Lions for Lambs , ส่งเสริมสิงโต ตรวจสอบแกะ และ ลงมือทำ




...วุฒิสมาชิก แจสเปอร์ เออร์วิ่ง คือ นักการเมืองที่เชื่อว่า จะยุติปัญหาก่อการร้ายได้ก็คือต้องกำจัดเป้าหมายให้สิ้นซาก เขากำหนดยุทธการที่จะนำกองกำลังไปปักหลักบนยอดเขาในอัฟกานิสถาน

ในมุมมองของหลายๆคน(รวมทั้งผม) เขาคือตัวแทนของนักการเมืองบ้าอำนาจ ที่เชื่อว่า การใช้กำลังจะจัดการทุกอย่างได้ เชื่อในศักยภาพของตัวเอง หลงในอำนาจปานประหนึ่งตัวเองเป็น ตำรวจโลก หรือ ผู้พิพากษาโลก ที่ทำเพื่อความถูกต้อง

แต่ ถ้าถอดหมวกของนักการเมืองออกไป เราจะพบว่า เขาคือตัวแทนของ ‘คนธรรมดา’ ที่ถูกความกลัวคุกคามและพยายามที่จะปกป้องตัวเอง

ยิ่งเขาพยายามหว่านล้อมให้เห็นด้วยกับนโยบายภายใต้ท่าทางแข็งกร้าวยะโสมากเท่าไหร่ สิ่งที่เราจะยิ่งสัมผัสได้คือความกลัวที่มากมายในใจไม่แพ้กัน และ เกิดคำถามในมุมกลับแก่หลายๆคนที่ต่อต้านนโยบายทำสงคราม ขึ้นมาว่า ถ้าตัวเองไปยืนอยู่จุดเดียวกับเขา ท่าทีต่อต้านสงครามของเราจะเปลี่ยนไปหรือไม่ เราจะเป็นผู้นำประชาชนภายใต้การนำทางของเราอย่างไรให้มั่นใจว่าจะไม่ถูกทำร้ายอีก หรือ สุดท้ายเราจะคล้อยตามนโยบายสงครามที่เคยคัดค้านมาตลอด


ทอม ครูซ : ไปได้ดีกับบทที่แสดงความยะโส มั่นใจ ฉลาดคิด ฉลาดพูด เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ถือว่าสลัดความเป็น "ทอม ครู๊ซ ทอม ครูซ" ออกไปได้เยอะอยู่




...จานีน ร็อธ คือ นักข่าวที่ได้รับเกียรติให้เป็นคนสัมภาษณ์วุฒิสมาชิก เออร์วิ่งแบบ exclusive ตัวต่อตัว กับข่าวล่าสุดที่เขาส่งพลรบไปปักหลักที่อัฟกานิสถาน

เธอ คือ ตัวแทนของฝั่งต่อต้านการทำสงคราม(Anti-war) ที่ไม่คิดว่านโยบายของวุฒิสมาชิกเออร์วิ่ง จะแก้ปัญหา เธอเชื่อว่างานนี้สุดท้ายก็คือการส่งคนไปตายเหมือนหลายๆครั้งเคยเกิดขึ้นเช่นตอนสงครามเวียดนาม

ในอดีต เธอเอง คือ ผู้ที่เขียนเชียร์ว่าเขาจะเป็นคลื่นลูกใหม่ที่น่าจับตา และ ในวันนี้กลับต้องมายืนฝั่งตรงข้ามกับคนที่เคยผลักดันด้วยมือ พร้อมกับ คำโต้ตอบจากเขาที่แสบถึงใจ ว่าเธอเองมิใช่หรือ ที่เคยมีส่วนร่วมในการทำสงคราม ให้ประชาชนยอมรับได้ เธอเองมิใช่หรือที่ นำเสนอข่าวสงครามอ่าวเปอร์เซียแบบนาทีต่อนาทีให้ผู้คนตามติดหน้าทีวี เธอเองมิใช่หรือคือหนึ่งในส่วนร่วมของโครงสร้าง propaganda แก่นักการเมือง

