Group Blog
 
<<
สิงหาคม 2551
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
7 สิงหาคม 2551
 
All Blogs
 
จำนรรจาบุคลากรสามก๊ก : ภาคบังทอง,หงส์ดรุณผู้สิ้นชีพก่อนถึงจุดหมายแห่งใจ



“หงส์อรุณ” ซึ่งเป็นนามแห่งเรานี้ มีที่มาอันกล่าวโดยพิสดารแล้ว ก็เนื่องมาจากตัวละครผู้หนึ่งในสามก๊กนั่นแล และถ้าหากไม่กล่าวถึงตัวละครนี้ในบทความใดบทความหนึ่งในเว็บบล็อกของเราแล้วล่ะก็ คงจะดูเหมือนขาดอะไรไปสักอย่างหนึ่งอย่างแน่นอน

ท่านผู้ผูกพันเกี่ยวข้องกับนาม “หงส์อรุณ” ของเราอย่างแนบแน่น ก็คือ “บังทอง” หรือ “ผังถง” ปราชญ์ผู้หนึ่งแห่งสามก๊กอันมีสมญานามว่า “หงส์ดรุณ” หรือ “หงส์อ่อน”





เมื่อกล่าวดังนี้แล้ว คงพออธิบายที่มาของนามเราได้มิมากก็น้อย จำได้ว่า “สามก๊ก” เคยเป็นสุดยอดวรรณกรรมในดวงใจเราเมื่อครั้งยังเด็กอยู่ กลายเป็นความทรงจำดีๆ ที่ทำให้เราเคยติดห้องสมุดโรงเรียนเสียไม่ยอมละวาง แต่เมื่อเติบโตขึ้น โลกวรรณกรรมในความชื่นชอบของเราก็กว้างขว้างมากขึ้นตามกาล โดยเฉพาะวรรณกรรมการ์ตูนนี่เป็นอะไรที่หวานหอมสำหรับเรามากๆ จึงทำให้ไม่นานนักความทรงจำเกี่ยวกับ “สามก๊ก” ก็เลยเลือนๆ ไป จนคิดดูอีกทีหนึ่ง เรานี่ก็สมาธิสั้นเหมือนกันนะ ชอบอะไรมักจะไม่ฝังใจอยู่กับที่ได้ยาวนานนัก

เมื่อคราได้หวนมารู้จักวรรณกรรมเรื่องสามก๊กอีกครั้งหนึ่ง ก็หลังจากที่สถานีโทรทัศน์ TPBS ปัดฝุ่นหวนนำภาพยนตร์จีน “สามก๊ก” กลับมาฉายทางจอแก้วอีกครั้ง จึงนับเป็นการจุดประกายให้เราหันกลับมารัก “สามก๊ก” อีกคราหนึ่ง จะว่าไปคงคล้ายๆ กับถ่านไฟเก่าปะทุขึ้นมาใหม่กระมังนะ และฉากที่เราได้เริ่มติดตามสามก๊กที่ TPBS นำมาออกอากาศทางทีวี ก็เป็นช่วงตอน “บังทองสิ้นบุญ” เสียด้วย ดังนั้นความรู้สึกสะเทือนใจที่ได้เห็นฉากความตายของท่าน “บังทอง” จึงเป็นแรงดลใจให้เราคิดนามล็อกอินในพันทิพย์ขึ้นมาใหม่อีกชื่อหนึ่ง เพื่อเป็นการไว้อาลัยแด่ท่าน “บังทอง” ผู้ล่วงลับไปทั้งที่ยังไม่สมปรารถนาในปณิธานของตนเอง แม้ประทับใจอย่างไร แต่ด้วยเหตุว่าจะใช้นาม “หงส์ดรุณ” ของท่านบังทองที่อักษรเรียงร้อยกันได้งามสวยสลวยไพเราะเสียตรงตัวเลย ก็มิกล้าอาจเอื้อม ด้วยรู้สึกคล้ายจะเป็นการยกตนเทียบชิดท่านจนเกินควร จึงคูณหารบวกลบถ้อยคำอยู่นาน สุดท้ายได้ออกมาเป็นนาม “หงส์อรุณ” ฟังดูก็คล้ายๆ “หงส์ดรุณ” เพียงแต่เปลี่ยนอักษรไปเสียหนึ่ง ภาษาไทยนี่ก็ล้ำลึกยิ่งนัก แค่เปลี่ยนอักษรเพียงหนึ่ง ความหมายก็แปรผันไปได้มากเลยทีเดียว ( ทั้งรำลึกความหลังและพร่ำเรื่องของชื่อเรามามากมาย กลับมาเข้าเรื่องท่าน “บังทอง” กันต่อดีกว่านะ )

ย้อนมากล่าวถึงคราเมื่อแรกเริ่มบทบาทของบังทองตามเนื้อหาวรรณกรรมนั้น เขาเป็นผู้เสนอกลห่วงโซ่ลวงทัพเรือโจโฉ เป็นผลให้จิวยี่พิชิตศึกเซ็กเพ็กได้อย่างสวยงาม หลังจากนั้น บังทองก็เร้นกายไปพักใหญ่ จนกระทั่งหลังศึกพิพาทดินแดนเกงจิ๋วระหว่างเล่าซุนเรียกได้ว่าปิดฉากลงด้วยการจากไปตลอดกาลของจิวยี่ ซึ่งเอ่ยถึงจุดนี้แล้ว ผู้ติดตามสามก๊กคงยากจะลืมเลือนวีรกรรมของขงเบ้ง ซึ่งแสดงการไว้อาลัยต่อจิวยี่ที่อลังการงานสร้างอย่างน่าซาบซึ้งใจ ทำให้ขุนนางกังตั๋งยากจะใจดำเอาผิดกับขงเบ้งได้ ชาวง่อก๊กต่างพากันประทับใจจิตอาลัยรักจิวยี่ของขงเบ้งอย่างเทคะแนนท่วมท้น

