Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2551
 
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
8 ตุลาคม 2551
 
All Blogs
 

จิวยี่ – อาเคจิ มิตซึฮิเดะ : เพียบพร้อม...แต่ไม่บรรลุ



จิวยี่ – อาเคจิ มิตซึฮิเดะ : เพียบพร้อม...แต่ไม่บรรลุ




หมายเหตุก่อนอ่าน : หลังจากหายไปนาน เพราะการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความคิดที่ต้องใช้เวลามากมาย ก็ได้กลับมาเติบโตอีกครั้ง กับการเขียนบทความนี้ขึ้นมาสานต่อแนวคิดที่ได้ริเริ่มเอาไว้ ความหมายของเรื่องที่เขียนนี้ ออกจะมาจากมุมมองของเราที่ได้สัมผัสเรื่องราวของ “จิวยี่” ยอดแม่ทัพฝ่ายสามก๊ก และ “อาเคจิ มิตซึฮิเดะ” ขุนพลเอกฝ่ายเซ็นโกกุ ซึ่งได้จุดประกายความเห็นว่า ทั้งสองนั้นเป็นคู่เหมือนอยู่ต่างยุคประวัติศาสตร์ที่พ้องกันในเรื่อง “ความสมบูรณ์พร้อม” ของศักยภาพที่มีอยู่ในตนเอง แต่กลับ “ไม่สามารถบรรลุเป้าหมาย” ตามที่ตนปรารถนาได้ แม้ความปรารถนาของทั้งสองนั้นจะแตกต่างกัน แต่เมื่อพิจารณาลึกลงไปแล้ว กลับมีกระแสแห่งชีวิตที่สอดคล้องกันอย่างน่าอัศจรรย์ ซึ่ง ณ สิ่งนั้นเอง จึงเป็นที่มาของเรื่องราวที่จะได้กล่าวถึงดังต่อไปนี้



จิวยี่


สามก๊กให้ภาพที่คุ้นตาเกี่ยวกับ “จิวยี่” ไว้ด้วยรูปลักษณ์ที่งามสง่า มีความสามารถทั้งบุ๋นก็ได้ บู๊ก็ดี รอบรู้ในการทหารและยุทธพิชัย สามารถในดนตรีการอย่างหาผู้เทียบมิได้แห่งกังตั๋ง เป็นที่เคารพรักของเหล่าขุนนางและผู้ใต้บังคับบัญชา นับว่าเป็นขุนพลผู้ปรีชารอบด้านอย่างหาได้ยากยิ่งในยุคนั้นเลยทีเดียว



อาเคจิ มิตซึฮิเดะ


ประวัติศาสตร์เซ็นโกกุบันทึกไว้ว่า “อาเคจิ มิตซึฮิเดะ” เป็นชายหนุ่มหน้าตาดี มีความเฉลียวฉลาด เพลงดาบเป็นยอด รอบรู้ในการทหารและการปกครอง รวมถึงบทกวี กริยาท่าทาง คำพูด และการวางตัว เขายังได้รับการยกย่องอย่างสูง เป็นที่รักของเหล่าทหารและผู้ใต้สังกัด เรียกว่าเป็นซามูไรชั้นสูงที่มีความพร้อมทุกด้านอย่างที่หาได้ยากยิ่งทีเดียว



จากเนื้อความที่กล่าวถึงความเป็นตัวตนของเขาทั้งสอง จะเห็นได้ถึงภาพลักษณ์แห่งอุดมคติที่ดีพร้อม กล่าวได้ว่าถ้าพิจารณาในสายตาของหญิงสาว พวกเขานับเป็นชายชวนฝัน และถ้าพินิจในวิสัยทัศน์ของเหล่าผู้นำเขต , แคว้นต่างๆ แล้ว ก็ถือเป็นยอดขุนพลเนื้อหอม ที่น่าเก็บไว้ข้างกายอย่างยิ่ง

แต่ถึงกระนั้น จิวยี่ผู้ได้รับสมญานามว่า “สิงห์สำอางค์แห่งกองทัพเรือ” และต่อมายังได้รับการยกย่องว่า “ ผู้พิชิตเซ็กเพ็ก” ทั้งที่เพียบพร้อมสมบูรณ์แบบ แต่ดวงชีวิตเขากลับคล้ายคลึงกับโชคชะตาของ “อาเคจิ มิตซึฮิเดะ” ที่ได้รับกล่าวขวัญถึงว่า “โชกุน 13 วัน” ด้วยจุดแยกย่อย 7 ประเด็นที่เรามองเห็นเป็นดังนี้



1. มุมมองของความหวัง



เมื่อแรกเริ่มดำเนินการใหญ่ เพื่อรวมความเป็นหนึ่งเดียวในใต้หล้านั้น ในมุมมองของจิวยี่เต็มเปี่ยมไปด้วยความหวังว่า “ซุนเซ็ก” คือผู้เดียวผู้ที่เขาเล็งเห็นว่าน่าจะสามารถทำให้แผ่นดินอันเสื่อมทรามลงนั้น มีความเป็นเอกภาพและดำเนินไปอย่างถูกต้องตามที่ควรจะเกิดขึ้นได้ด้วยการนำทางของตระกูลซุน และด้วยความเชื่อมั่นที่จิวยี่มีต่อตัวซุนเซ็กถึงเพียงนั้นนั่นเอง จึงเป็นแรงบันดาลใจให้เขาเข้าร่วมกับซุนเซ็ก คอยเป็นแรงสนับสนุนซุนเซ็กมาโดยตลอด และแม้จะเป็นดั่งมิตรสหายสนิทสนมกันเพียงใด แต่จิวยี่ก็ให้ความเคารพนับถือซุนเซ็กในฐานะนายเหนือหัวอยู่เสมอ



จากความตอนหนึ่งที่ระบุว่า


“...กล่าวถึงมิสึฮิเดะ เดิมทีเขาเคยเป็นขุนนางใต้สังกัดของ “ไซโต้ โดสะ” และมีความสนิทสนมกับ “เจ้าหญิงโน” ภรรยาของโนบุนางะอยู่พอสมควร แต่เมื่อโดสะตายลง เขาก็ได้แยกตัวออกมาและเร่ร่อนไปเรื่อย จนกระทั่งเข้าไปทำงานรับใช้โยชิอากิในช่วงเวลาที่จนตรอกที่สุด...

โนบุนางะนั้นถูกใจมิสึฮิเดะและอยากได้ตัวเขามารับใช้นานแล้ว ตัวมิสึฮิเดะนั้นก็ต้องการจะเข้ามาทำงานให้โนบุนางะด้วย เพราะนับแต่สิ้นโดสะ คนที่เขามองว่าจะสามารถสยบความวุ่นวายและขึ้นครองความเป็นใหญ่ในแผ่นดินได้ ก็มีเพียงโนบุนางะเท่านั้น ดังนั้น การมาครั้งนี้ของมิสึฮิเดะ จึงมิใช่เพียงการมาเพื่อขอให้ช่วยเหลือโยชิอากิเท่านั้น แต่ยังเป็นการเข้ามาขอรับใช้ โดยนำเอาของขวัญชั้นยอดที่เรียกว่า โอกาสในการเข้าเมืองหลวงอย่างชอบธรรมมาประเคนให้แก่โนบุนางะด้วย….

การสร้างโอกาสของมิตสึฮิเดะนี้เอง คือการทำให้โนบุนางะเข้ามาสู่ศูนย์กลางการปกครองของญี่ปุ่นโดยสะดวกและชอบธรรม ทำให้โนบุนางะกลายเป็นจอมทัพผู้มีอำนาจในการพิทักษ์โชกุนและรัฐบาลอาชิคางะ ภายใต้การรับรองอย่างชอบธรรมจากองค์จักรพรรดิโองิมาจิ

นับเป็นผลงานชิ้นเอกของมิตสึฮิเดะ เขาได้รับศักดินา 1 แสนโกคุ และได้ปกครองดินแดนซากาโมโตะ ภายหลังยังได้ดินแดนทัมบะอีกด้วย และหลังจากนั้นเขาก็ยังสร้างผลงานในการศึกหลายต่อหลายครั้ง จนมิตสึฮิเดะได้รับความไว้วางใจอย่างสูงและกลายเป็นหนึ่งในแม่ทัพใหญ่ของตระกูลโอดะ”



