The Godfather: ที่สุดแห่งหนังแก๊งสเตอร์



ก่อนอื่นข้าพเจ้าต้องขอปูความถึงหนังสือ The Godfather นิยายมาสเตอร์พีซ ที่เขียนโดย มาริโอ พูโซ่ เล่มนี้ซะก่อน The Godfather ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1969 ที่ประเทศอังกฤษ ต่อมาได้รับการตีพิมพ์ซ้ำถึง 5 ครั้งช่วงปี 1970 – 1971 ซึ่งถ้ารวมยอดจำหน่ายจนถึงปี 1973 หนังเล่มนี้มียอดจำหน่ายสูงถึง 16 ล้านเล่ม ภายในระยะเวลาเพียงแค่ 4 ปีเท่านั้น









เสน่ห์ของนิยายเล่มนี้คือ? การแจกแจงรายละเอียดตัวละคร การดำเนินเรื่องตัดสลับเหตุการณ์อดีตปัจจุบันอย่างมีชั้นเชิง ภาษาคมคายแฝงแง่คิด จากเรื่องราวชีวิตกลุ่มคนที่อยู่ในเงามืด ผู้เป็นปฏิปักษ์ต่อสังคม และระบบกฎหมายอเมริกัน ในเมื่อหนังสือเล่มนี้นำเสนอวิถีชีวิตกลุ่มคนอีกมุมหนึ่ง ที่สังคมประนามวิปลาศจากคนธรรมดา ความใฝ่รู้จึงเกิดขึ้นในเชิงเปรียบเทียบ หนังสือ The Godfather จึงไม่มีใครกล้าปฏิเสธที่จะหยิบยกขึ้นมาอ่าน









เมื่อหนังสือเล่มนี้ประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้น ทั้งคำชมและยอดขาย เวลาเดียวกันสตูดิโอโลโก้ภูเขาพาราเม้าท์ก็กำลังต้องการหนังสักเรื่องที่มีชื่อเสียงอยู่แล้ว โดยใช้งบในการสร้างจำกัดจำเขียด The Godfather จึงเป็นเป้าหมายแรกที่สตูดิโอต้องการ จนถูกซื้อลิขสิทธิ์บทมาดัดแปลงถูกที่สุดในประวัติศาสตร์ เพียง 10,000 เหรียญ ในช่วง Pre production มีผู้กำกับถึง 12 คนถูกทาบทามให้มาเป็นผู้กำกับ โดยมี 3 ผู้กำกับดังอยู่ในลิสท์ด้วย ผู้กำกับ Patton เจ แชฟฟ์เนอร์, ผู้กำกับ From here to eternity เฟร็ด ซินเนมานน์, ผู้กำกับ Z คอยสแตนติน คอสตา กัฟราส แต่สุดท้ายหนังก็มาตกยังผู้กำกับหนังวัย 32 ปี ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปล่า ก่อนหน้านั้น คอปโปล่า เพิ่งสร้างชื่อจากผลงานการเขียนบทและกำกับอย่าง The Rain People และ You are a Big Boy Now ทั้งยังเคยได้รับรางวัล แซมมวล โกลด์วิน อวอร์ด สาขาการเขียนบทภาพยนต์ยอดเยี่ยมจากเรื่อง Pilima Pilima











การคัดเลือกผู้แสดงเป็น ดอน วิโต้ คอร์เลโอเน่ เป็นที่สนใจของแฟนหนังสือเป็นอย่างมาก ช่วงนั้นมีดาราชายหลายคนอยู่ในข่าย อาทิ ออร์สัน เวลส์ (ผู้กำกับ นักแสดงนำ Citizen Kane), เบิร์ต แลงคาสเตอร์, ลอร์เรนซ์ โอลิเวียร์, จอร์จ ซี สก็อต แต่สุดท้ายหวยก็มาตกที่ มาร์ลอน แบรนโด รวมถึงอีกหนึ่งตัวละครสำคัญของเรื่อง ไมเคิล คอร์เลโอเน่ บุตรชายผู้สานต่ออำนาจจาก ดอน วิโต้ คอร์เลโอเน่ โดย คอปโปล่า กลับเลือกเอานักแสดงหน้าใหม่อย่าง อัล ปาชิโน่ ซึ่งหลังจากเรื่องนี้ ก็ทำให้เขากลายเป็นนักแสดงชื่อดังใน Hollywood ทันที จากบทบาท ไมเคิล คอร์เลโอเน่ ทายาทเจ้าพ่อผู้เหี้ยมลึก









สำหรับใครที่เป็นแฟนนิยายเล่มนี้ ต้องการจะชมการเล่าเรื่อง ดอน วิโต้ ตอนเป็นหนุ่มจนก้าวขึ้นเป็นเจ้าพ่อเวอร์ชั่นหนัง คงต้องไปหาซื้อภาค 2 มาดู เพราะบทสรุปของภาคนี้ ได้บอกเล่าช่วงคาบเกี่ยวระหว่างคนสองรุ่น ช่วง ดอน วิโต้ ดำรงตำแหน่งเจ้าพ่อ และการถ่ายเทอำนาจสู่รุ่นลูกมีคุณสมบัติเหมาะสม ไมเคิล คอร์เลโอเน่ หนังได้ให้คำตอบที่ชัดเจนถึงนิยามตัวตนที่แท้จริง ดอน วิโต้ คือใคร? เหตุใดผู้คนถึงนับถือดอน? ชีวิตครอบครัวดอนเป็นยังไง? เหตุใดไมเคิลหนุ่มซื่อ ๆ ผู้เดินสวนทางกับความคิดพ่อมาตลอด วันนึงเขาถึงมายืนอยู่จุดเดียวกับดอนภายหลัง? หนังได้ให้ตอบคำถามโจทย์ที่ว่านี้อย่างชัดเจน ตรงประเด็น










ด้วยความยาวของหนังเกือบ 3 ชั่วโมง ทำให้ คอปโปล่า สามารถเล่าเรื่องราวแจกแจงรายละเอียดได้อย่างประณีต ตัวละครทุกตัวที่โผล่ออกมาล้วนผสานความลึกให้คนดูรู้จุดจบตัวละครนั้น ๆ โดยง่าย ซึ่งก็ต้องชม คอปโปล่า ที่ใช้วิธีการหยิบยกเหตุการณ์ต่าง ๆ ในนิยาย มาใส่ไว้ในหนัง ด้วยสไตล์การเล่าเรื่องแบ่งเป็นซีเควนซ์ ๆ โปรยเรื่องสู่จุดไคลแมกส์ ทำให้คนดูเข้าได้ง่าย และทำให้พวกเขารู้สึกผูกพันธ์กับตัวละครอย่าง ดอน วิโต้ และ ไมเคิล รู้ถึงปัญหาครอบครัว คอร์เลโอเน่ ว่าถ้าขาด ดอน ไป ครอบครัวนี้จะเผชิญวิบากกรรมใด









แน่นอนกำลังใจถดถอย ขวัญลูก ๆ เสมือนเด็กน้อยขาดพ่อมาป้อนนม แม้ตัวละครอย่าง ซันนี่ ภายนอกชอบแสดงท่าทีอารมณ์ร้อน สร้างโลกเหมือนตัวคือผู้สืบทอดตำแหน่งพ่อ แต่ด้วยการแสดงออกและนิสัยใจคอขาดความเป็นผู้ใหญ่สุดโต่ง รวมถึง เฟร็ด กับฉากที่เขานั่งร้องไห้เมื่อเห็นพ่อของตนถูกยิง หนังได้ตอบโจทย์ดีแล้วว่าลูกทั้ง 2 คนนี้ ไม่เหมาะที่จะเป็น ดอน คนต่อไป ในเมื่อเสาหลักของครอบครัวจากไป ตระกูล คอร์เลโอเน่ ก็ถึงจุดจบ เพียงกระสุนแค่นัดเดียว ทันใดนั้นหนังก็สามารถจูงคนดูร่วมเป็นหนึ่งสมาชิกครอบครัว คอร์เลโอเน่ ได้อย่างไม่รู้ตัว จากนั้นหนังจึงค่อย ๆ ปูเนื้อเรื่องสู่จุดกำเนิดเจ้าพ่อรุ่นต่อมา ไมเคิล คอร์เลโอเน่ (อัล ปัลชิโน่)










ไมเคิล คอร์เลโอเน่ แม้ภายนอกแลดูสุภาพ อ่อนโยน เรียบร้อย พูดน้อย ดูเป็นแค่พลเมืองดีทั่วไป แต่ถ้าคุณลองสังเกตดี ๆ จะเห็นว่า คอปโปล่า นั้นพยามยามสื่อคนดูให้รู้ตั้งแต่ช่วงต้นเรื่องแล้วว่า ไมเคิล และ ดอน พ่อของเขา คือประเด็นคาบเกี่ยวระหว่างคนสองรุ่นที่หนังต้องการสื่อ อาทิ ฉากงานแต่งงานของคอนนี่ ที่ คอปโปล่า ใช้ภาษาภาพบอกเล่าให้ ไมเคิล แนะนำตัวละครแต่ละคนเสมือนเป็นเจ้าบ้าน โดยที่คนดูคงฉุกระหุกคิดได้ว่าเขาไม่ได้มีส่วนร่วมกับธุรกิจในครอบครัวแต่อย่างใด ฉไน คอปโปล่า กลับให้ ไมเคิล เป็นตัวแนะนำตัวละคร รวมถึงมุมมองความรักของพ่อที่มีต่อลูกว่า ดอน นั้นรัก ไมเคิล กว่าลูกทุก ๆ คน คอปโปล่า สามารถสื่อให้คนดูเข้าใจถึงจิตใจ ดอน วิโต้ ได้อย่างแจ่มแจ้ง กับฉากที่ ดอน ปฎิเสธที่จะถ่ายรูปหมู่กับครอบครัวถ้าไม่มี ไมเคิล นั่นก็บอกแล้วว่า ไมเคิล มีความสำคัญกับ ดอน มากขนาดไหน









