Group Blog
 
 
กรกฏาคม 2551
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
12 กรกฏาคม 2551
 
All Blogs
 
[สารนี้แด่คุณแม่มือใหม่]ข้อคิดในเรื่อง "รอให้ถึงอนุบาลก็สายเสียแล้ว"



[สารนี้แด่คุณแม่มือใหม่]

ข้อคิดในเรื่อง "รอให้ถึงอนุบาลก็สายเสียแล้ว"




ว่าด้วยเนื้อหาของ “รอให้ถึงอนุบาลก็สายเสียแล้ว”


ผู้แต่ง“รอให้ถึงอนุบาลก็สายเสียแล้ว” คือ มาซารุ อิบุกะ ซึ่งเป็น ประธานกิตติมศักดิ์ผู้ก่อตั้งบริษัทโซนี่ แปลเรียบเรียงโดย ธีระ สุมิตร และพรอนงค์ นิยมค้า




มาซารุ อิบุกะ


ใจความสำคัญของเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ ว่าด้วยเรื่องของการพัฒนาสติปัญญาในเด็กเล็กให้สามารถเรียนรู้แบบคิดเป็นทำเป็น และตั้งมั่นอยู่ในความดีงาม โดยผู้มีบทบาทสำคัญคือ พ่อแม่ผู้เลี้ยงดูเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนอายุ 3 ขวบ ซึ่งในช่วงระยะเวลานี้ ถือได้ว่าสำคัญต่อการพัฒนาการความเฉลียวฉลาดและการปลูกฝังพฤติกรรมที่ถูกต้องเหมาะสมให้กับเด็ก โดยเน้นให้พ่อแม่ตระหนักถึงความสำคัญของศักยภาพที่เกิดจากการจัดสิ่งแวดล้อมที่ดีในการเรียนรู้ ซึ่งเป็นปัจจัยส่งเสริมที่มีอิทธิพลต่อเด็กเหนือยิ่งกว่าลักษณะการถ่ายทอดทางพันธุกรรม

เนื้อหาแบ่งเป็น 5 ตอน โดยแต่ละตอนประกอบด้วยหัวข้อเรื่องต่างๆ ที่เป็นประเด็นขยายความทั้ง 5 ช่วงตอน โดยสรุปรายละเอียดที่สำคัญได้ดังนี้





ตอนที่ 1 ศักยภาพ
( ความสามารถเป็นไปได้ ) ของเด็กเล็ก


การเลี้ยงดูเด็กระหว่างอายุ 0- 3 ขวบ ถ้ารอให้เข้าโรงเรียนอนุบาลก่อน ก็สายเสียแล้ว เพราะความสามารถทางสติปัญญา และอุปนิสัยส่วนใหญ่ของคนเรานั้น ได้รับการกำหนดวางตัวไว้ในช่วงอายุ 0- 3 ขวบ ดังนั้นเมื่อเด็กเริ่มเข้าเรียน จึงมีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด และหากจะพัฒนาเด็กในวัยเรียนให้ดียิ่งขึ้นเพียงใด ก็มิใช่เรื่องง่ายเสียแล้ว กลายเป็นการเพิ่มภาระให้กับเด็กโดยไม่จำเป็น เพราะมีหลายสิ่งหลายอย่างที่จำเป็นต้องเรียนรู้ในวัยเด็กเล็ก มิฉะนั้น จะเรียนรู้ไม่ดีไปตลอดชีวิต เช่น ภาษาต่างประเทศ ซึ่งเป็นตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนที่สุดว่าวัยเด็กเล็กสามารถเรียนรู้ได้ดีกว่าวัยอื่น

จุดประสงค์ของการศึกษาในวัยเด็กเล็กนั้น มิใช่เพื่อสร้างอัจฉริยบุคคลอย่างเดียว หากแต่หัวใจสำคัญเป็นไปเพื่อการสร้างเด็กให้เป็นคนที่มีไหวพริบดี ร่างกายแข็งแรง อารมณ์ร่าเริงและอ่อนโยน และไม่ว่าเด็กคนไหนก็สามารถเป็นเช่นนี้ได้ ขึ้นอยู่กับวิธีการเลี้ยงดูที่เหมาะสม อาทิเช่น ด้านการรับรู้อารมณ์ ฝึกโดยให้เด็กได้ฟังเพลงคลาสสิค การรับรู้ภาษาด้วยการพูดคุย การสัมผัส ด้วยสมองของเด็กเล็กนั้นเหมือนฟองน้ำ สามารถดูดซับทุกสิ่งได้ เมื่ออิ่มตัวก็หยุดดูดไปเอง สิ่งที่ควรห่วงใยมิใช่เรื่องการยัดเยียดให้มากเกินไป แต่ควรเป็นเรื่องการให้น้อยเกินไป เพราะเด็กเล็กมีความจำดีเลิศ โดยเฉพาะการจดจำสิ่งที่ตนสนใจ กรณีนี้ การเล่านิทาน หนังสือภาพ สามารถใช้เป็นสื่อบูรณาการร่วมกับสิ่งที่อยากจะฝึกเด็กได้ เช่น การฝึกความจำโดยเล่านิทานซ้ำๆ การให้ดูภาพที่มีอักษรจีนหรืออักษรคันจิประกอบอยู่ด้วย

พ่อแม่จำนวนไม่น้อยที่เลี้ยงลูกด้วยความเข้มงวดและปล่อยอิสระอย่างผิดเวลา โดยเริ่มต้นเลี้ยงดูแบบให้อิสระ แล้วกลับมาเข้มงวดเมื่อเด็กโตมีความคิดเป็นของตนเอง ซึ่งการปฏิบัติที่ถูกต้องนั้น ควรทำการปลูกฝังพฤติกรรมตั้งแต่วัย 0- 3 ขวบ วัยนี้พ่อแม่ควรมุ่งมั่นในการศึกษาอบรม ฝึกลูกอย่างเข้มงวดแต่อ่อนโยน และหลังจากเด็กอายุเกิน 3 ขึ้นไป เด็กเริ่มมีความเป็นตัวของตนเอง พ่อแม่ควรที่จะสิ้นสุดการใช้ระบบเข้มงวดมาเป็นการให้อิสระเสรี เพื่อมิให้เด็กมีใจต่อต้านและไม่เป็นการทำลายความสามารถของเด็ก

