Review Movie: One Flew Over the Cuckoo's Nest “ตลกร้ายหลังคาแดง” [By. Anurak_sk]


ผ่านพ้นไปแล้วสำหรับการเลือกตั้งหาคนดีบริหารประเทศ คิดตามก็งงงวยเรื่องการเมืองวุ่นวายน่าอัศจรรย์ คนเผาบ้านเผาเมืองกำลังได้นั่งเก้าอี้ใหญ่ ตรรกะสรุปเยี่ยงนี้โอ้ช่าง Thailand Only ว้าเหะ! กลับเข้าประเด็นหนังดีกว่าเรื่องการเมืองสุดแสนบัดซบ ไม่รู้เป็นไง ฉไนข้าพเจ้าถึงได้ชื่นชอบหนังช่วงยุค 70 – 80 นัก... ทั้งที่ข้าพเจ้าเกิดไม่ทันแต่กลับมีหนังโดดเด่นโดนใจข้าพเจ้าหลายเรื่องนัก Rocky, Taxi Driver, Kramer vs. Kramer, Raging Blue รวมไปถึงหนังเคมีไม่ลงตัวต่อระบอบสังคมเผด็จการอย่าง One Flew Over the Cuckoo's Nest ภาพยนตร์น้ำดี 1 ใน 100 ภาพยนตร์ที่ดีที่สุดตลอดกาล AFI's (ติดอันดับที่ 20) เจ้าของ 5 รางวัลออสการ์ปี 1975 ดารานำชายยอดเยี่ยม, ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, ผู้กำกับยอดเยี่ยม, ดารานำหญิงยอดเยี่ยมยอดเยี่ยม, บทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม จากเข้าชิงรวม 9 สาขา

One Flew Over the Cuckoo's Nest เป็นหนังที่เปรียบเปรยระบอบสังคมเผด็จการได้อย่างตลกร้าย โดยจำลองเรื่องราวอยู่ภายในรั้วโรงพยาบาลโรคจิต Oregon State ที่มีตัวละครหลัก 3 สถานะให้เราติดตาม (คิดตาม) ผู้มีอำนาจ = Dr. John Spivey/Mildred Ratched (Louise Fletcher), ผู้อยู่ใต้อำนาจ = กลุ่มคนไข้โรคจิต และผู้ต่อต้านอำนาจ McMurphy (Jack Nicholson)




หนังเริ่มเรื่องบอกเล่าวิถีชีวิตกลุ่มคนไข้ในโรงพยาบาล Oregon State เรียบง่าย ซ้ำซาก วนเวียนไปมาเหมือนเลข 8 ทุกวัน จนกระทั่งการมาของ McMurphy (Jack Nicholson) หนุ่มผู้ไม่ชอบเคารพกติกาสังคมถูกส่งตัวให้โรงพยาบาลทำการวิเคราะห์ว่าเขามีความผิดปกติทางจิตหรือไม่? ทั้งที่ถ้าเราดูผิวเผินก็พอมองออกว่า McMurphy ดูปกติดีทุกอย่าง การพูดการจาดูเต็มบาทไม่ขาดสักสลึง

แต่อย่างที่ข้าพเจ้าว่าไว้แหละครับ One Flew Over the Cuckoo's Nest เป็นหนังที่บอกเล่าเรื่องราวตลกร้ายระบอบสังคมเผด็จการ แบ่งแยกวรรณะชนชั้นสูง ชนชั้นกลาง เห็นได้ชัดผ่านเรื่องราวไม่เล็กในโรงพยาบาลโรคจิต ระบอบเผด็จการที่ห้ามคนชั้นล่างตั้งคำถามกับผู้มีอำนาจ คำถามเป็นชนวนทำให้ระบอบการปกครองนี้สั่นคลอน ซึ่งก็เปรียบได้กับสิ่งที่ผู้กำกับ Milos Forman เล่าช่วงเปิดเรื่องสื่อภาษาภาพให้เราเห็นถึงสถานะคนชั้นรองอย่างคนไข้ในโรงพยาบาลที่ต้องทำตามคำสั่งเบื้องบน สั่งกินยาก็ต้องกินตามที่พยาบาลจัดให้ โรงพยาบาล Oregon State ดำเนินไปตามวิถีที่ผู้ลุอำนาจต้องการอยากให้เป็น…




จนกระทั่งการมาของ McMurphy คนที่มีมุมมองลูกอีช่างคิดต่าง ชอบตั้งคำถามใช้สมองส่วนหน้าวิเคราะห์สิ่งไหนควร ไม่ควร เขาไม่จำเป็นต้องแคร์กฎกติกาสังคมถ้าเขาคิดว่ามันไม่ OK เห็นได้จากประวัติที่เขาเคยสังวาสกับเด็กอายุ 15 McMurphy คิดว่าไม่เห็นจะผิดอะไร อายุเป็นแค่ตัวเลข เด็กอายุ 15 ใช่ว่าจะสะอาดไปกว่าเด็กสาวอายุ 18 McMurphy จึงดูผิดปกติในสังคม ดูผิดปกติในสายตาผู้ลุแก่อำนาจ แค่เพราะว่าเขาชอบ “ตั้งคำถาม ชอบสู้” ยึดมั่น ใช้ชีวิตตามวิถีที่ผู้ลุอำนาจไม่ต้องการอยากจะให้เป็น เขาจึงดูแปลก แตกต่าง “บ้า” ทั้งที่ไม่ได้ “บ้า”

