ตัวอย่างหน้า blog
Bloggang.com : weblog for you and your gang

ห้องสมุด Xiengyod
ว่าด้วยเรื่องธงต่างๆ ในเมืองไทยและนานาสาระ
 

Your name

Location :


 
Group Blog

 

 
Latest Blog

 

 
All Blog

 

 
Friends' blogs
 
Links
 

หมวดธงเสือป่าและลูกเสือ (ธงประจำกองลูกเสือ)

(คัดลอกจาก ฉวีงาม มาเจริญ. ธงไทย. กรุงเทพมหานคร : กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2520.)


ธงประจำกองลูกเสือ

กิจการลูกเสือเกิดขั้นหลังการสถาปนากิจการเสือป่าไม่นานนัก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ตราข้อบังคับลักษณะการปกครองลูกเสือออกบังคับใช้ เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๔ เมื่อลูกเสือได้ทำพิธีเข้าประจำกองกันบ้างแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานธงประจำกองเพื่อเป็นเครื่องแทนพระองค์ กองลูกเสือที่ได้รับพระราชทานธงประจำกองเป็นอันดับแรก คือลูกเสือกองร้อยที่ ๑ (ลูกเสือหลวง) ได้รับพระราชทานเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗ ลักษณะเป็นธงพื้นสีดำ กลางมีรูปพระมนูแถลงสาร จากนั้นก็ได้พระราชทานธงให้แก่ลูกเสือกองอื่นตามลำดับโอกาสอันสมควร เช่น ในโอกาสสวนสนามถวายพระพรชัยมงคลในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาบ้าง ในโอกาสเสด็จประพาสหัวเมืองบ้าง ทุกคราวที่พระราชทานธงก็พระราชทานพระบรมราโชวาทแก่ลูกเสือเพื่อให้ประจักษ์ในความสำคัญของธง และหน้าที่ของตนทุกครั้ง ความสำคัญของธงประจำกองลูกเสือซึ่งทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนั้น ปรากฏอยู่ในข้อบังคับลักษณะปกครองลูกเสือ พุทธศักราช ๒๔๖๑ ข้อ ๔๔ และ ๔๖ พอสรุปความได้ว่า ธงประจำกองลูกเสือนั้นเปรียบเสมือนเครื่องหมายแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานสำหรับเป็นที่เคารพของบันดาลูกเสือ ลูกเสือแต่ละมณฑลที่ได้รับพระราชทานธงจึงเสมือนกับได้อยู่ใกล้ชิดพระองค์ ฉะนั้นจึงเป็นหน้าที่ของลูกเสือทุกคนที่ต้องรักษาธงไว้แม้ชีวิตของตน มิให้ตกไปอยู่ในมืออริราชศัตรูได้ มณฑลต่างๆ จะต้องจดหมายเหตุวันเดือนปีที่ได้รับพระราชทานธงเป็นหลักฐาน และต้องจัดพิมพ์พระบรมราโชวาทในวันนั้นแจกแก่ลูกเสือทุกคนให้เก็บรักษาไว้ ตลอดจนติดพระบรมราโชวาทนั้นไว้ที่กรมกองเพื่อลูกเสือจะได้ระลึกถึงหน้าที่ของตนอยู่เสมอ

ธงประจำกองลูกเสือต่างๆ ของไทยสมัยแรกมีลักษณะและสีสันต่างกัน ไม่ได้มีลักษณะเหมือนกันดังเช่นปัจจุบันนี้ รูปที่ปรากฏอยู่กลางผืนธงล้วนมีความหมายทั้งสิ้น สุดแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ออกแบบ สมัยนั้นนายช่างผู้ร่างแบบธงเพื่อทูลเกล้าฯ ถวายตามพระราชประสงค์ คือ สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ธงเหล่านี้ถึงรัชกาลที่ ๗ ได้พระราชทานเพิ่มเติม และได้พระราชทานครบทุกมณฑลในงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๐



