น้ำตาที่ไหลย่อมมีวันจางหาย หากไม่รู้จักเจ็บปวด คงไม่รู้ถึงความสุขใจ
Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2548
 
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
16 ตุลาคม 2548
 
All Blogs
 

ร.ศ.112

เผอิญได้ไปร่วมแจมในกระทู้ยังค์เติร์กมาเลยขอคัดเฉพาะส่วนที่ตัวเองเขียนมาลง

ตามมารับลูกครับ ที่ผมขอข้ามที่เล่าค้างไว้ก่อนละกันครับ(แบบว่าหนังสือไปไหนไม่รู้งะ) แล้วจะมาย้อนให้หรืออาจารย์สื่อฯ แกอาจจะมาย้อนเอง ผมขอเล่าต่อจากพี่สาวกาสะลองฯเลยละกันครับ ว่าฝรั่งเศสเข้ามาแถวบ้านเราได้ยังไง

ก็ต้องมีเกริ่นนิดนึงนะครับว่าฝรั่งเศสเดิมเคยมีอาณานิคมในแคนนาดา อเมริกา(หลุยส์เชียน่า) เมืองปอดดิเชอรี่ ในอินเดีย แต่ดินแดนเหล่านี้ทั้งหมดต้องเสียไปหลังจากฝรั่งเศสรบแพ้อังกฤษในสงคราม 7 ปี ก็ปิดฉากการหาอาณานิคมยุคแรกของฝรั่งเศส และทำให้อังกฤษเป็นเจ้าทะเลนับแต่นั้น

ต่อมาประมาณต้นศตวรรตที่ 19 มีการปฏิวัติอุตสาหกรรม ทำให้มีความต้องการวัตถุดิบ และตลาดระบายสินค้า ฝรั่งเศสจึงเริ่มแสวงหาอาณานิคมในสมัยสาธารณรัฐที่ 2 โดยเข้ายึดครอง อัลจีเรีย ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของแอฟริกา

จากนั้นก็เริ่มสนใจทำการค้ากับจีน ในปี ค.ศ.1860 (2403) ฝรั่งเศสได้ร่วมมือกับอังกฤษบีบบังคับจีนในช่วงสงครามฝิ่นครั้งที่ 2

เมื่อตัวเลขการค้ากับจีนสูงจนเป็นที่น่าพอใจทำให้ฝรั่งเศสสนใจที่จะขยายการค้าเข้าไปในจีนตอนในโดยผ่านแม่น้ำโขง

ฝรั่งเศสจึงสนใจดินแดนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ซึ่งนั่นก็คือที่ตั้งของเมืองไซ่ง่อน ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ เป็นศูนย์กลางการปกครองของเวียดนามในภาคใต้ มีท่าเรือน้ำลึกสามารถใช้จอดเรือขนาดใหญ่ได้

ว่าแล้วฝรั่งเศสก็ใช้กองกำลังที่เคยร่วมือกับอังกฤษนั่นแหละ ทำการจู่โจมยึดจังหวัดต่างๆทางภาคใต้ของเวียดนาม รบกันอยู่ 2 ปี เวียดนามสู้ไม่ได้จึงลงนามในสนธิสัญญายก 3 จังหวัดภาคใต้ให้ฝรั่งเศสและเปิดเมืองท่าในภาคกลางให้ฝรั่งเศสค้าขาย

ในปีถัดมาฝรั่งเศสก็ทำเซอร์ไพร้กับสยามบอกทำนองนี้

"ตอนนี้ฝรั่งเศสได้ครองโคชินไชน่าแล้ว เขมรเคยเป็นรัฐอารักขาของญวน ฉะนั้นเขมรก็ต้องขึ้นกับญวน"

ฝรั่งเศสพูดพร้อมกับส่งทหารเข้ายึดเขมรส่วนนอกทันทีกว่าทางกรุงเทพฯ จะรู้ก็ร่วมเดือน ทำอะไรไม่ได้ก็ต้องเลยตามเลย

หลังจากได้โคชินไชน่าและเขมรแล้วฝรั่งเศสก็เริ่มสำรวจแม่น้ำโขงก็พบว่าแม่น้ำโขงไม่เหมาะสำหรับล่องเรือขึ้นไป มีเกาะแก่งมากมายซ้ำบางช่วงยังเป็นน้ำตกซะอีก

เมื่อแม่น้ำโขงใช้ไม่ได้ฝรั่งเศสก็เริ่มเหล่ไปทางแม่น้ำแดงทางตอนเหนือในเขตตังเกี๋ย ซึ่งมีฮษนอยเป็นศูนย์กลางและมีเมืองไฮฟองเป็นเมืองท่าสำคัญ

ก็ฟอร์มเดิม ในปีค.ศ.1884(2427) หาเรื่องรบอีกแต่คราวนี้เวียดนามวิ่งโร่ไปฟ้องจีน จีนก็ส่งกำลังมาช่วยทำให้ฝรั่งเศสต้องเหนื่อยหน่อย เพราะกองทัพจีนได้รับชัยชนะในทุกแนวรบ ซ้ำร้ายกองทัพเรือฝรั่งเศสยังโดนกองทัพเรือฝูเจี้ยนของจีนยิงกระเจิงซะอีก(ช่วงนี้เป็นช่วงอรุณรุ่งครั้งสุดท้ายของจีน) ทำเอาฝรั่งเศสแทบจะเปิดกลับบ้านไปเลย

แต่ด้วยปัญหาการเมืองภายในของจีนเองที่จีนสนใจปัญหาที่ญี่ปุ่นมุ่งคุกคามเกาหลี และการแทรกแซงกับของรัสเซียกับการกบฎในซินเกียงของจีน กอปรกับการฉ้อราษฎร์บังหลวงและการชิงดีชิงเด่นของเหล่าขุนนาง ทำให้ยุทธปัจจัยและการสนับสนุนทางการเมืองไปถึงแนวหน้าเป็นไปอย่างกระท่อนกระแท่น

และที่สำคัญจากการโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ยังเป็นสังคมเกษตรและการบริหารราชการแผ่นดินของจีนแบบราชาธิปไตยในเวลานั้นไม่สามารถรองรับการทำสงครามขนาดใหญ่ได้ กองทัพจีนมีชัยในตังเกี๋ย แต่ที่ปักกิ่งกลับเรียกร้องสันติภาพ

ทั้ง 2 ฝ่ายจึงมีการเจรจากันว่า จีนยอมรับว่าเวียดนามเป็นรัฐอารักชาของฝรั่งเศส และเปิดชายแดนด้านยูนนาน และกวางสีจวงซูที่ติดกับตังเกี๋ยของเวียดนาม ส่วนเวียดนามก็ต้องยกตังเกี๋ยให้ฝรั่งเศส(แล้วจะรบกันทำไมเนี่ย) ในปีถัดมาฝรั่งเศสก็รวบอันนัมเข้าเป็นรัฐอารักขาของตน ทำให้ฝรั่งเศสได้เวียดนามทั้งประเทศโดยสมบูรณ์

หลังจากเขมือบเวียดนามแล้วฝรั่งเศสก็เริ่มสำรวจแม่น้ำแดงอีกว่าพอที่จะล่องเรือเข้าไปในจีนได้รึเปล่า ก็ได้คำตอบว่าไม่ได้เช่นเคย

แต่จากการที่เวียดนามอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรต่างๆ ซ้ำประชากรก็หนาแน่น ฝรั่งเศสก็พบว่าดินแดนเวียดนามนี่แหละมีค่ามากกว่าการค้าขายกับจีนซะอีก แถมมีเขมรส่วนนอกห้อยติ่งมาด้วย

แต่ด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์ของเวียดนามที่มีชายฝั่งยาวเหยียดนับพันกิโล แต่มีดินแดนตอนในนิดเดียว จึงต้องหาดินแดนตอนในเพื่อมาเป็นแนวต้านทาน

ทางใต้นั้นได้เขมรส่วนนอกจากสยามแล้ว แต่ทางเหนือนั้นยังไม่มีและทางตะวันตกของเวียดนามนั้นก็คือลาวซึ่งสยามมีอิทธิพลอยู่

