ทศชาติชาดก เรื่อง พระเตมีย์ ผู้ยิ่งด้วยเนกขัมมบารมี ตอนที่ 13



ทศชาติชาดก เรื่อง พระเตมีย์
ผู้ยิ่งด้วยเนกขัมมบารมี ตอนที่ 13



จากตอนที่แล้วพระนางเจ้าจันทาเทวีได้ทรงทราบข่าวว่าพระราชาทรงรับสั่งให้ฝังพระเตมิยราชกุมารทั้งเป็นก็ทรงตกพระทัยจนแทบสิ้นสติ รีบเสด็จเข้าเฝ้าพระสวามีกราบทูลทัดทานขอให้ทรงยับยั้งไว้ก่อน เพราะว่าที่ผ่านมาพระโอรสไม่เคยทำความเดือดร้อนให้แก่ใครเลย แต่พระนางถูกปฏิเสธอย่างไม่มีเยื่อใย


จึงทรงกราบทูลพระสวามีให้ทรงระลึกถึงพรที่ท้าวเธอเคยทรงพระราชทานไว้ บัดนี้ยังทรงจำได้อยู่หรือไม่ ซึ่งพระราชาก็ทรงรับว่า ยังจำได้ พระนางจึงทูลขอพรนั้นว่า ขอพระองค์โปรดพระราชทานพรนั้น โดยทรงพระราชทานราชสมบัติแก่ลูกของหม่อมฉันด้วยเถิด พระราชาทรงอัดอั้นพระหฤทัย ได้แต่ทรงปฏิเสธด้วยเหตุผลว่า ลูกของเราเป็นกาลกิณี คนกาลกิณีมิอาจเป็นมิ่งขวัญของทวยราษฎร์ได้หรอก


พระนางเจ้าพอได้ยินพระราชดำรัสของพระสวามีเท่านั้น ก็ถึงกับสะอื้นไห้ด้วยความรันทดในพระหฤทัย เพราะไม่คิดว่าจะได้สดับถ้อยคำเช่นนี้จากพระราชสวามี จึงทูลอ้อนวอนว่า หากพระองค์ไม่พระราชทานราชสมบัติ ให้เตมิยกุมารได้ครองราชย์จนตลอดชีวิต ก็ขอได้โปรดพระราชทานสักเจ็ดปีเถิด แต่ก็ทรงถูกพระราชาตรัสปฏิเสธเช่นเดิม

พระนางเจ้าจันทาเทวีไม่ละความพยายาม ทรงทูลต่อรองเพื่อขอราชสมบัติให้พระเตมิยกุมารต่อไป โดยลดระยะเวลาลงตามลำดับ เป็นหกปี จนถึง หนึ่งปี หกเดือนจนถึงครึ่งเดือน แต่ก็ถูกปฏิเสธทั้งหมด ในที่สุดพระนางจึงทรงอ้อนวอนเป็นครั้งสุดท้ายว่า หากพระองค์ยังทรงเมตตาหม่อมฉันอยู่ ก็ขอทรงโปรดพระราชทานราชสมบัติ ให้เตมิยกุมารของหม่อมฉันได้ครอบครองสักเจ็ดวันเถิด

ครั้นได้รับพระบรมราชานุญาตแล้ว พระนางก็โปรดให้จัดพิธีราชาภิเษกพระเตมิยราชกุมารให้เป็นกษัตริย์ โดยให้ประดับตกแต่งพระราชกุมารด้วยเครื่องทรงเยี่ยงกษัตริย์ ทูลอัญเชิญให้ขึ้นประทับบนพระประทุนหลังช้างพระที่นั่ง แล้วให้เสด็จเลียบถนนโดยรอบพระนครป่าวประกาศว่า บัดนี้ราชสมบัติแห่งกาสิรัฐเป็นของพระเตมิยราชกุมารแล้ว




