ทศชาติชาดก เรื่อง พระมหาชนก ผู้ยิ่งด้วยวิริยบารมี ตอนที่ 19





ทศชาติชาดก
เรื่อง พระมหาชนก
ผู้ยิ่งด้วยวิริยบารมี ตอนที่ 19


จากตอนที่แล้ว พระมหาชนกได้เสด็จออกผนวชด้วยพระราชหฤทัยที่มั่นคง แต่ก็ถูกพระนางสีวลีเทวีและเหล่านางสนมใช้อุบายอันชาญฉลาดเข้าขัดขวางพระองค์ทุกวิถีทาง เพื่อรั้งให้ทรงอยู่เสวยเบญจกามคุณในราชสมบัติต่อไป

เมื่อพระโพธิสัตว์เจ้าเสด็จออกจากพระนครไปได้ระยะหนึ่ง ทรงหยุดพระดำเนิน แล้วหันมารับสั่งว่า “พวกท่านจงลงราชทัณฑ์แก่ผู้ที่ข้ามรอยที่เราจะขีดนี้” แล้วก็ทรงใช้ไม้ขีดเป็นรอยเส้นขนาดใหญ่ขวางทางเอาไว้ แล้วก็เสด็จดำเนินต่อไป มหาชนจึงไม่กล้าข้ามรอยขีดนั้นไป

พระนางสีวลีเทวีทอดพระเนตรเห็นพระโพธิสัตว์ทรงหันพระปฤษฎางค์เสด็จไปอย่างไม่อาวรณ์ ก็ไม่สามารถจะกลั้นโศกาดูรไว้ได้ จึงกันแสงจนล้มขวางทางกลิ้งเกลือกไปมา ทำรอยขีดนั้นให้เลอะเลือน ล่วงเลยรอยขีดนั้นแล้วก็ทรงลุกขึ้นเสด็จตามพระราชสวามีไป มหาชนเมื่อเห็นว่า รอยขีดนั้นหายไปแล้ว จึงรีบพากันตามเสด็จพระเทวีไปอีก

ในสมัยนั้น มีดาบสรูปหนึ่งชื่อนารทะ เป็นผู้ทรงอภิญญาสมาบัติ ได้เห็นด้วยทิพยจักษุว่า พระมหาชนกได้เสด็จออกผนวช แต่ไม่สามารถให้พระนางสีวลีเทวีและเหล่าข้าราชบริพาร กลับพระนครได้ กำลังได้รับความลำบากเกิดความกรุณาคิดจะช่วยเหลือ

ได้เหาะไปสถิตอยู่ในอากาศตรงเบื้องพระพักตร์ของพระโพธิสัตว์ แล้วกล่าวว่า “ประชุมชนนี้ส่งเสียงดังเหลือเกิน คนเหล่านี้เป็นพวกไหนหนอ เดินทางมากับท่านผู้เป็นสมณะ ทำเหมือนเล่นหยอกล้อกันอยู่ในบ้าน”

พระมหาสัตว์ตรัสตอบว่า “ประชุมชนนี้ตามข้าพเจ้ามา ข้าพเจ้าเป็นผู้ละจากพวกเขาแล้ว ล่วงเขตแดนคือกิเลสได้แล้ว เป็นผู้ไม่มีเหย้าเรือน เป็นผู้ไม่เจือด้วยความเพลิดเพลินทั้งหลาย ท่านก็รู้อยู่ จะถามทำไม ท่านไม่ได้ฟังข่าวบ้างหรือว่า พระมหาชนกทิ้งวิเทหรัฐออกบวช”

นารทดาบสต้องการให้พระโพธิสัตว์สมาทานมั่น จึงถวายข้อคิดว่า “พระองค์เพียงแต่ทรงเพศบรรพชิตนี้ จะสำคัญว่า เราข้ามพ้นกิเลสแล้วหาได้ไม่ กรรมคือกิเลสนี้ ไม่ใช่ว่าจะพึงข้ามได้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ เพราะยังมีอันตรายอยู่มาก”

พระโพธิสัตว์ตรัสว่า “ข้าพเจ้าไม่ได้ปรารถนาเฉพาะกามในมนุษยโลกที่บุคคลเห็นแล้วเท่านั้น ถึงแม้กามในเทวโลกที่บุคคลมองไม่เห็นก็ไม่ปรารถนา เพราะฉะนั้น อันตรายจะเกิดขึ้นกับข้าพเจ้า ซึ่งมีปกติอยู่ผู้เดียวอย่างนี้ ได้อย่างไร”

