ตักบาตร


ตักบาตร



สาระ ที่บางคนยังไม่เคยทราบ




# 01 ความสำคัญ



การตักบาตร คือ การถวายอาหารแด่พระภิกษุสามเณร รูปเดียวหรือหลายรูป จะปฏิบัติ
เป็นประจำหรือเป็นครั้งคราวก็ได้


การตักบาตร เป็นประเพณีที่พุทธศาสนิกชนควรปฏิบัติ เพราะเป็นการให้กำลังแก่พระภิกษุสามเณร ให้ได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียนประพฤติปฏิบัติธรรมตามพระธรรมวินัย ได้สั่งสอนประชาชนเป็นการสืบต่อพระพุทธศาสนาให้มั่นคงถาวรสืบไป


และจะเป็นผลดีต่อผู้ปฏิบัติด้วย เพราะจะทำให้ผู้ตักบาตรเป็นผู้ให้ ผู้สละ มีจิตใจเบิกบานสบายใจ ยิ่งกว่านั้น ตามความเชื่อถือตั้งแต่โบราณ เชื่อว่าเป็นการแผ่ส่วนกุศลให้กับญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว โดยเชื่อกันว่าอาหารที่ถวายไปนั้นจะส่งถึงญาติผู้ล่วงลับด้วย








การทำบุญตักบาตร มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล เมื่อพระพุทธองค์ทรงผนวชใหม่ๆ ยังไม่ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ขณะที่พระพุทธองค์เสด็จบิณฑบาตผ่านกรุงราชคฤห์ เมืองหลวงของแคว้นมคธ ชาวเมืองเห็นพระมาบิณฑบาต ก็ชวนกันนำอาหารมาตักบาตรเป็นครั้งแรก



และเมื่อพระพุทธองค์ตรัสรู้ใหม่ๆ ประทับอยู่ที่ดงไม้เกด มีพ่อค้า 2 คน นำข้าวสัตตุก้อน และสัตตุผง ซึ่งเป็นเสบียงสำหรับการเดินทางเข้าไปถวาย พระพุทธองค์ทรงรับไว้ด้วยบาตร นี่ก็เป็นที่มาของการตักบาตรทางพระพุทธศาสนาด้วยอีกประการหนึ่ง









# 02 กฎของพระภิกษุ



พระภิกษุจะออกบิณฑบาตทุกวัน อันเนื่องมาจากกฎที่มีอยู่ว่า พระภิกษุไม่สามารถที่จะเก็บอาหารข้ามคืนได้


เวลาที่พระภิกษุออกบิณฑบาต พระภิกษุจะใช้ 2 มือประคองบาตรเอาไว้ แล้วเดินในกิริยาสำรวม พระภิกษุจะไม่เอ่ยปากขออาหารจากผู้คน หรือแสดงกิริยาในการขอ


โดยส่วนมาก ช่วงเวลาที่พระภิกษุออกบิณฑบาตคือ ช่วงเช้ามืด (ประมาณ 5 นาฬิกา) จนถึงก่อน 7 นาฬิกา เพราะช่วงเวลา 7 นาฬิกา จะเป็นช่วงเวลาที่พระภิกษุฉันอาหารมื้อเช้า



เมื่อมีคนให้ทาน พระภิกษุต้องรับทานที่คนให้ทั้งหมด ไม่สามารถที่จะเลือกได้ว่า จะรับหรือไม่รับ หรือบอกกับผู้คนว่า ตนต้องการรับสิ่งนั้นสิ่งนี้



แต่อย่างไรก็ตาม มีทานบางชนิดที่พระภิกษุไม่ต้องรับ คือ


1. ทานที่ได้มาโดยวิธีการทุจริต เช่น ได้มาจากการขโมย และพระภิกษุรู้ว่าบุคคลผู้นั้นได้ขโมยของนั้น เพื่อที่จะนำมาให้ทานแก่ตน


2. เนื้อสัตว์ที่ต้องห้ามตามหลักศาสนาพุทธ เช่น เนื้อคน, เนื้อช้าง เป็นต้น


3. เนื้อสัตว์ที่ได้มาจากการที่บุคคลตั้งใจที่จะฆ่าสัตว์ โดยมีจุดประสงค์หลักคือเพื่อที่จะนำเนื้อมาถวายพระภิกษุโดยเฉพาะ และพระภิกษุรู้ว่าเนื้อนั้นมาจากการฆ่า เพื่อที่จะนำมาถวายตนโดยเฉพาะ


4. ผลไม้ที่มีเมล็ด เพราะถือว่าเมล็ดนั้นยังสามารถที่จะให้กำเนิดชีวิตได้ ถ้าจะถวายต้องเอาเมล็ดออกเสียก่อน


5. วัตถุดิบในการปรุงอาหาร เช่น ข้าวสาร, แป้ง เพราะตามหลักของศาสนาพุทธนั้น ไม่อนุญาตที่จะให้พระภิกษุประกอบอาหาร