เธอเองก็อาจมิใช่จะเพิ่งรู้ในวันนี้ เพราะในวันวานหากคิดให้ดีเธอก็จะรู้ได้ แต่ นักข่าวหลายคนก็สามารถแกล้งลืมหลักการวิชาชีพกับความเป็นคน สามารถทรยศต่อจรรยาบรรณวิชาชีพ และ ใช้เหตุผลที่สร้างขึ้นมาเพื่อสร้างความชอบธรรมในการเรียกเรตติ้งว่า ประชาชนต้องการรับรู้

เหมือนสื่อบ้านเราบางสื่อ ที่ไปทำข่าว คนฆ่าตัวตาย ให้เห็นหน้ากันจะจะ เห็นศพกันชัดๆ ถ่ายคนที่ทำผิดพลาดทำอับอายโดยไม่ได้ทำเรื่องชั่วร้ายให้คนรู้จักกันทั่วประเทศ เพียงเพื่อต้องการขายข่าว โดยไม่แคร์ว่า คนในข่าวหรือญาติๆจะรู้สึกอย่างไร

และถ้าถอดหมวกของนักข่าวออกจาก จานีน ร็อธ เราก็จะพบว่า เธอคือตัวแทนของ ‘คนธรรมดา’ ที่ครั้งหนึ่งเคยทำผิดและในตอนนี้ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีในฐานะ มนุษย์คนหนึ่ง ไม่ใช่ในฐานะนักข่าว ก็กำลังลอยขึ้นมาให้เธอสัมผัส

เมอรีล สตรีพ : เล่นได้ดีแต่เมื่อบทนี้ตามหลังการแสดงระดับเทพคอมิดี้ใน Devils wer prada ก็ย่อมทำให้เรื่องถัดๆมาหากไม่จ๊าบแจ่มพอ ก็ต้องถูกเมิน เรื่องนี้ไม่มีอะไรเด่นเป็นพิเศษ แต่ก็ไม่ด้อยแต่อย่างใด โดยเฉพาะสายตาที่บอกความรู้สึกภายใน ตอนที่เธอสำรวจห้องแล้วมองภาพข่าวที่ตัวเองมีส่วนร่วม กับ ตอนที่ถูกไล่บี้ถึงความผิดของตัวเอง




...ศจ.สติเฟ่น มอนลี่ย์ คือ ตัวแทนของอาจารย์ที่มีความสามารถในการสังเกตจุดแกร่งจุดอ่อนของลูกศิษย์ และ เขาก็มีลูกศิษย์ที่เขาให้ความสำคัญเป็นพิเศษ อยู่สองช่วงเวลา



ช่วงเวลาอดีต ลูกศิษย์สองคนที่ไม่ได้เกิดมาพร้อมพรสวรรค์ แต่อาศัยพรแสวงและความพยายามที่จะถีบตัวเองให้มีจุดยืนในสังคม ในวันที่นำเสนอรายงานในชั้นเรียน ทั้งคู่พูดถึงการเปลี่ยนแปลง เขาเชื่อว่า การสมัครเป็นทหารจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคม แม้จะรู้ว่า อาจจะไม่สำเร็จและอาจกลายเป็นเหยื่อ แต่อย่างน้อย หากเขากลับมา คนกลุ่มด้อย(คนผิวสี/คนละติน)อย่างเขาสองคนก็จะเปิดช่องทางให้คนรุ่นหลังได้มีที่ยืนในสังคม



ช่วงเวลาปัจจุบัน ลูกศิษย์หนึ่งคนที่มาพร้อมกับมาดกวนๆตามสไตล์คนเก่งที่มีทุกคำตอบอยู่ในใจ เขาหายตัวไปจากชั่วโมงเรียน เพราะ เขาเชื่อว่า รัฐศาสตร์เป็นเพียงจิตวิทยาจูงใจนำไปสู่ชัยชนะเท่านั้น และ เชื่อว่า จะทำอย่างไรสุดท้ายการเมืองก็เข้าอีหรอบเดิม สิ่งที่เขาเลือกคือไม่ยุ่งไม่สุงสิงกับสังคม ใช้เวลาหาความสุขกับการเล่นเกมส์ ปาร์ตี้ ไปวันๆ เขาสงสัยว่า การเดินขบวนหรือแจกใบปลิว มันเปลี่ยนสังคมได้ด้วยหรือ ทำไมต้องเหนื่อยไปทำอะไรแบบนั้น เพราะสุดท้ายสังคมก็ไม่เปลี่ยนไปจากเดิม

