ท่าทุ่มยูโด tai otoshi

ข้อ1 การทุ่มในจังหวะที่อุเกเดินถอยหลัง

อาจารย์ผมเคยบอกไว้ว่าท่าไทโอโตชิให้จับจังหวะการก้าวขาขวาของคู่ต่อสู้ คือจังหวะมันจะเหมือนกับซาซาเอะทรึริโกมิอาชิ กับ ฮิสะกุรุม่าในจังหวะที่คู่ต่อสู้ขยับขาขวาออกมาเพื่อที่จะก้าวเราก็แค่เอาขาของเราเข้าไปขัดตรงนั้น คู่ต่อสู้ตัวใหญ่ยังไงก็จะล้มง่ายๆแต่ในหนังสือของโคโดกังกลับสอนให้ทุ่มในจังหวะที่อุเกเดินถอยหลัง(แรกๆคิดว่าผมแปลความหมายผิดซะแล้ว แต่มันเป็นจังหวะทุ่มตอนอุเกถอยหลังอย่างนั้นจริงๆ)

เริ่มจากโทริดึงพร้อมกับก้าวถอยหลังด้วยขาขวาแล้วก็ขาซ้ายอุเกก็จะถูกดึงมาข้างหน้าด้วยขาซ้ายและขาขวาเพราะดึงร่างกายท่อนบนของอุเกทำให้อุเกเดินตามมาในลักษณะโค้งตัวมาทางด้านหน้าเล็กน้อยพอโทริหยุดดึงทั้งสองมือแต่เปลี่ยนเป็นดันด้วยแขนซ้าย อุเกจะรักษาสมดุลย์ด้วยการตัวตรงพร้อมกับการก้าวขาขวาถอยหลังลงไปจังหวะมาแล้วครับ ในขณะที่ขาขวาของอุเกถอยหลังเลยขาซ้ายของตัวเองลงไป โทริต้องทำหลายอย่างเลยครับคือก้าวขาขวาออกไป(หนังสือบอกก้าวออกไประหว่างกึ่งกลางขาของอุเกแต่อาจารย์ผมแนะนำให้เฉียงไปทางขวาเล็กน้อย แต่จุดนี้บางครั้งต้องแล้วแต่การประยุกต์ของแต่ละคนว่าก้าวแรกอยู่ตรงไหนถึงจะทุ่มในจังหวะสุดท้ายได้ดี)แล้วก็ก้าวขาซ้าย+หมุนตัว(ตอนลงขาซ้ายงอเข่าซ้ายเล็กน้อย)พร้อมกับการดึงยกขึ้นด้วยแขนทั้งสองข้าง ทิศทางของการดึงถ้าดูจากโทริคือหลังเฉียงซ้าย ส่วนมุมของอุเกจะเป็นหน้าเฉียงขวา ถ้าทำทันทำถูกขาขวาที่กำลังก้าวถอยหลังของอุเกจะตายแล้วถูกบังคับให้ก้าวขาขวากลับขึ้นมาเพื่อรักษาสมดุลย์ของตัวอุเกเองไอ้ตรงบังคับให้ก้าวขึ้นมาเราก็เอาขาไปขัดซะ(คล้ายๆกับการที่คนกำลังจะก้าวขาเดินแต่เราเอาไม้หรือเอาขาแหย่ออกไปขวางตรงจังหวะนั้นหน้าก็จะคว่ำคะมำอย่างง่ายๆ) ตรงนี้จุดที่เน้นคือจังหวะก้าวขาของอุเก ถ้าอุเกถอยหลังก้าวเท้าขวาเหยียบลงพื้นไปเรียบร้อยแล้วสมดุลย์มาครบจากตรงนั้นโทริจะดึงให้เสียสมดุลย์มันยากแล้วครับถ้าทำทันทำถูก(อีกครั้ง)ก็วางท่าทุ่มปกติครับ คือโทริเอาขาขวาเหยียดออกไปขัดบริเวณข้อเท้าของอุเกที่ก้าวกลับขึ้นมาเพื่อรักษาสมดุลย์จากการที่ถูกโทริดึงหลังของโทริตั้งตรงไม่งอไปด้านหน้าหรือด้านหลังแต่อาจจะงอไปด้านข้างได้เล็กน้อยจังหวะสุดท้ายเหยียดเข่าซ้ายที่งออยู่ขึ้นพร้อมๆกับดึงมือซ้ายเข้าติดช่วงลำตัวส่วนมือขวาดันขึ้นการทุ่มจะเป็นวงกลมโดยศูนย์กลางอยู่ที่ขาขวาของโทริกับข้อเท้าขวาของอุเก มีข้อแม้อยู่หน่อยนึงคือระหว่างที่ฝึกทุ่มหาจังหวะถ้าอุเกตัวแข็งๆจะฝึกลำบากครับต้องตัวอ่อนๆไม่ออกแรงต้านพอชำนาญและจับจังหวะได้แล้วค่อยว่ากันครับ