แม้ว่าพระนางเจ้าจันทาเทวี จะได้ทรงดำเนินการอภิเษกพระโพธิสัตว์ให้เป็นกษัตริย์สำเร็จแล้วก็ตาม ถึงกระนั้นพระนางยังทรงทุกข์ระทมอยู่ดีเพราะจนถึงบัดนี้ก็ยังมิอาจทำให้พระโพธิสัตว์กลับเป็นเหมือนคนปกติได้ ทรงเป็นห่วงเป็นใยในชีวิตของพระโอรสจนไม่เป็นอันที่จะเสวยพระกระยาหารเลย

ซึ่งก็เป็นธรรมดาของหญิงผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นมารดา ย่อมมีจิตใจอ่อนไหวไปตามความเป็นไปของบุตร ถึงคราวบุตรอยู่ดีมีสุข มารดาก็พลอยแช่มชื่นเบิกบาน ยิ้มแย้มแจ่มใสไปด้วย แต่ครั้นบุตรมาเจ็บไข้ได้ป่วย ใจของมารดาก็เป็นทุกข์ร้อน มีความไม่สบายกายไม่สบายใจไปด้วย

และดูเหมือนว่าจะทุกข์ร้อนมากไปกว่าที่บุตรได้รับเสียด้วยซ้ำ ยิ่งมารดามีความรักและห่วงใยบุตรของตนมากเพียงใด ก็ยิ่งจะทวีความทุกข์โศกให้เพิ่มมากขึ้นเพียงนั้น ดังที่ได้เห็นกันอยู่บ่อยๆว่า มารดาจำนวนมิใช่น้อยเลยที่ยอมสละแม้กระทั่งชีวิตของตน เพียงเพื่อให้บุตรกินดีมีสุข ได้ศึกษาเล่าเรียนอย่างดี เพื่อให้มีอนาคตที่ดีต่อไปในภายภาคหน้า ด้วยเหตุนี้เอง บัณฑิตในกาลก่อนถึงได้กล่าวว่า “มารดาเป็นพรหมของบุตร เป็นเทวดาในเรือน เป็นบุรพาจารย์ของบุตร และเป็นผู้ที่บุตรทั้งหลาย ควรเคารพกราบไหว้บูชา ดุจเดียวกับพระอรหันต์ผู้เป็นนาบุญของโลก”

หลังจากพิธีราชาภิเษกพระเตมิยกุมารผ่านพ้นแล้ว พระนางจันทาเทวีจึงได้รับสั่งให้เจ้าพนักงานเชิญเสด็จพระราชกุมารขึ้นสู่พระแท่นที่บรรทม พระนางตรงเข้าสวมกอดและลูบคลำพระกายของพระราชกุมารด้วยทรงอาลัยรัก พร่ำวิงวอนพระเตมิยกุมารอยู่ตลอดทั้งคืนทั้งวัน ด้วยพระดำรัสซ้ำๆ ว่า “พ่อเตมิยกุมารลูกรักของแม่ ตลอดสิบหกปีที่ล่วงมา แม่ไม่เป็นอันหลับนอน แม่ร้องไห้เสียจนดวงตาทั้งสองของแม่ฟกช้ำ หัวใจของแม่แทบจะแตกสลายด้วยความโศก ลูกรักของแม่เอย แม้ใครเขาจะว่าลูกเป็นอย่างไรก็ตาม แต่แม่รู้อยู่เต็มอกว่า ลูกของแม่มิใช่คนง่อยเปลี้ย มิใช่คนใบ้ มิใช่คนหูหนวก ลูกจงกล่าวอะไรๆ บ้างเถิดอย่าปล่อยให้แม่ต้องทุกข์ใจไปกว่านี้ เพราะไร้ที่พึ่งพาอาศัยเลยนะลูกรัก”