อนึ่ง ในปัจจุบัน กฎข้อที่ 4 และ 5 สามารถอนุโลมได้ เนื่องจากชีวิตในสังคมปัจจุบันที่เร่งรีบ ทำให้ผู้คนไม่อาจมีเวลาเตรียมอาหาร หรือแกะเมล็ดออกจากผลไม้ และในวัดไกลๆ ผู้ที่ทำหน้าที่ในการเตรียมอาหาร ก็จะเป็นหน้าที่ของเด็กวัด





ปางอุ้มบาตร เป็นชื่อเรียกของพระพุทธรูปลักษณะ ทำนั่งขัดสมาธิอย่างปางสมาธิ หรือท่ายืน พระหัตถ์ทั้งสองประคองถือบาตร เป็นพระพุทธรูปประจำวันเกิด ของคนที่เกิดวันพุธ(กลางวัน)








# 03 บาตรที่ตรงตามหลักพระธรรมวินัย








บาตร เป็นภาชนะจำเป็นของพระภิกษุ ที่จะขาดเสียมิได้ นับเข้าไว้อยู่ในจำนวนเครื่องจำเป็นของพระภิกษุ ซึ่งมี 8 อย่าง หรือเครื่อง "อัฐบริขาร" ได้แก่ สบง(ผ้านุ่ง) จีวร(ผ้าห่ม) สังฆาฏิ (ผ้าพาดบ่า) ประคดเอว บาตร มีดโกนหรือมีดตัดเล็บ เข็ม และกระบอกกรองน้ำ


หมายเหตุ : ไม่มี เสื่อ หมอน ร่ม รองเท้า สบู่ ขันน้ำ หรือตาลปัตร อยู่ในเครื่องอัฐบริขารสมัยดั้งเดิมจนถึงสมัยต้นรัตนโกสินทร์ …ตาลปัตรมาเพิ่มขึ้น ในสมัยปัจจุบัน(ในบางท้องถิ่น)



แม้ว่าปัจจุบันจะมีการผลิตบาตรพระหลายรูปแบบออกมาจำหน่าย แต่บาตรพระที่มีลักษณะตรงตามหลักพระธรรมวินัย ที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ มี 2 ชนิดเท่านั้น คือ ‘บาตร ดินเผา’ และ ‘บาตรเหล็กรมดำ’ โดยควรมีขนาด 7-11 นิ้ว อีกทั้งพระพุทธองค์ ยังทรงบัญญัติห้ามไม่ให้พระภิกษุใช้บาตรที่ทำจากโลหะหรือวัสดุที่มีมูลค่าสูง เช่น ทอง เงิน ทองเหลือง ทองแดง อัญมณี และแก้วผลึกต่างๆ แม้แต่บาตรที่ทำจากดีบุก สังกะสี หรือไม้ ก็ใช้ไม่ได้



อย่างไรก็ดี ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ในปัจจุบันวัดบางแห่งจึงอนุโลมให้ใช้ บาตรที่ทำจากสแตนเลส เนื่องจากสะดวกในการดูแลรักษาและทำความสะอาดง่าย จึงเป็นที่นิยมในหมู่สงฆ์



ส่วนฝาบาตรนั้น ในสมัยพุทธกาลจะทำจากไม้ แต่ปัจจุบันเปลี่ยนมาใช้ ฝาสแตนเลสแทน เนื่องจากฝาบาตรที่ทำจากไม้มีปัญหาแตกหักง่าย แต่พระระดับเกจิ ในภาคอีสานบางรูป ก็ยังคงใช้ฝาบาตรที่ทำขึ้นจากไม้อยู่ โดยนำไม้มะค่าหรือไม้ประดู่ มากลึงให้ได้รูปทรงเข้ากับตัวบาตร








นอกจากนั้นพระพุทธเจ้ายังทรงบัญญัติว่า ห้ามพระภิกษุใช้บาตรที่มีขนาดเกิน 11 นิ้ว เนื่องจากในสมัยพุทธกาล มีภิกษุรูปหนึ่งโลภมาก จึงใช้บาตรลูกใหญ่ในการบิณฑบาต หากบิณฑบาตได้อาหารดีๆ ก็จะนำไปซ่อนไว้ลึกๆใต้ก้นบาตร เพื่อที่จะได้ฉันคนเดียว แต่เมื่อฉันไม่หมด อาหารจำนวนมากก็เน่าเสีย ต้องเททิ้ง ขณะที่พระบางรูป ไม่มีอาหารจะฉัน พระพุทธเจ้าทราบดังนั้น จึงทรงบัญญัติ “ห้ามไม่ให้ใช้บาตรที่มีขนาดใหญ่เกินไป”



พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติพระธรรมวินัย เกี่ยวกับการใช้บาตรของพระภิกษุสงฆ์ ไว้หลายประการ เช่น ในการบิณฑบาตให้พระภิกษุรับบาตรได้ไม่เกิน 3 บาตร ซึ่งหมายถึงว่า เมื่อบิณฑบาตจนเต็มแล้ว สามารถถ่ายของออกจากบาตร และรับบาตรได้อีกไม่เกิน 3 ครั้ง