ซึ่งนั่นก็คลับคล้ายว่า การกระทำของลูกศิษย์สองคนนั้นก็ดูเป็นเหมือนเรื่องโง่ๆ เพราะสุดท้ายตายไปก็ไม่เกิดอะไรขึ้น

มันจะต่างอะไรระหว่าง การไม่ทำอะไร กับ ทุ่มเททำเต็มที่แต่สุดท้ายก็ล้มเหลว

...คำตอบดีๆที่ง่ายๆ สั้นๆแต่จริง ของ ศจ.สติเฟ่น มอนลี่ย์ คือ อย่างน้อยเราก็ได้ลงมือทำ

เรามีคนเก่งจำนวนมาก แต่ คนเก่งที่ไม่ทำอะไร ก็ไม่มีคุณค่าเท่า คนที่เก่งน้อยกว่า แต่พยายามจะทำอะไรให้กับสังคม เพราะ ถึงสังคมจะพลิกในทันทีไม่ได้แต่อย่างน้อยก็มีจุดเริ่มต้น

เรามีคนเจ้านโยบายเจ้าหลักการจำนวนมาก แต่ ขาดนักปฏิบัตินักลงมือ

เรามีคนบ่นๆปาวๆว่า ไอ้นั้นก็ไม่ดี ไอ้นี่ก็เฮงซวย แต่ถามว่า แล้ว คนๆนั้น เคยทำอะไรบ้างหรือยังให้กับสังคม

เรามีสิงโตจำนวนมาก ที่ต้องเดินต้อยๆตามฝูงแกะๆที่ขลาดเขลา แต่ สำหรับคนที่เอาแต่บ่นไม่ทำอะไร มีที่ว่างตรงไหนกันสำหรับคนกลุ่มนี้เพราะไม่ใช่ทั้งสิงโตและไม่ใช่ทั้งแกะ แต่เป็นแค่ คนเห็นแก่ตัว

การแก้ปัญหาของสังคม คงไม่ใช่แค่นั่งบ่น นั่งเซ็งเมื่อเห็น แกะจำนวนมากมาบริหารประเทศ แต่ คือ การผลักดันให้สิงโตได้มีโอกาสที่จะมีที่หยัดยืนและไปอยู่บนแถวหน้า พร้อมๆกับตรวจสอบแกะที่กำลังเดินนำ และ ร่วมกันลงมือทำอะไรบางอย่างมากกว่านิ่งเฉยเฝ้ามอง

และนั่นก็คือบทบาทของ จานีน ร็อธ และ ศจ.สติเฟ่น มอนลี่ย์ ที่หนังนำเสนอ


...ก่อนหน้านี้ เห็นคะแนนวิจารณ์ของ Lions for Lambs แล้วคิดว่า ห่วยแหง แต่ ดูแล้ว กลับคิดว่า อ๊ะ ดีๆ นี่ไม่ใช่งานมือตกของโรเบิร์ต เรดฟอร์ด อย่างที่อ่านๆมา แต่เป็นงานที่นำเสนอแบบไม่คิดว่าจะขายความสนุกสนาน แต่ ขายหลักการความคิด

แนะนำว่า วันที่จะไปดู เคลียร์พื้นที่สมองให้ว่างๆ ตามบทสนทนาให้ทัน เพราะตัวหนังอัดกันด้วยบทสนทนา ไม่มีนักแสดงคนไหนแสดงได้เด่นเป็นพิเศษกว่างานเก่าๆของพวกเขา ที่น่าสนใจคือ การแสดงของเพื่อนสองคนระหว่าง ไมเคิล พีน่า กับ เดเร็ค ลูค สร้างอารมณ์ร่วมกับคนดูได้ถึงขนาดเรียกน้ำตาเลยทีเดียว

พระเอกตัวจริงของหนังเรื่องนี้ไม่ใช่นักแสดง แต่คือ บทสนทนา

...หนังเรื่องนี้หยิบประเด็นเก่าๆมาถกในแต่ละมุมมอง ผ่านคำพูดของแต่ละตัวละครได้น่าสนใจและฉลาดคมคาย แถมยังเปิดช่องว่างให้ได้คิดโดยไม่สรุปเอาเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การโต้ตอบของ วุฒิสมาชิก กับ นักข่าว คือ การใช้กึ๋นมาคุยกันโดยแท้



