หมอไทยสมัยนี้ ไร้ "จรรยาบรรณ" ให้สังคมหรือว่าสังคมสมัยนี้ ไร้ "ที่ยืน" ให้กับเรากันนะ ....


“หมอไทยสมัยนี้ ไร้ "จรรยาบรรณ" ให้สังคมหรือว่าสังคมสมัยนี้ ไร้ "ที่ยืน" ให้กับเรากันนะ”

//www.pantip.com/cafe/social/topic/U11656487/U11656487.html


บทความนี้ยาวหน่อยนะคับ แต่รับรองว่าจะพยายามเขียนให้เห็นภาพ น่าติดตาม และไม่เบื่อไปซะก่อนนะคับ

เหตุผลที่หมอไทยในโรงบาลรัฐบาลและโรงบาลชนบทกำลังน้อยลงไป ทุกวันๆๆๆๆๆๆ

1. งานหนักมว้าก.......

วันก่อนอ่านเจอคำพูดประโยคหนึ่ง โดนใจเรามาก
"คนทั่วไปมักจะพูดกันว่า เป็นหมอ งานสบาย เงินดี แต่แปลกนะ ที่กลับไม่มีใครเคยได้ยินคำพูดเหล่านั้นออกจากปากของคนเป็นหมอเลย"
เป็นประโยคที่อ่านแล้วเจ็บจี๊ดๆมาก

จิงคับ ภาพของอาชีพเราในมุมมองของคนอื่นๆ คือ งานออฟฟิศ นั่งโต๊ะ เงินเดือนเป็นแสนๆ

แล้วในความเป็นจริงล่ะ....
ถ้าเราบอกว่า อยากเห็นหมอวิ่งไปวิ่งมาตรวจคนไข้ไหม ลองไปดูตามโรงบาลชุมชนที่ขาดแคลนหมอดูสิคับ

ถึงตรงนี้ สิ่งที่เราทำได้คงเอาเรื่องที่เกิดขึ้นจิงๆ กับการเป็นหมอของเรามาเล่าให้ทุกคนฟังนะคับ
เราเพิ่งเรียนจบมาใหม่ๆ ปีแรกทำงานใช้ทุนอยู่ที่โรงบาลจังหวัด ตอนนี้ขึ้นปีที่สองออกมาอยู่โรงบาลชุมชน
โรงบาลที่เราทำงานตั้งอยู่ในจังหวัดขนาดเล็กแห่งหนึ่ง ที่ตอนนี้ภาพรวมของจังหวัดถือว่าหมอขาดแคลนมากๆๆๆๆๆ
โรงบาลอำเภอในจังหวัดเรา มีหมอ 1-2 คนทุกอำเภอ (ยกเว้นโรงบาลอำเภอขนาดใหญ่ 90 เตียง อยู่อำเภอนึงที่มีหมอ 4 หรือ 5 คนนี่แหละ)
โรงบาลเพื่อนเราอยู่ติดถนนทางหลวงสายเอเชีย มีอุบัติเหตุ เมาหัวทิ่มแหกโค้งกันแทบทุกวัน หน้ายับ นอนแน่นิ่งกันมาบ่อยๆ มีหมอ 2 คนคับ ถามจิง คิดว่าเพื่อนเรา จะเอาอยู่ หรอคับ
โรงบาลที่เราอยู่ล้อมรอบด้วยภูเขา 360 องศา มีน้ำตกใกล้ๆ3 แห่ง ตอนเช้าๆอากาศเย็นสบาย หมอกลงยังกะอยู่ปายเลยทีเดียว อยู่ห่างจากถนนใหญ่ 30 กิโล และ ไม่มีเซเว่นคับ
โรงบาลเราตอนนี้มีหมอ 2 คนคับ กับประชากรในอำเภอที่ต้องดูแลประมาณ 30,000 คน ถ้าถามว่างานหนักไหม ก็คงตอบได้ว่ารัดตัวคับ คือ
พอไหว ตรวจคนไข้ทั้งวัน และลาไปไหนแทบไม่ได้เลย ถ้าหมอคนนึงลา ก็แปลว่าอีกคนต้องดูคนไข้ทั้งโรงบาลคนเดียวนะคับ ถ้าให้ดีโรงบาลเรา ควรจะมีหมอซัก 3 คนคับ
บางทีไข้ ไอ เจ็บคอ ไข้ 39 c ก็ต้องฝืนไปตรวจทั้งๆอย่างนั้นล่ะ บางทีพี่พยาบาลยังแซวเลยว่า ไม่รู้ว่าหมอกับคนไข้ คนไหนดูอาการแย่กว่ากัน กันแน่
แล้วการเป็นหมอก็แปลว่าต้องอยู่เวรคับ คือโรงบาลนะคับ ไม่ว่าจะกี่โมงกี่ยาม ก็ต้องมีหมอที่ตามได้ 1 คน ตลอดเวลาทั้ง 24 ชั่วโมงคับ โรงบาลเรามีหมอ 2 คนก็ต้องอยู่เวรเดือนละ 15 วันคับ
แล้วคำว่าอยู่เวรของเรา ไม่เหมือนอาชีพอื่นนะคับ ที่คนที่มาอยู่เวรกลางคืน คือคนที่ได้ไปนอนมาตอนกลางวัน
กลางวันเราก็ทำงานทุกวันตามปกติคับ 8 โมงเช้า - 4 โมงเย็นคับ แต่ 4 โมงเย็นถึง 8 โมงเช้า เรากับพี่หมอ อยู่กันคืนเว้นคืน คับ
แถมงานเราไม่ใช้โอทีนะคับ ที่คืนไหนนึกจะพักก็ลาหายไปได้เฉยๆ ถ้าเราคิดจะไม่อยู่เวร เราก็ต้องวางแผนหาหมอมาอยู่แทนล่วงหน้าอย่างน้อย 2-3 วันแล้วคับ
ต่อให้สุดวิสัยแค่ไหน ถ้าไม่มีหมอมาแทน ก็ไปไหนไม่ได้นะคับ

ในช่วงกลางวัน เราเริ่มไปดูผู้ป่วยใน 8 โมง มีเต็มที่ 30 เตียงๆ นึงก็ 5-10 นาที เสร็จแล้วก็ไปดูผู้ป่วยห้องฉุกเฉินครับ แล้วก็ไปดูห้องคลอดคับ
บางวันมีคลินิกอุลตร้าซาวนด์ บางวันมีคลินิกโรคเรื้อรังคับ
แน่นอนครับว่า ผู้ป่วยนอกเป็นที่สุดท้ายที่เราไปถึง มองไปเห็นสายตาคนไข้กว่าร้อย ที่ส่งสายตาสงสัยว่าทำไมหมอมันมาเอาป่านนี้คับ
ระหว่างที่เรากำลังตรวจผู้ป่วยนอกอยู่ บางทีเราก็ถูกห้องฉุกเฉินตาม บางทีห้องคลอดก็ตาม บางทีผู้ป่วยในก็ตาม
ถ้าคุณยังไม่เคยเห็นหมอวิ่งไปวิ่งมาในโรงบาล เพื่อรีบไปตรวจคนไข้ ก็ลองมาดูได้นะคับ อิอิ
พอตกเย็น หลังจากตรวจคนไข้เหนื่อยมาทั้งวันเราก็อยู่เวรต่อคับ
ข้อดี คือ หมอที่อยู่โรงบาลชนบทจะไม่ต้องอยู่เฝ้าห้องฉุกเฉินตอนกลางคืนตลอดเวลา
เพราะ เค้ารู้ว่าเทพมาจากไหนก็อยู่ไม่รอดครับ หมอก็คนนะคับ ไม่นอนทั้งเดือน หมอก็ตายได้เหมือนกันนะคับ
เวรกลางคืนจึงสามารถให้พี่พยาบาลที่ผ่านการอบรมรักษาโรคทั่วไปตรวจแทนได้ แต่จะตามหมอเมื่อเป็นผู้ป่วยที่เป็นโรคที่เกินกว่าความสามารถที่พี่พยาบาลจะดูแลได้คับ
แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่าจะสบายทุกคืนนะครับ บางคืนเราอาจจะโดนตามทุกชั่วโมง หลับๆตื่นๆทั้งคืน เช้าก็ไปทำงานต่อก็มีคับ
บางครั้งเรายังแซวพี่หมอเล่นเลยว่า โรงบาลเรามีหมอ 2 คน แต่มีพี่ยามผลัดกันอยู่เวร 3 คนนะ (พี่ยามอยู่เวรเฉพาะกลางคืนด้วยคับ)
สรุปแล้วเดือนๆ นึงเราอยู่เฝ้าโรงบาลมากกว่าพี่ยามอีกนะเนี่ย ^^
(ไม่แปลกเลยที่มีใครบางคน จะชอบเรียกตัวเองว่า ยามเฝ้าโรงพยาบาล อิอิ)