เวลาบิณฑบาต ห้ามสะพายบาตรไว้ด้านหลัง เพื่อป้องกันไม่ให้บาตร ไปชนอะไรแตกหักเสียหาย, ห้ามเปิดประตูขณะที่มือถือบาตรอยู่ เพราะอาจทำให้บาตรหล่นและแตกหักได้ ต้องวางบาตรให้ เรียบร้อยก่อน แล้วจึงค่อยเปิดประตู



ขณะที่ถือบาตรอยู่ ห้ามห่มจีวร ต้องวางบาตรให้เรียบร้อยก่อน จึงจะทำการขยับหรือนุ่งห่มจีวร



ห้ามวางบาตรชิดขอบโต๊ะ โดยต้องวางให้ห่างจากขอบโต๊ะ อย่างน้อย 1 ศอก เพื่อป้องกันบาตร ตกแตกเสียหาย









ส่วนสีของบาตรพระ ส่วนใหญ่จะนิยมสีดำเป็นหลัก โดยนำบาตรไปเผาจนดำ รอให้เย็น จากนั้นจึงนำน้ำยาที่ทำจากส่วนผสมของใบขี้เหล็ก แอลกอฮอล์ และชะแล็ก มาทาให้ทั่วทั้งด้านนอกและด้านในบาตร ตากให้แห้ง แล้วนำไปรมควันอีกครั้ง ถ้าอยากให้สีดำสนิทก็ให้ทาน้ำยา หลายๆเที่ยว นอกจากนั้น ปัจจุบันยังมีการทำให้เกิดลวดลาย ด้วยการใช้ค้อนค่อยๆตีให้ขึ้นลาย ซึ่งเรียกกันว่า ‘บาตรตีเม็ด’




สำหรับราคาของบาตรพระ ขึ้นอยู่กับขนาดและวิธีการทำ บาตรบุ (บาตรที่ทำขึ้นด้วยมือ ประกอบด้วยเหล็ก 8 ชิ้นนำมาเชื่อมต่อกัน มิใช่บาตรหล่อหรือปั๊ม ซึ่งผลิตด้วยเครื่องจักร) จะมีราคาแพงกว่า บาตรปั๊มสแตนเลส โดยบาตรขนาด 7 นิ้ว หากเป็นบาตรบุ ราคา 900 บาท ส่วนบาตรปั๊ม มีราคา 600 กว่าบาท บาตรขนาด 8.5 นิ้ว บาตรบุ ราคา 1,400 บาท ส่วนบาตรปั๊ม ราคา 650 บาท สำหรับบาตรขนาดมาตรฐาน 9 นิ้ว บาตรบุ ราคา 1,500 บาท และบาตรปั๊ม ราคา 1,700 บาท






# 04 การบิณฑบาต









โดยปกติ พระภิกษุสามเณรจะเดินเรียงลำดับอาวุโส เป็นแถวตอน ไปบิณฑบาตตามละแวกบ้าน เมื่อถึงหมู่บ้านที่ชาวบ้านกำลังรออยู่ ก็จะยืนเรียงเป็นแถว แต่ในกรุงเทพฯ หรือในบางจังหวัด พระภิกษุสามเณรมักจะเดินไปตามลำพัง ไม่ได้เดินเรียงเป็นแถว ทั้งนี้เพราะพระภิกษุสามเณรในกรุงเทพฯ มีเป็นจำนวนมาก รถบนถนนก็มีเป็นจำนวนมาก จึงไม่สะดวกที่จะเดินเรียงแถวกันไป และผู้ที่จะนำอาหารมาตักบาตร จะตักบาตรได้ไม่ครบทุกรูปด้วย



เมื่อพระภิกษุสามเณรต้องออกบิณฑบาตตอนเช้าทุกวัน ชาวบ้านก็มักจะตักบาตรทุกวัน แต่บางคนจะตักบาตรเฉพาะในรอบวันเกิดประจำปี จะตักบาตรพระจำนวนเท่าอายุหรือเกินกว่าอายุ ถ้าเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ก็มักจะพากันไปทำบุญตักบาตรที่วัด



แต่ในบางครั้ง เช่น ในเทศกาลปีใหม่ เทศกาลสงกรานต์ หรือเทศกาลพิเศษขององค์กร ก็จะมีการชุมนุมตักบาตรกันในที่ที่กำหนดไว้ เช่น สนามหลวง พุทธมณฑล ในโรงเรียน หรือในองค์กร แล้วแต่จะนัดหมายกัน









นอกจากนั้น ยังมีการตักบาตรที่มีชื่อเฉพาะอีก เช่น ตักบาตรเทโว ตักบาตรข้าวสาร และตักบาตรดอกไม้ธูปเทียน เป็นต้น









การตักบาตรในวันพระ โดยทั่วไปพระภิกษุจะไม่มีการออกบิณฑบาตในวันพระ ชาวพุทธ จะนิยมไปทำบุญตักบาตรกันที่วัด ในวันพระ ขึ้น/แรม 8/15ค่ำ







และวันนั้น พระภิกษุจะมีการเทศนาธรรมที่วัด และยังจะได้พบปะเพื่อนฝูง ญาติธรรม แสดงออกถึงความสามัคคีของคนในชุมชนที่ได้มาทำกิจกรรมร่วมกันที่วัด





