Film Retro: Musical Films are Forever เปิดตำนานหนังเพลง ตอนที่ 1 หากนึกไม่ออก มาครับ เดี๋ยวผมจะมาย้อนรำลึกถึงสารพัดหนังเพลงตั้งแต่อดีตสมัยปู่ย่าหวานเย็นมาจนถึงปัจจุบันกันเลย มันต้องมีสักเรื่องล่ะน่าที่ครองใจคุณมาจนถึงทุกวันนี้ หรือไม่ก็รู้จักชื่อไว้ มันอาจมีหนังที่พ่อแม่เราชอบตอนสมัยจีบกันก็ได้นะครับ แล้วเราค่อยไปหามาให้ท่านดูรำลึกความหลัง เป็นของขวัญที่ไม่เลวนะครับเนี่ย ว่าจะทำเหมือนกัน อิอิ นานทีปีหนจะเป็นลูกที่น่ารักกะเข้าบ้าง ภาพยนตร์เพลงก็เป็นแนวหนังที่ได้รับความนิยมเสมอมาครับ มีขาขึ้นขาลงบ้าง แต่หากคนทำรู้ตักพลิกแพลงมันก็สามารถกลายเป็นงานฮิตที่จิบตาต้องใจผู้ชมได้อยู่ดี อันว่าภาพยนตร์เพลงคือภาพยนตร์ที่มีเพลงเป็นตัวเดินเรื่องครับ ไม่ว่าจะยัดเพลงใส่ปากตัวละครหรือไม่ก็มีเพลงประกอบเป็นตัวเล่าเรื่อง เล่าความรู้สึกและความเป็นไปของเรื่องราว ตามปกติแล้วลองขึ้นชื่อว่าเป็นหนังเพลงมันก็จะออกแนวตลก เบาสมองหรือไม่ก็รักโรแมนติก และต้องมีฉากการเต้นรำไปตามอารมณ์เพลง ชวนให้ผู้ชมเกิดอาการคึกคักอยากขยับแข้งขาบ้าง ภาพยนตร์เพลงมีวิวัฒนาการมาจากละครเวที เช่น บอร์ดเวย์ แต่ข้อได้เปรียบของหนังเพลงก็คือการถ่ายทำที่สามารถเลือกโลเกชั่นได้หลากหลาย ไม่เหมือนละครเวทีที่จะเนรมิตอย่างไรมันก็ยังไม่ห่างจากโรงละครไปไหนอยู่ดี อีกทั้งการกำกับภาพก็ทำได้หลายแนว เล่นมุมกล้องได้ ซึ่งนักสร้างหนังและตากล้องมือฉมังก็ใช้ข้อได้เปรียบนี้ในรูปแบบของการเหวี่ยงกล้องหรือสวิงภาพ รวมไปถึงตัดต่อให้ภาพตรงหน้าของผู้ชมกลายเป็นสิ่งตื่นตาตื่นใจ สมัยแรกๆ มีคนออกมาวิจารณ์ว่าหนังเพลงสู้ละครเพลงไม่ได้ ตรงที่ว่าหนังเพลงไม่ให้อิสระทางอารมณ์กับผู้ชม เพราะตากล้องจะเลือกจับภาพเพียงบางมุมเท่านั้น ไม่เต็มอิ่มเท่าดูบนเวทีแบบกว้างๆ แต่คนทำหนังก็ออกมาโต้แย้งว่า ละครเวทีกับภาพยนตร์เพลงต่างก็มีจุดเด่นและอรรถรสเฉพาะตัวต่างแนวทางกันไป และลีลาการจับภาพนั้นก็หาใช่การจำกัดมุมมองของผู้ชมไม่ แต่เป็นการเลือกนำเสนอช็อตเด็ดให้ผู้ชมได้ชิมต่างหาก ต่างฝ่ายต่างก็มีเหตุผลนะครับ ซึ่งก็จริงอย่างที่คนทำหนังว่า เสน่ห์ของละครเพลงบทเวทีก็แบบหนึ่ง เสน่ห์ของหนังเพลงก็แบบหนึ่ง การหาจุดด้อยมันไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น แต่มองที่จุดเด่นย่อมทำให้เราได้ความบันเทิงแบบเต็มเม็ดมากกว่า ภาพยนตร์เพลงนั้นเริ่มต้นก่อกำเนิดมาตั้งแต่ช่วงปี 