ดังนั้น ทางที่ดีที่สุดก็คือ ในช่วงวัย 0- 3 ขวบ เด็กควรได้รับการเรียนรู้อย่างเหมาะสมและมากมายอย่างไร้ข้อจำกัด เพราะระบบสมองในวัยนี้กำลังก่อรูปและสร้างแบบแผนการรับรู้ เรียนรู้ได้เร็วและมีประสิทธิภาพสูงสุดมหาศาล ทั้งในด้านภาษา คือ ภาษาพูด ภาษาลายลักษณ์อักษรยากๆ เช่น อักษรจีน หรืออักษรคันจิในภาษาญี่ปุ่น , ทักษะคณิตศาสตร์ ดังเช่นตัวอย่างของเด็กเล็กซึ่งได้รับการฝึกหัด และประสบความสำเร็จในการเรียนรู้การคำนวณพีชคณิตได้อย่างน่าอัศจรรย์ รวมทั้งการเคลื่อนไหวทางร่างกายและการพัฒนาพฤติกรรมที่ถูกต้องเหมาะสม



ตอนที่ 2 สภาวะเป็นจริงของการเรียนรู้ในระยะปฐมวัย


ผลการทดลองของฟอร์ดแสดงให้เห็นว่า ความสามารถของคนไม่ได้ถูกกำหนดโดยพันธุกรรมประเภทเชื้อชาติหรือสายเลือด หากแต่ถูกกำหนดโดยการศึกษาและสภาพแวดล้อมเป็นสำคัญ แม้จะมีภาษิตว่า “ลูกไม้ย่อมหล่นไม่ไกลต้น” หรือ “ลูกกบย่อมเป็นกบ” แต่ไม่ได้หมายความว่า เด็กเหมือนหรือได้รับเชื้อสายความสามารถมาจากพ่อแม่ แต่เหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะได้รับการเลี้ยงดูมาในสภาพแวดล้อม ซึ่งเหมาะจะเป็นเช่นนั้นมาตั้งแต่เกิด

อย่างไรก็ตาม ลูกนักวิชาการก็ไม่แน่ว่าเหมาะที่จะเป็นนักวิชาการเสมอไป ดังมีคำประณามเด็กที่มีลักษณะเช่นนี้ว่า “ลูกนอกคอก” ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมในระยะปฐมวัยด้วยเช่นกัน ว่าจะส่งเสริมความสามารถของพวกเขาได้อย่างไรนั่นเอง ตัวอย่างของสองพี่น้องอมราและกมลา ลูกคนอย่างแท้จริงแต่กลับมีสัญชาตญาณของหมาป่านั้นทำให้เข้าใจแนวคิดนี้มากยิ่งขึ้น เพราะไม่ว่าจะนำเด็กทั้งสองมาเลี้ยงดูปลูกฝังอบรมแบบลูกมนุษย์สักเพียงใด ก็ไม่อาจเยียวยาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่มาจากสภาพแวดล้อมในวัยเด็กเล็กที่เติบโตมากับฝูงหมาป่าได้ จนแม้วินาทีสุดท้ายแห่งการมีชีวิตของพวกเธอทั้งสองคนก็ตาม

ผู้ใหญ่มักเพิ่มความลำบากให้เด็กโดยไม่จำเป็น ด้วยความเข้าใจเพียงฝ่ายเดียวว่าเรื่องต่างๆนั้นยังเร็วเกินไปที่จะสอนเด็ก ทำให้เรื่องที่เด็กสามารถจดจำได้อย่างง่ายดายในเวลาที่เหมาะสม กลายเรื่องยากอย่างยิ่งยวด เมื่อต้องมาเรียนรู้ในภายหลัง เมื่อเขาพ้นจากวัยที่ควรจะได้เรียนรู้สิ่งนั้นไปแล้ว ดังนั้นการให้เด็กเล็กได้รับรู้เรียนรู้อย่างเต็มศักยภาพนั้นจึงมีความหมาย และไม่ใช่เรื่องยากเกินความสามารถของเด็กเล็กอย่างที่ผู้ใหญ่คาดคิด สิ่งสำคัญคือ การให้สิ่งกระตุ้นเร้าความสนใจเด็ก ทำให้เด็กมีปฏิกิริยาตอบสนอง เช่น สิ่งกระตุ้นในห้องที่เด็กอยู่โดยการใช้เตียงโยก พู่ห้อยสีสดใส ลูกแก้วส่องแสง และโดยเฉพาะกังหันลมมีเสียงดนตรี ผ้าม่านลายต่างๆ ซึ่งจากการทดลองแล้วพบว่าสิ่งกระตุ้นเหล่านี้มีผลต่อการพัฒนาสติปัญญาในวัยเด็กเล็กเป็นอย่างมาก ดีกว่าห้องว่างเปล่าที่อาจส่งผลร้ายต่อพัฒนาการทางสติปัญญาของเด็ก

จากคำกล่าวญี่ปุ่นที่ว่า “แตะชาดย่อมแดง” นั้น อธิบายถึงวัยเด็กเล็กได้เป็นอย่างดีในเรื่องของการได้รับอิทธิพลจากสิ่งแวดล้อมได้อย่างง่ายดาย พ่อแม่จึงต้องตระหนักในการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ถูกต้องเหมาะสมให้กับเด็ก ระมัดระวังอย่างรอบคอบมิให้เด็กซึมซับสิ่งผิดๆไป ซึ่งในกรณีนี้ หมายรวมถึงเรื่องที่พ่อแม่บางครอบครัวมีความจำเป็นต้องฝากลูกไว้ให้คนอื่นเลี้ยง ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดผลร้ายในตัวเด็ก ความละเอียดอ่อนของจิตใจเด็กเล็กอาจถูกกระทบกระเทือนจากพี่เลี้ยงซึ่งไม่อาจทราบได้แน่ชัดว่าจะดูแลเด็กได้ดีเพียงใด พ่อแม่ต้องใส่ใจในสภาพแวดล้อมที่เด็กเล็กต้องเผชิญ หากเกิดข้อผิดพลาดใดๆขึ้นย่อมยากเกินกว่าจะฟื้นกลับได้ เพราะเมื่อเด็กเล็กได้รับรู้เรียนรู้ในรูปแบบที่ผิดพลาดแล้วคิดจะย้อนกลับมาแก้ไขให้รับรู้เรียนรู้อย่างถูกต้องนั้น นับเป็นเรื่องที่ยากยิ่งกว่าขั้นรับรู้เรียนรู้ถึง 4 เท่าตัว



ตอนที่ 3 สิ่งดีสำหรับเด็ก คืออะไรบ้าง?


