Group Blog
 
<<
สิงหาคม 2548
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
26 สิงหาคม 2548
 
All Blogs
 

พระมหาชนก The Story of Mahajanaka









พระมหาชนก
The Story of Mahajanaka





English Version

ในอดีตกาลอันพ้นคณนาวิสัยครั้งหนึ่ง พระราชทานนามว่ามหาชนก ครองราชสมบัติอยู่ในกรุงมิถิลาแคว้นวิเทหะ พระเจ้ามหาชนกนั้นมีพระราชโอรสสองพระองค์ พระนามว่าอริฏฐชนกและโปลชนก พระราชาพระราชทานตำแหน่งอุปราชแก่องค์พี่และตำแหน่งเสนาบดีแก่องค์น้อง กาลต่อมาพระมหาชนกราชสวรรคต พระอริฏฐชนกได้ครองพระราชสมบัติและทรงตั้งพระโปลชนกเป็นอุปราช



ครั้นแล้ว อมาตย์ผู้ใกล้ชิดคนหนึ่งไปเฝ้ากราบทูลพระราชาหลายครั้งว่า "ขอเดชะ พระอุปราชเล่นไม่ซื่อกับพระองค์พ่ะย่ะค่ะ" ความสิเนหาของพระอริฎฐชนกราชต่อพระอนุชาทนนิเวศ พระโปลชนกทรงตั้งสัจจาธิษฐานว่า "ถ้าข้าพเจ้าคิดไม่ซื่อกับพระเชษฐราชจริง เครื่องจองจำจงคงตรึงมือเท้าของข้าพเจ้า แม้ประตูก็จงคงปิดสนิท ถ้าข้าพเจ้ามิได้คิดคดทรยศเครื่องจองจำจงหลุดจากมือและเท้าของข้าพเจ้า แม้ประตูก็จงเปิด" ทันใดนั้น เครื่องจองจำได้หักลงเป็นท่อนๆ แม้ประตูก็เปิดกว้าง ต่อจากนั้น พระโปลชนกก็เสด็จออกไปเมืองชายแดนแห่งหนึ่ง ไปตั้งพระองค์ ณ ที่นั้น ประชาชนจำท่านได้ก็บำรุงพระองค์ ตอนนี้พระอริฏฐชนกราชไม่สามารถจับพระองค์ได้



พระโปลชนกสามารถแผ่อิทธิพลทั่วชนบทชายแดน และรวบรวมกำลังพลจำนวนมาก ทรงดำริว่า "แต่ก่อนนี้เราไม่ได้คิดคดทรยศต่อพระเชษฐา แต่บัดนี้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปแล้ว เราจึงจะจัดการตามสมควรแก่กรณีย์" ทรงให้ประชุมพลพรรค แล้วเคลื่อนทัพไปสู่กรุงมิถิลา พร้อมด้วยมวลชนจำนวนมาก เมื่อถึงก็ทรงให้ตั้งค่ายพักแรมกองทัพอยู่นอกพระนคร เมื่อเหล่าทหารชาวมิถิลารับทราบว่า พระโปลชนกเสด็จมาก็พากันขนยุทโธปกรณ์มีพาหนะช้างเป็นต้น มาที่กองบัญชาการของพระโปลชนกเป็นจำนวนมาก ชาวนครพลเรือนอื่นๆก็เข้ามาสวามิภักดิ์ด้วย



พระโปลชนกส่งสาส์นเป็นขาดถวายพระเชษฐาว่า "แต่ไหนแต่ไรข้าฯไม่เคยเป็นอริกับพระองค์เลย แต่ข้าฯ จะก่อสงคราม ณ บัดนี้ พระองค์จะมอบเศวตฉัตรหรือจะเข้ายุทธภูมิกัน" พระราชาอริฏฐชนกรับทราบ ดังนั้น และตกลงปฏบัติการยุทธ์ จึงทรงเรียกพระอัครมเหสีมาตรัสว่า "ยอดรัก การรบแพ้หรือชนะนั้นไม่อาจรู้ได้ ถ้าพี่มีอันเป็นอันตรายน้องจงรักษาครรภ์ให้ดี" ตรัสดังนี้แล้ว เสด็จกรีธาทัพออกจากพระนคร





ไพร่พลของพระอริฏฐชนกทหารของพระโปลชนกตะลุยหั่นแหลก และพระองค์เองต้องเสียพระชนม์ชีพในที่รบ เมื่อชาวพระนครทราบว่าพระราชาสวรรคตแล้วก็เกิดโกลาหลกันทั่วกรุง ส่วนพระเทวีทราบว่า พระราชสวามีสวรรคต แล้วก็รีบเก็บของสำคัญมีทองเป็นต้น ใส่ในกระเช้าเอาผ้าเก่าๆ ปูปิดไว้ แล้วใส่ข้าวสารข้างบน ทรงปลอมพระองค์ด้วยภูษาเก่าเศร้าหมองวางกระเช้าบนพระเศียร แล้วรีบเสด็จออกจากพระนครแม้เป็นกลางวันแสกๆ แต่ไม่มีใครจำพระนางได้ พระนางเสด็จออกทางประตูทิศอุดร แต่ไม่ทรงทราบว่าควรจะมุ่งไปทางใดเพราะไม่เคยเสด็จที่ไหนเลย จึงเสด็จที่ศาลาแห่งหนึ่งและสอบถามว่ามีคนเดินทางไปนครกาลจัมปากะบ้างไหม เพราะทรงทราบว่ามีนครชื่อนี้



สัตว์ในครรภ์ของพระเทวีนั้น มิใช่สัตว์สามัญแต่เป็นมหาสัตว์ผู้มีบารมีเต็ม แล้วมาบังเกิดด้วยเดชานุภาพแห่งพระมหาสัตว์นั้น บัลดาลให้ภพของท้าวสักเทวราชสำแดงอาการร้อน ท้าวสักกเทวราชทรงพิจารณาเหตุการณ์แล้ว ทรงดำริว่า "สัตว์ที่บังเกิดในพระครรภ์ของพระเทวีมีบุญมาก เราควรจะไปที่นั่น" จึงเนรมิตเกวียนที่มีประทุนเป็นเครื่องปกปิด จัดตั้งเตียงไว้ในเกวียนนั้น เนรมิตตนเหมือนคนแก่ แล้วขับเกวียนไปหยุดที่ประตูศาลาที่พระเทวีประทับอยู่