# 05 การตักบาตร เป็นสังฆทาน








การตักบาตร เป็นสังฆทานอย่างหนึ่ง เป็นการถวายของให้พระโดยไม่เจาะจง จึงควรจะตั้งใจไว้ตั้งแต่ทีแรกเลยว่า จะไม่เลือกพระภิกษุสงฆ์สามเณรรูปหนึ่งรูปใด เมื่อพระภิกษุสามเณรรูปใดผ่านมา ก็ตั้งใจตักบาตรแก่พระภิกษุสามเณรรูปนั้น และรูปอื่นๆ ไปตามลำดับ โดยควรปฏิบัติดังนี้



1. จัดเตรียมอาหารที่สะอาด ถูกสุขลักษณะ ใส่ภาชนะเรียบร้อย มากหรือน้อยตามความต้องการ


2. นำอาหารที่เตรียมไว้ ไปคอยตักบาตรตรงทางที่พระภิกษุเดินผ่าน โดยก่อนจะตักบาตร ควรจะตั้งจิตถวายด้วยความศรัทธาและเคารพ กล่าวคือ นำ ขันข้าว และถาดอาหาร มาจบที่ศีรษะแล้วอธิษฐาน




ชาวลาวในหลวงพระบาง นั่งรอตักบาตร







3. ขณะที่ตักบาตร ควรอยู่ในอาการสำรวมและเคารพ ควรจะถอดรองเท้า(เพราะพระสงฆ์สามเณรจะถอดรองเท้าขณะออกบิณฑบาต) ควรจะสวมเสื้อผ้าสะอาด ไม่โป๊ เมื่อตักบาตรเสร็จแล้ว ควรแสดงความเคารพด้วยการยกมือไหว้ หากต้องใช้มือหยิบข้าวเหนียวใส่ในบาตร ควรจะล้างมือและเช็ดมือให้แห้ง


4. หลังจากตักบาตร แล้วพระจะให้พร ผู้ที่ตักบาตรจะประนมมือรับพร (โดยปกติ จะนิยมคุกเข่าหรือนั่งยองๆ ประนมมือ) ขณะที่ให้พร ผู้ตักบาตรอาจจะกรวดน้ำเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ล่วงลับ (การกรวดน้ำนั้น อาจจะกระทำในขณะที่พระให้พรหรือหลังจากการตักบาตรเสร็จสิ้นก็ได้)



คำอุทิศส่วนกุศลในการตักบาตร จะใช้ภาษาบาลีหรือภาษาไทยก็ได้ ดังนี้


"สุทินนัง วะตะเม ทานัง อาสะวักขะยาวะหัง โหตุ" …แปลว่า “ทานของเราให้แล้วด้วยดี ขอจิตข้าพเจ้าจงสิ้นจาก อาสวกิเลสเทอญ"


หรือ “ อิทัง เม ญาตินัง โหตุ” ….แปลว่า “ขออุทิศส่วนแห่งบุญกุศล จงสัมฤทธิ์ผลแก่ญาติของข้าพเจ้าด้วยเทอญ”










อนึ่ง การตักบาตรจะสมบูรณ์พร้อม เมื่อประกอบด้วยองค์ประกอบสำคัญ 3 ประการ คือ


1. เตรียมใจให้พร้อมก่อนจะตักบาตร ข้อนี้ถือว่าสำคัญมาก เพราะบุญที่แท้จริง จะอยู่ที่ใจของผู้ตักบาตร


พระท่านแนะนำว่า ให้รักษาเจตนาบริสุทธิ์ทั้ง 3 ขณะ คือ

• ก่อนถวาย ตั้งใจเสียสละอย่างแท้จริง

• ขณะถวาย มีจิตใจเลื่อมใส และถวายด้วยความเคารพ

• หลังจากถวาย ต้องยินดีในทานของตนเอง มีจิตใจเบิกบาน ไม่รู้สึกว่าเสียดายสิ่งของ หรือไม่รู้สึกผิด ว่าน่าจะทำให้ดีกว่านี้


เพราะหากใจไม่บริสุทธิ์ทั้ง 3 ขณะ จะทำให้จิตใจของผู้ให้ เศร้าหมอง วิตกกังวล และไม่เบิกบาน



ฉะนั้น ถ้าหากจิตใจของผู้ให้ ยังไม่พร้อมที่จะตักบาตร ก็ไม่ควรจะฝืนใจตักบาตร ในช่วงเวลานั้น เพราะยังมีโอกาสและยังมีวิธีทำบุญ วิธีสละกิเลส และวิธีทำจิตใจให้ผ่องใส ในโอกาสอื่น และโดยวิธีอื่นอีกมาก



2. ผู้รับ คือ พระภิกษุสามเณร เป็นผู้สำรวมระวัง มีข้อวัตรปฏิบัติที่ดีงามตามพระธรรมวินัย ใฝ่ศึกษาเล่าเรียน นำมาบอกกล่าวแนะนำสั่งสอนประชาชน และเป็นผู้ประพฤติปฏิบัติเพื่อบรรเทาราคะ โทสะ โมหะจนสามารถ ละขาดได้