หากแต่...ผู้ที่หัวเราะขำขันพฤติกรรมของขงเบ้ง จนอดไม่ได้ที่จะเข้าไปสะกิดเกาหลังท่านมังกรหลับให้ตื่นหันกลับมามองอย่างสะดุ้งเฮือก ว่าเออ...นี่ข้า “บังทอง”ไงล่ะ ต่อด้วยคำกล่าวจี้จุดขงเบ้งประมาณว่า “กลนี้หลอกได้ทั่วทั้งกังตั๋ง แต่มิอาจลวงข้าได้หรอก” ว่าดังนั้นแล้ว ขงเบ้งต้องเอาพัดโบกป้องเชิงปิดปากบังทองแล้วลากลงเรือไปเจรจากันเป็นการส่วนตัว




ก็แหม! ยังเหยียบอยู่ฝั่งกังตั๋ง เพื่อนรักร่วมสำนักสุมาเต็กโชก็ดันมาทักทายแบบรู้แกว ทำเอาขงเบ้งขนหัวลุก เดี๋ยวเกิดคนแถวนั้นมาได้ยินเข้าก็เสียการที่ลงทุนทำไปทั้งหมดน่ะสิ

ระหว่างคุยกันไปมา ขงเบ้งก็ได้ความว่าบังทองกำลังจะไปสมัครงานกับซุนกวน เมื่อรู้ว่าบังทองที่เคยเป็นเพื่อนรักร่วมสำนักอาจารย์เดียวกับตนมา ต้องไปเป็นข้าของฝ่ายอื่น จะด้วยความเสียดายหรือเพราะไม่อยากมีฝ่ายตรงข้ามเป็น “บังทอง” ฉายา “หงส์ดรุณ” หรือไม่ก็มิทราบได้ ขงเบ้งกล่าวถ้อยคำที่เหมือนขวานผ่าซากทำให้บังทองหน้าถอดสีไปพักหนึ่ง นั่นคือถ้อยคำประมาณการณ์ว่า หากบังทองไปเข้าด้วยซุนกวนคงต้องผิดหวัง เพราะเจ้านั่นใช้คนไม่เหมาะกับงาน และเขาก็คงไม่เห็นคุณค่าท่านหรอก พร้อมกันนั้นก็พรรณนาถึงคุณธรรมของเล่าปี่ เพื่อโน้มน้าวใจบังทองให้หันมาเข้าด้วยฝ่ายตน แต่บังทองกลับบอกกล่าวว่า ตนเป็นคนที่นี่ เมื่อทำงาน ก็ต้องทำเพื่อแผ่นดินนี้





ที่จริงคำกล่าวเช่นนี้ของบังทอง ทำให้เราคิดถึงคำขวัญที่ว่า “ความกตัญญูเป็นเครื่องหมายของคนดี”ซึ่งความกตัญญูต่อพ่อแม่นั้น นับเป็นคุณธรรมพื้นฐานที่มนุษย์พึงกระทำ แต่ความกตัญญูต่อมาตุภูมินั้น นับเป็นสิ่งพิสูจน์น้ำใจมนุษย์ได้มิยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เพราะนั่นคือประโยนช์ส่วนรวมเพื่อชนมหาศาล ซึ่งคำกล่าวที่แสดงความแน่วแน่นี้ของบังทองทำให้เราซาบซึ้งใจมากเลยทีเดียว หากแต่...น่าเสียดายที่ความตั้งใจของบังทอง ก็เป็นไปอย่างที่ขงเบ้งว่าไว้ไม่ผิดเลยทีเดียว...เพราะบังทองถูกซุนกวนปฏิเสธที่จะให้เขาเข้าทำงานในง่อก๊ก

ด้วยเหตุนี้ บังทองจึงต้องหันหัวเรือไปตามคำแนะนำของขงเบ้ง แต่การณ์ก็ยังไม่ถูกใจบังทองนัก เพราะรูปสมบัติที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิดของบังทองไม่ค่อยต้องตาต้องใจเล่าปี่เท่าที่ควร บวกกับความที่บังทองไม่ยอมแสดงตัวว่าเป็น “เด็กเส้น” ของขงเบ้งนั้น ผลลัพธ์ก็ทำให้เขาเป็นได้แค่นายอำเภอจริงๆ ซึ่งถ้าว่ากันตามตรง ก็คือจุดเดียวกับตำแหน่งแรกเริ่มของเล่าปี่ที่เข้ามาในวงการบ้านเมืองเป็นคราแรกๆ นั่นแล หากแต่เพราะความคาดหวังอย่างที่ขงเบ้งก็เน้นย้ำแล้วย้ำอีกชนิดตีตรารับประกันไม่ผิดหวังอย่างแน่นอนนั้น การณ์กลับกลายเป็นว่าเขาต้องมานั่งแท่นเตี้ยๆ เป็นนายอำเภอขี้เมาเพื่อเร้าความสนใจจากเล่าปี่ ซึ่งบังทองเองก็คงเจ็บใจและเซ็งอยู่นานสามเดือนเช่นกัน