ฟังดูเหนื่อยหรือเปล่าคับ แล้วถ้าเราบอกว่า
ตอนช่วงปลายปีที่ผ่านมา พี่หมอที่ทำงานด้วยกันกับเรามีเหตุสุดวิสัยต้องคลอดบุตร ลาคลอด 3 เดือน ล่ะคับ
ถามว่าผิดไหม ถ้าคนเป็นหมอจะป่วยได้ หรือญาติจะเสีย เพื่อนสนิทจะแต่งงาน บ้านจะน้ำท่วม หรืออย่างกรณีนี้ คือ พี่หมอจะคลอดลูกคับ
มันไม่ใช่ความผิดของพี่หมอเลยนะคับ ที่จะมีลูกซักคนหลังจากที่แต่งงานกันมาหลายปี แล้วก็ต้องลาคลอดไป 3 เดือน ไอ้เราจะไปห้ามไม่ให้พี่หมอคลอดก็คงไม่ได้ใช่ไหมคับ
แต่ก่อนที่พี่หมอจะลาคลอด ก็ได้พยายามช่วยเหลืออย่างเต็มที่น้าคับ ติดต่อสาธารณสุขจังหวัด ขอหมอโรงบาลอื่นมาช่วย สอนงานการเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลให้
แต่ก็อย่างที่เราบอกไปตอนแรกล่ะคับ ว่าโรงบาลข้างเคียงในจังหวัดเราก็ขาดหมอกันทั้งนั้น จะยืมหมอมาช่วยก็แปลว่า เค้าก็ต้องลำบากอีกเหมือนกันคับ
เราก็จะยืมหมอมาได้บ้าง แต่ไม่ตลอดคับ บางช่วงเราก็ต้องอยู่โรงบาลเองคนเดียวไปครึ่งเดือนทั้งอย่างนั้น อย่างช่วงคร่อมปีใหม่ที่ผ่านมา
เราอยู่โรงพยาบาลคนเดียว 10 กว่าวันรวดเลยน้าคับ เหนื่อยและล้ามากเลยคับ
ปัญหาของการเป็นหมอผู้เล่นตัวจริงคนเดียวของโรงบาลก็ คือ เราต้องเป็นทั้งหมอ และ ผอ.โรงบาลในคนเดียวกันคับ
จากที่บอกมาแล้วว่า งานหมออย่างเดียว เราก็วิ่งวุ่นทั้งผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน ห้องฉุกเฉิน ห้องคลอด และต้องอยู่ 24 ชั่วโมงติดต่อกันคนเดียวไปเรื่อยๆ จนจะเป็นลมอยู่แล้ว
แต่เรายังต้องเป็นผอ.โรงบาลด้วยอีกต่างหากคับ ผอ.มือใหม่แกะกล่องเลยคับ
อยากให้เข้าใจว่าการเรียนหมอ 6 ปี เราไม่เคยเรียนงานบริหารน้าคับ จะงานพัสดุ ธุรการ การเงิน อะไร เราก็ไม่เคยรู้เรื่องมาก่อนทั้งนั้นล่ะคับ แต่อยู่ๆ ก็ต้องเป็นผอ.จำเป็น ขึ้นมากะทันหัน
โอ้ว พระเจ้าจอร์จมากคับ ความรู้สึก คือ เหมือนเอาช่างไม้มาตัดผม เอาหมอฟันมาสร้างบ้าน อะไรประมาณนั้นเลยคับ
มีคนเคยบอกว่า เอาหมอคนนึงไปเป็น ผอ. ก็เหมือนกับ "เสียหมอดีๆ ไปคนนึง แล้วได้ผู้บริหารห่วยๆ มาคนนึง" เราเห็นด้วยอย่างแรงเลยคับ
โชคดีที่พี่ๆ ในโรงบาลที่ทำงานด้วยทุกคน ซื่อสัตย์ นิสัยดี ยินดีช่วยเหลือ เราถึงรอดมาได้นะคับ
(แอบขำ ตอนเข้าประชุมกรรมการบริหารโรงบาลครั้งแรก พอเรานั่งแล้วทุกคนในห้องก็เงียบกริบ เราเลยต้องถามพี่ที่นั่งข้างๆว่าเป็นประธานการประชุม
เราต้องทำอะไรบ้างคับ พี่เค้าถึงบอกว่า หมอก็ว่าเริ่มไปทีละข้อตามเอกสารวาระประชุม นั้นล่ะ เราเลยเริ่มประชุมกันไปได้ 55)

ถามว่า การเป็นผอ.ต้องทำอะไรบ้าง วันๆนึงก็เซ็นเอกสารเป็น สิบๆแฟ้ม เซ็นเช็ค อนุมัติโครงการ (ต้องตรวจเอกสารก่อนอีก) แก้ไขปัญหาในโรงบาล (การฟ้องร้อง บุคลากรขัดแย้งกัน)
ไปจนถึงงานทั่วไปแบบเซ็นเบิกน้ำมันรถ ตรวจรับอาคารที่สร้างใหม่ จัดซื้อจัดจ้างเครื่องมือแพทย์เข้าโรงพยาบาล
เอ่อ เอาจิงๆ งานพวกนี้ไม่เคยคิดเคยฝันว่าจะต้องมาทำ พูดได้คำเดียวว่า เอ๋อรับประทานไปเลยคับ
ถามว่า เอาเวลาไหนมาทำ ก็ตอนพักกินข้าวเที่ยงไงคับ กับหลังตรวจคนไข้เสร็จสี่โมงเย็นไงครับ หรือบางวันเคลียร์ไม่ทันจิงๆ เราเอาเอกสารมาตั้งหลังห้องตรวจ
พอจังหวะที่คนไข้ที่ตรวจเสร็จหันหลังเดินออกจากห้อง ระหว่างรอคนไข้คนใหม่เดินเข้ามาถึงที่นั่งตรวจ มีเวลาดูเอกสารตั้งเกือบ สิบวินาทีเลยนะ จิงๆ
ช่วงที่มีหมอจากโรงบาลข้างๆมาช่วย ก็จะสบายกว่านี้หน่อยนะคับ แต่ก็วิ่งไปวิ่งมาทั้งวันอยู่ดีล่ะ
บางครั้งเราก็แอบลำบากใจ เวลาทำงานกลางวัน มี 8 ชั่วโมงเหมือนกันทุกวัน
แต่งานทั้งสองอย่างเป็นงานที่เวลาซ้อนทับและต้องทำในเวลาเดียวกันแต่ เราไม่สามารถทำทั้งสองอย่างพร้อมกันได้คับ
ถ้าเราเลือกที่จะไปเคลียร์งานบริหาร หรือ ไปประชุม
ก็เท่ากับทิ้งงานตรวจคนไข้ให้เพื่อนหมอที่มาช่วยจากโรงบาลอื่น คนไข้ที่รอตรวจก็ต้องรอนานขึ้น บางวันคนไข้ก็ล้นเลย ก็ดูเป็นหมอที่แย่อีก
แต่พอเราตรวจคนไข้ทั้งวัน ไม่ไปเข้าประชุมเลย หรือ อนุมัติเอกสารและเช็คไม่ทัน ก็กลายเป็นว่าเราเป็นผอ.โรงบาลที่แย่อีก
มันรู้สึกแย่นะ เพราะปกติเราเป็นคนที่ยอมรับไม่ได้ถ้ารู้สึกว่าตัวเองกำลังทำงานน้อยกว่าคนอื่น รับไม่ได้ถ้าคนอื่นจะรู้สึกว่าโดนเราเอาเปรียบ
คือ ปกติจะพยายามทำงานให้มากกว่าคนอื่นตลอดเวลา อยากให้คนที่ทำงานด้วยรู้สึกว่าทำงานสบาย
แต่พอเจออย่างนี้ ยอมรับว่า "เอาไม่อยู่" จิงๆคับ ถ้าเวลาทำงานกลางวัน มี 16 ชั่วโมงแม่มไปเลยดีมะ จะได้ทำงานทั้งสองอย่างได้เต็มที่ไปเลย
อย่าลืมนะ ว่าที่เราเล่ามา คือ 8 ชั่วโมง ที่เป็น "กลางวัน"
แล้ว "กลางคืน" ล่ะ ..... ก็อยู่เวรอีก 16 ชั่วโมงไงคับ
กลางเดือนมกราที่ผ่านมานี้ พี่หมอสงสารเรา กลัวเราจะไม่ไหว เลยไม่ลาคลอดต่อ กลับมาช่วยงานตรวจคนไข้ตอนกลางวัน
แต่ค่ำคืนเดือนมกรา 31 วันก็ยังเป็นชื่อเราอยู่เวรกลางคืนทั้งเดือนนะ อิอิ (เพื่อนเราถามว่า จะมีตารางเวรไปทำไมนะ 55)

ยัง.. ยังไม่หมดนะ ยังมีงานคุณภาพโรงบาลให้เราทำอีกต่างหาก เราเข้าใจนะ เราอยากให้โรงบาลของเรามีคุณภาพ แต่ถ้าเราต้องทำงานเอกสารอะไรๆมากขึ้นทั้งๆที่ตรวจคนไข้ไม่ทันอยู่แล้ว
มันจะทำให้โรงบาลของเรามีคุณภาพขึ้นจิงๆ หรือเปล่านะ คือ ในความเห็นของเรา ...
งานคุณภาพโรงบาลเป็นหลักการที่รัฐไปลอกมาจากเอกชน ซึ่งหมอและเจ้าหน้าที่มีเวลาเหลือเฟือ ครวจคนไข้วันละ 20-30 คน จะเขียนยืดยาวแค่ไหนก็ได้
แต่กับเราที่ตรวจคนไข้วันละ 100-200 คน มีเวลาตรวจคนไข้แค่ 3-5 นาทีต่อคน ยิ่งเราเขียนนานแปลว่า เรามีเวลาตรวจคนไข้น้อยลงนะคับ
คือ มันอาจจะมองเห็นเป็นชิ้นงานให้ตรวจสอบได้ดีอยู่หรอกคับ แต่เรารู้นะว่าหมอโรงบาลชุมชนทั่วประเทศคิดเหมือนกันจิงๆนะ ว่า
ที่จิงแล้วมันอาจจะทำให้คุณภาพการตรวจของเราแย่ลงด้วยซ้ำนะคับ
ก่อนที่จะเอางานคุณภาพลงมาทำจิงๆจังๆ แบบนี้ ช่วยเพิ่มหมอให้พอก่อนได้มั้ยคับ นะ นะ



