Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2550
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
9 พฤษภาคม 2550
 
All Blogs
 
แนะแนวทางการแก้อารมณ์กรรมฐาน

พระสุนทรธรรมากร (หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ)

นักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย พร้อมทั้งบรรพชิต และอุบาสก อุบาสิกา ทุก ๆ คน
นี่พวกเราได้ปฏิบัติธรรมมาเป็นเวลา ๒ คืน กับคืนนี้แล้ว ก็นึกว่าในด้านการปฏิบัติทางจิตของบรรดาพุทธบริษัททั้งหลาย ก็คงจะมีอะไรเกิดขึ้นเป็นบางอย่างในอารมณ์ของนักปฏิบัติเอง ในเรื่องการเกิดนี้ก็ต้องเกิดแน่ๆ และทีนี้อยากให้เข้าใจว่า รูปร่างกายของเรา ที่เราใช้กันโดยสมมุติว่าเรา ว่าเขานี้ประกอบด้วยอะไร มีอะไรแฝงอยู่ในรูปนามนี้ ถ้าพูดตามหลักของธรรมะท่านว่า รูปัง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นามรูปัง คือ “อนิจจัง” ความไม่เที่ยง “ทุกขัง” ความเป็นทุกข์ของสังขารทั้งหลาย “อนัตตา” ความเป็นของไม่ใช่ตน ทั้ง ๓ อย่างนี้ คือ “อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา” มีอยู่ในนามรูป ตัวของเราเองก็มีรูป มีนาม เพราะเหตุนั้น “อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา” ท่านจึงเรียกว่า “พระไตรลักษณ์”ไตรลักษณ์นี้ ก็อยู่กับตัวเรา ก็คงเกิดปรากฏขึ้นแก่เราอยู่ตลอดเวลา เราจะหนีจากไตรลักษณ์นี้ไม่ได้ เพราะสิ่งทั้ง ๓ อย่างนี้ คุมเราอยู่คุมตัวเรานี้
อนิจจัง ความไม่เที่ยง เกิดขึ้นมาตั้งแต่เล็กจนโต แปรสภาพเดิมมาเรื่อยๆ แปรมา ๆ แรก ๆ ก็เป็นเด็กอ่อน ๆ นอนอยู่ในเบาะมากนั้นก็กลายเป็นความเปลี่ยน ความเปลี่ยนอันนี้ เรียกว่า “ชรา” คือ ชรามาปกปิดตาของเราไว้เราไม่เรียกว่า “ แก่ “ เราเรียกว่ามันกำลังใหญ่ขึ้นมา เด็กกำลังใหญ่ขึ้นมาโตขึ้นมา เป็นหนุ่ม เป็นสาว โตขึ้นมาเรื่อย ๆ เราเข้าใจกันอย่างนี้ แต่ความจริงแล้วมันแก่ขึ้นไปเรื่อย ๆแก่ขึ้นไปจนตลอด แก้มก็ตอบ ฟันก็หัก เราถึงได้รู้ว่าเออ คนนั้นแก่ คนนี้แก่ แก้มตอบฟันหัก เนื้อหนังสะพรั่งพร้อม กำลังวังชาก็โรยแรงลงไป ไม่เป็นปกติ เราจึงเข้าใจว่าแก่ แต่ความจริง มันแก่มาแต่กำเนิดแล้ว ตั้งแต่ตั้งอยู่ในท้อง ได้เดือน ๑ แก่ขึ้นมาอีกได้ ๒ เดือน เด็กอยู่ในท้องแก่ขึ้นมาอีกได้ ๓ เดือน และโยมทั้งหลายยามพบกันกับเพื่อนๆ เคยถามว่า เพื่อนท้องของเธอได้กี่เดือนแล้วได้ ๒ เดือนแล้ว และเพื่อนล่ะ ฉันได้ ๓ เดือนแล้วงั้นฉันก็แก่กว่าเพื่อน ๑ เดือน นี่พูดกันอยู่ ว่าแก่ เมื่อออกมาแล้วก็ไม่ได้พูดว่าแก่ แล้วที่นี้บอกว่ากำลังโตขึ้น เปลี่ยนเรื่อยๆ ชราแปลว่า “แก่ ลาก” ลากเราไปให้เราแก่ไปเรื่อย ๆ ไม่ให้หนุ่มไปข้างหน้า ให้แก่ไปข้างหน้าตลอด อันนี้แหละเราเรียกว่า “ไตรลักษณ์” อันหนึ่ง
ข้อที่สอง เมื่อแก่ไปแล้ว อันความไม่สบายต่างๆ นานาก็ตามมา ในระยะความแก่ ในระยะความเป็นอยู่ของชีวิต แต่ละวันๆ นั้นมีความไม่สบายมีความทุกข์ร้อนในร่างกาย มีการเจ็บปวดต่างๆ เด็กมักร้องไห้ หรือผู้ใหญ่ก็แสดงอาการทุรนทุราย ไม่สบาย ตลอดถึงการปวดอุจจาระ ปัสสาวะ ก็ไม่สบายทั้งนั้น อันความไม่สบาย ความทนได้ยาก อันนี้เรียกว่า ทุกขัง
ทุกขัง คือ ความเป็นทุกข์ของสังขารร่างกาย ทำไมจึงเป็นทุกข์ ทำไมมันจึงแก่ไปเรื่อย ๆ ไม่คงที่ สาเหตุที่เป็นอย่างนี้ ก็เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ของเรา มันเป็นของธรรมชาติต่างหากล่ะ ที่ปรุงขึ้นมาด้วยธาตุทั้ง ๔ ประชุมกันขึ้นโดยสภาวะธรรมชาติเอง ประชุมกันขึ้นมาจึงเป็นรูป เป็นนาม เรียกว่า “ รูปธรรม นามธรรม “
เมื่อเป็นรูปธรรม นามธรรมขึ้นมาแล้ว เราไปสมมุติเอาว่าเป็นของเราแต่ความจริง สิ่งเหล่านี้นับเป็น “อนัตตา” มันไม่ใช่เรา มันก็เปลี่ยนแปลงไปตามสภาวะของสภาวะธรรมเหล่านั้น เราจะยึดถืออย่างไรก็ไม่ได้ ไม่อยู่ในอำนาจของเราเลย ฝืนอำนาจ ฝืนความปรารถนา ฝืนความตั้งใจ สูญเปล่าจากความตั้งใจ ทุกอย่างในร่างกายนี้ เพราะเหตุนั้น ท่านจึงให้พิจารณารูปธรรมนามธรรมที่เราใช้นี้ว่ามันตกอยู่ในอำนาจของพระไตรลักษณ์ ให้พิจารณา อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตาเรื่อย ๆ เพื่อเราจะได้ไม่หลง ในขณะนี้โยมทั้งหลายก็คงจะพอเข้าใจมันแล้วว่า เรานี้มีพระไตรลักษณ์ควบคุมอยู่ทุกคน เมื่อเห็นรูปปรากฏขึ้นในตา จะเป็นดีก็ตาม รูปไม่ดีก็ตาม ในตรงนี้มันจะชวนให้เราเกิดกิเลส ให้จิตใจเกิดกิเลสขึ้น และถ้าเราสังวรระวังได้ เราจะมีสติสัมปชัญญะควบคุมอยู่ กิเลสก็เกิดไม่ได้
เมื่อตามองเห็นรูป ทั้งรูปดี รูปไม่ดี ก็พิจารณาว่าสิ่งเหล่านี้มันเป็นของไม่เที่ยง ไม่อยู่นานเท่าไรหรอก มันก็เปลี่ยนสภาพเดิมไปเรื่อยๆ คือ มันเป็นอนิจจัง มันเป็นทุกขัง เป็นอนัตตา ไม่ยั่งยืนถาวรไม่ใช่ของเราไม่ใช่ของเขาสักว่าแต่รูปเฉยๆ ไม่ได้มองถึงความรัก ไม่ได้มองถึงความเกลียด เมื่อมองความรัก ความเกลียดไม่ได้ คือตัวปัญญา พร้อมแล้วปกป้องไว้แล้ว อันนี้เป็นแนวทางที่ดีไม่ให้เราลุ่มหลงในรูปที่เรามองเห็น