สำหรับสยาม ลาวก็มีความสำคัญพอๆกันในฐานะประเทศราชและเป็นแนวต้านทานเพื่อป้องกันผู้รุกรานจากตะวันออก ซึ่งสอดรับกับยุทธศาสตร์ดั้งเดิมในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ที่จะคอยต้านรับศัตรูตามหัวเมืองรอบนอก

ในอดีตนั้นไว้ต้านเวียดนาม แต่ปัจจุบันเป็นฝรั่งเศส นี่ยังไม่รวมถึงความใกล้ชิดทางการเมืองการปกครอง(ในเวลานั้นไทยให้เวียงจันทร์และจำปาศักดิ์ ขึ้นกับกรุงเทพโดยตรงเหมือนเมืองเสียมราฐและพระตะบองของเขมร ส่วนหลวงพระบางยังคงมีกษัตริย์ปกครองในฐานะประเทศราชต่อไป) และวัฒนธรรมประเพณี

ความขัดแย้งระหว่างฝรั่งเศสและสยามจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้โดยมี ลาวเป็นเดิมพัน

ย้อนมา เมื่อปี ค.ศ.1864 ในสมัน ร.4 ปีที่สยามยกเขมรส่วนนอกให้ฝรั่งเศส ตามสนธิสัญญาที่ทำกันในปีนั้น ฝรั่งเศสยอมรับอิทธิพลของไทยเหนือเสียมราฐและพระตะบอง สีทันดร และดินแดนทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงไปจนถึงภูเขาหลวง(ภูเขาที่กั้นพรมแดนเวียดนาม-ลาว แลกกับไทยยอมรับอิทธิพลของฝรั่งเศสเหนือเขมรส่วนนอก หลังจากที่ฝรั่งเศสได้เวียดนามตอนบนก็เริ่มเรียกร้องดินแดนลาวทำนองกับที่เรียกร้องดินแดนกัมพูชา

ฝ่ายสยามก็เริ่มปรับตัวด้วยการส่งทหารเข้าไปกำกับดูแลดินแดนลาว(เว้นหลวงพระบาง)และเขมรส่วนใน ฝรั่งเศสมองว่าการที่สยามทำเช่นนี้เจตนาที่จะคุกคามฝรั่งเศสโดยตรงแต่ตนยังไม่พร้อม จึงทำได้แค่เรียกร้องดินแดนไปก่อน...

ในปี ค.ศ.1885(2428) ฝรั่งเศสได้ขอมาทำสัญญาตั้งกงสุลที่หลวงพระบาง มี ม.ปาวีเป็นรองกงศสุล ในปีเดียวกันนั้นพวกฮ่อ ได้เข้ายึดครองดินแดนสิบสองเจ้าไท

พวกฮ่อเดิมคือพวกไทผิงเทียกกว๋อที่ก่อกบฎในต่อราชวงศ์ชิงและเกือบล้มราชวงศ์ชิงได้ แต่โดนกองทัพราชวงศ์ชิงปราบปรามได้สำเร็จ แต่มีพวกกองทัพย่อยบางส่วนแตกหนีมาทางใต้และเข้ายึดครองสิบสองเจ้าไท

ทางกรุงเทพส่งกองทัพภายใต้การนำของพระยาสุรศักดิ์มนตรีขึ้นไปปราบสนธิกับกองกำลังของเจ้านครหลวงพระบาง ร่วมมือกันปราบฮ่อ พวกฮ่อสู้กองทัพที่มาจากกรุงเทพฯไม่ได้จึงถอนกำลังกลับไป

อีก 2 ปีถัดมา(1887)พวกฮ่อย้อนกลับมาอีก คราวนี้เข้าตีหลวงพระบางเลย กองทัพของเจ้านครหลวงพระบางสู้ไม่ได้ ผลทำให้หลวงพระบางโดนเผา ม.ปาวี พาเจ้าผู้ครองนครหลวงพระบางหนีไปได้อย่างหวุดหวิด ตรงนี้ทำให้ ม.ปาวีได้ใจเจ้าผู้ครองนครหลวงพระบางไปบานตะเกียง

กองทัพสยามภายใต้การนำของพระยาสุรศักดิ์มนตรี นำกำลังขึ้นไปจากกรุงเทพฯอีกครั้ง ขึ้นไปขับไล่กองทัพฮ่อออกจากหลวงพระบาง

ตานี้ฝรั่งเศสเริ่มเดือดร้อนเพราะถ้าปล่อยให้พวกฮ่อก่อความวุ่นวายในลาวตอนเหนือและแคว้นสิบสองเจ้าไท ฝรั่งเศสเกรงว่าความวุ่นวายนี้จะขยายมาถึงตังเกี๋ยของฝรั่งเศสเอง

ฝ่ายฝรั่งเศสภายใต้การนำของพันเอกแปร์โนต์ ได้รับคำสั่งให้เคลื่อนกำลังจากลาวกาย ไปเมืองแถงเพื่อช่วยสยามกำจัดพวกฮ่อ เมื่อพวกฮ่อ

ฝ่ายสยามสามารถขับพวกฮ่อออกจากหลวงพระบางได้ ขณะเดียวกันฝ่ายฝรั่งเศสสามารถขับพวกฮ่อออกจากเมืองแถงเมืองศูนย์กลางของสิบสองเจ้าไท และจับตัวน้องชายของหัวหน้าจีนฮ่อได้ และม.ปาวี ได้เกลี้ยกล่อมน้องชายหัวหน้าจีนฮ่อให้เข้ากับตน

กว่ากองทัพสยามของจะขึ้นไปถึงก็พบกองกำลังฝรั่งเศสผสมจีนฮ่อตั้งมั่นอยู่แล้ว พระยาสุรศักดิ์มนตรีทำอะไรไม่ได้บวกกับการเกลี้ยกล่อมของ ม.ปาวี จึงถอนกำลังกลับมา ปล่อยให้ฝรั่งเศสยึดแคว้นสิบสองเจ้าไทไป

หลังจากที่ฝรั่งเศสเขมือบแคว้นสิบสองเจ้าไทแล้วในปีค.ศ.1888 (2431) ฝ่ายสยามเริ่มเดินเกิมตอบโต้ด้วยการ ให้พระยอดเมืองขวาง(ขำ ยอดเพชร์) เคลื่อนกำลังทหารฝ่ายไทย มาประจำการที่เมืองคำมวนจนถึงด่านตรันมือ ซึ่งห่างจากเมืองวินเมืองสำคัญในภาคกลางของเวียดนามเพียงระยะ 2 วันเดินถึง

กรณีดังกล่าวย่อมทำให้ทั้ง 2 ฝ่ายหลีกเลี่ยงการกระทบกระทั่งกันไม่ได้ แต่ปาวีก็แก้ไขสถานการณ์ได้อีกด้วยการจับเจ้าหน้าที่ทั้ง 2 ฝ่ายมาเจรจาว่าจะไม่ล้ำเขตแดนซึ่งกันและกัน ก็ซื้อสันติภาพให้ดินแดนแถบนี้ได้อีกระยะนึง

ระหว่างนั้นฝรั่งเศสก็แสดงความชอบธรรมในการที่จะเข้าครอบครองลาวและกัมพูชาด้วยการ อ้างถึงความชอบธรรมว่าทั้งลาวและกัมพูชาเคยส่งบรรณาการให้เวียดนาม ฉะนั้นดินแดนเหล่านี้ต้องรวมกับเวียดนาม พร้อมเรียกร้องให้สยามถอนทหารก่อนการเจรจา(ถอนทหารก่อนก็โง่อะเดะ)

ฝ่ายสยามก็พยายามยึดมั่นการเจรจาด้วยการว่าฝ่ายสยามจะถอนทหารออกจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงทั้งหมดหากฝรั่งเศสพิสูจน์ได้ว่าดินแดนเหล่านี้เป็นของเวียดนามจริง(คงจะพิสูจน์ได้หรอก)

สยามเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการปักปันเขตแดนเพราะสยามต้องยอมรัยว่าอิทธิพลของสยามในลาวนั้นมีเฉพาะหังเมืองตามชายฝั่งโขงเท่านั้นเพราะสยามพึ่งแทรกแซงลาวอย่างจริงจังในปี ค.ศ.1883(2426)

ส่วนหัวเมืองแถบภูเขาสูงนั้นขึ้นกับเวียงจันทร์หรือหลวงพระบางแต่ในนามเท่านั้นเพราะมีหลักฐานว่าเวียดนามเคยแต่งตั้งเจ้าเมืองมาปกครองและมาทำสำมโนครัวประชากรในดินแดนแถบนี้

เรียกว่าสยามยอมแบ่งดินแดนบางส่วนให้เวียดนามเพื่อซื้อสันติภาพ แต่ฝันไปเถอะเพราะฝรั่งเศสจะเอาทั้งหมด

ก็มีจุดยืนคนละมุมแบบนี้คงจะคุยกันรู้เรื่องหรอก สรุปก็คือไม่ได้ข้อยุติ เมื่อเป็นเช่นนี้ ปาวีจึงเสนอแผนต่อกระทรวงการต่างประเทศที่ฝรั่งเศส สรุปได้ใจความดังนี้

ให้กองทหารฝรั่งเศสเข้าควบคุมดินแดนที่เป็นข้อพิพาท ถ้ากองทหารของสยามยอมจำนนก็แล้วไป แต่ถ้าไม่ยอมและต่อต้านขัดขืนมาก็ให้ฝรั่งเศสใช้กำลังโต้กลับผลักดันกองทัพสยามให้ข้ามฝั่งขวาแม่น้ำโขงกลับไปเลย

การกระทำนี้ถ้าจะให้สำเร็จได้ต้องประสานงานกับการทูตที่กรุงเทพฯด้วยคือถ้าหลังมีข่าวฝรั่งเศสเข้ายึดแล้วให้ทูตยื่นคำขาดกับสยามทันที อาจทำให้สยามถอนกำลังโดยเร็วเพราะเป็นฝ่ายเสียเปรียบ และถ้าจะให้ดีควรมีเรือรบฝรั่งเศสจากจีนมาที่อ่าวไทยด้วยเพื่อเพิ่มแรงกดดันต่อสยาม

แต่ ปาวีก็ให้ความเห็นในบันทึกฉบับเดียวกันว่าการจะใช้กำลังเข้ายึดฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงนั้นถ้าจะให้สำเร็จนั้นฝรั่งเศสควรมีเรือกลไฟแล่นเหนือเมืองสีทันดรด้วย มิเช่นนั้นการ
ส่งบำรุงกำลังกับกองกำลังที่ปฏิบัติการอยู่จะทำได้ลำบาก

กระทรวงการต่างประเทศตกลงทำตามความเห็นของ ปาวี เดือนมีนาคม ปี ค.ศ.1893(2436) เรือปืนลูตัง(Lutin) ได้แวะจอดที่กรุงเทพ ปาวีจึงร้องขอไปทางปารีสให้เรือปืนลูตังจอดอยู่ที่กรุงเทพก่อน จนกว่าผลการเจรจาจะเป็นที่พอใจ(เวลานั้นรัฐบาลสยามอนุญาติให้ชาติตะวันตกสามารถนำเรือรบมาจอดในแม่น้ำเจ้าพระยาได้ ชาติละไม่เกิน 1 ลำ)

นอกจากนี้ ปาวียังให้ นายทหารในเรือลูตังวัดความลึกของแม่น้ำเจ้าพระยา ป้อมปราการต่างๆ คลังสรรพาวุธตลอดจนแผนการป้องกันต่างๆในลำน้ำเจ้าพระยา

เดือนเมษายนปีเดียวกัน ปาวีได้ขออนุญาติรัฐบาลสยามให้เรือปืนโคแม็ต ที่จะออกจากไซ่ง่อน เพื่อนำเงินเดือน จดหมาย และเสบียงต่างๆมาแจกจ่ายให้ลูกเรือของเรือปืนลูตัง

รัฐบาลสยามตอบกลับมาว่าไม่พร้อมที่จะให้ ปาวีปฏิบัติตามคำขอของตนได้เพราะ ถ้ามีเรือปืนของฝรั่งเศส 2 ลำในลำน้ำเจ้าพระยา อาจกระตุ้นความเกลียดชัง และฮึดสู้ในหมู่คนไทย และเกิดความไม่สงบในหมู่ชาวกรุงเทพฯ

พอได้ยินดังนี้ ปาวี ก็ไม่ดื้อแพ่ง เพราะ ปาวีก็สังเกตถึงความแตกตื่นในหมู่ประชาชน และกลัวไปถึงว่าจะเกิดการปฏิวัติ การแสดงแสนยานุภาพทางเรือจึงถูกระงับไว้ชั่วคราว และไปแสดงทางบกแทนโดยส่งกำลังเข้ายึดเชียงแตงและแก่งลี่ผี




 

Create Date : 16 ตุลาคม 2548
6 comments
Last Update : 16 ตุลาคม 2548 8:04:12 น.
Counter : 1249 Pageviews.

 

ม.ปาวี มีความเชื่อว่าสยามนั้นเกรงฝรั่งเศสมาก ปาวีคิดแค่นำกองทัพเรือฝรั่งเศสจากจีนมาป้วนเปี้ยนในอ่าวไทยแล้วล่องเข้าแม่น้ำเจ้าพระยา หรือ ส่งทหารฝรั่งเศส เข้ายึดครองเสียมราฐ ซึ่งเป็นสิ่งที่สยามไม่ต้องการ สยามคงยอมทำตามข้อเรียกร้องของฝรั่งเศสทั้งหมด

เมื่อส่งกองทัพเรือมาไม่ได้เพราะกลัวจลาจลในกรุงเทพฯ ฝรั่งเศสจึงหันไปใช้มุกเดิม ก็คือเคลื่อนกำลังทหารเข้ายึดดินแดนที่หมายตาอย่างเฉียบพลันเหมือนที่เคยใช้ยึดเขมร ส่วนนอก เมื่อตอนสมัย ร.4

ตามแผนที่ปาวีคิดไว้ กองทัพฝรั่งเสสควรจะเข้ายึดเสียมราฐ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของไทยในมณทลบูรพา(เขมรส่วนใน) และตัดสยามออกจากทะเลสาบเขมร

ตอนนั้นฝรั่งเศสหวั่นเกรงมากว่า สยามจะจัดตั้งกองเรือรบในทะเลสาบเขมร และล่องลงมาเข้าแม่น้ำโขงเข้าโจมตีไซ่ง่อน ซึ่งแค่มีข่าวลือเข้ามา ชาวเมืองไซ่ง่อนก็แตกตื่นกันแล้ว

(อาจจะเป็นความกลัวเกินกว่าเหตุของฝรั่งเศส เพราะเวลานั้นขนาดในแม่น้ำเจ้าพระยา เรายังมีเรือรบแค่ 4 ลำ ซึ่งเป็นเรือกลไฟ ดัดแปลงเป็นเรือรบ-ชื่อเรือขอติดไว้ก่อน และที่สำคัญตอนสยามเราทำสงครามกับญวนในสมัย ร.3 สยามยังไม่เคยมีแผนการส่งเรือรบจากทะเลสาบเขมรไปไซ่ง่อนเลยหรือถ้าจะทำก็คงทำได้แต่ส่งเรือขนาดเล็กที่ใช้ฝีพายเข้าโจมตี)

แต่การจะยึดเสียมราฐที่เป็นเมืองใหญ่อยู่ระหว่างทะเลสาบเขมรกับฝั่งขวาแม่น้ำโขงนั้น ฝรั่งเศสจำเป็นต้องควบคุมฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้ได้ก่อน เพื่อความสะดวกในการส่งบำรุง แต่การจะควบคุมฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้ได้นั้นต้องยึดเมืองสีทันดร(ปัจจุบันคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือของเขมร)ให้ได้ก่อน