2. งานมันเป็นงานรับผิดชอบสูง ไม่มีเวลาเป็นของตัวเองนะคับ

ขี้เกียจอธิบายมาก เล่าเรื่องจิงของเราให้ฟังเลยละกันจะได้เห็นภาพง่ายขึ้น

- ปีที่แล้วอยู่โรงบาลจังหวัด เคยมีอยู่วันนึง ไม่ได้กินข้าวเลย 24ชั่วโมง เรื่องมีอยู่ว่า วันนั้น....
ข้าวเช้าไม่ได้กิน ปกติไม่กินอยู่แล้วกลัวเสียเวลานอน กะว่าตั้งเวลาปลุกแบบที่ว่าตื่น อาบน้ำแล้วไปทำงานเลย
ข้าวเที่ยงก็ไม่ได้กิน เพราะ ตอนกลางวันดูคนไข้ในอายุรกรรม 2 ชั้น 100 กว่าเตียงกลัวจะตรวจคนไข้ไม่ทัน
เพราะ 4 โมงเย็นต้องรีบไปอยู่เวรห้องฉุกเฉินอีก ก็เลยตรวจคนไข้ต่อเนื่องไปเลยไม่ได้พักเที่ยง
ข้าวเย็นก็ไม่ได้กิน เพราะ วันนั้นเป็นวันอะไรไม่รู้ คนไข้ห้องฉุกเฉิน 4 โมงเย็นถึงเที่ยงคืนเยอะมาก ตรวจตลอดเวลา
ขนาดระหว่างเตียงลัดเวลาด้วยการวิ่งไปตรวจ ยังตรวจไม่ทันเลย
สรุปวันนั้นข้าวเช้า ได้กินโจ๊กหน้าธนาคารกรุงศรีฯ ตอนตีหนึ่ง(ของอีกวัน) คับ หิวโคตรๆ
(เดี๋ยวมีคนถามอีกว่าทำไม 24 ชั่วโมง คืนก่อนหน้านั้นก็ออกจากเวรไปกินตอนตี 1 เหมือนกันคับ)

- วันก่อน ขี่มอไชต์ออกไปกินข้าวแกงหน้าโรงบาลตอนเที่ยง ตักกินได้คำนึง พี่พยาบาลโทรมาบอกว่า "หมอ มีลุงอายุ 50+ปี ไปเดินเขาทำปืนลั่นเข้าหลังตัวเองด้านขวา ช็อค ความดัน 60/30"
คือ ถ้าเรากินต่อ คงไข้เราคงตายอะ ก็เลยทิ้งข้าว บึ่งมอไซต์กลับโรงบาล กว่าจะใส่ท่อปอด คุมอาการช็อค ส่งตัวโรงบาลจังหวัดเสร็จ ก็บ่ายโมงกว่า กลับไปอีกที มดขึ้นข้าวหมดเลย
ป้าเจ้าของร้านบอกว่า คนที่หมอทิ้งข้าวไปช่วย เป็นญาติป้าเอง แกเลยตักให้ใหม่ แถมข้าวเหนียวถั่วแดงถ้วยขนาดยักษ์พิเศษให้ด้วยถ้วยนึง ซึ้งใจดีจัง
ตอนนี้คุณลุงก็กลับมาแข็งแรงเหมือนเดิมแล้ว ทำงานได้ปกติ วันก่อนยังเจอคุณลุงแกอยู่เลย อิอิ

- บางทีอยู่เวร เราก็กลับมานอนพักบ้านพักแพทย์ ปวดอึก็เลย เข้าห้องน้ำ กำลังนั่งอึ๊อยู่ พี่พยาบาลโทรตามแต่โทรเข้าเบอร์บ้าน
โทรศัพท์ก็อยู่ในห้องนอน จะไม่ รีบไปรับก็ไม่ได้ ไม่รู้เป็นผู้ป่วยโรคอะไร เกิดเป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน เดี๋ยวแย่เลย
ก็เลยขมิบตูดให้ขี้ขาดกลาง (จิงๆนะ) แล้ววิ่งออกไปรับโทรศัพท์ในห้องนอน ในสภาพล่อนจ้อน ท่อนล่างเปลือยเปล่า ไข่ห้อยโทงเทง >> บอกได้คำเดียวว่า อุบาทว์มาก 55

- ถ้าถามว่า เคยไม่ได้นอนติดๆกันเลยสูงสุด กี่ชั่วโมง ก็คงเป็นตอนเรียนปี 6 ออกไปฝึกงานจริง เคยไม่ได้นอนติดต่อกันประมาณ 60 ชั่วโมง
แต่ถ้าถามว่าเคยอยู่เวรติดๆกันมากที่สุดกี่วัน คำตอบคือ อยู่ 24 ชั่วโมงติดกัน 18 วัน 17 คืนคับ (ตอนเดือนมิถุนาปีที่แล้ว)
ถ้าถามว่า เคยหลับในไหม เคยเอาหูฟังแปะหน้าอกคนไข้แล้วหลับเผลอไปทั้งอย่างนั้นประมาณ 10 วินาทีคับ
เคยหลับไปทั้งที่มือกำลังเขียนชื่อตัวเองในใบรับรองแพทย์ที่เขียนให้คนไข้อยู่คับ
(ประเทศออสเตรเลียมีกฎห้ามหมอทำงานต่อเนื่องกันเกิน 8 ชั่วโมง เพราะ เค้าวิจัยแล้วว่า
หมอที่ทำงานติดต่อกันนานเกินไปจะมีระดับการคิดและตัดสินใจเทียบเท่ากับคนที่มีแอลกอฮอล์ในเลือดเหมือนคนที่กินเหล้ามาโดนเป่าจับอะ
สงสัยถ้าเราไปทำแบบนี้ที่ออสเตรเลียโดนโทษประหารชีวิตไปแล้วล่ะมั้ง)

- แฟนโทรมาร้องไห้กับเรา กำลังปลอบๆ อยู่ โทรศัพท์โทรตามเข้ามา เราก็ต้องบอกแฟนว่า "เดี๋ยวพี่รับโทรศัพท์ห้องฉุกเฉินแปบนะ เด๋วเสร็จแล้วพี่จะรีบโทรกลับ ขอโทษจิงๆนะ" แล้วก็วางหู
รู้สึกตัวเองเป็นแฟนที่แย่มากเลย ให้เวลาคนที่เรารักไม่ได้ในเวลาที่เค้าต้องการ เพราะ ต้องเป็นห่วงคนที่เราไม่รู้จัก แถมยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเป็นใคร แต่จะไม่รับโทรศัพท์ก็ไม่ได้ กลัวคนไข้ตายอีก
เคยแต่งกลอนให้แฟนด้วย
"รักจะมีแฟนเป็นหมอต้องทำใจ ภาระงานอันยิ่งใหญ่ใช่ห่างเหิน หากเว้นว่างเวรน้อยใหญ่ให้อยู่เกิน อยากจะเดินเคียงข้างเธอทุกเวลา" >> แอบเน่าหน่อยนะ อิอิ

- พ่อไปทำงานต่างจังหวัด ไกลจากโรงบาลที่เราทำงาน 500 กิโล วันนึงตอน 4 ทุ่ม โทรไปหาพ่อ เราถามพ่อว่าทำอะไรอยู่
พ่อเงียบไปและพูดว่า "อยากกระโดดน้ำตาย" จังหวะนั้นเราเครียดกินเลยคับ
ตอนนั้นอยู่โรงบาลคนเดียว ใจอยากจะบึ่งรถออกจากโรงบาลตอนนั้นเลย แต่จะทิ้งโรงบาลไปทั้งอย่างนั้นก็ไม่ได้ ถ้ามีคนไข้มาโรงบาลแล้วตาย เพราะ โรงบาลไม่มีหมอ ถ้าเราเป็นญาติ
เราจะรู้สึกยังไง สิ่งแรกที่ทำคือ โทรไปบอกแม่เตรียมตัวเก็บของ สิ่งที่สองที่ทำคือ ติดต่อพี่หมอ และหมอโรงบาลข้างๆ ขอหมอมาอยู่เวรแทนให้เร็วที่สุด คือ ตราบใดที่ยังไม่มีคนมาแทน
เราจะออกไปจากโรงบาลไม่ได้นะคับ โรงบาลที่อยู่ใกล้ที่สุด อีกที่คืออีก 30 กิโลนะคับ ตอนนั้นสติกระเจิงจิงๆคับ ทำอะไรไม่ถูกเลย
ขอบคุณเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ หมอจากโรงบาลอื่นทุกคนที่มาช่วยผลัดกันอยู่เวรในวันที่เราไม่อยู่นะคับ
ขอบคุณที่ทำให้เรามีเวลาสละจากการดูแลคนที่เราไม่รู้จัก ไปช่วยชีวิตพ่อตัวเองคับ ขอบคุณจิงๆคับ

- โรงบาลที่เราทำงาน กับเมืองที่แฟนกับครอบครัวของเราอยู่ ถ้าเราอยากไปหา เราต้องขับรถไปกลับ 200 กิโลคับ
ถ้าเราเกิดนึกคึก อยากไปกินข้าวเย็นกับแฟนในช่วงวันจันทร์ถึงศุกร์ เราก็ต้องออกจากโรงบาล 4 โมงเย็นคับ ขับไป 100 กิโล กินข้าวเสร็จ ดูหนัง เที่ยงคืนขับรถกลับถึงโรงบาลตี1ครึ่งคับ
หรือถ้าวันไหนไปนอนบ้านอยู่กับครอบครัว ตื่น 6 โมงเช้า ขับรถกลับถึงโรงบาล 8 โมงทำงานต่อเลยคับ
อย่าลืมนะคับว่าเราอยู่เวรวันเว้นวัน วันที่เราขับรถไปกลับ 200 กิโล คือวันที่คืนก่อนหน้านั้นนอนไม่พอและคืนต่อไปจะนอนไม่พอนะคับ
(เพื่อนหมอรุ่นผมเสียชีวิตไปแล้วหนึ่งคน เพราะ หลับในเนื่องจากขับรถหลังจากคืนที่อยู่เวร ขอให้เธอไปสู่สุคตินะคับ)

- งานเทศกาล วันหยุดความสุขสันต์ทั้งหลาย ไม่ใช่จะได้ไปกับเค้านะคับ
ปีที่ผ่านมา สงกรานต์เราก็อยู่เวรรวด 5 วันคับ ปีใหม่เราก็อยู่เวรรวด 16 วันคับ
วันที่ทุกๆคน ฉลองกันอย่างมีความสุข เรานั่งอยู่โรงบาลคับ รอเค้าฉลองเสร็จ เมาทะเลาะกัน ตีกัน ขับรถแหกโค้งกันมาคับ
คอนเสริตเพื่อชีวิต หรือ ร็อคๆ มาจัดในจังหวัด เราก็นั่งภาวนาคับ พวกมันจงเป็นสุขเป็นสุขเถิดอย่าได้ตีซึ่งกันและกันเลย เดี๋ยวลำบากเราอีก
วันที่คนเกือบทั้งประเทศได้พักผ่อน นั่งนับถอยหลังกับคนที่ตัวเองรัก กินเหล้ากับเพื่อนๆ คือ วันที่งานเรายุ่งมากคับ
วันปีใหม่ แทนที่เราจะไปหาพ่อแม่ กลายเป็นว่า พ่อแม่ต้องมาหาเราที่โรงบาลคับ
เฮ้ออออออ....

