Group Blog
 
<<
ธันวาคม 2551
 
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
15 ธันวาคม 2551
 
All Blogs
 
เจาะลึกซีไรต์ “ตุ๊กตา” หนึ่งในมุมมองของ “สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า…‘คน’...”



เจาะลึกซีไรต์ “ตุ๊กตา”

หนึ่งในมุมมองของ “สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า…‘คน’...”




“ตุ๊กตา” ผลงานของ “วินทร์ เลียววาริณ” ในวรรณกรรมเรื่องสั้นรางวัลซีไรต์ชุด “สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า ‘คน’…” เนื้อหาของ “ตุ๊กตา” เป็นเรื่องราวของเด็กสาวซึ่งจัดเป็นเด็กพิเศษที่มีพัฒนาการด้านสมองผิดปกติ ด้วยเธอปัญญาด้อยนับแต่กำเนิดเนื่องจากปัญหาในขณะคลอด หากแต่เด็กสาวมีรูปลักษณ์ที่สวยงาม ซึ่งเมื่อเจริญวัยขึ้น ทั้งรูปโฉมที่งามเด่นจับตาและความผิดปกติทางสติปัญญานั้น ได้กลายเป็นเครื่องล่อใจเพศตรงข้ามทำให้เกิดการล่วงละเมิดทางเพศครั้งแล้วครั้งเล่า จนเธอตั้งครรภ์ถึง 3 ครั้ง ด้วยพฤติกรรมทางเพศจากชายทั้ง 3 คน โดยในการตั้งครรภ์อย่างไม่พึงประสงค์ 2 ครั้งแรกนั้น แม่ของเธอได้พาไปทำแท้งเถื่อนจนข่าวรั่วไหลกลายเป็นประเด็นให้เสื่อมเสียชื่อเสียง ซึ่งทำให้แม่ของเธอทั้งอับอายและโกรธแค้นมาก และมักจะระบายอารมณ์ความเกลียดชังอย่างรุนแรงมาที่เธอ และในการตั้งครรภ์ครั้งที่ 3 แม่ได้ตัดสินใจพาเธอไปทำแท้งพร้อมกับผ่าตัดเอามดลูกออกในสถานพยาบาลต่างประเทศ เพื่อตัดปัญหาความอัปยศที่อาจจะเกิดขึ้นซ้ำรอยเดิมอยู่เช่นนี้ให้หมดสิ้นไป

“ตุ๊กตา” นับเป็นผลงานหนึ่งของคุณ “วินทร์ เลียววาริณ” ที่เมื่ออ่านแล้วยังความประทับใจอันแปลกใหม่ในลีลาการนำเสนอที่สะดุดใจเราอย่างมาก “ แปลกใหม่ ” , “ สะดุดใจ ” อย่างไรน่ะหรือ? .... ก็เพราะผู้เขียนได้นำเสนอการดำเนินเรื่องในลักษณะที่เต็มไปด้วยคำถามตลอดทั้งเรื่อง ซึ่งสำหรับหงส์แล้ว นับเป็นครั้งแรกที่ได้สัมผัสกับงานเขียนในลักษณะนี้ แต่ที่ “แปลก” อย่างหนึ่ง คือ ทั้งที่เนื้อเรื่องนั้นเต็มไปด้วยคำถาม ซึ่งหากคิดในแง่ที่ว่าต้องมาอ่านเจอแต่คำถามตลอดเรื่องจนชวนงงนั้น ผิดถนัดเลยทีเดียว เพราะแต่ละคำถามนั้น สื่อความหมายให้เข้าใจถึงความเป็นไปที่เกิดขึ้นและแสดงรายละเอียดของเรื่องได้อย่างละเมียดละไม

เรื่องราวของเรื่องสั้น “ตุ๊กตา” มีรูปแบบการเล่าเรื่องโดยผู้เขียนใช้สำนวนเรียบเรียงแบบสมมติตนเป็นตัวละครเอกที่มุ่งเน้นการถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดอยู่ภายในใจของตัวละคร โดยการสังเกตการณ์จากสภาวะแวดล้อม แล้วบรรยายสถานการณ์ผ่านมุมมองของตน และบางช่วงเป็นการตัดสลับส่วนที่เป็นเหตุการณ์ปัจจุบันเชื่อมโยงกับความทรงจำในอดีต มีทั้งลักษณะการสื่อสารในใจกับตัวเอง และการโต้ตอบสนทนากับคนรอบข้างในเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งทั้งความคิดและคำพูดของตัวละครเอกนี้ นับเป็นแกนกลางในการดำเนินเรื่อง เป็นการแสดงคำถาม อันเหมือนหนึ่งจะสื่อสารมาถึงผู้อ่านโดยตรง เพราะเมื่อตัวละครคิดหรือพูดแต่ละคำถามออกไปแล้ว เนื้อหาของคำถามนั้น ดั่งว่าจะโน้มน้าวให้ผู้อ่านคิดหาคำตอบตามไปด้วย โดยบางคำถาม คำตอบอาจจะแน่ชัดอยู่ในตัว แต่ในอีกลักษณะหนึ่ง หลายๆ คำถาม จะสื่อสารให้ผู้อ่าน ตีความและหาคำตอบได้หลากหลายแง่มุม