คนหนึ่งพยายามทำให้คนฟังเชื่อและยอมรับกับนโยบายของตัวเองพร้อมกับเหน็บอีกฝ่ายอยู่กลายๆ เช่นเดียวกับอีกฝ่าย ที่ใช้ประสบการณ์ตอบโต้และใช้หลักการเข้าสู้พร้อมเหน็บกลับได้แสบไม่แพ้กัน

บทสนทนาของทั้งคู่สะท้อนภาพระหว่าง นักการเมือง และ สื่อ ว่าทั้งสองฝ่ายก็ต่างพยายามแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ให้แก่กันและกัน เมื่อมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งสองฝ่ายต่างก็ลืมว่า ประชาชน อยู่ตรงไหน เพราะ แต่ละฝ่ายก็ใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือ เพื่อ หาผลประโยชน์ให้กับตัวเอง (นักการเมือง-เสียงสนับสนุน / สื่อ - ยอดขาย, เรตติ้ง)

บทสนทนาของ อาจารย์กับลูกศิษย์ ก็แจ่มไม่แพ้กัน จนหนังเรื่องนี้เหมือนมีแต่ คนฉลาด มาคุยกันด้วยบทสนทนาที่คั้นมาแบบเนื้อๆ

...หนังจริงใจในการนำเสนอ ไม่เหมือนบางเรื่อง ที่พยายามจะจิกกัดโจมตีนโยบายสงครามของประเทศตัวเองเกี่ยวกับการบ้าอำนาจบ้าสงคราม แต่ ลึกๆแล้วตัวหนังเองก็โปรอเมริกาจ๋า เป็นตำรวจโลก โดยไม่รู้ตัว

จะเสียก็ตรง เหตุการณ์สามส่วนที่เล่าเอามารวมกันไม่ค่อยเป็นเอกภาพนัก บ่อยครั้งตอนตัดสลับไปมาเหมือนกำลังดูหนังคนละเรื่องคนละตอน

สรุป ... สำหรับผม ชอบ ครับ แต่ก็เข้าใจว่า มีโอกาสที่จะเจอคนบอกว่า น่าเบื่อมาก เช่นกัน กับ หนังที่มีแต่บทสนทนา ไม่ขายความบันเทิง


แจ้งข่าวจาก จขบ. : องศาที่ 361 เลื่อนไปเป็นช่วงสิ้นเดือนพฤศจิกาฯ รอเจอ องศาที่ 361 ที่ร้านหนังสือใกล้บ้านท่านนะค้าบ







ขอฝาก"หนังสือรัก" พ็อกเก็ตบุ้คที่ไม่ใช่ หนังสือวิจารณ์หนัง แต่เป็นการหยิบยกความรักและความสัมพันธ์ในภาพยนตร์ มาช่วยให้คุณเข้าใจตัวเองและคนรอบข้าง ได้มากขึ้นและลึกซึ้งกว่าเดิม



เพื่อนๆที่หาซื้อตามร้านไม่ได้ เข้าไปสั่งได้จากเว็บของสนพ.เลยจ้าที่ //www.bynatureonline.com/store/bookstore.php






ชวนไปอ่านบทความเรื่องอื่นๆ คลิก >> หน้าสารบัญ

ชวนคลิก ชวนคุยกับเจ้าของ Blog ที่ --> หน้าแรก

รวบรวมรายชื่อหนังเรื่องเก่าๆที่เคยเขียนไว้แล้วที่ ---> ห้องเก็บหนัง





ขอคิดค่าบริการต่อการอ่าน 1 หน้าในอัตราเพียง

ความเห็น
ของคุณมีประโยชน์กับผู้อ่านคนถัดมา คำทักทายของคุณเป็นกำลังใจให้ผู้เขียน คำติชมหรือคำแนะนำของคุณจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพัฒนาหากคุณเข้ามาอ่านครั้งถัดไป


Create Date : 14 พฤศจิกายน 2550
Last Update : 14 พฤศจิกายน 2550 1:41:58 น.
Counter : 2688 Pageviews.