ข้อ2 การทุ่มโดยการจับไปที่ฝั่งขวาของอุเกทั้งสองมือ

ข้อ3 การทุ่มโดยการรวบจับแขนอุเกไขว้กัน

ผมแปลและศึกษาแต่พื้นๆครับพวกการจับฝั่งเดียวกันหรือว่ารวบแขนผมยังไม่สามารถใช้ได้เพราะพื้นฐานยูโดยังไม่แข็งอาจจะไปทำให้คู่ต่อสู้เจ็บได้ครับเลยขอผ่านข้อสองกับข้อสามไปก่อนครับ

โดยรวมแล้วไทโอโตชิ ท่านี้เหมือนง่าย นักยูโดใช้กันเยอะแต่ว่าคนใช้ผิดกันก็เยอะครับทำให้อานุภาพมันออกมาไม่เต็มที่จุดที่ผิดกันเยอะผมว่า

1.ตรงบริเวณลำตัวด้านหลังของโทริจะไม่ติดอยู่กับลำตัวด้านหน้าของอุเกเพราะถ้าลำตัวติดกันแล้วจะกลายเป็นฐานให้อุเกยึดไว้ทำให้ทุ่มได้ยากขึ้นครับรวมถึงแรงเหวี่ยงของท่าที่พื้นฐานเป็นวงกลมโดยจุดศูนย์กลางอยู่ที่ข้อเท้าขวาไทโอโตชิเป็นท่าทุ่มโดยใช้เทคนิคมือ แต่ว่าคนทุ่มต้องประสานแขน เอวแล้วก็ขาให้ลงตัวถึงจะทุ่มได้อย่างง่ายๆ

2.การลงน้ำหนักขาของผู้ทุ่มช่วงเริ่มฝึกใหม่ๆการลงน้ำหนักขาจะผิดซะส่วนใหญ่อาจารย์ที่โคโดกังเคยแนะนำว่าให้แบ่งน้ำหนักเป็นขาขวา60 ส่วนขาซ้ายซัก40การทุ่มถึงจะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นแต่ว่าการลงน้ำหนักไปที่ขาขวาเยอะก็เป็นจุดอ่อนเหมือนกันคืออาจจะโดนสวนกลับด้วยท่าโคโซโตการิ(จากจังหวะนั้นโดนไปล้มแน่นอนครับผมก็เป็นคนนึงที่ชอบหลอกล่อหรือรอให้คู่ต่อสู้ใช้ไทโอโตชิออกมาเพื่อสวนด้วยโคโซโตการิครับ)

3.ตำแหน่งการวางเท้าขวาในจังหวะแรกให้อยู่เขยิบจากกึ่งกลางมาทางขวาซักเล็กน้อย(ไม่ได้อยู่กึ่งกลางระหว่างขาทั้ง2ข้างของอุเก)เพราะว่าหลังจากหมุนตัวแล้วมันจะวางเท้าออกไปในตำแหน่งที่มีแรงส่งในการทุ่มได้พอดี ก่อนการทุ่มย่อเข่าทางซ้ายด้วยครับระหว่างทุ่มค่อยเหยียดขึ้นเป็นแรงสปริงส่งให้กับการทุ่มครับ

4.มือในจังหวะสุดท้าย มือซ้ายพยายามดึงให้อยู่ติดกับลำตัวของโทริทางด้านซ้ายส่วนมือขวาดันขึ้นไม่เปิดมือแบะออกถ้ามือขวาแบะออกนอกจากบางครั้งจะเกิดอันตรายกับข้อมือตัวเองแล้วทำให้แรงในการยกทุ่มลดลงไปอีกด้วย