3. สิ่งของที่จะถวาย จะต้องได้มาด้วยวิธีสุจริต ไม่เบียดเบียนต่อคนใกล้ชิดและทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน และสิ่งของนั้นจะต้องเหมาะสมต่อพระภิกษุสามเณร







# 06 กระทู้ถามตอบ : ตักบาตรพระ 1 องค์ กับตักบาตรพระ นานๆครั้ง 5 องค์








อยากถามว่าถ้าเราตื่นไปตักบาตรพระ วันละ 1 องค์ กับตื่นไปตักบาตรพระ วันอาทิตย์วันเดียวเลย แต่ 5 องค์ จะมีอานิสงส์ผลบุญแตกต่างกันไหมคะ?

จาก : ทิภาพร - 06/07/2002 00:20




การให้ทาน คล้ายกับการให้อาหาร พระภิกษุต้องฉันอาหารทุกวัน ผู้ให้ทานถ้าให้ทานทุกวัน พระท่านย่อมยังชีพอยู่ได้

การให้ทานทุกวัน เมื่อผลให้สมบูรณ์ เราย่อมแสวงหาทรัพย์ได้ง่ายทุกวัน ส่วนการให้ทาน นานๆครั้งแต่ให้ปริมาณมาก ย่อมมีผลทำให้ลาภที่ได้เป็นครั้งคราว แต่มีปริมาณมากนั่นเอง

ทั้งนี้จะต้องขึ้นอยู่กับจิตใจของเราด้วย

จาก : อ.กอบเกียรติ - 18/07/2002 11:56




การทำทานก็ถือเป็นการต่ออายุพระพุทธศาสนา จะทำกี่วันก็ได้ กี่ครั้งก็ได้ แต่ขอให้ทั้งผู้ให้ ผู้รับ และวัตถุนั้น บริสุทธิ์ ……ใจของเรา ต้องปิติในบุญ ถึงจะได้บุญมาก แต่ถ้าทำทุกวันก็จะดีค่ะ ดวงทานบารมีในตัวเราจะได้โตใหญ่ เป็นทิพยสมบัติข้ามภพข้ามชาติเลยนะคะ

จาก : ปราง เด็กมจธ. - 23/12/2002 12:29




ปกติแล้วจะตักบาตรทุกวันเกิด แต่ตอนหลังเปลี่ยนมาเป็นทุกวันอาทิตย์แทน เพราะไม่ต้องการเร่งรีบ จิตใจจะได้สงบ

จาก : สุวิมล ใคร่ครวญ - 25/01/2004 18:42




เราควรทำทาน เพราะพระก็เหมือนคน ผมว่าทำทุกวันวันละ1 องค์ ดีกว่าครับ เพราะพระต้องการทานทุกวัน ดังนั้นผมว่าทำทุกวัน วันละ1องค์ ดีกว่าครับ

จาก : ชัชชาติ - 26/02/2004 09:12




ใครเคยเห็นการตักบาตรแบบแปลกๆ บ้างมั้ยครับ อย่างเช่น ตักบาตรด้วยหนังสือพิมพ์ทุกเช้า มีที่ไหนช่วยบอกด้วย หรือตักบาตรด้วยอย่างอื่น

จาก : ตักบาตรแบบแปลก - 20/10/2004 15:43




การทำทาน คือ การให้ แบบไม่หวังสิ่งตอบแทน ให้ด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์ และสิ่งของหรือวัตถุที่ให้ควรจะเป็นสิ่งของที่บริสุทธิ์ ฉะนั้นไม่จำเป็นจะต้องใช้ข้าวสวยตักบาตรเสมอไปก็ได้

จาก : สริตา - 19/06/2005 07:24




การตักบาตร ควรจะตักทุกวัน วันละรูป ดีกว่าตักบาตรทีเดียว วันอาทิตย์ 5 รูป เหมือนกันกับการที่คุณทานข้าว คุณรวบยอดทานข้าวทีเดียว 5 จานในวันอาทิตย์ หรือคุณจะทานข้าวทุกวัน ดี

จาก : แพ็ต - 16/10/2005 22:29




การทำบุญเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ในวันสำคัญหรือวันมงคล เราควรจะต้องขยันตื่นแต่เช้าไปทำบุญตักบาตร เพราะเราต้องทำบุญและแผ่ส่วนกุศลให้ผู้ที่ตายไปแล้วด้วย การทำบุญเป็นสิ่งที่ดีนะคะ เราต้องช่วยกันทำบุญทุกวัน หนูชอบการทำบุญมากแต่หนูไม่ได้ทำทุกวัน หนูไม่ว่าง แต่หนูก็จะพยายามทำให้มากเท่าที่จะทำได้

จาก : อยากทำบุญ - 28/01/2006 10:24




ทำบุญ ควรทำด้วยใจบริสุทธิ์ จะได้บุญที่สะอาด และจิตใจผ่องใส

จาก : อำนวยชัย งามเจริญไพศาล - 2/06/2006 21:00





# 07 กระทู้ถามตอบ : เวลาบิณฑบาต ทำไมพระสงฆ์ไม่ต้องใส่รองเท้า?








ผมไม่เข้าใจว่าทำไมพระท่านจึงไม่ใส่รองเท้า เวลาบิณฑบาต

เลย์ [ วันจันทร์ ที่ 1 สิงหาคม 2548 เวลา 04:28 น. ]




พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระดำเนินด้วยพระบาทเปล่าตลอด 45 พรรษา ไม่ว่าจะเป็นขณะบิณฑบาต หรือเดินทาง แต่พระองค์ทรงอนุญาตให้ภิกษุสวมรองเท้าชั้นเดียวได้ ชนิดที่ไม่สวยและไม่หนาจนเกินไป เพราะทรงเห็นถึงความลำบาก ของภิกษุที่ยังไม่บรรลุกำลังแห่งอภิญญาหรือมีจิตหลุดพ้น


ขณะบิณฑบาต พระภิกษุจึงไม่สวมรองเท้าเป็นประเพณีปฏิบัติสืบต่อกันมา เพื่อเคารพพระจริยาวัตรของพระผู้มีพระภาคเจ้า


เจริญในธรรมเจ้าค่ะ

ศรีรัตน์ [ 1 ส.ค. 2548 เวลา 08:09 น. ]




เคยอ่านเรื่องนี้เหมือนกัน..จำได้คร่าวๆว่า....


ผู้คนในสมัยพุทธกาล...จะใส่รองเท้าเฉพาะพวกเศรษฐี..พระราชา... แสดงฐานะที่สูงกว่า...ชาวบ้าน ซึ่งไม่ใส่รองเท้ากัน ก็เดินตีนเปล่า...เป็นปกติวิสัยในสมัยนั้น...


เวลาพระไปบิณฑบาต...ใส่รองเท้า..ชาวบ้านก็จะตำหนิ หาว่ายังไม่ทิ้งฐานะเดิม....การเป็นผู้รับทานจากชาวบ้าน...ไม่ควรจะทำตัวสูงกว่าผู้ให้...


พระท่านจึงไม่ใส่รองเท้า...ให้เหมือนชาวบ้าน... เป็นการป้องกันข้อตำหนิของชาวบ้าน..ซึ่งเป็นผู้ให้.....


แต่ในเวลาเดินทาง...พระสงฆ์ท่านก็ใส่รองเท้าได้...จะเว้นก็ตอนบิณฑบาตเท่านั้น เพื่อเป็นการรับบิณฑบาตจากผู้ให้ ด้วยความเคารพในทาน


การถวายรองเท้าให้พระ...มีอานิสงส์ช่วยให้ปลอดภัยจากอุบัติเหตุ มีมาในเรื่องพระมหาชนก...เหตุที่พระมหาชนก ทรงรอดชีวิตจากเรือแตกได้...(คนอื่นตายหมด) ก็เพราะสาเหตุที่เคยถวายรองเท้าให้พระปัจเจกพระพุทธเจ้า...ในสมัยที่เป็นสังขพราหมณ์......


ปัจจุบันการออกรถใหม่ป้ายแดง..มักจะนำไปให้หลวงพ่อช่วยเจิมรถ..เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ...
ทางที่ดี...ควรที่จะถวายรองเท้าให้พระ... และขออธิษฐาน ให้เดินทางราบรื่น..สะดวก..สวัสดี..
ดูจะมีอานิสงส์ดีกว่า...


รองเท้านั้น..เปรียบเหมือนยานพาหนะ...อันได้แก่ ช้าง ม้า รถ รองเท้า...


มีคำบาลีที่พระพุทธองค์แสดงไว้...

อนฺนโท พลโท โหติ....ผู้ให้ข้าว ชื่อว่าให้กำลัง

วตฺถโท โหติ วณฺณโท....ผู้ให้ผ้า ชื่อว่าให้ผิวพรรณ

ทีปโท โหติ จกฺขุโท ....ผู้ให้ประทีปโคมไฟ ชื่อว่าให้ดวงตา

ยานโท สุขโท โหติ....ผู้ให้ยาน ชื่อว่าให้ความสุข

สพฺพทโท โหติ โย ททาติอุปสฺสยํ....ผู้ให้ที่อยู่อาศัย ชื่อว่าให้ทุกสิ่งทุกอย่าง


ดังนั้นการถวายรองเท้า...จึงมีความสำคัญมากทีเดียว ขอออกความเห็นครับ...


ลุงเล็ก [ 1 ส.ค. 2548 เวลา 10:34 น. ]





การที่พระท่านเดินบิณฑบาต โดยไม่สวมรองเท้า แม้ว่าถิ่นฐานที่จาริกไป หรือ พื้นที่ที่ไปโปรดสัตว์ จะขรุขระ มีกรวดหยาบ มีเศษของมีคม หรือเศษหนาม ฯลฯ


เหตุผลน่าจะมาจากเรื่อง ..