และแล้วการชิงฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงก็เริ่มขึ้นเย็นนี้ขอมาต่อนะครับ

มีนาคม ปี 1893 (2436)นายพลแปร์โนต์ ผบ.กองพลน้อยประจำเวียดนามตอนใต้ ได้ออกคำสั่งให้ ร้อยเอกโทเรอซ์ นำกำลัง จำนวน 106 นาย เข้ายึดเชียงแตงและแก่งลี่ผี เพื่อใช้เป็นฐานในการเข้าตี สีทันดร

ร้อยเอกโทเรอซ์ยึดเชียงแตงได้ในวันที่ 1 เมษายน ปีเดียวกัน และอีก 3 วันถัดมาก็ยึดแก่งลี่ผีได้โดยไม่เสียเลือดเนื้อ จึงสามารถตั้งฐานได้สำเร็จ

กองทัพไทยเริ่มต่อต้าน และมีเหตุการณ์ทำให้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปนั่น คือ วันที่ 4 เดือนพฤษภาคม ท่านร้อยเอกโทเรอซ์กำลังลำเลียงเสบียงจากเชียงแตงไป แก่งลี่ผี แต่กระแสน้ำเกิดไหลเชี่ยวทำให้ถูกพัดมาฝั่งขวาของแม่น้ำของแม่น้ำโขง อีตาร้อยเอกและลูกน้อง 16 คนโดนฝ่ายสยามจับตัวได้ และถูกส่งไปขังที่สีทันดร

กองทัพสยามเข้าล้อมกองกำลังฝรั่งเศสที่แก่งลี่ผี กว่ากองบัญชาการที่ไซ่ง่อนทราบข่าวก็ปาเข้าไปวันที่ 10 แล้ว ทางกองบัญชาการจึงตัดสินใจส่งกำลังเข้าป้องกันเชียงแตงที่พึ่งยึดมาได้และปลดปล่อยแก่งลี่ผี

จึงส่งกำลังมาอีก 5 กองร้อย(2กองร้อยนาวิกโยธิน และ 3 กองร้อยทหารเวียดนาม)กำลังพลประมาณ 700 คน พร้อมด้วยกองร้อยปืนใหญ่(มีปืนใหญ่ 4 กระบอก)

เข้าปลดปล่อยแก่งลี่ผีที่ถูกกองทหารของสยาม(กองกำลังผสมไทย-ลาว)ประมาณ 700 คนล้อมไว้อยู่ กองร้อยโทเรอซ์ถูกส่งกลับไซ่ง่อนในเดือนมิถุนายนเพื่อสับเปลี่ยนกำลัง สรุปรวม ฝรั่งเศสเหลือทหารในแนวหน้าประมาณ 600 คน

หลังการเผชิญหน้าในเดือนพฤษภาคม สยามจึงส่งกำลังมาเพิ่มเติมอีก ประมาณ 3,000 คน มาประจำการตั้งแต่ สุวรรณเขต ถึง สีทันดร โดยมี สีทันดร และจำปาศักดิ์ เป็นฐาน ปฏิบัติการหลัก

เพื่อป้องเสริมการป้องกันเมืองสีทันดร สยามเสริมการป้องกันที่เกาะดงสม ที่อยู่หน้าเมืองสีทันดร ทั้ง 2 ฝ่านใช้ตลอดเดือน มิถุนายน ในการเสริมกำลัง เพื่อเตรียมการรบ

วันที่ 14 กรกรฎาคม ฝรั่งเศสเปิดฉากเข้าตีเกาะดงสม(เป็นเวลาเดียวกับที่เรือรบฝรั่งเศสแล่นฝ่าเข้ามาที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา) ใน 3 วันแรกฝรั่งเศสยึดเกาะบริกวารของเกาะดงสมได้

ฝ่ายไทยพยายามเจรจาแต่ฝรั่งเศสยื่นข้อเสนอให้ฝ่ายสยามถอนตัวออกจากเกาะดงสมและป้อมต่างๆบนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ฝ่าย สยามไม่ยอมฝรั่งเศสจึงระดมยิงต่อ และยึดได้ในวันที่ 19 ฝ่ายสยามพยายามชิงพื้นที่กลับหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ กองกำลังฝ่ายสยามจึงถอนตัวกลับไปยังสีทันดร

ฝรั่งเศสส่งกองหนุนมาอีกประมาณ 400 คนจากไซ่ง่อนและพนมเปญ เพื่อเตรียมการรุกเข้าสู่สีทันดร แต่แล้ว วันที่ 23 สิงหาคม ผู้บัญชาการทหารฝ่ายไทยได้รับคำสั่งจากกรุงเทพ ให้ถอนกำลังจากสีทันดรและเกาะแก่งต่างๆบนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงกลับไปยังอุบลราชธานี ให้เสร็จก่อนวัน ที่ 10 กันยายน ฝรั่งเศสจึงเข้ายึดสีทันดรได้ในอีก 5 วันต่อมาโดยไม่เสียเลือดเนื้อ

อีกแนวรบนึงฝรั่งเศสรุกเข้ามาจากเมืองวิน เข้าโจมตีเมืองคำมวนซึ่งมีกองทหารของสยามภายใต้การบังคับบัญชาของพระยอดเมืองขวาง ในเดือนพฤษภาคม กองกำลังฝรั่งเศสบีบให้พระยอดเมืองขวางยอมแพ้ได้

ฝ่ายฝรั่งเศสจึงให้ ม.โกรสซึรัง คุมตัวพระยอดเมืองขวางและคนใกล้ชิดไปส่งที่ฝั่งขวาแม่น้ำโขง ระหว่างทาง ม.โกรสซึรังไปเจอกองทัพฝ่ายสยามประมาณ 200 คน ที่จะส่งไปเสริมกำลังที่เมืองคำมวน จึงปะทะกันขึ้น ม.โกรสซึรังถูกกระสุนตายในที่รบ

ฝ่ายฝรั่งเศสถือการตายของ ม.โกรสซึรังเป็นประเด็นการเมือง จึงส่งกำลังเข้ามาเสริมอีก ปะทะกับกองกำลังของพระยอดเมืองขวาง ทั้ง 2 ฝ่ายล้มตายไปมาก สุดท้ายพระยอดฯพร้อมกำลังที่เหลือจึงข้ามมาฝั่งขวาแม่น้ำโขง ปล่อยให้ฝรั่งเศสยึดเมืองคำมวนไป

การรบทั้ง 2 แนวรบยุติลงเมื่อสยามและฝรั่งเศสทำสัญญาสันติภาพในเดือน ตุลาคม 1893

ย้อนกลับมาช่วงเดือนพฤษภาคม ตามแผน ที่ปาวีวางไว้ กองทัพบกที่ดอดคืบคลานเข้ามาทั้ง 2 ทาง ต้องสามารถยึดเมืองคำมวนและเมืองสีทันดรได้โดยไม่มีการเสียเลือดเนื้อ

แต่เอาเข้าจริงกลับมีการต่อต้านอย่างเหนียวแน่นจากฝ่ายสยาม ไม่มีแนวโน้มว่าสงครามจะจบภายในวันสองวันนี้เลย ฝ่ายสยามก็ส่งกำลังไปเสริมเรื่อยๆ และในไซ่ง่อนมีข่างลือวิตกไปว่าสยามจะส่งกองทัพเรือล่องมาโจมตีไซ่ง่อน ทำให้ผู้สำเร็จราชการแคว้นอินโดจีนของฝรั่งเศสและปาวี คิดจะไปใช้บริการกองทัพเรืออีกครั้ง เพื่อมากู้สถานการณ์

ต่อนะครับ เมื่อการรุกทางบกไม่ได้ผล ทางฝรั่งเศสจึงต้องหันไปใช้บริการของกองทัพเรือ ให้มาปิดปากอ่าวเพื่อกดดันสยาม