นารทดาบสกล่าวว่า “อันตรายมีมากทีเดียว คือ ความหลับ ความเกียจคร้าน ความง่วงเหงา ความขัดเคืองใจ ความเมาในอาหาร ความมัวเมาในสรีระและมัวเมาในที่อยู่อาศัย อันตรายเหล่านี้ยังมีอยู่ในพระองค์

...ดูก่อนสมณะ พระองค์เป็นผู้มีพระรูปงามน่าเลื่อมใส มีผิวพรรณผุดผ่องดุจทองคำ เมื่อพระองค์รับสั่งว่า อาตมภาพละราชสมบัติออกผนวช คนทั้งหลายจักถวายบิณฑบาตอันโอชาประณีตแก่พระองค์

...พระองค์ทรงรับพอเต็มบาตร เสวยพอควรแล้ว เข้าสู่บรรณศาลา บรรทม ณ ที่ลาดไม้ หลับกรนอยู่ ครั้นตื่นในระหว่าง ก็จะพลิกกลับไปกลับมา

...เมื่อถึงเวลาบำเพ็ญวัตร ทรงเหยียดพระหัตถ์และพระบาท ลุกขึ้นจับราวจีวร เกียจคร้าน ไม่จับไม้กวาดอาศรม ไม่นำน้ำดื่มมา บรรทมหลับอีก มัวตรึกถึงกามวิตก

...เมื่อเป็นเช่นนั้น พระองค์ก็จะไม่พอพระหฤทัยในบรรพชา อันตรายจะบังเกิดขึ้นกับพระองค์อย่างนี้แหละ...”



พระโพธิสัตว์ได้ฟังคำสอนอันเป็นมธุรวาจาของนารทดาบสแล้ว ก็ตรัสถามว่า “ข้าแต่ท่านดาบสผู้เจริญ คำสอนของท่านช่างประเสริฐแท้ ท่านพร่ำสอนข้าพเจ้า เหมือนมารดาสั่งสอนบุตรน้อย ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์ ท่านเป็นใครหนอ”

นารทดาบสกล่าวว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ชนทั้งหลายรู้จักอาตมภาพโดยนามว่า นารทะ โดยโคตรว่า กัสสปะ อาตมภาพมาหาพระองค์ เพราะรู้ว่า การสมาคมกับสัตบุรุษทั้งหลาย ยังประโยชน์ให้สำเร็จได้”


จากนั้น ก็ได้ถวายโอวาทเพื่อจะได้มีหลักในการบำเพ็ญสมณธรรมว่า “ขอพระองค์จงทรงยินดีในบรรพชานี้ ขอวิหารธรรมจงเกิดแก่พระองค์ กิจอันใดยังพร่องด้วยศีล ด้วยการบริกรรมและฌาน พระองค์จงทรงบำเพ็ญกิจอันนั้นให้บริบูรณ์ จงประกอบด้วยความอดทนและความสงบระงับ อย่าถือพระองค์ว่าเป็นกษัตริย์ จงทรงคลายออกเสียซึ่งทิฏฐิมานะ จงบำเพ็ญกุศลกรรมบถ วิชชาและสมณธรรม แล้วประพฤติพรหมจรรย์ด้วยความเคารพเถิด”



โอวาทของนารทดาบสนั้นไพเราะนัก แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เคยตรัสไว้ว่า

“สัตว์ผู้เกิดมาแล้ว พึงเป็นผู้มีสติทุกเมื่อ พึงเว้นขาดจากกามทั้งหลาย
ครั้นเว้นขาดกามเหล่านั้นแล้ว ก็จะข้ามโอฆะไปได้ เหมือนบุคคลวิดน้ำในเรือแล้ว ไปถึงฝั่ง ฉะนั้น”

การจะข้ามห้วงนํ้าคือโอฆะ เพื่อไปสู่ฝั่งพระนิพพาน อันเป็นเอกันตบรมสุขได้นั้น ต้องเอาชนะกิเลสประดุจธุลีทั้งหลายที่เป็นตะกอนนอนนิ่งอยู่ในขันธสันดานของตัวเราให้ได้ โดยเฉพาะกิเลส ๓ ตระกูลหลักๆ คือโลภะ โทสะ โมหะ เราจะต้องหมั่นขจัดให้หลุดล่อนออกไปจากใจ