5.บางครั้งอาจมีการหลอกล่อด้วยไทโอโตชิ2ชั้น (tai otoshi nidan-shiki) คือครั้งแรกจะเข้าทำโดยเน้นไปที่ขาซ้ายของอุเกก่อนลักษณะจะคล้ายๆกับโออุจิการิแล้วใส่ไทโอโตชิอีกครั้งไปที่ขาขวาจุดที่ผิดทำให้แรงในการทุ่มลดลงจะอยู่ที่ขาครับ คือว่าการเข้าครั้งแรก จะเป็นขาขวา ขาซ้าย+หมุนตัว แล้วก็ขาขวาพอจะเข้าครั้งที่2บางครั้งอยากเร็วจนลืมสเต็ปขาไปคือเข้าต่อไปแค่การยื่นขาขวาออกไปขัดที่ข้อเท้าของอุเกเป็นการเข้าที่ผิดครับถึงจะเร็วแต่ว่าไม่มีแรงถ้าทุ่มได้ก็คือคู่ต่อสู้ไม่ทันระวังหรือไม่ก็คู่ต่อสู้อ่อนหัดไปหน่อยสเต็ปขาของ ไทโอโตชิ2ชั้นที่ถูกต้องคือ การเข้าจังหวะแรก ขาขวา ขาซ้าย+หมุนตัวแล้วก็ขาขวา ส่วนการต่อจังหวะที่สองคือ ขาซ้าย+หมุนตัวแล้วค่อยวางขาขวาไปขัด ดังนั้นอย่าลืมการเพิ่มขาเข้าไปอีกก้าวนึงแรงดึงกับแรงเหวี่ยงจะเพิ่มขึ้นอีกมากมายครับแต่ถ้าใช้มือดึงไม่ถูกหลักกับการก้าวขาในจังหวะแรงไม่สมดุลย์ไม่ต้องรอใส่จังหวะสองหรอกครับโทริจะโดนปัดขาตั้งแต่ตอนที่วางขาขวาเข้าไปที่ขาซ้ายของอุเกแล้วครับ

อย่างที่บอกว่าท่านี้คนเล่นยูโดใช้กันเยอะครับ เลยต้องหาทางแก้ไว้ครับก็อยากให้ฝึกท่าโคโซโตการิเอาไว้ให้ชำนาญด้วยครับจะได้ไม่ต้องไปกลัวไทโอโตชิแต่ว่าคนที่ใช้ไทโอโตชิเก่งๆแล้ว จังหวะที่สมบูรณ์ ความแรงในการดึงมาครบบวกกับความเร็วบางครั้งคิดจะสวนก็โดนทุ่มล้มไปก่อนแล้วครับ

ท้ายสุดท่านี้น่าจะเป็นคู่ปรับกับอุจิมาตะฝั่งซ้ายปกติคนที่จับขวามาเจอกับคนจับซ้ายแล้วอุจิมาตะมักจะถูกงัดออกมาใช้ในทางกลับกันถ้าใช้ไทโอโตชิชำนาญแล้วสามารถสวนอุจิมาตะกลับได้ง่ายครับดังนั้นสมควรอย่างยิ่งที่จะฝึกไทโอโตชิให้ชำนาญ เจอกับพวกมือซ้ายอย่างน้อยก็เอาตัวรอดจากอุจิมาตะไปได้




Create Date : 22 มิถุนายน 2555
Last Update : 22 มิถุนายน 2555 20:47:18 น.
Counter : 5721 Pageviews.

15 comments
  
อยากหัดฝึกท่าขา คอมโบมาเป็นชุดๆครับ อต่ตอนนี้บาดเจ็บมี่หัวเข่า ภรรยาก็เลยไม่ให้เข้าเบาะ ก้อเลยต้องมาหาความรู้จากเน็ต ถ้ายังไงฝากตัวเป็นศิษย์สักคนนะครับ

กราบขอบพระคุณครับ
โดย: เด็กน้อย IP: 27.55.9.142 วันที่: 2 พฤศจิกายน 2555 เวลา:17:25:46 น.
  
ส่วนใหญ่ผมแปลมาจากหนังสืออีกทีครับ เป็นเพื่อนพอครับเพราะผมก็เพิ่งเริ่มเล่นไม่นานครับ

บาดเจ็บเหมือนกันเลยครับ ผมเข่าขวา

ท่าขาก่อนอื่นต้องทำให้เราสามารถรักษาสมดุลย์ได้ก่อนครับ(ท่าแขนหรือสะโพกก็อาศัยหลักเดียวกัน) ท่าที่จะช่วยให้เราสมดุลย์ดีขึ้น ผมแนะนำ เดอาชิบารัยครับ ปัดแบบเดินหน้าถอยหลัง ไม่ต้องอยู่เบาะก็ปัดได้ครับ แต่เจ็บขาอยู่จะปัดได้มั่ยอันนี้ไม่ทราบครับ
โดย: ablaze357 วันที่: 2 พฤศจิกายน 2555 เวลา:19:57:00 น.
  