ธงประจำกองลูกเสือมณฑลต่างๆ มีลักษณะดังนี้


รูปที่ ๕๔ ธงประจำกองลูกเสือมณฑลปัตตานี


๑. มณฑลปัตตานี พื้นธงสีเขียวใบไม้ ขอบสีเหลือง กลางธงมีรูปปืนนางพญาตานี ซึ่งเป็นปืนที่พระยาตานีนำมาถวายโดยความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรี ทั้งนี้เพื่อให้ลูกเสือในมณฑลนั้นได้ระลึกถึงความจงรักภักดีต่อพระยาตานีไว้เป็นตัวอย่างอยู่เสมอ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานเมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๘ ในคราวเสด็จพระราชดำเนินประพาสปักษ์ใต้ (รูปที่ ๕๔)


รูปที่ ๕๕ ธงประจำกองลูกเสือมณฑลนครศรีธรรมราช


๒. มณฑลนครศรีธรรมราช พื้นธงสีเขียวใบไม้ ขอบสีม่วง กลางธงมีรูปสังข์ทักษิณาวัตรวางบนพานทอง เป็นเครื่องนำให้ระลึกถึงจังหวัดวงขลาอันเป็นจังหวัดสำคัญของมณฑลนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานเมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๘ ในคราวเสด็จพระราชดำเนินประพาสปักษ์ใต้ (รูปที่ ๕๕)


รูปที่ ๕๖ ธงประจำกองลูกเสือมณฑลภูเก็ต


๓. มณฑลภูเก็ต พื้นธงสีเขียวใบไม้ ขอบสีฟ้า กลางธงมีรูปเขา ยอดเขามีเพชรฉายรัศมี เป็นเครื่องนำให้ระลึกถึงท้องที่อันอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติของมณฑลนี้ เช่น แร่ดีบุก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๘ ในคราวเสด็จพระราชดำเนินถึงสถานีตรัง (ทับเที่ยง) (รูปที่ ๕๖)


รูปที่ ๕๗ ธงประจำกองลูกเสือมณฑลกรุงเทพ


๔. มณฑลกรุงเทพฯ พื้นธงสีเหลือง มีพระพุทธรูปพระมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) บนพื้นธง เป็นเครื่องเตือนใจให้ลูกเสือมณฑลนี้ระลึกว่า พระพุทธรูปนี้เป็นหลักชัยแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ นับว่าเป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์และเป็นที่เคารพของปวงชนทั่วไป ตลอดจนพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งปวง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๘ (รูปที่ ๕๗)


รูปที่ ๕๘ ธงประจำกองลูกเสือมณฑลนครชัยศรี


๕. มณฑลนครชัยศรี พื้นธงสีน้ำเงินแก่ กลางธงมีรูปพระปฐมเจดีย์สีเหลือง อันเป็นพระมหาเจดีย์สำคัญยิ่งของมณฑลนี้ทั้งเป็นโบราณสถานนับเนื่องในปูชนียสถานแห่งพระพุทธศาสนา ธงนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๙ เนื่องในการเสด็จทอดพระเนตรการประลองยุทธเสือป่าและลูกเสือ (รูปที่ ๕๘)


รูปที่ ๕๙ ธงประจำกองลูกเสือมณฑลราชบุรี


๖. มณฑลราชบุรี พื้นธงสีน้ำเงินแก่ กลางธงมีรูปรองพระบาทวางบนพานทอง เพื่อให้ลูกเสือทุกคนระลึกว่า มณฑลนี้เป็นมณฑลสำคัญทางทิศตะวันตกของกรุงเทพฯ เช่นเดียวกับมณฑลปราจีนซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออก และลูกเสือทุกคนก็มีความจงรักภักดีเพื่อทำการฉลองพระเดชพระคุณ จึงพระราชทานเครื่องหมายนี้เพื่อเป็นเครื่องระลึกถึงพระองค์อยู่เสมอ ธงนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๗ เนื่องในการเสด็จทอดพระเนตรการประลองยุทธเสือป่าและลูกเสือ (รูปที่ ๕๙)