เรือรบที่จะใช้ตามแผนคือเรือ"โคแมต"และเรือ"แองดองสตังค์" เพื่อมาสมทบกับเรือปืน"ลูตัง" ที่จอดอยู่หน้าสถานทูตฝรั่งเศสในกรุงเทพฯ ทั้ง 2 ลำเป็นเรือปืนรุ่นเก่า เป็นเรือใบที่ดัดแปลงให้ใช้ได้ทั้งใบเรือ(ลม)และพลังไอน้ำ

ส่วนทางสยามเมื่อเริ่มรู้ข่าวการปะทะกับกองทหารฝรั่งเศสที่เมืองสีทันดรและเมืองคำมวนเมื่อเดือนพฤษภาคม และยังยันกันอยู่ ก็รู้แกวแล้วว่าฝรั่งเศสต้องเอาเรือรบมาปิดปากอ่าวแน่นอน จึงเตรียมการป้องกันดังนี้

- มีการปรับปรุงป้อมแผลงไฟฟ้าที่นครเขื่อนขันธ์
- จัดทหารไปประจำที่เกาะกง 50 คน ที่แหลมงอบ 200 คน และแหลมสิงห์ปากน้ำจันทบุรีอีก 600 คน
- จัดทหาร 600 คนพร้อมปืนใหญ่ไปประจำที่ป้อมเสือซ่อนเล็บ นครเขื่อนขันธ์
- ติดตั้งปืนใหญ่"กรุป"ที่ป้อมพระจุลฯ
- ในแม่น้ำเจ้าพระยามีเรือรบของฝ่ายสยามอีก 5 ลำคือ เรือ"มกุฏราชกุมาร"เข้าประจำที่ภายในแนวป้องกัน โดยมีเรือ"นฤเบนทร์บุตรี" และเรือ"ทูลกระหม่อม"จอดอยู่ถัดไปทางฝั่งเดียวกันตรงแหลมฟ้าผ่า ทางฝั่งตะวันออกของช่องเดินเรือมีเรือ"มูรธาวสิตสวัสดิ์"กับ เรือ"หาญหักศัตรู"จอดอยู่ทางฝั่งเดียวกัน แต่เรือทั้งหมดเป็นเพียงเรือช่วยรบขนาดเล็กเท่านั้น
- วางตอร์ปิโด(ทำเองในกรุงเทพฯ) อีก 7 ลูก ทดลองดูแล้วยิงได้ใช้ได้ผลดีด้วย

นอกจากนี้ยังมีแผนการจะจมเรือเพื่อปิดลำน้ำซะอีก(แต่ทำไม่ทัน) ถึงแม้จะมีการกระจายกำลังจนบาง แต่ก็แสดงให้เห็นถึงความแน่วแน่ของสยามว่าจะไม่ยอมให้มหาอำนาจมาใช้อิทธิพลใดๆมาข่มขู่สยาม

สยามยังได้แจ้งเรื่องไปทางอังกฤษถึงพฤติกรรมของฝรั่งเศส พร้อมแนะนำกลายๆว่าถ้าปล่อยให้ฝรั่งเศสเอาเรือรบเข้ามาได้ฝรั่งเศสก็คงมีอิทธิพลเหนือสยาม ถึงตอนนั้นผลประโยชน์ของอังกฤษก็จะหมดกัน

ฝ่ายอังกฤษใจหนึ่งพยายามหูหนวกตาบอดไม่ยุ่งเกี่ยวกับความขัดแย้งนี้ แต่อีกใจหนึ่งก็ต้องยอมรับว่าอังกฤษมีผลประโยชน์เป็นจำนวนมากในสยาม มากกว่าชาติตะวันตกทุกชาติรวมกันด้วยซ้ำ

อังกฤษจึงส่งเรือ"พลัฟเวอร์"และเรือ"ลินเนต" มาจอดอยู่ที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา ถ้ารวมเรือ"สวิฟท์" ที่จอดอยู่หน้าสถานทูตอังกฤษในกรุงเทพฯ อังกฤษมีเรืออยู่ในสยามทั้งหมด 3 ลำ พร้อมแจ้งให้ฝรั่งเศสทราบด้วย

ฝรั่งเศสฉวยโอกาสที่อังกฤษส่งเรือรบเข้ามาแจ้งทางสยามว่าตนจะส่งเรือรบเข้ามาอีก 2 ลำนะ คือเรือ"โคแมต"และเรือ"แองดองสตังค์" เข้ามาปกป้องชาวฝรั่งเศสและคนในบังคับในสยามบ้างมี แต่ขอเพิ่มคือให้ฝ่ายสยามจัดเรือนำร่องให้ด้วยเพราะจะล่องเข้าไปในแม่น้ำเจ้าพระยา ปล.ต่อท้ายด้วยว่า เรื่องนี้ตนได้แจ้งให้ทางอังกฤษทราบแล้ว

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในวันที่ 11 กรกฎาคม ค.ศ. 1893(2436) เรือรบฝรั่งเศสทั้ง 2 ลำกำลังเดินทางมาอ่าวไทย

วันที่ 12 กรกรฎาคม เรือรบฝรั่งเศส 2 ลำภายใต้การนำของนาวาโทโบรี ผู้ได้รับคำสั่งอย่างเป็นทางการว่า ให้นำเรือไปจอดที่หน้าสถานทูตฝรั่งเศส ในกรุงเทพฯ

แต่คำสั่งที่กระซิบบอกข้างหลังคือกองเรือที่นาวาโทโบรีนำมานั้นถูกนำมาใช้ปฏิบัติภารกิจสำคัญนั่นคือนำเรือมาจอดหน้าสถานทูตฝรั่งเศสเพื่อกดดันรัฐบาลสยามให้ยอมเจรจาไปในแนวทางที่ฝรั่งเศสวางไว้

และเพื่อล้างอายให้กับฝรั่งเศสที่นายทหารของตน(ร้อยเอกโทเรอซ์ที่โดนฝ่ายสยามจับได้ในการรบที่สีทันดรและได้รับการปล่อยตัวภายหลัง) ฉะนั้นทำยังไงก็ได้ให้นำเรือเข้าไปจอดหน้าสถานทูตให้ได้ โดยที่ต้องไม่เป็นฝ่ายยิงก่อน

ฝ่ายสยามพยายามดำเนินการทางการทูตด้วยการยื่นบันทึกให้ฝรั่งเศสอีกครั้ง พร้อมสำทับว่าในแม่น้ำเจ้าพระยามีการวางตอร์ปิโดไว้ด้วยพร้อมที่จะยิงเรือทุกลำที่ล้ำเข้ามาโดยไม่ได้รับอนุญาติ

คราวนี้ทางปารีสคิดหนักเพราะเกรงว่าเรือรบกลางเก่ากลางใหม่ของตน 2 ลำแล่นฝ่าแนวต้านทานของสยามได้หรือไม่(อันประกอบด้วยป้อมปราการตรงปากน้ำ ตอร์ปิโด และเรือรบ) เพราะทางปารีสก็ได้รับรายงานมาว่าทางสยามเตรียมพร้อมเต็มที่ในการต่อต้านผู้รุกราน ขืนฝ่าเข้าไปไม่สำเร็จก็ขายหน้าเขาตายเลย

ว่าแล้วทางปารีสจึงส่งโทรเลขด่วนเข้ามา ถึงปาวี ให้ปาวีส่งต่อโทรเลขนี้ไปที่นาวาโทโบรี่ ให้ระงับการปฏิบัติการไว้ก่อน ให้รอดูท่าทีอยู่ที่ปากแม่น้ำ

(อ้าวงั้นเรือแล่นขึ้นไปได้ยังไงขอไว้คราวหน้านะครับต้องไปแล้ว)

ต่อนะครับ จากบันทึกของนาวาโทโบรี่ ทราบแต่ว่ามาถึงวันที่ 12 กรกฎาคม พอวันที่ 13 เวลาประมาณ 16.00 น.มีทหารเรืออังกฤษจากเรือ"พาลาส"ขึ้นมาพร้อมกับนายทหารของสยาม นำข่าวสารมาแจ้งว่ามีคำสั่งจากปารีสให้กองเรือของฝรั่งเศสรั้งไว้ที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยาก่อน แล้วค่อยรอคำสั่งต่อไป

