อ่านหนังสืออย่างไรให้มีประสิทธิภาพ
การอ่านหนังสือนั้น ดูเหมือนว่าจะเป็นสิ่งที่เราหลีกเลี่ยงกันไม่ได้เลยนะคะ ตั้งแต่เด็กจนจบปริญญาตรี ต่างคนก็ต้องเคยชินกับการท่องตำราอ่านหนังสือสอบกันมาทั้งนั้น หรือบางคนเรียนปริญญาโทหรือเอก ก็ต้องมาอ่านบทความวิชาการ (journal papers) และตำราต่างประเทศอีก สำหรับคนที่ทำงานแล้ว ก็ต้องเรียนรู้งาน อ่านตำราใหม่ๆ และรับข้อมูลใหม่ๆตลอดเวลา ดูเหมือนว่าเราจะหนีการอ่านไปไม่ได้เลยค่ะ เคยเป็นไหมคะที่รู้สึกว่าอยากให้มีเวลาเยอะกว่านี้ เพื่อจะได้อ่านหนังสือสอบให้ทัน จะได้อ่านเปเปอร์ให้ได้เยอะๆ สำหรับด้านวิชาการอย่างนี้ถึงแม้จะเป็นสาขาที่เราถนัดและเลือกเรียนมา แต่บางทีก็ยากที่จะบังคับใจตัวเองให้อ่านได้ เพราะกิจกรรมอย่างอื่นอาจจะสนุกกว่า จริงไหมคะ ส่วนคนที่ชอบอ่านหนังสือทั้งนิยายและเรื่อง non-fiction หรืออยากอ่านข่าวติดตามเหตุการณ์ต่างๆ ก็รู้สึกว่าอยากอ่านให้ได้เยอะๆ สำหรับอันนี้ปัญหาอาจจะไม่ได้อยู่ที่การไม่อยากอ่าน แต่เป็นเพราะหาเวลาได้ไม่พอมากกว่า

ผู้เขียนเองก็มีปัญหามาแล้วทั้งสองแบบ ทั้งหนังสือที่ไม่อยากอ่านแต่ก็ต้องอ่านสอบ และหนังสือที่อยากอ่านแต่หาเวลาอ่านไม่ได้สักที จึงรวบรวมเทคนิคการอ่านหนังสืออย่างมีประสิทธิภาพที่คิดว่าพอจะแก้ปัญหาเหล่านี้ไปได้บ้างมานำเสนอ โดยแยกเป็นประเภทหนังสือ ดังนี้ค่ะ

หนังสือวิชาการ


๑. สิ่งที่สำคัญที่สุดอย่างแรกที่ต้องมีคือ การหัดให้ตัวเองมีวินัย (discipline) ให้ได้ค่ะ คือ ถ้าเราวางแผนว่าจะอ่านหนังสือให้ได้เท่านี้สำหรับวันนี้ เราก็ต้องทำให้ได้ วิธีฝึกเริ่มแรกให้กำหนดง่ายๆก่อนว่าวันนี้เราจะอ่านตำราแค่ ๑ บท หรือ ๑๐ หน้า เป็นต้น แค่นี้พอค่ะ เอาแค่นี้ให้ได้ ถ้าอ่านจบเร็วก็ไปเล่น ไปทำอย่างอื่นต่อเลยค่ะ ฝึกเอาไว้ว่าเราต้องเคารพกฎของตัวเอง ทีนี้พอได้แล้ว วันต่อๆไปก็ค่อยๆเพิ่มปริมาณขึ้นตามสมควร แล้วก็ต้องอ่านให้ได้ตามเป้าค่ะ เมื่อเราทำงานได้ตามเป้าแล้วในแต่ละครั้ง ก็อย่าลืมให้รางวัลตัวเองด้วยทุกครั้งค่ะ อันนี้แม้จะดูไม่สำคัญ แต่มันจะเป็นแรงผลักดันที่ดี และก่อให้เกิดนิสัยว่าเราต้องทำงานก่อนจึงจะเล่นได้ ต้องรับผิดชอบในงานตัวเองก่อน ประมาณนั้นค่ะ โดยรางวัลก็อาจจะเป็นอะไรง่ายๆ เช่น ได้ดูละครหนึ่งเรื่องตอนกลางคืน ได้ทานขนมเจ้าประจำ อะไรเป็นต้นค่ะ