พระเทวราชสอบถาม "มีผู้ที่จะไปนครจัมปากะบ้างไหม" พระเทวีได้สดับดังนั้นจึงตรัสว่า "ข้าแต่พ่อ ข้าพเจ้าจักไป" ท้าวสักกะตรัสว่า "ถ้าเช่นนั้น แม่จงขึ้นนั่งบนเกวียนเถิด" พระเทวีออกมาตรัสว่า "ข้าแต่พ่อข้าพเจ้ามีครรภ์แก่ไม่อาจจะขึ้นเกวียนไปได้ จักขอเดินตามพ่อไปเท่านั้น แต่พ่อช่วยรับกระเช้าของข้าพเจ้านี้ขึ้นเกวียนไปด้วย" ท้าวสักกะตรัสว่า "แม่พูดอะไรคนที่รู้จักขับเกวียนเช่นข้าพเจ้าไม่มี แม่อย่ากลัวเลยขึ้นนั่งบนเกวียนเถิดแม่" ด้วยอานุภาพแห่งพระโอรสของพระองค์ ในการที่พระเทวีจะเสด็จขึ้นเกวียน แผ่นดินได้นูนพองขึ้นตั้งจดท้ายเกวียน พระเทวีเสด็จขึ้นบรรทมบนพระที่สิริไสยาสน์ ทรงทราบว่านี้จักเป็นเทวดา พระนางได้หยั่งลงสู่นิทราเพราะได้บรรทมบนพระที่อันเป็นทิพย์



ครั้งนั้น ท้าวสักกเทวราชทรงขับเกวียนถึงแม่น้ำแห่งหนึ่ง ไกลราวสามสิบโยชน์ (๑๔๕ กิโลเมตร) จึงปลุกพระเทวีแล้วตรัสว่า "แม่จงลงจากเกวียนนี้อาบน้ำในแม่น้ำ จงนุ่งห่มผ้าคู่หนึ่งที่วางอยู่เหนือศีรษะนั้น จงหยิบของกินที่ อยู่ภายในเกวียนนั้นมากินเถิด" พระเทวีทรงทำตามอย่างนั้น แล้วบรรทมต่อไปอีกก็ลุถึงนครจัมปากะในเวลาเย็น ทอดพระเนตรเห็นประตูหอรบและกำแพงพระนครจึงตรัสถาม ท้าวสักกะว่า "ข้าแต่พ่อ เมืองนี้ชื่ออะไร" ท้าวสักกะตรัสตอบว่า "นครจัมปากะแม่" พระเทวีตรัสค้านว่า "พูดอะไรพ่อ นครจัมปากะอยู่ห่างจากนครของพวกเราถึงหกสิบโยชน์มิใช่หรือ" ท้าวสักกะตรัสว่า "ถูกแล้วแม่ แต่ตารู้จักเส้นทางตรง" ครั้งนั้นท้าวสักกเทวราชให้พระเทวีลงจากเกวียน ณ ที่ใกล้ประตูด้านทักษิณ ตรัสบอกว่า "บ้านของตาอยู่ข้างหน้าแต่แม่จงเข้าไปสู่นครนี้" ตรัสดังนี้ แล้วเสด็จไปเหมือนไปข้างหน้าได้หายตัวไปยังที่ประทับของพระองค์ ส่วนพระเทวีก็ประทับอยู่ที่ศาลาแห่งหนึ่ง



ขณะนั้น มีพราหมณ์ผู้เพ่งมนต์คนหนึ่ง ชาวกาลจัมปากะเป็นทิศาปาโมกข์มาณพประมาณห้าร้อนคน แวดล้อมเดินไปเพื่ออาบน้ำ แลดูมาแต่ไกล เห็นพระเทวีนั้นมีพระรูปงามยิ่ง สมบูรณ์ด้วยความงามเป็นเลิศประทับอยู่ ณ ศาลานั้น ด้วยอานุภาพแห่งพระมหาสัตว์ ผู้บังเกิดในพระครรภ์ของพระเทวี พอเห็นเท่านั้นก็เกิดสิเนหาราวกะว่าเป็นน้องสาวของตน จึงให้เหล่ามาณพพักอยู่ภายนอก เข้าไปในศาลาแต่ผู้เดียว



พราหมณ์ถามว่า "น้องหญิงแม่เป็นชาวบ้านไหน" พระเทวีตรัสตอบว่า "ข้าแต่พ่อ ข้าพเจ้าเป็นอัครมเหสีของพระอริฏฐชนกราชกรุงมิถิลา" พราหมณ์ถาม "แม่มาที่นี่ทำไม" พระเทวีตรัสตอบว่า "พระอริฏฐชนกราชถูกพระโปลชนกปลงพระชนม์ เมื่อเป็นเช่นนี้ข้าพเจ้ากลัวภัยจึงหนีมา ด้วยคิดว่าจะรักษาครรภ์ไว้" พราหมณ์ถามว่า "ก็ในพระนครนี้มีใครที่เป็นญาติของเธอหรือ" พระเทวีตอบว่า "ไม่มี พ่อ" พราหมณ์กล่าวว่า "ถ้าเช่นนั้นเธออย่าวุ่นใจไปเลยข้าพเจ้า อุทิจจพราหมณ์มหาศาลเป็นอาจารย์ทิศาปาโมกข์ ข้าพเจ้าจักตั้งเธอไว้ในที่เป็นน้องสาวปฏิบัติดูแลเธอ เธอจงกล่าวกะข้าพเจ้าว่า "ท่านเป็นพี่ชาย แล้วจับที่เท้าทั้งสองของข้าพเจ้าคร่ำครวญเถิด"



พระเทวีรับคำแล้ว เปล่งเสียงดัง ทอดพระองค์ลงจับเท้าทั้งสองของพราหมณ์ ทั้งสองต่างก็คร่ำครวญกันอยู่ ครั้นนั้น เหล่าอันเตวาสิกได้ยินเสียงของพราหมณ์จึงพากันวิ่งเข้าไปยังศาลาถามว่า "พ่อทั้งหลายหญิงนี้เป็นน้องสาวของฉันพลัดพรากจากฉันไปตั้งแต่ครั้งโน้น" เหล่าอันเตวาสิกกล่าวว่า "บัดนี้ท่านทั้งสองได้พบกันแล้ว ขออย่าได้วิตกเลย"



พราหมณ์ให้นำยานที่ปกปิดมาให้พรเทวีประทับในยานนั้น กล่าวกะเหล่ามาณพว่า "เจ้าทั้งหลาย จงบอกแก่นางพราหมณีว่าหญิงนี้เป็นน้องสาวของเรา แล้วจงบอกนางพราหมณ์เพื่อทำกิจทั้งปวงแก่นาง" กล่าวฉะนี้แล้วส่งพระเทวีไปสู่เรือน ลำดับนั้น นางพราหมณ์ให้พระนางสรงสนานด้วยน้ำร้อน แล้วแต่งที่บรรทมให้บรรทม เมื่อพราหมณ์อาบน้ำแล้วก็กลับมาสู่เรือน สั่งให้เชิญพระนางมาในเวลาบริโภคอาหาร ด้วยคำว่า "จงเชิญน้องสาวของเรามา" แล้วบริโภคอาหารร่วมกับพระนาง