แม้บางประเด็นจะขบคิดได้หลากหลายทัศนะ แต่โดยภาพรวมแล้ว เอกภาพของทุกคำถามที่ตัวละครเอกนำเสนอนั้น ล้วนชี้ให้เห็นถึงสิ่งที่เรียกว่า “จริยธรรมในสังคม” ซึ่งลักษณะการใช้คำถามตลอดทั้งเรื่องนั้น นับว่าเป็นการดำเนินเรื่องที่มีสีสันแปลกใหม่และพบได้ไม่บ่อยนักในงานเขียนร้อยแก้ว แต่สิ่งที่เหนือกว่าความประทับใจสำหรับเราแล้ว คือ ความน่าชื่นชมที่ผู้เขียนสามารถนำคำถามที่ส่วนใหญ่แล้วความหมาย คือ “?” มาแปลเป็น “ความเข้าใจ” และแปรผันเป็นการแสดง “ความหมาย” ได้อย่างมีเสน่ห์น่าติดตาม

นับว่าเป็นกุศโลบายที่แยบยลยิ่งนัก เพราะเมื่อเป็นคำถามแล้ว ส่งผลให้ผู้อ่านได้ใช้ความคิดตามไปด้วยอย่างละเอียดอ่อน เหมือนดึงดูดผู้ชมให้เข้าไปมีส่วนร่วมและอยู่ในวังวนของอารมณ์ตัวละคร ซึ่งนับว่า “ตุ๊กตา” ของ “วินทร์ เรียววรินทร์” เรื่องนี้ ทำการนำเสนอได้อย่างแนบเนียน ด้วยจุดเด่นของการใช้ “คำถาม” ที่เป็น “สื่อกระตุ้นความคิด” และเมื่อเกิดการคิด นั่นคือ เราได้มีส่วนร่วมและอยู่ใกล้ชิดกับตัวละครในเรื่องนั้นอย่างกลมกลืน

ผู้เขียนมีกลวิธีการนำเสนออย่างมีลำดับขั้นตอน โดยเริ่มจากการให้ผู้อ่านทราบข้อเท็จจริงของเรื่องราวในช่วงแรกเริ่มอย่างบางเบา แล้วค่อยๆ นำเข้าสู่รายละเอียดให้เด่นชัดเข้มข้นขึ้นทีละนิดๆ คลายปมปัญหาทีละเล็กทีละน้อย จนสามารถคลี่คลายปัญหาต่างๆ ออกมาได้อย่างกระจ่างชัด

สาระของแนวคิดในเรื่องสั้น “ตุ๊กตา” ได้สะท้อนความจริงประการหนึ่งในแง่มุมที่ว่า “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก” กล่าวคือ ในสังคมนั้น คนที่อ่อนแอกว่า มักถูกผู้อื่นเอารัดเอาเปรียบเสมอ ความเห็นแก่ตัวเป็นสัญชาตญาณอย่างหนึ่งของมนุษย์ที่สามารถผลักดันให้ทำได้ทุกอย่างเพื่อความสุขของตนเองโดยไม่สนใจผลกระทบต่อผู้อื่น และพฤติการณ์เช่นนี้ย่อมจะแสดงออกมาได้ทุกขณะหากเส้นแบ่งศีลธรรมและความต้องการในใจตนได้ล้ำแดนกันอย่างขาดสมดุล รวมทั้งการมองเห็นโอกาสที่จะเอื้ออำนวยให้ความคิดหวังนั้นสำเร็จได้โดยสะดวก

นอกจากนี้ แม้แต่ผู้มีการศึกษาและตำแหน่งหน้าที่การงานที่สูงส่ง ก็ยังคงมีพฤติกรรมเอารัดเอาเปรียบ ซึ่งชี้ให้เห็นในจุดนี้ได้อีกทางหนึ่งว่า แม้ระดับความรู้และบทบาทหน้าที่อันมีเกียรติ รวมทั้งกฏระเบียบจรรยาบรรณประจำตำแหน่งงาน ก็อาจจะมิได้ช่วยขจัดพฤติกรรมความเห็นแก่ตัวนี้ ให้เสื่อมสูญไปจากสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า “คน” ได้