ถ้าเราได้ยินเสียงทางหู ความรู้ทางหูก็เกิดขึ้น เรียกว่า “ โสตวิญญาณ” คือ วิญญาณขันธ์ มันเกิดขึ้นทางหู ความรู้ทางหูเกิดขึ้น อันนี้ก็ให้กำหนดเพียงว่า “ เสียง “ จะเป็นเสียงดี หรือชั่วไม่ต้องคำนึง เสียงเป็นของไม่เที่ยงเป็น อนิจจัง เป็นทุกขัง เป็นอนัตตา เป็นของไม่จริง ถ้าพิจารณาได้อย่างนี้แล้วเรียกว่าคนที่พร้อมด้วยสติสัมปชัญญะ มีจิตที่อยู่ในหลักกรรมฐาน คือตัววิปัสสนากรรมฐาน ส่วนกิเลสที่จะเกิดทางหู คือความรักในเสียง ความเพลิดเพลินในเสียง ความใคร่ในเสียง ก็เกิดไม่ได้ หรือ กิเลสที่จะให้เกิดความ โกรธ ความชัง ในเสียงที่เราได้ยิน จะเป็นเสียงคน เสียงสัตว์ และเสียงอะไรก็ตาม ไม่ให้มันเข้ามาถึงใจ เพียงแต่ได้ยินในหู เพียงแต่มิให้เกิดขึ้น วิญญาณรับรู้เท่านั้นเอง แต่ว่าเราไม่ได้หลง ไม่ได้รัก ไม่ได้ชังในเสียงนั้น ก็เรียกว่า กิเลส ทั้งหลายเกิดขึ้นไม่ได้แล้ว เมื่อกิเลสเกิดไม่ได้ เรียกว่าเราพร้อมด้วยสติ สัมปชัญญะ อันนี้ เป็นแนวทางปฏิบัติที่กำจัดกิเลสได้ หมายความว่า บังคับกิเลสไม่ให้เกิดขึ้น ถ้าได้กลิ่นทางจมูก กลิ่นหอมก็ตาม กลิ่นเหม็นก็ตาม กลิ่นหอมไม่ยินดี กลิ่นเหม็นก็ไม่ยินร้าย ก็ยกขึ้นสู่ พระไตรลักษณ์ ว่ามันเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เหม็นหอมมันอยู่ในตัวเราเอง มันอยู่ในรูปนามนี้ ไม่ได้อยู่ที่ไหน พิจารณาอย่างนี้ได้ ก็แสดงว่าเราพร้อมด้วยสติสัมปชัญญะ มีธรรมะอันเป็นตัวนักปราชญ์ปกปิดกิเลสทั้งหลายไม่ให้เกิดขึ้น
ถ้าหากว่าเราได้รสทางลิ้น จำเป็นต้องได้แน่ ลิ้นสำหรับรู้รส แต่ว่าไม่ยินดีในรสที่เอร็ดอร่อย รสหวาน รสที่เราต้องการ และไม่ยินร้ายในรสที่เราไม่ต้องการ ก็พิจารณาว่า มันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ด้วยกันทั้งนั้น สิ่งที่เราไม่ต้องการ คือ เย็นมาก แข็งมาก ร้อนมาก นี่ไม่ต้องการแล้ว
สำหรับสัมผัสทางกายที่มันเกิดขึ้น สิ่งที่เราต้องการก็คือ อ่อนนิ่ม และพอดี เย็นพอดี ร้อนพอดี นี่เราต้องการ แต่สิ่งที่ต้องการทั้ง ๒ อย่างนี้ เราก็วางจิตให้เป็นกลางเสมอ ว่า ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย ในสิ่งที่ดี และสิ่งที่ร้าย ให้ถือว่ามันไม่เที่ยงตลอด ๆ ไป มันมีอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แฝงอยู่ พิจารณาเห็นในสิ่งที่เรารับสัมผัส อันนี้เรียกว่า ตัวสติสัมปชัญญะ คือ ตัวปัญญามันเกิดขึ้น ตัวโมหะ ตัวหลง ก็หลงไม่ได้ ตัวโทสะจะเกิด ก็เกิดไม่ได้ ตัวโลภะ หรือราคะ จะเกิด ก็เกิดไม่ได้ และทีนี้ใจนึกคิดนั้น ๆ นึกดีก็ไม่ยินดี นึกชั่วก็ไม่ยินร้ายวางจิตให้เป็นกลางว่ามันเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันไม่ใช่เรา มันไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ของเขา เป็นเรื่องของพระไตรลักษณ์ต่างหาก เรียกว่าเรามีสติ สัมปชัญญะพร้อม เมื่อพร้อมแล้วอย่างนี้ก็เรียกว่า “ มรรคสัจจะ “ เป็นตัวมรรค มรรคสัจจะในอริสัจ ๔ มรรคสัจจะมันเกิดขึ้นแล้ว เมื่อมรรคสัจจะเกิดขึ้นแล้วมันเกิดตลอดไป บังคับได้ตลอดไป แล้วตัวนิโรธมันก็จะเกิดขึ้นมาอีก พริบตาเดียวเกิดขึ้นแล้ว อันนี้เป็นหลักของธรรมะ ที่พระพุทธเจ้าชี้ว่าเป็นแนวทางตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า และของพระอริยสาวกทั้งหลาย ถ้าหากเราปล่อยให้เกิดกิเลสขึ้นเรื่อยๆ เราจะพยายามหักห้ามเท่าไรมันก็ไม่อยู่ อันนี้มันเป็นการยาก ยากที่เราจะเดินทางนี้ ถ้าหากว่าพวกเราปฏิบัติอย่างที่หลวงพ่อพูดแล้วนั้นน่ะ เราจะปฏิบัติได้ง่ายขึ้นเรื่อยๆ
ทีนี้ หลวงพ่อจะถามโยมทั้งหลายดู คือ เรามีรูป มีเวทนา มีสัญญา มีสังขาร และมีวิญญาณ เรียกว่า “เบญจขันธ์ ขันธ์ ๕ อย่าง “ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เบญจขันธ์ ทั้ง ๕ นี้มันยังไม่ได้เกิด แต่มันเกิดเพียงรูปขันธ์ในขณะนี้รูปขันธ์มันเกิดก่อนเวทนาขันธ์ จะเกิดนั้น เช่น เรานั่งสมาธิ นั่งกำหนดไป ๆ มันเกิดปวดแข้งปวดขา จิตใจก็กังวลอยู่ อันนี้ ให้เข้าใจว่าเวทนาขันธ์มันเกิดขึ้น เวทนาขันธ์เกิดความไม่สบายนี้เรียกว่า “ทุกขเวทนา” ถ้ามันเกิดขึ้น อย่างน้อยให้กำหนดรู้ว่า “เออ! ทุกขเวทนา” ให้กำหนดว่าทุกขเวทนาเมื่อกำหนดแล้ว ให้ถอนจิตจากสิ่งที่เรากำหนดนั้น ให้ทำจิตให้ว่าง ว่างจากเวทนาตัวนั้น อันนี้เป็นไหม โยมเคยเกิดไหม นั่งไปปวดไหม ปวดแข้ง ปวดขาไหม (แม่ชี….