ส่วนพระโพธิสัตว์แม้จะบรรทมนิ่งอยู่บนพระแท่น แต่ก็ไม่มีผู้ใดหยั่งรู้ว่า ตลอดสิบหกปีที่ผ่านมานั้น พระองค์ทรงรู้สึกอย่างไรในทุกถ้อยคำที่พระราชมารดาตรัสอ้อนวอน เพราะแท้ที่จริงแล้ว พระองค์ทรงรับรู้ในทุกสัมผัส รู้ถึงความทุกข์โศกของพระมารดาดีทุกอย่าง นานวันเข้าก็ยิ่งทั้งรักและสงสารพระมารดาอยู่เต็มตื้นในพระหฤทัย เพราะทรงสำนึกในพระคุณของพระมารดาเกินกว่าที่จะประมาณได้ หากแต่ทว่าพระโพธิสัตว์นั้น ทรงมีพระหฤทัยมั่งคงอยู่ในมหาปณิธานที่ได้ตั้งสัจจาธิษฐานไว้แต่เดิม ได้บรรทมนึกถึงความปรารถนาที่จะทรงผนวชบำเพ็ญเนกขัมมบารมีเพื่อบ่มพุทธบารมีของตนให้แก่กล้ายิ่งๆ ขึ้นไป

เมื่อไม่อาจจะกระทำตามคำของพระมารดาได้ จึงได้แต่บรรทมนิ่งนึกถึงเป้าหมายในการเสด็จออกผนวชที่จะสำเร็จในวันรุ่งขึ้นเพื่อระงับความโศกเศร้าในพระหฤทัยอันเกิดจากความสงสารพระมารดานั้นเสียทรงนึกขอพระราชทานอภัยโทษต่อพระมารดาว่า “ได้โปรดอภัยให้ลูกเถิดนะ ที่ลูกต้องแกล้งทำเป็นไม่รับรู้สิ่งใด ยอมอดทนทุกข์กายทุกข์ใจเช่นนี้ก็เพื่อรอคอยวันที่เขาจะนำลูกออกไปจากพระราชวังโปรดอภัยให้ลูกอย่าให้ลูกต้องมีบาปในเรื่องนี้เลยนะ”

แล้วก็ทรงนึกถึงความสำเร็จที่ใกล้เข้ามาในทุกขณะว่า ในวันพรุ่งนี้ความพยายามที่เราทำมาถึงสิบหกปีก็จะถึงที่สุดแล้วเมื่อทรงนึกอย่างนี้พระหฤทัยก็ค่อยแช่มชื่นขึ้นมา





ฝ่ายพระเจ้ากาสิกราชนั้นครั้นถึงวันที่หกจวนจะครบกำหนดก็ทรงมีรับสั่งให้นายสารถีนามว่าสุนันทสารถีมาเข้าเฝ้าที่พระตำหนักเป็นการส่วนพระองค์ แล้วทรงมีพระดำรัสว่า “สุนันท์ เราจักมอบหมายภาระสำคัญให้เจ้าสักอย่างหนึ่งเจ้าจะว่าอย่างไร”

สุนันทสารถีทราบว่าพระราชาทรงไว้วางใจตนก็มีความปลื้มปีติใจยิ่งนัก เขายิ้มน้อยๆ พลางกราบทูลพระองค์ว่า “ขอเดชะใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อมหากเหนือหัวของข้าพระบาททรงปรารถนาสิ่งใดข้าพระบาทจักอาสาถวายชีวิตเพื่อพระองค์ พระเจ้าข้า”

“ดีมาก สุนันท์ เจ้าจงกลับไปเตรียมรถเทียมม้าอัปมงคลคู่หนึ่งรอจนกระทั่งรุ่งเช้าก็จงมารับเตมิยกุมารบนปราสาทจัดให้บรรทมบนรถของเจ้าแล้วรีบนำลูกของเราออกไปทางประตูทางด้านทิศตะวันตก จงประกาศขึ้นดังๆ ไปตลอดหนทางว่า “ตัวกาลกิณี” เมื่อไปถึงป่าช้าผีดิบแล้วก็จงเร่งขุดหลุมแล้วฝังพระกุมารในที่นั้นแหละ”