ลักษณะเด่นในการใช้สัญลักษณ์สื่อความหมายในเรื่องได้อย่างลึกซึ้ง ซึ่งเริ่มจากชื่อเรื่อง “ตุ๊กตา” อันเทียบได้กับความเสมือนไร้ชีวิตจิตใจ ใครจะปฏิบัติอย่างไรด้วยก็ได้ โดยไม่อาจปกป้องตนเองแม้ต้องรับผลแห่งพฤติกรรมมุ่งร้าย รวมถึงลักษณะของตุ๊กตาที่นับเป็นของเล่นที่จะให้ความสนใจหรือทอดทิ้งไปเมื่อใดก็ได้ เป็นที่ระบายอารมณ์ต่างๆ ของเจ้าของโดยไม่อาจขัดขืน นอกจากนี้ ตุ๊กตายังสื่อความหมายในมุมมองที่น่ารักน่าเอ็นดู และความไร้เดียงสาในใบหน้าและแววตา รวมทั้งเป็นของเล่นที่นิยมในหมู่เด็กหญิงโดยทั่วไป ซึ่งบ่งชี้ถึงสภาพแห่งตัวตนของตัวละครเอกได้อย่างเด่นชัด

การเล่นคำเพื่อเปรียบเทียบ , สื่อความหมายอย่างน่าสนใจอีกจุดหนึ่ง คือ การใช้ “มด” เป็นตัวแทนของสิ่งมีชีวิตที่อ่อนแอ ซึ่งสังเกตจากการที่ตัวละครเอกหวนนึกถึงอดีต ที่เคยเรียนรู้จากแม่ว่าจะไม่ทำร้ายมด ซึ่งเป็นสัตว์เล็กที่อ่อนแอ เป็นการแฝงแนวคิดที่เชื่อมโยงถึงการเปรียบเทียบ “มด” เป็นนัยยะถึงความอ่อนแอและความโชคร้ายของเด็กสาว โดยใช้กลวิธีการกลับผวนคำ ในตอนที่เด็กหญิงถามในใจว่า “อะไรคือมดลูก ใช่ลูกของมดไหม ?” ซึ่งถ้อยความนี้ดูเหมือนจะแฝงความรู้สึกที่ชวนให้คิดเชื่อมโยงความถึงลักษณะของ “มด” อันเป็นสัตว์เล็กบอบบาง ซึ่งไปพ้องเสียงกับการผวนกลับคำว่า “มดลูก” อันสื่อสัญญะแห่งความเป็นหญิงสาว และเมื่อเล่นคำว่า “ลูกของมด” จึงยิ่งแสดงถึงความอ่อนแออย่างเด่นชัด เนื้อความนี้จึงสะท้อนถึงความหมายในภาพรวมว่า สตรีมักจะถูกเอารัดเอาเปรียบในการล่วงละเมิดทางเพศ ด้วยไม่อาจจะปกป้องตนเองจากเพศชายที่แข็งแกร่งกว่าได้

มิติของตัวละครเอกในเรื่องสั้น “ตุ๊กตา” โดยเฉพาะตัวละครเอกที่เด็กสาวผู้ผิดปกติด้านพัฒนาการทางสมอง ซึ่งนับเป็นตัวแทนของคนอ่อนแอ ไม่สามารถหลีกเลี่ยงอันตรายจากการถูกเอารัดเอาเปรียบได้ หากปราศจากผู้ดูแลที่ดี เด็กหญิงเป็นผู้มีความรู้สึกนึกคิดที่บริสุทธิ์ไร้เดียงสา มองโลกในแง่ดี และเป็นมิตรกับทุกคนที่ผ่านเข้ามาในชีวิตโดยไม่คิดหวาดระแวงภัยใดๆ ส่วนตัวละครรองคือ แม่ของเด็กสาว ซึ่งรักเกียรติยศของตนอย่างยิ่ง ห่วงหาเรื่องชื่อเสียงทางสังคมเป็นสำคัญ โดยไม่ใส่ใจผู้เป็นบุตรสาวแท้ๆ ของตนเอง ซึ่งผู้เป็นแม่ของเด็กหญิงนี้ ได้สะท้อนภาพของครอบครัวที่แตกแยก ซึ่งแม้ในเรื่องจะไม่ได้กล่าวไว้โดยตรง แต่สังเกตจากความเปรียบที่ผู้เขียนให้สัญญะในการแต่งตัวตุ๊กตากับลูกอมหวานเย็น สื่อถึงความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างเด็กสาวและชายที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของเธอ และเมื่อเด็กสาวกล่าวในใจว่า “ไม่มีใครให้ลูกอมและตุ๊กตากับแม่” อาจถ่ายทอดความหมายได้ว่า แม่ไม่มีคนรัก หรือแม่และพ่อของเด็กหญิงไม่ได้ใช้ชีวิตคู่ร่วมกันแล้วนั่นเอง