พ่อแม่ชาวญี่ปุ่นส่วนมากมักแสวงหาวิธีการที่ดีที่สุดในการเลี้ยงดูลูกซึ่งเป็นสูตรเฉพาะแบบตายตัว ในความเป็นจริงแล้วการศึกษาในวัยเด็กเล็กนั้นไม่มีสูตรตายตัว และสูตรตายตัวนี้มิใช่ว่าจะดีเสมอไป บางกรณีอาจเป็นสิ่งทำลายความสามารถของเด็กได้เช่นกัน ซึ่งประเด็นนี้เห็นได้ชัดเจนในเรื่องที่ไม่คำนึงถึงความสามารถเด็ก เพียงแค่ใช้อายุเป็นเครื่องวัดและสร้างระบบโรงเรียนขึ้นมาเป็นพิมพ์เดียวกัน ซึ่งเป็นลักษณะการศึกษาในประเทศญี่ปุ่น ที่พ่อแม่ต่างแสดงความคิดเชิงวิพากษ์ว่าเหมาะสมหรือไม่ในปัจจุบัน

“นิสัยอุ้มติดมือ” ควรให้ติดเป็นอย่างยิ่ง นั่นคือสิ่งที่แม่พึงปฏิบัติเพื่อสร้างสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างแม่ลูก การอุ้มที่นุ่มนวลอ่อนโยนของแม่นั้น มีผลต่อต่อเด็กในการเติบโตขึ้นเป็นผู้มีอารมณ์ดี อารีเอื้อเฟื้อและสุภาพอ่อนโยน

เมื่อเด็กร้อง ต้องขานตอบและชวนพูดคุยด้วย แม้ว่าเด็กเล็กยังไม่รู้ภาษา แต่ก็มีส่วนช่วยพัฒนาอารมณ์ของเด็กให้ร่าเริง แจ่มใส ในกรณีที่พูดคุยกับเด็กที่สามารถรู้ภาษาและพูดได้บ้างแล้วแต่อาจจะยังไม่ค่อยชัดนั้น พ่อแม่ไม่ควรทำตัวกลมกลืนโดยพูดไม่ชัดกับลูกไปด้วย หรือเพราะกลัวลูกไม่เข้าใจ จึงหัดใช้ภาษาเด็กที่พูดไม่ชัดกับลูก ซึ่งไม่เป็นผลดี เพราะทำให้สมองของเด็กไม่ได้รับการปลูกฝังหรือเรียนรู้ลักษณะภาษาที่ถูกต้อง

การไม่เอาใจใส่เด็กนั้นเลวร้ายกว่าการตามใจเด็ก เพราะโดยส่วนมากแล้ว เด็กที่ได้รับความรักและเป็นที่สนใจของพ่อแม่อย่างมากมายนั้น มีโอกาสเติบโตเป็นผู้ที่มีอารมณ์มั่นคงและเข้าสังคมได้ดีกว่าเด็กที่พ่อแม่ไม่สนใจ

ความกลัวที่เกิดขึ้นในวัยเด็กนั้น อาจแพร่ขยายและติดตามมาจนถึงวัยผู้ใหญ่ได้ ซึ่งผลร้ายนี้เกิดขึ้นจากประสบการณ์ที่ผู้ใหญ่สร้างไว้กับเด็กโดยไม่รู้ตัว เป็นการฝากแผลลึกไว้ในหัวใจเด็กที่ส่งผลในระยะยาวเมื่อเขาโตขึ้น ในหลายกรณียากแก่การแก้ไข เช่น ความกลัวที่ไม่สมเหตุสมผลต่อสิ่งที่ไม่น่ากลัว

บุคคลในบ้านและบรรยากาศในครอบครัวมีผลต่อการเรียนรู้ของเด็กเล็ก ทั้งในด้านความรักที่อบอุ่นของพ่อแม่ ญาติพี่น้องและปู่ย่าตายาย ซึ่งเป็นสิ่งกระตุ้นเด็ก ทำให้เด็กพัฒนาเติบโตขึ้นเป็นคนที่มีความสามารถและบุคลิกภาพที่ดี เพราะได้เห็นและเรียนรู้อย่างกว้างขว้างจากหลากหลายผู้คน

การส่งเสริมให้เด็กๆได้เล่นร่วมกัน แม้จะมีเหตุทะเลาะกันบ้าง แต่ผู้ใหญ่ไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยว เพราะเป็นบททดสอบให้พวกเขาเรียนรู้การใช้ชีวิตร่วมกันเป็นหมู่คณะ ช่วยให้รู้จักการเข้าสังคมและรู้จักคิดในเชิงสร้างสรรค์มากยิ่งขึ้น

เด็กมีความสามารถในการจดจำสิ่งที่เป็นรูปแบบ และสามารถจำแนกรูปแบบเหล่านั้นได้เป็นอย่างดี เห็นได้ชัด ในตัวอย่างเด็กที่สามารถจดจำใบหน้าพร้อมกับชื่อคนๆนั้นมากถึง 50 คน และการเล่นไพ่จับคู่กับเด็ก ซึ่งผู้ใหญ่ยากที่จะแข่งขันชนะเด็กได้ เพราะเด็กสามารถจดจำด้วยรูปแบบดีกว่าผู้ใหญ่ที่จดจำด้วยส่วนประกอบแยกย่อย ทำให้ยากที่จะจำได้มากเท่ากับเด็ก

ความโกรธและความอิจฉาริษยาเป็นการแสดงความไม่พอใจของเด็กที่ไม่ได้รับการตอบสนอง ซึ่งพ่อแม่ไม่ควรกดดันด้วยการเอาแต่ชมหรือดุว่าอย่างไร้เหตุผล ต้องขจัดต้นเหตุที่ทำให้เด็กไม่พอใจ

การเอ่ยถึงข้อบกพร่องของเด็กต่อหน้าคนอื่น เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง แม้จะเป็นข้อผิดพลาดเพียงเล็กน้อยก็ตาม อาจจะทำให้เด็กไม่เข้าใจตนเอง และกลายเป็นคนจิตพิการได้ เพราะเด็กเล็กอยู่ในวัยที่ถูกกระทบกระเทือนได้ง่าย เราไม่อาจคาดเดาได้ว่าการทำเช่นนั้น จะก่อให้เกิดแผลในใจเด็กอย่างไรบ้าง