แต่ตัวนาวาโทโบรี่เมื่อไม่มีคำสั่งจากเมืองแม่ไฉยไยต้องฟังคำสั่งจากทหารเรืออังกฤษเล่า จึงเฉยเสีย แล้วหันไปถามนายทหารเรืออังกฤษและนายทหารเรือสยามว่าร่องน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาลึกเท่าใด ก็ไม่ได้คำตอบ และเรือที่จะมานำร่องก็ไม่มาซะที

เรื่องนี้มีเงื่อนอยู่ว่าโทรเลขมาถึง ปาวี เมือวันที่ 13 กรกฎาคม ซึ่งขัดใจตัว ปาวีมากนัก ปาวีจึงเอาคำสั่งนี้ ใส่รวมกับกองพัสดุไปรษณีย์ภัณฑ์ธรรมดา ที่จะส่งให้เกองเรือรบในแม่น้ำเจ้าพระยา

ซึ่งนาวาโทโบรั่ได้รับคำสั่งนี้ในวันที่ 14 กรกฎาคม 1 วันหลังจากที่กองเรือฝรั่งเศสฝ่าแนวต้านทานที่ปากน้ำมาแล้วซึ่งมองได้ว่าทั้งรัฐบาลฝรั่งเศสที่ปารีสและตัวปาวีต่างให้นาวาโทโบรี่เผชิญโชคตามยถากรรม ถ้ากองเรือฝ่ามาได้ก็แล้วไป แต่ถ้าฝ่ามาไม่สำเร็จความผิดนี้ก็จะติดตัวนาวาโทโบรี่ไปชั่วชีวิต

กลับมาปัจจุบันเผอิญไปได้เรือ"จีเบเซ"(ไม่รู้ว่าเขียนถูกรึเปล่า)มาเป็นเรือนำร่อง ก็นำเรือรบฝรั่งเศสทั้ง 2 ลำเข้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยาในเวลา ประมาณ 18.00 น.......

ซึ่งก็ได้รับการต่อต้านจากป้อมพระจุลฯ ซึ่งได้ยิงกระสุนเปล่าขู่มาก่อนในระยะ 5,000 เมตร แต่เรือรบฝรั่งเศสไม่จอด....

พอปืนที่ป้อมพระจุลฯยิงครบ 3 นัดเห็นแล้วว่าเรือฝรั่งเศสไม่จอดแน่ จึงใส่กระสุนจริงและเริ่มระดมยิง บรรดาเรือรบฝ่ายสยามทั้ง 5 ลำเริ่มเคลื่อนตัวเข้าขวางเรือฝรั่งเศส

แต่เรือรบฝ่ายสยามอาวุธด้อยกว่าและมีแต่อาวุธเบา จึงยิงเกราะของเรือรบฝรั่งเศสไม่เข้า เจอฝ่ายฝรั่งเศสยิงสวนกลับมา เรือฝ่ายสยามก็นิ่งสนิท หวังพึ่งได้แต่ปืนใหญ่ของป้อมพระจุลฯ

ฝ่ายสยามเริ่มจุดตอร์ปิโดเพื่อจมเรือฝรั่งเศสแต่พลาดเป้า ไอ้ลูกที่ตรงแนวเรือรบก็ดันระเบิดก่อน

ส่วนปืนใหญ่ที่ป้อมพระจุลฯก็เริ่มระดมยิง ปืนที่ป้อมมีลักษณะพิเศษคือจะโผล่พ้นแนวป้อมเวลายิงเท่านั้นพอยิงเสร็จก็จะผลุบลงในหลุมตามเดิม ทำเอาฝ่ายฝรั่งเศสปวดเศียรเวียนเกล้าอย่างมาก เพราะยิงลูกปืนธรรมดาไปก็ข้าหลุมหมดไปก็ไม่ถูก จึงเปลี่ยนมาใช้กระสุนลูกปรายให้ระเบิดกลางอากาศแทน ทำความเสียหายให้กับพลยิงได้บ้าง

เมื่อเจอฝ่ายสยามระดมยิงเป็นห่าฝนอย่างนี้เรือนำร่อง จีเบเซ ก็ปฏิเสธที่จะนำร่องต่อ และก็แจ็กพอตโดนกระสุนจากป้อมพระจุลฯเข้าไปหนึ่งนัด ต้องแอบเข้าข้างทางและโดนฝ่ายสยามเข้าควบคุมตัว

จากบันทึกของนาวาโทโบรี่ใหความเห็นว่าปืนใหญ่ที่ป้อมพระจุลฯยิงได้ไม่ค่อยแม่นยำ เพราะพลยิงไม่ได้คำนวนความเร็วของเรือขณะวิ่ง กระสุนจึงลอยข้ามหัวหรือไม่ก็ตกท้ายไปหมด

ก็ต่อต้านของฝ่ายสยามเริ่มเบาบางลงเพราะเริ่มมืดมองกันไม่เห็นและที่สำคัญกองเรือฝรั่งเศสแล่นพ้นแนวปืนใหญ่ของป้อมพระจุลฯแล้ว มีการต่อต้านจากป้อมผีเสื้อบ้างในเวลา 19.00 น. แต่ทำอะไรไม่ได้เพราะมองกันไม่เห็น....

21.00 น. หมู่เรือรบของฝรั่งเศสทั้ง 2 ลำมาจอดเทียบท่าที่หน้าสถานทูตฝรั่งเศสในกรุงเทพฯ ก่อนที่จะรายงานตัวกับปาวี นาวาโทโบรีเรียกผู้บังคับการเรือ ลูแตง และโคเม็ตมาพบเพื่อวางแผนกันว่า

ในเวลารุ่งเช้าเรือทั้ ง 3 ลำจะเข้าจมเรือลาดตระเวน"มหาจักรี" ที่จอดอยู่ที่อู่หลวง ซึ่งเป็นเรือกลไฟรุ่นใหม่ของสยาม เดินเครื่องด้วยพลังไอน้ำอย่างเดียว

หลังจากจมเรือแล้วก็ให้ตรึงแนวอยู่ที่หน้าพระบรมมหาราชวัง ถ้าการเจรจาไม่เป็นผลก็ให้ระดมยิงพระบรมมหาราชวังต่อไป ความจำเป็นที่ต้องทำคือให้ฝ่ายสยามถอนการป้องกันที่ปากน้ำก่อน แล้วค่อยเจรจาทางการทูตต่อไป

เมื่อนาวาโทโบรี่รายงานตัวกับปาวี ปาวีก็สั่งให้ระงับการปฏิบัติการก่อนเพราะเกรงว่าถ้ามีการรบกันกลางกรุงเทพฯอาจทำให้ชาวจีนในกรุงเทพฯก่อการจลาจลขึ้น

สถานการณ์อาจร้ายแรงถึงขั้นมีการปล้นสดมภ์บ้านเรือนชาวยุโรปและวังเจ้านายของไทย อาจถึงกับทำให้รัฐบาลของสยามอาจต้องสลายตัว เมื่อเป็นเช่นนั้นจริง ฝรั่งเศสจะเจรจากับใคร ซ้ำจะโดนพวกตะวันตกด้วยกันก่นด่าอีกว่าเป็นต้นเหตุให้เกิดจลาจล

จึงให้ระงับการปฏิบัติการไว้แล้วโทรเลขรายงานไปยังปารีสเพื่อขอคำสั่งต่อไป

หลังจากกองเรือของนาวาโทโบรี่ ฝ่าเข้าไปจอดในกรุงเทพฯได้แล้ว รัฐบาลฝรั่งเศสก็เลยตามเลย สั่งให้นายพลเรือฮูมานต์ ผู้บัญชาการกองเรือภาคตะวันออกไกลของฝรั่งเศส นำกองเรือมาชุมนุมในอ่าวไทยเพื่อดำเนินการปิดปากอ่าว พร้อมตั้งข้อเรียกร้องทำนองนี้แหละให้ปาวีเอามายื่นแก่ฝ่ายสยามในวันที่ 18 กรกฎาคม ผมขอยกมาเลยละกัน