๒. เมื่อเรามีวินัย และเคารพการวางแผนของตัวเองแล้ว ต่อไปก็ต้องวางแผนการอ่านหนังสือค่ะ การวางแผนที่ดีนั้นสำคัญมาก เพราะทำให้เราเดินไปถูกทิศทาง การวางแผนไม่ถือเป็นการเสียเวลา แต่เป็นการประหยัดเวลาในระยะยาว เพราะไม่ต้องไปเสียเวลาเดินผิดทางค่ะ การวางแผนการอ่านก็อาจจะกำหนดว่าวันนี้ต้องอ่านบทนี้ บทนั้น วันต่อไปอ่านให้ได้เท่าไร ถ้าวันเสาร์อาทิตย์มีเวลามากเพราะไม่ต้องเดินทาง ก็อาจจะกำหนดให้อ่านได้มากขึ้น อย่างไรก็อย่าลืมกำหนดเวลาพักด้วยค่ะ (ดูเพิ่มเติมเรื่องการพัก ในข้อ ๖)

ขอยกตัวอย่างเทคนิคที่เคยใช้เวลามีสอบตอนสมัยยังเป็นนักเรียน สมมุติว่ามีตารางสอบออกมาดังนี้

วันที่หก เช้า สอบวิชา A บ่ายสอบวิชา B
วันที่เจ็ด เช้าสอบวิชา C บ่ายสอบวิชา D
วันที่แปด บ่ายสอบวิชา E

ผู้เขียนก็จะจัดตารางการอ่านหนังสือของแต่ละวิชาโดยเรียงลำดับ ดังนี้ ค่ะ

สมมุติว่ามีเวลาอ่านทบทวนสองรอบ และอ่านได้วันละสองวิชา
วันที่หนึ่ง ก็จะอ่านวิชารอบแรก คือ E และ D วันที่สองอ่านวิชา C และ B วันที่สาม อ่านวิชา รอบแรก คือ A และรอบสองคือ วิชา E วันที่สี่ อ่านรอบที่สองของวิชา D และ C และวันที่ห้าก็อ่านรอบที่สอง คือ B กับ A เพราะวันที่หกจะสอบสองวิชานี้แล้ว พอสอบเสร็จก็จะมีเวลาอ่านทบทวนวิชา D กับ C ที่จะสอบในวันที่เจ็ด ส่วนพอสอบวันที่เจ็ดเสร็จก็จะได้ทบทวนวิชาสุดท้ายของวันถัดไป คือ วิชา E ค่ะ
สรุปง่ายๆก็คือ ผู้เขียนจะจัดตารางให้อ่านหนังสือย้อนลำดับกับตารางสอบ เพื่อวิชาแรกที่ต้องสอบเราจะได้อ่านเสร็จรอบสองหมาดๆก่อนวันสอบเลยค่ะ

๓. ที่สำคัญอีกอย่างในการวางแผนคือ อย่าคิดว่าตัวเองเป็น superman คือ สามารถอ่านหนังสือได้เยอะเกินกำลังภายในเวลาอันสั้น อย่าวางตารางการอ่านให้แน่นเกินไป เพราะนอกจากจะทำไม่ได้ตามแผนอยู่แล้ว ยังทำให้ตัวเองเครียดเพราะแผนนั้นโดยไม่จำเป็นด้วยค่ะ แรกๆอาจจะกะความสามารถตัวเองยากหน่อย หรือการอ่านตำราภาษาอังกฤษกับภาษาไทยก็ใช้ระยะเวลาการอ่านไม่เท่ากัน ก็ใช้เก็บสถิติจากการอ่านในรอบแรกๆค่ะ เช่น การอ่านภาษาอังกฤษหนึ่งหน้า เราใช้เวลา ๑๐ นาที เราก็จะประมาณถูกว่าต้องใช้เวลาเท่าไร จึงจะอ่านจบบทหรือจบวิชา เป็นต้นค่ะ

