ตัวอย่างหน้า blog
Bloggang.com : weblog for you and your gang

ห้องสมุด Xiengyod
ว่าด้วยเรื่องธงต่างๆ ในเมืองไทยและนานาสาระ
 

Your name

Location :


 
Group Blog

 

 
Latest Blog

 

 
All Blog

 

 
Friends' blogs
 
Links
 

หมวดธงเสือป่าและลูกเสือ (ธงประจำคณะลูกเสือแห่งสยาม และธงลูกเสือชาวบ้าน)

(คัดลอกจาก ฉวีงาม มาเจริญ. ธงไทย. กรุงเทพมหานคร : กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2520.)


ธงประจำคณะลูกเสือแห่งสยาม


รูปที่ ๖๙ ธงประจำคณะลูกเสือแห่งสยามหรือแห่งชาติ


ธงประจำคณะลูกเสือแห่งสยาม หรือธงประจำคณะลูกเสือแห่งชาตินี้ เป็นธงส่วนรวมของลูกเสือทั่วประเทศ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานให้แก่คณะลูกเสือเมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๓ เนื่องในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดค่ายคราวชุมนุมลูกเสือแห่งชาติครั้งที่ ๒ ณ พระราชอุทยานสราญรมย์ ลักษณะธงในขณะนั้นคือ พื้นธงเป็นธงไตรรงค์หมายถึงชาติ มีเครื่องหมายรูปธรรมจักรประดิษฐานอยู่กลางผืนธงหมายศาสนา มีรูปวชิราวุธอยู่ที่ยอดคันธงเป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระมหากษัตริย์ และมีแถบรัตนาภรณ์ผูกห้อยอยู่กับคันธง มีความหมายว่าพวกลูกเสือทุกคนต่างก็ทรงขึ้นต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รูปที่ ๖๙)

พ.ศ. ๒๔๗๙ ลักษณะธงประจำคณะลูกเสือแห่งชาติไม่เปลี่ยนแปลง พระราชบัญญัติธง พุทธศักราช ๒๔๗๙ มาตรา ๑๓ กำหนดลักษณะไว้ว่า พื้นธงชาติธงชาติ (ธงไตรรงค์) ขนาดกว้าง ๕๐ เซนติเมตร ยาว ๕๒ เซนติเมตร กลางธงมีตราธรรมจักรสีเหลือง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๓๒ เซนติเมตร คันธงยาว ๒ เมตร ๖๐ เซนติเมตร ที่ยอดคันธงทำด้วยเงินเป็นรูปวชิระ ต่อมาได้มีพระราชบัญญัติธง (ฉบับที่ ๒) พุทธศักราช ๒๔๘๑ แก้มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัติเก่า แต่ขนาดและลักษณะธงประจำคณะลูกเสือแห่งชาติยังคงเดิม (รูปที่ ๖๙)