ปวดค่ะ) นั่นแหละเวทนา ขันธ์เกิด ถ้าเวทนาตัวนี้เกิดขึ้นมาแล้ว ถ้ามันเกิดปวดขึ้นมา ให้กำหนดว่า “ทุกขเวทนาๆ” เพราะมันเป็นอนิจจังมันไม่เที่ยง มันต้องเกิดอย่างนี้ จะห้ามจะไม่ให้มันเกิดไม่ได้ มันต้องเกิด เมื่อมันเกิดมันก็ต้องดับได้ ด้วยการพิจารณาเห็นว่า ทุกขเวทนาๆ ๆ แล้วก็ถอนจิตออก วางเสียอย่าไปกำหนด อย่าไปยึดถือมัน เมื่อไม่ยึดถือแล้ว ก็เรียกว่า ดับได้ ดับเวทนาได้ เมื่อดับได้ สัญญาขันธ์มันไม่เกิด ถ้าดับไม่ได้สัญญาขันธ์ มันก็จะเกิดมา มันจะจำในความทุกขเวทนา จำอยู่เรื่อยๆ ไม่ลืม นึกคราวใด ก็พบมันอยู่ มันปวด จำได้อยู่ว่าปวดแข้ง ปวดขา นี่สัญญาขันธ์มันเกิดแล้ว สัญญาขันธ์เกิดขึ้นแล้ว เกิดขึ้นทั้ง ๒ ขันธ์แล้วนะ เมื่อเกิด ๒ ขันธ์มาแล้วมันแก้ลำบาก มันจำไม่ลืม ถ้ามันจำไม่ลืม มันจะให้ทุกข์ตลอดไป เมื่อทุกข์ตลอดไปแล้วมันจะเกิดความหงุดหงิด คือ ไม่พอใจในทุกข์นี้ กิเลสตัวนี้จะขึ้น มาแล้วให้ระวัง เมื่อสัญญาขันธ์เกิดแล้ว ความนึกคิดต่างๆ ในเรื่องที่เราจำนี่สังขารมันเกิดขึ้นมาอีกแล้ว เรียกว่า “ สังขารขันธ์ “
เมื่อมันเกิด ๓ - ๔ ขันธ์แล้ว เราก็ดับยาก เพราะเหตุนั้นให้ระวังเบื้องต้น เมื่อเรานั่งสมาธิไป มันเกิดไม่สบายขึ้น ให้กำหนดว่า “ เวทนาขันธ์ ทุกขเวทนาขันโธ ๆ “ ให้พิจารณาอยู่อย่างนี้ ทำไมมันจึงเป็นทุกข์ ก็เพราะว่าธรรมชาติมันจะต้องเป็นไปอย่างนี้ แต่ขอให้เรารู้ทุกข์เท่านั้น ให้รู้ทุกข์แล้วก็ถอนจิตออกจากทุกข์ อย่าไปจับ อย่าไปถือมัน ถ้าเราไปจับ ไปถืออยู่ มันยิ่งทุกข์มาก ถ้าเราไม่จับไม่ถือมัน ก็ไม่ทุกข์ ตัวอย่างเช่น เวลาที่โยม ดูมหรสพต่าง ๆ ดูหนังที่โยมต้องการ นั่นแหละ ไปดูหนังนี่ แหม! มันเพลิดเพลินในเรื่อง ของหนังเรื่องต่าง ๆ ถึงจะเจ็บปวดร่างกายเท่าไรก็ไม่ถือมัน เราถือประมาณในการดูหนัง นั่นแหละ อดหลับ อดนอนก็ทนได้ ไม่ได้ถือว่าง่วงนอน ไม่เอาล่ะ แต่เอาดูหนังนั่นแหละจนสว่าง จนตลอด โยมก็ทนได้ เพราะไม่ได้ถือในสิ่งที่มันปวด มันหนัก ถ้ามาถืออย่างนี้ ในการปวด การหนักแล้ว โยมจะดูหนังไม่จบเรื่อง อันนี้ก็เช่นเดียวกันถ้าเราไปยึดไปถือมันอยู่ เราไม่ปล่อยไม่วาง เราก็ต้องเป็นทุกข์ตลอด ในการทำสมาธิก็ลำบาก
ทีนี้เวลานั่งสมาธิ เวลาหลับตา พอจิตของโยมกำหนดไป หายใจเข้า “ พุท “ หายใจออก “ โธ “ อยู่อย่างนี้จนจิตสงบลงไป สงบ คือ ไม่รับรู้อารมณ์ทางนอกแล้ว เสียงไม่รับรู้ ทางกายก็ไม่รับสัมผัส ไม่มีเจ็บมีปวดอะไรปรากฏทางตาไหม หรือว่าไม่เห็นอะไรเลย (เห็นรูปครับ) ถ้าเห็นรูปแล้ว โดยกำหนดอย่างไร ( พุทโธเหมือนเดิม ) เออ พุทโธ แปลว่า ผู้รู้ ผู้เห็น แล้วทีนี้ ถ้าเห็นอย่างนั้นโยมวางพุทโธเสีย พอเห็นรูปเกิดขึ้นมา จะเป็นรูปอะไร ก็ตาม รูปคนหรือสัตว์ไม่ต้องกำหนดหรอกว่าคน หรือสัตว์ คนหรือสัตว์นั้นเป็นสมมุติเป็นบัญญัติ ไม่ใช่สภาวะธรรม เราสมมุติกัน พูดกันเอง ถ้าเป็นรูปขึ้นมานี้ รูปอย่างเดียวกัน เป็นสภาวะธรรม เพราะมันมีรูป มีนาม ถ้าเห็นแล้วต้องกำหนดว่า “รูป” นึกในใจรูป พอเห็น รูปอย่างนี้ รูปมันจะดับไปทันที คือ เราจี้ถูกตัวคล้ายๆ กับเรายิงนกถูก ลูกศรเราคม นกก็ตกลงมาเลย อันนี้ถ้าเรานึกว่ารูปมันถูกตัวของมัน รูปนั้นจะหายไป พอหายไปแล้ว โยมต้องอุทิศส่วนกุศลให้เลยอันนี้ถ้าเป็นรูปเปรต เป็นรูปอะไรต่าง ๆ พวกที่คอยรับส่วนกุศลจากเรา เขาจะพ้นทันที พ้นจากความเป็นเปรตทันที ถ้าเป็นรูปพี่รูปน้อง รูปพ่อรูปแม่ที่ตายไป เราเห็นอย่างนี้ กำหนดว่ารูป ไม่ต้องว่าพ่อ ไม่ต้องว่าแม่ อันนั้น มันเป็นสมมุติพูดกันเอง ต้อง บอกว่ารูปเฉย ๆ พอรูปดับวูบไป อุทิศกุศลให้เลย พ่อแม่ของเราจะพ้น พ้นจากความเป็นเปรต ด้วยอำนาจจิตที่แหลมคมของเรานี้อุทิศส่วนกุศลให้ หายไปเลย พ้นจากอัตภาพนั้น ไปเกิดดีแล้ว เคยได้เห็นอะไรไหม ?
ถ้าโยมเห็นอะไรอย่างนี้ ต้องแก้อย่างหลวงพ่อว่านะ เห็นรูปก็ต้องว่ารูป เห็นทางตาต้องว่ารูป สิ่งใดที่ปรากฏในตาขึ้นมา กำหนดว่ารูปทั้งนั้น อย่าให้มันเข้าถึงใจ ถ้ามันเข้าถึงใจแล้ว เห็นรูปโยมจะกลัวนะ บางทีมันแสดงอาการต่างๆ เป็นรูปคนตาย รูปซากศพ เป็นต้น อาจจะเข้าใจว่าผีหลอก อย่างที่เราชอบพูดกันน่ะ ถ้าเห็นอย่างนั้นเราจะกลัว ถ้าเรากำหนด ไม่ทัน แต่ถ้าเรากำหนดทัน ให้กำหนดว่ารูป อย่างนี้แหละมันจะหยุดทันที จะเข้ามาใกล้เราไม่ได้ ความกลัวของเราก็จะไม่มี มันหายไปเลย ถ้าได้ยินเสียงทางหู อันนี้เราเรียกว่า เรานั่งสมาธิได้ยิน เราเรียกว่า เสียงทิพย์ เป็นเสียงละเอียด เสียงทิพย์ได้ยินมาทางหู เช่นเสียงร้องไห้ก็ดี เสียงคนพูดกันก็ดี เสียงอะไรก็ดี ให้โยมกำหนดว่า “ เสียง “ เสียงอย่างนี้ เสียงก็ จะหายไปทันที เมื่อเสียงหายไปแล้วก็แผ่เมตตา อุทิศส่วนกุศลให้ไปเลย เสียงก็จะหายไป ถ้าเราได้รับกลิ่นทางจมูกก็ให้กำหนดว่า “ กลิ่น “ ถ้าเกิดรสอะไรขึ้นทางลิ้นของเรา คล้าย ๆ มันมีรสเปรี้ยว รสจืด รสจางขึ้นมา ก็ให้กำหนดเหมือนกัน ถ้ามันมีสัมผัส มันเย็น มันร้อน อ่อน แข็ง เกิดขึ้นในร่างกาย ให้กำหนด “ โผฏฐัพพะ “ สิ่งเหล่านี้ก็จางหายไปทันที ให้จับให้มันถูก แก้ให้มันถูก ถ้าแก้ไม่ถูกมันไม่หาย