แน่นอนว่าการมาของ McMurphy ย่อมเป็นสูตรเคมีที่ไม่ลงตัวในโรงพยาบาล กิจวัตรซ้ำซากที่เขาได้สัมผัสช่วงแรกเริ่มผุดตั้งคำถามกลั้วผ่านสมองส่วนหน้า พยาบาลให้เขากินยาอะไร? กินแล้วช่วยอะไร? ทำไมต้องเปิดเพลงเสียงดัง? ทำไมเขาถึงดูเบสบอลไม่ได้? มันเป็นกฎ ธรรมเนียม ที่ดูงี่เง่าบัดซบเขากล้าคิดและก็กล้าถาม แต่ในหนังเมื่อ McMurphy ถามพยาบาล Ratched ผู้คุมวอร์ดที่เป็นสัญลักษณ์เผด็จการในหนัง เขากลับได้คำตอบแถขั้นดริฟท์ มันเป็นคำตอบตรรกะเลอะเทอะ ไม่สำคัญว่าคุณจะชอบหรือไม่ชอบ คุณมีหน้าที่แค่ทำตามผู้ลุแก่อำนาจเป็นพอ




สูตรเคมีที่ไม่ลงตัวระหว่าง McMurphy กับ พยาบาล Ratched จึงยิ่งเข้มข้นขึ้น หนังแบ่งแยกความต่างของผู้มีแนวคิด “เผด็จการ” และ “ประชาธิปไตย” อย่างโดดเด่น ในฉากที่ McMurphy ต้องการดูเบสบอลและเขาเสนอให้เพื่อน ๆ ยกมือเลือกเสียงข้างมากตามกฎประชาธิปไตย ครั้งแรก McMurphy แพ้อย่างสิ้นเชิงก่อนจะมาชนะคะแนนเสียงยกมือครั้งสอง แต่เขากลับต้องถูกพยาบาล Ratched ล้มกระดานเอาดื้อ ๆ ด้วยเหตุผลข้าง ๆ คู ๆ

มุมมองพยาบาล Ratched เธอมีความสุขกับการเป็นศูนย์กลางของวอร์ด เธอเป็นสัญลักษณ์เบื้องสูงระบอบเผด็จการที่ไม่ต้องการให้ใครตั้งคำถาม ฝ่าฝืน แต่เมื่อ McMurphy ทำตัวเป็นไม้หมัดไม้เมา ต่อให้ McMurphy ใช้ตรรกะประชาธิปไตยหนักแน่นมาขอสิทธิ์ดูเบสบอลยังไง เหตุผลเขาก็ต้องตกไปต่อผู้มีอำนาจที่สูงกว่านี่คือสัจธรรมที่ว่า “ระบอบประชาธิปไตย” กับ "ระบอบเผด็จการ” ทำให้ตายยังไงก็ไม่มีทางเป็นสูตรเคมีที่ลงตัวได้




McMurphy เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตคนในวอร์ดมีสีสันขึ้น สอนให้พวกเขารู้ถึงสิทธิ์ที่ตัวเองมี ข้าพเจ้ามองว่าตัวละคร McMurphy มีส่วนคล้ายตัวละครอย่าง Andy Drefrined ในหนัง Shawshank Redemption เขาเข้ามาช่วยสร้างสีสัน เชิดชูคุณค่าความเป็นมนุษย์ ทุกชีวิตเปรียบดั่งขนนกลอยว่อนบนท้องฟ้า Andy Drefrined สอนให้ Red รู้ซึ้งอิสรภาพและคุณค่าความเป็นมนุษย์เดินดิน ก็เหมือนกับที่ McMurphy ทำให้หนูน้อย Billy(Brad Dourif) มีความมั่นใจ ตอบโจทย์สนองสิ่งที่มนุษย์ผู้นี้ต้องการ สอนให้ Chief (Will Sampson) รู้ซึ้งถึงคุณค่าของคำว่า “อิสรภาพ”

ฉากที่ McMurphy ประกาศว่าเขาจะยกแท่นก๊อกน้ำหนักอึ้งทุ่มใส่กระจกหนีออกไปช่วงต้นเรื่อง แล้วสุดท้ายเขาก็ยกไม่ได้แต่ก็ยังไม่วายปล่อยมุก ”อย่างน้อยฉันก็ได้พยายามเต็มที่แล้ว” ฉากนี้ McMurphy ได้จุดประกายให้เพื่อนร่วมวอร์ดรู้ถึงสิทธิ์ที่ตัวเองมี สอนให้พวกเขาอย่าได้งอมืองอเท้าต่อสิ่งที่ผิด ให้รู้จักแหกคอกต่อผู้ลุแก่อำนาจวิปริต แพ้/ชนะ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง...