1919 โดย Lee De Forest นักประดิษฐ์ชาวอเมริกัน แต่รูปแบบในสมัยนั้นจะเป็นการอัดแบบแยก ฟิล์มม้วนหนึ่ง แล้วก็มีแผ่นบันทึกเสียงอีกชุดหนึ่งเพื่อเปิดคู่กันไปตอนผู้ชมดูภาพยนตร์ ผลงานของ De Forest เป็นภาพยนตร์เพลงขนาดสั้น เนื้อหาในจอก็มักจะว่าด้วยเรื่องของวงดนตรี นักร้องและนักเต้นรำมาวาดลวดลายลีลากัน จากนั้นพอล่วงเข้าสู่เดือนตุลาคม ปี 1927 ค่ายหนังยักษ์ใหญ่อย่าง Warner Bros. ก็ส่งภาพยนตร์เรื่องยาวที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นหนังพูดเรื่องแรก ชื่อ The Jazz Singer ที่เป็นภาพยนตร์เพลงด้วย ตัวเอกคือ แจ็กกี้ โรบินโนวิทซ์ (Al Jolson) ชายชาวยิวที่หมายมั่นจะเป็นนักร้องแจ๊สที่โด่งดัง ท่ามกลางการคัดค้านของครอบครัว จนเขาต้องหนีออกจากบ้านเพื่อสานฝันตัวเองให้เป็นจริง ตัวหนังประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม ทำเงินไปราว $2.625 ล้านเหรียญ อย่ามองว่าเป็นเงินจิ๊บจ๊อยนะครับ เพราะสมัยนั้นค่าตั๋วน่ะแค่ไม่กี่เซ็นต์เท่านั้นเอง! จากความสำเร็จของ The Jazz Singer ทำให้เริ่มมีผู้สร้างพากันนำพาเอาภาพยนตร์เพลงออกมากำนัลผู้ชมหรือไม่หากเป็นหนังพูดธรรมดาก็ต้องแทรกฉากการร้องเล่นเต้นรำลงไปด้วยเพื่อให้คนดูครบอรรถรสและยังเป็นการเรียกผู้ชมได้อีกทางหนึ่ง จนปี 1929 หนังเพลงก็ได้สร้างประวัติศาสตร์อีกครั้งเมื่อ The Broadway Melody ได้รางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมไปครอง ซึ่งได้รับการบันทึกไว้ว่านี่คือหนังเพลงและหนังเสียงเรื่องแรกทีได้รับรางวัลนี้ ส่วนความสำเร็จก็ไม่ต้องพูดถึงครับ มีภาคต่อมาอีกสามตอนด้วยกัน แต่ภาพยนตร์ที่ถือว่าเป็นชนวนให้มีการสร้างหนังเพลงแห่ออกมาเป็นพรวนคือ Gold Diggers of Broadway (1929) จากค่าย Warner เจ้าเก่าที่ประสบความสำเร็จทุบทุกสถิติรายได้ ทำเงินสูงถึง $3.5 ล้าน ครองตำแหน่งหนังทำเงินสูงสุดตลอดกาลไปอีก 10 ปี (จนกระทั่ง Gone with the Wind (1939) มากระชากตำแหน่งไป) ตัวหนังได้รับคำชมอย่างมากในเรื่องการแสดงและการเต้นที่พลิ้วไหว จังหวะอารมณ์ของหนังก็งดงามและยิ่งใหญ่อลังการสมทุนสร้าง $500,000 เหรียญ หนังบอกเล่าถึงสาวๆ นักแสดงบอร์ดเวย์ที่ชื่อกลุ่มว่า Gold Digging ที่ตามหาทั้งรักแท้และเงินทอง แต่เมื่อถึงคราวต้องเลือกแล้วพวกเธอกลับตัดสินใจไม่ได้ว่าสิ่งใดที่สำคัญกว่ากัน พอเรื่องนี้ดังเท่านั้นล่ะครับ ทุกสตูดิโอพากันทุ่มทุนสร้างหนังเพลงออกมาอย่างมากมาย เพราะคนดูก็เรียกร้องอยากดูหนังแนวนี้อีก เพราะมันครบเครื่องทั้งเพลงดี ดนตรีเพลง บทภาพยนตร์ที่น่าติดตามและยังสอดแทรกแง่คิดอีกต่างหาก คนทำก็อยากได้เงินล่ะครับเลยแย่งกันทำ ผลปรากฏว่าปี 1930 เพียงปีเดียวมีภาพยนตร์เพลงออกมาสู่สายตาผู้ชมเกือบ 20 เรื่อง เรียกว่าดูกันให้ตามันเต้นระบำได้กันไปเลย เมื่อหนังเพลงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องก็ย่อมมีดาราขาประจำผู้นำความสำราญและสุนทรีย์ทางดนตรีมาฝากผู้ชมจริงไหมครับ ดาราที่ถือว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งหนังเพลงได้ถือกำเนิดในยุค 30 ได้แก่คู่ขวัญ Fred Astaire และ Ginger Rogers ที่เล่นเรื่องไหนเต้นคู่กันทีไรก็ดังเรื่องนั้น ผลงานระดับคลาสสิกก็ได้แก่ Top Hat (1935), Swing Time (1936) และ Carefree (1938) จุดเด่นของคู่นี้คือการแสดงและเต้นรำที่มีชีวิตชีวา ออกลวดลายร้องเพลงกล่อมผู้ชมได้อย่างอยู่หมัด ฉากซึ้งก็หวานจนน้ำตาลขึ้นจอ หรือฉากสนุกสนานก็ครึกครื้นถึงใจ มีข่าวว่าคนดูบางเจ้าทนไม่ไหวดูจบแล้วออกมาเต้นตามพี่แกหน้าโรงก็มี และยังว่ากันว่าชาวอเมริกันเริ่มมีพฤติกรรมทำท่าเต้นรำเมื่อแฮ้ปปี้ในชีวิตจริงก็เพราะคุณพี่สองคนนี้เองน่ะครับ (ไม่เชื่อลองหาดูสิครับ ใน Youtube ก็ได้ แล้วจะซึ้งว่าเขาเต้นได้เข้าถึง ซึ้งอารมณ์เพลงขนาดไหน คุณอาจอดใจไม่ได้ที่จะเต้นสักสองทีหรือขยับมือด้วยความเคลิ้ม) นอกจากนี้ก็ยังมี Gene Kelly ที่สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้วงการภาพยนตร์ไปพร้อมๆ กับการเต้นรำที่แสนเร้าใจ เมื่อเขาได้ขึ้นจอเต้นคู่กับเจ้าหนูเจอร์รี่ ตัวการ์ตูนยอดนิยมแห่ง Tom & Jerry ในหนังเรื่อง Anchors Aweigh (1945) มันได้กลายเป็นฉากเต้นรำที่คลาสสิกอีกหนึ่งฉากมาจนปัจจุบัน ก็คิดดูสิครับคนเต้นกับตัวการ์ตูนได้ สมัยนั้นถือเป็นเทคนิคที่สุดยอดในระดับที่ไม่ดูไม่ได้กันเลยทีเดียว Gene Kelly ยังเป็นดาราเท้าไฟผู้มีผลงานหนังเพลงคลาสสิกอย่าง An American in Paris (1951) ที่ได้ออสการ์ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมไปนอนกอด (และคว้าไปอีก 5 ตัว) ตามด้วยหนังเพลงที่ได้รับการยกย่องว่ายอดเยี่ยม ครื้นเครงและทรงพลังที่สุดตราบจนปัจจุบันอย่าง Singin' in the Rain (1952) กับฉากเต้นรำกลางสายฝนที่หนังสารพัดเรื่องเอามาคารวะและยั่วล้อ อย่างล่าสุดใน Austin