การชมเชยดีกว่าการดุว่าเด็ก แม้ว่าการดุจะให้ผลในทันที แต่ก็อาจพัฒนาความสามารถในการต่อต้านขึ้นมา การชมและการดุ จึงต้องทำอย่างรอบคอบ ต้องให้เหตุผลในการชมและการดุกับเด็ก แม้ว่าเด็กจะไม่เข้าใจเหตุผลทั้งหมด แต่เขาจะรับรู้ได้จากท่าทีของพ่อแม่



ตอนที่ 4 หลักในการฝึกเด็ก


เด็กมีความสนใจในสิ่งที่เป็นจังหวะ เช่น เพลง ดนตรี ซึ่งเป็นสิ่งกระตุ้นที่เสริมสร้างพัฒนาการของเด็กได้ เด็กเล็กส่วนมากเมื่อได้ฟังเพลงคลาสสิคแล้ว สามารถเข้าใจความซับซ้อนของเพลงคลาสสิคที่ผู้ใหญ่ฟังไม่รู้เรื่องได้ดี สิ่งคัญอย่างหนึ่งคือ ความสนใจของเด็กต้องเป็นไปแบบต่อเนื่องจึงจะส่งผลดีต่อการพัฒนาความสามารถของเด็ก ดังนั้นการทำซ้ำๆ หรือการทบทวนหลายครั้ง จึงเป็นการกระตุ้นที่เหมาะสมสำหรับเด็กเล็กมากที่สุด เพราะเขาจะชอบการทำอะไรซ้ำๆ โดยไม่รู้สึกเบื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นสิ่งที่เด็กสนใจ ในความคิดของเด็กนั้นสิ่งที่เด็กสนใจคือสิ่งที่ดี สิ่งที่ไม่น่าสนใจและไม่ชอบ คือ สิ่งที่ไม่ดี ซึ่งเป็นเหตุผลแบบเด็กเล็กที่แตกต่างกับผู้ใหญ่ เพราะเด็กใช้ความรู้สึกส่วนตนมาตัดสินนั่นเอง

การปลูกฝังวิธีการเรียนรู้แบบญาณหยั่งรู้ ช่วยให้เด็กได้ฝึกทักษะการใช้ประสาทสัมผัส ซึ่งในเรื่องการสอนเด็กเล็กนั้นไม่ควรแบ่งเพศ ว่าเด็กชายต้องเรียนรู้แบบนี้จึงจะเป็นลูกผู้ชายเต็มตัว หรือเด็กหญิงต้องเรียนรู้แบบนั้นเพื่อเป็นสตรีที่ดีพร้อม การกระทำเช่นนี้ของผู้ใหญ่อาจปิดกั้นศักยภาพของเด็กได้ เพราะในวัยเด็กเล็ก 0- 3 ขวบยังไม่มีความแตกต่างทางเพศอย่างเด่นชัดและเด็กเองก็ยังไม่เข้าใจความแตกต่างนั้น อย่างไรก็ตาม เด็กเล็กมักอยากรู้อยากเห็น เมื่อเด็กตั้งข้อสังเกตหรือถามในเรื่องเพศ ไม่ควรที่จะโกหกเด็ก เพราะยิ่งปิดบังจะทำให้เด็กสังเกตเห็นพิรุธและยิ่งทวีความอยากรู้มากขึ้น ควรสอนหรือตอบด้วยถ้อยคำไพเราะ พูดให้เขาเข้าใจอย่างเป็นธรรมชาติ เพราะเรื่องเพศไม่ใช่สิ่งลี้ลับที่เด็กไม่ควรรู้แต่อย่างใด

เด็กเล็กส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องการเลือกรับประทานอาหาร ที่เป็นเช่นนี้เนื่องด้วยความไม่คุ้นชินกับรสชาติ แม่ควรเน้นเรื่องรสชาติแบบต่างๆ เวลาทำอาหารให้กับเด็กด้วย เพื่อฝึกให้เด็กชินกับรสชาติอย่างหลากหลาย จะได้ไม่ยึดติดเฉพาะกับรสชาติแบบใดแบบหนึ่ง จนกลายเป็นนิสัยเลือกรับประทาน

รายการข่าวมีประโยชน์ต่อการสอนภาษาที่ถูกต้อง ชัดเจนให้กับเด็ก เช่นเดียวกับโฆษณาทางโทรทัศน์ที่แม้ผู้ใหญ่จะตั้งข้อกังขาว่าบั่นทอนปัญญา แต่เนื้อหาของโฆษณามีจุดเด่นที่เร้าความสนใจของเด็กได้และ ช่วยพัฒนาศักยภาพด้านการรับรู้ได้ดี

เด็กไม่เข้าใจตัวเลขในนาฬิกา แต่เด็กกลับรู้เวลาได้ เพราะกิจวัตรประจำวันก็คือนาฬิกาของเด็กเล็กนั่นเอง ซึ่งปัจจุบันสื่อได้เข้ามามีบทบาทในเรื่องนี้ด้วย เช่น เด็กรู้ว่าพอเรื่องนี้เริ่มแสดง พ่อต้องออกไปทำงาน หรือพ่อกลับมารายการนี้จบแล้ว และการที่เด็กนอนก็เพราะมืดแล้วและเขารู้สึกง่วงไม่ใช่เพราะเวลา 2 ทุ่ม การฝึกกิจวัตรประจำวันของเด็กให้เป็นอยู่อย่างมีระเบียบจึงมีความสำคัญ ไม่เช่นนั้นนาฬิกาของเขาก็ไม่ตรง

ความคิดสร้างสรรค์ เป็นทักษะที่เกิดจากการให้เด็กได้รับสิ่งเร้าและเรียนรู้ในสิ่งที่ท้าทายความคิด ไม่ปิดกั้นหรือกำหนดให้เป็นไปตามความคาดหวังของพ่อแม่ ควรให้อิสระเสรีในการเล่นด้วยตนเองของเด็ก ให้เขาคิดและออกแบบการเล่นของตนเอง ทำให้มีประสบการณ์ที่หลากหลาย ของเล่นที่เหมาะสมต่อการพัฒนาเด็ก จึงควรเป็นสิ่งที่ช่วยให้เด็กดีใจเมื่อทำด้วยตนเองได้สำเร็จ หรือการมีส่วนร่วมของเด็กในการต่อเติมเสริมแต่งหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบตามใจชอบ เช่น ตัวต่อรูปต่างๆ การพับกระดาษ การเล่นดินเหนียว และการเล่นละครซึ่งเป็นการเลียนแบบที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ได้เป็นอย่างดี