ซึ่งในจุดนี้ นับได้ว่าทำให้ผู้ติดตามสามก๊กได้เห็นถึงอุปนิสัยทั้งในตัวบังทองและเล่าปี่ด้วยประการหนึ่ง คือ

ว่าด้วยตัวบังทอง เขาเป็นผู้ที่มีความเชื่อมั่นในความสามารถที่มีอยู่กับตัวและหยิ่งทรนงในศักดิ์ศรีของตนเอง เพราะไม่คิดจะพึ่งพาการฝากฝังจากขงเบ้ง ขณะเดียวกันก็คงต้องการหยั่งเชิงชั่งใจของเล่าปี่ว่าจะสมดังเสียงลือเสียงเล่าอ้างหรือไม่ และหากคิดในเชิงที่ว่าด้วยเป็นการพบกันครั้งแรกระหว่างคนสองคน ประเด็นเรื่อง ว่าที่เจ้านายจะรู้ถึงคุณค่าของตัวเขามากน้อยเพียงใด และใช้กลวิธีใดที่จะทำความเข้าใจถึงความสามารถของเขาได้ นั่นเป็นสิ่งที่น่าค้นหามากกว่า และมีคุณค่าเหนือการให้เล่าปี่ยอมรับเขาด้วยกระดาษของขงเบ้งเพียงแผ่นเดียวเท่านั้น ซึ่งจุดนี้แสดงถึงความเฉลียวฉลาดของบังทองประการหนึ่ง เขาใช้จิตวิทยากับเล่าปี่ได้อย่างเหนือชั้น ชนิดที่เล่าปี่เองก็ตกน้ำตื้นของบังทองเข้าโดยตรง เพราะ....

ตัวตนของเล่าปี่ในสถานการณ์ดูตัวบังทองนี้ แสดงให้เห็นว่าเขายังยึดติดกับรูปลักษณ์ภายนอกมากกว่าทดสอบดูคุณสมบัติภายในอยู่มาก แม้สิ่งที่ชื่อว่า “โง้วเฮ้ง” ( เขียนถูกไหมนี่ ) จะเป็นศาสตร์ที่บ่งบอกตัวตนของคนผู้นั้นได้ แต่บางครั้งก็มิใช่จะเที่ยงตรงเสมอไป และศาสตร์ “โง้วเฮ้ง”นี้ ก็คงเป็นสิ่งที่ไม่ถูกชะตากับบังทองสักเท่าไร ดังคำกล่าวที่เราผุดคิดได้ว่า

“ดอกไม้งามยังแฝงป่ารกชัฏเร้นลับตาได้ ความเป็นปราชญ์ก็อาจซ่อนเร้นอยู่ในรูปอัปลักษณ์ได้เช่นกัน”

อันนี้ก็ลิขิตความเปรียบขึ้นมาเฉพาะกรณีบังทองก็แล้วกัน เพราะการมองเพียงเปลือกนอกนั้นเป็นเรื่องน่าเสียดาย ด้วยพลาดโอกาสที่จะเข้าถึงสิ่งที่เป็นแก่นกระพี้ได้อย่างแท้จริง

นี่หากท่านบังทองน้อยใจกลับไปนอนอยู่บ้านตามเดิม ขงเบ้งจะเอาหน้าบางๆ ไปไว้ที่ไหน ยามเมื่อบังทองย้อนถามกลับมาว่า “ไหนท่านว่ารับประกันไม่ผิดหวังอย่างไรเล่า เรามาถึงแล้วก็เห็นไม่ต่างไปจากที่ท่านกล่าวว่าถึงซุนกวนเท่าใดนักเลยนี่ ! ”

แผนเรียกร้องความสนใจแบบแกล้งทำเป็น “พี่มาววววว!” ของบังทองสำเร็จ ทำให้เล่าปี่หันมาสนใจพฤติการณ์บังทอง จนส่งน้องรักเตียวหุยมาตรวจสอบ ( +อาละวาด ) บวกกับขงเบ้งกลับมาคงได้รู้ว่า “ไอ๋หยา!?... พี่บังมา ไฉนท่านเล่าไล่ไปเป็นนายอำเภอซะงั้น !” เหตุฉะนี้จึงส่งผลให้เล่าปี่ต้องยอมเบิกตัว “หงส์ดรุณ” อย่างบังทอง ให้มาร่วมงานใหญ่เข้าขากับกับ “มังกรนิทรา” อย่างขงเบ้ง ก็ปราชญ์ระดับเดียวกัน คงจะสานฝันท่านเล่าได้ไม่ยาก





การที่คู่มงคลแห่งปราชญ์นี้ ได้เป็นศิษย์ร่วมสำนักสุมาเต็กโชกันมา รวมทั้งตัวอาจารย์ของพวกเขาเองก็เคยกล่าวการันตีไว้ว่าหากได้ฮกหลง (มังกรนิทรา) กับฮองซู (หงส์ดรุณ) แม้เพียงคนหนึ่งคนใดมาอยู่ด้วย ก็สามารถครองแผ่นดินได้

