เตาแม่เหล็กไฟฟ้า... ทางเลือกในยุคประหยัดพลังงาน




อันเนื่องมาจากความฟุ้งซ่านปนบ้าเห่อ เมื่อวันเข้าพรรษาที่ผ่านมา ก็เพิ่งได้ฤกษ์งามยามดี สู่ขอเตาแม่เหล็กไฟฟ้ามาจากห้างใกล้ๆ บ้าน ใหม่ๆ ซิงๆ ยังไม่เคยผ่านมือชายใด
... ... (มันจะพูดจาสองแง่สามง่ามไปเพื่อ?) ... ...

อู้ว์วววววว์ ก็เล็งมานานเเป็นปีๆ แล้วนิ เล็งแล้วเล็งเล่าเฝ้าแต่เล็ง ก็ได้แต่มองอ่ะนะคะ ราคาเค้าสูงเหลือเกิน
ตะก่อนน่ะ 4 -6 พันบาท (!!) ไม่มีปัญญาอาจเอื้อมค่ะ แต่เดี๋ยวนี้ราคาถูกลงตั้งเยอะ
คือจริงๆ แล้ว ของแพงก็ยังแพงอยู่วันยังค่ำแหละค่ะ เพียงแต่ตอนนี้มันมียี่ห้อที่ถูกลงออกมาให้เลือกมากขึ้น ก็เท่านั้นเอง
ต่อมอยากซื้อก็เลยถูกกระตุ้นอีกแล้ว

แต่ก่อนจะสนองกิเลสตัณหาของตัวเองนั้น ศึกษาเกี่ยวกับเตาชนิดนี้ให้รอบด้านก่อนก็ดีนะคะ แหม... ถึงมันจะถูกลง แต่ก็ยังแพงอยู่ดีเมื่อเทียบกับเตาขดลวด (hot plate) อ่ะนะคะ

ว่าแล้วก็จิ้มเข้าไปสิในกูเกิ้ลน่ะ ได้ลิ้งค์มาเพียบทั้งภาษาไทยและอังกฤษ ทั้งข้อมูลเชิงบทความ เชิงวิชาการ รวมไปถึงความเห็นตามเวบบอร์ด
อ่านจนตาลาย แถมต้องมานั่งแปล Eng เป็น Thai แล้วเรียบเรียงคำศัพท์ทางไฟฟ้า ให้เป็นภาษาที่มนุษย์ธรรมดาเข้าใจได้ ... ก็ทำให้มันยุ่งยากเองอ่ะนะ
ถึงขนาดลงทุนย้อนอดีตแปลงร่างเป็นนักเรียน ม. ปลาย สายวิทย์ฯ งานนี้มีได้เสีย

ก็เพราะลงทุนศึกษาถึงขนาดนี้ ก็เลยอยากเอามาแบ่งปัน เล่าสู่กันฟังบ้างอ่ะค่ะ
(ทีตอนทำงานไม่เห็นจะมุ่งมั่นแบบนี้เลยนิ หะ หะ...)




ในญี่ปุ่นจะเรียกเตาชนิดนี้ว่า Induction Heater ใช้สัญลักษณ์ IH


ก่อนอื่น สิ่งแรกที่จะขออธิบายหลักการการทำงานของเตาแม่เหล็กไฟฟ้า (หรือเตาเหนี่ยวนำไฟฟ้า, induction heater หรือ induction cooker) ในแบบเข้าใจง่ายสุดๆ สำหรับผู้หญิงที่ตกวิชาฟิสิกส์ก็แล้วกันนะคะ
... (จุ๊ๆ.. ... ตกจริงๆ แหละ คะแนนต่ำจนอาจารย์ไม่กล้าติดประกาศคะแนนที่บอร์ดก็แล้วกัน เหอๆๆ รู้แล้วก็ช่วยเหยียบไว้ด้วยเน้อ... เค้าอายเป็นเหมือนกันนะตัว) ...