ในหนัง McMurphy ได้พยายามจุดประกายแนวคิดนี้ให้ตกผลึกหลายต่อหลายครั้ง มันเป็นความพยายามที่ดูสมเหตุสมผลพัฒนาสู่ฉากจบที่น่าประทับใจเคล้าหดหู่ McMurphy เย้ยหยันพยาบาล Ratched สัญลักษณ์ระบอบเผด็จการวอร์ดครั้งแล้งครั้งเล่า เพื่อสื่อให้เพื่อน ๆ รู้ว่าพยาบาล Ratched ไม่ใช่คนที่เราต้องกลัว ไม่ใช่คนที่เราแตะต้องไม่ได้ ซึ่งมีฉากหนึ่งที่ผู้กำกับ Milos Forman ได้สื่อออกมาโต้ง ๆ ตอนที่ McMurphy ตั้งพนันกับเพื่อนว่าเขาจะออกัสซั่มพยาบาล Ratched ให้ได้ภายในหนึ่งอาทิตย์ ทำเอาทุกคนที่ได้ฟังขำกัน จนสุดท้าย McMurphy ก็ไม่ได้ซั่มเธอ ถึงเขาจะไม่ได้ซั่มแต่ McMurphy ก็ได้แฝงนัยยะแนวคิด “สิทธิและคุณค่าความเป็นมนุษย์” ถึงเพื่อน ๆ ว่าอย่างน้อยเขาก็ได้พยายามใช้สิทธิ์ที่ตัวเองมีอยู่เต็มที่แล้ว เหมือนกับฉากที่เขาพยายามยกแท่นก๊อกน้ำ

ตลอดความยาว 2 ชั่วโมงกว่า One Flew Over the Cuckoo's Nest สามารถบอกเล่าพัฒนาการตัวละครหลัก ๆ ได้อย่างลุ่มลึกมีมิติ McMurphy ผู้จุดประกายสอนให้เพื่อน ๆ รู้จักตั้งคำถาม เชิดชูคุณค่าความเป็นมนุษย์, พยาบาล Ratched สัญลักษณ์ผู้ลุแก่อำนาจระบบเผด็จการ, หนูน้อย Billyผู้ถูกปลุกปั่นให้ตัวเองรู้สึกต่ำต้อยก่อนจะมีความมั่นใจตอนท้าย, Chief (Will Sampson) ผู้ที่เคยยินยอมต่อกฎเผด็จการ หนีปัญหา ก่อนจะกระโจนสู่อิสรภาพในตอนจบ



ผู้กำกับ Milos Forman นำเสนอเรื่องราวตัวละครหลักได้น่าติดตาม มีพัฒนาการหนักแน่นสู่ช่วงพีคตอนท้าย สมดุลอารมณ์หนังที่มอบให้คนดู ทุกข์ สุข เศร้า เวทนา อยู่ในระดับกลมกล่อม ทั้งยังจำลองการปกครองระบอบเผด็จการวิปริตนิยมนำเสนอได้อย่างโดดเด่นผ่านสัญลักษณ์นักแสดง พยาบาล Ratched คนขาวผู้ถูกวางบทผู้ลุอำนาจ ขณะที่บทผู้คุมสัญลักษณ์มือเท้าผู้มีอำนาจ กลับมีแต่คนผิวดำ ซึ่งก็ได้สื่อให้เห็นโต้ง ๆ แล้วว่า คนผิวสีในระบบการปกครองนี้เป็นได้แค่มือเท้าของผู้มีอำนาจ และเมื่อมีผู้มาสั่นคลอนอำนาจอย่าง McMurphy ก็ต้องย่อมมีการลงโทษหนัก ๆ เชือดไก่ให้ลิงดู

McMurphy เป็นตัวละครที่เชิดชูสิทธิและคุณค่าความเป็นมนุษย์ เขาคิดต่างในสิ่งที่คิดว่ามันผิดต่อระบอบการปกครองวิปริต "คนคิดต่าง" เท่ากับคน "จิตไม่ปกติ" ความไม่ปกติของ McMurphy จึงเป็นแค่การตีความของมนุษย์ไม่ปกติที่คิดว่าตัวเองปกติสายพันธุ์หนึ่งก็เท่านั้น...




Create Date : 19 กรกฎาคม 2554
Last Update : 1 สิงหาคม 2555 13:54:35 น.
Counter : 2308 Pageviews.

2 comments
  
แนะนำเว็บดูหนังซีรีย์เกาหลีฟรี
โดย: koreaserie (loveyoupantip ) วันที่: 6 สิงหาคม 2554 เวลา:8:25:32 น.
  
ตีความได้ดีมากเลยค่ะ เป็นประโยชน์มากๆ ขอบคุณนะคะ
โดย: Flubbyw IP: 171.7.223.19 วันที่: 29 กรกฎาคม 2564 เวลา:10:28:21 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Chrono.BlogGang.com

Chrono_Trigger
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]

บทความทั้งหมด