Powers in Goldmember ก็เอามาล้อแบบเต็มคราบในฉากเปิดเรื่อง อมตะจริงๆ ครับฉากนี้ อย่าพลาดชมเชียวนะครับ ไม่ว่าคุณจะชอบหนังเพลงหรือไม่ แต่คุณจะหลงใหลในรสดนตรีก็คราวนี้นี่แหละ มีนักวิจารณ์อเมริกันบางคนถึงกับพูดว่า เมื่อคุณดูฉากนี้แล้ว คุณจะไม่มีวันมองสายฝนเป็นสิ่งน่าเบื่อได้อีก ล่าสุดปี 2006 หนังได้ครองตำแหน่งภาพยนตร์เพลงยอดเยี่ยมตลอดกาลจากการจัดอันดับของ American Film Institute และแถมท้ายอีกอย่างว่า เรื่องนี้ Kelly ช่วยกำกับด้วยครับ (สำหรับผมนะครับ เฉลยดาวเลยว่า ให้สี่ดาวครับ สุดยอดมาก!) ดาราและนักร้องอมตะก็แจ้งเกิดกันในยุคนี้นี่เอง เช่น Frank Sinatra ที่แสดงเป็นกลาสีฮาเฮคู่กับ Kelly ใน Anchors Aweigh แต่รายนี้เลือกทางเดินไปเป็นนักร้อง และประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเพลง My Way ที่โด่งดังหรือสารพัดเพลงแจ๊สแนวหวานได้อารมณ์ซึ้ง สำหรับวงการหนังเพลงก็สู่ช่วงขาขึ้นอีกครั้งในยุค 40 ภายใต้การนำของ Arthur Freed แห่งค่ายหนัง Metro-Goldwyn-Mayer หรือ MGM สัญลักษณ์สิงโตคำราม ที่ผสมผสานแนวทางหนังเพลงแบบเก่าที่ใช้คนเต้นเยอะๆ มาผนวกกับการเล่าเรื่อง จากเดิมคนเต้นก็เต้นเป็นแบ็คกราวน์ก็เริ่มมีบทบาทต่ออารมณ์หนังยิ่งขึ้น แต่สิ่งที่คนในวงการหนังเพลงจดจำได้ไม่เคยลืม คือการที่ Freed แนะนำ Vincente Minnelli ผู้กำกับหนังเพลงผู้มากความสามารถให้โลกได้รู้จักครับ Freed เป็นคนหนุนให้ Minnelli ได้สร้างสรรค์ผลงานอันแสนหลากหลายและเปี่ยมสีสัน ทั้ง An American in Paris (1951), Brigadoon (1954), Kismet (1955) และ Gigi (1958) โดยเรื่องแรกกับเรื่องหลังได้ออสการ์หนังยอดเยี่ยม และเรื่องหลังส่งให้เขาได้รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมมาครองในที่สุด ส่วน MGM ก็ได้สร้างผลงานหนังเพลงเยี่ยมๆ และครองตลาดหนังเพลงในยุค 40 อย่างสวยงาม แต่แล้วเมื่อยุค 50 เดินทางมาถึง วงการหนังเพลงกลับถึงช่วงขาลงและซบเซา ไม่มีใครใส่ใจที่จะดูหนังเพลงอลังการงานสร้าง ที่มีแดนเซอร์มาเต้นทีละมากๆ อีกต่อไป สาเหตุหนึ่งก็เนื่องมาจากยุค 30 และ 40 ที่ผ่านมา ได้มีหนังเพลงระดับตำนานมากมายที่เอามาดูซ้ำได้หลายรอบโดยไม่เบื่อหน่ายและกลายเป็นมาตรฐานที่สูงมาก ยิ่ง Singin' in the Rain มาตอกหมุดหลักไมล์ใหม่ในปี 1952 ทำให้หนังเพลงหลังจากนั้นดูเป็นหนังเพลงทั่วไปที่ไม่เด็ดดวงเท่า ความสนใจของผู้ชมเลยหลั่งไหลไปที่อื่นแทน