อันนี้หลักการปฏิบัติกรรมฐานต้องเป็นอย่างนี้ มันต้องเกิดอยู่ในขันธ์ทั้ง ๕ นี้แหละ ไม่เกิดที่ไหนหรอก เกิดอยู่นี้ ดับอยู่นี้ จะห้ามไม่ให้เกิดไม่ได้ต้องเกิดแน่ ถ้าเกิดแล้วต้องดับ แต่ให้ดับในการกำหนดของเรา ถ้ามันดับไปเฉยๆ เราก็ยังไม่มี จิตของเรายังไม่มี ให้เราดับด้วยสติ สัมปชัญญะ เรารู้เท่าทันมัน ให้มันดับในขณะนั้น ดับได้อย่างนี้ แล้วนะ ตัวทุกข์มันจะไม่เกิด ตัวความทุกข์จะไม่เกิด ความกลัวจะไม่เกิด การดับในขณะนี้ ได้น่ะจะเป็นมรรคถ้าจัดเข้าในอริสัจ ๔ จัดเป็นมรรค เราดับได้สนิท มันสบายใจ สงบลงไปอันนี้มันเป็นตัวสัจนิโรธ มันเกิดขึ้นมาในขณะนี้เอง ถ้าหากว่าปฏิบัติไป อะไรเกิดก็ให้มันเกิด มันได้ยินไดเห็นก็ พุทโธ ๆ อยู่เรื่อย ๆ รูปอันนั้นมันก็จะหายไป ได้ยินในหูก็พุทโธ อยู่เรื่อย เสียงก็หายไป พุทโธนี้สำหรับแสดงไว้ว่าเป็นผู้รู้ตลอดกาล ให้เป็นผู้รู้ตลอดกาล เมื่อเห็นแล้วก็เหมือนกับไม่เห็น คือเราตอบไม่ถูก รู้อะไร รู้รูป ก็ต้องตอบว่ารูปอะไร รู้เสียง เมื่อได้ยินเสียง ก็ตอบว่าเสียง
แต่ความจริง สามเณรนี้กินข้าวจากโยมนะ ถ้าโยมเห็นไม่สวยในตาอาหารที่โยมจะให้ เราจะลำบาก โยมไม่มีศรัทธา ถ้าเห็นว่าเราสวยงาม เป็นปกติ น่ารัก น่าเคารพนับถือ อย่างนี้น่ะ ศรัทธาของโยมจะเกิดขึ้น สิ่งที่ไม่มีก็อยากหาให้ นี่เรามีเวลาชั่วขณะนิดเดียวแค่ ๓ วันต้องทำให้ใจสงบ ให้สวยให้งาม สามเณรก็เป็นเหล่ากอของสมณะ “ สมณะ “ ก็คือ “ผู้สงบ” สงบกาย นั่งเป็นปกติ ไม่กระดุกกระดิก ไม่เหลียวหน้าแลหลัง ขณะฟังเทศน์ นั่งเป็นปกติเฉยๆ อดทน เป็นผู้มีสติเสมอ คนที่จับโน่นจับนี่ ตายแล้วเกิดเป็นลิง ถ้าตายไปจะเกิดเป็นไส้เดือน มันผิดในการฟังธรรมฟังเทศน์ ถ้าเรากระดุกกระดิกนี้มันไม่ดี เป็นบาปแก่ตัวเอง ไม่ได้บุญแล้วแถมกลับได้บาปด้วย ให้สามเณรเข้าใจ
ที่หลวงพ่อพูดมาวันนี้ โยมก็คงพอจะเข้าใจแล้วน่ะ ถ้าเห็นอะไรเกิดขึ้นมา ให้กำหนดสิ่งนั้น ถ้าหากว่าเราไม่ได้นั่งสมาธิ เราอยู่เฉย ๆ อย่างนี้ มันก็เกิดขึ้นอยู่ ถ้าเรามองเห็นรูปกัน อย่าไปมองถึงสวย มองถึงกิเลส พอมองเห็นรูปปั๊บ ก็ให้กำหนดว่า “ รูป “ ได้เหมือนกัน เรียกว่า ได้ยินเสียง ก็กำหนดเสียงไม่เพียงแต่นั่งสมาธิหรอก มันเป็นกรรมฐานอยู่ ในขณะที่เรากำลังพิจารณา เราฟัง เรากำหนดทัน ไม่ได้ว่าแต่เสียงทิพย์ เสียงหยาบๆ เสียงคนเราพูดกันนี้ เราก็กำหนดว่าเสียงแล้วก็ถอนจิตออก อย่าไปติดอยู่ในเสียง ถ้ามองเห็นรูป รูปของใคร ไม่ต้องกำหนด เห็นรูปแล้วก็กำหนดว่า “ รูป “ เท่านั้นแหละ เป็นอนิจจังด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นรูปคน