ผมตอนนี้อายุ 30 แล้วครับ
ได้สายเขียวดองมาจะสิบปีได้กระมัง
ท่าทุ่ม ท่าอะไรก็จำไม่ค่อยจะได้
มือไม้ ก็คุมไม่ค่อยจะถูก
เผอิญขายาวเลยพอปัดได้ เกี่ยวได้ ฝึกอุจิมาตะมาตั้งแต่เด็กๆก็พอจะจำได้ลางๆ

พอดีที่โรงเรียนมีครูมาสอนยูโดให้เด็กๆ ก็เห็นเขาฝึกกันตั้งแต่สายขาว จนกลายเป็นเขียวกันทุกคน บวกกับการเพิ่งจะได้รับอนุญาตเล่นจากคุณภรรยา

ก็เข้าไปเล่นกับเขาได้สองครั้ง
เหตุการณ์จากเกี่ยวโคโซโต เเล้วตามลงไปหมายจะเข้าล๊อค

บังเอิญโชคร้ายหัวเข่าข้างขวาไปกระแทกกับนักกีฬาอีกคนเข้า
ตั้งแต่วันนั้นมามีอาการปวดด้านหลังเข่าทุกครั้งที่งอ หรือเหยียด เดินก็กระเพ็กเล็กๆ หากคิดจะใช้เข่าเพื่อการกระโดดตบจะปวดมาก แม้แต่จะคิดใช้ขาปัดเดอาชิบารัย ก็ไม่สามารถที่จะใช้ขาขวาเป็นหลักได้เลย ทุกครั้งที่เล่น หรือซ้อมก็มีอันต้องเซหรือล้มคว่ำไป

กลัวครับ กลัวว่าเส้นเอ็นหรือเข่าจะมีปัญหา กลัวที่จะไม่ได้เล่นยูโดอีก จึงไม่กล้าไปหาหมอ กลัวมากๆเลยครับ
โดย: เด็กน้อย IP: 171.4.152.135 วันที่: 2 พฤศจิกายน 2555 เวลา:21:47:13 น.
  
แล้วไทโอโตชินี่ ถ้าขาขวาเสีย แล้วผมจะมีสิทธ์ใช้ไหมครับถ้านี้ เพราะเท่าที่ดูๆแล้ว ท่านี้น่าจะรบกวนเข่าน้อย แถมยังทรงประสิทธิภาพอีกด้วย พี่ว่ายังไงครับ หรือว่าพี่มีท่าอะไรแนะนำคนขาใช้ไม่ได้อย่างผมให้ฝึกบ้างไหมครับ

กราบขอบพระคุณครับ
โดย: เด็กน้อย IP: 171.4.152.135 วันที่: 2 พฤศจิกายน 2555 เวลา:21:49:37 น.
  
จับทางขวา พอกลับตัวไปใช้ไทโอโตชิ ขาขวาก็จะต้องเป็นขาที่ยื่นไปขัดแถวข้อเท้าของคู่ต่อสู้ อาจารย์สอนมาว่าลงน้ำหนักที่ขาขวาประมาณ60-70เปอร์เซนต์ ส่วนขาซ้ายที่ไม่ได้ยืนออกไปนั้นก็ลง30-40เปอร์เซนต์ (ส่วนใหญ่คนที่เพิ่งเริ่มเล่นจะเทน้ำหนักไปทีขาซ้าย ทำให้พลังออกมาไม่เต็มที่)

แล้วขาขวาของคุณก็คงไม่ต่างอะไรกับขาขวาของผมในตอนนี้(ผมจานเข่าขวาหัก)เรื่องจะลงน้ำหนักให้ถูกต้องคงทำได้ยากครับ ถึงทำได้เป๋ะทุกอย่างถ้าคู่ต่อสู้หลบขาขวาของเค้าออกมาได้แล้วเอาขาซ้ายปัดโคโซโตใส่ไปที่ขาขวาข้างที่ยื่นออกมาของคุณแล้ว คุณล้มแน่นอนครับ

