏิบัติในระหว่างดูนกในธรรมชาติ
เนื่องจากนกก็เช่นเดียวกับสัตว์อื่นๆ มักจะถือว่า มนุษย์คือศัตรู นกจึงพยายามที่จะหลบหนีไปให้พ้นจากคนเสมอ ยกเว้นก็แต่นกพิราบป่า นกกระจอกบ้าน นกเอี้ยงสาริกา หรือ นกในเมืองชนิดอื่นๆ ซึ่งคุ้นเคยกับคนเป็นอย่างดีแล้ว ด้วยเหตุนี้ การเดินทางไปดูนกในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งมิใช่ในตัวเมือง จึงต้องมีข้อปฏิบัติ เพื่อนักดูนกทุกคนจะได้พบเห็นนกที่อยากจะเห็น ดังนั้น เมื่อออกนอกที่พักเพื่อเริ่มดูนก จะต้องปฏิบัติดังนี้
1. ออกเดินทางไปดูนกในเวลาเช้าตรู่ ก่อนที่พระอาทิตย์จะขึ้น เพราะนกส่วนใหญ่ชอบออกหากินในเวลาเช้าตรู่ และจะหากินไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงเวลาประมาณ 10.00 น. เป็นต้นไป นกจะออกหากินน้อยลง และนกจะเริ่มพักผ่อน เพราะแสงแดดจัดเกินไป พอเวลาประมาณ 14.00 น. เป็นต้นไป นกจึงเริ่มออกหากินใหม่ และจะหากินไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงเวลาพลบค่ำ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่นกออกหากินในเวลากลางคืน คือ นกตบยุง (Nightjars) เริ่มออกหากิน ในช่วงเวลาเย็นจนถึงเวลาพลบค่ำเป็นช่วงเวลาที่จะพบนกได้มากเช่นกัน แต่พบได้น้อยกว่าในช่วงเช้า
2. พยายามหยุดทุกๆ 5 นาที เพื่อสำรวจดูนกรอบๆ ตัวเรา รวมทั้งพยายามฟังเสียงร้องของนกด้วย เพื่อจะได้ทราบว่า ในบริเวณรอบๆ ตัวเราในระยะที่เรามองเห็นได้ด้วยตาเปล่า มีนกกี่ตัว กี่ชนิด ชนิดอะไรบ้าง เราจะได้เห็นนกได้ครบทุกชนิดในบริเวณที่เราหยุด ถ้าหากเราปฏิบัติเช่นนี้ได้ จะช่วยให้เราเป็นคนรอบคอบ และช่างสังเกต และมีโอกาสเห็นนกได้มากกว่าคนที่เอาแต่เดิน หรือ คนที่รอให้นกบินผ่านมาให้เห็น
3. พยายามมองหานกตั้งแต่บนพื้นดิน ในกอหญ้า พุ่มไม้ ไม้ยืนต้น ตั้งแต่ระดับโคนต้นไม้ ขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงระดับยอดไม้ และในเรือนยอดทุกๆระดับรวมทั้งในท้องฟ้าด้วย เพราะนกแต่ละชนิดอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน เช่น นกคุ่ม (Buttonquails) เดินอยู่บนพื้นดิน นกหัวขวาน (Woodpeckers) เกาะอยู่ที่ลำต้นไม้ใหญ่ นกขุนช้างขุนแผน (Trogons) เกาะอยู่ในระดับกลางของต้นไม้ นกขมิ้น (Orioles) เกาะอยู่ในระดับยอดไม้และนกแอ่น (Swifts) บินอยู่ในท้องฟ้า เป็นต้น