พราหมณ์ได้ปรนนิบัติพระนางในนิเวศของตน ไม่นานนัก พระนางก็ประสูติพระโอรส มีวรรณะดังทอง พระเทวีขนานนามพระโอรสเหมือนพระอัยกาว่า มหาชนกกุมาร พระกุมารนั้นทรงเจริญวัยก็เล่นกับพวกเด็ก เด็กพวกใดรังแกทำให้พระกุมารขัดเคือง พระกุมารก็จับเด็กพวกนั้นให้มั่นแล้วตี ความที่พระองค์มีพระกำลังมาก และด้วยความที่เป็นผู้เข้มงวดเพราะมานะ โดยที่พระองค์เกิดในตระกูลกษัตริย์ที่ไม่เจือปนทำให้พวกเด็กเหล่านั้น ทั้งเจ็บทั้งกลัวจึงร้องไห้เสียงดังเมื่อถูกถามว่า "ใครตี" ก็บอกว่า "บุตรหญิงหม้ายตี" พระกุมารทรงคิดว่า "พวกเด็กว่า เราเป็นบุตรหญิงหม้ายอยู่เนืองๆ ช่างเถอะ เราจักถามมารดาของเรา



วันหนึ่ง พระกุมารจึงทูลถามพระมารดาว่า "ข้าแต่พระมารดา ใครเป็นบิดาของฉัน" พระนางตรัสลวงพระกุมารว่า "พราหมณ์เป็นบิดาของลูก" วันรุ่งขึ้นพระกุมารตีเด็กทั้งหลาย เมื่อเด็กทั้งหลายกล่าวว่า "บุตรหญิงหม้ายตี" จึงตรัสว่า "พราหมณ์เป็นบิดาของเรา มิใช่หรือ "ครั้นพวกเด็กถามว่า "พราหมณ์เป็นอะไรกับเธอ" จึงทรงคิดว่าเด็กเหล่านี้กล่าวว่า "พราหมณ์เป็นอะไรกับเธอ" มารดาของเราไม่บอกเหตุการณ์นี้ตามจริง ท่านไม่บอกแก่เราตาใจของท่าน ยกไว้เถิด เราจักให้ท่านบอกความจริงให้ได้



เมื่อพระกุมารดื่มน้ำนมพระมารดา จึงกัดพระถันพระมารดาไว้ตรัสว่า "ข้าแต่แม่ แม่จงบอกบิดาแก่ฉัน ถ้าแม่ไม่บอกฉันจะกัดพระถันของแม่ให้ขาด" พระนางไม่อาจตรัสลวงพระองค์จึงตรัสบอกว่า "พ่อเป็นโอรดของพระเจ้าอริฏฐมหาชนกในกรุงมิถิลา พระบิดาของพ่อถูกพระโปลชนกปลงพระชนม์ แม่ตั้งใจรักษาตัวพ่อจึงมาสู่นครนี้ พราหมณ์นี้ตั้งแม่ไว้ในที่เป็นน้องสาว ปฏิบัติดูแลแม่" ตั้งแต่นั้นมาแม้ใครว่าเป็นบุตรหญิงหม้ายพระกุมารก็ไม่กริ้ว



พระกุมารทรงเรียนไตรเพทและศิลปศาสตร์ทั้งปวงภายในพระชนม์ ๑๖ ปี เมื่อมีพระชนม์ได้ ๑๖ ปี เป็นผู้ทรงพระรูปโฉมอันอุดม พระองค์คิดว่า "เราจักเอาราชสมบัติซึ่งเป็นของพระบิดา" จึงทูลถามพระมารดาว่า "ข้าแต่พระมารดา ทรัพย์อะไรๆ ที่พระมารดาได้มามีบ้างหรือไม่ ฉันจักค้าขายให้ทรัพย์เกิดขึ้น แล้วจักเอาราชสมบัติซึ่งเป็นของพระบิดา" พระนางตรัสตอบว่า "ลูกรัก แม่ไม่ได้มามือเปล่า สิ่งอันเป็นแก่นสารของเรามีอยู่สามอย่างคือ แก้วมณี แก้วมุกดา แก้ววิเชียร ในสามอย่างนั้นแต่ละอย่างพอจะเป็นกำลังเอาราชสมบัติได้ พ่อจงรับแก้วสามอย่างนั้น คิดอ่านเอาราชสมบัติเถิด อย่าทำการค้าขายเลย"



พระกุมารทูลว่า "ข้าแต่พระมารดา ขอพระมารดาจงประทานทรัพย์นั้นกึ่งหนึ่งแก่หม่อมฉันจะไปเมืองสุวรรณภูมิ นำทรัพย์เป็นอันมากมา แล้วเอาราชสมบัติซึ่งเป็นของพระบิดา" ทูลดังนี้แล้ว ให้พระมารดาประทานทรัพย์กึ่งหนึ่ง จำหน่ายออกเป็นสินค้า แล้วให้ขนขึ้นเรือพร้อมกับพวกพาณิชย์ที่จะเดินทางไปสุวรรณภูมิ แล้วกลับมาถวายบังคมพระมารดา ทูลว่า "ข้าแต่พระมารดาหม่อมฉันจะไปเมืองสุวรรณภูมิ" พระนางตรัสห้ามว่า "ลูกรัก ชื่อว่ามหาสมุทร สำเร็จประโยชน์น้อยมีอันตรายมาก อย่าไปเลย ทรัพย์ของพ่อมีมากพอประโยชน์ เอาราชสมบัติแล้ว" พระกุมารทูลว่า "หม่อมฉันจักไปแท้จริง" ทูลลาพระมารดาถวายบังคมกระทำประทักษิณ แล้วออกไปขึ้นเรือ ในวันนั้นได้เกิดพระโรคขึ้นในพระสรีระของพระโปลชนกราช บรรทมแล้วเสด็จลุกขึ้นอีกไม่ได้