ไม่ว่าจะหนังแนวเอพิคประวัติศาสตร์ดังๆ ลงทุนมากๆ หรือไม่ก็หนังแนวลึกลับแอ็กชันแทน อีกทั้งประจวบเหมาะกับการถือกำเนิดของดนตรีแนวร็อคและแนวป็อบที่มาเขย่าตลาดครองใจนักฟังรุ่นใหม่ เพลงหวานเย็นอันเป็นสัญลักษณ์ของหนังเพลงยุคเก่าจึงเริ่มถูกมองข้าม หลังจากยุค 60 เป็นต้นมา วัฒนธรรมป็อบและร็อคได้เข้ามาแทนเพลงรุ่นเก่าอย่างเต็มตัว มีการใส่ทำนองเพลงป็อบแทรกลงไปในหนัง หนังที่เน้นการร้องเพลงทั้งเรื่องไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร มีเพียงหยิบมือที่ประสบความสำเร็จ เช่น West Side Story (1961) ที่เนื้อเรื่องออกแนววัยรุ่นแบบโรมิโอกับจูเลียตเวอร์ชั่นป็อบร็อค กับ The Sound of Music (1965) ที่ยังคงสไตล์หนังเพลงคลาสสิก แต่แทรกความอบอุ่นลงไป สองเรื่องนี้ได้ทั้งเงินทั้งกล่องและกำกับโดย Robert Wise จนใครๆ นึกว่าชายคนนี้จะมาปลุกกระแสหนังเพลงให้ฟื้นอีกครั้ง แต่เมื่อ Wise ลงทุนไป $14 ล้านใน Star! (1968) หนังเพลงคลาสสิกร่วมสมัย แต่ผมที่ได้คือทำเงินไปเพียง $4 ล้าน ถือเป็นการปิดตำนานหนังเพลงรุ่นเก่าโดยสิ้นเชิงครับ สตูดิโอพากันพับโปรเจคท์หนังเพลงเก็บลงกรุจนหมดสิ้น ผู้ที่นำชีวิตชีวาสไตล์หนังเพลงกลับมาสู่จออีกครั้ง กลับไม่ใช่ผู้กำกับหน้าไหน แต่เป็นนักร้องเจ้าของฉายา The King of Rock 'n' Roll อย่าง Elvis Presley ที่ใช่เสน่ห์ทั้งจากหน้าตา น้ำเสียงและลูกคอเรียกให้ผู้ชม (โดยเฉพาะสาวๆ) ตีตั๋วเข้าไปชมภาพยนตร์เพลงที่เขานำแสดง ซึ่งงานแต่ละชิ้นประกอบด้วยเพลงเพราะ วิวสวยงาม เพราะมีการเปลี่ยนสถานที่ถ่ายทำไปเรื่อยๆ ส่วนมากมักจะเป็นชนบทที่งดงามหรือไม่ก็ริมหาดแดนสวรรค์ นางเอกในหนังทุกเรื่องของ Elvis ก็น่ารักทั้งนั้น หากคุณอยากสัมผัสรสชาติหนังสไตล์ Elvis ที่ดูสบาย ผ่อนคลายผมก็ขอแนะนำผลงานอย่าง G.I. Blues (1960), Blue Hawaii (1961), Viva Las Vegas (1964), Girl Happy (1965) และ Speedway (1968) หรือถ้าอยากดู Elvis ร้องเพลงเพราะ จีบสาวด้วย เลี้ยงเด็กน่ารักๆ ด้วยก็ต้องเรื่องนี้ครับ It Happened at the World's Fair (1963) น่าเสียดายที่ King ของเราจากโลกนี้ไปด้วยวัยเพียง 42 ปีเท่านั้น หากเขายังอยู่ก็ย่อมต้องมีผลงานตามมาอีกแน่นอน รวมแล้วเขาเล่นหนัง 31 เรื่องแล้ว เฉลี่ยปีละสองเรื่องกว่าๆ! หนังเพลงสไตล์ Elvis นั้น จะเต็มไปด้วยเพลงของเขาทั้งที่แต่งมาเพื่อหนังและที่เขาเคยร้องในอัลบั้มก่อนหน้าแล้วหยิบมาใส่ในเรื่อง