ครานี้....เล่าปี่ได้มงคลคู่มาอยู่กับตัวแล้ว หลายคนในฝ่ายนั้น ณ ช่วงเวลานี้ คงเป็นปลื้มว่าความฝันอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมและมิใช่เรื่อง “สุดแต่ใจจะไขว่คว้า” อีกต่อไป เพราะตอนนี้เล่าปี่มีพร้อมทั้งกุนซือที่ถือเป็นคู่เอกแห่งสามก๊ก และขุนพลก็มิได้น้อยหน้าไปกว่าใคร ยุทธการแห่งการสร้างความปรารถนาที่ตั้งมั่นไว้ให้เป็นจริงจึงเริ่มขึ้น โดยการประสานงานของสองกุนซือที่เพียงส่งสายตากัน ก็ต่างรู้ว่าจะวางแผนอย่างไร ทำให้บรรยากาศการร่วมงานระหว่างบังทองและขงเบ้งเป็นสิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นได้อย่างแท้จริงว่า มิตรภาพทำให้การงานลื่นไหลไร้กังวล และผจญอุปสรรคได้ราบรื่นยิ่งขึ้น ได้คู่คิดมิตรรู้ใจร่วมมือกัน ปณิธานของแผ่นดินก็แลเห็นชัดยิ่งขึ้น




หากแต่น่าเสียดาย.....เพียงแต่น่าเสียดาย...ที่เป็นการร่วมงานเพียงชั่วระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น เพราะในเวลาต่อมาทั้งบังทองและขงเบ้งต้องแยกกันทำงาน โดยขงเบ้งอยู่เฝ้าฐานที่มั่นเกงจิ๋ว ส่วนบังทองติดตามเล่าปี่ไปเพื่อเมืองเสฉวน จากจุดนี้เป็นต้นไป ความอบอุ่นที่เคยพบเห็นได้แปรเปลี่ยนไปเสียแล้ว เพราะนี่เป็นการเริ่มต้นงานใหญ่ของบังทองเลยทีเดียว การที่เล่าปี่พาบังทองมาแทนที่จะให้ขงเบ้งเคียงข้างออกศึกอย่างทุกครั้งที่ผ่านมา จะด้วยความว่าขงเบ้งออกตัวว่าบังทองมีดีในการศึกเหนือกว่าตนมากมาย หรือจะด้วยเล่าปี่ปักใจเชื่อเองว่าบังทองเหมาะสมกว่าขงเบ้งก็ตาม แต่เล่าปี่ก็ได้ร่วมศึกพิชิตเสฉวนโดยมีบังทองเป็นที่ปรึกษาวางแผนให้เป็นครั้งแรก

หากแต่งานเริ่มแรกก็ไปได้ไม่ค่อยสวยเสียแล้ว เพราะความไม่ลงรอยระหว่างแนวคิดในยุทธการระหว่างบังทองและเล่าปี่เป็นสิ่งที่สังเกตเห็นได้บ่อยครั้ง และเริ่มทำให้บังทองเป็นกังวลร้อนรนใจมากขึ้น เพราะการใหญ่ต้องอาศัยอำนาจการตัดสินใจที่เด็ดขาดและเด็ดเดี่ยว แต่นั่นไม่ใช่เจตนารมณ์ในแบบฉบับเล่าปี่ ซึ่งจุดนี้ก็ย้อนกลับมาเป็นข้อกังวลของเล่าปี่ด้วยเช่นกัน





แต่สุดท้าย การณ์เป็นไปที่ต้องจัดการกับเสฉวนก็ไม่พ้นจากความคิดของบังทองไปได้ แต่นั่นอาจเรียกได้ว่าสายเกินไปหรือเปล่า?... เพราะที่ผ่านมาได้เหลือเวลาให้ฝ่ายเล่าเจี้ยงเตรียมการรับมือได้รัดกุมมีชั้นเชิงมากขึ้น สิ่งที่เหนือความคาดหมายของกองทัพเล่าปี่จึงเกิดขึ้น นั่นคือ “การสูญเสียบังทอง” ไปอย่างไม่มีวันหวนคืน





ซึ่งในประเด็นนี้เป็นที่วิพากษ์กันไปในความคิดใหม่ว่า “เล่าปี่สั่งตายทางอ้อม” อันจุดนี้ เราจะมิขอออกความเห็น ด้วยว่าไม่มีข้อมูลและหลักฐานที่จะนำมาให้ชมได้และยิ่งไม่มีพยานยืนยันอีกด้วย ( หากมี...คงจะ....ตัวใครตัวมันเน้อ! )

แต่ในสามก๊ก ฉบับภาพยนตร์จีนปี่ 1996 ที่ระบุให้บังทองไม่เชื่อฟังคำเตือนในสาส์นจากขงเบ้ง ด้วยคิดว่าขงเบ้งอิจฉาริษยาในการที่เขาจะสร้างผลงานนั้น เป็นสิ่งที่เราไม่ค่อยเห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะมีข้อขัดแย้งอยู่หลายประการ จะด้วยเหตุว่าทั้งขงเบ้งและบังทองล้วนเป็นเพื่อนร่วมชั้นเรียนกันมาก็ข้อหนึ่ง รวมทั้งขงเบ้งเองก็เป็นผู้เชื้อเชิญเขามาร่วมงานด้วย และที่ผ่านมาทั้งสองก็ร่วมงานกันได้ด้วยดีเสมอมา นอกจากนี้ทั้งคู่ล้วนมีอุดมการณ์ร่วมกัน การขัดแย้งด้วยเหตุผลตื้นๆ เพียงเท่านั้น จึงเป็นเรื่องผิดวิสัยปราชญ์ และที่สำคัญบังทองได้รับความไว้วางใจโดยการตัดสินใจของเล่าปี่ที่ให้เขาออกศึกและให้ขงเบ้งเฝ้าบ้านแล้ว จุดนี้ถือได้ว่าบังทองได้รับเกียรติโอกาสอันดี คงไม่มีเวลาไปคิดเล็กคิดน้อยมากไปกว่าการคิดหาทางวางแผนเพื่อบรรลุเป้าหมายการมาครั้งนี้ให้ได้เป็นสำคัญ และความช่างอิจฉาริษยานั้น ไม่น่าจะเป็นอุปนิสัยของบุรุษในยุคสงครามเช่นนั้นสักเท่าใด โดยเฉพาะความอิจฉาที่ไม่สมเหตุสมผลเช่นนี้