๔. หาที่อ่านที่สงบเงียบ และนั่งสบาย ส่วนบรรยากาศก็แล้วแต่คนชอบ บางคนชอบอ่านที่บ้าน ในห้องสมุด ในสวนมีต้นไม้เขียวๆ หรือในร้านกาแฟ เป็นต้นค่ะ หรือบางทีเราก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆค่ะ ตัวผู้เขียนเองชอบให้เป็นที่เงียบจริงๆ ไม่อยู่ใกล้ทีวี หรือสิ่งต่างๆที่ทำให้เราเสียสมาธิ เพราะทำให้เราเสียเวลาในการอ่าน และทำให้จำได้ไม่ดีด้วย แต่ก็ทราบมาว่าบางคนจะชอบให้มีเสียงเพลงหรือเสียงอื่นๆเวลาอ่านหนังสือด้วย อันนี้ก็แล้วแต่ความชอบนะคะ แต่ไม่ควรทำให้เสียสมาธิค่ะ หรือถ้ากลัวง่วง ก็อาจจะฟังเพลงเฉพาะเพลงที่มีแต่ทำนอง ไม่มีเนื้อร้องค่ะ บางคนเมื่ออยู่บ้าน ก็อยากจะมานั่งรวมกับคนที่บ้าน แต่ถ้าเขากำลังดูทีวีกันอยู่ แล้วเราเอาตำราไปอ่านใกล้ๆ ก็คงไม่มีสมาธิ ก็จะเสียเวลาเปล่า สู้ไปนั่งดูทีวีกับเค้าไปเลย แล้วค่อยมาอ่านหนังสือแบบอยู่คนเดียวก็อาจจะเร็วและจำได้ดีกว่าค่ะ

๕. เวลาอ่านหนังสือ เราควรกำหนดว่าเวลานี้เราจะตั้งใจ และไม่ปล่อยให้อะไรมาขัดโดยไม่จำเป็น เช่นอาจจะปิดเสียงโทรศัพท์มือถือ ถ้าใครโทรมาเราก็ค่อยมาดูแล้วโทรกลับในช่วงพักค่ะ หรือถ้าอยู่ที่บ้าน ก็บอกคนที่บ้านว่าเราจะขอท่องหนังสือจนถึงเที่ยงแล้วจะลงมาทานข้าว หรือถ้าอ่านในคอมพิวเตอร์ เราก็อาจจะปิดหรือทำเครื่องหมาย busy ใน MSN เป็นต้น คนอื่นก็จะไม่มารบกวนโดยไม่จำเป็นค่ะ การได้ทำงานหรืออ่านหนังสือเป็นช่วงเวลาติดต่อกันอย่างนี้ มีประสิทธิภาพกว่าการอ่านที่ถูกหยุดด้วยสิ่งต่างๆค่ะ

๖. เมื่ออ่านหนังสือไปนานๆ เราก็จะเริ่มล้า ทั้งสมองที่ต้องคิด ทั้งร่างกายที่ไม่ได้ขยับ ทั้งสายตาที่ต้องจ้องอยู่นาน เราก็ควรกำหนดเวลาพักค่ะ อันนี้ก็แล้วแต่คนชอบ ผู้เขียนเองส่วนใหญ่จะพักอ่านหนังสือทุกๆชั่วโมงหรือสองชั่วโมง โดยออกไปเดินยืดเส้นยืดสาย ดื่มน้ำ ทานขนม หรือไปมองต้นไม้เขียวๆ เป็นต้นค่ะ เวลาพักก็ต้องกำหนดด้วยค่ะ ว่า ๕ นาที หรือ ๑๕ นาที เป็นต้นค่ะ

๗. ของประจำเวลาอ่านหนังสือของผู้เขียน คือ น้ำดื่มค่ะ อันนี้ไม่ทราบคนอื่นเป็นหรือไม่ แต่ตัวผู้เขียนเอง ถ้าลืมดื่มน้ำก็จะเกิดอาการปวดหัวได้ค่ะ สำหรับคนอื่นหากติดของขบเคี้ยวก็ควรมีไว้ให้พร้อม จะได้ไม่ต้องเดินไปหยิบค่ะ

๘. ผู้เขียนเองเวลาอ่านหนังสือจะชอบขีดเส้นหรือเน้นข้อความที่สำคัญ โดยไม่หวงหนังสือว่าจะไม่ดูใหม่ หรือดูเลอะเทอะเลย เพราะชอบเวลากลับมาอ่านทวนเราก็จะรู้ว่าจุดไหนเป็นข้อมูลสำคัญค่ะ เรายังสามารถใช้ทบทวนก่อนสอบได้ด้วย สำหรับคนที่ชอบหนังสือใหม่ๆเกลี้ยงๆ ก็อาจจะต้องหาสมุดกับปากกามาจดสิ่งที่สำคัญจากหนังสือนั้นๆ เพื่อการอ่านทบทวนได้ค่ะ