ฉากในเรื่อง “ตุ๊กตา” ซึ่งมีความหมายต่อการสะท้อนแนวคิดที่ล้ำลึก คือ สิ่งแวดล้อมในขณะโดยสารเครื่องบินเดินทางไปต่างประเทศ โดยเครื่องบินนั้น แสดงถึงขอบเขตของสถานะของครอบครัวเด็กสาวที่มีเกียรติในสังคม ในขณะที่เครื่องบินขับเคลื่อนไปนั้น ได้มีการฉายภาพยนตร์เพื่อความบันเทิงแก่ผู้โดยสาร ซึ่งภาพยนตร์นั้นเป็นที่ทราบดีว่าเปรียบเสมือนการสะท้อนภาพชีวิตและวิถีสังคมในรูปแบบหนึ่ง การที่เด็กสาวรู้สึกว่าชมภาพยนตร์ไม่รู้เรื่องนั้น แสดงให้เห็นว่าเธอไม่เข้าใจในสภาพความจริงของวิถีชีวิตบนโลกนี้ ซึ่งอาจจะด้วยความไร้เดียงสาและความด้อยพัฒนาการทางปัญญาก็เป็นได้ ในขณะเดียวกันเด็กสาวมักจะคิดและรู้สึกได้ถึงความโคลงเคลงของเครื่องบินอย่างตื่นกลัว เกรงว่าเครื่องบินจะตก เป็นจุดหนึ่งที่บ่งบอกถึงความเปราะบางของเธอในด้านที่ขาดความมั่นคงทางจิตใจ มีความกลัวในจิตสำนึกอยู่มากและเธอเองก็ไม่มีความมั่นใจในความรักจากผู้เป็นมารดา ซึ่งสืบเนื่องมาจากลักษณะการอบรมเลี้ยงดูของแม่ที่มักใช้การระบายอารมณ์ความรุนแรงเป็นเงื่อนไขการเรียนรู้

การที่ตัวละครตั้งข้อสงสัยอยู่บ่อยครั้งว่าทำไมเครื่องบินหนักแล้วจึงบินได้ ซึ่งหากเทียบจากความเป็นจริงที่ว่าความหนักของเครื่องบินเกิดจากองค์ประกอบจักรกลต่างๆที่มากมาย เพื่อสร้างวิถีการขับเคลื่อนไปในอากาศ องค์ประกอบที่มากมายและซับซ้อนนั้น แฝงเร้นความรู้สึกถึงนัยยะแห่ง “การมี” ขึ้นอย่างหนาแน่น ซึ่งรวมความแล้วคือภาพแห่งความมั่งมี มั่งคั่งด้วยทรัพย์สิน เกียรติยศชื่อเสียง อันเป็นที่รักหวงแหนของมารดาหญิงสาว เมื่อองค์ประกอบในการเป็นเครื่องบิน มีความหมายเท่ากับความสมบูรณ์พร้อมในโภคทรัพย์แล้ว ปัจจัยที่ทำให้เครื่องบินลอยตัวได้อันเนื่องมาจากกลไกเทคนิคทางด้านวิศวกรรมอากาศยานนั้น ก็เหมือนกับเจ้าของเกียรติศักดิ์และฐานะอันมั่นคง จำต้องมีกลไกป้องกันตนเองที่ก่อให้เกิดความกังวลและภาระในการรักษาสถานภาพอันมีเกียรติของตนให้คงมั่นอยู่เสมอ ซึ่งความหวาดระวังในการดำรงชีวิตเช่นนี้ย่อมมีมากกว่าปุถุชนคนเดินดินธรรมดาอย่างเด่นชัด จนเป็นเหตุให้ความสุขบั่นทอนลงเหมือนสภาพไร้น้ำหนัก ซึ่งเป็นนามนัยในการลอยตัวของเครื่องบิน ทั้งหมดนี้คือข้อเปรียบเทียบที่แสดงให้เห็นถึงแรงจูงใจสำคัญของตัวละครฝ่ายแม่ ซึ่งเด็กสาวถามในใจบ่อยครั้งว่าทำไมแม่จึงเคร่งเครียดตลอดเวลา การที่เด็กสาวไม่ทราบสาเหตุความกังวลของแม่ ก็พ้องกันกับการที่เธอไม่เข้าใจว่าทำไมเครื่องบินหนักจึงลอยได้นั่นเอง