ถึงอย่างไรก็ตาม การตายของบังทองนั้น นับได้ว่าเป็นความเสียหายที่ใหญ่หลวงต่อกองทัพเล่าปี่ ทั้งสูญเสียยอดที่ปรึกษาและยอดขุนพลไปด้วย เพราะบังทองเป็นปราชญ์ที่สามารถทั้งทางด้านความเป็นนักรบและผู้วางแผนพิชัยสงคราม อันเป็นลักษณะแห่งบุคลากรในการศึกที่หาได้ยากยิ่ง ( ก็เก่งทั้งบุ๋นและบู๊ชนิด Two In One นี่นะ ) แต่นั่นเป็นผลสืบเนื่องระยะยาวที่ทำให้ขงเบ้งเองตกที่นั่งลำบาก เพราะพอขาดบังทองไป เล่าปี่ต้องเกณฑ์คนจากเกงจิ๋วมาช่วยรบ ที่ต้องดึงตัวมาก็คือขงเบ้ง เตียวหุย จูล่ง ปล่อยให้กวนอูเฝ้าเกงจิ๋วอยู่โดดเดี่ยวเดียวดาย และในไม่ช้าก็ลืมแปดคำของขงเบ้งที่ว่า “เข้าร่วมซุนกวน ต่อต้านโจโฉ” ทำให้เสียเกงจิ๋ว และกวนอูถูกสังหาร กลายเป็นแผลในใจของฝ่ายเล่าปี่ ที่ดลให้ในเวลาต่อมาเล่าปี่และเตียวหุยจะยกทัพมาล้างง่อก๊ก หมายแก้แค้น แต่กลับตายตกตามกวนอูไป

ในที่สุด ก็เหลือเพียงขงเบ้งที่ต้องแบกรับภาระทุกอย่างไว้ผู้เดียว แม้เทียนไขขงเบ้งจะเยื้อเวลาการล่มสลายของจ๊กก๊กไว้ได้ชั่วระยะหนึ่ง แต่เมื่อถึงที่สุดก็ไม่มีปราชญ์และขุนพลรุ่นบุกเบิกแผ่นดินจ๊กก๊กเหลืออยู่ให้ใช้สอย กาลจึงเป็นไปเพียงสงครามตามอัตภาพที่ไม่สามารถก่อเกิดชัยและบรรลุผลได้ แต่เพื่อปกป้องแผ่นดินเสฉวนต่อไป สงครามปราบทั้งทางใต้ที่เบ้งเฮ็กยกมาโจมตีและศึกกิสานที่ยาวนานทรมานนั้น ขงเบ้งต้องแบกรับไว้เพียงลำพัง จุดนี้ก็ยังชวนคิดเศร้ารำพึงอยู่ว่าถ้ามีบังทองอยู่ร่วมด้วยช่วยกัน ความฝันของฝ่ายจ๊กก๊กคงไม่ใช่แค่เงาในกระจกที่ดิ้นรนได้เพียงยืดเวลารอวันตาย

ครั้นเทียนไขขงเบ้งดับไปตามธรรมชาติ เท่ากับบุคลากรในรุ่นพ่อผู้แก่กล้าลาลับสิ้น เหลือเพียงชนรุ่นลูกที่ทั้งละอ่อนและอ่อนหัด จึงทำให้เหตุการณ์ที่ว่า “ปลาใหญ่กลืนกินปลาเล็ก” กลายเป็นวัฏจักรธรรมชาติที่มิอาจเลี่ยงได้ ด้วยความเป็นไปเช่นนั้นเองแผ่นดินจ๊กก๊ก ซึ่งรุ่นบุพการีบุกเบิกสร้างสรรค์ผ่านน้ำพักน้ำแรงแสนยากเข็ญจึงเป็นดังคำกล่าวว่า “สมบัติผลัดกันชม”

ในประเด็นเรื่องที่เราเห็นว่าน่าจะทำให้นึกถึง “บังทอง” มากที่สุด เห็นจะเป็นการว่าด้วยตัวละครใดในเรื่องสามก๊กที่จากไปเร็วที่สุด ซึ่งได้มีผู้ตั้งกระทู้ถามอยู่หลากหลายด้วยกัน