ในจุดเหล่านี้ทำให้เห็นได้ว่า “อาเคจิ มิทซึฮิเดะ” นั้นมีวิสัยทัศน์มองการณ์ว่า “โอดะ โนบุนางะ” เป็นเพียงผู้เดียวที่จะทำให้ความหวังในการรวมแผ่นดินญี่ปุ่นที่แตกกระจายไปตามอำนาจของไดเมียวครองแคว้นต่างๆ นั้น กลับมารวมเป็นศูนย์กลางได้ ซึ่งเมื่อมองในสถานการณ์ยุคเซ็นโกกุแล้ว สิ่งที่จะเยียวยาบาดแผลทางความวุ่นวายด้านการเมืองการปกครองได้ ก็คงจะมีเพียงวิธีนี้ที่ดีที่สุด หากแต่นั่นไม่ใช่หนทางที่ง่ายดายเลยสักนิด การมองว่าใครเหมาะสมและสามารถที่จะทำการใหญ่เช่นนั้นได้ จึงต้องคิดพิจารณาอย่างรอบด้าน

ดังนั้น การที่ซามูไรคนหนึ่งตกลงใจจะมอบชีวิตให้เจ้านายคนหนึ่งคนใดเพื่อการใหญ่ ก็คงต้องผ่านความคิดกลั่นกรองมาในระดับหนึ่ง จึงกลายเป็นความหวังที่ฝังแน่นในจิตวิญญาณที่พร้อมจะทำงานเพื่อรับใช้คนผู้นั้นได้โดยสนิทใจ เพราะเหตุว่า การเป็น “ซามูไร” ในความหมายของคำนี้ ก็คือ “การรับใช้” เจ้านายที่ตนได้เลือกแล้วนั่นเอง

เราจะเห็นได้ว่าทั้งจิวยี่และมิทซึฮิเดะ เริ่มที่จะมอบแรงกาย แรงใจ และแรงสติปัญญา เพื่อผู้ใดผู้หนึ่งที่พวกเขาปักใจเชื่อว่า เป็นผู้ที่จะกอบกู้ยุคสมัยที่ผกผันทางการเมืองให้สงบสุขได้ แม้ว่าเหตุผลและเหตุการณ์ในการเข้ามารับใช้คนผู้นั้นของทั้งสองออกจะต่างกัน แต่ “ความมุ่งหวัง” ในการมีเจ้านายของทั้งสองนั้น กลับเป็นไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือ “การมองว่าพวกเขาจะได้ช่วยเหลือเจ้านาย เพื่อการนำแผ่นดินอันสับสนว้าวุ่นนี้ไปสู่วิถีที่ถูกต้องเหมาะสมอย่างที่ควรจะเป็น”

และเพราะความหวังนั้นเอง จึงเป็นที่มาของเหตุการณ์ที่แปรผันวิถีชีวิตของพวกเขาไปอย่างมากมาย และนำมาซึ่งความกดดันอย่างท่วมท้น ซึ่งตัวเราเองที่ได้อ่านเรื่องราวของพวกเขาก็รู้สึกถึงชะตากรรมของทั้งคู่ว่าเป็นเช่นนี้จริงๆ เพราะเหตุว่าการเข้ามาสู่วิถีการเมืองนั้น นั่นหมายความว่ามันเป็นหนทางที่ไม่ได้ปูด้วยพรมนุ่มนวลและมิได้โรยด้วยกลีบกุหลาบอย่างแน่นอน



2. ความเป็นไปในหนทางที่เลือกแล้ว


“ เมื่อมีเกิด ย่อมมีดับไปเป็นธรรมดา ”


ความหวัง , ความฝันก็เช่นกัน สิ่งที่จิวยี่คิดร่วมกันกับซุนเซ็กต้องมีอันสั่นคลอน เพราะเหตุว่าธรรมชาติแห่งความตาย ได้มาเยือนซุนเซ็กอย่างกระทันหันก่อนวัยอันควร ในวันที่ความหวังรวมแผ่นดินต้องหรุบร่วงวูบลง ใครเล่าจักรู้ว่าจิวยี่นั้นท้อแท้เพียงใด เพราะสิ่งที่ก่อตั้งร่วมกันมากับเจ้านายและเตรียมพร้อมอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน กลับต้องมีอันเลื่อนออกไปอย่างไม่อาจจะทราบกำหนดการได้แน่ชัด

เหตุว่าเมื่อสิ้นซุนเซ็กแล้ว แม้จะมีทายาทสืบต่อตำแหน่งซุนเซ็ก ซึ่งก็คือ “ซุนกวน” แต่ในภาวการณ์ขณะนั้น วัยวุฒิของซุนกวนน้อยยังไม่สามารถจะทำการใหญ่ได้ทันที ซึ่งหมายความว่าจิวยี่ต้องกัดฟันเลี้ยงเจ้านายน้อยต่อไปอีกหลายปี กว่าที่ซุนกวนจะสามารถเทียบทันหรือเหนือกว่าซุนเซ็กผู้พี่ เพื่อสืบสานงานใหญ่ต่อไปได้

กระบวนการบ่มเพาะผู้นำวัยเยาว์ และเตรียมพร้อมกองทัพให้เข้มแข็ง จึงเป็นเพียงสิ่งเดียว ที่จิวยี่สามารถจะกระทำได้ เพื่อฆ่าเวลาแทนที่จะต้องมานั่งเศร้าท้อแท้กับความหวังที่เลือนวูบลงไปพร้อมกับชีวิตของซุนเซ็กอย่างเปล่าดาย ซึ่งเมื่อคิดในด้านที่ว่า มันเป็นความหวังของคนหนุ่มไฟแรงที่กักเก็บความสามารถรอบด้านไว้อย่างเต็มเปี่ยมแล้วล่ะก็ ต้องถือว่าจิวยี่มีความอดทนอย่างมาก และอดทนรออย่างใจจดจ่อเลยทีเดียว เพราะการใหญ่รวมใต้หล้าเป็นหนึ่งเดียวนั้น คือภารกิจอันเร่าร้อน รีบเร่ง และเป็นเรื่องด่วน สำหรับผู้ที่เปี่ยมล้นด้วยความปรารถนาอันแรงกล้าต่อการเปลี่ยนแปลงยุคสมัยเช่นสามก๊กนี้นั่นเอง

ความหวังที่ “อาเคจิ มิทซึฮิเดะ” เคยมุ่งหมายไว้กับ “โอดะ โนบุนางะ” ต้องมีอันดำเนินไปสู่จุดพลิกผัน เมื่อภาพฝันของมิตซึฮิเดะนั้น เต็มไปด้วยตราบาปที่หนักหน่วงและทับถมมากขึ้นทุกทีอย่างที่ตนเองก็ไม่อาจจะต่อต้านแข็งข้อได้ เพราะเหตุว่า “โอดะ โนบุนางะ” นั้นเป็นคนโหดเหี้ยมอำมหิต ความคิดเดียวของเขาในการได้ชัยชนะเด็ดขาด ก็คือการทำลายล้างศัตรู ซึ่งอาจเรียกได้ว่าในขณะที่จิวยี่ผิดหวังเพราะการด่วนจากไปของซุนเซ็ก มิตซึฮิเดะเองก็เริ่มมีความผิดหวังในด้านที่โนบุนางะผู้เป็นนาย...ยังคงมีชีวิตอยู่...หากแต่ในมุมมองของมิทซึฮิเดะแล้ว ! เป็นการมีชีวิตอยู่ที่ดำรงไว้แต่ความตายด้านทางศีลธรรมมากขึ้นทุกที ดังที่มีการกล่าวถึงจุดนี้ด้วยถ้อยความว่า



“โดยธาตุแท้แล้ว มิตสึฮิเดะเป็นคนที่รักสงบและไม่ปรารถนาการฆ่าฟัน การที่เขายอมรับใช้โนบุนางะผู้มีความเหี้ยมโหด นั่นก็เพราะเขาเล็งเห็นว่าโนบุนางะเป็นเพียงผู้เดียวที่จะสามารถสยบความวุ่นวายและการนองเลือดในแผ่นดินที่มีมากกว่าหลายสิบปีให้สงบลงได้ แต่ยิ่งนับวัน การทำศึกของโนบุนางะก็รุนแรงและโหดเหี้ยมมากขึ้นทุกที เนื่องจากโนบุนางะไม่มีความเมตตาหรือความเห็นใจต่อศัตรู ไม่ว่าจะเด็ก สตรี คนชรา หากเป็นศัตรูเขาก็พร้อมจะสังหารทุกเมื่อ