พวกพาณิชย์ประมาณเจ็ดร้อยคนขึ้นสู่เรือ เรือแล่นไปได้เจ็ดร้อยโยชน์ ใช้เวลาเจ็ดวัน เรือแล่นด้วยกำลังคลื่นที่ร้ายกาจไม่อาจทรงตัวอยู่ได้ แผ่นกระดานก็แตกด้วย กำลังคลื่นน้ำเข้ามาแต่ที่นั้นๆ เรือก็จมลงในกลางมหาสมุทร มหาชนกลัวมรณภัย ร้องไห้คร่ำครวญ กราบไหว้เทวดาทั้งหลาย แต่พระมหาสัตว์ไม่ทรงกันแสง ไม่ทรงคร่ำครวญ ไม่ไหว้เทวดาทั้งหลาย พระองค์ทรงทราบว่าเรือจะจมจึงคลุกน้ำตาลกรวดกับเนย เสวยจนเต็มท้อง แล้วชุบผ้าเนื้อเกลี้ยงสองผืนด้วยน้ำมันจนชุ่ม ทรงนุ่งให้มั่น ทรงยืนเกาะเสากระโดง ขึ้นยอดเสากระโดง เวลาเรือจม มหาชนกเป็นภักษาแห่งปลาและเต่า น้ำโดยรอบมีสีเหมือนโลหิต พระมหาสัตว์ไปเสด็จไปทรงยืนที่ยอดเสากระโดง ทรงกำหนดทิศว่า เมืองมิถิลาอยู่ทิศนี้ ก็กระโดดจากยอดเสากระโดงล่วงพ้นฝูงปลาและเต่า ไปตกในที่สุดอุสภะหนึ่ง (๗๐ เมตร) เพราะพระองค์มีกำลังมาก
พระโปลชนกราชได้สวรรคตในวันนั้นเหมือนกัน จำเดิมแต่นั้น พระมหาสัตว์เป็นไปอยู่ในคลื่นซึ่งมีสีดังแก้วมณีเหมือนท่อนต้นกล้วยทอง ข้ามมหาสมุทรด้วยกำลังพระพาหา พระมหาสัตว์ทรงว่ายข้ามมหาสมุทรอยู่เจ็ดวัน เหมือนว่ายข้ามวันเดียว (พระองค์ทรงสังเกตเวลานั้นว่าวันนี้เป็นวันอุโบสถจึงบ้วนพระโอษฐ์ด้วยน้ำเค็ม ทรงสมาทานอุโบสถศีล)





ในกาลนั้น ท้าวโลกบาลทั้งสี่ มอบให้เทพธิดาชื่อมณีเมขลา เป็นผู้ดูแลรักษาสัตว์ทั้งหลาย ผู้ประกอบด้วยคุณมีบำรุงมารดาเป็นต้น เป็นผู้ไม่สมควรจะตายในมหาสมุทร นางเมขลามิได้ตรวจตรามหาสมุทรเป็นเวลาเจ็ดวัน เล่ากันว่า นางเสวยทิพยสมบัติเพลิน ก็เผลอสติมิได้ตรวจตราบางอาจารย์กล่าวว่า นางเทพธิดาไปเทพสมาคมเสีย นางคิดได้ว่า "วันนี้เป็นวันที่เจ็ดที่เราไม่ได้ตรวจตรามหาสมุทร มีเหตุอะไรบ้างหนอ" เมื่อนางตรวจดูก็เห็นพระมหาสัตว์ จึงคิดว่า "ถ้ามหาชนกกุมารจักตายในมหาสมุทรเราจักไม่ได้เข้า เทวสมาคม" คิดฉะนี้แล้ว ตกแต่งสรีระ สถิตอยู่ในอากาศไม่ไกลพระมหาสัตว์



เมื่อจะทดลองพระมหาสัตว์ จึงกล่าวคาถาว่า


"นี้ใคร เมื่อแลไม่เห็นฝั่งก็อุตสาหพยายาม
ว่ายอยู่ท่ามกลางมหาสมุทร ท่านรู้อำนาจประโยชน์
อะไร จึงพยายามว่ายอยู่อย่างนี้หนักหนา"

ครั้งนั้น พระมหาสัตว์ทรงดำริว่า "เราว่ายข้ามมหาสมุทรมาได้เจ็ดวันเช้าวันนี้ ไม่เคยเห็นเพื่อนสองของเราเลย นี่ใครหนอมาพูดกะเรา" เมื่อแลไปในอากาศก็ทอดพระเนตรเห็นนางมณีเมขลาจึงตรัสคาถาที่สองว่า


"ดูก่อนเทวดา เราไตร่ตรองเห็นปฏิปทาแห่งโลก
สะอานิสงส์แห่งความเพียร เพราะฉะนั้นถึงมองไม่เห็นฝั่ง
เราก็ต้องพยายามว่ายอยู่ท่ามกลางมหาสมุทร"



นางเมขลาปรารถนาจะฟังธรรมกถาของพระมหาสัตว์ จึงกล่าวถามอีกว่า


"ฝั่งมหาสมุทรลึกจนประมาณไม่ได้ ย่อมไม่
ปรากฏแก่ท่าน ความพยายามอย่างลูกผู้ชายของท่าน
ก็เปล่าประโยชน์ ท่านไม่ถึงฝั่งก็จักตาย"



ครั้งนั้น พระมหาสัตว์ตรัสกะนางมณีเมขลาว่า "ท่านพูดอะไรอย่างนั้น เราทำความพยายาม แม้ตายก็จักพ้นครหา" ตรัสฉะนี้แล้วจึงกล่าวคาถาว่า


"บุคคลเมื่อกระทำความเพียร แม้ตายก็ชื่อว่าไม่เป็นหนี้ในระหว่างหมู่ญาติ เทวดา และบิดามารดา อนึ่งบุคคลเมื่อทำกิจอย่างลูกผู้ชายย่อมไม่เดือดร้อนในภายหลัง"



ลำดับนั้น เทวดากล่าวคาถากะพระมหาสัตว์ว่า

"การงานอันใด ยังไม่ถึงที่สุดด้วยความพยายาม การงานอันนั้นก็จะไร้ผล มีความลำบากเกิดขึ้น การทำความพยายามในฐานะอันไม่สมควรจนเกิดความตายปรากฏขึ้น ความพยายามในฐานะอันไม่สมควรนั้นจะมีประโยชน์อะไร"



เมื่อนางเมขลากล่าวอย่างนี้แล้ว พระมหาสัตว์เมื่อจะทำนางมณีเมขลาให้จำนนต่อถ้อยคำ จึงตรัสคาถาต่อไปว่า


"ดูก่อนเทวดา ผู้ใดรู้แจ้งว่าการงามที่ทำจะไม่ลุล่วงไปได้จริงๆ เชื่อว่าไม่รักษาชีวิตของตนถ้าผู้นั้นละความเพียรในฐานะนั้นเสีย ก็จะพึงรู้ผลแห่งความเกียจคร้าน ดูก่อนเทวดา คนบางพวกในโลกนี้เห็นผลแห่งความประสงค์ของตน จึงประกอบการงานทั้งหลาย การงานเหล่านั้นจะสำเร็จหรือไม่ก็ตาม ดูก่อนเทวดา ท่านก็เห็นผลแห่งกรรมประจักษ์แก่ตนแล้วไม่ใช่หรือ คนอื่นๆ จมลงในมหาสมุทรหมด เราคนเดียวยังว่ายข้ามอยู่และได้เห็นท่านมาสถิตอยู่ใกล้ๆ เรา เรานั้นจักพยายามตามสติ กำลัง จักทำความเพียรที่บุรุษควรทำ ไปให้ถึงฝั่งมหาสมุทร"