ในวัยเด็กเล็กควรที่จะให้เขาได้ศึกษาจากของจริง ซึ่งจะทำให้มีรูปแบบพื้นฐานที่ดีในด้านรู้จักการคิดเชิงประเมินคุณค่า ซึ่งเป็นผลดีต่อเด็กสืบเนื่องจนเติบโตในวัยถัดมา และที่สำคัญ คือ หากเด็กมีความสามารถแม้เรื่องใดเรื่องหนึ่ง ก็จะส่งผลให้มีความมั่นใจในทุกเรื่องได้ เพราะเด็กไม่ค่อยมีความกังวลใจ หากมั่นใจในตนเอง ก็จะสามารถก้าวหน้าได้ดี

การออกกำลังกายและการเคลื่อนไหวเพื่อฝึกกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ มีผลต่อการพัฒนาสติปัญญาของเด็กได้อีกทางหนึ่ง โดยเฉพาะแนวคิดด้านการฝึกใช้มือซ้ายและมือขวาได้อย่างเท่าเทียมกัน กรณีนี้อาจเป็นเรื่องยากสำหรับผู้ใหญ่ แต่ในวัยเด็กเล็ก 0- 3 ขวบสามารถเป็นไปได้หากพ่อแม่เอาใจใส่สนับสนุนฝึกฝนเด็กอย่างจริงจัง การฝึกให้ช่วยทำงานบ้านที่ง่ายๆ ก็ถือเป็นอีกวิธีหนึ่ง อาจจะหวังผลงานไม่ได้ เพราะเด็กยังแยกการเล่นกับการทำงานไม่ออก แต่อย่างน้อยที่สุดก็ดีกว่าการให้เขาเล่นเพียงอย่างเดียว เพราะการทำงานต้องใช้สมาธิและความระมัดระวังมากกว่าการเล่น จึงมีส่วนช่วยพัฒนาสติปัญญาและทักษะการใช้อวัยวะต่างๆได้ดี



ตอนที่ 5 บทบาทแม่


แม่เป็นบุคคลที่มีความสำคัญอันดับหนึ่งในการเลี้ยงดูอบรมเด็กเล็ก คุณลักษณะของแม่เป็นปัจจัยส่งผลโดยตรงต่อพัฒนาการทางสติปัญญาและพฤติกรรมที่ดีงามของเด็ก โดยแม่ที่ดีนั้นต้องเอาใจใส่งานเลี้ยงดูอบรมเด็กเป็นอย่างดี ซึ่งถือเป็นหน้าที่ที่สำคัญเหนืออื่นใด

แม่ต้องมีวิสัยทัศน์อันกว้างไกลในการให้การศึกษาแก่เด็กเล็ก ควรตระหนักว่าการศึกษาที่แท้จริง คือ การศึกษาที่ทำให้ลูกดีกว่าพ่อแม่ , ศิษย์เก่งกว่าครู เพื่อให้อนาคตของมนุษย์เรามีพัฒนาการสูงขึ้น ส่งผลให้คนรุ่นต่อๆ ไปยิ่งมีพัฒนาการมากขึ้น อันเป็นวิสัยทัศน์ที่ไม่ควรมองข้ามและไม่ใช่ความฝันเลื่อนลอย เพราะเด็กในวันนี้ก็คือผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า และเขาก็ต้องทำหน้าที่เป็นผู้อบรมเลี้ยงดูอนุชนรุ่นต่อไป เฉกเช่นที่แม่ปฏิบัติต่อเขาในขณะนี้ด้วย

ในขณะเดียวกัน แม่ไม่ควรลืมที่จะเรียนรู้จากลูกอยู่เสมอ เพื่อพัฒนาและแก้ปัญหาของเด็กได้ตรงจุดอย่างราบรื่น รวมทั้งต้องทำตนเป็นแบบอย่างที่ดี เพื่อให้เด็กได้ประจักษ์เห็นและปฏิบัติตาม เนื่องด้วยวัยเด็กมีลักษณะที่ชอบเลียนแบบเป็นกิจนิสัยอย่างหนึ่ง

ด้วยเหตุนี้ คุณลักษณะอุปนิสัยที่ไม่เหมาะสมบางประการของแม่ที่อาจแสดงออกมาโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวนั้นไม่สำคัญ แต่ที่สำคัญ คือ หากเด็กได้รับรู้เรียนรู้สิ่งนั้นเข้าไป ก็อาจส่งผลกระทบให้เด็กกลายเป็นเช่นเดียวกับแม่ไปด้วย เช่น แม่ที่มีแต่ความไม่มั่นใจ ส่งผลให้ลูกเป็นคนช่างวิตกกังวล แม่ที่ทรนงตน ทำให้ลูกกลายเป็นเด็กขี้อิจฉา หยิ่งยโสและชอบเอาชนะ

ข้อควรระวัง คือ แม่ไม่ควรบังคับลูกให้เป็นไปตามความต้องการของตนฝ่ายเดียว ต้องให้เด็กได้เป็นตัวของตนเองบ้างในบางเรื่องที่สามารถจะทำได้ ให้โอกาสเด็กได้คิดเอง ทำเอง อันจะเป็นประสบการณ์ที่มีค่าต่อเด็กในกาลต่อไป

การปลูกฝังเด็กให้มีความเชื่อใจในผู้อื่นนั้น ถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ที่จะพัฒนาคุณลักษณะนิสัยในการเข้าสังคมอย่างจริงใจและการมองโลกในแง่ดีอย่างมีเหตุผล ทำให้เด็กดำรงตนอย่างมีความสุขในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี รวมทั้งเป็นปัจจัยสำคัญในการลดความขัดแย้งภายในสังคมและขจัดภาวะสงครามให้หมดสิ้นไปจากยุคสมัย เพราะเด็กเล็กคือผู้แบกรับโลกในอนาคตด้วย ผู้เป็นแม่จึงต้องทุ่มเททั้งกายใจเพื่อเสริมสร้างให้เด็กเติบโตอย่างมีคุณภาพ