6 comments
  
หลังจากที่ปีนี้ผมได้ดูหนังเทศกาลมากขึ้น ทั้งเทศกาลหนังยาว เทศกาลหนังสั้น ผมเลยพบว่าในบรรดาหนังเทศกาลนั้น ก็จะมีหนังที่เล่าเรื่องคล้ายๆ Lions for Lambs นั่นก็คือเป็นหนังการเมืองที่ใช้บทสนทนาเป็นตัวดำเนินเรื่อง และสิ่งที่สำคัญมากกับหนังประเภทนี้คือ "ความสด" ของการถ่ายทอดข้อมูล (สองเรื่องนั้นได้แก่ หนังสั้นไทยของปราปต์ บุญปานเรื่อง "ความลักลั่นของงานรื่นเริง" - ว่าด้วยทัศนคติของชนชั้นกลางผ่านวิวาทะจากตัวแทนชนชั้นล่าง - และหนังจากประเทศมาลีเรื่อง Bamako - ว่าด้วยการวิพากษ์บทบาทของ World Bank ที่น่ากังขาว่าเข้ามาช่วยเหลือ หรือกอบโกยผลประโยชน์)

จุดนี้ทำให้ Lions for Lambs ยังไปไม่ถึงดวงดาวเท่าที่ควร เพราะการที่เราเห็นหน้าโรเบิร์ด เรดฟอร์ดเป็นอาจารย์สอนรัฐศาสตร์ เห็นเมอริล สตรีพเป็นนักข่าวเจ้าอุดมการณ์ หรือทอม ครูซ ในบทบาทวุฒิสมาชิก มันลดทอนความสดของการงัดข้อกันในด้านการแสดงไปโดยอัตโนมัติและหลีกเลี่ยงได้ยากเต็มทน

แต่อย่างน้อย หนังเรื่องนี้ไม่ใช่แค่เรื่องราวของสงครามอิรัก แต่เป็นเรื่องราวของ "จิตสำนึก" และ "ปัญหาสังคม" ของอเมริกา...

หนังเน้น "สงครามเวียดนาม" หลายต่อหลายครั้ง แต่ครั้งที่สะดุดใจผมที่สุดคือตอนที่ ศ.มัลลีย์ คุยกับนักศึกษาสองคนในร้านอาหาร เมื่อพวกเขาตัดสินใจเข้าร่วมรบที่อัฟกานิสถาน และถามศ.เกี่ยวกับสงครามเวียดนาม แต่ศาสตราจารย์มัลลีย์ได้แต่ตอบเขาว่า "ผมไม่ได้อยากไป ผมถูกเกณฑ์ไป"

ผมเลยรู้สึกขึ้นมาว่า หนังกำลังพยายามบอกเราว่าอิรักหนักหนาสาหัสกว่าเวียดนาม เพราะความสิ้นหวังและยืดเยื้อจนดูไม่มีที่สิ้นสุดแบบนี้ การเกณฑ์ทหารไปแบบต่อเนื่องมีแต่จะสร้างความต่อต้านในบรรดาทหารเอง อย่ากระนั้นเลย รัฐบาลเลยต้องหาสิ่งตอบแทนทางอ้อมเพื่อจูงใจให้คนเป็นทหาร (โดยเฉพาะพวกคนดำ กับเม็กซิกัน) เหมือนกับที่ไมเคิล มัวร์เคยนำเสนอไปใน Fahrenheit 9/11
โดย: nanoguy IP: 125.24.65.48 วันที่: 14 พฤศจิกายน 2550 เวลา:5:15:20 น.
  
โรเบิร์ต เรดฟอร์ด ...หายไปไหนครับ พี่ผมฯ สงสัยจะลืมหรือปะเนี่ย

ส่วนตัวหนัง ยังไม่ได้ดู แบบว่าช่วงอาทิตย์นี้เวลาเรียนแน่น ก็คงจะไปดูอีกที วันศุกร์นี้ล่ะ แล้วก็ยังจะมี Beowulf , Micheal Clayton , Lust Caution ทั้งตบท้ายด้วยไปดู แสงศตวรรษ กับพี่นาโน ..เดี๋ยวจะกลับมาคุยกันยาวๆจ้า
โดย: OncE UPoN'-'a MaN วันที่: 14 พฤศจิกายน 2550 เวลา:8:46:19 น.
  