หลังจากที่ ดอน ถูกยิง คอปโปล่า ก็ค่อย ๆ เผยสัญชาตญาณความเป็นเจ้าพ่อของไมเคิลทีละนิด ทีละนิด เพื่อตอบโจทย์ข้างต้นที่ว่า “เหตุใดหนุ่มซื่อ ๆ ผู้เดินสวนทางกับความคิดพ่อมาตลอดผู้นี้ วันนึงเขาถึงมายืนอยู่จุดเดียวกับดอนภายหลัง?” อาทิ ฉากเด็ดเดี่ยวถึงลูกถึงคนที่ ไมเคิล กล้ายิงคู่ครหาในร้านอาหาร หนังสื่อให้คนดูรู้ได้ทันทีว่า ไมเคิล คือผู้สืบทอดตำแหน่งต่อจาก ดอน กับธุรกิจที่ต้องพึ่งผู้นำที่มีทั้งความเด็ดเดี่ยว กล้าหาญ สุขุม เลือดเย็น ตัดสินใจแม่นยำ ซึ่งไมเคิลมีคุณสมบัติเหล่านี้ครบถ้วนทุกประการ ต่างจาก ซันนี่ และ เฟร็ด อีกหนึ่งยังเป็นเด็ก อีกหนึ่งก็อ่อนแอเกินไป หรือฉากที่ไมเคิลสนทนาในบ้าน หลังจากถูกสารวัตรแม็คลัสกี้ย์ต่อยที่หน้าโรงพยาบาลและพ่อของเขาเพิ่งถูกยิง ด้วยการวางตำแหน่งภาพ จัดองค์ให้ไมเคิลนั่งอยู่ท่ามกลางคนอื่น ๆ ในสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวานเช่นนี้ หนังได้สื่อให้คนดูรู้ว่า คอปโปล่า มีวาระแฝงกับชายคนนี้ช่วงไคลแม็กส์หนังแน่นอน แม้คนดูจะไม่เคยอ่านหรือแตะหนังสือเล่มนี้เลยก็ตาม








ข้าพเจ้าขอยกย่องอย่างออกนอกหน้าเลยว่า The Godfather ถือเป็นผลงานมาสเตอร์พีซที่ดีที่สุดของ ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปล่า และเป็นที่สุดแห่งหนังแก๊งสเตอร์ ครบถ้วนความสมบูรณ์ทุกองค์ เอกวิธีการเล่าเรื่อง การแสดงพัฒนาความลึกตัวละคร เมโลดราม่าชั้นเยี่ยมสะกดคนดูจนอยู่หมัด ความบันเทิงแฝงแง่คิด โดยเฉพาะการเล่าเรื่องโดยใช้ภาษาภาพการจัดแสงแบบ Rembrandt กำหนดให้มีแสงสว่างเฉพาะจุดที่ต้องการ ส่วนเกินนั้นเป็นสีเข้มธีมมืด อาทิ ฉากเริ่มเรื่องที่ ดอน วิโต้ นั่งอยู่ที่เก้าอี้ในออฟฟิศ ผู้กำกับภาพ กอร์นดอน วิลลิส ได้กำหนดแสงให้ตกลงมาเฉพาะที่ใบหน้าของ ดอน วิโต้ นอกนั้นมีเพียงความมืดเจือจาง ทำให้ตัวละคร ดอน วิโต้ แลดูเกรงขามในสายตาผู้ชม สะกดให้มีอารมณ์ร่วม แฝงความเป็นดราม่าติคเด่นชัด โดยไม่ต้องจำเป็นต้องมีบทสนทนาร่วมแต่อย่างใด นี่คือที่สุดแห่งหนังแก๊งสเตอร์!!!





Create Date : 15 พฤษภาคม 2553
Last Update : 16 พฤษภาคม 2553 8:54:08 น.
Counter : 1328 Pageviews.

1 comments
  
เคยดูภาค 2 ตอนเด็กๆ ตอนนั้นดูไม่รู้เรื่องครับ แต่เมื่อไม่นานมานี้ได้หยิบภาค 1-3 มาดูอีกรอบ ก็พบว่าเป็นหนังที่ดี เข้มข้น แม้จะเป็นหนังเก่าแล้ว ดูแล้วก็ไม่รู้สึกว่าหนังเชยเลย นับถือๆ
โดย: Nanatakara วันที่: 15 พฤษภาคม 2553 เวลา:13:20:35 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Chrono.BlogGang.com

Chrono_Trigger
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]

บทความทั้งหมด