ซึ่งจังหวะเพลงก็เน้นความสบาย สนุกครื้นเครง ตัวหนังก็ดูเอาเพลิน เรียกรอยยิ้มได้ชะงัดนัก ซึ่งถือว่าแตกต่างจากหนังเพลงรุ่นเก่าตรงที่ไม่มีความอลังการ ไม่มีการประสานเสียงใหญ่โตหรือโชว์พาวใดๆ ลักษณะเหมือนการแสดงบนเวทีคอนเสิร์ตมากกว่าจะเป็นละครเวทีบอร์ดเวย์ แฟนหนัง Elvis ยุคนั้นเคยอธิบายว่าที่เขาชอบหนังเพลงแนวใหม่แบบนี้มากกว่าก็เพราะมันไม่ยืดเยื้อ เนื้อเรื่องตรงประเด็น ฉากไม่ต้องประดิษฐ์มาก แต่ให้อารมณ์เพลงพาไปก็เพียงพอ แต่นักดูหนังรุ่นเก่าบางคนก็ออกมาค่อนขอดว่า หนังมันย่อยง่ายเด็กรุ่นใหม่เลยชอบกัน สู้หนังเก่าที่ใช้เวลาสร้างฉากและลงทุนไม่ได้ ก็ต้องแล้วแต่รสนิยมและความชอบของคนแต่ละวัยจริงๆ ครับ ผมเองก็หลงเสน่ห์หนัง Elvis เหมือนกัน ดูตอนวันหยุดแล้วมันสบาย ถึงขนาดอยากฝึกร้องเพลงไปจีบสาวๆ ด้วยล่ะครับ ดูเท่ห์ดี มีคำกล่าวว่าพอหมดยุค 60 หนังเพลงก็จบสิ้น ซึ่งผิดจากความจริง เพราะยังมีการสร้างหนังเพลงเรื่อยๆ เพียงแต่มีออกมาหลายแนวมากจนแยกประเภทจัดหมวดหมู่กันไม่ถูก ตั้งแต่มีการเปลี่ยนรูปโฉมกลายเป็นร็อคและป็อบแบบเต็มตัว พร้อมทั้งจับกลุ่มเป้าหมายที่วัยรุ่นเป็นหลัก นอกจากหนัง Elvis แล้วเรายังได้พบกับ Saturday Night Fever (1977) และ Grease (1978) หนังเพลงที่สะท้อนชีวิตวัยรุ่นทั้งเรื่องรัก เรื่องเรียนและปัญหา ที่แจ้งเกิดให้ดาราเท้าไฟนามว่า John Travolta, คนทำหนังตลกมือเยี่ยมอย่าง Mel Brooks ทำหนังเพลงแนวขำแบบเต็มที่ใน The Producers (1968) และผู้กำกับ Alan Parker ที่ใส่ลีลาใหม่ๆ ลงในภาพยนตร์เพลง เช่น Bugsy Malone (1976) ที่ใช้เด็กมาแสดงทั้งเรื่อง (Jodie Foster ร่วมแสดงด้วย) และด้วยเหตุที่หนังเป็นแนวเจ้าพ่อมาเฟียก็ต้องมีการเอาปืนมายิงกัน Parker ทำเก๋โดยให้กระสุนปืนเป็นขนมพายแทนเพื่อลดความรุนแรง ช่างคิดจริงๆ ครับ ส่วนหนังเพลงแนวเก่าก็ใช่จะหมดสิ้น ยังมี My Fair Lady (1964), Mary Poppins (1964), Cabaret (1972) ที่ได้ขึ้นไปวิ่งเล่นบนเวทีออสการ์ ซึ่งเรื่องแรกและเรื่องหลังกวาดรางวัลไปแบบสมศักดิ์ศรี หนังการ์ตูนคลาสสิกของ Walt Disney ก็ยังยึดมั่นทำออกมาพร้อมเอาเพลงใส่ปากตัวการ์ตูนอย่างเคย แต่ก็ไม่โด่งดังเท่ายุคเก่าก่อน แต่ถ้าพูดถึงผลงานแนวหนังเพลงที่คนยุค 70 พากันจดจำและคลั่งไคล้ในความแปลกพิลึกต้องยกให้ The Rocky Horror Picture Show หนังปี 1975 