ภายนอกเครื่องบินเป็นบรรยากาศท้องฟ้าที่ตัวละครเอกชื่นชอบมาก ที่มองเห็นก็มีก้อนเมฆสีขาวและเธอได้ถามหารุ้งกินน้ำอยู่หลายครั้ง ทั้งที่ไม่ได้พบเห็นสายรุ้งเลย ปฏิกิริยาตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมเช่นนี้ แสดงลักษณะการมองโลกในแง่ดีของเด็กสาว ซึ่งตรงข้ามกับความจริงของโลกนี้ที่เธอเองยังไม่เข้าใจอย่างแท้จริง ไม่มีรุ้งกินน้ำอันเป็นสัญลักษณ์แห่งความสุขสดใสสวยงามปรากฏอยู่ในสังคมมนุษย์ที่ปั่นป่วนเช่นนี้ รวมทั้งแม้จะอยู่ใกล้ก้อนเมฆขาวสะอาดเพียงใด แต่ก็ทำได้เพียงมองดูเป็นดุจภาพมายา ไม่สามารถไขว่ขว้ามาสู่ความเป็นจริงได้ เพราะหากทำเช่นนั้นในแง่ของสถานการณ์ที่อยู่บนเครื่องบินจริงๆ การเปิดหน้าต่างเล่นกับก้อนเมฆคงไม่คุ้มค่ากับการที่เครื่องบินต้องเสียสมดุลตกลงมาสู่เบื้องล่างอย่างแน่นอน ( เพราะกฎเหล็กในการบินประการหนึ่งคือ ในขณะทำการบิน ตัวยานจะต้องปลอดภัยรัดกุมจากการถ่ายเทของอากาศภายนอกเข้ามาภายใน เสมือนลำเรือที่จะรั่วมิได้ ไม่เช่นนั้นก็จะจมดิ่งลงสู่เบื้องล่างจนเป็นอันตรายนั่นเอง )

ประเด็นที่น่าสนใจอีกมุมมองหนึ่ง คือ เด็กสาวตั้งข้อสงสัยอยู่หลายครั้งว่าทำไมตนถามมากอย่างนี้ และเหตุใดจึงต้องมีแต่คำถามว่า “ทำไม” อยู่ตลอดเวลา เป็นถ้อยความที่สะท้อนว่า ตัวเธอเองก็คับข้องใจในตนเองอยู่เช่นกันว่าเหตุใดจึงไม่สามารถเข้าใจในสิ่งที่ตนอยากจะเข้าใจได้ และบ่งชี้ในแนวคิดว่า เนื่องเพราะการอบรมเลี้ยงดูของแม่ไม่เปิดโอกาสให้เธอมีพัฒนาการทางสมองที่ดีขึ้นเลย ทั้งที่บุตรสาวมีความผิดปกติทางสติปัญญาการเรียนรู้ ยิ่งต้องขวนขวายทุกสิ่งเพื่อทำให้อาการดีขึ้นบ้าง แต่แม่กลับปล่อยปละละเลย โดยถือว่าการพยายามทำทุกอย่างเพื่อลูกสาวที่ผิดปกติไปเช่นนี้แล้วนั้น มันสูญเปล่า ไม่มีวันที่ความหวังนั้นจะเป็นจริงได้ และเป็นการเสียเวลาเข้าสมาคมสังสรรค์ในแวดวงผู้มีเกียรติอย่างมาก แต่จากการสังเกตในเรื่องนั้น จะเห็นได้ว่าเด็กสาวมีแนวโน้มที่จะฟื้นฟูพัฒนาการทางสมองให้ดีขึ้นได้ในระดับหนึ่ง เพราะถึงอย่างไร เธอก็สามารถรับรู้สภาวะต่างๆ รอบตัวได้ แม้แต่ความรุนแรงและคำพูดที่ไม่เหมาะสมของแม่ ตลอดจนการสื่อสารภายในตนเองอย่างมีระบบและการเชื่อมโยงด้านความคิดที่ซับซ้อน

ช่วงขณะหนึ่งในตอนท้ายเรื่อง เด็กสาวรำพึงถึงความอ่อนเพลีย ง่วงนอนของตน แต่กลับคิดว่า “ฉันไม่นอนไม่ได้หรือ” เป็นจุดแสดงถึงความช่างคิดชอบคิดของตัวละคร เนื่องด้วยทางจิตวิทยาได้กล่าวไว้ว่า “การนอนหลับเป็นช่วงเวลาในการพักตัวแห่งความคิด” ดังนั้นหากเธอนอนหลับ ก็จะไม่ได้ใช้ความคิดในช่วงเวลานั้น เธอจึงปฏิเสธการนอน เพื่อใช้ความคิดสังเกตการณ์รอบตัวต่อไป ทำให้เห็นถึงความเป็นจริงข้อหนึ่งในชีวิตว่า การนอนหลับคือช่วงเวลาแห่งการถอยหนีเพื่อพักความคิดที่สับสนวุ่นวายไว้ในช่วงเวลาหนึ่ง แต่ก็เทียบได้กับการหลับเพื่อหลบชั่วคราว หากแต่เมื่อลืมตาขึ้น สถานการณ์รอบตัวยังคงหมุนเวียนต่อไปไม่หยุดยั้ง การเผชิญหน้ารวดเดียวจบอาจดูเด็ดเดี่ยวดีที่สุด ทว่าก็แล้วแต่สถานการณ์ เพราะบางเรื่องหากไม่รู้จักถอยเพื่อตั้งหลัก ก็ยากจะพยุงแรงขึ้นมาจัดการชีวิตตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในอีกมุมมองหนึ่ง ก็ชี้ให้เห็นถึงการที่แม่แก้ปัญหาของเด็กสาวแบบหลีกหนี และเผยให้น่าคิดต่อไปว่า หากจัดการปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศที่ปลายเหตุด้วยการผ่าตัดเอามดลูกออกไปเช่นนี้แล้ว บุตรสาวของเธอจะรอดพ้นภัยคุกคามจากเพศตรงข้ามที่เห็นแก่ความสุขส่วนตัวได้อย่างเด็ดขาดหรือไม่ ? เพราะในความเห็นหนึ่งของผู้อ่านแล้ว รู้สึกได้ว่าเป็นการแก้ไขปัญหาผิดจุด ที่ไม่อาจยุติพฤติการณ์เลวร้ายเหล่านั้นได้ หากแต่หลังการผ่าตัดแล้วเด็กสาวจะไม่ตั้งครรภ์ให้เป็นปัญหาต่อการถูกหมิ่นชื่อเสียงอีกต่อไป ได้เป็นผลดีเฉพาะหน้าของผู้เป็นแม่ที่ดูแลใส่ใจเกียรติยศของตนเองในสังคมมากกว่าจะห่วงใยว่าบุตรสาวของตนจะประสบเคราะห์กรรมเช่นเดิมอีกหรือไม่ และต้องรับสภาพนั้นอีกมากมายเท่าใด และหากยังเกิดเรื่องเช่นนั้นขึ้นอีก สภาพจิตใจที่บริสุทธิ์ของเด็กสาวซึ่งถูกเหยียบย่ำจากเหล่าชายผู้เห็นแก่ตัว จะเป็นอย่างไรต่อไป ? ...