รูปที่ ๖๐ ธงประจำกองลูกเสือมณฑลอยุธยา


๗. มณฑลอยุธยา พื้นธงสีเลือดนก กลางธงมีรูปปราสาทอยู่ใต้ต้นหมัน เพื่อเป็นเครื่องหมายแห่งการสถาปนากรุงศรีอยุธยา ซึ่งเคยเป็นเมืองหลวงของประเทศไทยมาแต่โบราณ เพื่อเตือนให้ลูกเสือทุกคนในมณฑลนี้ระลึกเสมอว่า ตนล้วนแต่เป็นเชื้อสายของนักรบที่เคยประกอบวีรกรรมอันดีมาในอดีต ธงนี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๙ ในคราวเสด็จไปทรงประกอบพิธีสังเวยอดีตมหาราช (รูปที่ ๖๐)


รูปที่ ๖๑ ธงประจำกองลูกเสือมณฑลพิษณุโลก


๘. มณฑลพิษณุโลก พื้นธงสีม่วง กลางธงมีรูปสังข์อยู่ในวงจักรสีแดง ขอบนอกสีขาว เป็นเครื่องหมายของนามจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งเคยเป็นเมืองสำคัญมาในสมัยโบราณ ธงนี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อวันที่ ๘ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๙ ในคราวเสด็จพระราชดำเนินประพาสมณฑลฝ่ายเหนือ (รูปที่ ๖๑)


รูปที่ ๖๒ ธงประจำกองลูกเสือมณฑลพายัพ


๙. มณฑลพายัพ เป็นธงสีบานเย็น กลางธงมีรูปช้างเผือกยืนในขวง เป็นเครื่องหมายให้ระลึกถึงจังหวัดเชียงใหม่ อันเคยเป็นราชธานีของไทยมาแต่สมัยโบราณ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานเมื่อวันที่ ๒๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๙ ในคราวเสด็จพระราชดำเนินประพาสมณฑลฝ่ายเหนือ (รูปที่ ๖๒)


รูปที่ ๖๓ ธงประจำกองลูกเสือมณฑลจันทบุรี


๑๐.มณฑลจันทบุรี พื้นธงสีไพล กลางธงเป็นรูปสี่เหลี่ยมสีม่วง มีรูปกระต่ายในดวงจันทร์สีไพลอยู่กลาง เป็นเครื่องหมายถึงจังหวัดจันทบุรีอันเป็นจังหวัดสำคัญของมณฑลนี้ ธงนี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๐ ในคราวเสด็จมาทรงเปิดค่ายชุมนุมลูกเสือแห่งชาติครั้งแรก (รูปที่ ๖๓)


รูปที่ ๖๔ ธงประจำกองลูกเสือมณฑลนครราชสีมา


๑๑. มณฑลนครราชสีมา พื้นธงสีแสด กลางธงมีรูปพัทธสีมาสาวอยู่ภายในรูปแปดเหลี่ยมสีเขียว เป็นเครื่องหมายถึงจังหวัดนครราชสีมาอันเป็นจังหวัดสำคัญของมณฑลนี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๐ ในคราวเสด็จมาทรงเปิดค่ายชุมนุมลูกเสือครั้งแรก (รูปที่ ๖๔)


รูปที่ ๖๕ ธงประจำกองลูกเสือมณฑลนครสวรรค์


๑๒. มณฑลนครสวรรค์ พื้นธงสีม่วง กลางธงมีรูปปราสาทลอยอยู่บนเมฆ เป็นเครื่องหมายถึงจังหวัดนครสวรรค์อันเป็นจังหวัดสำคัญของมณฑลนี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๐ ในคราวเสด็จมาทรงเปิดค่ายชุมนุมลูกเสือแห่งชาติครั้งแรก (รูปที่ ๖๕)