ถ้าให้เรานิยามล่ะก็ "หมอเป็นอาชีพที่ไม่มีเวลาเป็นของตัวเองครับ จะกิน ขี้ เยี่ยว นอนก็ไม่เป็นเวลา และต้องสละเวลามีความสุขกับคนที่ตัวเองรักให้กับการดูแลคนที่เราไม่รู้จักครับ"

3. งานของเรากดดันมากนะคับ ถ้าถามเรา สาเหตุของความกดดัน คือความคาดหวังและการฟ้องร้องคับ

- ความคาดหวังก็เกิดจาก นโยบายสาธารณสุขไงคับ ที่ทำให้เกิดแนวคิดที่ว่า "ไปโรงบาลสมัยนี้ฟรี ไม่ต้องเสียตัง แถมบริการดี ขออะไร ให้ทุกอย่างเลย (ไม่ให้ก็ฟ้องแม่มเลย)"
คือ ปกติตามหลักเศรษฐศาสตร์ ของแพงมักจะดี และ ของฟรีมักจะแย่ นะคับ
แต่นโยบายรัฐมีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า บอกว่าไปโรงบาลฟรี ไม่เสียตัง แต่กลับมีแนวคิดที่คนฟ้องโรงบาลถ้าขอตรวจอะไรแล้วไม่ได้อะคับ
สรุปคือ ฟรีแล้วยังดีอีกด้วยคับ เพื่อนเรามันบอกว่าระบบสาธาฯไทย รัฐให้สัญญากับประชาชน "อเมริกันสแตนดาร์ดในต้นทุนพม่า" คับ
อีกเรื่องนึงที่กดดันเราก็คือ คนไข้ที่ต้องตรวจในแต่ละวันมีเป็นร้อย มีเวลาตรวจคนละ 3-5 นาทีคับ (หมออังกฤษตรวจคนไข้วันละ 10-20 คนก็บ่นเหนื่อยแล้วคับ)
คนที่นั่งรอข้างหน้า คิดว่าหมอตรวจช้าจัง อู้อยู่รึเปล่า คนที่หมอกำลังตรวจ คิดว่าหมอตรวจเร็วจัง ไม่ละเอียดหรือเปล่า
คือ มันลำบากนะ ฟรีแต่ขออะไรได้หมด กับ เร็วแต่ละเอียดเนี่ย เราก็พยายามเต็มที่นะ แต่ก็มีคนที่ยังไม่พอใจเราอยู่เนืองๆแหละคับ
ถ้าจะเปรียบเทียบ มันก็เหมือน เจ้านายคุณให้กระดาษ A4 มาใบนึง แล้วบอกให้คุณไปตัดกระดาษมายังไงก็ได้ ให้ได้แผ่นใหญ่ที่สุดและจำนวนเยอะที่สุด
หรือ ลูกค้าคุณให้คุณขับรถไปส่ง โดยบอกให้คุณขับยังไงก็ได้ให้ถึงที่หมายเร็วที่สุดและปลอดภัยที่สุด ..
เป็นคุณๆจะเครียดมั้ยคับ ทำยังไงก็โดนว่าอยู่ดี เฮ้อ...

- การฟ้องร้อง คงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เสียแล้วที่หมอปัจจุบันและอนาคตจะต้องเจอ
คือ เราไม่ได้บอกว่า ห้ามฟ้องหมอนะคับ แต่เราอยากให้ฟ้องในกรณีที่ควรอะคับ เช่น ไม่สนใจ ไม่ดูแลคนไข้ก็ว่าไป
แต่ถ้าหมอดูแลอย่างสุดความสามารถและเต็มที่ทุกอย่างแล้ว เราคิดว่ากรณีแบบนี้ไม่ควรฟ้องนะคับ
ถึงหลายๆคนจะบอกว่า ถ้าทำถูก ทำดี จะกลัวฟ้องไปทำไม โดนฟ้องยังไงก็ชนะ แล้วคิดมั้ยล่ะคับ ว่า
สภาพจิตใจ ของคนที่วันๆนึง อยู่แต่โรงบาล ไปไหนไกลก็ไม่ได้ กินไม่เป็นเวลา นอนหลับๆตื่นๆ โดนตามทั้งคืน ไปดูแลคนที่เราไม่รู้จัก
แต่ ไม่รู้จะโดนคนที่เราพยายามช่วยนั้นหันมาฟ้องเข้าเมื่อไหร่ มันท้อนะคับ

เอาจิงๆ แล้วตั้งแต่ การฟ้องร้องหมอเริ่มบูมขึ้นมา เราคิดว่าหมอดีๆ ที่โดนฟ้อง มีมากกว่าหมอที่ไม่ดีนะคับ
เวลาหมอชนะคดีมักจะไม่เป็นข่าวหรอกคับ แต่เวลาหมอแพ้คดีทีไร ดังทั้งประเทศทุกทีเลยคับ
รู้ไหมคับว่า จนตอนนี้มีหมอดีๆ ถูกฟ้องร้องให้เสียกำลังใจในการทำงานไปเท่าไหร่ต่อเท่าไหร่แล้ว
ลองคิดดูตามนี้นะคับ
หมอที่ไม่ดี มักจะรู้วิธีหลบหลีกการฟ้องร้อง เลือกตรวจแต่คนไข้โรคไข้หวัด โรคทั่วไป ไม่ตรวจคนไข้หนักๆ อุบัติเหตุ หัวใจหยุดเต้น
พอเห็นรถมูลนิธิวิ่งเข้าโรงบาลก็จะเดินหลบหายไป รอหมอคนอื่นเข้าไปตรวจ
หมอที่ดีๆ มักจะรักษาคนไข้ทุกคนที่มาโรงบาลโดยไม่สนใจ ไม่เคยเกี่ยงว่าคนไข้จะเป็นคนไข้หนัก เป็นคนไข้อุบัติเหตุ หรือญาติตีหน้าไม่พอใจ ทำหน้าเหมือนจะฟ้องมาแต่ไกลก็ตาม
สมมติว่าโรงบาลแห่งหนึ่ง มีหมอสามคน มีคนไข้มาตรวจวันละ 200 ครั้ง หนึ่งปีจะมีคนไข้ให้ตรวจประมาณ 70,000 กว่าครั้ง (200 x 365)
และถ้าสมมติให้หมอตรวจคนไข้ 1000 ครั้ง มีโอกาสผิด 5 ครั้ง (สมมติให้อัตราเท่ากันทั้งหมอดีหมอแย่ ที่จิงหมอแย่มีแนวโน้มจะหนีคนไข้ที่อาการหนักเสี่ยงฟ้องร้องมากกว่า)
หมอคนแรกตรวจคนไข้ทั้งวัน ทำงานทั้งปี ไม่เคยลาป่วย ลากิจ ลาพักผ่อนเลย ตรวจคนไข้ 50000 ครั้ง >> จะตรวจผิดพลาด 250 ครั้งในปีนั้น
หมอคนที่สองตรวจคนไข้แบบมาๆ ไปๆ แว้บบ่อยๆ ลาไปเที่ยวต่างประเทศเดือนละครั้ง ตรวจคนไข้ 20000 ครั้ง >> จะตรวจผิดพลาด 100 ครั้ง ในปีนั้น
หมอคนที่สามมีชื่อแปะไว้ในตำแหน่งโรงบาล วันๆนึงอยู่แต่คลินิก หรือไปทำธุรกิจขายตรงอยู่ ไม่เคยมาตรวจคนไข้เลย ตรวจคนไข้ 0 ครั้ง >> จะตรวจผิดพลาด 0 ครั้ง ในปีนั้น
อ่านตรงนี้จบแล้ว คนไข้รู้หรือยังครับว่าหมอคนไหนโดนฟ้อง แล้วหมอทั้งประเทศรู้หรือยังคับ ว่าทำยังไงเราถึงจะไม่โดนฟ้อง
เราให้เขาทั้งกายใจ เขาให้การฟ้องร้องเรากลับมาไงคับ เศร้าใจจัง
เหมือนสำนวนฮิตติดปากไงคับ "คนที่ไม่เคยผิดพลาด คือ คนที่ไม่เคยทำอะไรเลย"
"หมอที่ไม่เคยผิดพลาด ก็คือ หมอที่ไม่เคยตรวจคนไข้เลย" เหมือนกันคับ