อาจเป็นปริศนาน่าขบคิด ที่ผู้แต่งเรื่อง “ตุ๊กตา” ได้ทิ้งท้ายไว้เป็นตอนจบให้ทบทวนห่วงใยว่า เด็กสาวผู้พิการทางพัฒนาการสมองในเรื่องนี้ จะดำรงชีวิตอย่างไรต่อไปในโลกที่ยังคงเต็มไปด้วย....สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า “คน” ”









Create Date : 15 ธันวาคม 2551
Last Update : 16 ธันวาคม 2551 16:01:31 น. 13 comments
Counter : 7300 Pageviews.

 
เราชอบเรื่องนี้ค่ะ เคยคิดว่าจะแนะนำหนังสือเรื่องนี้ แต่แนะนำแค่เรื่องตุ๊กตาเรื่องเดียวเหมือนกัน เพราะเราคิดว่ากลไกการตั้งคำถามของตัวละครแต่ละประโยค มันน่าสนใจ ทำให้คนอ่านคิดได้ตลอดเวลา โดยที่ไม่มีคำตอบเฉลยด้วยเพราะมันมีแต่คำถาม


แต่พอเห็นคุณแจกแจงรายละเอียดออกมา อึม สงสัยเราต้องกลับไปอ่านใหม่อีกรอบแฮะ


โดย: ไกลนั้น IP: 58.136.25.236 วันที่: 16 ธันวาคม 2551 เวลา:12:16:14 น.  

 
ดีใจนะคะ ที่มีคนชอบเรื่องนี้มากเหมือนกัน เคยอ่านเรื่องนี้เมื่อหลายปีก่อน และเขียนวิเคราะห์เป็นผลงานค่ะ แต่ว่าหลังจากเสร็จแล้วก็เก็บเข้ากรุไว้โดยไม่ได้ใช้ประโยชน์ใดอีกเลย เมื่อเปิดเว็บบล็อกของตัวเอง ก็นึกถึงบทวิจารณ์เรื่องสั้นเรื่องนี้ขึ้นมา จึงนำมาปัดฝุ่นขัดเกลาสำนวนและแนวคิดเพิ่มเติมเสียใหม่ ซึ่งที่นำมาลงไว้นี้ ก็ห่างจากการอ่านหนังสือเล่มนั้นมาหลายปีพอสมควร

จริงๆ แล้วก็ไม่เชิงว่าเป็นการตีความหมายที่ตายตัวซะทีเดียว แต่เป็นการวิพากษ์วิเคราะห์ออกมาในมุมมองของเราค่ะ อ่านแล้วเข้าใจอย่างไร ก็อธิบายถึงความเข้าใจและแนวคิดที่เกิดขึ้นในขณะอ่านเรื่องนี้ไปเช่นนั้น ซึ่งอาจจะยังไม่สมบูรณ์แบบก็เป็นได้ เพราะงานเขียนประเภทเรื่องสั้นนี่ แม้จะสั้นก็จริง แต่ส่วนใหญ่แล้ว การขยายใจความ ก็เป็นไปได้หลายแบบหลากแง่มุมค่ะ แล้วแต่ว่าผู้อ่านแต่ละคนจะเก็บข้อมูลและมีทัศนะต่อสิ่งที่รับรู้ในรูปแบบใด บางทีหงส์ฯ ก็ตีความโดยอาศัยความรู้รอบตัวและความรู้สึกค่ะ อาจจะยังไม่ใช่ทั้งหมดในเนื้อแท้ของ "สาร" ที่อยู่ใน "ตุ๊กตา" เรื่องนี้ของคุณวินทร์เขา แต่ก็ยินดีนะคะที่จะมีท่านอื่นๆ เข้ามาแลกเปลี่ยนความรู้ ความเห็นและมุมมองที่มีต่อเรื่องนี้กัน หากเป็นเช่นนั้นแล้วก็จะยินดีมากค่ะ