Induction Cooker แปลตรงๆ ว่า เตาเหนี่ยวนำไฟฟ้า ค่ะ
ซึ่งมีความสามารถในการก่อให้เกิดความร้อนได้โดยการสร้างสนามแม่เหล็กไฟฟ้า ร่วมกับการถ่ายเทกระแสแม่เหล็กไฟฟ้าระหว่างวัตถุ (ภาชนะ)
โดยอันดับแรกจะต้องสร้างสนามแม่เหล็กไฟฟ้าให้เกิดขึ้นซะก่อน อาศัยหลักการทางฟิสิกส์คือ เมื่อปล่อยกระแสไฟฟ้าสม่ำเสมอไหลผ่านขดลวดที่ขดเป็นวงๆ ซ้อนๆ กัน (solenoid) จะทำให้เกิดสนามแม่เหล็กไฟฟ้าขึ้นได้
ดังนั้น ในตัวเตาชนิดนี้จึงมีขดลวดอยู่ภายในตัวเครื่องเพื่อเป็นแหล่งกำเนิดสนามแม่เหล็กไฟฟ้า



เมื่อเราปล่อยกระแสไฟฟ้าเข้าไปในขดลวดจะเกิดการเหนี่ยวนำให้เกิดสนามแม่เหล็กความถี่สูง (high-frequency electromagnetic field) ขึ้น (หมายเลข 1 ในภาพ) ซึ่งจะเห็นว่า ลักษณะสนามแม่เหล็กมันเป็นลูป (loop ; ครบวง) กินบริเวณทั้งในเครื่อง และผิวหน้าเตา
การที่สนามแม่เหล็กวิ่งวนนี้เอง เมื่อเราเอาภาชนะเหล็ก (ที่สามารถเหนี่ยวนำกระแสแม่เหล็ก ... พูดง่ายๆ ก็คือ แม่เหล็กดูดติด) ไปวางไว้บนหน้าเตา จะทำให้มีกระแสแม่เหล็กไฟฟ้าวิ่งผ่านก้นภาชนะ (หมายเลข 2) แล้วไหลลงไปสู่สนามแม่เหล็กข้างล่างเตาอีกที วนไปอย่างนี้เรื่อยๆ เกิดการถ่ายเทกระแสวิ่งระหว่างภาชนะเหล็ก (ก้นหม้อ) กับสนามแม่เหล็ก (ใต้เตา) นี้เอง ซึ่งจะก่อให้เกิดความร้อนขึ้น
ผลก็คือ ทำให้หม้อร้อนไงล่ะ (หมายเลข 3)



ในทางกลับกัน ถ้าเราวางของอย่างอื่นที่ไม่นำกระแสแม่เหล็ก (เช่น อลูมิเนียม, โลหะผสมอื่นๆ ที่มีเหล็กเป็นส่วนประกอบ, พืชผัก, น้ำแข็ง หรือแม้แต่มือเราเอง) มันก็จะไม่ก่อให้เกิดความร้อนขึ้น
ดังเช่นตัวอย่างในภาพ เราสามารถต้มน้ำในหม้อจนเดือดได้โดยที่ก้อนน้ำแข็งที่วางอยู่บนผิวเตาไม่ละลาย !!




แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น แม้ว่าโดยหลักการจะไม่เกิดความร้อนที่ผิวหน้าเตา แต่ก็ไม่ควรเอามือไปจับหน้าเตาเล่นขณะใช้งานนะคะ เพราะความร้อนจากภาชนะที่ปรุงอาหารมันสามารถถ่ายเทมาที่ผิวหน้าเตาได้บ้างอยู่ดี อย่าทำเป็นเล่นไป (ฮึ่ม!)



ส่วนรายละเอียดในแง่การประหยัดพลังงานนั้น เมื่อเราทราบหลักการสร้างความร้อนที่อธิบายข้างต้นแล้ว จะเห็นว่า ความร้อนที่เกิดขึ้นแทบจะไม่มีการสูญเสียให้สิ่งแวดล้อมเลย เพราะความร้อนจะเกิดโดยตรงที่ตัวภาชนะ ไม่ได้แผ่ความร้อนขึ้นมาจากหน้าเตาเหมือนเตาถ่าน เตาแกสและเตาขดลวดไฟฟ้าเหมือนที่เราคุ้นเคย
ดังนั้น จึงไม่มีการแผ่ความร้อนส่วนเกินออกมาข้างๆ เตาทำให้มีการนำพลังงานไปใช้ได้อย่างคุ้มค่าจริงๆ อินเทรนด์ในยุคประหยัดพลังงานดีจังค่ะ

(เครดิตข้อมูลและภาพประกอบบางส่วนจาก theinductionsite.com, eclubthai.com และ physics.science.cmu.ac.th ค่ะ)




Create Date : 15 กรกฎาคม 2552
Last Update : 23 กรกฎาคม 2552 15:52:41 น.
Counter : 3866 Pageviews.