ความรู้ทางการแพทย์มันซับซ้อนนะคับ เป็นความรู้ที่ดิ้นได้ มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เวลาเรียนจบ หมอจะได้ไปประกอบโรคศิลป์คับ
ไม่ใช่ใบประกอบโรควิทย์นะคับ เพราะ ศาสตร์แห่งการตรวจและรักษา มันเป็น Art คับ Art ตัวแม่เลยคับ ไม่ใช่ science ล้วนๆอย่างที่หลายคนเข้าใจคับ
คนไข้ที่มาด้วยอาการแบบเดียวกันเป๊ะๆ 100 คน สามารถเป็นโรคที่ต่างๆกันไปได้ถึง10โรค ยกตัวอย่างเช่น คนไข้ที่มาด้วยปวดท้องขวาล่าง
สามารถเป็นได้ตั้งแต่โรคธรรมดาพื้นๆ ไม่อันตรายเช่น ฉี่ติดเชื้อ ลำไส้อักเสบ ปวดcyst นิ่วในท่อไต
ไปจนถึงโรคที่อันตรายถึงชีวิตถ้าไม่ผ่าตัด อย่างเช่น ไส้ติ่งอักเสบ ท้องนอกมดลูก เป็นต้น ทำให้การวินิจฉัยนั้นบางครั้งค่อนข้างลำบาก
โดยเฉพาะถ้าเป็นโรคระยะแรกๆ ที่อาการไม่ชัดเจน เราก็ต้องรักษาโดยคิดถึงโรคที่เป็นได้มากที่สุดก่อน แล้วค่อยตามดูอาการครับ
คนไข้ที่เดินเข้ามาอาจจะมีอาการเหมือนในหนังสือเป๊ะๆ หรือ เป็นอาการแบบเดิมที่เราเจอมาเป็นครั้งที่ร้อย ก็ไม่ได้แปลว่า
จะต้องเป็นโรคนั้นที่เราคิดเสมอไปนะครับ ดังที่อาจารย์แพทย์จะกรอกหูพวกเราเสมอว่า "ไม่มีสิ่งใดแน่นอน 100% ใน medicine"
เวลาที่เราคิดว่าผู้ป่วยเป็นอะไร ให้คิดโรคที่อาจเป็นได้อีกสาม-สี่โรคเผื่อไว้เสมอ
แถมโรคบางโรคนั้นอันตราย เสี่ยงต่อการฟ้อง เจอได้น้อยมากในคนที่มีอาการแบบเดียวกัน และดันไม่มีวิธีตรวจยืนยันแบบง่ายๆซะอีกครับ
ขอยกตัวอย่าง มะเร็งในกระเพาะแล้วกันนะครับ

"กระเพาะอักเสบ : มาด้วยอาการแสบแน่นลิ้นปี่ บางคนแน่นขึ้นอก บางคนคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย"
"มะเร็งในกระเพาะ :มาด้วยอาการแสบแน่นลิ้นปี่ บางคนแน่นขึ้นอก บางคนคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย"

ใช่ครับ ในคนไข้ที่เดินเข้ามาหาเราด้วยอาการปวดแน่นลิ้นปีวันละสิบยี่สิบคน ในคนไข้เหล่านั้น เราตรวจซักเดือนสองเดือน
จะมีคนไข้ที่จิงๆแล้วเป็นมะเร็งในกระเพาะแอบอยู่ซัก 1คนคับ แต่อาการคือมาแบบเดียวกันเป๊ะๆเลยคับ
(บางคนก็บอกว่า มะเร็งก็น่าจะคลำได้ก้อนสิ ก้อนมันไม่จะเป็นต้องยื่นออกมาด้านนอกกระเพาะนี่ครับ เวลาตรวจเราก็ไม่เคยเอาแขนล้วงลงไปในคอคนไข้ซะด้วย)
วิธี่ที่จะบอกว่าเป็นหรือเปล่าก็มีอยู่ แค่ส่องกล้องกับ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์เจอ (แต่เอกซเรย์ทั่วไปไม่เห็นนะคับ เห็นแต่ลมกลมๆดำๆในกระเพาะ)
มันจะหนักใจหมอตรงที่ว่าเคสไหนเราควรจะส่งไปส่องกล้องนะสิครับ อย่างเช่น จังหวัดเรามีหมอศัลย์ส่องกล้องได้อยู่สามคน แต่มีคนที่มีอาการแบบนี้หลายหมื่นคน
เราก็คงไม่ส่งไปส่องกล้องทุกคนจิงมั้ยครับ เราก็เลือกเป็นรายๆไป อย่างเช่น แก่มาก มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งกระเพาะมาก่อน
ถ้าดูแล้วเสี่ยงเราก็ส่งให้เลย แต่ถ้าเป็นคนทั่วไป เราก็รักษาดูก่อน คนไหนที่กินยาแล้วกินยาอีกยังไม่ดีขึ้น จัดเป็นความเสี่ยงข้อนึงครับ ให้ส่งไปส่องกล้องได้เลย
อันนี้คือตามหนังสือเรียนจริงๆนะครับ แต่ในความเป็นจริงก็คือ กับคนที่ปวดท้องมาแบบนี้ พอเราให้ยารักษาไปปุ๊บ พอไม่ดีขึ้นก็ไปอีกโรงบาลนึง ไม่ดีขึ้นก็ไปที่คลินิค
พอเจอหมอคนใหม่ หมอทุกคนก็ทำตามหลักครับ ถ้าไม่มีความเสี่ยงก็รักษาก่อนถ้าไม่ดีขึ้นค่อยส่งไปส่องกล้อง สุดท้ายเปลี่ยนหลายๆที่เข้าก็ไปลงที่โรงบาลเอกชน
โรงบาลเอกชนส่องกล้องทีนึงเรียกตังเป็นหมื่นครับ จะเสี่ยงไม่เสี่ยงเค้ายินดีจะส่องกล้องให้คุณอยู่แล้ว พอส่องเจอปุ๊บ แจ๊คพ็อตก็ลงกับหมอโรงบาลแรกๆไงคับ
เราตรวจคุณตามเกณฑ์นะคับ ตามหนังสือเรียนเลยคับแต่สุดท้าย เราก็กลายเป็นหมอที่ว่า
"เนี่ย ชั้นไปโรงบาลสั่งแต่ยากระเพาะมาให้ ต้องไปตรวจโรงบาลเอกชน ไม่งั้นไม่รู้นะเนี่ยว่าตัวเองเป็นมะเร็ง (พยายามลดระดับความรุนแรงของการด่าให้แล้วนะคับ)"
เราอยากให้มีใครซักคนคิดค้นวิธีตรวจมะเร็งกระเพาะที่ง่ายกว่านี้มากๆเลยคับ

ปัญหาสำหรับหมอตอนนี้ ก็คือ สังคมมีทางออกให้กับหมอที่ตั้งใจรักษาคนไข้อย่างเต็มที่และถูกต้องที่สุดเท่าที่เขาจะทำได้ ณ เวลานั้นแล้วแต่ก็ยังโดนฟ้องร้องแล้วหรือยังครับ
การเอาการวินิจฉัยและรักษาที่เกิดขึ้นไปแล้วมาดูและวิจารณ์ภายหลังว่าตรงนี้ผิด ตรงนั้นผิดโดยที่รู้อยู่แล้วว่าคนไข้เป็นโรคอะไร กับคนที่อยู่ ณ เวลานั้นจิงๆ กับคนไข้ที่กำลังจะตาย
แต่มีโรคให้คิดในสมองได้ 4-5 โรค แถมการรักษาโรคนั้นที่คิดถึงได้มันขัดแย้งกันเอง ถ้ารักษาผิดทางคนไข้จะตาย มันไม่เหมือนกันคับ
บางครั้งจะรอผลการตรวจบางอย่างให้แน่ใจขึ้นสักนิดก่อนว่าคนไข้เป็นโรคอะไร กลับกลายเป็นถูกฟ้องว่าให้ยาคนไข้ช้าไปก็เลยมีผลข้างเคียงก็มีคับ
เราก็ไม่รู้นะว่า คนทั่วไปเค้าจะรู้บ้างหรือเปล่าว่า
คนที่มาเป็นหมอเนี่ย เราไม่ได้เป็นไอสไตน์กลับชาติมาเกิดคับ เราไม่ได้ทำข้อสอบได้ 100 คะแนนเต็มทุกวิชามาตั้งแต่ ป. 1- ม. 6 นะคับ
เราคือ คนที่ได้ 80-90 กว่าคะแนนตอนที่นั่งเรียนหนังสืออยู่ข้างๆคุณสมัยประถมและมัธยมคับ
แล้วคุณคิดว่าการเรียนหมอ 6 ปี จะทำให้เรากลายเป็นเทพเจ้าผู้รักษาคนไข้ได้ถูกต้องร้อยทั้งร้อยคนเลยรึเปล่าครับ
เรากล้าพูดนะครับว่า ต่อให้อาจารย์หมอ หรือแม้แต่หมอที่เขียนตำราแพทย์ที่หมอยึดปฏิบัติกันทั่วโลกก็ตาม
ก็ไม่มีหมอคนไหนกล้าพูดหรอกครับว่า ตัวเองรักษาคนไข้ได้ถูกต้อง 100% ไม่มีผิดพลาดเลย
แต่ตอนนี้สังคมห้ามเราผิดพลาดเลย ถ้าทำไม่ได้ร้อยคะแนนเต็มแปลว่าเราต้องติดคุกหรอคับ

ถ้าเปรียบคนไข้เป็นการสอบ วันๆนึง คนไข้ที่เดินเข้ามาก็จะมีทั้งข้อที่ยากและง่ายแตกต่างกันไป
แต่คนไข้ที่หมอพลาด มักจะเป็นข้อสอบโอลิมปิก หรือ ข้อโจทย์ยาวๆที่ให้เวลาเราทำแค่ 2 นาที
เรารู้ว่าอ่านมาถึงตรงนี้จะเริ่มมีคนด่า เราแล้วว่าเอาชีวิตคนไข้ไปเปรียบกับข้อสอบได้ไง
เราขอโทษคับแต่เราก็เป็นหมอคนนึงที่เห็นชีวิตคนอื่นสำคัญกว่ากระดาษข้อสอบเหมือนคุณล่ะคับ แต่ที่เล่ามาคือต้องการให้เห็นภาพเท่านั้นเอง ขอโทษจิงๆคับ