รูปที่ ๖๖ ธงประจำกองลูกเสือมณฑลปราจีน


๑๓. มณฑลปราจีนบุรี พื้นธงสีไพล กลางธงมีรูปสีเหลี่ยมสีน้ำเงินแก่ และมีรูปนกยูงรำแพนอยู่ในวงกลมสีแดงอยู่ตรงกลาง มณฑลนี้จังหวัดฉะเชิงเทราเป็นจังหวัดสำคัญ และอยู่ติดต่อกับมณฑลกรุงเทพฯ ทางทิศตะสันออก นับว่าเป็นมณฑลที่สำคัญมาก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๐ ในคราวเสด็จมาทรงเปิดค่ายชุมนุมลูกเสือแห่งชาติครั้งแรก (รูปที่ ๖๖)


รูปที่ ๖๗ ธงประจำกองลูกเสือมณฑลอุดร


๑๔. มณฑลอุดร พื้นธงสีแสด กลางธงมีรูปท้าวกุเวรหรือท้าวเวสสุวัณยืนถือตะบองอยู่ในรูปสี่เหลี่ยมสีขาว เป็นสัญลักษณ์ว่าเป็นผู้พิทักษ์รักษาทิศอุดร เพื่อให้ลูกเสือมณฑลนี้ระลึกถึงเครื่องหมายอันนี้ ว่าตนมีหน้าที่ป้องกันประเทศแถบสำคัญทางทิศอุดร พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๐ ในคราวเสด็จมาทรงเปิดค่ายชุมนุมลูกเสือแห่งชาติครั้งแรก (รูปที่ ๖๗)



ธงประจำกองลูกเสือนี้ ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตยแล้ว รัฐบาลได้พิจารณาเห็นว่าควรเปลี่ยนแปลงรูปร่างลักษณะธงประจำกองลูกเสือใหม่ ให้มีแบบเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั่วประเทศ เพื่อความเหมาะสมคล้องกับกาลสมัย จึงกำหนดลักษณะธงประจำกองลูกเสือขึ้นให้มีลักษณะตามที่ปรากฏในมาตรา ๑๓ ของ พระราชบัญญัติธง พุทธศักราช ๒๔๗๙ คือ


รูปที่ ๖๘ ธงประจำกองลูกเสือ


พื้นธงเป็นธงไตรรงค์ มีขนาดกว้าง ๔๐ เซนติเมตร ยาว ๖๐ เซนติเมตร ที่กลางธงมีรูปวงกลม พื้นสีเหลือง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๒๗ เซนติเมตร มีขอบเป็นสีดำ ๒ ขอบซ้อนกัน ขอบนอกกว้าง ๒ มิลลิเมตร ขอบในกว้าง ๑ มิลลิเมตร ระยะขอบนอกและขอบในห่างกัน ๒ มิลลิเมตร กลางวงกลมเป็นตราคณะลูกเสือแห่งสยามและนามจังหวัดที่ได้รับพระราชทานธงเป็นอักษรสีดำอยู่ใต้ตรา คันธงยาม ๒ เมตร ๖๐ เซนติเมตร ยอดคันธงทำด้วยเงินเป็นรูปวชิระ

ภายหลังได้มีการยกเลิกมาตรา ๑๓ ในพระราชบัญญัติธง พุทธศักราช ๒๔๗๙ โดยความใน พระราชบัญญัติ (ฉบับที่ ๒) พุทธศักราช ๒๔๘๑ ซึ่งตราเมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ข้อความในมาตรา ๑๓ ที่บัญญัติใหม่นี้ ได้เพิ่มเติมลักษณะธงประจำกองยุวชนขึ้น ๒ แบบ ส่วนลักษณะธงประจำกองลูกเสือยังคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

 

Last Update : 9 สิงหาคม 2551
17:17:44 น.

Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.