ไปหาหมอเถอะครับ เพื่อนผมเพิ่ง2อาทิตย์ที่แล้ว เอ็นไข้วตรงเข่าขวาขาดไปเส้นนึง คงต้องพักประมาณ4-6เดือนเป็นอย่างน้อยครับ แต่ถ้าทำการรักษาที่ถูกต้องยังไงก็กลับมาเล่นได้ครับ

เดี๋ยวนี้แต่ละครั้งที่เกี่ยวโคอุจิหรือโออุจิเข้าไป ความมั่นใจของผมเหลือแค่ครึ่งเดียวเอง เพราะกลัวจะไปกระแทกถูกเข่าขวาที่มันยังมีเหล็กอยู่ข้างใน เล่นไปกลัวไปมันก็ไม่ค่อยจะก้าวหน้าซักเท่าไหร่ครับ

เดอาชิบารัย ใช้ขาซ้ายปัดก็ได้ครับไม่จำเป็นต้องขวาอย่างเดียว ตอนนี้ที่ผมใช้เริ่มจะบ่อยคือท่า ฮาเนโกชิ แต่ก่อนท่านี้ผมทำแล้วมันไม่สมบูรณ์ซะที เพราะขาซ้ายผมยังสมดุลย์ไม่ดีเท่าไหร่ แต่พอเข่าขวาหักขาซ้ายต้องทำงานมากกว่าปกติ ตอนนี้มันแข็งแรงและสมดุลย์ดีมากๆเลยครับ อีกจุดนึงคือ แต่ก่อนผมให้ความสำคัญกับการเอาขาขวาไปปัดตอนใช้ฮาเนโกชิ พอขาขวาใช้ไม่ได้ ผมก็เลยค้นพบว่าแท้จริงแล้ว ฮาเนโกชิ ใช้สะโพกในการทุ่ม (ก็มันเป็นท่าทุ่มด้วยสะโพกนิครับ) พอผมจับหลักได้เอาสะโพกเข้าไปถูกที่ถูกทางมันก็ทุ่มง่ายครับ

เข้าถูกที่ถุูกทางแบ่งเป็น2อย่างครับ ท่าทุ่มด้วยสะโพกของโคโดกังจริงๆแล้วไม่ใช่การเอาตูดไปดันเป้ากางเกงของอีกฝั่งครับ แต่เป็นการเอียงตัวเอาสะโพกเข้าทางด้านข้าง (ท่าที่อธิบายการทุ่มด้วยสะโพกได้ดีที่สุดเห็นจะเป็น อุกิโกชิ เข้าแบบนั้นเลยครับ)ตรงนี้เรียกว่าการเข้าถูกทาง

การเข้าถูกที่ คือให้คิดว่าคู่ต่อสู้เป็นไม้ท่อนนึง (เสาไฟฟ้าก็ได้) หลับตานึกภาพหักครึ่งนึงของไม้ หรือว่าจุดที่อยู่กึ่งกลางความยาวของไม้ท่อนนั้น จุดนั้นคือที่ที่สะโพกสมควรจะเข้าไปดันครับ

ท่าทุ่มด้วยสะโพกส่วนใหญ่ ลำตัวด้านบนจะต้องชิดกับลำตัวของคู่ต่อสู้ครับ ยิ่งชิดเท่าไหร่มันก็มีเปอร์เซนต์ทุ่มได้มากขึ้นครับ อย่าลืมสิ่งสำคัญสุดที่เป็นพื้นฐานการทุ่มของยูโดครับ คุสุชิ(ทำลายสมดุลย์คู่ต่อสู้) สกุริ(การเข้าท่าของเราเอง) คาเค(การทุ่มในจังหวะสุดท้าย) แต่ผมขอบวกอีกอย่างครับนั้นคือ ไทซาบากิ หรือการอาศัยจังหวะเคลื่อนไหวของร่างกายสร้างจังหวะในการทำลายสมดุลย์และทำให้ท่าที่เข้ามีพลังยิ่งขึ้น