ที่สร้างจากละครเวทีสุดเพี้ยนจากอังกฤษที่โด่งดังข้ามน้ำข้ามแผ่นดินไปทั่วโลก จุดเด่นคือการผสมผสานระหว่างเพลงร็อคแอนด์โรลเข้ากับภาพยนตร์แนวสยองขวัญยุคเก่า แบบ Dracula หรือ Frankenstein ที่ต้องมีปราสาทเก่าๆ และตัวละครแปลกๆ พล็อตเรื่องก็แหวกแนวแล้วครับ เมื่อคู่รักหนุ่มสาวแบรด (Barry Bostwick) และ เจเน็ต (Susan Sarandon) ขับรถหลงเข้าไปบนถนนสายเปลี่ยว แล้วยางยังมาแตก ฝนยังจะตกอีก ทั้งคู่เลยตัดสินใจเดินหาบ้านคนเพื่อขอความช่วยเหลือ แล้วพวกเขาก็เจอปราสาทหลังเบ้อเริ่ม ภายในก็มีคนท่าทางแปลกๆ มากมาย ไม่ทำอะไรนอกจากเต้นระบำรำฟ้อน และหัวหน้าของคนเหล่านี้คือแฟรงค์ เอน ฟาเธอร์ (Tim Curry กับการแสดงที่ถือเป็นโคตรแห่งความบ้า) มนุษย์แต๋วจอมโหดวิปริตที่กำลังจะสร้างสิ่งมีชีวิตที่สมบูรณ์แบบที่สุดชื่อว่าร็อคกี้ แบรดและเจเน็ตเลยต้องมาเป็นสักขีพยานแบบไม่เต็มใจ... แล้วพวกเขาจะรอดไปจากปราสาทบ้าหลังนี้ได้อย่างไร สิ่งที่ทำให้หนังทุนสร้างแค่ $1.2 ล้านเรื่องนี้ครองใจคนจนกระหน่ำทำเงินไปกว่า $139.8 ล้าน ก็ด้วยรสชาติที่แปลกใหม่ไม่เหมือนใครความเพี้ยนที่เต็มพิกัด แม้จะมีกลิ่นอายหนังสยอง แต่หนังกลับสามารถผสมเข้ากับความเป็นหนังเพลงที่ครื้นเครงได้อย่างไม่น่าเชื่อ แต่เชื่อเถอะครับ ผมนั่งอึ้งคาตามาแล้ว งงมากว่ามันเข้ากันได้อย่างไร และที่ต้องชมคือ เพลงเพราะมากๆ คอเพลงแนวร็อคแอนด์โรลพลาดไม่ได้ขอรับ ไหนๆ ก็ไหนๆ ขอแวะเอาตัวอย่าง The Rocky Horror Picture Show มาให้ดูเลยครับ ผมมั่นใจว่ามันจะส่งผลสองอย่างเมื่อคุณชม นั่นคือ ถ้าไม่ทำให้คุณอยากดู ก็จะทำให้คุณคิดว่า "นี่มันหนังอะไรของมันเนี่ย!" ยุค 70 80 จึงเป็นยุคแห่งความหลากหลายของภาพยนตร์เพลง ทั้งหนังทดลองและหนังสไตล์เดิมๆ พากันมาเดินพาเหรดเยอะไปหมด ยังมีหนังเพลงที่โดดเด่นมีเอกลักษณ์เฉพาะตนอีกหลายเรื่องครับ ขอติดไว้เล่าต่อคราวหน้า ผมจะร่ายตั้งแต่ปลายยุค 80 ไปจนถึงหนังเพลงปัจจุบันว่ามีการพัฒนาเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง ก่อนหมดตอนที่ 1 นี้ผมขอเอาคลิปที่คลาสสิคที่สุดคลิปหนึ่งของวงการภาพยนตร์เพลงครับ นั่นคือ ฉากเต้นรำกลางสายฝนแห่ง Singin in the Rain ที่น่าจะทำให้หลายๆ ท่านอยากหาหนังเรื่องนี้แบบเต็มๆ มาดูได้ไม่ยาก... ยิ่งช่วงนี้หน้าฝนด้วย ผมว่าหาหนังเรื่องนี้มาดูปรับอารมณ์น่าจะดีครับ คุณจะได้เห็นสายฝนในมุมที่ต่างออกไป... ขอเชิญครับ |
บทความทั้งหมด
|