(1) ให้เคารพสิทธิของญวน และเขมร(ฝรั่งเศส) เหนือดินแดนบนฝั่งซ้ายลำน้ำโขง และเกาะต่าง ๆ ในลำน้ำนี้ (2) ให้ถอนทหารไทยที่ตั้งอยู่บนฝั่งซ้ายของลำน้ำโขงให้เสร็จสิ้นภายในเวลาไม่เกิน หนึ่งเดือน (ตรงนี้จะตรงกับช่วงแรกๆที่ผมเล่าว่าทำไมฝ่ายสยามต้องถอนตัวออกจากสีทันดร)
(3) ให้เสียค่าปรับไหมแก่ฝรั่งเศสในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ทุ่งเชียงคำ และที่คำม่วน และทั้งในการที่ได้ทำอันตราย และความเสียหายแก่เรือและทหารประจำเรือฝรั่งเศสที่ปากน้ำเจ้าพระยา
(4) ให้ลงโทษผู้กระทำผิดและเสียเงินค่าทำขวัญแก่ครอบครัวของผู้ที่เสียชีวิต
(5) ให้เสียเงิน 2,000,000 ฟรังค์ เป็นค่าปรับไหมในความเสียหายต่าง ๆ ที่เกิดแก่ชนชาติฝรั่งเศส
(6) ให้จ่ายเงิน 3,000,000 ฟรังค์ ชำระเป็นเงินเหรียญโดยทันที เป็นมัดจำการจะชดใช้ค่าเสียหายต่าง ๆ และเงินค่าทำขวัญ หรือถ้าไม่สามารถทำได้ให้เอาภาษีในเมืองพระตะบอง และเสียมราฐ มาจำนำกับฝรั่งเศสไว้

พร้อมกันนี้ทางปารีสก็กระซิบบอกปาวีทางหลังไมค์ว่าถ้าสยามไม่ตอบภายใน 48 ชั่วโมง ให้ปาวีนั่งเรือออกมาที่ปากอ่าวเลย พร้อมดำเนินการปิดปากอ่าวไทยทันที ถ้าสยามพยายามต่อต้านก็ให้กองเรือของฝรั่งเสสตอบโต้ได้ทันที

วันที่ 22 กรกรฎาคม ฝ่ายสยามรับคำขาดทุกข้อเว้นข้อแรกที่ฝ่ายสยามต้องการให้มีนี้คณะอนุญาโตตุลาการมาชี้ขาดว่า ญวนเคยมีอิทธิพลเหนือดินแดนนี้จริง

วันที่ 23 ปาวีตอบกลับมาพร้อมประกาศตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับสยาม และออกจากกรุงเทพฯพร้อมกองเรือรบ 3 ลำของนาวาโทโบรี่ ไปประจำที่ปากน้ำ

วันที่ 26,29 กรกฎาคม ฝรั่งเศสประกาศปิดอ่าวไทย อนุญาติให้เฉพาะถุงเมลล์เท่านั้นที่ส่งเข้าไปได้

ก่อนจะไปก่อนต่อทางการทูต ขอวกกลับเกี่ยวกับเรื่องการรบนิดนึงนะครับ อันนี้เป็นความเห็นผมเองนะครับ

การจัดรูปแบบกองทัพของสยามเวลานั้น เริ่มจากพึ่งเริ่มมีการปฏิรูปกองทัพ จากระบบ ไพร่สักเลข มาเป็นทหารอาชีพ ซึ่งเป็นธรรมดาว่าไอ้กองที่ว่านี้ก็เริ่มมีขึ้นจากส่วนกลางและตามหัวเมืองใหญ่ ตามหัวเมืองรอบนอกยังเป็นกองทหารแบบเดิม

ดูได้จากการรบที่ สีทันดร คำมวน และตามฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง กองทัพสยามเป็นกองทัพผสมไทย-ลาวมีจำนวนมากกว่ากองทหารฝรั่งเศส แต่กองทหารฝรั่งเศสเป็นกองทหารอาชีพ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทหารเวียดนามซึ่งมีพื้นฐานระเบียบวินัยดีอยู่แล้ว

นั่นเป็นเพราะทหารแต่ละคนของกองทัพสยามทั้งแบบเก่าและใหม่ ถูกเกณท์มาแต่ตามที่มูลนายจะสั่ง ไม่ได้มีความรู้สึกร่วม ในการที่จะปกป้องผืนแผ่นดินที่อยู่(รัฐสยามถือกำเนิดขึ้นในสมัย ร.5)

เพราะเป็นความเชื่อฝังหัวมาจากระบบศักดินาเดิม คนสมัยก่อนจะรู้จักแค่หมู่บ้านที่ตนเองอยู่ มูลนายที่ตนสังกัดเท่านั้น ใช้ชีวิตเรียบง่ายไปวันๆ ถึงฤดูเก็บเกี่ยวก็มีคนมาเก็บภาษี ถึงเวลาตามกำหนดก็ต้องเข้าเวรรับใช้มูลนาย 3 เดือน 4 เดือนก็ว่าไป

จึงไม่ใช้เรื่องแปลกที่ไพร่พลแต่ละคนจะคิดถึงแต่ตัวเอง มีความคิดแคบๆไม่คิดอะไรให้ไกลตัว อย่าว่าแต่คิดถึงรัฐชาติเลย ตัวเองท่อง ก-ฮ ได้รึเปล่ายังไม่รู้เลย

กองทัพที่มีทหารคุณภาพเช่นนี้ จะเอาอะไรไปรบกับกองทหารที่ฝึกหัดอย่างทหารอาชีพอย่างกองทัพฝรั่งเศสละทหารเวียดนาม เขมรพวกนี้ก็โดนเกณฑ์มาเหมือนกันแต่มีระบบการจัดการที่ดีกว่า

อย่างน้อย ระบบอาณานิคมของฝรั่งเศสก็ให้สิทธิ์ชาวอาณานิคมได้สิทธิบางส่วนเหมือนชาวฝรั่งเศสที่เมืองแม่ที่ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพเต็มที่ตามระบบประชาธิปไตยของเขา และถ้าคนไหนคุณสมบัติถึงก็ได้สัญชาติฝรั่งเศสไปเลย ไม่ต้องอยู่ภายใต้ระบบศักดินารับใช้มูลนาย

ด้านกองทัพเรือยิ่งชัดเจน กองเรือรบของสยามส่วนใหญ่เป็นเรือกลไฟดัดแปลงเป็นเรือรบ ที่เป็นเรือรบจริงๆมีเรือลาดตระเวน"มหาจักรี" แต่ก็ใช้เป็นเรือพระที่นั่งไปไม่ได้ร่วมรบ

ด้านบุคลากร กองทัพเรือต้องใช้บุคลากรที่มีคุณภาพมีพื้นฐานความรู้ดี แต่จากที่บรรยายข้างต้น สยามจึงยังขาดแคลนบุคลากรทางด้านกองทัพเรือ บรรดานายทหารระดับสูงจนถึงผู้บัญชาการกองทัพเรือของสยาม จึงเป็นชาวต่างชาติทั้งหมด

อย่างพระยาชลยุทธโยธี ผู้บัญชาการทหารเรือ และในเวลารบได้ไปบัญชาการที่ป้อมพระจุลฯก็เป็นชาวเดนมาร์ก ซึ่งการมรนายทหารเป็นชาวต่างชาติก็สร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าในการบังคับบัญชาพอแล้ว

แถมกองทัพ(ทั้งทัพบก-เรือ)ที่พึ่งตั้งไข่ของสยาม ตัวทหารยังไม่ค่อยมีระเบียบวินัย ดังมีบันทึกไว้ช่วงที่เกิดการรบปืนใหญ่ประจำป้อมหลายกระบอกของสยามต้องยิงโดยนายทหารชาวต่างประเทศ เพียงเพราะบรรดาพลยิงได้รับคำสั่งจากนายตนว่าให้มาต้อนรับมกุฎราชกุมารของออสเตรียไม่ได้ให้มารบจึงไม่ฟังคำสั่งดื้อๆ