โดยความคิดเห็นของเราแล้ว ท่านบังทองนั้นเป็นบุคคลที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง เขาอาภัพในชะตาอายุขัยมากกว่ากุยแก มากกว่าจิวยี่ มากกว่าเล่าปี่ มากกว่าขงเบ้งอีกด้วย ฯลฯ ความจริงทุกตัวละครที่กล่าวมานี้ ค่อนข้างมีจุดที่เหมือนกัน คือ จากไปเร็วในภาวะที่สำคัญต่อจุดเปลี่ยนของการดำรงแผ่นดินทั้งสามก๊ก และทุกคนล้วนจากไปด้วยข้อค้างคาในใจด้วยภารกิจที่ยังไม่สำเร็จบรรลุเป้าหมายดี

บังทองก็มีอันเป็นไปด้วยความรู้สึกเหล่านี้อยู่เช่นกัน เพียงแต่ที่เราเห็นว่าน่าเสียดายเป็นที่สุดนั้น ก็สืบเนื่องมาจาก ทั้งกุยแก จิวยี่ เล่าปี่ ขงเบ้ง ฯลฯ นั้นล้วนเป็นบุคคลผู้มีเสียง เรียงร้อยด้วยผลงานทางการเมืองที่เลื่องลือ อย่างกุยแกก็พิชิตศึกสำคัญเพื่อโจโฉอยู่หลายกระบวนด้วยกัน จนทำให้โจโฉถึงกับหลั่งน้ำตาเสียใจในภายหลังที่ต้องสูญเสียมือดีอย่างกุยแกไป ส่วนจิวยี่นั้น อันนี้คงเป็นที่รู้จักกันดีเมื่อกล่าวในแง่วรรณกรรมสามก๊กตอน “โจโฉแตกทัพเรือ” หรือ “ศึกผาแดง” จนมีผู้ให้สมญานามว่า “จิวยี่ ผู้พิชิตเซ็กเพ็ก” ครั้นกล่าวถึงขงเบ้ง,เล่าปี่ ซึ่งยังมีผู้คนบอกว่าน่าเสียดายที่จากไปเร็วเกินคาดนั้น เหล่านี้ก็ล้วนแล้วแต่มีชื่อเสียงเรียงนามและความดีความชอบทางการเมืองในยุคนั้น ชนิดสืบเรื่องต่อเนื่องมาเกือบ 2,000 ปีเลยทีเดียว

ทุกท่านที่กล่าวมานี้ จริงอยู่ว่า นามของพวกเขานั้นจารึกอยู่ในหน้ากระดาษของสามก๊กได้ไม่ถึงตอนอวสาน โดยเฉพาะบางคนจากไปเสียตั้งแต่เริ่มเดินเรื่องได้ไม่นาน บางท่านจากไปกลางคันทั้งที่เรื่องราวยังเข้มข้น บางคนจากไปชนิดผู้ชมยังอาลัยไม่อยากให้จาก ไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะจากไปในรูปลักษณ์ใด แต่อย่างน้อยก็ได้สร้างผลงานให้ปรากฏไว้เป็นที่เลื่องลือกล่าวขวัญกันอยู่มิใช่น้อยในสามก๊กแล้ว

หากแต่เมื่อย้อนกลับมาพิจารณา “บังทอง” ที่เปรียบไปช่างคล้ายกับเด็กหัดเดินได้ก้าวแรก ก็พลันขาหักไปตลอดกาลเสียแล้ว เขาเป็นปราชญ์ในสามก๊กที่น่าเสียดายว่าด่วนจากไปเร็วเกินคาด เป็นการลงสู่ปรโลกทั้งที่ยังไม่สมหวังดังตั้งใจเลยสักประการเดียว และที่สำคัญ คือ ท่าน “บังทอง”นี้ ก็ยังมิได้ปฏิบัติภารกิจอันใดที่แสดงให้เห็นถึงความมีอัจฉริยภาพอย่างเด่นชัด

เมื่อพิจารณาศักยภาพในตัวบังทองนั้น อาจสังเกตได้จากนามที่สุมาเต็กโชและผู้คนทั้งหลายกล่าวขวัญกันว่า “หงส์ดรุณ” หรือ “ฮองซู” และสุมาเต็กโชผู้นี้ก็เคยกล่าวไว้ว่าหากใครได้ “ฮกหลง” (ขงเบ้ง) หรือ “ฮองซู” (บังทอง) ไปแม้เพียงคนหนึ่งคนใด ผู้นั้นก็สามารถครองแผ่นดินได้ จุดนี้จึงทำให้ผู้คนสะดุดใจในความความสามารถของบังทอง ยิ่งภาพลักษณ์ของขงเบ้งที่ออกตัวเขาเองว่าด้อยกว่าบังทองนั้น เปี่ยมไปด้วยความสามารถมากมายเพียงใด ก็ยิ่งทำให้เราต่างคาดฝันถึงความสามารถของ “บังทอง” ศิษย์ร่วมสำนักเดียวกันกับขงเบ้งมากขึ้นอีกเป็นเท่าตัว แม้แต่ขงเบ้งเองยังต้องชักชวนเขาเข้ามาร่วมยุทธการ และแนะนำให้เล่าปี่ได้ชื่นชมยอมรับไว้เป็นกุนซือข้างกาย นั่นเป็นอีกประเด็นร้อนแรง ที่ทำให้ผู้คนต่างใคร่จะรู้แจ้งเห็นจริงในสติปัญญาอัน(น่าจะ)ล้ำลึกของบังทอง