เทวดาได้สดับพระวาจาอันมั่นคงของพระมหาสัตว์นั้น เมื่อจะสรรเสริญพระมหาสัตว์จึงกล่าวคาถาว่า


"ท่านใดถึงพร้อมด้วยความพยายามโดยธรรม ไม่จมลงในห้วงมหรรณพซึ่งประมาณมิได้ เห็นปานนี้ด้วยกิจคือความเพียรของบุรุษ ท่านนั้นจงไปในสถานที่ที่ใจของท่านยินดีเถิด"



ก็แล ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว นางมณีเมขลาได้ถามว่า "ข้าแต่ท่านบัณฑิตผู้มีความบากบั่นมาก ข้าพเจ้าจักนำท่านไปที่ไหน" เมื่อพระมหาสัตว์ตรัสว่า "มิถิลานคร" นางจึงอุ้มพระมหาสัตว์ดุจคนยกกำดอกไม้ ใช้แขนทั้งสองประคองให้นอนแนบทรวง พาเหาะไปในอากาศเหมือนคนอุ้มลูกรัก พร้อมกันนั้นเทวดาได้กล่าวอดิเรกคาถาว่า


"ข้าแต่บัณฑิต วาจาอันมีปาฏิหารย์มิบังควรหายไปในอากาศ ท่านต้องให้สาธุชนได้รับพรแห่งโพธิญาณจากโอษฐ์ของท่าน ถึงกาลอันสมควรท่านจงตั้งสถาบันการศึกษา ให้ชื่อว่าโพธิยาลัยมหาวิชชาลัย ในกาลนั้นท่านจึงจะสำเร็จกิจที่แท้" คำว่า โพธิยาลัย หมายความว่า ที่อาศัยแห่งแสงสว่าง คำว่า มหาวิชชาลัย หมายความว่า ที่อาศัยแห่งความรู้อันยิ่งใหญ่



ในกาลนั้น พระเจ้าโปลชนกราชไม่มีพระโอรส มีแต่พระธิดาองค์หนึ่งพระนามว่า สีวลีเทวี เป็นหญิงฉลาดเฉียบแหลม อมาตย์ทั้งหลายได้ทูลถาม พระเจ้าโปลชนกราชเมื่อบรรทมอยู่บนพระแท่น มรณมัญจอาสน์ว่า "ข้าแต่พระมหาราช เมื่อพระองค์เสด็จสวรรคตแล้ว เหล่าข้าพระบาทจักถวายราชสมบัติแก่ใคร" พระราชาตรัสว่า "ท่านทั้งหลาย จงมอบราชสมบัติให้แก่ท่านที่สามารถยังสีวลีเทวีธิดาของเราให้ยินดี หรือผู้ใด รู้หัวนอนแห่งบัลลังก์สี่เหลี่ยม หรือผู้ใด อาจยกสหัสสถามธนูขึ้นได้ หรือผู้ใด อาจนำขุมทรัพย์ใหญ่สิบหกแห่งออกมาได้ ท่านทั้งหลาย จงมอบราชสมบัติให้แก้ผู้นั้น" อมาตย์ทั้งหลายกราบทูลว่า "ขอเดชะ ขอพระองค์ทรงตรัส อุทานปัญญาแห่งขุมทรัพย์เหล่านั้น แก่พวกข้าพระองค์" พระราชาจึงตรัสอุทานปัญหาของสิ่งอื่นๆ พร้อมกับขุมทรัพย์ทั้งหลายไว้ว่า



เมื่อพระเจ้าโปลชนกราชสวรรคต ถวายพระเพลิงพระบรมศพเสร็จแล้วอมาตย์ทั้งหลาย ได้ประชุมศึกษากันในวันที่ ๗ ถึงเรื่องที่พระราชธิดานั้นยินดี (เสนาบดีได้รับโอกาสเป็นคนแรก เสนาบดีไม่สามารถให้พระราชธิดายินดีกลับ ได้รับความอับอายขายหน้า คนอื่นๆ ก็มีความเป็นเช่นเดียวกัน ต่อไปก็ไม่มีใครสามารถยกสหัสถามธนูได้ ไม่มีใครรู้จักหัวนอนแห่งบัลลังก์สี่เหลี่ยม ไม่มีใครสามารถนำขุมทรัพย์ ๑๖ แห่งออกมาได้)


ปุโรหิตกล่าวว่าควรปล่อยผุสสรถ (ราชรถ) เพราะพระราชาที่เสด็จมาได้ด้วยผุสสรถ เป็นผู้สามารถจะครองราชสมบัติในชมพูทวีปทั้งสิ้น ราชรถแล่นไปสู่อุทยาน ทำประทักษิณแผ่นศิลามงคล แล้วไปหยุดใกล้ที่พระมหาสัตว์บรรทมอยู่ ชนทั้งหลายมีอมาตย์และปุโรหิตเป็นต้น ก็ถวายอภิเษกพระมหาสัตว์ ณ สถานที่นั้นเอง ต่อมาพระมหาสัตว์ สามารถไขปัญหาอุทานของพระโปลชนกราชทั้งสี่ข้อ แล้วตรัสถามว่า "ปัญหาอื่นอะไรยังมีอีกหรือไม่" อมาตย์ทั้งหลายกราบทูลว่าไม่มีแล้วพระเจ้าข้า มหาชนต่างร่าเริงแล้วว่า "โอ! อัศจรรย์ พระราชาองค์นี้เป็นบัณฑิตจริงๆ"



ต่อมาพระราชาโปรดให้เชิญพระมารดา และพราหมณ์มาแต่กาลจัมปากนคร ทรงทำสักการะสมโภชเป็นการใหญ่ มหาชนชาววิเทหรัฐทั้งสิ้นเอิกเริกกัน เฉลิมฉลองด้วยมหกรรมดนตรีพระมหาสัตว์ประทับ ณ พระราชอาสน์ทอดพระเนตรอยู่ ก็ทรงอนุสรณ์ถึงความพยายามที่พระองค์ได้ทรงทำในมหาสมุทร เมื่อท้าวเธอทรงอนุสรณ์ถึงความพยายามเช่นนั้นแล้ว จึงทรงมนสิการว่า ชื่อว่าความเพียรควรทำแท้ ถ้าเราไม่ได้ทำความเพียรในมหาสมุทร เราจักไม่ได้สมบัตินี้ เมื่อทรงอนุสรณ์ถึงความเพียรนั้น ก็เกิดปีติโทรมมนัสซาบซ่านจึงทรงเปล่งพระอุทานด้วยกำลังปีติ ตรัสว่า