ปัญหาอีกอันเลยที่ทำให้หมอถูกฟ้องร้อง คือ ปริมาณหมอไม่เพียงพอคับ บางครั้งได้อ่านข่าวแล้ว ข่าวบอกว่าหมอโดนฟ้อง เพราะหมอไม่ได้อยู่เฝ้าคนไข้ตลอดเวลา
อ่านแล้วเราก็คิดเหมือนกันว่า วันดีคืนดี เราเองก็คงต้องถูกฟ้องแบบนั้นเข้าสักวันล่ะมั้ง คือ งานเรามันไม่ได้ล้นมือแบบธรรมดาคับ มันล้นมือมากนะคับ
ยกตัวอย่างที่เราเล่าไปข้างต้นคับ ถ้าวันที่เราอยู่เฝ้าโรงบาลอำเภอคนเดียว มีคนไข้ผู้ป่วยใน 30 คน คนไข้ห้องฉุกเฉิน 10 กว่าคน คนไข้ห้องคลอด 4 คน คนไข้ผู้ป่วยนอกอีก 100 กว่าคน
และทุกห้องที่ว่ามามันไม่ได้อยู่ตึกเดียวกันหมดนะคับ ใครจะบอกเราทีได้ไหมคับ ว่าเราควรจะนั่งเฝ้าคนไข้ตรงไหน เราถึงจะไม่โดนฟ้องคับ ถ้ามันเกิดเหตุสุดวิสัยพร้อมกันขึ้นมาจิงๆ
คนไข้ที่อยู่คนละตึก อาการหนักกำลังจะตายพร้อมกัน ซึ่งมันก็เคยเกิดขึ้นกับเรามาแล้ว
คนนึงเราไปดูสั่งการรักษาใกล้ชิด อีกคนต้องโทรสั่งพี่พยาบาลให้ทำตามทางโทรศัพท์คับ ในใจก็เตรียมใจไว้ว่าถ้าเป็นอะไรไปจะโดนฟ้องมั้ยนะ แต่เราก็ต้องทำใจคับ
(โชคดีที่คนไข้กรณีนี้เข้าใจเราคับ เราเลยไม่โดนฟ้องคับ)
แต่ถ้าเราโดนฟ้องนะ เราจะไปฟ้องมหาลัยแพทย์คับ ฟ้องที่ไม่สอนวิชานินจาแยกเงาพันร่างให้เราก่อนจบหมอ ทำให้วันนึงจบมาเราต้องโดนฟ้อง ดีมั้ยคับ แล้วที่
เราบอกว่าเราอยู่เวร 24 ชั่วโมงเกือบทั้งเดือนมกราเนี่ย ใจคอคุณจะให้เรานั่งห้องฉุกเฉินทั้งวันทั้งคืนติดกันทั้งเดือน แบบไม่ต้องไปนอนพักเลยจิงๆหรอคับ
แต่งานที่เราทำมันเกี่ยวกับชีวิตคนนะ ถ้าเรานอนไม่พอ ก็เท่ากับเพิ่มโอกาสตรวจผิดพลาดนะคับ ผิดพลาดแล้วจบที่ไหนล่ะคับ ก็โดนฟ้องอีกไงล่ะคับ
ถ้าอยากได้หมอที่ตรวจได้ทั้งวันทั้งคืน แล้วยังไม่ผิดพลาดเลย ไปเอามาจากหนังเรื่อง real steel ดีกว่าไหมคับ

บางครั้งเราก็คิดเหมือนกันนะว่า ถ้าวันนึงเราเห็นคนประสบอุบัติเหตุรถคว่ำอยู่ข้างทาง แล้วเราจอดรถลงไปช่วยเหลือเขา
ช่วยชีวิตเบื้องต้น หยุดห้ามเลือดไว้จนเขารอดจากอาการเลือดออกช็อคตาย แต่อีก 7 วันให้หลังเขาตายด้วยสาเหตุติดเชื้อจากบาดแผล
อาจเพราะการทำแผลริมถนนมันคงจะไม่สะอาดดีพอ เราจะโดนฟ้องไหม ถ้าเขารู้ว่าคนที่ไปช่วยเขา เป็นหมอ หรือ ไม่เป็นหมอ
มันจะต่างกันหรือเปล่า อย่าคิดว่ามันเป็นไปไม่ได้นะคับ อย่าบอกว่าถ้าเราเข้าไปช่วยเพราะหวังดี ยังไงก็ไม่ถูกฟ้องคับ
วันก่อนมีหมอคนนึงถูกฟ้อง ทั้งๆที่เกิดจากการเข้าไปดูคนไข้ฉุกเฉินทั้งที่ไม่ได้อยู่ในเวรหรือ ความรับผิดชอบของตนเอง แต่ถ้ารอช้ากว่านั้น ถ้ารอหมออีกท่านที่กำลังตรวจคนไข้อื่นอยู่
คนไข้อาจจะแย่ได้ สุดท้ายคนไข้ก็ไม่รอดคับ หมอที่เข้าไปช่วยก็ถูกฟ้องคับ
เหตุการณ์ 2 อย่างนี้ต่างกันตรงไหนคับ ต่างกันที่ เหตุการณ์ เกิดขึ้น "นอกโรงบาล" กับ "ในโรงบาล" หรอคับ
คิดอย่างนี้ทีไร น้อยใจในความเป็นหมอทุกทีเลยคับ


4. นโยบายของรัฐ ซึ่งเข้าสู่สมัยประชานิยม หรือยุคแจกเงินและของฟรี

- นโยบายประกันสุขภาพถ้วนหน้า >> ก่อนจะด่า ก็ต้องชมก่อนใช่มะ ตามหลัก อิอิ หากพูดถึงข้อดีของมันก็คงเป็นเรื่องการเข้าถึงบริการของประชาชนคับ
นึกถึงภาพสมัยก่อนที่ลุงหมอเล่าให้ฟังว่า แม่อุ้มเด็กไข้ ยืนร้องไห้หน้าห้องฉุกเฉินแต่ไม่เข้ามาตรวจเพราะไม่มีตัง ลุงหมอเลยต้องออกเงินให้ ถึงจะยอมเข้ามาตรวจนะคับ
นโยบายนี้ก่อให้เกิดข้อดีที่เหตุการณ์แบบนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก >> ปัญหาก็คือ คุณไม่ให้เราเก็บตังคนไข้ แล้วคุณให้เงินโรงบาลต่างๆ เพียงพอต่อค่ารักษาหรือเปล่าคับ
ตอนนี้โรงบาลอำเภอรอบๆ มีหนี้เฉลี่ยโรงบาลละ 5-10 ล้าน โรงบาลจังหวัดมีหนี้เฉลี่ยประมาณ 100 ล้าน โรงบาลมหาลัยยังติดหนี้เป็น 1000ๆ ล้าน
ถ้าคุณบอกว่าเราโกหก เราก็อยากเห็นนะว่า ตัวเลขจิงๆ มันแย่กว่านี้ขนาดไหน ถ้าเปิดเผยให้ประชาชนทั่วไปรู้ได้จะดีมากเลยคับ
ถามว่าทำไมถึงเป็นหนี้ ก็เงินทุนที่ให้มามันไม่พอกับค่ายา ค่ารักษาไงคับ
ยกตัวอย่าง งบประมาณผู้ป่วยนอก รัฐบาลจะจ่ายเงินให้โรงบาลโดยนับเอาตามหัวประชากรกลางปีในพื้นที่นั้นๆนะคับ แล้วให้เหมามาเป็นเงินก้อน ตกประมาณ 2000 กว่าบาทต่อคนต่อปี
เอ่อ คิดว่าเงิน 2000 กว่าบาทเพียงพอต่อการใช้รักษา คนไข้คนนึงทั้งปีหรอคับ
เอาง่ายๆเลยนะคับ ค่ายาลุงๆป้าๆ บางคนมาเอายาเบาหวาน ไขมัน ความดัน หัวใจ ตับ ไต กลับไปเดือนนึงเป็นถุงๆ นะคับ
เรายังแซวคนไข้บ่อยๆ เลยว่า ของลุง นี่กินยาอย่างเดียวไม่ต้องกินข้าวก็อิ่มแล้วนะเนี่ย
2000 กว่าบาทที่ให้มา เอาไปซื้อยาคูลท์ให้ลุงๆป้าๆ กินวันละขวด 365 วันยังเกือบไม่พอเลยคับ
เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ที่คนไข้ชอบขอกันตอนอยู่ห้องฉุกเฉินโรงบาลจังหวัด ครั้งนึง 3000-4000 บาทนะคับ
ปกติเราจะส่งให้ทำตามข้อบ่งชี้และอาการของโรคคับ แต่เดี๋ยวนี้มีข้อบ่งชี้ใหม่ไงคับ คือ
ถ้าไม่ให้ทำแล้วคนไข้ ขู่จะฟ้องโรงบาล เราก็ยินดีทำให้ทันทีเลยคับ หมอเดี๋ยวนี้ส่วนใหญ่เราไม่เสี่ยงหาเรื่องถูกฟ้องโดยไม่จำเป็นแล้วคับ
อยากให้รู้ว่า การขอเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เกินกว่าจำเป็นครั้งนึงเท่ากับใช้เงินค่ารักษาที่รัฐจ่ายให้คุณใช้รักษาทั้งปีของคุณกะ ของเมียคุณไปแล้วคับ
อย่าคิดมากเลย ก็เงินภาษีที่ทุกคนจ่ายนะแหละ ใช่เงินหมอเงินพยาบาลเองซะที่ไหนล่ะคับ