อีกอย่างที่สำคัญคือ สมดุลย์และการทรงตัว ต้องมั่นใจก่อนนะครับว่าคุณทุ่มชาวบ้านเค้าไปแล้วคุณทรงตัวได้ ไม่ใช่ล้มไปทับเค้าอีกที นอกจากจะทรงตัวได้แล้วยังจะต้องช่วยดึงช่วยเซฟคนที่ถูกทุ่มให้ได้ด้วยครับ ถึงจะเรียกว่าเป็นยูโดในอุดมคติของผมเลยครับ
1. ใช้ท่าพื้นฐานในการทุ่ม
2. ทุ่มออกมาแล้วสวย ทรงตัวได้ไม่เสียสมดุลย์หรือเสียก็น้อย
3. ช่วยเซฟคู่ต่อสู้หลังจากทุ่มไปแล้ว

แต่ว่า ไปหาหมอก่อนเถอะครับ จะได้เล่นกันไปอีกนานๆ
โดย: ablaze357 วันที่: 3 พฤศจิกายน 2555 เวลา:1:44:04 น.
  
สุดท้ายผมคงต้องไปหาหมอแน่ครับพี่
แต่ตอนนี้ยังไม่กล้า กลัวหมอบอกว่าเป็นนั่น นี แล้วภรรยาจะสั่งห้ามเล่นยาว....อิอิอิ

ตอนนี้ก็ได้แต่วิดพื้น กับ bench press ที่บ้านไปก่อน เสริมสร้างกล้ามเนื้อส่วนบน...^_^

เออพี่ครับ แล้วพี่มีการออกกำลังกายใดๆเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อบ้างไหมครับพี่
โดย: เด็กน้อย IP: 171.5.119.127 วันที่: 4 พฤศจิกายน 2555 เวลา:23:00:21 น.
  
แต่ก่อนปีที่แล้วเคยเอ็นข้อศอกขวาฉีกขาดจนหมอเกือบจะต้องผ่าตัด แต่ก็รอดมีดหมอมาได้ หลังจากนั้นหมอก็สอนทำกายภาพ (พอดีเป็นหมอเฉพาะทางเกี่ยวกับด้านกีฬา) ปกติก็จะใช้ดัมเบิล(10โล) แรกๆหมอให้ใช้แค่3โลก่อน ผมไม่รู้ว่าเรียกว่าท่าอะไร คือเอามือตั้งฉากแล้วก็ยกๆเอาประมาณ20ครั้ง แล้วก็ชูดัมเบลขึ้นหักยกไปด้านหลังตั้งฉากเหมือนกันอีก20ครั้ง ถัดมาก็เอาแขนวางราบกับโต๊ะหรือเก้าอี้ก็ได้ให้ข้อมือโผล่ออกมา แล้วยกเฉพาะข้อมืออีก20ครั้ง หลังจากนั้นพลิกแขนแล้วยกเฉพาะข้อมืออีก20ครั้ง ทำทั้งซ้ายและขวา ตรงนี้มันช่วยให้กล้ามเนื้อบริเวณรอบๆข้อศอกมารองรับเอ็นบริเวณนี้ได้ดีครับ ที่สำคัญมันตรงจุดช่วยเพิ่มแรงในการจับของยูโดด้วย

เบนเพรส ส่วนใหญ่ผมใช้น้ำหนักไม่เยอะ(ประมาณ30โล)แต่จะยกไปจนหมดแรง(ประมาณ60ครั้งมั้ง)แล้วพยายาม+ต่อไปอีก2-3ครั้ง

ท่าสค็วช แต่ก่อนผมก็ชอบนะ แต่ตอนนี้เข่าเป็นแบบนี้คงเล่นไม่ได้อีกนาน มันช่วยเพิ่มแรงในท่าเซโอนาเกะได้ดีทีเดียว แต่ก่อนผมเล่นจากน้ำหนักตัวผมจนถึงประมาณ130โลครับ
โดย: ablaze357 วันที่: 4 พฤศจิกายน 2555 เวลา:23:56:44 น.
  
130 สุดยอด ผมได้สามสิบโลเอง..อิอิ

กายภาพตอนเข่าพี่เจ็บนี เขาให้ทำกายภาพอะไรกับเข่าไหมอ่ะครับพี่

แล้วเอ็นศอกฉีกพี่ทำยังไงถึงได้รอดมาได้ครับ...เริ่มมีความหวัง..หุหุ
โดย: เด็กน้อย IP: 113.53.248.146 วันที่: 5 พฤศจิกายน 2555 เวลา:12:02:27 น.
  