เพราะเหตุว่า "ผู้ที่จะสร้างสันติภาพอย่างแท้จริงได้นั้น ไม่ใช่ผู้ใหญ่ในรุ่นพ่อแม่อีกต่อไป แต่ต้องเป็นโลกในสมัยของเด็กเล็กในยุคปัจจุบัน" แน่นอนว่าคนๆเดียวอาจทำเช่นนี้ไม่ได้ แต่ทุกหน่วยของประชากรที่มีคุณลักษณะความเชื่อใจเมื่อมารวมกันมากเข้าแล้ว ย่อมเป็นกลุ่มชนรุ่นอนาคตที่สามารถสร้างสันติสุขสู่สังคมได้อย่างแท้จริง

ในอดีตของญี่ปุ่นนั้น เต็มไปด้วยสภาพปัญหาต่างๆมากมาย โดยเฉพาะความทุกข์ยากในการเผชิญสงคราม ทำให้การอบรมเลี้ยงดูเด็กเล็กไม่ได้รับความใส่ใจเท่าที่ควร แต่ในยุคปัจจุบันที่ผ่านพ้นวิกฤตจากอดีตเช่นนั้นมาแล้ว หากยังมีการละเลยเรื่องการอบรมเลี้ยงดูและให้การศึกษาในวัยเด็กเล็ก ย่อมถือเป็นข้อผิดพลาดที่ไม่ควรให้อภัยอย่างยิ่ง



แรงจูงใจในการเลือกอ่านหนังสือเรื่อง
“รอให้ถึงอนุบาลก็สายเสียแล้ว”


1. ชื่อเรื่องมีความโดดเด่น จุดประกายความสนใจเมื่อแรกพบเห็น ทำให้รู้สึกอยากรู้และอยากที่จะลองหยิบขึ้นมาศึกษาดูว่าเพราะเหตุใดจึงกล่าวว่า “รอให้ถึงอนุบาลก็สายเสียแล้ว”

2. ผู้แต่งมีประวัติและระดับความมั่นคงทางสถานภาพเป็นที่น่าสนใจ ความมีชื่อเสียงและตำแหน่งที่สำคัญในระบบเศรษฐกิจของญี่ปุ่นและระดับโลก ทำให้รู้สึกมั่นใจในความคาดหวังว่า หากได้ลงมือแต่งหนังสือเรื่องนี้แล้ว อาจจะมีแนวคิดที่ดีมีสาระประโยชน์อย่างยิ่งยวด และตรงกับความสนใจของผู้จัดทำบทความนี้ก็เป็นได้

3. จากการอ่านหน้า “ คำนำ ” ของ น.พ. ประเวศ วะสี , และหน้า “คำนิยม” ซึ่งเขียนโดย Glenn Doman ทำให้รู้สึกว่าหนังสือเรื่องนี้มีคุณค่าควรต่อการศึกษา อันอาจจะยังประโยชน์ต่ออนาคตแห่งการเป็นผู้เลี้ยงดูและอบรมเด็กให้เป็นคนดี คนเก่ง คนฉลาดและมีความสุขในภายภาคหน้าได้เป็นอย่างดี ซึ่งทั้งสองบุคคลผู้มีชื่อเสียงนี้ได้กล่าวว่าเป็นรากฐานสำคัญต่อการพัฒนาสังคมและประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าต่อไปในอนาคตด้วยเช่นกัน

4. จากการสุ่มเปิดอ่านเนื้อหาบางส่วนแล้วพบว่า ลักษณะการเรียบเรียงภาษาสละสลวย งดงาม สำนวนโวหารคมคายโดดเด่นน่าประทับใจ การเปรียบเทียบชวนให้คิด อ่านแล้วมีความสุขเพลิดเพลินใจ คล้ายกับการได้รับชมสารคดีแบบลายลักษณ์อักษรมากกว่าการเป็นหนังสือวิชาการ



ความรู้ที่ได้รับจากการอ่านหนังสือเรื่อง
“รอให้ถึงอนุบาลก็สายเสียแล้ว”


จากการการที่ผู้แต่งตั้งชื่อเรื่องว่า “รอให้ถึงอนุบาลก็สายเสียแล้ว” ซึ่งทำให้เกิดข้อสงสัยดังที่ได้กล่าวไว้ในเรื่องแรงจูงใจที่เลือกอ่านหนังสือเล่มนี้ ครั้นเมื่อได้ศึกษาทำความเข้าใจแล้วทำให้พบคำตอบของเหตุที่กล่าวว่า “รอให้ถึงอนุบาลก็สายเสียแล้ว” เนื่องด้วยหลักการทางจิตวิทยาการศึกษาในวัยเด็กเล็ก คือ “ความสามารถทางสติปัญญา และอุปนิสัยส่วนใหญ่ของคนเรานั้น ได้รับการกำหนดวางตัวไว้ในช่วงอายุ 0- 3 ขวบ ดังนั้นเมื่อเด็กเริ่มเข้าเรียน จึงมีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด และหากจะพัฒนาเด็กในวัยเรียนให้ดียิ่งขึ้นเพียงใด ก็มิใช่เรื่องง่ายเสียแล้ว กลายเป็นการเพิ่มภาระให้กับเด็กโดยไม่จำเป็น เพราะมีหลายสิ่งหลายอย่างที่จำเป็นต้องเรียนรู้ในวัยเด็กเล็ก มิฉะนั้น จะเรียนรู้ไม่ดีไปตลอดชีวิต"

ความรู้นี้ถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญซึ่งช่วยตอบคำถามของครูในเรื่องความแตกต่างที่หลากหลายของนักเรียน ทั้งในด้านพฤติกรรมและความสามารถทางสติปัญญา

เนื้อหาสาระสำคัญของหนังสือเล่มนี้ช่วยทำให้เข้าใจในศักยภาพของเด็กเล็กได้ดียิ่งขึ้น เป็นการเรียนรู้ว่าเด็กเล็กมีศักยภาพการเรียนรู้อย่างมหาศาลเกินกว่าที่ผู้ใหญ่คาดคิด การให้การศึกษาจึงไม่ควรปิดกั้นเพียงเพราะคิดแค่ว่าถ้าให้มากเกินไปจะทำให้เคร่งเครียด เพราะวัย 0-3 ขวบนี้ ระบบการทำงานของสมองยังอยู่ในช่วงการก่อรูปสร้างแบบแผนการรับรู้เรียนรู้ หากผู้ใหญ่ได้พัฒนาความรู้ในการจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการศึกษาของเด็กเล็กได้อย่างเต็มศักยภาพ ก็จะส่งผลให้เด็กพร้อมที่จะเรียนรู้ในโรงเรียนและในวัยถัดมาได้อย่างง่ายดายและมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น