โดยเฉพาะในการศึกกับพวกกลุ่มจลาจลอิกโกะ ซึ่งทวีความรุนแรงขึ้นทุกปีนั้น ทำให้ชีวิตของเด็ก และสตรี จำนวนมากต้องล้มตายลง เนื่องด้วยโนบุนางะสั่งสังหารคนกลุ่มนี้อย่างเหี้ยมโหด เพราะไม่ต้องการให้มีกำลังเหลือพอที่จะต่อต้านเขาได้อีก และเนื่องจากมิตสึฮิเดะนั้นเป็นผู้ที่นับถือศาสนาพุทธอย่างเคร่งครัดคนหนึ่ง เขาจึงไม่เห็นด้วยนักกับความรุนแรงของโนบุนางะต่อพวกจลาจลซึ่งก็เป็นชาวพุทธเช่นกัน แต่เขาก็ไม่อาจทำอะไรได้นัก และจำต้องทำตามคำสั่งของโนบุนางะ ในการปราบพวกจลาจลด้วย แต่ก็ราวกับโนบุนางะจะรู้ความคิดของมิตสึฮิเดะ ในการปราบปรามพวกจลาจลแต่ละครั้ง มิตสึฮิเดะไม่ค่อยจะได้รับหน้าที่ตรงนี้เท่าไร ส่วนใหญ่แล้วคนที่ออกปราบพวกจลาจลมักจะเป็นคัตสึอิเอะ ฮิเดโยชิ นากาฮิเดะ และลูกชายคนโตของโนบุนางะอย่างโนบุฮิเดะ เป็นส่วนใหญ่

ดังนั้นเมื่อมิตสึฮิเดะได้รับมอบหมายให้เข้าตีปราสาทยางามิในครั้งนี้ เขาจึงตั้งใจจะใช้วิธีการสันติ เพื่อหลีกเลี่ยงการนองเลือด โดยมิตสึฮิเดะถึงกับลงทุนยอมส่งตัวมารดาของตนเองไปเป็นตัวประกันในปราสาทยางามิ เพื่อแลกกับการให้ฮิเดฮารุและเหล่าข้ารับใช้ยอมสวามิภักดิ์ต่อโนบุนางะ

แต่การณ์กลับผิดคาด ในประวัติศาสตร์บันทึกเรื่องตรงนี้ไว้ว่า โนบุนางะผิดสัญญา ด้วยการสั่งประหารเหล่าขุนนางของฮิเดฮารุที่เข้ามาสวามิภักดิ์จนหมดสิ้น และสั่งยกทัพเข้าตีปราสาทยางามิ ซึ่งนั่นทำให้มารดาของมิตสึฮิเดะที่ถูกจับตัวไว้ที่ปราสาทยางามิต้องถูกสังหารไปด้วย

มิตสึฮิเดะโกรธแค้นโนบุนางะในเรื่องนี้มาก และจำฝังใจโดยไม่รู้ลืม ซึ่งมีสิ่งน่าสนใจตรงจุดนี้อยู่ เพราะบางเกร็ดก็เล่าว่า เป็นทางฝ่ายฮิเดฮารุที่ไม่คิดจะสวามิภักดิ์แต่แรกแล้ว แต่แสร้งทำเป็นยอมแล้วคิดจะหาโอกาสสังหารโนบุนางะเมื่อเข้ามาถึงตัว แต่โนบุนางะรู้ทันจึงชิงสั่งประหารก่อน จึงเท่ากับว่ามิตสึฮิเดะถูกฝ่ายฮิเดฮารุหลอก ซึ่งก็มีนักประวัติศาสตร์บางส่วนให้การสนับสนุนข้อหลัง เพราะโนบุนางะก็รู้ดีว่ามารดาของมิตสึฮิเดะนั้นเป็นตัวประกันในการเจรจาครั้งนี้ หากสั่งประหารคนของฮิเดฮารุจนหมด มารดาของมิตสึฮิเดะต้องตายแน่ ซึ่งการทำเช่นนั้นกับผู้ใต้บังคับบัญชาคนสำคัญอย่างมิตสึฮิเดะ ก็นับว่าเป็นเรื่องที่โหดร้ายจนเกินไปและไม่สมเหตุผลเท่าไร เพราะถึงแม้ว่าจะเกิดเรื่องเช่นนี้ขึ้นมา โนบุนางะก็ยังคงช่วงใช้งานมิตสึฮิเดะอยู่

แต่กระนั้น ความไม่พอใจและความแค้นที่ถูกสะสมไว้ก็รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และเมื่อมันปะทุออกมา ก็ถึงขั้นทำให้หน้าประวัติศาสตร์ต้องพลิกโฉมทีเดียว ”



ในจุดนี้ ชี้ให้ถึงความผิดหวังของมิทซึฮิเดะ ทั้งที่เขาปรารถนาแผ่นดินที่เป็นหนึ่งเดียวกันอย่างสงบสุข แต่การที่เขาเลือกรับใช้โนบุนางะกลับกลายเป็นศรย้อนกลับมาทำร้ายตัวเขาเสียเอง ทั้งเรื่องสูญเสียมารดาและความรู้สึกผิดบาปที่เกิดขึ้นจากการสังหารหมู่อย่างโหดเหี้ยมอำมหิตนั้น คงเป็นฝันร้ายที่ยากจะลบเลือนไปจากแผลใจของมิตสึฮิเดะได้ ซึ่งมิตสึฮิเดะที่ต้องทนอยู่ร่วมทัพกับโนบุนางะมาได้ถึงเพียงนั้น อาจจะกล้ำกลืนฝืนทนโดยพยายามที่จะคิดอยู่เสมอถึงหลักการที่ว่า



“....ไม่มีไดเมียวคนใดที่ประสบความสำเร็จ
หากไม่มีส่วนของความโหดเหี้ยม…”


จริงอยู่ว่าทั้งความผิดหวัง , ท้อแท้ และการอดทนในช่วงเวลาคับขันเช่นนี้ ทั้งฝ่ายจิวยี่และมิทซึฮิเดะ แม้จะดำเนินไปในทิศทางที่คล้ายกัน แต่กลับต่างระดับกันมาก จิวยี่นั้นเขาออกจะผิดหวังเพียงแค่สูญเสียเจ้านายคนเดิมไป แล้วต้องอดทนรอคอยความพร้อมของเจ้านายคนใหม่ หากแต่มิตซึฮิเดะนั้น เขาต้องผิดหวังท้อแท้ เพราะเรื่องร้ายแรงที่เกิดขึ้นกับตนเองนั้นเป็นผลกระทบทางจิตใจในระยะยาว ที่ทวีความกดดันขึ้นทุกเมื่อ และความอดทนของเขาก็ค่อนข้างทุกข์ระทมอยู่มากมายเลยทีเดียว เหตุว่าการอยู่กับผู้ที่ตนปักใจเชื่อในเนื้อแท้ว่าเลวร้ายยิ่งแล้ว ช่างอึดอัดยากที่จะภาคภูมิใจได้เป็นปกติสุข แต่การที่มดสักตัวหนึ่งจะกัดทำลายช้างได้ทั้งตัว ย่อมไม่อาจทำได้ในชั่วพริบตาเดียว และแม้จะอาศัยระยะเวลา ก็ยังยากนักที่จะลงมือได้อยู่ดี



3. หนทางใหม่ที่เริ่มขึ้น



“ ความหวัง ... สามารถสรรค์สร้างสิ่งต่างๆ ได้
ความผิดหวัง ...ก็สามารถสรรค์สร้างสิ่งต่างๆ ที่ต่างออกไปได้เช่นกัน ”


ในวันที่เริ่มรู้สึกว่าความหวังฟื้นฟูกลับมาอีกครั้ง คงเป็นวันที่จิวยี่ได้ประจักษ์ว่า ความหวังครั้งใหม่เบ่งบานขึ้นมาตามวัยของซุนกวนที่รู้รับผิดชอบในฐานะผู้นำแห่งแคว้นมากยิ่งขึ้น ซุนกวนมิใช่เด็กๆ ในวันวานที่ชวนให้น่าห่วงทุกกระเบียดนิ้วอีกต่อไป เขาเริ่มเรียนรู้บทบาทตนเองจนพร้อมแล้ว ที่จะสานฝันและมอบแสงแห่งความหวังในการรวมแผ่นดินให้กับผู้ใต้บังคับบัญชาทุกคน นั่นคือสัญญาณที่ว่า จิวยี่ได้พบความหวังครั้งใหม่จากซุนกวนแล้ว และเขาเองก็คงภาคภูมิที่จะได้ร่วมด้วยช่วยกันสร้างวันแห่งชัยชนะ ที่มิอาจสำเร็จได้เมื่อครั้งซุนเซ็กยังมีชีวิตอยู่ ประกายไฟของชายหนุ่ม ณ ช่วงนี้ จึงโชติช่วงยินดีและเตรียมพร้อมที่จะแผ่ขยายความร้อนแรงไปในสารทิศต่างๆ ใต้หล้านั้นอย่างแกร่งกล้า กล่าวได้อย่างหนึ่งว่า “ เวลานี้ที่ข้ารอคอย ...ได้มาถึงแล้ว! ”

หลังจาก “อาเคจิ มิตสึฮิเดะ” สูญเสียมารดาไปได้สามปีแล้ว แม้ความสัมพันธ์ระหว่างโนบุนางะและมิตสึฮิเดะ จะยังราวกับว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่ลึกๆ ในใจมิทซึฮิเดะแล้ว คงเหมือนบาดแผลร้าวลึกที่ไม่อาจลบเลือนได้ บวกกับอากัปกิริยาบางประการที่โอดะไม่ใคร่จะให้เกียรติเขาในบางครั้ง ( อย่างเช่นการจับมิทซิฮิเดะล็อคคอแล้วใช้ด้ามพัดตีศรีษะกลางงานเลี้ยง เป็นต้น ) และเมื่อความแค้นครุกกรุ่นหนักเข้า ก็ได้ดำเนินมาถึงขั้นแตกหัก นั่นก็คือปมของเหตุการณ์ที่ว่า...