1. ประเพณีปฏิบัติตั้งแต่ครั้งพุทธกาล คือ ไม่สวมรองเท้าไปบิณฑบาต ถ้าสังเกตดู จะพบว่าผู้ที่ตักบาตถวายข้าวอาหาร ก็ไม่สวมรองเท้า ถือว่าเป็นเรื่องที่เห็นแล้ว ดูเรียบร้อย สง่างาม สำรวม


การเดินเวียนเทียน ในวันมาฆะ ฯ วันวิสาขะ ฯ วันอาสาฬห ฯ ส่วนใหญ่ชาวบ้านก็จะถอดรองเท้าเช่นเดียวกัน แม้จะมีหลายคนไม่ยอมถอดก็ตาม โดยอ้างว่าเดี๋ยวจะไปเหยียบเศษธูปที่ยังร้อน ที่ตกอยู่บนพื้นรอบโบสถ์



2. บริขาร อันได้แก่ เครื่องใช้สอยของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา กำหนดไว้ 8 อย่าง ได้แก่ สบง จีวร สังฆาฏิ บาตร มีดโกนหรือมีดตัดเล็บ เข็ม ประคดเอว กระบอกกรองน้ำ เรียก รวมๆว่า "อัฐบริขาร" …จะไม่มีรองเท้า



3. หากพระสงฆ์ท่านสวมรองเท้า อาจเกิดกรณีที่เรียกว่า "โลกวัชชะ".... คือ ชาวโลกตำหนิติเตียน ว่าเป็นนักบวชแล้วยังไม่อดทน ยังติดสบาย


ลองหลับตานึกภาพ พระสงฆ์สวมรองเท้าเดินบิณฑบาต กับไม่สวม ซิ จะรู้สึกว่าแปลกมากจริง ๆ และจะให้ความรู้สึกว่าสู้ไม่สวมไม่ได้...คือดูแล้ว พระท่านสง่างาม สันโดษ สำรวมดี




การถวายรองเท้าแก่พระ เพื่อใช้ในยามทำกิจธุระต่างๆ นอกจากการบิณฑบาต มีอานิสงส์มากครับ คล้ายๆกับเรื่องการถวายร่ม ..ถวายกุฏิเสนาสนะ ให้ท่านไม่ต้องไปตากฝน อยู่โคนไม้..


ล้วนแต่เป็นเรื่องทะนุบำรุง รักษาคุ้มครองพระภิกษุ ให้ดำรงอยู่ในสมณเพศได้อย่างปลอดภัย และแข็งแรง...

ฐิต ฯ [ 1 ส.ค. 2548 เวลา 11:43 น. ]




รองเท้า...ในพระวินัยกล่าวถึงรองเท้าไว้ 2 ชนิด คือ


1. ปาทุกา ได้แก่ เขียงเท้า (รองเท้าไม้หรือเกี๊ยะ) รวมทั้งรองเท้าโลหะ รองเท้าแก้ว รองเท้าประดับแก้ว รองเท้าสาน รองเท้าถักหรือปัก


สำหรับภิกษุ ห้ามใช้ "ปาทุกา" ทุกอย่าง ยกเว้น ปาทุกาไม้ ที่ตรึงกับที่สำหรับถ่ายอุจจาระ หรือ ปัสสาวะ และเป็นที่ชำระขึ้นเหยียบได้


2. อุปาหนา ได้แก่ รองเท้าสามัญสำหรับพระภิกษุ ซึ่งทรงอนุญาตให้ใช้ เป็นชนิดมีสายรัดหรือ ใช้คีบด้วยนิ้ว ไม่ปกหลังเท้า ไม่ปกส้นเท้า ไม่ปกแข้ง ตัวรองเท้า หู สายรัด ต้องไม่มีสี สีที่ต้องห้าม คือ สีขาบ เหลือง แดง บานเย็น แสด ชมพู ดำ ไม่ขลิบด้วยหนังสัตว์ต้องห้าม คือ ราชสีห์ เสือโคร่ง เสือเหลือง ชะมด นาค แมว ค่าง นกเค้าแมว ไม่ยัดนุ่น ไม่ตรึงหรือประดับด้วยขนนกกระทา ขนนกยูง ไม่ทำหูเป็นช่อ อย่างเขาแกะ เขาแพะ หรือง่ามแมลงป่อง


รองเท้าที่ถูกต้อง ทรงอนุญาตให้ใช้ได้ ในวัด ในป่า ห้ามสวมเข้าบ้าน ถ้าเป็นอาคันตุกะเข้าไปในวัดอื่น ก็ให้ถอด ยกเว้นฝ่าเท้าบาง เหยียบพื้นแข็งแล้วเจ็บ หรือฤดูร้อนพื้นร้อน เหยียบแล้วพอง หรือฤดูฝน เหยียบที่แฉะแล้วอาพาธด้วยโรคกษัย ก็สวมรองเท้าป้องกันเท้าเย็นได้..


ขอเสริมไว้เป็นความรู้ครับ...

ฐิต ฯ [ 1 ส.ค. 2548 เวลา 14:38 น. ]




พระคุณเจ้าบางรูป เท้าของท่านเจ็บ จึงใส่รองเท้าบิณฑบาต เพราะไม่อยากจะขาดกิจวัตร แต่ปรากฏว่า ชาวบ้านถือขันข้าว หนีท่านกันเป็นแถว........