“ปราชญ์อัจฉริยะ” อันเร้นกายอยู่ภายใน “ความตาย” ของตัวละคร “บังทอง” นี้เอง ที่ใครๆ อันได้ติดตามสามก๊กต่างก็อดมิได้ที่จะโจษจันถึง และล้วนแล้วแต่ปรารถนาจะได้ยลโฉม ดั่งบุรุษอันพึงใจจะได้ยลพักตร์สตรีที่มิเคยได้พบเห็น อันเป็นนางที่กล่าวขวัญลือลั่นในแผ่นดินว่างดงามเป็นหนึ่งนั่นเอง ( เปรียบเทียบกับปัญญาท่านบังทองแล้ว สำนวนเรา “วาย” ไปหรือเปล่านี่!? )

แต่ในท้ายที่สุด ความใคร่รู้อยากเห็นในศักยภาพของบังทองแบบของจริง มิใช่อิงเสียงลือเสียงเล่าอ้าง ก็กลายเป็นเพียงฝันที่ถูกเก็บซ่อนเข้าไว้ในหีบมรณะของ “บังทอง” เท่านั้นเอง แล้วใครเล่าจะล่วงรู้ถึงขีดความสามารถที่ว่านั้นได้อย่างแท้จริง เพราะคนตายย่อมมิอาจเล่าเรื่องราวต่างๆ ของตนเองต่อไปได้


...นั่นเป็นอีกประการหนึ่งที่เตือนใจชนรุ่นหลังว่าควรใช้ “เวลา” ที่มีอยู่ของตนอย่างคุ้มค่าที่สุด เพราะเมื่อความลับแห่งธรรมชาติมาเยือนถึงเราเมื่อใด ก็เป็นอันหมด“เวลา” ที่สามารถจะ “สร้างผลงาน” ไปตลอดกาล ดังเช่น“บังทอง”ผู้นี้ที่อาจกล่าวได้ว่า “ผู้สิ้นชีพก่อนถึงจุดหมายแห่งใจ”





ปัจฉิมลิขิตแบบพิเศษ...สัมภาษณ์ “บังทอง”


ถ้าหากได้สัมภาษณ์ท่าน “บังทอง” ( กลายเป็นงานถนัดของเราไปเสียแล้ว ) ซึ่งหากวนเวียนอยู่ในกลียุคเช่นนี้ที่บทกวีของอังคารเปรียบภาพให้เห็นว่า “เป็นยุคสมัยแห่งชนที่เห็นขี้ดีกว่าทองคำ เห็นความชั่วมีค่ากว่าความดีงาม” นั้น ก็ไม่รู้ท่านจะตอบแบบนี้หรือเปล่านะ !? (ลองมาดูกัน)



หงส์อรุณ : ท่านบังทองค่ะ มีคนเขาลือกันว่าการที่ท่านท่านเสียชีวิตเร็วเกินคาดนั้น เป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้จ๊กก๊กของท่านเล่าต้องสัญญาณหายนะ ถึงขนาดมีคนเว้าวอนขึ้นมาเลยว่า “บังทอง ! แล้วเอ็งจะตายทำไม!?” ท่านคิดเห็นอย่างไรกับความตายของตัวท่านเองค่ะ ?





ท่านบังทอง : เออ...ข้าก็ยังไม่อยากตายหรอกนะ แต่คนจะตายอะไรก็ฉุดไว้ไม่อยู่ แต่เห็นพวกเจ้าในยุคนี้แล้วเนี่ย ข้าว่าข้าตายไปเร็วอย่างนี้น่ะดีแล้ว ขืนอยู่ต่ออีกคงเหนื่อยเอ็นแทบขาดแบบขงเบ้ง แล้วแถมท้ายก็ต้องตกเป็นขี้ปากให้ใครบางคนมาต่อความยาวสาวความยืดอีกว่า “ตกลงข้าดีหรือเลว , โง่หรือฉลาด ฯลฯ” ข้าตายเร็วอย่างนี้น่ะบุญโขเท่าไรแล้ว คนรุ่นหลังมันจะได้ไม่มาเปลืองเวลาค่อนแคะด่าว่าข้าสารพัดสารพัน....สงสารนายท่านกับขงเบ้งนะ ...อยู่นานไป....เห็นไหม...โดนว่าเสียอื้อซ่าเลย....กรรมจริงๆ อย่างนี้แล้วใครว่าข้าสิ้นบุญ ...ไม่ ไม่ ไม่ ! ข้ามีบุญต่างหากที่เกิดในกลียุคสามก๊ก แล้วสิ้นใจไปเร็ว ชนิดที่ใครๆ ในยุคปัจจุบันนั้นคงจะหาเหตุผลมาด่าข้าก็ยาก เพราะเวลาข้ามันมีน้อย จะมีอะไรให้มาด่าว่าได้มากมายได้อย่างขงเบ้ง,เล่าปี่กันอีกเล่า





นี่ก็เป็นหนึ่งถ้อยความที่ออกจะพิเรนทร์ของเรานั่นเอง
เฮ้อ ! อดไม่ได้ที่จะเอาความคิดตัวเองไปจับกับความรู้สึกของท่านบังทองที่เราชื่นชมเสียจริงๆ ขออภัยหากไม่รื่นหูและไม่จำเริญตาเวลาอ่านด้วยนะจ้ะ เพราะว่าสื่อแสดงความน้อยใจของท่านบังทองออกมาหน่อยๆ ถึง...นิดนึง
หรืออาจจะถึงมากมายสำหรับใครบางคน...
ยังไงก็ขอจบเรื่องราวท่านบังทองไว้ด้วยประการฉะนี้!