๙. พยายามจัดเวลาอ่านหนังสือในช่วงเวลาที่เราตื่นตัวที่สุด อันนี้แตกต่างกันไปค่ะ บางคนจะจำได้ดีถ้าอ่านตอนเช้า บางคนเป็นตอนเย็น ก็ต้องสังเกตุตัวเองดู ถ้าทราบแล้วอาจจะกำหนดเป็นเวลาประจำทุกวัน เช่น ทุกวันเวลาสองทุ่มถึงห้าทุ่ม เราต้องอ่านตำราทบทวนที่เรียนมา เป็นต้นค่ะ

หนังสือทั่วไป เช่น หนังสือนิยาย หนังสือพัฒนาตัวเอง ข่าวสารต่างๆ เป็นต้น

๑. ถ้าเป็นหนังสือต่างประเทศ ผู้เขียนจะใช้วิธีอ่านเรื่องย่อที่หาได้ทาง internet ค่ะ เพราะมีเรื่องที่อยากอ่านเยอะมาก แต่ดูแล้วคงไม่ได้อ่านครบแน่ๆ ไม่แน่ใจว่าสำหรับหนังสือไทยจะหาเรื่องย่อหรือบทสรุปได้หรือไม่ค่ะ

๒. ติดหนังสือเล่มที่ชอบไว้ในรถหรือพกติดตัวไปด้วย เผื่อเวลาเราไปนัดแล้วต้องรออีกฝ่าย หรือเวลารอที่ร้านหมอหรือโรงพยาบาล เราก็เอาเล่มโปรดขึ้นมาอ่านได้ค่ะ

๓. ถ้้าเราต้องการให้ตัวเองได้อ่านบ่อยๆ ก็อาจจะกำหนดเวลาเช่น ทุกวันเสาร์เย็น เราจะใช้เวลาอ่านหนังสือเหล่านี้ เป็นต้นค่ะ การกำหนดเวลาไว้ก็ช่วยให้เราทำได้เป็นประจำด้วยค่ะ

เท่าที่นำเสนอมานี้ ก็เป็นเทคนิคที่ผู้เขียนเองเคยใช้ค่ะ หากผู้อ่านท่านใดมีวิธีที่น่าสนใจอื่นๆ ขอเชิญฝากมาแบ่งปันกันได้นะคะ



Create Date : 19 เมษายน 2552
Last Update : 19 เมษายน 2552 18:56:43 น.
Counter : 1820 Pageviews.

14 comments
สรุปวิชาสังคมไทยสังคมโลกในศตวรรษที่ 21 เรื่องปราชญ์ท้องถิ่น นายแว่นขยันเที่ยว
(10 เม.ย. 2567 03:05:45 น.)
เมนูที่เต็มไปด้วยคุณค่าอาหาร ข้าวยำ สมาชิกหมายเลข 4313444
(4 เม.ย. 2567 00:28:04 น.)
เอื้องชมพูไพร สมาชิกหมายเลข 4313444
(21 มี.ค. 2567 02:45:05 น.)
เกี่ยวกับข้อมูลภาษี Google Adsence กว่าจะอนุมัติ Ep.1 SN_monchan
(16 มี.ค. 2567 07:48:15 น.)
  
โหมีประโยชน์มาก


คือกำลังจะขึ้นม.6 ขะเข้ามหาลัย
เครียดมากอ่านไม่ทันเลยค่ะ
เรียนพิเศษทุกวัน มันก็ล้าเหมือนกัน


แล้วระบบใหม่นี้สอบเร็วขึ้น ยังไม่จบม.6 เลยก็สอบ
แต่มีเนื้อหาม.6 มาด้วย
งงๆ อยู่



ฮ่าๆ ออกแนวมาระบายซะงั้น
โดย: Balloon_walker วันที่: 19 เมษายน 2552 เวลา:19:41:59 น.
  
อิอิ ชอบมากๆ ขอบคุณคะ :D
โดย: saonoi IP: 202.151.7.107 วันที่: 22 เมษายน 2552 เวลา:11:38:54 น.
  