“...มีรายงานแจ้งเข้ามาถึงการเคลื่อนไหวของทางโมริ ซึ่งฮิเดโยชิกำลังลำบากอย่างหนักและอาจจะต้านทานไม่อยู่ โนบุนางะจึงคิดจะส่งกำลังหนุนไปช่วย โดยสั่งให้มิตสึฮิเดะไปเตรียมทัพของตนเพื่อออกศึก และขอริบดินแดนซากาโมโตะ และทัมบะซึ่งเป็นดินแดนในปกครองของมิตสึฮิเดะทั้งหมดคืนมา และสั่งว่าหากมิตสึฮิเดะสามารถตีโมริแตกได้ ก็จะมอบดินแดนทั้งหมดของโมริ ซึ่งก็คืออิสึโมะให้แก่มิตสึฮิเดะ

การสั่งการของโนบุนางะในครั้งนี้ค่อนข้างแปลกพิสดาร เพราะการที่ริบดินแดนคืนก่อนที่แม่ทัพผู้นั้นจะออกศึก ก็เท่ากับว่าไม่มีปราสาทและดินแดนให้ครอบครัวและผู้คนของแม่ทัพผู้นั้นอยู่อาศัย มิตสึฮิเดะไม่มีทางเลือกนอกจากต้องพาครอบครัวทั้งหมดของตนและของผู้ใต้บังคับบัญชากว่าหมื่นชีวิตเคลื่อนย้ายไปยังสนามรบด้วย

คำสั่งของโนบุนางะในครั้งนี้เปรียบเสมือนฟางเส้นสุดท้ายที่บีบจนมิตสึฮิเดะหมดทางเลือก เนื่องจาก 3 ปีมานี้ เขายังคงเจ็บแค้นโนบุนางะในเรื่องการตายของแม่ตนมาตลอด เมื่อรวมกับความรู้สึกที่อยากให้บ้านเมืองสันติของตัวเขาด้วยแล้ว หากยังปล่อยให้โนบุนางะซึ่งมีแต่จะเหี้ยมโหดขึ้นทุกวันมีชีวิตต่อไปละก็ แผ่นดินคงนองเลือดไม่จบสิ้น…”



คำสั่งของโอดะ โนบุนางะ ที่ช่วงใช้งานมิทซึฮิเดะให้ไปทำศึกกับกองทัพโมริ ดูเหมือนจะเป็นคำบัญชาผสมการแกล้ง หรือจะด้วยหมายบีบให้มิตซึฮิเดะเอาชัยได้โดยเด็ดขาดก็ตาม แต่ ! การที่ตั้งเงื่อนไขแสนโหดร้ายเช่นนี้ ไม่เพียงแต่มิตซึเดะและครอบครัวเขาเท่านั้นที่ต้องเดือดร้อน แม้แต่ผู้บริสุทธิ์ที่อยู่ในความปกครองของมิทซึฮิเดะก็ต้องพลอยได้รับผลกระทบไปด้วย ( จุดนี้คล้ายสามก๊กตอนเล่าปี่อพยพข้ามน้ำหน่อยๆ แฮะ ที่ว่าพาครัวเรือนราษฎรไปปะปนในกองทัพแล้วเคลื่อนพลหนีโจโฉ จนเกิดวีรกรรมจูล่งฝ่าทัพรับอาเต๊านั่นน่ะ ก็ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงๆ เท่ากับว่า ชาวบ้านคนธรรมดาต้องไปพัวพันอยู่กลางสนามรบด้วย ซึ่งก็อันตรายอยู่มากๆ เลยนะนี่ )

แม้ทั้งจิวยี่และมิตสึฮิเดะต่างก็เริ่มค้นพบหนทางใหม่ที่ดีกว่าอยู่ในใจของตนเองกันแล้ว จะว่าคล้ายกันก็เพียงเป็นการเกิดกระแสความหวังใหม่เหมือนกันเท่านั้น หากแต่พิกัดแห่งการดำเนินไปบนหนทางใหม่ที่ตัดสินใจและไว้วางใจจะเลือกแล้วนั้น มีความมืดและความสว่างไม่เท่ากันนัก เหตุเพราะความหวังของจิวยี่นั้นมองดูแล้วสดใสและสว่างสุขอยู่บ้าง ในขณะที่มิตสึฮิเดะเองคงต้องผจญกับปมในใจอย่างตีบตันและถูกกดดันเป็นอย่างมาก ซึ่งเมื่อพิจารณาจากวิสัยความรักสันติและความรับผิดชอบสูงของมิทฮิเดะแล้ว การกระทำเช่นนี้ของโอดะเท่ากับเป็นเรื่องที่ยากจะยอมรับได้โดยดุษฎี คำสั่งแบบนี้ แม้มันจะมีพลานุภาพกดดันให้เอาชนะข้าศึกมาให้ได้ แต่ในขณะเดียวมันก็มีอำนาจบั่นทอนกำลังใจได้ไม่แพ้กัน แต่ช่างเป็นประเด็นที่ยากนักจะวิพากษ์ได้ว่า เหตุใดโนบุนางะจึงสั่งการออกไปเช่นนี้ เขาไม่รู้เลยหรือว่ามันเปรียบได้กับดาบสองคม หรือเขาจะล่วงรู้ในความไม่พอใจที่ฝังอยู่ลึกๆ ในใจของมิทซึฮิเดะ จึงตัดเยื่อใยด้วยคำสั่งการเช่นนี้ แต่ไม่ว่าประเด็นใดก็ตาม ที่สุดก็แน่ชัดว่า จุดนี้กลายเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพลิกวิถีทางการเมืองใหม่อย่างไม่มีใครในแผ่นดินเคยคาดคิดมาก่อน นั่นคือ “ การก่อกบฏต่อโอดะของมิตซึฮิเดะ ”




และผลลัพธ์ ของเหตุการณ์ตอนนี้
จึงเป็นที่มาของเรื่องราวสะเทือนแผ่นดินในประเด็นดังที่กล่าวได้ต่อไปว่า….


4. ชายผู้ทำสิ่งที่เป็นไปได้ยากยิ่ง ให้เกิดขึ้นจริงได้



ปฐมบทแห่งศึกเซ็กเพ็กนั้น ความอลังการงานสร้างเพื่อเน้นย้ำความยิ่งใหญ่ของศึกนี้ คงไม่พ้นการแสดงถึงแสนยานุภาพของกองทัพโจโฉที่มีจำนวนพลทหารตระการตาเป็นยิ่งนัก และเมื่อย้อนข้ามฟากมาทางกังตั๋งของจิวยี่แล้ว พละกำลังก็ช่างแตกต่างกันอยู่อย่างเด่นชัดเลยทีเดียว