4. พยายามส่งเสียงให้น้อยที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเสียงพูด ไอ จาม กระแอม หรือ เสียงที่เกิดจากการเหยียบใบไม้แห้ง ทั้งนี้เพราะนกจะหนีไปเสียก่อนที่เราจะได้เห็นตัว หรือเห็นตัวชัด ถ้าหากนกได้ยินเสียงเหล่านั้น เพราะนกเป็นสัตว์ที่ขี้ตกใจ และระแวดระวังภัยอยู่เสมอ โดยเฉพาะนกขนาดเล็ก หรือนกที่เป็นเหยื่อของสัตว์อื่น เนื่องจากนกเหล่านี้มักไม่มีอาวุธใดๆ ที่จะป้องกันตัวจากศัตรู ธรรมชาติจึงต้องพัฒนาให้นกเหล่านี้ขี้ตกใจง่าย และระแวดระวังภัยอยู่ตลอดเวลา
5. เมื่อเห็นนกด้วยตาเปล่า ไม่ว่านกนั้นจะอยู่ไกลเพียงใด ควรรีบส่องกล้องสองตาดูทันที เพราะถ้าหากรอให้เข้าไปใกล้มากกว่านี้ นกอาจจะหนีไปเสียก่อน ถ้าหากนกยังไม่หนีไปไหน ควรจะเดินเข้าไปใกล้ๆ นกให้มากขึ้น เราจะได้เห็นนกได้ชัดเจนขึ้น เห็นรายละเอียดของนกมากขึ้น นกบางชนิด เช่นนกจาบคา (Bee-eaters) นกตะขาบ (Rollers) นกโพระดก (Barbets) หรือ นกเขา (Doves) มักจะเกาะนิ่งๆ นานๆ จนทำให้เรามองดูได้จนเบื่อ ในขณะที่นกบางชนิด เช่น นกเดินดง (Thrushes) นกกินแมลง (Babblers) หรือ ไก่ฟ้า (Pheasants) มักหนีไปทันทีที่มองเห็นคน และเรามักจะเห็นได้เพียงครั้งเดียว หรือ เพียงแวบเดียว
6. เมื่อเห็นนกไม่ควรแย่งกันดูนก แต่ควรส่องกล้องสองตาดูนกในตำแหน่งที่แต่ละคนยืน หรือนั่งอยู่ แต่ถ้าไม่เห็นจริงๆ จึงค่อยเปลี่ยนตำแหน่ง แต่จะต้องเคลื่อนที่อย่างช้าๆ และไวด้วย จะต้องไม่เคลื่อนไหวส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายโดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การยื่นแขน หรือ มือออกไปชี้นกให้คนในกลุ่มดู ควรจะบอกให้คนในกลุ่มรู้ด้วยวิธีอื่น เช่น ยกแขนขึ้นช้าๆ ให้แนบชิดกับลำตัว และชี้ให้คนอื่นดู หรือพูดให้เบาที่สุด
7. เมื่อเห็นนกควรจดจำรายละเอียดของนกตัวนั้นให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ว่ามีสีสันและลวดลายเช่นใด ไม่ว่าจะเป็นปาก หัว หลัง ตะโพก ปีก หาง หน้าอก ขา นิ้วเท้า เป็นต้น หากจำรายละเอียดได้มาก จะช่วยในการจำแนกชนิดของนกได้ง่าย นอกจากนี้ ควรจะต้องจดจำการเกาะ การหากิน การบินการกระโดด สภาพแวดล้อมที่พบนกตัวนั้น และรายละเอียดอื่นๆ ด้วย ถ้าเป็นไปได้ ควรจะจดบันทึกไว้ เพื่อกันลืม หรือ เพื่อนำมาทบทวนในภายหลัง
โดย: ยุง บิน ชุม วันที่: 3 สิงหาคม 2548 เวลา:16:00:38 น.