ขอบคุณสำหรับท่านที่เข้ามาให้ความคิดเห็น ณ ที่นี้ด้วยนะคะ


โดย: หงส์อรุณ วันที่: 16 ธันวาคม 2551 เวลา:16:16:47 น.  

 
ยังไม่เคยอ่านค่ะ แต่เคยอ่านในแนวเดียวกัน ก็คือเรื่อง ลับแลลายเมฆ ตัวเอกก็โดนล่วงละเมิดเหมือนกัน แต่เหตุการณ์มันร้ายแรงมากจนถูกเก็บไว้ในจิตใต้สำนึก และก็มีผู้หญิงที่ถูกกระทำแบบเดียวกับเธออีกมากในสังคม อ่านแล้วร้องไห้ไปกับตัวละคร (ผู้แต่งบอกว่ามาจากชีวิตจริง)หลาย ๆ คน


โดย: อิมาอิซัง วันที่: 17 ธันวาคม 2551 เวลา:18:28:32 น.  

 
สวัสดีค่ะคุณหงส์อรุณ

ขอบคุณที่แวะไปเยี่ยมกันในบล็อกนะคะ สำหรับงานเขียนของคุณวินทร์ ไกลนั้นจะเลือกซื้อในแนวที่ตัวเองอ่านเหมือนกันค่ะ เช่นเรื่องสั้น หรือเรื่องประเภทกำลังใจ หากเป็นซีรี่ย์อื่นๆ ก็ไม่ค่อยตามเท่าไหร่ โดยเฉพาะเรื่องยาว ตามความคิดเห็นของเรา เราชอบคุณวินทร์เขียนเรื่องสั้นมากกว่าเรื่องยาวค่ะ


จริงๆ ในเล่มนี้มีเรื่องสั้นหลายเรื่องที่อ่านแล้วขำๆ ดีนะคะ อย่างเรื่องที่เกี่ยวกับไหว้เชงเม้ง แล้วตัวเอกพยายามคิดหลักการตลาด เราเคยคิดต่อไปว่า ถ้าหากมีสินค้าแบบนี้ออกมาจริงๆ เราจะซื้อรึเปล่า คำตอบคือ ซื้อบางอย่างค่ะ แต่บางอย่างอาจจะไม่ซื้อเช่น กระดาษทองที่มีกวีจีน เราว่าอันนี้มันแหวกแนวไปหน่อย แต่ชอบเทียนที่เป็นตุ๊กตาล้มลุก อันนี้หากทำมา เราจะรีบให้ที่บ้านไปซื้อเลย เพราะมีปัญหาเรื่องการจุดเทียนเวลาไปไหวเชงเม้งมาก


ส่วนเรื่องแรก จำไม่ได้ว่าชื่อเรื่องอะไร แต่ก็เป็นอีกเรื่องที่ใช้ไอเดียแปลกๆ ดีค่ะ คือจะเป็นการใช้คำนามในการเรียงประโยค แปลกดีเหมือนกันค่ะ ปกติประโยคมักจะตามด้วยรูปของ ประธาน กริยา กรรม แต่นี่มาเป็นในรูปคำนามอย่างเดียว


อีกเรื่องที่ลึกซึ้ง น่าคิดต่อคือเรื่องที่ตัวเอกเป็นนักบวชค่ะ ชื่ออะไรนะ กามมัลสุข... คือขออภัยนะคะ ชื่อจำยากมาก แต่อ่านแล้วเราต้องไปอ่าน "ปล่อยวางอย่างเซน" ต่อ เพราะที่บ้านมีหนังสือเล่มนี้เหมือนกัน เรื่องนี้อ่านแล้วคิดอะไรได้หลายอย่าง ชอบตรงที่หยิบยกนิทานเซนมาแทรกในนั้นด้วยค่ะ


โดย: ไกลนั้น วันที่: 18 ธันวาคม 2551 เวลา:9:49:15 น.  