ด้วยเหตุว่าการเทียบจิวยี่กับมิตสึฮิเดะนั้น ส่วนใหญ่ข้อมูลทางฝ่ายมิตสึฮิเดะจะเป็นประวัติศาสตร์เสียมาก การกล่าวถึงจิวยี่ให้กลมกลืนกันกับประวัติของมิตสึฮิเดะ ก็จึงต้องใช้วิจารณญาณหลายแง่มุมเข้ามาช่วย ดังนั้นเราจึงข้อข้ามรายละเอียดปลีกย่อยที่ว่ากลการศึก หรือก็คือไม่ขอกล่าวถึงฉากสงครามของตอนนี้ แต่คงมุ่งไปที่ผลลัพธ์ของการศึกครั้งนี้เป็นสำคัญ นั่นคือไม่ว่าประวัติศาสตร์หรือวรรณกรรม เรื่องของศึกเซ็กเพ็กก็จบลงตรงที่โจโฉถอยทัพกลับไปนั่นเอง ซึ่งขออนุมานจากจุดนี้ว่า การที่โจโฉถอยทัพกลับไป เท่ากับว่าโจโฉเป็นผู้พ่ายยุทธการผาแดงครั้งนี้แล้ว และนั่นก็กลายเป็นตำนานที่ผลักดันให้นามของจิวยี่มีบทบาทเด่นขึ้นมาในหน้าประวัติศาสตร์ เพราะแม้ว่าจะมีข้อกังขาว่าจิวยี่มิได้ออกรบกับโจโฉถึงขั้นที่วรรณกรรมระบุไว้ แต่หากคิดในด้านว่าเป็นหน้าที่หลักของแม่ทัพในการตรึงกำลังเพื่อรักษาเอกราชของแคว้นแล้ว เขาก็คือผู้ครองชัยชนะจากการที่โจโฉถอยทัพกลับไปได้ และการมีชัยแก่กองพลมหึมากว่าเช่นนั้นย่อมเป็นที่โจษจันดังหนึ่งว่าเป็นการ “ ทำสิ่งที่ยาก ให้เป็นจริงได้ ” นั่นเอง

กล่าวถึงมิตสึฮิเดะนั้น เมื่อเขาตัดสินใจทรยศโนบุนางะแล้ว การเด็ดศรีษะโนบุนางะให้ได้คงเป็นเป้าหมายสำคัญอันดับหนึ่ง ที่เขาต้องวางแผนการอย่างรัดกุมรอบคอบเลยทีเดียว และแผนการก็เริ่มขึ้นที่เกียวโต โดยการเริ่มทำทีเป็นปฏิบัติตามคำสั่งของโนบุนางะ แสร้งเคลื่อนพลไปยังโมริ โดยใช้ยามวิกาลเป็นม่านกำบังจำนวนที่แท้จริง หากแต่กองกำลังหลักได้เฝ้ารอโอกาสโจมตีโนบุนางะอยู่แล้ว เมื่อมิตสึฮิเดะทราบแน่ชัดแล้วว่าโนบุนางะจะเข้าพักที่วัดฮอนโนจิพร้อมกับกองกำลังอารักขาเพียงน้อยนิดและปราศจากขุนพลอยู่เคียงข้าง มิตสึฮิเดะจึงสั่งการโจมตีแบบสายฟ้าแลบ ( เอาแบบรวดเร็วทันทีไว้ก่อนสินะ ) ส่วนทางโนบุทาดะ บุตรชายคนโตของโนบุนางะได้นำกองกำลังออกไปยังปราสาทกิฟุแล้ว และแม้เขาจะทราบเรื่องการโจมตีนี้ ก็ไม่อาจย้อนกลับมาช่วยพ่อได้ทัน ซึ่งจุดนี้สร้างความเสียใจแก่โนบุทาดะมากถึงขั้นปลิดชีพตนเองลง

ในประเด็นการตายของโนบุนางะมีหลากหลายอย่าง อาทิ ถูกฆ่าเผาในวัดฮอนโนจิจนเป็นเถ้าถ่านด้วยวัยเพียง 49 ปี หรือไม่ก็ระบุว่าเขาตัดสินใจฮาราคิรีตนเองก่อนถูกมือสังหารลอบเข้ามา แล้วฝากหัวไว้ให้ “โมริ รันมารุ” เด็กรับใช้ข้างกายเป็นผู้ดูแล ( อาจเพราะไม่ต้องการให้ศพส่วนหัว [อวัยวะเบื้องสูง] ถูกกระทำย่ำยีโดยศัตรู ) ไม่ก็ว่าเขาถูกสั่งล้อมยิงด้วย “ปืนคาบศิลา” อาวุธที่เขาพัฒนาใช้ในกองทัพอย่างภาคภูมิมาโดยตลอด ในวันที่ 21 มิถุนายน 1582 บางที่ก็ยังว่า แม้แต่ “โมริ รันมารุ” ก็เอาหัวของโนบุนางะไปไหนไม่รอด ตายตกไปตามนายแถวๆ วัดฮอนโนจิ หรือที่ไหนสักแห่งหนึ่ง

ประเด็นเหล่านี้ก็มากมายเสียจนยากจะเชื่อว่าอันไหนจริงชัดแน่ แต่ ! …. นี่เราเน้นเรื่องมิตซึฮิเดะอยู่นี่นา เอาเป็นว่าสุดท้ายแล้ว แผนการของมิตซึฮิเดะก็สามารถลบล้างชื่อผู้มีชีวิตอย่าง “โอดะ โนบุนางะ” ออกจากหน้ากระดาษประวัติศาสตร์เซ็นโกกุนับจากนี้ไปได้ก็แล้วกัน ซึ่ง ณ เหตุการณ์นี้ ไม่ว่าที่แห่งใดก็ล้วนกล่าวขวัญทำนองเดียวกันว่า เป็นเรื่องสะเทือนฟ้าสะท้านแผ่นดินอย่างที่สุดในประวัติศาสตร์เซ็นโกกุเลยทีเดียว เพราะการล้มล้าง “โอดะ โนบุนางะ “ ลงให้ได้นั้น นับเป็นฝันหวานของศัตรูหลายคนหลากกลุ่ม แต่ที่ผ่านมา มันยุติได้เพียงเป็นความฝัน เพราะไม่มีใครมีฝีมือและดวงชีวิตแข็งพอที่จะทำให้มันเป็นจริงขึ้นมาได้ แล้ว ณ วันนั้น ใครเล่าจะคาดคิดบ้างว่า “ อาเคจิ มิตสึฮิเดะ ” บุรุษหน้ามนคนหล่อผู้นี้ จะสามารถทำให้ฝันกลางวันของหลายๆ คน กลับกลายเป็นจริงขึ้นมาได้ ด้วยน้ำมือของตน อันขึ้นชื่อได้ว่าเป็นหนึ่งในแม่ทัพใหญ่ของฝ่ายโนบุนางะเองด้วย

ในประเด็นนี้ จึงแน่ชัดว่า “อาเคจิ มิตสึฮิเดะ” นั้นคือ “ชายผู้ทำสิ่งที่ยากยิ่ง ให้เกิดขึ้นได้จริง” อย่างมิต้องสงสัย ซึ่งแม้เทียบกับกรณีจิวยี่แล้ว จิวยี่อาจเป็นรายที่ไม่เทียบเท่าผลลัพธ์จากการต่อสู้ของมิตสึฮิเดะ เพราะเขาเพียงแค่มีชัยกับโจโฉ แต่ยังมิถึงขั้นเอาชีวิตได้ แต่ทั้งสองปรากฏการณ์นับได้ว่าเป็นช่วงเวลาอันเป็นที่สุดในช่วงชีวิตของบุคคลทั้งสองแล้วนั่นเอง เพราะเป็นจุดปะทุความโด่งดัง ที่ทำให้ประวัติศาสตร์สองชนชาตินั้น ต่างมิอาจลืมเลือนสิ่งที่พวกเขาทำได้สำเร็จ แม้ว่าความสำเร็จนั้น อาจจะยังมิใช่ปลายทางแห่งความปรารถนาขั้นสูงสุดของพวกเขาทั้งสองก็ตามที



5. ปณิธานที่สูญสิ้นไปในดวงไฟแห่งชีวิต



ปณิธานหรือก็คือความหวังที่ตั้งมั่นมาตลอดชีวิตของจิวยี่นั้น คือการสนับสนุนตระกูลซุนให้สามารถรวมแผ่นดินเป็นหนึ่งเดียว ปกครองทั่วหล้าอย่างผาสุก แต่ทว่าการตรากตรำกรำงานหนักและรับภาระอันหนักอึ้งไว้อย่างมากมาย ได้บั่นทอนแรงกายที่ยังนับว่าหนุ่มแน่นให้พลันอ่อนแอ เสื่อมถอยลงเร็วกว่ากำหนดปกติ จนถึงที่สุดเมื่อเหตุการณ์แห่งธรรมชาติที่เคยเกิดขึ้นกับซุนเซ็กเมื่อนานมาแล้ว ก็ได้มาบรรจบเกิดขึ้นกับจิวยี่อีกคนหนึ่ง ซึ่งนับเป็นการสูญเสียแม่ทัพใหญ่คนสำคัญแห่งกังตั๋งเลยทีเดียว