ความรู้ด้านการศึกษาในวัยเด็กเล็กที่ผู้แต่งกล่าวอยู่บ่อยครั้ง คือ การกระตุ้นเด็กเล็กด้วยเพลงที่ไพเราะ ดนตรีคลาสสิค เสียงพูดคุย สัมผัสที่นุ่มนวลอ่อนโยน สีสันและประกายแสงที่ดึงดูดใจ และการเคลื่อนไหวที่เด็กสามารถสังเกตเห็นได้ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นพัฒนาประสาทสัมผัสและความสามารถในการรับรู้เรียนรู้ของเด็กเล็กได้ในขั้นพื้นฐาน ส่งผลต่อการพัฒนาในขั้นต่อไปได้เป็นอย่างดี

ผลพลอยได้จากการอ่านหนังสือ เรื่อง “รอให้ถึงอนุบาลก็สายเสียแล้ว” ส่วนหนึ่ง คือ เรื่องวัฒนธรรมของญี่ปุ่น เนื่องด้วยผู้แต่งนั้นเป็นชาวญี่ปุ่น จึงมีส่วนที่บ่งบอกถึงค่านิยม วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีและวิถีชีวิตของชาวญี่ปุ่นสอดแทรกอยู่ภายในเนื้อเรื่องด้วย ทำให้ผู้อ่านได้มุมมองและทัศนคติในเรื่องต่างๆ ที่แปลกใหม่และเป็นประสบการณ์เสริมความรู้ให้กว้างไกลยิ่งขึ้น เช่น การใช้ภาษาของชาวญี่ปุ่น ทั้งเรื่องการออกเสียงและการใช้ตัวอักษร , ค่านิยมในการเลี้ยงดูเด็กเล็กในอดีตและปัจจุบัน รวมทั้งทัศนคติและอุดมการณ์ในการดำรงชีวิตที่ทำให้พลเมืองมีคุณภาพ ประเทศชาติเจริญก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง

การพัฒนาความรู้รอบตัวเกี่ยวกับทฤษฎีและแนวคิดของบุคคลสำคัญทั้งในวงการศึกษาด้านจิตวิทยา เช่น ศาสตราจารย์ฌอง เปียร์เจท์ นักจิตวิทยาพัฒนาการ , คุณชินอิจิ ซูซูกิ ครูสอนไวโอลินและนักการศึกษาในวัยเด็กเล็ก และมาดามมอนเตสโซรี่ นักจิตวิทยาเด็กเล็ก ซึ่งได้ศึกษาและเสนอแนะหลักการทางจิตวิทยาเพื่อพัฒนาเด็กเล็กให้เติบโตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพ โดยให้ความสำคัญในการจัดสภาพแวดล้อมที่ดีให้เด็ก

เป็นการได้ศึกษาชีวประวัติความเป็นมาของอัจฉริยบุคคลก้องโลก เช่น ลีโอนาร์โด ดาวินชี่ จิตรกรเอกและนักวิทยาศาสตร์สมัยเรอเนสซองส์ ผู้ซึ่งเป็นตัวอย่างในการมีความคิดสร้างสรรค์อันแปลกมหัศจรรย์ , นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส เบลส ปาสกัล ผู้ถึงแก่กรรมด้วยวัยเพียง 39 ปี ซึ่งน้อยคนนักจะรู้ถึงคำสารภาพที่กล่าวว่าเขาไม่มีความสุขในชีวิตเลยตั้งแต่อายุ 18 ทั้งเนื่องเพราะสูญเสียแม่ไปและต้องอยู่กับพ่อผู้ให้การศึกษาอย่างเข้มข้นและเข้มงวด และคาร์ล ฟรีดริช เกาส์ นักคณิตศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ในศตวรรษที่ 19 ที่ในวัยเด็กได้ช่วยนับอิฐส่งให้พ่อในการช่วยงานก่อสร้างเป็นประจำสม่ำเสมอ เพียงสิ่งเล็กน้อยนี้กลับส่งเสริมให้เขามีใจรักและมีทักษะทางคณิตศาสตร์ได้อย่างน่าอัศจรรย์

นอกจากนี้ยังได้เรียนรู้ประสบการณ์ของบุคคลในวงการต่างๆ อย่างหลากหลายที่ให้ข้อคิดเห็นและแนวทางการศึกษาในวัยเด็กเล็ก เช่นประสบการณ์ของยอดคุณพ่อมาสุโอะ นางาตะ ครูซึ่งยอมลาออกจากราชการ มาอยู่บ้านเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่ลูกในวัยเด็กเล็ก ซึ่งประสบความสำเร็จในการสอนภาษาต่างประเทศให้ลูกเรียนรู้พร้อมกันได้ถึง 5 ภาษา , ความพยายามของพ่อแม่ของเด็กชายอัตโตะจัง ที่พยายามช่วยเหลือและฝึกฝนอัตโตะจัง ซึ่งหูพิการตั้งแต่แรกเกิดให้สามารถพูดคุยสื่อสารได้อย่างปกติ และเรื่องราวสมัยเด็กของคุณโซอิจิโร่ ฮอนด้า ที่คุณปู่มักพาไปเดินเล่นในที่ซึ่งมีเสียงมอร์เตอร์ไฟฟ้า ทำให้เขาโตขึ้นมาชื่นชอบเสียงเครื่องยนต์ และมีใจรักในรถมอเตอร์ไซร์ จนสามารถสร้างสรรค์ “ฮอนด้า” ราชามอร์เตอร์ไซร์ของโลกในยุคปัจจุบันขึ้นมาได้



แนวคิดของ“รอให้ถึงอนุบาลก็สายเสียแล้ว”
ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติตนต่อเด็ก