  
การหานก (Bird Finding)
นักดูนกมือใหม่หลายคนคงจะแปลกใจ ในประเทศไทยมีนกมากมายเท่าในคู่มือดูนกจริงหรือ เพราะหลายคนคงจะเคยเห็นเฉพาะนกที่อยู่รอบๆ บ้าน ซึ่งมีเพียงไม่กี่ชนิดเท่านั้น แต่ถ้าหากได้เดินทางออกไปดูนกในธรรมชาติบ่อยๆ ทั่วทุกแห่งในประเทศไทย ในสภาพแวดล้อมต่างๆ กัน ย่อมได้เห็นนกมากมายหลายชนิดตามที่ระบุไว้ในคู่มือดูนก
อย่างไรก็ดี การหานกในธรรมชาติเป็นเรื่องที่จะต้องใช้การฝึกฝน เพื่อให้เกิดความชำนาญ จึงจะหานกที่อยากเห็นได้พบ การฝึกหานกที่ดีที่สุด ควรเริ่มจากการหานกที่อยู่รอบๆ บ้านให้พบก่อนว่ามีกี่ชนิด แล้วจึงค่อยๆ ไปดูนกในสวนสาธารณะ ตามชานเมือง ทุ่งนา แล้วค่อยเข้าไปดูนกตามป่าเขาลำเนาไพร และตามชายทะเล และเพื่อให้นักดูนกมือใหม่สามารถหานกได้พบ จึงขอแนะนำดังนี้คือ
1. ก่อนออกเดินทางไปดูนกในธรรมชาติ ควรจะต้องศึกษา หรือ หาข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ที่จะไปดูนกก่อนว่า มีสภาพแวดล้อมหรือแหล่งอาศัยของนกแบบใดบ้าง เราจะได้คาดเดาได้ว่า จะพบนกอะไรได้บ้าง เพราะนกแต่ละชนิดอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน
2. เมื่อคาดการณ์ได้แล้วว่าจะพบนกอะไรได้บ้าง เราจะต้องตรวจดูจากคู่มือดูนก เพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับนกเหล่านั้นว่า อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบใด เช่น อยู่ในกอหญ้า ระดับกลางของต้นไม้ หรือ อยู่บนยอดไม้ อยู่ตามไม้พื้นล่าง หรืออยู่ในป่าบนเขาหินปูน เป็นต้น
3. เมื่อเดินทางไปดูนกในธรรมชาติ พยายามมองหานก หรือส่องกล้องดูนกในสภาพแวดล้อมต่างๆ กันบ่อยๆ เราจะพบนกที่เราคาดว่าจะพบได้ไม่ยากนัก แต่ทั้งนี้เราจะต้องแยกตัวนกออกจากสภาพแวดล้อมให้ได้ เฉพาะอย่างยิ่ง นกที่มีสีสันและลวดลายกลมกลืนกับสภาพแวดล้อม
4. การดูนกในป่านั้น นักดูนกต้องใช้ความอดทนมากเป็นพิเศษ เพราะในป่ามักจะรกทึบ และมองหานกได้ยาก แม้ว่าจะได้ยินเสียงนกอยู่ล้อมรอบตัวเราก็ตาม ผิดกับการดูนกในทุ่งโล่ง หรือที่โล่ง ซึ่งหานกได้ง่ายกว่าการดูนกในป่า จึงต้องพยายามฟังเสียงร้องของนก จะได้เดาได้ว่า เสียงร้องของนกดังมาจากทางไหน และต้องคอยสังเกตดูกิ่งไม้ พุ่มไม้ หรือใบไม้ว่าขยับหรือไม่ ถ้าขยับอาจเนื่องจากมีนกอยู่ในบริเวณนั้นก็ได้ และต้องคอยมองดูว่ามีนกบินจากต้นไม้ต้นหนึ่งไปยังต้นไม้อีกต้นหนึ่งหรือไม่