กายภาพเข่าอธิบายยากครับ แต่หลักๆคือนั่งเก้าอี้ขาตั้งฉากแล้วก็เหยียดให้มันตรงพอเริ่มไปได้ก็ใส่น้ำหนักเข้าไปที่ละนิด ตอนนี้ต้นขาซ้ายกับขาขวามันไม่เท่ากันซะทีครับ ข้างฐ้ายวัดได้61เซน แต่ข้างขวาประมาณ55เซน

อีกแบบคือเอาหมอนรองตรงเข่าด้านหลังเหยียดขา กดน้ำหนักลงตรงส้นเท้า แต่ระวังนะครับปัญหาผมอยู่ที่กระดูกไม่ใช่เส้นเอ็น เดี๋ยวทำผิดที่แล้วจะแย่ครับ

เส้นเอ็นที่มือ ไม่ต้องทำอะไรรอร่างกายมันรักษาตัวเอง หมอบอกว่าตอนที่มันฉีกขาดนั้นโชคดีแขนผมมันมีกล้ามเนื้อช่วยรองรับน้ำหนักกับแรงกระแทกไปเยอะ ไม่งั้นมันจะขาดสะบั้นเป็น2ชิ้นคล้ายๆกับตอนบิดเอ็นปีกไก่นั้นแหละครับ หมอยังทิ้งท้ายไว้ว่าอีกนิดเดียวผ่าแน่ ถ้ามีปัญหาอีกก็ต้องผ่าแน่ๆ ช่วงนั้นผมลองขยับดูมันก็หลวมๆ แต่ก็อาศัยกายภาพดัมเบิลนี้แหละที่เอากล้ามเนื้อไปช่วยกระชับเอ็น
โดย: ablaze357 วันที่: 5 พฤศจิกายน 2555 เวลา:14:42:24 น.
  
ในที่สุดผมก้อไปหาหมอจนได้ครับพี่
ผลที่ได้หัวเข่ามันเสื่อมพอมีอะไรไปกระแทกหน่อยก็พาลจะเจ็บยาว
ผลสุดท้ายเลขที่ออกเข้าทางคุณภรรยา คือห้ามเล่นกีฬาเป็นเวลาหกเดือน
เพราะกลัวว่าจะเจ็บหนักกว่าเก่า อื้ม...ภรรยายิ้มแก้มปิ.ส่วนผมหน้าซีดเป็นไก่จะโดนเชือด....ห้ามเล่นกีฬาครึ่งปี...เอามีดแทงตูให้ตายยังดีกว่า....เฮ้อ
แล้วคุณพี่ล่ะครับสบายดีไหม ขอให้ร่างกายแข็งแรง สนุกกับยูโดทุกวันนะครับ

ผมเล่นเป็นแต่ท่าใช้ขา เด๋วต้องค้นคว้าและฝึกกันใหม่ ท่าไหนที่ไม่อันตรายต่อเข่าผม...อิอิอิ
โดย: เด็กน้อย IP: 27.55.150.174 วันที่: 11 พฤศจิกายน 2555 เวลา:14:52:39 น.
  
ไทซาบากิ หมายถึงกระชากหรือลากให้คู่ต่อสู้มาเข้าทางเราหรือเปล่าครับ

แล้วเวลาเล่นนี่คุณพี่จับสูงหรือต่ำครับ
ตัวผมส่วนมากจะจับสูงแล้วกดคอ ไม่ก้อกระชากคอเสื้อเขาให้มาหาเราแล้วก้อฟันโคโซโตต่อ ไม่ซ้ายก็ขวาที่เขาก้าวเข้ามาใกล้

ใช้ขาเพียวๆ ต่อไปคงต้องฝึกฮาเนโกชิตามคุณพี่แหละครับ
เพราะน่าจะอันตรายต่อขาน้อย

วันไหนคุณพี่ว่างรบกวนเปิดกระทู้สอนท่าที่ 4 ฮาเนโกชินะครับ

ผมอาจจะสร้างความรำคาญให้คุณพี่เยอะแยะ แต่อย่าเพิ่งทิ้งกันนะอย่างน้อยพี่ก็เป็นไอดอลยูโดขาเดียวของผม ใครจะเข้าใจผมเท่าคนขาหักด้วยกันเนอะพี่

กราบขอบพระคุณล่วงหน้าครับพี่
โดย: เด็กน้อย IP: 27.55.150.174 วันที่: 11 พฤศจิกายน 2555 เวลา:15:13:45 น.
  