แนวคิดในการเลี้ยงดูอบรมเด็กเล็ก ทำให้ครูเข้าใจในความแตกต่างที่หลากหลายของบุคคล ยอมรับความแตกต่างนั้นได้ด้วยความเข้าใจ และมุ่งมั่นในการแสวงหาแนวทางเพื่อพัฒนาคุณภาพนักเรียนตามศักยภาพความเป็นไปได้ที่มีอยู่ในตัวของนักเรียน ความรู้เหล่านี้ช่วยให้ครูสามารถมองปัญหาที่เกิดขึ้นกับนักเรียนได้อย่างถ่องแท้ยิ่งขึ้น เมื่อวิเคราะห์สาเหตุได้แม้เพียงบางส่วนก็ตาม ก็สามารถขยายผลเป็นจุดเริ่มต้นในการแก้ไขและพัฒนานักเรียนได้ตรงจุด และสามารถปรับปรุงนักเรียนที่ดีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น ส่วนในกลุ่มที่ต้องใส่ใจก็ให้มีแนวโน้มที่ดีขึ้นได้ด้วยกลวิธีการที่ครูคิดค้น และค้นพบอย่างถูกต้องเหมาะสม ดังแนวคิดซึ่งผู้แต่งได้กล่าวว่า “ไม่ว่าเด็กคนไหน ก็เลี้ยงให้ดีได้” อันทำให้ครูมีกำลังใจประจักษ์ว่า “ไม่ว่านักเรียนคนไหน ก็ต้องสอนให้ดีได้”

แนวคิดและประสบการณ์ด้านการศึกษาในวัยเด็กเล็กในหนังสือเล่มนี้ เรียบเรียงเขียนแต่งได้อย่างงดงามทั้งในด้านภาษาสำนวนโวหารที่คมคาย และการร้อยรัดถักทอเนื้อหาสาระทั้งในส่วนที่เป็นวิชาการ และประสบการณ์ชีวิตจริงที่ก่อให้เกิดความซาบซึ้งใจ ความเจริญตาเจริญใจที่เกิดจากการอ่านหนังสือเล่มนี้ ทำให้ได้พัฒนาทัศนคติที่มีเคยต่อเด็กเล็ก 0-3 ขวบ จากเดิมซึ่งไม่ค่อยชื่นชอบวัยนี้เท่าใดนัก เพราะเห็นว่าเป็นวัยที่น่ารำคาญใจ อยู่ใกล้แล้วรู้สึกไม่ดี เสียสุขภาพจิต สาเหตุเช่น เด็กชอบมองหน้าแบบไม่เกรงใจทั้งที่ไม่รู้จักกัน เอาแต่ใจ ส่งเสียงดังและร้องไห้โยเยก่อกวนความสงบทั้งในบ้านนอกบ้าน

ครั้นเมื่อได้อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว ช่วยให้เข้าใจสาเหตุที่ทำให้เด็กเล็กมีปฏิกิริยาในลักษณะนั้นมากยิ่งขึ้น และยอมรับได้ว่าเป็นธรรมชาติธรรมดาของเด็กเล็ก นอกจากนี้การได้อ่านประสบการณ์เรื่องราวของบุคคลหลากหลายวงการเกี่ยวกับการเลี้ยงดูเด็กเล็ก ซึ่งผู้แต่งรวบรวมมาเรียบเรียงไว้ในเนื้อหาอย่างมากมายนั้น ทำให้รู้สึกถึงบรรยากาศที่สดใสและความเยาว์วัยไร้เดียงสาของเด็กเล็ก ที่หากได้รับการปลูกฝังอย่างถูกต้องแล้ว เขาจะไม่ก่อกวนสร้างเรื่องให้เรามีเจตคติทางลบต่อตัวเขาเช่นนั้นอย่างแน่นอน

นอกจากนี้ สิ่งสำคัญในหนังสือเรื่อง “รอให้ถึงอนุบาลก็สายเสียแล้ว” ซึ่งสามารถนำมาใช้ได้โดยตรง กล่าวคือ สามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อการเลี้ยงดูอบรมเด็ก ในอนาคตอันใกล้ที่ครอบครัวจะมีเจ้าตัวน้อย หรืออาจเป็นผู้ให้คำแนะนำปรึกษาแก่ญาติสนิทมิตรสหาย ซึ่งต้องเลี้ยงดูแลเด็กเล็ก เพื่อให้เขาปฏิบัติได้อย่างเหมาะสมด้านการให้การศึกษาแก่เด็กเล็กวัย 0-3 ขวบ ซึ่งเป็นระยะที่ต้องจัดสภาพแวดล้อมและการเรียนรู้ให้กับเด็กอย่างมากมาย, เหมาะสมและถูกต้อง เพื่อเป็นพื้นฐานที่สมบูรณ์พร้อมให้เด็กได้เติบโตขึ้นมาเป็นผู้ที่มีไหวพริบสติปัญญาเฉลียวฉลาด อารมณ์ดี ร่าเริงแจ่มใส สุขภาพดี ร่างกายแข็งแรง และเป็นคนดีของสังคม อันเป็นหนทางสำคัญที่จะช่วยเพิ่มจำนวนประชากรที่มีศักยภาพในอนาคตให้กับประเทศชาติ ซึ่งหากเด็กเริ่มต้นดีก็ถือได้ว่ามีชัยไปกว่าครึ่งแล้ว ดังปรัชญาของเล่าจื้อที่กล่าวว่า



“การเดินทางไกลหมื่นลี้ เริ่มต้นที่ก้าวแรก”


โดยก้าวแรกของมนุษย์ทุกคนก็คือช่วงวัยเด็กเล็ก 0-3 ขวบนั่นเอง การรอให้พร้อม อาจดีสำหรับบางเรื่อง แต่ในระหว่างที่ต้องรอคอยอยู่เฉยๆ นั้นหากได้ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์บ้าง ก็นับว่าเป็นเรื่องที่ดีกว่ามิใช่หรือ










Create Date : 12 กรกฎาคม 2551
Last Update : 19 ตุลาคม 2551 10:23:31 น. 2 comments
Counter : 13481 Pageviews.

 
อ่านแล้วมาสาระที่ดีมาก


โดย: จอย IP: 223.204.190.110 วันที่: 1 มีนาคม 2556 เวลา:12:21:55 น.  

 
ขอบคุณค่ะ มีสาระมาก ขอบคุณที่นำมาแบ่งปันนะคะ


โดย: Koy IP: 157.7.52.183 วันที่: 13 ธันวาคม 2560 เวลา:13:35:12 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

หงส์อรุณ
Location :
ราชบุรี Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add หงส์อรุณ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.