"สิ่งที่มิได้คิดไว้จะมีก็ได้ สิ่งที่คิดไว้จะพินาศไปก็ได้ โภคะทั้งหลายของหญิงก็ตาม ของชายก็ตามมิได้สำเร็จด้วยเพียงคิดเท่านั้น"



ตั้งแต่นั้นมา พระมหาสัตว์ทรงบำเพ็ญทศพิธราชธรรม ครองราชสมบัติโดยธรรม ทรงบำรุงพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย กาลต่อมา พระนางสีวลีเทวีได้ประสูติพระราชโอรส ซึ่งสมบูรณ์ด้วยลักษณะแห้งความมั่งคั่ง และความมีบุญ พระชนกและพระชนนีพระราชทานพระนามว่า ทีฆาวุราชกุมาร เมื่อทีฆาวุราชกุมารทรงเจริญวัย พระราชทานอุปราชาภิเษก แล้งทรงครองราชสมบัติอยู่ ๗๐๐๐ ปี



วันหนึ่ง เมื่อนายอุทยานบาลนำผลไม้น้อยใหญ่ต่างๆ และดอกไม้ต่างๆ มาถวาย พระมหาสัตว์ทอดพระเนตรเห็นของเหล่านั้น ทรงยินดี ทรงยกย่องนายอุทยานบาลนั้น ตรัสว่า "ดูก่อนนายอุทยานบาล เราใคร่จะเห็นอุทยาน ท่านจงตกแต่งไว" นายอุทยานบาลรับพระราชดำรัสแล้วทำตามรับสั่ง แล้วกราบบังคมทูลให้ทรงทราบ พระมหาสัตว์ประทับบนทอช้าง เสด็จออกจากพระนครด้วยข้าราชบริพารเป็นอันมาก ถึงประตูพระราชอุทยาน ที่ใกล้ประตูอุทยานนั้นมีต้นมะม่วง ๒ ต้นมีใบเขียวชอุ่ม ต้นหนึ่งมีผล ต้นหนึ่งไม่มีผล ผลนั้นมีรสหวานเหลือเกิน ใครๆ ไม่อาจเก็บผลจากต้นนั้น เพราะผลซึ่งมีรสเลิศพระราชายังมิได้เสวย พระมหาสัตว์ประทับบนคอช้างทรงเก็บเอาผลหนึ่งเสวย ผลมะม่วงนั้นพอตั้งอยู่ที่ปลายชิวหาของพระมหาสัตว์ ปรากฏดุจโอชารสทิพย์ พระมหาสัตว์ทรงคิดว่า "เราจักกินให้มากเวลากลับ" แล้วเสด็จเข้าสู่พระราชอุทยาน



คนอื่นๆ มีอุปราชจนถึงคนรักษาช้าง รักษาม้ารู้ว่าพระราชาเสวยผลมีรสเลิศแล้วก็เก็บเอาผลมากิน ฝ่ายคนเหล่าอื่นยังไม่ได้ผลนั้น ก็ทำลายกิ่งด้วยท่อนไม้ ทำเสียไม่มีใบ ต้นก็หักโค่นลง มะม่วงอีกต้นหนึ่งตั้งอยู่งดงามดุจภูเขามีพรรณดังแก้วมณี พระราชาเสด็จออกจากพระราชอุทยานทอดพระเนตรดังนั้น จึงตรัสถามเหล่าอำมาตย์ว่า "มีอะไรกัน" เหล่าอำมาตย์กราบทูลว่า "มหาชนทราบว่าพระองค์เสวยผลรสเลิศแล้ว ต่างก็แย่งกันกินผลมะม่วงนั้น" พระราชาตรัสถามว่า "ใบและวรรณะของต้นนี้สิ้นไปแล้ว ใบและวรรณะของต้นนอกนี้ยังไม่สิ้นไปเพราะเหตุใด" อำมาตย์ทั้งหลายกราบทูลว่า "ใบและวรรณะของอีกต้นหนึ่งไม่สิ้นไปเพราะไม่มีผล" พระราชาได้สดับฟังดังนั้นได้ความสังเวช ทรงดำริว่า "ต้นนี้มีวรรณะสดเขียวทั้งต้นอยู่แล้วเพราะไม่มีผล แต่ต้นนี้ถูกหักโค่นลงเพราะมีผล แม้ราชสมบัตินี้ก็เช่นเดียวกับต้นไม้มีผล บรรพชาเช่นกับต้นไม้หาผลมิได้ ภัยย่อมมีแก่ผู้มีความกังวล ก็เราจักไม่เป็นเหมือนต้นไม้มีผล จักเป็นเหมือนต้นไม้หาผลมิได้"



พระราชาเสด็จสู่พระนคร เสด็จขึ้นปราสาทประทับที่พระทวารปราสาท ทรงมนสิการถึงวาจาของนางมณีเมขลา ในการที่นางอุ้มพระมหาสัตว์ขึ้นจากมหาสมุทร พระราชาทรงจดจำคำพูดของเทวดาไม่ได้ทุกถ้อยคำ เพราะพระสรีระเศร้าหมองด้วยน้ำเค็มตลอด ๗ วัน แต่ทรงทราบว่าเทวดากล่าวชี้ว่า พระองค์จะยังเข้ามรรคาแห่งความสุขไม่ได้ หากไม่กล่าวธรรมให้สาธุชนได้สดับ นางมณีเมขลาให้พระองค์ตั้งสถาบันการศึกษาให้ชื่อว่า ปูทะเลย์มหาวิชชาลัย แม้ในการนั้นก็จะสำเร็จกิจ และได้มรรคาแห่งบรมสุข พระมหาสัตว์ทรงดำริว่า "ทุกบุคคลจะเป็นพ่อค้าวาณิช เกษตรกร กษัตริย์หรือสมณะ ต้องทำหน้าที่ทั้งนั้น อย่างไรก็ตามก่อนอื่นเราต้องหาทางฟื้นฟูต้นมะม่วงที่มีผล" บัดนั้นจึงให้เรียกเสนาบดีมา ตรัสสั่งว่า "จงไปเชิญอุทิจจพราหมณ์มหาศาลให้มาพร้อมด้วยลูกศิษย์ ๒ - ๓ คน"