Create Date : 07 สิงหาคม 2551
Last Update : 8 สิงหาคม 2551 11:08:58 น. 11 comments
Counter : 5068 Pageviews.

 
แวะมาเยี่ยมเยือน ยามราตรี ที่ห่างหายไปเสียหลายวัน... แม่นางสบายดีนะ....

ได้อ่านบทความที่คุณหงส์กล่าวถึงบังทองแล้ว ก็หวนคิดถึงกุนซือคนนี้จริงๆ แถมยังมีแซวท่านหงส์ดรุณ ได้ดี อีกด้วย
การจากไปของบังทองนี่แหละก็เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกัน



โดย: แม่นางเตียว วันที่: 9 สิงหาคม 2551 เวลา:22:56:52 น.  

 
เฮ่อ..... ถ้าท่านบังไม่ด่วนจากไป ปณิธานของเจ้านาย(เล่าปี่) คงลุล่วง

อย่างน้อยมังกรก็ยังคงมีหงษ์คอยเคียงข้าง คอยช่วยเหลือ ดูแลกัน
ร่วมกันพิชิตศึก ให้เสร็จสิ้นซึ่งอุดมการณ์ของเจ้านาย

เป็นการสูญเสียจริงๆ น่าเสียดาย น่าเสียดาย

โอ้!! อยากจะบอกว่าเป็นชอบการ์ตูนเหมือนกัน ชอบลายเส้นของ
CLAMP ที่ดูๆมา พื้นหลังของบล๊อกนี้ ส่วนใหญ่น่าจะเป็นลายเส้นของ CLAMP นะคะ


โดย: ศิษย์พเนจร IP: 118.174.117.70 วันที่: 12 สิงหาคม 2551 เวลา:0:05:37 น.  

 
ว่าว.... วันนี้ได้เยือนสองแห่งเลย ไม่ว่าจะเป็นกระท่อมแห่งโงลังกั๋ง
และก็เรือนของหงษ์อรุณ ศิษย์ขาจรเช่นเราปลื้มใจยิ่งนัก...


โดย: ศิษย์พเนจร IP: 118.174.117.70 วันที่: 12 สิงหาคม 2551 เวลา:0:07:58 น.  

 
ชอบลายเส้นของ
CLAMP ที่ดูๆมา พื้นหลังของบล๊อกนี้ ส่วนใหญ่น่าจะเป็นลายเส้นของ CLAMP นะคะ
^
^
ปิ๊งปองงงงงงง , ถูกต้องคะ มาจาก x 1999 สามตัวละคร ซ้าย กลาง ขวา ส่วนภาพขาวดำเป็นลายเส้นแสน Y ของเจ๊ฮิงูริ ยู น่ะค่ะก็ดีใจมากๆ ที่คุณศิษย์ชอบเหมือนๆ กับเราเลย เพราะลายเส้นของ 2 เจ้านี้เป็นอมตะในใจเราเลยทีเดียว


โดย: หงส์อรุณ วันที่: 12 สิงหาคม 2551 เวลา:17:50:00 น.  

 
ขงเบ้งบังทองเป็นปราชญ์แห่งยุคสามก็กโดยแท้เสียดายบังทองไม่น่าจากไปก่อนไม่งั้นเล่าปี่คงมีกุนซือเคียงคู่สองคนและอาจจะสามรถฟื้นฟูราชศ์วงฮั่นปราบโจโฉและซูนกวนได้


โดย: มังกรหลับ ขงเบ้ง IP: 125.25.19.86 วันที่: 29 ธันวาคม 2551 เวลา:19:45:44 น.  

 
รักบังทอง ครับ


โดย: จังซี่มันต้องถอน IP: 124.121.189.94 วันที่: 27 มิถุนายน 2552 เวลา:10:33:29 น.  

 
ชอบ อ.บังทองเพราะไม่ชอบใช้เส้นเข้าทำงาน


โดย: ทองเพชร IP: 222.123.163.236 วันที่: 14 ตุลาคม 2552 เวลา:13:55:17 น.  

 
ถ้าอาจารย์บังทองไม่รีบด่วนสิ้นบุญไปก่อนไม่เช่นนั้นท่านเล่าปี่คงได้มีกุนซือที่เก่งกาจมากถึง 2 คน แต่เป็นเช่นไรก็ตามอาจารย์บังทองจะอยู่ในใจผู้รักจ๊กก๊กตลอดไป


โดย: ... IP: 118.172.203.236 วันที่: 27 ธันวาคม 2552 เวลา:8:32:58 น.  

 

ข้าคือบังทองกลับชาติมาเกิดใครไม่เชื่อ

โทรมา 081-1361150


โดย: หงส์อรุณ IP: 117.47.7.176 วันที่: 28 มิถุนายน 2553 เวลา:10:07:34 น.  

 
ชอบมาก ๆ ครับ

ภาพประกอบเยอะดี


โดย: ลูกทุ่งคนยาก วันที่: 20 สิงหาคม 2553 เวลา:4:57:02 น.  

 
ชื่นชม บังทอง แต่ชอบขงเบ้ง


โดย: น้ำฝน IP: 223.207.97.242 วันที่: 28 เมษายน 2554 เวลา:13:28:19 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

หงส์อรุณ
Location :
ราชบุรี Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add หงส์อรุณ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.