กล่าวได้ว่า “ความหวัง” ของคนเรานั้น คือ การดิ้นรนปรารถนาจะข้ามถึงอีกฟากหนึ่งซึ่งเป็นเส้นชัยแห่งจุดหมาย แต่ธรรมชาติอันชื่อว่า “ความตาย” นั้น คือ ห้วงมหรรณพที่ไพศาลเกินกว่าจะฝ่าข้ามไปได้ ผู้คนล้วนมีปณิธานแห่งความหวังอันต่างกัน และจะสำเร็จมากน้อยเพียงใดนั้น ต้องอาศัยเงื่อนไขประกอบเข้าด้วยกันอย่างมากมาย หนึ่งในนั้นก็รวมถึง “ระยะเวลา” ด้วยเช่นกัน หากแต่ “เวลา” ของจิวยี่ มาถึงได้เพียงเท่านี้ และหากต้องการให้ “ความหวัง” เป็นจริงได้ คงมีเพียงแต่ต้องมีผู้รับช่วงความหวังนั้นไปดำเนินการต่อไปแทน แม้จะคิดไปเช่นนี้ ทว่า ... จิวยี่ก็คงไม่ได้มองเห็นสิ่งที่เป็นความปรารถนาสูงสุดของตนเองประสบความสำเร็จได้อยู่ดี ไม่ว่าใครจะสืบทอดรับเจตนารมณ์ของเขาไปก็ตาม เพราะดวงตาคู่นั้นได้ปิดลงชั่วนิจนิรันดร์แล้ว ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของผู้นำเรืองนามอีกมากมาย ที่ต้องจากไปในขณะที่ยังไม่อาจได้เห็นความรุ่งเรืองของสิ่งที่ตนบ่มเพาะสรรค์สร้างมาเมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่ เสมือนหว่านเมล็ดพันธุ์ไว้ก่อนสิ้นลม เมื่อเติบใหญ่แกร่งกล้า มากล้นดอกผล ผู้โปรยเมล็ดพันธุ์นั้น ก็กลายสภาพเป็นสารอินทรีย์แห่งพิภพไปเสียแล้ว นั่นเป็นเรื่องน่าเศร้าอีกบทหนึ่งที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในประวัติศาสตร์อย่างไม่อาจจะเลี่ยงได้ จิวยี่ก็เช่นกัน การจากไปของเขา บางครั้งก็ยังเป็นหนึ่งในความทรงจำของฝ่ายตรงข้าม และเมื่อถึงเวลาของฝ่ายนั้น เขาเองก็มีวิถีสุดท้ายที่คล้ายกันกับจิวยี่เหมือนเป็นชะตากลั่นแกล้งก็มิผิดเพี้ยนเท่าใดนัก

ย้อนมาถึงประเด็นเรื่อราวของ “อาเคจิ มิตซึฮิเดะ” เมื่อข่าวการทรยศของ อาเคจิ มิตสึฮิเดะไปถึง “โทโยโทมิ ฮิเดโยชิ ” ( ขุนพลเอกอีกคนหนึ่งของโนบุนางะ ) เขารีบเจรจาขอสงบศึกกับพวกโมริทันที จากนั้นก็เดินทัพเข้าสู่เกียวโต ในขณะนั้น มิตสึฮิเดะกำลังทำตามธรรมเนียมนิยมในยุคนั้นด้วยการไล่เข่นฆ่าเครือญาติทุกคนของโนบุนางะที่เขาสามารถจะหาตัวพบ “โตกุกาว่า อิเอยาสึ” หลบซ่อนตัว และปราสาทอาซึจิ อันอลังการก็ถูกเผาราบคาบ ซึ่งอาจจะไม่ใช่ฝีมือของมิตสึฮิเดะก็ได้ หลายวันต่อมา ยุคของโชกุนอาเคจิก็จบสิ้น เมื่อฮิเดโยชิพร้อมด้วยกำลังหนุนของโนบุทากะ บุตรชายคนที่สามของโนบุนางะชูธงแก้แค้นให้โนบุนางะและผนวกกำลังเข้าโจมตีมิตสึฮิเดะ อันเป็นที่มาของศึกยามาซากิ

จากการที่กองทัพของฮิเดโยชิมีกำลังพลมากกว่ามิตสึฮิเดะ และไม่ได้บอบช้ำมาจากการสู้รบกับพวกโมริอย่างที่เคยมีรายงานแจ้งขอกำลังเสริมต่อโนบุนางะมาก่อนหน้านี้ เพราะช่วงก่อนมิตซึฮิเดะจะก่อกบฏ ฮิเดโยชิเพียงแค่สั่งการให้ตรึงกำลังดูท่าทีของโมริเท่านั้น ไม่ได้มีการรบพุ่งตะลุมบอนกันเท่าใดนัก ( นี่แสดงว่ามันโกหกและคาดการณ์หวังตลบหลังมิตสึฮิเดะไว้ก่อนแล้วสินะเนี่ย...แหม! แรงจริงๆ นะเจ้าลิง! )

ดังนั้นการศึกนี้ ฮิเดโยชิจึงได้ชัยชนะไป และมิตสึฮิเดะต้องเตลิดหนีเอาตัวรอด ซึ่งก็มีหลายข้อสันนิษฐานในประเด็นชะตากรรมของมิตสึฮิเดะหลังจากนี้ว่า เมื่อหนีทัพไปแล้วเขาได้ทำการปลิดชีวิตตนเองลง อีกลักษณาการหนึ่งก็ว่า เขาถูกพวกชาวนาที่คอยปล้นสะดมคนผ่านทางจับได้ แล้วถูกตีเสียจนตาย และมีบางเกร็ดตำนานเล่าว่า มิตสึฮิเดะยังคงมีชีวิตอยู่ต่อมาได้อีกโดยการเปลี่ยนชื่อแปลงโฉมและออกบวชเป็นคนใหม่ในนามว่า “เท็นไค” ซึ่งต่อมาก็คือ “สังฆราชเท็นไค” ผู้เป็นที่ปรึกษาราชการอันดับหนึ่งของโชกุนโตกุงาวะ แต่ประเด็นหลังสุดนี้ค่อนข้างจะยังคงเป็นแค่เพียงเรื่องเล่าเท่านั้น

กล่าวโดยสรุปปิดฉากสุดท้ายแล้ว มิตสึฮิเดะจึงได้เป็นเพียง “โชกุนสิบสามวัน” ความปรารถนาของเขามีเวลาอยู่ได้เพียงแค่ 13 วัน ในระยะเวลา 13 วัน บางที่ก็ว่าต่างออกไปว่าเพียง 7 วัน ซึ่งแท้จริงแล้วไม่ว่า 7 วันหรือ 13 วัน มันก็เป็นช่วงเวลาที่เมื่อมองจากสายตาผู้อ่านประวัติศาสตร์แล้ว ช่างแสนสั้นเสียเหลือเกิน และในประเด็น 13 วันนั้นช่างเหมือนเป็นอาถรรพ์ที่ชวนให้น่าคิดว่าเป็นตัวเลขแห่งการคงอยู่ที่ไม่สวยหรูเอาเสียเลย หรือจะพิจารณาในแง่มุมที่ว่าเขาสมหวังขั้นแรกอยู่เพียง 7 วัน ก็เหมือนเป็นความฝันหนึ่งสัปดาห์เท่านั้นเองหรือนี่!?

แต่ไม่ว่า 7 วัน หรือ 13 วันก็ตาม นั่นยังไม่ใช่ช่วงเวลาที่เขาจะบรรลุถึงความปรารถนาขั้นสูงสุด คือ การทำให้แผ่นดินเกิดความสงบสุขได้อย่างที่เขาเคยวาดหวังเอาไว้

ข้อสันนิษฐานการตายของมิตสึฮิเดะมีหลายแบบ แต่ไม่ว่าจุดจบแบบใด ก็ล้วนทำให้ชะตาชีวิตของ “อาเคจิ มิตสึฮิเดะ” กลายเป็นผู้ล่วงลับจากโลกนี้ไปแล้ว หน้าประวัติศาสตร์เซ็นโกกุนับจากจุดนี้เป็นต้นไป ก็ไม่อาจกล่าวถึงเขาในฐานะผู้มีชีวิตได้อีก

ในขณะที่อีกแง่หนึ่งซึ่งว่าด้วยตำนาน “สังฆราชเท็นไค” แม้จะเหมือนสร้างภาพขึ้นมาว่าเขายังมีชีวิตอยู่ในอีกสถานภาพหนึ่ง แต่วิถีชีวิตและความเป็น “อาเคจิ มิตสึฮิเดะ” คนเดิมก็ได้สูญสิ้นไป ซึ่งอนุมานได้ว่า “ตาย” ไปโดยสมบูรณ์แล้ว หากแต่ที่ได้เห็นอยู่นั้นอาจจะเป็นคนใหม่ที่ลบเลือนรอยอดีตทิ้งไปจนสิ้น เพื่อแสวงหาวิถีชีวิตที่เหมาะสมกับตัวเขามากกว่าการเป็น “อาเคจิ มิตสึฮิเดะ” ก็เป็นได้ แม้จะอยากคิดเช่นนั้น แต่ในจุดที่สะดุดนึกถึงคำกล่าวอันสะท้อนเรื่อง “ความเป็นตัวตน” ด้วย “ชื่อ” ไว้อย่างน่าสนใจว่า