อ่อ ฮาเนโกชิพี่ไว้แล้ว เจอภาษาอังกฤษ hane goshi เลยแอบมึนนิดหน่อย
เด๋วจะรีบศึกษางงยังไงจะรีบถามครับพี่
โดย: เด็กน้อย IP: 171.4.179.238 วันที่: 11 พฤศจิกายน 2555 เวลา:19:11:42 น.
  
ไทซาบากิ คือการเคลื่อนไหวที่ใช้แรงจากขาและลำตัวในการช่วยเสริมแรงดึงคู่ต่อสู้ บางครั้งเป็นการช่วยเสริมแรงในการหลบหลีกออกมา หลักพื้นฐานคือการก้าวขาหมุนตัว90องศากับ180องศา จุดนี้พวกนักยูโดแก่ๆเล่นมานานแล้วเค้าจะเก่งครับ(บางคนตัวนิดเดียวแต่ขยับทีดึงคู่ต่อสู้มาเข้าทางที่ต้องการได้เลย)

จับคอเสื้อ อาจารย์ให้จับปกติครับ เพราะแต่ก่อนผมใช้เซโอนาเกะ สูงไปมันไม่ถนัด ต่ำไปก็ไม่ได้ ก็กลางๆปกติแหละครับ แต่ตอนซ้อมถ้าใครจับสูงจะโดนอาจารย์เตือนให้กลับมาจับในจุดปกติ ปกติแล้วถ้าเจอคนจับขวาเหมือนกันไม่มีปัญหาค่อยๆคิดหาจังหวะยังไงมันก็มีท่าให้ใช้ออกไปจนได้ แต่ถ้าเจอพวกจับซ้ายมันจะเกะกะและผมหาจังหวะเข้าท่าไม่ค่อยจะได้(ต้องฝึกบ่อยๆให้ชำนาญให้ได้ครับ)

แรกๆโคโซโตผมก็คิดว่าเป็นการกดลงมาทั้ง2แขนไม่ว่าจะฝั่งที่จับแขนเสื้อหรือจับคอเสื้อ แต่หลังๆผมรู้สึกว่าโคโซโตเป็นการเอาขาขวาของเราไปปัดขาขวาของคู่ต่อสู้(ในกรณีที่จับขวา) ดังนั้นถ้าเราออกแรงกดทางด้านคอเสื้อคู่ต่อสู้เยอะไป น้ำหนักเค้าจะลงมาทางด้านขาซ้ายของเค้า ถึงเราจะปัดขาขวาได้แต่เค้าก็ยังทรงตัวด้วยขาซ้ายได้อยู่ดี ปกติที่ผมใช้คือการใช้มือซ้ายที่จับแขนเสื้อคู่ต่อสู้กดลง ส่วนมือขวาที่อยู่ที่คอเสื้อจะยกขึ้นเอียงหน่อยนึงให้น้ำหนักของคู่ต่อสู้เทไปทางขาขวาของเค้าเอง พอปัดแล้วถ้าถูกจังหวะมันจะล้มง่าย

พื้นฐานยูโดจะต้องใช้2แขน2ขาครับไม่ว่าท่าไหนก็ตาม แต่ตอนนี้ผมก็เหลือขาเดียวเหมือนกัน ก็อาศัยสะโพกหนุนช่วยแต่ว่าบางครั้งจะเข้าไปมันก็กลัวๆเหมือนกันว่าเข่า(จุดที่ผมมีปัญหาอยู่)จะไปกระแทกกับฝั่งตรงข้าม หลังๆก็เข้าแบบกล้าๆกลัวๆ
โดย: ablaze357 วันที่: 11 พฤศจิกายน 2555 เวลา:22:55:40 น.
  
เหนือสิ่งอื่นใดต้องลงมือฝึกด้วยการปฏิบัติครับ

จับปากกาเขียนหรือพิมในคอมช่วยให้เราจำได้ดีครับ

แต่มันไม่ช่วยให้เราเก่งขึ้นครับ
โดย: เทวราช มือเหนือเมฆ IP: 171.7.86.15 วันที่: 20 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา:12:48:43 น.
  
ครับผม พยายามอยู่ แต่ทำยังไงมันก็ไม่เก่งซะที สงสัยซ้อมน้อยไปหน่อย
โดย: ablaze357 วันที่: 22 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา:22:11:07 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Ablaze357.BlogGang.com

ablaze357
Location :
Chiba  Japan

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 15 คน [?]