"อุทิจจพราหมณ์มหาศาลรีบมาเฝ้าพระราชา พร้อมด้วยลูกศิษย์สองคนคือ จารุเตโชพราหมณ์และคเชนทรสิงหบัณฑิต สองคนนี้ คนแรกชำนาญการปลูก คนที่สองชำนาญการถอนทันใดที่มาถึง คเชนทรสิงหบัณฑิต ก็ทรุดลงแทบพระบาทของพระราชาแล้วทูลว่า "ข้าพระองค์ผิดไปเอง เมื่อเหล่าอำมาตย์ขอให้ข้าพระองค์ช่วยเก็บมะม่วงถวายอุปราช ข้าพระบาทจึงนำเอายันตกลเก็บเกี่ยวมาใช้ มิได้คิดว่าจะทำให้ต้นมะม่วงถอนรากโค่นลงมา พระพุทธเจ้าข้าขอรับ" พระราชาตรัสว่า "อย่าโทมนัสไปเลยอาจารย์ผู้ดำริการ ต้นมะม่วงโค่นไปแล้ว ณ บัดนี้ปัญหาคือ ฟื้นฟูต้นมะม่วงได้อย่างไร เรามีวิธี ๙ อย่างที่อาจใช้ได้
เพาะเม็ดมะม่วง
ถนอมรากที่ยังมีอยู่ให้งอกใหม่
ปักชำกิ่งที่เหมาะแก่การปักชำ
เอมกิ่งดีมาเสียบยอดกิ่งของต้นที่ไม่มีผลให้มีผล
เอาตามาต่อกิ่งของอีกต้น
เอากิ่งมาทาบกิ่ง
ตอนกิ่งให้ออกราก
รมควันต้นที่ไม่มีผลให้ออกผล
ทำชีวาณูสงเคราะห์
ท่านพราหมณ์มหาศาลจงให้พราหมณ์อันเตวาสิกไปพิจารณา อุทิจจพราหมณ์รับสนองพระราชโองการว่า "ข้าพระองค์ผู้ทรงปัญญา จะให้คเชนทรสิงหบัณฑิต นำเครื่องยันตกลไปยกต้นมะม่วงให้ตั้งตรงทันที และจะให้จารุเตโชพราหมณ์เก็บเม็ดแซะกิ่ง ไปดำเนินการตามพระราชดำริ พระราชาโปรดให้สองคนนั้นรีบไป แต่ขอให้พราหมณ์มหาศาลคอยรับพระราชดำริต่อไป"



ครั้นอยู่ลำพังพระราชาตรัสกะพราหมณ์ว่า เราสงวนเรื่องนี้มาหลายเวลาแล้ว นับแต่คราวลงเรือสู่สุวรรณภูมินั้น ก่อนคลื่อนยักษ์มากระหน่ำนาวา เราได้ยินพาณิชชาวสุวรรณภูมิพูดกันเป็นภาษาสุวรรณภูมิว่า "โน่นปูทะเลยักษ์สู้กับปลาและเต่า" และว่าผู้ใดเหยียบปูนั้นได้จะเป็นผู้ยิ่งใหญ่หากทีความเพียรแท้ พราหมณ์ทูลว่า "ข้าพระองค์ก็เคยได้ยินเรื่องอย่างนี้ แต่ไม่ทราบว่ามีปูทะเลยักษ์ดังนี้หรือไม่" พระราชาตรัสต่อว่า "มีแน่แท้หลังจากได้กระโดดจากยอดเสากระโดงเรือ ลงทะเลพ้นจากปลาและเต่าก็ว่ายข้ามมหาสมุทรได้พักผ่อนเป็นคราวๆ บางครั้งก็รู้สึกเหมือนเหยียบพื้นทะเลได้คล้ายๆ ใกล้ถึงฝั่ง ดังเช่นบุคคลที่หกในจำพวกเจ็ดบุคคล ใน (อุทกูปมสูตรที่ ๕) แต่ที่แท้จริงเป็นปูทะเลยักษ์นั่นเอง" พราหมณ์ทูลว่า "ที่จริงแท้คือพระบุญญาธิการ"



กล่าวว่า โพธิยาลัยอันเป็นนามของฤษีดัด ตนที่วัดพระเชตุพนในเทวมหานคร เมืองสุวรรณภูมิ แต่หากจะเรียกว่าปูทะเลย์มหาวิชชาลัย ก็น่าจะเหมาะสมเหมือนกัน" พระราชาตรัสว่า "เห็นพระคุณของท่านอาจารย์ เราแน่ใจว่าถึงกาลที่จะตั้งสถาบันแล้ว เป็นสัจจะว่าควรตั้งมานานแล้ว เหตุการณ์ในวันนี้แสดงความจำเป็น นับแต่อุปราชจนถึงคนรักษาช้างคนรักษาม้า และนับตั้งแต่คนรักษาม้าจนถึงอุปราช และโดยเฉพาะเหล่าอำมาตย์ล้วนจาริในโมหภูมิทั้งนั้น พวกนี้ขาดทั้งความรู้วิชาการ ทั้งความรู้ทั่วไป คือความสำนึกธรรมดา พวกนี้ไม่รู้แม้แต่ประโยชน์ส่วนตน พวกนี้ชอบผลมะม่วงแต่ก็ทำลายต้นมะม่วง" พราหมณ์มหาศาลเห็นพ้องกับพระราชดำริและกล่าวว่า "พระราชาผู้เป็นบัญฑิต ข้าพระองค์ยังมีศิษย์ที่ไว้ใจได้ และจะประดิษฐานปูทะเลย์มหาวิชชาลัยได้แน่นอน มิถิลายังไม่สิ้นคนดี"



ที่มา..พระมหาชนก

หากสนใจกรุณาหาซื้อหนังสือมาเก็บสะสมไว้
ขอบคุณที่มาและทีมงานที่จัดทำครับ









 

Create Date : 26 สิงหาคม 2548
29 comments
Last Update : 26 สิงหาคม 2548 12:35:10 น.
Counter : 1491 Pageviews.

 

อ่านหมดแล้วค่ะ ทั้งที่อยู่ในพระเจ้าสิบชาติ แล้วก็ฉบับการ์ตูน ให้ข้อคิดดีมากๆ ค่ะ

ขอบคุณสำหรับรูปสวยๆ ที่เอามาให้ดูนะคะ

 

โดย: สายลมโชยเอื่อย 26 สิงหาคม 2548 10:50:32 น.  

 

ยาวจัง แต่ก็พยายามอ่านค่ะ รูปสวยมากเลย

 

โดย: นกน้อย IP: 203.126.247.28 26 สิงหาคม 2548 11:01:57 น.  