6 comments
สุวินทวงศ์ 47 : นกตีทอง ผู้ชายในสายลมหนาว
(1 พ.ย. 2567 10:05:42 น.)
กาพย์เห่เรือ ฝีพาย และการฝึกซ้อม กาบริเอล
(31 ต.ค. 2567 14:46:47 น.)
ความจริง 8 ประการ 八个真相 toor36
(25 ต.ค. 2567 21:57:49 น.)
กรมประชาสัมพันธ์ : นกแซงแซวสีเทา ผู้ชายในสายลมหนาว
(17 ต.ค. 2567 12:44:21 น.)
  
สวัสดีจ้ะ หายไปนานเลยเน๊อะ ทำบล็อกน่ารักอีกแล้ว
สีสันเข้ากันดีค่ะ
ที่แคนาดาก็เรียกเตาแบบนี้ว่า Induction
ร้อนเร็ว ประหยัดไฟดีนะคะ
โดย: fleuri วันที่: 23 กรกฎาคม 2552 เวลา:10:41:35 น.
  
หายไปหัดทำบล๊อคนั่นแหละค่ะ คุณเหมี่ยว
แค่บทเรียนที่คุณเหมี่ยวสอนไว้ หล้ายังศึกษาไม่หมดเลย มันก็ยังงงงงอยู่ค่ะ
แต่จะพยายามต่อไปค่ะ กว่าจะได้สีบล๊อคถูกใจแบบนี้ก็งมจนเมื่อยไหล่ไปหมด 555

ปล. ชอบเตา IH มากเลยค่ะ ตอนนี้กลายเป็นขวัญใจประจำ (ครอบ) ครัวไปแล้ว ร้อนเร็ว และประหยัดจริงๆ ซะด้วย (แต่ที่เมืองนอกเค้าฮิตกันมานานแล้วนี่เนอะ)
โดย: LeaDGlasS วันที่: 23 กรกฎาคม 2552 เวลา:14:32:41 น.
  
ประหยัดพลังงาน น่าใช้จัง
ราคาประมาณไหนคะ
เผื่อไปสู่ขอมาบ้าง
โดย: นวลกนก วันที่: 23 กรกฎาคม 2552 เวลา:17:47:35 น.
  
ตอบคุณนวลกนก::
ราคามีตั้งแต่ 1 พันต้นๆ ไปจนถึง 6 พันกว่าๆ ค่ะ (พูดถึงเตาเดี่ยวนะคะ)
แต่เท่าที่ดูๆ มา หล้าว่าเตาราคาประมาณ 2 - 3 พัน กำลังดีค่ะ สำหรับ 1 - 2 คน (ถ้าคนเยอะ น้ำหนักอาหารเวลาปรุงก็จะมาก หน้าเตาต้องรับน้ำหนักเพิ่ม ก็ตัองใช้ตัวที่ราคาสูงขึ้นไปอีกนิดค่ะ)

ลองดูยี่ห้อที่ไว้ใจได้นะคะ ฟังก์ชั่นสัก 6 - 8 ฟังก์ชั่นกะลังดีค่ะ

โดย: LeaDGlasS วันที่: 23 กรกฎาคม 2552 เวลา:19:45:28 น.
  
สวัสดีคะเพื่อนๆ
โดย: นู๋จิ๊บ IP: 115.67.76.73 วันที่: 19 ตุลาคม 2552 เวลา:17:54:01 น.
  
กำลังหาอยู่ว่าจะใช้เตาแบบไหนดี ก็เลยมาหาความเห็นจาก กูรู
โดย: ป้าจวง IP: 113.53.63.239 วันที่: 30 ตุลาคม 2552 เวลา:14:01:55 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Delizio.BlogGang.com

LeaDGlasS
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]