เราเข้าใจคับว่านโยบายนี้ตั้งอยู่บนหลักการที่ว่า ถ้าโรงบาลไม่อยากเจ๊ง ก็พยายามสร้างเสริมสุขภาพ มากกว่ารักษาโรคสิ
จะได้มีคนไข้ส่วนนึง เราได้เงินค่าหัวมาฟรีๆ แต่คนไข้ไม่มาโรงบาลเลยทั้งปี
แล้วความเป็นจริงล่ะคับ คนไข้เข้าถึงบริการง่าย บางคนมาหาหมอด้วยอาการไข้มา 5 นาที ใช้ปรอทวัดไข้ก็ไม่ขึ้น ตรวจก็ไม่เจออะไร
บางคนบอกว่า พอดีไหนๆก็ขับรถพาเพื่อนมาหาหมอแล้วก็เลยแวะเข้ามาหาหมอสักหน่อย
บางคนบ้านน้ำท่วมก็เลยขอมานอนโรงบาลคับ ไม่มีงานทำ ไม่มีข้าวกินก็มาขอนอนโรงบาลคับ
หลังๆมีกองทุนหมู่บ้านนอนโรงบาลได้ตังคืนละ100 บาทอีก พอจะสิ้นปีลุงๆป้าๆ มาขอนอนโรงบาลกันล้นเลยคับ กลัวเสียสิทธิ์
แล้วหลักการที่ว่ามันจะใช้ได้ยังไงล่ะคับ
จิงๆแล้วเราคิดจิงๆนะว่า การที่ระบบสาธารณสุขของไทยยังไม่ล้มนี่ น่าจะไปยื่นเสนอจดทะเบียนขอเป็น สิ่งมหัศจรรย์ลำดับที่ 8 ของโลกจิงๆคับ

- เงินที่ค้างจ่ายค่ากันดารของเรากับค่าเสี่ยงภัยเพื่อนๆเรา ที่เค้ายอมไปเสี่ยงระเบิดไปอยู่ 3 จังหวัดชายแดน เมื่อไหร่เราจะได้คับ
รัฐบาลบอกไม่มีตังจ่าย ขอค้างไว้ก่อน หมอๆ เราก็ "โอเค ได้ๆ" นั่งก้มหน้าก้มตาทำงานกันต่อไป คุณก็ขอผลัดมาเรื่อยๆ
กุมภาที่แล้ว >> มีนา >> เมษา >> พฤษภา ตอนนี้ค้างมาจะครบปีแล้วนะคับ
เราไม่รู้ว่าเพื่อนหมอคนอื่นที่ออกไปอยู่โรงบาลไกลๆ ได้ค่ากันดารกันเท่าไหร่ แต่ที่ๆเราอยู่เป็นกันดารระดับ 3 (สูงสุด) เงินที่ค้างมันเป็นเงินก้อนใหญ่นะคับ
ถ้าอยากให้เราเตือนล่ะก็ ตอนนี้รัฐบาลค้างเงินผม 310,000 บาทแล้วคับ
ถ้าเป็นอาชีพอื่น เจ้านายค้างตัง ไม่จ่ายเงินเป็นแสนๆ คงประท้วงหยุดงาน หรือ ฟ้องร้องบริษัทไปแล้วใช่ไหม แล้วอาชีพเรามันทำได้ไหมล่ะ
ถ้าเราประท้วงหยุดงานทั้งประเทศ แล้วคนไข้ที่เราดูอยู่ไม่ตายกันหมดหรอคับ
เรารู้นะ ว่า คุณเอาชีวิตประชาชนเป็นตัวประกัน คิดว่าไม่ว่าคุณจะปฏิบัติกับเรายังไง เราก็ทิ้งคนไข้ที่เราดูแลอยู่ไม่ได้ใช่ไหม ถึงทำกับเราแบบนี้
ทุกครั้ง ที่หนังสือแจ้งมาที่โรงบาลว่า รัฐบาลไม่มีเงินจ่าย ให้ค้างไว้ก่อน มาเรื่อยๆ ทุกเดือนๆ แล้วเราดูในทีวี มีการแจกเงินนู้น แจกเงินนี้ ลดนู่นลดนี่ ทุกครั้งเราคิดนะคับ
อ้าว ไหนว่า ไม่มีตังจ่ายค่ากันดารค่าเสี่ยงภัยเราฟะ >> แล้วคุณจะค้างเราไปถึงเมื่อไหร่ ชาตินี้เราจะได้ไหม หรือคุณจะเผาส่งไปให้เราใช้ทีหลังหรอคับ
มีนานี้เราจะต้องจ่ายภาษีอีกแสนสาม ทั้งที่เรายังไม่ได้เงินที่ค้างอยู่สามแสนเลยคับ
แถมการที่ผมได้เงินช้าปีนึง กลายเป็นว่ามาทบกับยอดรายได้ปีนี้ ผมต้องเสียเงินภาษีเพิ่มฟรีๆ อีก 30,000 ด้วยคับ ถ้าเพื่อนถาม ผมจะเรียกมันว่า เงินค่าอะไรดีคับ
เสียเงินเพิ่ม “ค่าได้ตังช้าปีนึง” หรอคับ

ถึงตรงนี้เราก็รู้อีกล่ะว่า เดี๋ยวก็มีดราม่า บอกว่าเราได้เงินเยอะอยู่แล้วอีก ทำไมไม่ยอมๆ ยกหนี้ให้รัฐบาลไปเลย >> เอ่อ ถ้าพูดอย่างนั้น
คุณก็ลองทำงานบริษัทไปซักปีนึง แล้วให้เจ้านายค้างไว้ก่อนเรื่อยๆ เพราะบอกว่าบริษัทไม่มีตัง
พอครบปีเจ้านายก็ไม่จ่ายตังคุณ เพราะบอกว่า คุณมีตังอยู่แล้ว คุณจะรู้สึกยังไงล่ะคับ

- อีกเรื่องนึงคือ เร่งผลิตเพิ่มแต่ช่วยเพิ่มตำแหน่งราชการให้บรรจุให้เพียงพอหน่อยได้ไหม อันนี้บ่นเพื่อน้องหมอใน 5 ปีข้างหน้า
และบ่นเผื่อพี่พยาบาลที่ทำงานในโรงบาลมา 10-20 ปีแล้วยังไม่ได้บรรจุข้าราชการเลย
ผมสงสารพี่ๆเค้าอะคับ ทำงานให้โรงบาลรัฐมานานแล้ว แต่พี่ๆพยาบาลก็ยังเป็นได้แค่ลูกจ้างประจำ ไม่สามารถใช้สิทธิต่างๆของราชการได้
จะบอกว่า ตรงนี้ก็เป็นสาเหตุนึงที่ พยาบาล เภสัช ทันตะไหลออกจากระบบไปเรื่อยๆนะคับ และแน่นอนว่าอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ตำแหน่งบรรจุแพทย์ ก็จะไม่พออีกด้วยคับ สู้เค้านะน้องๆ

เอาล่่ะ บ่นมาก็มากแล้ว แล้วมาดูผลลัพธ์นะคับ
ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ตอนนี้ก็ลาออกกันไงคับ ไปขายประกัน ไปสอนพิเศษ ไปเปิดคลินิก ไปเล่นหุ้นดีกว่าคับ ได้หลับได้นอน ไม่ต้องฝันร้ายว่าจะโดนจับเข้าคุกเข้าสักวันหรือเปล่า
พอหมอทนงานหนัก ทนการฟ้องร้องไม่ไหว หมอก็ลาออก พอหมอลาออก หมอที่เหลืออยู่ก็ต้องทำงานหนักขึ้น มีโอกาสโดนฟ้องมากขึ้น แล้วก็ลาออกมากขึ้นอีกไงคับ
>> เป็นวงจรไปเรื่อยๆ แล้วจะไม่ให้หมอขาดแคลนได้ยังไงล่ะ ทีนี้

ก่อนหน้านี้เคยมีท่านนึงเสนอให้ ตัดวงจรอุบาทว์นี้ด้วยการเพิ่มเงินค่าใช้ทุนจาก 4 แสนบาท เป็น 20 ล้าน ในกรณีที่ลาออกก่อนครบ 3 ปี ใช้ทุนไม่ครบคับ
คือว่า ในความคิดเรามันคงแก้ไขปัญหาหมอลาออกได้ระดับนึงคับ แต่ถ้าเลือกใช้วิธีนี้จิงๆ แสดงว่ารัฐบาลไม่เลือกที่จะใช้แรงจูงใจมาดึงให้หมออยู่แล้วนะคับ แต่หักคอบังคับเอาดื้อๆเลยคับ
เราคิดนะว่า ถ้าเอามาใช้จริง ก็หมายความว่า พอเรียนหมอจบ 6 ปีปุ๊บ หมอจะเปลี่ยนจากความเป็นไท มาเป็นทาสทันทีเลยคับ
ต้องทำงานให้ครบ 3 ปี เพื่อไถ่หนี้ 20 ล้าน จะออกจะตายกลางคันก็คงไม่ได้ แล้วถ้าผมเกิดเป็นอะไรพิกลพิการไปก่อนล่ะคับ
แปลว่า ผมต้องส่งให้ลูกมาเรียนหมอ แล้วเอาลูกมาทำงานใช้หนี้ให้ครบแทนพ่อด้วยรึป่าวคับ (เหมือนระบบทาส ไงคับ)