‘ชื่อ’ เป็นการระบุการมีอยู่ของทุกสิ่ง
ถึงจะถูกเรียกด้วยชื่ออื่น แต่ชื่อและตัวตนที่แท้จริง
คือ สิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลง


ประเด็นนี้ก็ทำให้ตีความใหม่ขึ้นได้หลายแง่ว่า ผู้ที่มีชีวิตอยู่เพราะทิ้งชีวิตที่ผ่านมาของตนเองไปแล้วนั้น พวกเขายังคงมีความมุ่งหวังในทางเดิมอยู่อีกหรือไม่ และความสุขที่แท้ของเขาอยู่ที่ใดแน่ ? ... ฯลฯ



6. เงื่อนไขในวิถีแห่งความซื่อตรง




กล่าวถึงความซื่อตรงที่จิวยี่มีต่อตระกูลซุนนั้น เป็นที่แน่ชัดอย่างมิต้องกังขาว่า เขามีความจงรักภักดีต่อซุนเซ็ก , ซุนกวนและแคว้นกังตั๋งยิ่งชีพ และผลจากการตรากตรำงานเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แคว้นง่อก๊กจนวาระสุดท้ายของชีวิตนั้น ก็เป็นเครื่องยืนยันได้ถึงความภักดีได้อย่างเด่นชัด ทุกสิ่งที่เขาพยายามมาโดยตลอดก็เพื่อเขตแคว้นและเจ้านายของตน และสิ่งที่เขาคิดถึงก่อนเป็นอันดับแรกก็คือผลประโยชน์และความอยู่รอดของผู้เป็นนายและดินแดนง่อก๊กแห่งนี้ด้วยเช่นกัน

เราจะรู้สึกเหมือนว่าเขาภักดีอย่างไม่มีเงื่อนไข ก็เพราะเงื่อนไขต่างๆ นั้น มันลงตัวมาตั้งแต่ก่อนหน้าที่เขาตอบตกลงใจจะเข้ามาช่วยงานซุนเซ็กแล้ว นั่นคือ เขาพอใจและยินดีที่จะเข้าร่วมกับซุนเซ็กเพราะเชื่อมั่น วางใจ และนับถือว่าซุนเซ็กเหมาะสมที่จะก่อร่างสร้างแผ่นดินอันสงบสุขในอุดมคติร่วมกันนั้นขึ้นมาได้ และซุนเซ็กเองก็ได้พิสูจน์ตนเองว่ามิได้ทำให้เขาผิดหวัง และสิ่งดีงามที่ซุนเซ็กสร้างไว้ให้เป็นความศรัทธาแด่จิวยี่นั้น ก็ได้แผ่ขยายตกทอดมาถึงรุ่นซุนกวนด้วย มันเป็นคำสัญญาแห่งความซื่อตรงจงรักภักดีที่มีอำนาจข้ามรุ่นได้ แต่ส่วนหนึ่งก็ต้องสืบเนื่องมาจากตัวซุนกวนที่ประพฤติตนให้จิวยี่เล็งเห็นด้วยว่า เขามิได้คิดและกระทำผิดแผกแตกต่างไปจากที่พี่ชายตั้งปณิธานไว้

อนึ่ง เมื่อพิจารณาชะตากรรมขั้นสุดท้ายของ “อาเคจิ มิตสึฮิเดะ” แล้ว แม้แต่เราที่วิเคราะห์ปมชีวิตของเขาเองก็อดที่จะเห็นใจในวาระสุดท้ายของเขาไม่ได้ จริงอยู่ว่าเมื่อมองจากสายตาของผู้ขึ้นชื่อว่า “ซามูไร” ที่หมายถึง “ผู้รับใช้” แล้ว การกระทำของเขานั้น คือการทรยศต่อเจ้านาย และบางคนก็ใช้สิ่งนี้เป็นตัวล่อก่อประโยชน์ใส่ตน ซึ่งหากถามเราว่า “มิตสึฮิเดะซื่อตรงไหม ? , มิตสึฮิเดะผิดไหม ? ” เราคงได้แต่ระบายความในใจว่า

“ตัวมิตสึฮิเดะเองนั้น ที่ผ่านมาได้ทำทุกอย่างเพื่อเจ้านายอย่างเต็มกำลังความสามารถแล้ว เขาซื่อตรงต่อเจ้านายอย่างยิ่ง แม้ว่าส่วนหนึ่งของความปรารถนาที่มาจากความซื่อตรงมากไปนั้น จะทำให้สูญเสียแม่ไปก็ตาม แต่ผลตอบแทนความซื่อตรงของมิตสึฮิเดะนั้น กลับกลายเป็นคำสั่งการแบบพิสดารของเจ้านายเช่นนั้นหรอกหรือ ? , และการที่คนเราปรารถนาสิ่งที่ดีกว่า และต้องการมีความสุขสงบกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนั้น เป็นเรื่องที่ผิดหรือไร สิ่งที่ตีตราว่าเขาผิด อาจเพราะเขาเคยมุ่งหวังที่จะ “เชื่อมั่น” เขาจึงมีเจ้านายที่ชื่อว่า “โอดะ โนบุนางะ” และเพราะความเชื่อมั่นนั้นพังทลายลงอย่างราบคาบ เขาจึงเชื่อมั่นใน “ตนเอง” เพียงเท่านั้น ! ”



7. ตราบาปแห่งผู้ปรารถนาดี



ในชีวิตจริงของบางคน จะเห็นว่าบางครั้งเขาทำดีไว้อย่างบริสุทธิ์ใจ แต่ในอีกมุมหนึ่งก็กลับกลายเป็นที่ติฉินนินทาได้ในรูปแบบหลากหลาย ในประวัติศาสตร์ที่มีมายาวเองก็เช่นเดียวกันกับวิถีโลกปัจจุบัน ความจริงอาจมีการ “กลายพันธุ์” เกิดขึ้นอยู่เสมอ และบางครั้งการ “กลายพันธุ์” ก็เป็นเรื่องเป็นราวเสียจนยากจะแยกออกจากความเป็นจริง อย่างกรณีของจิวยี่นั้น เขาเองแม้จะได้รับการกล่าวขวัญทั้ง “สิงห์สำอางค์แห่งกองทัพเรือ” ( ชมว่าหล่อสินะ ) , “ ผู้พิชิตเซ็กเพ็ก ” ( ชมว่าเก่งใช่ไหม ) และบทเพลงที่กล่าวขวัญถึงคุณสมบัติการเป็นนักดนตรีชั้นเยี่ยมของเขาในเพลงร้องติดปากของเด็กกังตั๋ง

แต่เชื่อว่าแทบทุกคนที่ติดตามสามก๊กไม่ว่าฉบับประวัติศาสตร์หรือวรรณกรรม คงคุ้นเคยกับสมญาว่า “ผู้ถ่มน้ำลายรดฟ้า” ซึ่งความหมายของสำนวนนี้ ก็สื่อความหมายในนัยว่า “ให้ทุกข์แก่ท่าน ทุกข์นั้นถึงตัว” นั่นเอง และออกจะกล่าวถึงบ่อยในเชิงคู่มวยเอก “จิวยี่ VS ขงเบ้ง” เสียด้วย ซึ่งผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์สามก๊กหลายคนก็แย้งว่า จิวยี่ไม่สมควรจะถูกกล่าวถึงเช่นนั้น เพราะในความเป็นจริงอ้างอิงด้วยบันทึกใดๆ ก็ว่ากันไป ฯลฯ ว่าเนื้อแท้แล้วจิวยี่มิได้ปรารถนาจะทำลายขงเบ้งด้วยเหตุว่ามีจิตคิดริษยาว่าขงเบ้งเก่งกว่าตน

แต่น่าเสียดาย ขนาดในซีรี่ย์สามก๊กฉบับปี 1994 ที่แสดงออกมาก็สื่อลักษณการเช่นนั้นอย่างชัดเจนจนเหมือนเป็นการประทับ “ตรา” ลงไปเสียแล้ว ซึ่งนั่นทำให้รู้สึกขึ้นมาว่า ไม่ว่าจะเป็นมุมมองทางวรรณกรรมหรือประวัติศาสตร์ แต่การแสดงออกโดยส่วนรวมนั้น ถ้าหากคงความเป็นกลางไว้ได้ ก็จะเป็นเรื่องดีสำหรับทุกฝ่าย