5. ในบริเวณริมถนน ริมลำธาร ชายป่า หรือในบริเวณที่มีพืชพรรณธรรมชาติ 2 แบบมาบรรจบกัน ซึ่งเรียกรวมๆ กันว่า vegetation break นั้น เรามักพบนกมากมายหลายชนิด ด้วยเหตุนี้ จึงต้องใช้ความพยายามในการหาพื้นที่เช่นนี้ และหานกในพื้นที่เช่นนี้ เราจะได้เห็นนกที่อยากเห็น
6. นกที่กินน้ำหวานจากดอกไม้ มักชอบมากินน้ำหวานจากดอกงิ้ว ดอกทองหลาง และดอกไม้ยืนต้นอื่นๆ เป็นอย่างมาก ด้วยเหตุนี้ ถ้าหากเราเฝ้าดูนกเหล่านี้ ใกล้ๆ ต้นไม้เหล่านี้ที่กำลังดอกอยู่เต็มต้น เราอาจเห็นนกหกเล็ก (Hanging Parrots) นกแซงแซวหงอนขน (Hair-crested Drongo) นกปรอด(Bulbuls) นกเขียวก้านตอง (Leafbirds) นกกินปลี (Sunbirds) และนกกิง้โครงหัวสีทอง (Golden-crested Myna) เป็นต้น
7. นกที่กินผลไม้สุก เช่น นกเปล้า (Green Pigeons) นกโพระดก (Barbets) นกเขียวคราม (Asian Fairy-bluebird) นกกาฝาก (Flowerpeckers) นกเงือก (Hornbills) นกหกเล็ก และนกปรอด มักชอบมาหากินปะปนกันบนต้นไทร ต้นมะเดื่อ หรือต้นไม้อื่นๆ ที่มีผลสุกเต็มต้น ถ้าเราเฝ้าอยู่ใกล้ๆ ต้นไม้เหล่านี้ เราย่อมเห็นนกเหล่านี้ และบางทีอาจได้เห็นนกหายากๆ อย่างเช่น ไก่ฟ้า (Pheasants) ที่ชอบออกมาเก็บกินผลไม้ที่ร่วงหล่นอยู่ตามโคนต้นไม้
8. ในฤดูแล้งหรือในป่าที่หาแหล่งน้ำได้ยาก ในช่วงเวลาเที่ยงหรือเวลาบ่ายแก่ๆ ซึ่งมีอากาศร้อนจัด นกมักลงมากินน้ำหรือเล่นน้ำในลำธารหรือแหล่งน้ำที่มีอยู่จำกัด ถ้าหากเราเฝ้าดูนกอย่างเงียบๆ เราอาจเห็นนกได้หลายชนิดเช่นกัน แม้กระทั่งนกที่หาตัวได้ยาก เช่น นกแต้วแล้ว (Pittas)ก็อาจพบเห็นได้
9. นกกินแมลงหลายชนิดมักมารวมฝูงและหากินปะปนกัน โดยกระโดดและบินตามๆ กันไปเรื่อยๆ ที่เรียกว่า คลื่นนก (bird wave) หรือบางทีก็เรียกว่าmixed species flock ถ้านักดูนกพบก็สามารถเห็นนกได้มากมายหลายชนิดในเวลาเดียวกัน
โดย: ยุง บิน ชุม วันที่: 3 สิงหาคม 2548 เวลา:16:01:02 น.
  
การรวบรวมรายชื่อนก (Checklist of Birds)
ภายหลังจากการดูนกภาคสนามเสร็จสิ้นในแต่ละวันหรือแต่ละทริพแล้ว นักดูนกจะต้องทำการรวบรวมรายชื่อนกที่พบในแต่ละวันหรือแต่ละทริพ โดยใช้คู่มือดูนก A Field Guide to the Birds of Thailand ช่วยเตือนความจำ ด้วยการตรวจดูจากรายชื่อและภาพนกในคู่มือดูนก ตั้งแต่หมายเลข 1 ไปจนถึงหมายเลข 915
ถ้าหากเดินทางไปดูนกในธรรมชาติเป็นกลุ่ม ควรมอบหมายให้คนใดคนหนึ่งในกลุ่มทำหน้าที่เป็นผู้นำในการรวบรวมรายชื่อนก ผู้นำจะต้องเปิดหนังสือคู่มือดูนกทีละหน้าๆ และถามคนในกลุ่มว่ามีใครพบเห็นนกชนิดใดในหน้านั้นบ้าง หน้าใดที่มีนกซึ่งคนในกลุ่มพบจะต้องบันทึกไว้ หน้าใดไม่มีนกที่พบก็ข้ามไป จนกระทั่งจบหน้าสุดท้าย เป็นอันว่าเราได้รายชื่อนกที่พบในแต่ละวันหรือแต่ละ