ที่ยกมาตรงนี้แค่จะบอกว่าสยามอาจจะโชคร้าย ถ้าฝรั่งเศสรุกช้ากว่านี้ซัก 10 ปี รอการปฏิรูประบบราชการของเราเริ่มเข้าที่ผลลัพท์อาจเปลี่ยนจากนี้

แต่ตรงนี้ก็ข้อสังเกตได้ว่าเป็นการเจอกันของ 2 ระบบ(ผมขอยกระบบเศรษฐกิจละกันจะได้ไม่โดนหมั่นไส้จาก....) นั่นคือระบบศักดินาที่มีระบบเศรษฐกิจแบบยังชีพ กับ ลัทธิจักรวรรดนิยมที่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรม เศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่อง(อีกเคสที่เปรียบได้คือ อังกฤษ-พม่า) เมื่อมาปะทะกัน คลื่นลูกใหม่ก็กลืนลูกเก่า

 

โดย: ryzon 16 ตุลาคม 2548 8:08:53 น.  

 

สมมุติว่า ถ้าเราจมเรือฝรั่งเศสที่พยายามรุกเข้ามาได้หล่ะครับ จะเกิดอะไรขึ้น
ผมว่าคราวนี้ฝรั่งเศสคงยกมาเป็นกองทัพใหญ่ และเอาจริง อาจถึงขั้นยึดกรุงเทพไปเลย และนั่นหมายถึง ไทยก็เป็นส่วนหนึ่งของอินโดจีนไปด้วย
ผมคิดว่ายังงี้ คนอื่น ๆ คิดกันยังไงครับ

จากคุณ : imf41 - [ 31 ก.ค. 48 13:20:04 ]

สมมติถ้าเราจมเรือฝรั่งเศสได้หรือสกัดหมู่เรือรบของฝรั่งเศสที่ปากน้ำได้ ในความเห็นผมนะเหตุการณ์ ร.ศ.112 ก็คงไม่เกิด ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงก็ยังเป็นของเราอยู่เพราะ..

1. มีคำสั่งจากปารีสให้หมู่เรือรบของนาวาโทโบรี่รออยู่ที่ปากน้ำก่อนเพื่อเจรจากันใหม่ ที่มีคำสั่งนี้เพราะฝรั่งเศสไม่ประสงค์ที่จะกระทบกระทั่งกับอังกฤษในสยาม เพียงแต่คำสั่งที่ส่งมาทางโทรเลขนั้นโดนปาวีเอาไปรวมกับกองจดหมายธรรมดา

ถ้าเรือโดนยิงจมจริง ที่ปารีสก็จะบอกว่าไม่รู้เรื่องเพราะได้ส่งคำสั่งห้ามมาแล้วแต่ตัวนาวโทโบรี่ขัดขืนคำสั่งเอง(ก็เป็นแพะไป)ก็เป็นโชคดีของนาวาโทโบรี่(และโชคร้ายของสยาม)ที่นำหมู่เรือฝ่ามาได้โดยเสียหายเล็กน้อย

2. โอกาสที่ฝรั่งเศสจะยกทัพใหญ่มายึดกรุงเทพคงเป็นเรื่องที่ยากยิ่งกว่าด้วยเหตุผลหลัก 2 ข้อใหญ่ๆ

2.1 สมมติฝรั่งเศสยกทัพใหญ่สารถล้มรัฐบาลสยามที่กรุงเทพได้จริงแล้วจะสงบศึกยังไงละครับเพราะรัฐบาลล้มไปแล้ว ข้อมูลทางฝรั่งเศสก็ระบุว่าถ้าเกิดความวุ่นวายอาจทำให้ชุมชนชาวจีนที่อยู่ในกรุงเทพและตามหัวเมืองใหญ่ก่อการจลาจลได้ วุ่นตายชัก

2.2 อันนี้น่าจะสำคัญที่สุดคือ อังกฤษที่เป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งในเวลานั้นมีผลประโยชน์อยู่มากในสยาม เช่นสัมปทานการทำไม้ทางเหนือ เหมืองดีบุกภาคใต้ อังกฤษคงไม่นิ่งเฉยที่จะปล่อยให้ฝรั่งเศสฮุบสยามเอาดื้อๆหรอกครับ

ก็มีเท่านี้ละครับ มาแลกเปลี่ยนกัน.....

จากคุณ : ryzon - [ 31 ก.ค. 48 18:26:21 ]

ขอต่อให้จบนะครับ หลังจากมีการเจรจาทางการทูตมานานไม่ทันใจซะที ในคำขาดฝรั่งเศสจึงเพิ่มเติมไปว่าขอยึดจันทบุรีไว้เป็นหลักประกันว่า สยามจะถอนกำลังออกจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงและห้ามวางกำลังทหารในรัศมี 25 กม.จากชายฝั่งแม่น้ำโขง

ว่าแล้วทหารฝรั่งเศสก็ยึดจันทบุรีเลย เจอตานี้การเจรจาก็เลยง่ายขึ้น สามารถตกลงกันได้ในเดือนตุลาตมปีเดียวกันว่า

สยามยกดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงทั้งหมดรวมถึงหลวงพระบางด้วย(ฝรั่งเศสเรียกร้องเอาแคว้นหลวงพระบางเพิ่มเติมภายหลัง)ชดใช้ค่าเสียหายทั้ง หมด ลงโทษคนผิด(พระยอดเมืองขวาง)ตามที่ฝรั่งเศสต้องการ

จากนั้น อีก 10 ปีต่อมาฝรั่งเศส-สยามทำสัญญาอีกฉบับหนึ่งว่า สยามจะยกฝั่งขวาแม่น้ำโขง(หลวงพระบางฝั่งขวา ปากเซ มโนไพร)และมณทลบูรพา(เสียมราฐ พระตะบอง)เพื่อแลกกับฝรั่งเศสถอนตัวออกจากจันทบุรี ตราด และยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตของชาวฝรั่งเศสและคนในบังคับที่ทำกับสยาม

ลาวจึงถูกเปลี่ยนมือมมาเป็นของฝรั่งเศสด้วยเอวังละประการฉะนี้ ขอสรุปนะครับว่าช่วงอาจารย์สื่อฯไปจีบสาวลาวเอ้ยไปทำงานที่ลาวผมเล่าช่วงลาวในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นแต่ยังไม่ถึงสมัยเจ้าอนุวงศ์และข้ามมาตอนทีฝรั่งเศสเข้าลาวเลย(ตอนนั้นพี่สาวกาสะลองแกพูดถึงฝรั่งเศสพอดี) อาจารย์สื่อฯรับไม้ต่อเลยนะครับ

 

โดย: ryzon 16 ตุลาคม 2548 8:10:19 น.  

 

น่าสนใจดีค่ะ... ขอบคุณที่สรรหามาเล่านะคะ

 

โดย: ju (กระจ้อน ) 19 ตุลาคม 2548 14:01:54 น.  

 

ขอประวัติหรืออะไรก็ได้เกี่ยวกับ ไบแซนไทน์ หน่อยค่ะ ขอบคุณล่วงหน้า

 

โดย: ืnan IP: 203.113.56.71 14 กุมภาพันธ์ 2549 20:01:46 น.  

 

 

โดย: ด.ญ.ศิริรัตน์ ครรชิตชัยวาร IP: 203.172.255.150 3 กรกฎาคม 2549 14:14:09 น.  

 

เกลียฝรั่งเศษ และระบบประชาธิปไตยทุนนิยมด้วย มันจะทำลายชาติไทย

 

โดย: ดีก IP: 58.9.130.178 23 มิถุนายน 2550 21:02:02 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


ryzon
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




free counters
Friends' blogs
[Add ryzon's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.