ฝ่ายสุนันทสารถี ครั้นได้ฟังพระดำรัสนั้นแล้วใบหน้าก็พลันแห้งเผือดลงในทันทีสีหน้ากลับหม่นหมองแฝงไว้ด้วยความไม่สบายใจเพราะนึกไม่ถึงว่าตนจะต้องมาทำหน้าที่เพชฌฆาตหยิบยื่นความตายให้กับพระราชกุมารผู้ซึ่งไม่เคยทำความเดือดร้อนให้แก่ใครเลยแต่ด้วยความจงรักภักดีต่อเจ้าเหนือหัวของตนจึงรีบตั้งสติ แล้วน้อมรับพระบรมราชโองการทันที

ก่อนที่นายสุนันทสารถีจะถวายบังคมลาพระเจ้ากาสิกราชก็หันมากำชับว่า “เมื่อเจ้าขุดหลุมเสร็จแล้วก็ให้อุ้มลูกของเราใส่ลงในหลุมนั้นแล้วอย่าลืมเอาสันจอบทุบศีรษะให้ตายเสียด้วยมือของตนเพื่อจะได้ไม่ต้องทรมานจากการถูกฝังทั้งเป็น ครั้นเห็นว่าตายแน่แล้วก็จงเอาดินกลบให้เรียบร้อยจากนั้นจงไปอาบน้ำชำระร่างกายเปลี่ยนชุดเสียใหม่แล้วจงรีบกลับมารายงานให้เราทราบอีกทีเข้าใจไหม”

สุนันทสารถีรับพระดำรัสนั้นแล้วก็รีบกลับมาเตรียมการทุกอย่างตามพระกระแสรับสั่งแต่ในขณะที่นอนรอให้ถึงเวลารุ่งเช้าเขาก็ไม่อาจข่มตาให้หลับลงได้เพราะนึกอยู่ตลอดเวลาว่าตนจะต้องปลงพระชนม์พระราชกุมารภายในจิตใจจึงมีแต่ความร้อนรนไม่สบายใจนอนกระสับกระส่ายพลิกไปพลิกมาจนตลอดคืนยันรุ่งแต่เมื่อไม่อาจจะฝืนพระบรมราชโองการได้จึงได้แต่คิดว่าตนจักกระทำตามหน้าที่เท่านั้น





ครั้นรุ่งเช้า สุนันทสารถีจึงลุกขึ้นด้วยความอ่อนระโหยโรยแรง มีแต่ความรันทดหดหู่ใจ เมื่อถึงเวลาก็จึงค่อยๆ เดินเข้าไปในโรงเก็บราชรถ เพื่อเลือกหารถคันที่ตนชอบใจ ส่วนเหตุการณ์ที่นายสารถีจะนำพระโพธิสัตว์ออกไปจากพระราชวังนั้นจะเป็นอย่างไร โปรดติดตามตอนต่อไป


โดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

from dmc.tv



Create Date : 15 พฤศจิกายน 2550
Last Update : 15 พฤศจิกายน 2550 19:12:24 น.
Counter : 906 Pageviews.

0 comments
เติมให้ความมี เติมให้ความไม่มี ปัญญา Dh
(14 เม.ย. 2567 20:54:29 น.)
สมบัติรูป สมบัตินามที่ถูกรูป ปัญญา Dh
(10 เม.ย. 2567 18:24:46 น.)
: หยดน้ำในมหาสมุทร 31 : กะว่าก๋า
(9 เม.ย. 2567 05:58:44 น.)
ได้คะแนน ปัญญา Dh
(7 เม.ย. 2567 12:52:45 น.)
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Desertcity.BlogGang.com

เมืองทะเลทราย
Location :
Dubai   United Arab Emirates

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]

บทความทั้งหมด