ธงลูกเสือชาวบ้าน


ธงประจำรุ่นลูกเสือชาวบ้าน


กิจการลูกเสือชาวบ้านซึ่งกำลังเป็นที่นิยมของชาวบ้านอยู่ในขณะนั้น ก่อตั้งขึ้นโดยการริเริ่มของ พ.ต.อ.สมควร หริกุล ผู้บังคับการตำรวจตระเวนชายแดนเขต ๔ ร่วมกับนายวิโรจน์ พูนสุข ผู้ตรวจการศึกษาเขต ๙ จังหวัดอุดรธานี และนายสมเกียรติ พรหมสาขา ณ สกลนคร ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น พร้อมด้วยวิทยากรจากกองกำกับการตำรวจภูธรตระเวนชายแดนเขต ๔ และวิทยากรจากเขตการศึกษาธิการเขต ๙ เป็นผู้ร่วมกันจัดทำหลักสูตรทดลอง โดยอาศัยหลักสูตรการอบรมของผู้บังคับบัญชาลูกเสือสำรองเป็นเค้าโครง ใช้เวลาการฝึกอบรม ๕ วัน ๕ คืน ได้ทำการฝึกลูกเสือชาวบ้านรุ่นแรกเมื่อวันที่ ๙ สิงหาคมพ.ศ. ๒๕๑๔ ที่หมู่บ้านเหลาคอน ตำบลแสงพา กิ่งอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย มีชาวบ้านเข้ารับการฝึกอบรมจำนวน ๑๑๕ คน ปรากฏว่าผลเป็นที่น่าพอใจ จึงได้ทำการฝึกอบรมรุ่นต่อๆ มาในจังหวัดอุดรธานี หนองคาย นครพนม สกลนคร และร้อยเอ็ด ประมาณ ๓๐ รุ่น กิจการลูกเสือชาวบ้านเป็นที่สนใจของประชาชนมาก เพราะได้เสริมสร้างความสามัคคีกลมเกลียวให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชนทุกระดับฐานะและอาชีพ เป็นการลดช่องว่างในสังคมไทยได้เป็นอย่างดี พล.ต.ต.โรมฤทธิ์ จำรัสโรมรัน รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรตระเวนชายแดน จึงนำเรื่องขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ทรงทราบ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรการแสดงกิจกรรมของลูกเสือชาวบ้านที่จัดขึ้นถวายที่กองกำกับการตำรวจภูธรตระเวนชายแดนเขต ๔ ค่ายเสนีย์รณยุทธ จังหวัดอุดรธานี เมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ ปรากฏว่าเป็นที่พอพระราชหฤทัย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ รับเอากิจการลูกเสือชาวบ้านไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ ให้จัดการฝึกอบรมลูกเสือชาวบ้านได้ครบจำนวน ๘ ล้านคน และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานผ้าผูกคอลูกเสือชาวบ้านพร้อมด้วยวอคเกิ้ลและหน้าเสือ ให้แก่ผู้สำเร็จการฝึกอบรมลูกเสือชาวบ้านทุกคน ตลอดจนได้รับพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ให้เป็นทุนในการริเริ่มดำเนินการเป็นเงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท

ชั่วระยะเวลาเพียง ๕ ปี (นับตั้งแต่ลูกเสือชาวบ้านถือกำเนิด จนถึงเวลาที่เรียบเรียงเรื่องนี้ ในพ.ศ. ๒๕๑๙) กิจการลูกเสือชาวบ้านแพร่หลายเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง มีการฝึกอบรมไปแล้วจำนวนมากกว่า ๕,๐๐๐ รุ่น มีสมาชิกมากว่า ๖ ล้านคน และกำลังเพิ่มขึ้นทุกๆ วัน ทุกภาคทั่วประเทศ เพื่อให้ครบแปดล้านคน ตามพระราชประสงค์ ลูกเสือชาวบ้านที่สำเร็จการฝึกอบรมแต่ละรุ่น และได้รับพระราชทานพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและธงประจำรุ่น เพื่อเป็นสิริมงคลและสัญลักษณ์ประจำหมู่คณะ ซึ่งประกอบไปด้วยความสามัคคีพร้อมเพรียงเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

ลักษณะของธงลูกเสือชาวบ้านเป็นธงสี่เหลี่ยมพื้นสีเลือดหมู ที่มุมธงด้านบนชิดคันธงเป็นรูปตราประจำคณะลูกเสือแห่งชาติ สีเหลือง ที่พื้นธงมีอักษรเป็นแถวบอกลำดับรุ่นที่ ตำบล อำเภอ และจังหวัด ของลูกเสือชาวบ้านที่ได้รับพระราชทานธงสีขาว ยอดคันธงทำด้วยเงินเป็นรูปวชิราวุธ ระหว่างยอดคันธงกับมุมธง มีแถบสีเดียวกับธงผูกเป็นหูกระต่ายห้อยชายทั้งสองยาวลงมา (รูปที่ ๗๐) ริมธงทั้ง ๓ ด้านติดระบายเป็นชายครุยสีดำ

 

Last Update : 9 สิงหาคม 2551
17:17:39 น.

Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.