ทริพที่ค่อนข้างสมบูรณ์แล้ว
การรวบรวมรายชื่อนกในธรรมชาติในแต่ละวันหรือแต่ละทริพนั้น มีประโยชน์อย่างมาก ซึ่งพอจะสรุปได้ดังนี้
1. ช่วยทบทวนความจำของนักดูนกแต่ละคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเดินทางไปดูนกในธรรมชาติเป็นกลุ่ม สมาชิกในกลุ่มจะได้ช่วยกันจดจำนกที่พบในธรรมชาติ ทำให้รวบรวมรายชื่อนกได้ครบถ้วนไม่ตกหล่น ดีกว่าไปนั่งรวบรวมรายชื่อนกอยู่เพียงคนเดียว
2. ทำให้ทราบว่าสมาชิกแต่ละคนในกลุ่มมีหลักในการจำแนกชนิดของนกอย่างไร หรือ จำแนกชนิดของนกถูกต้องหรือไม่ ทั้งนี้เพราะในขณะที่กำลังรวบรวมรายชื่อนก จะต้องมีการออกความเห็นว่า เป็นนกชนิดนั้นชนิดนี้หรือไม่ หรือถ้ามิใช่เพราะเหตุใด โดยต้องอธิบายรายละเอียดของนกชนิดนั้นๆประกอบ จนสมาชิกทุกคนหรือส่วนมากในกลุ่มยอมรับว่าเป็นนกชนิดนั้น
3. ทำให้สมาชิกแต่ละคนในกลุ่มทราบว่า ตนได้พบนกชนิดใดบ้าง และกี่ชนิด และมีชนิดใดบ้างที่สมาชิกคนอื่นพบแต่ตัวเองไม่พบ จะได้สอบถามสมาชิกที่พบว่าพบตรงไหน เผื่อจะได้หาโอกาสไปดูได้ในภายหลัง
4. ทำให้ทราบว่าในพื้นที่ที่เราไปดูนก ซึ่งอาจเป็นอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า หรือพื้นที่อื่นๆ นั้น มีนกชนิดใดอาศัยหากินหรือทำรังวางไข่อยู่บ้าง
5. ทำให้ทราบว่าในพื้นที่ซึ่งเราไปดูนกนั้นมีความหลากหลายของนกมากมายเพียงใด ถ้าหากความหลากหลายของนกมีมาก แสดงว่าในพื้นที่นั้นมีความหลากหลายของพืชพรรณธรรมชาติหรือสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับนกมากด้วย
6. ทำให้ทราบว่าในพื้นที่ซึ่งเราไปดูนกนั้น มีพืชพรรณธรรมชาติหรือแหล่งอาศัยของนกเป็นแบบใดบ้าง เพราะนกแต่ละชนิดย่อมอาศัยอยู่ในแหล่งอาศัยที่แตกต่างกัน เมื่อทราบว่าในพื้นที่นั้นพบนกอะไรบ้างแล้ว เราย่อมสรุปได้ว่าในพื้นที่นั้นมีพืชพรรณธรรมชาติหรือแหล่งอาศัยเป็นเช่นใด
7. ทำให้มีรายชื่อนกในแต่ละพื้นที่เพื่อเก็บไว้เป็นข้อมูลสำหรับการเดินทางไปดูนกในพื้นที่นั้นในครั้งต่อไปของเราและของคนอื่น และยังใช้เป็นฐานข้อมูลในการวางแผนอนุรักษ์นกในพื้นที่นั้นๆ ต่อไปอีกด้วย รายชื่อนกที่รวบรวมไว้นี้ จึงควรทำสำเนาส่งให้กับหน่วยงานที่รับผิดชอบพื้นที่ที่เราไปดูนกด้วย
โดย: ยุง บิน ชุม วันที่: 3 สิงหาคม 2548 เวลา:16:01:23 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Forbird.BlogGang.com

ยุง บิน ชุม
Location :
กรุงเทพ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]