ตามปกติแล้วกิเลสทั้งหลายสามารถฟูขึ้นและเกิดขึ้นในใจได้ตลอดเวลา เราจะต้องสำรวมระวัง และไม่ประมาท ไม่ย่อท้อในการบำเพ็ญจิตภาวนา แล้วสักวันหนึ่งก็จะสามารถข้ามโอฆะไปได้


พระบรมศาสดาได้ตรัสสอนไว้ว่า

“ผู้ใดกำจัดโลภะได้แล้ว ไม่โลภในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความโลภ
ความโลภย่อมหมดไปจากใจผู้นั้น เหมือนหยาดน้ำตกจากใบบัว

ผู้ใดกำจัดโทสะได้แล้ว ไม่โกรธเคืองในอารมณ์ที่น่าโกรธเคือง
โทสะย่อมตกไปจากใจผู้นั้น เหมือนผลตาลสุก หล่นจากขั้ว

ผู้ใดกำจัดโมหะได้แล้ว ไม่หลงในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความหลง
ผู้นั้นย่อมกำจัดความหลงได้ เหมือนอาทิตย์อุทัย ขจัดความมืดให้หมดไป ฉะนั้น”

ครั้นนารทดาบสถวายโอวาทแด่พระโพธิสัตว์เสร็จแล้ว ก็เหาะกลับไปยังที่อยู่ของท่านตามเดิม



จากนั้น ก็มีดาบสอีกรูปหนึ่งชื่อมิคาชินะ ซึ่งเพิ่งออกจากฌานสมาบัติกำลังตรวจดูโลก เห็นพระโพธิสัตว์เสด็จออกผนวช จึงเหาะมาปรากฏตนอยู่ในอากาศ เพื่อถวายโอวาทแก่พระโพธิสัตว์เพื่อประโยชน์จะให้มหาชนกลับพระนคร ดุจเดียวกับนารทดาบส


ครั้นได้สนทนาไต่ถามชื่อเสียงเรียงนามพอรู้จักกันแล้ว จึงได้ทูลถามสาเหตุของการบวชว่า “พระองค์ทรงละช้าง ม้า ชาวพระนครและชาวชนบทเป็นจำนวนมาก เพื่อออกผนวช ทั้งนี้ เพราะเหตุที่ชาวชนบท มิตร อำมาตย์และพระประยูรญาติ ได้กระทำความผิดต่อพระองค์ หรือว่าพระองค์ได้ประพฤติผิดต่อคนเหล่านั้น หรืออย่างไร จึงทรงละอิสริยสุข มาพอพระหฤทัยในการเที่ยวบิณฑบาต”

พระโพธิสัตว์ได้สดับคำถามถึงสาเหตุของการทรงออกผนวชด้วยอัธยาศัยไมตรี จากท่านมิคาชินดาบสแล้ว ก็ทรงชุ่มชื่นพระหฤทัย แต่พระองค์จะตรัสตอบอย่างไรนั้น โปรดติดตามตอนต่อไป

โดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

from dmc.tv



Create Date : 14 ตุลาคม 2550
Last Update : 14 ตุลาคม 2550 18:50:35 น.
Counter : 664 Pageviews.

0 comments
การหา เติมความมี ปัญญา Dh
(16 เม.ย. 2567 18:08:16 น.)
เรื่องนี้ไม่ง่าย แต่คนมักชอบอะไรที่มันง่ายๆ 121 235 เขาถาม - ตอบกัน 450 > คำถาม : ทำอย่างไ สมาชิกหมายเลข 7881572
(16 เม.ย. 2567 09:58:49 น.)
: หยดน้ำในมหาสมุทร 36 : กะว่าก๋า
(14 เม.ย. 2567 06:17:30 น.)
อยาก อยากได้ กฎที่ถูกที่ดี ปัญญา Dh
(14 เม.ย. 2567 05:37:27 น.)
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Desertcity.BlogGang.com

เมืองทะเลทราย
Location :
Dubai   United Arab Emirates

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]

บทความทั้งหมด