รูปสัตว์ สวย ไม่สวย ต้องเป็นอย่างนี้ ต้องเปลี่ยนไปอย่างนี้ และก็กำหนดอย่างนี้ ในขณะที่เราปฏิบัติ เราเคยทำแล้ว เราเคยกำหนดแล้ว อันตัวราคะ ตัวความรักมากๆ มันจะเกิดขึ้นยาก ถ้ามันเกิดขึ้น ก็เกิดเพราะอำนาจ ความสงสาร ความรักโดยความสงสาร ความเปลี่ยนแปลงของสังขาร เป็นไป ด้วยกันหมดทุก ๆ คน ไม่อยากเป็นมันก็ต้องเป็น เพราะมันเป็นอยู่อย่างนี้เสมอกันหมด เป็นสามัญลักษณะ ลักษณะเสมอกันทั้งคน และ สัตว์ ต้นไม้ ภูเขาเลากา เป็นไป อย่างนี้ทุกอย่าง เราเกิดมีความเมตตาสงสารกัน อันนี้เป็นคุณธรรมเกิดขึ้นในใจ ไม่ใช่กิเลส เกิดขึ้น ถ้าเราเกิดความรักความชอบ ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส อันนี้มันเป็นกิเลส กิเลสดีเกิด กิเลสไม่ดีเกิด กิเลสดีเรานิยม ตามภาษาเขาว่าเราชอบ อันนั้น กิเลสดี แต่ก็ให้ทุกข์เหมือนกัน กิเลสไม่ดีเราก็เกลียด ก็เป็นทุกข์เหมือนกัน ความรักมากๆ เมื่อจากรักไม่สมหวัง ก็เป็นทุกข์ ล้วนแล้วแต่เป็นตัวทุกข์ทั้งหมดเราเกิดขึ้นมา มันมีความทุกข์ประจำอยู่ตน ตน มันก็เป็นไปไม่ได้ เพราะเหตุนั้น ให้โยมทั้งหลายจงเข้าใจการปฏิบัติธรรมต่อไป ให้กำหนดเรื่อยๆ ท่านสอนให้มีสติสัมปชัญญะ ให้รู้สติ ให้กำหนดว่ามันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ สัมปชัญญะรู้ตลอดกาลไปเรื่อยๆ ไม่เสียที เรียกว่าคนไม่ประมาท ความไม่ประมาทประจำอยู่ในตัว ทำอะไรก็ไม่ผิด ถ้าคนประมา ไม่มีสติสัมปชัญญะทำอะไรมันก็ผิดพลาด นี่โยมทั้งหลายให้เข้าใจไว้
ที่สุดนี้ ก็ได้เวลาที่โยมทั้งหลายจะทำกิจอย่างอื่นแล้ว สามเณรน้อยทั้งหลายก็จะได้ ออกบิณฑบาตหรือฉันภัตตาหาร วันนี้ก็จะมีข้าวต้ม ก็ขอให้ไปฉันเสีย ให้นั่งเป็นปกติตามสบาย ๆ เพื่อแก้ขัดความหงุดหงิดของสามเณรเองและขอยุติไว้แต่เพียงนี้ .....


Create Date : 09 พฤษภาคม 2550
Last Update : 9 พฤษภาคม 2550 12:33:56 น. 0 comments
Counter : 586 Pageviews.

คนข้างบ้าน
Location :
บุรีรัมย์ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




คืนหนึ่งข้าฯยืนอยู่บนเขา
ใต้ร่มเงาวัดพุทธศาสนา
ภูสูงจนอาจเอื้อมดวงดารา
มาจากฟากฟ้าด้วยมือตน
ทว่า ข้าฯมิกล้าเปล่งสำเนียง
ท่ามกลางความวิเวกวังเวงหน
เกรงว่าจักกรายกายสกนธ์
ของทวยเทพวิมานบนหากจักมี.
Friends' blogs
[Add คนข้างบ้าน's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.