 
ลำนำวิหคสวรรค์ หายากค่ะ ที่ได้ยินมาว่าไทยมีถึงเล่มเจ็ดหรือแปดนี่แหละ แต่ที่ไต้หวันคงเล่มสิบเอ็ด
อยากอ่านค่ะ เขาว่าภาษาสวย ภาพสวยงาม ชอบภาพแนวนี้ อยากมีไว้ในครอบครอง ทั้งที่เขาก็มีกันนานแล้ว เราก็เพิ่งจะรู้ ช้ากว่าเขา แต่แหม สักวันคงต้องได้ล่ะ เชื่ออย่างนั้นค่ะ


โดย: อิมาอิซัง วันที่: 18 ธันวาคม 2551 เวลา:10:15:19 น.  

 
แวะมาทักทาย น้องหงส์ค่ะ ^^
ฝากงานเขียนบล็อกแบบ แน่นปึ๊ก ๆ แนะนำมาให้อ่านอีกแล้ว....
เป็นกำลังใจให้นะจ๊ะ


โดย: แม่นางเตียว IP: 203.107.202.157 วันที่: 19 ธันวาคม 2551 เวลา:21:44:46 น.  

 
ชอบแนวงานของคุณวินทร์ มีมุมมองแปลกๆดี


โดย: ตาพรานบุญ วันที่: 2 มกราคม 2552 เวลา:12:35:02 น.  

 
พอดีผมเป็นคนชื่นชอบงานเขียนแนวแรื่องสั้น ได้มีโอกาสอ่านงานเขียนของคุณวินทร์หลายเล่มรู้สึกชอบมากๆครับเพราะได้เห็นกลวิธีการนำเสนอที่แปลกใหม่ สะท้อนภาพสังคมและตัวตนของคนในสังคมได้ชัดเจนผ่านการกระทำและความคิดของตัวละคร หลายๆเรื่องผมชอบมากและถ้ามีโอกาสอาจขอความกรุณานำเรื่องสั้นเหล่านี้ของคุณวินทร์มาจัดแสดงเป็นละครสักครั้งให้คนที่ไม่เคยอ่านงานเขียนประเภทเรื่องสั้นแนวทดลองของคุณวินทร์ได้สัมผัสในรูปการแสดงและที่สำคัญผมอยากให้ตัวละครของคุณวินทร์ในหน้ากระดาษออกมาโลดแล่นได้จริงๆสักครั้งหนึ่งก็คงจะเยี่ยมมากสำหรับผม...ที่ชื่นชอบงานของคุณวินทร์ เลียววารินทร์มากอีกคนหนึ่งครับ


โดย: ้Dramatic IP: 10.112.174.155, 202.28.33.253 วันที่: 16 มกราคม 2554 เวลา:15:25:36 น.  

 
อยากให้ช่วยวิเคราห์แยกเป็นประเด็น ตัวละคร ฉาก บทสนธนา โครงเรื่อง แก่นเรื่อง แยกเป็นเรื่องๆให้หน่อยน่ะคะ เพราะ ต้องใช้ส่งอาจารย์ค่ะ


โดย: นู๋ นา IP: 171.101.232.32 วันที่: 16 กันยายน 2556 เวลา:21:26:54 น.  

 
ชอบมากเลยคะ
สะท้อนมุมมองชีวิตของคนในสังคม


โดย: นานา IP: 171.101.232.32 วันที่: 24 กันยายน 2556 เวลา:21:26:51 น.  

 
ชอบมากเลยคะ
สะท้อนมุมมองชีวิตของคนในสังคม


โดย: นานา IP: 171.101.232.32 วันที่: 24 กันยายน 2556 เวลา:21:27:17 น.  

 
สาระดีมากค่ะ


โดย: น นุ่น IP: 27.55.216.242 วันที่: 24 พฤษภาคม 2558 เวลา:18:54:57 น.  

 
ตลกไม่ออกเมื่ออยากบอกว่า หลงรักคนแต่งและคนวิจาร เรื่องนี้ไปโดยไม่มีสาเหตุ นี่เปนความคิดเหนแรกทึ่ได้โพสในเว็บรอบ7ปีเลย ทำไมถึงเปนอย่างนี้ล่ะ ?? เพราะเนื้อเรื่องมันคล้ายกับ..ว่า..บนโลกใบนี้ยังมีคนคิดและมีชีวิตคล้ายกับเราด้วยเหรอ และเคยคิดเล่นๆว่าอยากเขียนหนังสือ หรือ อยากเล่าเรื่องราวของชีวิตเราให้นักเขียนได้นำไปตีแผ่บ้าง มันน่ามีประโยชน์อท้จริง กับยาวชน ผู้หญิงที่ไม่น่าจะอ่อนแอ กลับอ่อนแอ หาคำตอบจากเหตุการณ์ ในชีวิตไม่ได้เลย แม้ได้แต่ช้าและสายไป..เราจะซื้อมาอ่านนะ สัญญา


โดย: ผีมด IP: 49.229.76.179 วันที่: 17 พฤศจิกายน 2558 เวลา:17:14:28 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

หงส์อรุณ
Location :
ราชบุรี Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add หงส์อรุณ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.