 

ชอบครับเรื่องนี้ สมควรแก่การสะสม (ว่าแต่โพสต์อย่างนี้ สำนักพิมพ์เขาไม่ว่าเอาเหรอครับ เดี๋ยวคนแห่มาอ่านกันหมด ไม่ซื้อหนังสือเขาละแย่เลย)

 

โดย: kaazanova 26 สิงหาคม 2548 11:49:57 น.  

 

หวัดDค่ะ แวะมาอ่านค่ะ ขอบคุณสำหรับ comment นะคะ

 

โดย: ทูน่าค่ะ 26 สิงหาคม 2548 13:24:50 น.  

 

ชอบอ่านเรื่องแนวนี้เลยนะค่ะ ชอบจัง สนุกดีด้วย

 

โดย: JewNid 26 สิงหาคม 2548 13:42:02 น.  

 

สวัสดีค่ะ มาเยี่ยมค่ะ

แล้วก็มาอ่านเรื่องดีๆ เช่นนี้ด้วย

ขอบคุณที่ไปเยี่ยมนะคะ

 

โดย: ด๊องแด๊งค่ะ! 26 สิงหาคม 2548 14:04:50 น.  

 

 

โดย: uggie* 26 สิงหาคม 2548 14:32:50 น.  

 







...

 

โดย: ขอบคุณที่รักกัน (blueberry_cpie ) 26 สิงหาคม 2548 14:37:58 น.  

 

รูปประกอบสวยมากค่ะ
ยังไม่ได้อ่านหนังสือเรื่องนี้ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นมาเลยค่ะ

 

โดย: ZAZaSassY IP: 203.146.79.178 26 สิงหาคม 2548 15:09:00 น.  

 

อ่านได้ ครึ่งหนึง แต่ว่าเจ้านายมาซ่ะก่อน เลย save ลง wordpad ไว้อ่านต่อแล้ว ฮิๆ

 

โดย: merf1970 26 สิงหาคม 2548 15:40:16 น.  

 

เด๋วดึกๆๆมาอ่านนะ

 

โดย: ปลาทูน่าในบ่อปลาพยูน 26 สิงหาคม 2548 15:59:14 น.  

 

สวัสดีค่า ขอมาทักทายนะคะ

 

โดย: กาญจน์ฏี 26 สิงหาคม 2548 16:08:23 น.  

 

แวะมามุง
ขอบคุณที่ไปเยือนนะคะ

=)

 

โดย: hunjang 26 สิงหาคม 2548 16:29:25 น.  

 

ที่โรงเรียนเคยพาไปดูพระมหาชนกที่โรงละครกรุงเทพ

เมื่อนานมาแล้ว สมัยอยู่ม.1 ตื่นเต้นน่าดูเชียว ตอนนั้น

 

โดย: wmvcore 26 สิงหาคม 2548 18:02:09 น.  

 

สุ๊ดยอด

 

โดย: ตี๋น้อยคับ 27 สิงหาคม 2548 2:06:28 น.  

 

เหอ ๆ เรานี่แย่จัง แนะนำให้เด็กอ่าน
แต่เรายังไม่เคยอ่าน "พระมหาชนก" เลยสักครั้ง
มาอ่านในนี้แล้วชอบจัง ดีนะที่ blog นี้มีให้อ่าน
มากล่าวอรุณสวัสดิ์ และราตรีสวัสดิ์จ๊ะ

 

โดย: blueblood@มาทุกวัน!!!! ^o^ 27 สิงหาคม 2548 2:51:01 น.  

 

เคยอ่านแต่แบบการ์ตูน
แบบนี้ภาพสวยจัง ไม่ได้อ่านนานแล้วอีกต่างหาก
ก็ยังสนุกเหมือนเดิม

 

โดย: nanaosan 27 สิงหาคม 2548 6:53:02 น.  

 

แวะมาเมนต์ก่อนเดี๋ยวค่อยๆอ่าน ขอบคุณคุณตี๋น้อยที่เอามาฝากนะคะ
พิมพ์ทั้งหมดเลยป่ะคะ ขยันจัง

 

โดย: lisalee 27 สิงหาคม 2548 7:20:37 น.  

 

แวะเข้ามาเยี่ยมชมความพยายามคะ

 

โดย: Pojjy IP: 61.91.46.49 27 สิงหาคม 2548 19:27:49 น.  

 

แวะเข้ามาเยี่ยมชม และขอชมในความมีวิริยะ ทั้งยังมีความเป็นกัลยาณมิตรด้วย...

 

โดย: chainoi IP: 221.128.99.155 21 พฤศจิกายน 2549 12:25:53 น.  

 

ขอบคุงค่ะ เรื่องสนุกมากๆเลย

 

โดย: เมย์ IP: 203.156.0.113 18 พฤษภาคม 2550 17:43:23 น.  

 

ชอบเพลงง่าค่ะ หุหุ อยากได้จัง up ให้หน่อยได้ป่าวคะ ขอบคุนล่วงหน้าคร้า

 

โดย: ??? IP: 61.19.120.101 2 มิถุนายน 2550 17:30:21 น.  

 

ชอบจิงๆเลยนะหนังสือเล่มนี้

 

โดย: แพลว IP: 125.27.120.211 9 พฤศจิกายน 2550 15:11:53 น.  

 

ชอบมากกกก.......

 

โดย: นุ IP: 125.26.153.117 13 สิงหาคม 2551 18:24:06 น.  

 

very bad and bord

 

โดย: pond IP: 203.151.155.51 15 สิงหาคม 2551 12:35:15 น.  

 

kuyandsex

 

โดย: lop IP: 203.151.155.51 15 สิงหาคม 2551 12:36:00 น.  

 

ไอบ้า

 

โดย: superบ้า IP: 203.151.155.51 15 สิงหาคม 2551 12:37:04 น.  

 

น่าจะมีแบบฉบับการ์ตูนบ้างเพราะหนูหาเนื้อหาทำรายงานไม่ได้เลยค่ะ

 

โดย: เด็กสาธิตราม1 IP: 124.120.36.88 13 พฤศจิกายน 2551 21:42:52 น.  

 

เนื้อเรื่องเยอะอ่ะน่ะอยากเอาเนื้อเรื่องที่มันเยอะกว่านี้อ่ะ มีที่เว็บไหนบ้างบอกที

 

โดย: ไกรสร เด็กปากพนัง IP: 180.183.76.14 4 กันยายน 2554 12:27:29 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


Zantha
Location :
ภูเก็ต Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]






ตี๋น้อย...
น่ารักที่สุดแร๊ววว....

รักตี๋น้อย..น้อยๆ..
แต่รักให้นานๆน่ะครับ


ส่งข้อความถึงตี๋น้อยได้ที่นี่












Google



all webpantip



Mesothelioma Attorney

widget

Friends' blogs
[Add Zantha's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.