This is very useful
Thank you very much
Discipline is the key
I guess you must be a self-disciplined person
Way to go!
โดย: Todd IP: 68.190.116.139 วันที่: 5 พฤษภาคม 2552 เวลา:11:15:20 น.
  
ขอบคุณมากค่ะ คำแนะนำมีประโยชน์มาก ขอให้มาเขียนเรื่อยๆนะคะ จะคอยติดตาม
โดย: เอ๋ IP: 91.104.54.107 วันที่: 6 มิถุนายน 2552 เวลา:16:59:25 น.
  
ดีมากเลยค่ะ เป็นประโยชน์มากและจะนำไปปรับใช้กับตัวเองค่ะ ขอบคุณนะค่ะ
โดย: น้ำใส IP: 58.8.158.247 วันที่: 19 กรกฎาคม 2552 เวลา:22:41:48 น.
  
ขอบคุณสำหรับแนวทางนะคะ ตอนนี้กำลังตือเลย กลัวอ่านไม่ทัน จริงๆค่ะ
โดย: b (bee09b ) วันที่: 1 กุมภาพันธ์ 2553 เวลา:17:39:53 น.
  
จะเอาวิธีพี่จอยเป็นแนวทางในการอ่านหนังสือสอบนะคะ ขอบคุนค่ะ
โดย: เมย์ IP: 99.63.92.52 วันที่: 4 กุมภาพันธ์ 2553 เวลา:11:17:32 น.
  
อ่านข้อความนี้แล้วเพิ่งนึกได้
วิธีนี้เราเคยใช้ตอนปี1แล้วได้ผลด้วยแหล่ะ
แต่ระยะหลังๆเริ่มเหลิงกับเกรดตอนปี1เลยไม่ได้ใช้วิธีอ่านแบบนี้ต่อ
มัวแต่สนุกกับชีวิต^^
แต่หลังจากอ่านข้อความนี้จบจะกลับไปทำตัวแบบปี1ใหม่แล้วหล่ะค่ะ
เสียดายเวลาจัง รู้ตัวตอนนี้ก็เกือบสายไปแหน่ะค่ะ


ขอขอบคุณเจ้าของBlogมากๆเลยนะคะ
โดย: Kwang IP: 172.168.1.23, 110.164.39.220 วันที่: 26 กันยายน 2553 เวลา:1:15:28 น.
  
คุณเจ้าของBlogคะ
ขออนุญาตนำข้อความดีๆนี้ไปเผยแพร่ต่อในเฟสบุ๊คนะคะ
โดย: Kwang IP: 172.168.1.23, 110.164.39.220 วันที่: 26 กันยายน 2553 เวลา:1:16:37 น.
  
ตอบคุณ Kwang ค่ะ ยินดีค่ะ หวังว่าจะเป็นประโยชน์นะคะ ได้ผลอย่างไรมาเล่าให้ฟังบ้างนะคะ หรือมีเทคนิคดีๆก็รบกวนมาแบ่งปันกันนะคะ
โดย: DrJoyKwanrawee วันที่: 28 กันยายน 2553 เวลา:16:46:07 น.
  
It can change my life.
Thank you very much, Dr. Joy :)
โดย: Dong IP: 182.232.51.73 วันที่: 23 ตุลาคม 2553 เวลา:20:50:58 น.
  
อ่านเเล้วทำให้มีความรู้สึกรักการอ่านขึ้นมาบ้าง เพราะโดยพื้นฐานเเล้วไม่ช่ายเป็นคนรักการอ่านเท่าไรอะคะ ขอบคุณนะคะ
โดย: พี่เอ (Abilene ) วันที่: 7 ธันวาคม 2553 เวลา:12:15:10 น.
  
พี่เอ ขอบคุณ ที่แวะเข้ามาค่ะ
โดย: DrJoyKwanrawee วันที่: 15 ธันวาคม 2553 เวลา:12:53:17 น.
  
ขอบคุณมากคร้า......
โดย: วิ IP: 1.46.3.105 วันที่: 6 มกราคม 2555 เวลา:18:08:21 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Drjoykwanrawee.BlogGang.com

DrJoyKwanrawee
Location :
Davis, California  United States

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 12 คน [?]

บทความทั้งหมด