แฟนคลับจิวยี่ก็ไม่ว่า แม่ยกขงเบ้งก็ไม่โกรธ อะไรประมาณนี้


หากจุดที่สื่อแสดงออกไป ลงตัวได้แบบนี้ก็คงเป็นการดีไม่น้อย เพราะมุมมองของคนหนึ่งๆ ที่มีต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งในประวัติศาตร์ว่าเป็น “ฮีโร่” ในดวงใจนั้น เขาก็ต้องมีข้อดีเด่นที่น่าประทับใจอะไรสักอย่างหนึ่ง หรืออาจมีมากมายกว่านั้นก็เป็นได้ และความเป็น “ฮีโร่” ก็คงไม่อยากจะปนเปื้อนไปกับสิ่งที่เรียกว่า “ตราบาป” สักเท่าใดนัก และสำหรับกรณีจิวยี่แล้ว “ตราบาป” ที่ถูกเรียกด้วยสมญานามว่า “ผู้ถ่มน้ำลายรดฟ้า” ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ฝังแน่นในใจคนส่วนใหญ่ จนเป็น “ตราถาวรแห่งเอกลักษณ์ประจำตัว” ไปเสียแล้ว ( พอนึกถึงสำนวน “ถ่มน้ำลายรดฟ้า” ก็จะคิดถึงจิวยี่ใช่หรือไม่? อะไรทำนองนี้ !? )




มีผู้กล่าวถึง “อาเคจิ มิตซึฮิเดะ” ด้วยถ้อยความที่น่าสนใจว่า


“ ประวัติศาสตร์ศึกษาได้จากพงศาวดาร
แต่พงศาวดารจะเชื่อถือได้หรือไม่...มันอีกเรื่อง ”


“ อาเคจิ มิตซึฮิเดะ คือผู้เสี่ยงชีวิตเพื่อฟื้นฟูพุทธศาสนา และต้องการคืนอำนาจให้แก่องค์จักรพรรดิโกะ-โยเซอิมิ ด้วยการลอบสังหารโนบุนางะ

แต่สิ่งที่ตอบแทนเขา คือ *ความตาย* และการถูกเขียนให้กลายเป็นผู้ร้ายของประวัติศาสตร์

ในขณะที่โนบุนางะนั้น กลับได้รับการยกย่องเป็นผู้รวมแผ่นดินให้เป็นปึกแผ่น ทั้งๆ ที่เขาล้างบางศาสนาพุทธในญี่ปุ่นจนเกือบสูญสิ้นไป...”



จากถ้อยคำข้างต้นนี้ ทำให้นึกถึงวลียอดนิยมที่มักพบบ่อยในการวิพากษ์วรรณกรรมสามก๊ก นั่นคือประโยคที่ว่า



“ ผู้ชนะ เป็นผู้เขียนประวัติศาสตร์ ”


น่าประหลาดที่ถ้อยคำนี้กลับนำใช้กับมิตซึฮิเดะได้อีกแง่มุมหนึ่ง มันเหมือนกับสิ่งลี้ลับที่อยู่ในกล่องทองคำนาม “แพนโดร่า” มองผิวเผินจะเห็นเพียงสิ่งที่ผู้ชนะประวัติศาสตร์เขียนไว้ว่า “ตราบาปแห่งคนทรยศ” และเมื่อปิดฝากล่องแห่งความลับในประวัติศาสตร์ลง ก็จึงมีเพียงตราบาปเหล่านั้นล่องลอยออกมาเต็มไปหมด คงเหลือแต่ความปรารถนาที่แท้จริงจากก้นบึ้งในจิตใจของมิตซึฮิเดะเท่านั้นที่ยังคงถูกปิดขังอยู่ข้างใน เพราะถูกกดทับไว้ด้วยตราบาปจนอยู่ลึกลงไปในก้นกล่อง และอาจจะเหลือบหลุดออกไปสู่โลกภายนอกได้เพียงน้อยนิดเท่านั้น

กาลอวสานของสงครามเซ็นโกกุอย่างสมบูรณ์ในยุคสมัยของโชกุนอิเอยะสึ คงจะปิดเปลือกตามิตซึฮิเดะลงได้อย่างสงบสุข แม้ว่าบางทีเขาอาจจะไม่ได้รับรู้อีกแล้วว่า แผ่นดินที่เขาปรารถนา มีรูปลักษณ์อย่างไรแน่ แต่อย่างน้อยความมุ่งหวังของเขาก็เกิดขึ้นได้จริงแล้ว แม้ไม่ใช่ด้วยน้ำมือของเจ้านายที่เขาเคยหวัง แม้มิใช่ตัวเขาเองที่ทำได้ เพียงเป็นใครก็ได้ที่สามารถยุติศึกนองเลือดนั้นลง คงความเป็นหนึ่งเดียวของอำนาจแห่งแผ่นดินให้เป็นศูนย์กลางอย่างที่จะควรเป็น เท่านี้ ก็คงนอนตายตาหลับได้แล้ว แม้ว่าเขาอาจจะต้องหลับไปพร้อมกับตราบาปของคนทรยศก็ตาม อย่างน้อยเขาก็ทรยศด้วยอยากจะสร้างแผ่นดินแบบที่อิเอยะสึได้สร้างขึ้นมา หากแต่ว่าเงื่อนไขนั้นไม่เอื้ออำนวย ก็ต้องแบกรับรับชะตากรรมผู้ร้ายแห่งประวัติศาสตร์ไปเท่านั้นเอง

ก็ทำอย่างไรได้เล่า ไม่มีเงื่อนไขในการแก้ต่างสำหรับผู้ที่นอนอยู่ใต้ดิน และเป็นผู้แพ้ทางประวัติศาสตร์ไปแล้วนี่นา...



เรื่องราวในประเด็นต่างๆ เหล่านี้บ่งชี้ให้เห็นว่า


แม้ว่าทั้งตัว "จิวยี่" และ "อาเคจิ มิตซึฮิเดะ" นั้น จะเพียบพร้อมด้วย “ ความสมบูรณ์ในศักยภาพในตนเอง" เพียงใด แต่ท้ายที่สุดแล้ว ตราบชั่วชีวิตของพวกเขากลับยังมิได้บรรลุถึงซึ่งความปรารถนาอันเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดของตนเองเลย นั่นอาจสื่อแสดงให้เห็นได้อย่างหนึ่งว่า “ ความสมบูรณ์พร้อมที่มีอยู่ในตัวตนของคนผู้นั้น อาจไม่ใช่เงื่อนไขหนึ่งเดียวที่นำไปสู่ความสำเร็จขั้นสูงสุดอย่างที่ผู้นั้นปรารถนาไว้ก็เป็นได้ เพราะองค์ประกอบของสิ่งที่ชื่อว่า “ความสำเร็จขั้นสูง” นั้น ยังอาจมีหลายปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ด้วยบุคคลเพียงผู้เดียว ” ( คล้ายกับว่าเป็น “ตัวแปรแทรกซ้อน” สินะเนี่ย ! ... 555+ )



ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลออนไลน์สู่สาธารณชน
ซึ่งช่วยผสานแนวคิดจนเขียนลุล่วงด้วยดี
ดังมีรายนามบรรณานุกรมต่อไปนี้


คุณ “Eagle” , ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ยุคเซ็นโกกุ , เว็บเด็กดีดอทคอม. 2551.

คุณ “เทพอหังกาฬ” , ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ,
เว็บบอร์ด MuSiam Online , 2551.

คุณ “วัชระ ( EE. Jump )” , ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ,
[ //www..se-ed.net/pcgamezip/japan.htm ] , 2551.

เครดิตภาพขึ้นต้นเรื่องจากเกม “Romance of The Three Kingdoms ”
และเกม “Samurai Warriors 2 ” ซึ่งโพสต์รูปขึ้นเว็บโดย
คุณนามแฝง “ Yoshikuni_Chiaki ”





 

Create Date : 08 ตุลาคม 2551
1 comments
Last Update : 8 ตุลาคม 2551 18:37:42 น.
Counter : 4007 Pageviews.

 

แวะมาทักทายจ๊ะ น้องหงส์ สบายดีนะจ๊ะ เขียนบทความได้น่าสนใจทุกครั้งเลยนะคะ ขอใช้เวลาอ่านก่อนนะ

 

โดย: แม่นางเตียว 18 ตุลาคม 2551 19:31:03 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


หงส์อรุณ
Location :
ราชบุรี Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add หงส์อรุณ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.