เราไม่เคยโกรธ หรือโทษเพื่อนๆ หมอที่ลาออกไปนะคับ มีแต่สังคมต่างหากที่ตราหน้า พวกเค้าว่าเป็น "หมอที่ไร้จรรยาบรรณหมอ ไม่เสียสละเพื่อสังคม"
คำว่ามีจรรยาบรรณ คือ อะไรคับ คือการทำถูกต้องตามสิ่งที่ควรเป็นของอาชีพนั้นๆใช่ไหม่ การที่เพื่อนๆหมอเค้าออกไปหาชีวิตที่ดีกว่าให้ตัวเองและครอบครัวเป็นสิ่งที่ผิดใช่ไหม
งั้นคำว่า จรรยาบรรณ คืออะไรคับ
"ครูที่ไม่สอนโรงเรียนรัฐ ไม่ออกไปอยู่ตามโรงเรียนห่างไกล แต่สอนพิเศษอยู่ในเมือง เก็บตังแพงๆ คือ ไม่มีจรรยาบรรณครู หรือเปล่า"
"นักธุรกิจที่ไม่ยอมเล่นหุ้นในประเทศ ในยามประเทศที่กำลังเจ๊ง ไม่ยอมอยู่ขาดทุนในไทย แต่หนีออกไปลงทุนในประเทศที่มีความเสี่ยงน้อยกว่า คือ ไม่มีจรรยาบรรณนักธุรกิจ หรือเปล่า"
"พนักงานบริษัทที่ไม่ก้มหน้าก้มตา ทำงานต่อในบริษัทที่กำลังจะเจ๊งในเร็ววัน แต่ลาออกหนีไปอยู่บริษัทที่ดีกว่า คือ ไม่มีจรรยาบรรณพนักงานบริษัทหรือเปล่า"
"ชาวนาชาวไร่ที่เลิกปลูกพืชบางประเภทที่ได้กำไรน้อย ไปปลูกพืชที่กำไรมากกว่า หรือเริ่มใช้ยา ใช้ปุ๋ยเคมี เร่งผลผลิตจนดินพัง คือ ไม่มีจรรยาบรรณชาวนาชาวไร่หรือเปล่า"
"นักการเมืองที่ตัดเงินรายได้ของหมอและพยาบาลที่ออกไปอยู่โรงบาลห่างไกลในชนบท
แต่เพิ่มเงินเดือนให้ตัวเองที่นั่งหลับในสภา พอตื่นขึ้นมาก็กระโดดต่อยกัน คือ ไม่มีจรรยาบรรณนักการเมืองหรือเปล่า"

ทำไมอาชีพอื่นสามารถที่จะเดินเข้าหาชีวิตที่ดีกว่าได้ โดยที่ไม่ถูกด่าว่าไร้จรรยาบรรณล่ะคับ
การที่คนๆนึงจบมาเป็นหมอ รักษาคนไข้ ช่วยคน คือ การที่เขาบอกว่ายิ่งสูงยิ่งหนาว ยิ่งตกลงมาเจ็บใช่หรือเปล่าคับ
คนที่ยังคงอยู่ในระบบ ก็คือ คนที่ยังทนไหวเท่านั้นเองนะคับ ยังรู้สึกว่าทิ้งไปจากตรงนี้เฉยๆ ไม่ได้เท่านั้นเองคับ
หมอแต่ละคนมีระดับความอดทนไม่เท่ากันนะคับ คนที่ทนไม่ไหวก่อนก็ลาออกก่อนเท่านั้นเองคับ บางคนก็มีเหตุสุดวิสัยต้องออกไปเพราะหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็มีคับ
การที่เขาลาออกไปเพื่อความสุขของตัวเองและครอบครัว แปลว่า เขาเป็นคนเลวหรอคับ
งั้นหมอที่วันๆ เฝ้าโรงพยาบาล ไม่มีเวลาไปหาพ่อแม่ ไม่มีเวลาไปเลี้ยงดูสอนลูกตัวเองให้เติบโตมาอย่างอบอุ่น คือ หมอที่ดีหรอคับ

อยู่เอกชน ได้เงินมากกว่า 3 เท่า งานสบายกว่า 5 เท่า ได้มีเวลาอยู่กับคนที่ตัวเองรักนะคับ
สิ่งเดียวที่ หมอโรงบาลรัฐมีมากกว่า คือความรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเองแค่อย่างเดียวเท่านั้นเองคับ ความรู้สึกที่เรายังยิ้มกับตัวเองได้ว่า
เรายังอยู่ตรงนี้นะ ถึงเราจะลำบาก ถึงจะไม่ได้กินไม่ได้นอนเพียงพอ ไม่ค่อยมีเวลาให้กับตัวเองและครอบครัวเหมือนคนอื่นเขา
อาจมีสักวันที่โดนคนที่เราตั้งใจรักษาฟ้องเข้าซักวัน เงินจะได้ไม่ครบมาเป็นปี เราก็ยังไม่ได้ไปไหน เรายังอยู่ตรงนี้ตามอุดมการณ์ของหมอนะ
ความรู้สึกที่เรายังพูดกับตัวเองได้ว่า "เราคือคนที่ทิ้งความสุขของตัวเอง เพื่อความสุขของคนอื่น" ไงคับ
ที่ยังประคับประคองให้เรายังทำงานต่อไปท่ามกลางแรงกดดันอยู่ทุกวันนี้ต่อไปได้

สำหรับเราเอง เราตั้งใจจะใช้ทุนอยู่โรงบาลชุมชนให้ครบ 3 ปี ไปเรียนต่อเฉพาะทางซักอย่างนึง
แล้วอยากกลับมาทำงานที่โรงบาลรัฐที่ไม่เมืองมากซักที่นึง (เบื่อเมือง เกลียดรถติด) คือ ความตั้งใจของเราในตอนนี้คับ
แต่เราก็ยังให้คำตอบกับตัวเองไม่ได้เหมือนกัน ว่า ในอนาคต ถ้าเรามีครอบครัวมีลูก เราพร้อมรึเปล่าที่จะยังทำงานที่ไม่ค่อยมีเวลาให้ครอบครัว
งานที่ไม่รู้ว่าหัวหน้าครอบครัวอย่างเราจะโดนฟ้องวันไหนเข้าซักวัน
วันที่เราไม่ได้มีแค่ตัวของเราเองคนเดียวอีกต่อไป เราพร้อมที่จะเสียสละ ความสุขของครอบครัว ให้กับคำว่า อุดมการณ์ หรือเปล่าคับ



ปล.บทความนี้เราเขียนไว้ 2-3 อาทิตย์แล้วคับ แต่หาวิธีสมัคร pantip อยู่เลยเพิ่งได้โพสต์ วันก่อนไปอ่านกระทู้ของคุณหมออีกท่าน แล้วรู้สึกว่าเนื้อหาหลายๆส่วนคล้ายกัน
เราไม่ได้ก็อปมานะคับ จุดนี้มันก็ช่วยยืนยันได้ว่า มันเป็นชีวิตจิงๆ ของหมอไงคับ จะหมอที่ไหนเขียนก็เป็นเรื่องที่เหมือนๆกันคับ
ที่เราต้องสมัครอมยิ้มมาโพสต์ในเว็บนี้ เพราะ หลายๆครั้งที่มีคนแชร์ลิงก์มาให้อ่านในเฟสบุ๊ก ความเห็นบางอันของสังคมที่มีต่ออาชีพของเราอ่านแล้วเสียกำลังใจทุกครั้งที่อ่านเลยคับ
ที่เขียนมาก็เพื่อจะได้เข้าใจเรามากขึ้นคับ ได้โปรดอย่าอคติกับอาชีพของเราเลยคับ ขอบคุณคับ
ถ้าคุณอยากรู้ว่าอาชีพนี้ลำบากจิงหรือเปล่า ลองดูนะคับ ถ้าคุณมีญาติ หรือมีเพื่อน หรือคนรู้จักเป็นหมอคับ
ลองไปแกล้งถามเค้าดูนะคับว่า "ลูกเราบอกว่าอยากเรียนหมอ นายว่ายังไงดีล่ะ"
เรารู้คับว่า หมอสมัยนี้ตอบไปในทางเดียวกันทั้งประเทศแหละคับ ไม่มีหมอคนไหนอยากให้ลูกหลานตัวเองเป็นหมออีกแล้ว คือ ความจริงของยุคสมัยนี้คับ
แต่ถ้าถามเรานะ อย่างแรก เราจะหัวเราะ 555 ก่อนเลยคับ แล้วบอกว่า
"อย่าเรียนเลย เรียนก็ยาก งานก็เหนื่อย แถมไม่รู้จะโดนฟ้องเมื่อไหร่ แต่ถ้าตั้งใจจิงๆ ก็เรียนเถอะ แต่ถ้าจะเรียนเพราะอยากรวยนะ ไปหาอาชีพอื่นทำดีกว่า" คับ

ปล.2 บทความนี้ไม่มีลิขสิทธิ์คับ ไม่มีเจ้าของคับ เป็นบทความที่พูดแทนหมอตาดำๆ คับ จะเอาไปเผยแพร่ ทำซ้ำ หรือเอาไปต้มยำทำแกงยังไงก็ได้ ตกลงมั้ยคับ ^^

สุดท้ายนี้ก็ต้องปิดด้วยประโยคของพระบิดาที่หมอทุกคนควรยึดปฏิบัตินะคับ
ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตัวเป็นที่สอง
ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง
ลาภทรัพย์และเกียรติยศจะตกแก่ท่านเอง
ถ้าท่านทรงธรรมะแห่งอาชีพไว้ให้บริสุทธิ์

ขอบคุณที่อ่าน สิ่งที่หมอ เซาะกราวคนนึงเล่าให้ฟังจนจบคับ ขอบคุณคับ

จากคุณ : ก็แค่หมอเซาะกราวคนนึง (ก็แค่หมอเซาะกราวคนนึง)
เขียนเมื่อ : 2 ก.พ. 55 16:13:03






Create Date : 10 กุมภาพันธ์ 2555
Last Update : 10 กุมภาพันธ์ 2555 15:09:06 น.
Counter : 1864 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Cmu2807.BlogGang.com

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]

บทความทั้งหมด