^
^
+ Lust, caution พี่ไม่เห็นในโปรแกรมสัปดาห์นี้นี่ครับน้อง Onceฯ ... รู้สึกตารางฉายจะย้ายไปเป็น 22 พ.ย. คืออาทิตย์หน้านะ ... ส่วนแสงศตวรรษ เสียดายจัง ดันมีธุระด่วน (คุณพ่อของเพื่อนในแผนก เสีย) ต้องไปถึงสุรินทร์ช่วงวันเสาร์อาทิตย์นี้พอดี (ชีพจรลงเท้าเจงๆ เลยตรู เอิ๊กกก) เลยอดไปดูด้วยเลยง่า มีแผ่นในมือก็ยังไม่มีเวลาดูซะทีอ่ะครับ

+ เรื่องนี้มันเป็นหนังของ 'คนช่างคิด' อ่ะครับ ก็คือต้องติดตามบทสนทนาแล้วคิดตามให้ทัน ถ้าใครชอบดูแอ๊คชั่น ก็คงจะน่าเบื่อสุดๆ เพราะมีอยู่ไม่กี่ฉาก ... และที่ได้คะแนนวิจารณ์ค่อนข้างต่ำ ถ้าถามความคิดผม อาจเป็นเพราะหนังนำเสนอประเด็นเก่าๆ ไม่ถึงกับมีอะไรใหม่ แล้วก็วุฒิสมาชิกบ้องตื้นบ้าอำนาจแบบทอม ครูซในหนัง มันดูเป็นตัวละครไปหน่อยละมั้งครับ ... และโดยตัวผมเอง ปกติหนัง Political/Drama ก็ไม่ใช่ 'หนังแนวผม' เท่าไหร่นัก แต่กับเรื่องนี้ก็จัดว่าโอเชนะครับ รู้สึกกลางๆ นะครับ ไม่ถึงกับชอบ แต่ก็ไม่ได้ไม่ชอบ
โดย: บลูยอชท์ วันที่: 14 พฤศจิกายน 2550 เวลา:13:32:53 น.
  
ชอบค่ะ โชคดีว่าวันนั้นตามเรื่องราวทัน รวมทั้งการแสดงของแต่ละคน ที่ถึงแม้ว่าจะไม่มีใครโดดเด่นออกมา แต่ก็ทำให้รู้สึกตามไปได้ตลอดเลย

เห็นด้วยมากๆ เลยค่ะสำหรับการแสดงของทอม ครูซที่หลุดจากภาพที่เคยติดตาไว้ได้

สิ่งที่ไม่ชอบอย่างเดียวคือฉากของ ไมเคิล พีน่า กับ เดเร็ค ลูค นี่แหละค่ะ ไม่ใช่แสดงไม่ดีนะ ดีมากเลยแหละ แต่โดยส่วนตัวแล้วเป็นคนแพ้ฉากประมาณนี้อย่างแรง ที่ไม่ชอบคือ...มันทำเราปวดตาเพราะร้องไห้น่ะค่ะ
โดย: SnowBelL IP: 202.139.223.18 วันที่: 27 พฤศจิกายน 2550 เวลา:0:25:19 น.
  
พลาดไปค่ะ ทั้งที่เรดฟอร์ด เป็นนักแสดงและผู้กำกับในดวงใจเลย รอ ดีวีดีออกค่ะ เนื้อเรื่องน่าสนใจค่ะ
โดย: yuy IP: 125.24.7.141 วันที่: 1 มกราคม 2551 เวลา:0:07:56 น.
  


สามารถติดตามบทสรุป การให้คะแนน และบทวิจารณ์ของภาพยนตร์เรื่องนี้เพิ่มเติม
หรือบทวิจารณ์ภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ พร้อมความเห็นของเพื่อนร่วมบล็อคที่รักการดูหนัง
ได้ที่ //vreview.yarisme.com พร้อมลุ้นรับบัตร Major M Cash มูลค่า 500 บาท จำนวน 8 ใบ ทุกเดือน
โดย: ป๋องแป๋ง IP: 124.120.0.136 วันที่: 24 มีนาคม 2551 เวลา:17:08:33 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Aorta.BlogGang.com

"ผมอยู่ข้างหลังคุณ"
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 72 คน [?]

บทความทั้งหมด