เป็นกิจวัตรที่ดำเนินรอยตามพระสงฆ์มาแต่โบราณ และพระสงฆ์ไทยก็รักษาธรรมเนียมนี้ไว้ แต่เป็นแค่ธรรมเนียมนะ ไม่ใช่เป็นศีลของสงฆ์

ก๋วยเจ๋ง [ 1 ส.ค. 2548 ]









# 08 เกร็ดเกี่ยวกับภาษาไทย




บาตร หรือ บาต?

บาตร น. ภาชนะชนิดหนึ่งสำหรับพระภิกษุสามเณรใช้รับอาหารบิณฑบาต

บาต ก. ตก, ตกไป มักใช้ประกอบหลังคำอื่น เช่น อสุนีบาต, อุกกาบาต

บิณฑ- น. ก้อนข้าว. บิณฑบาต น. อาหาร(ใช้แก่พระภิกษุสามเณร) เช่น รับบิณฑบาต ก. กิริยาที่พระภิกษุสามเณรรับของที่เขานำมาใส่บาตร, โดยปริยายหมายถึงกิริยาที่พระภิกษุสามเณรขอหรือขอร้อง เช่น เรื่องนี้ขอบิณฑบาตให้เลิกแล้วต่อกัน




ตักบาตร หรือ ใส่บาตร?

คำว่า ตักบาตร สามารถที่จะเรียกว่า ใส่บาตร ก็ได้ ….คำว่าตักบาตรนั้น มาจากกิริยาอาการที่ใช้ทัพพีตักข้าวสวยใส่บาตรพระ ....แต่เนื่องจากปัจจุบันสภาพสังคมเปลี่ยนไป ผู้คนใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบ ผู้คนจึงนิยมนำของแห้งชนิดถุงหรือกระปุก กล่องนม หรือขวดน้ำ ไปใส่ในบาตรแทนการตักข้าวสวย คำว่าใส่บาตรจึงถือเป็นวิวัฒนาการทางภาษา เพื่อให้สอดคล้องกับยุคปัจจุบัน.




แสตมป์ Unseen Thailand








เขียนยาวอีกละ อาจจะเบื่ออ่าน!!! ...


ผมหวังจะมอบสาระดีๆ ให้กับผู้ที่ยังไม่ทราบข้อมูลครับ






โดย yyswim








 

Create Date : 12 มิถุนายน 2550
29 comments
Last Update : 12 มิถุนายน 2550 8:37:18 น.
Counter : 9601 Pageviews.

 

วันนี้มาแนวพุทธศาสนา เลยคุยโม้หน่อยว่าตอนปอห้าเคยสอบได้นักธรรมตรีสนามหลวงมาแล้ว แต่หลังจากนั้นก็ไม่ค่อยได้เข้าวัดเลย ใส่บาตรก็ไม่ค่อยได้ใส่เลยอ่ะ เป็นคนไม่ค่อยดีเลยเนอะ

 

โดย: coming soon (The Yearling ) 12 มิถุนายน 2550 10:18:16 น.  

 

ขอบคุณค่า ขออนุญาตชอบคำที่ว่า การตักบาตรคือการต่ออายุพุทธศาสนา อ่านแล้วทำให้ทำความเข้าใจถึงความสำคัญของการตัดบาตรได้มากเลยค่ะ

 

โดย: karnlaka 12 มิถุนายน 2550 10:58:41 น.  

 

มาอ่านแล้วอิ่มเข้าไปในหัวจริง ๆ คับ

 

โดย: frank3119 12 มิถุนายน 2550 11:17:59 น.  

 



เด็กห่างวัดเข้ามาอ่านจ้ะ

เป๋อใส่บาตรครั้งสุดท้าย (ฝากคุณแม่ใส่ให้) ด้วยป๊อกกี้กะนมกล่อง

 

โดย: เป๋อน้อย 12 มิถุนายน 2550 11:21:20 น.  

 

โอ้โห...ข้อมูลยาวเหยียด
กี่ปีมาแล้วหนอที่ผมไม่ได้ตักบาตรเลย
แต่ทำบุญเป็นประจำครับ

 

โดย: กะว่าก๋า (กะว่าก๋า ) 12 มิถุนายน 2550 13:46:10 น.  

 

สวัสดีที่แวะไปทักทาย
ปล. เรื่องตักบาตรอ่านแล้วได้ความรู้ดีครับ

 

โดย: ลุงแมว 12 มิถุนายน 2550 16:00:18 น.  

 


ความรู้เพียบเลยค่ะคุณสิน แต่ก็ดีนะคะ ย้ำความทรงจำสมัยเป็นนักเรียนที่ไม่ค่อยจะสนใจเรียน พอตอนโตมาอยากรู้ว่า อะไร คืออะไร

ขอบคุณนะคะ

 

โดย: Htervo 12 มิถุนายน 2550 16:43:53 น.  

 

แวะมาเยี่ยมแล้วนะคร๊าบบบบ

ได้ความรู้ดีครับ อ่านแล้ว ดูภาพประกอบแล้ว ทำให้อยากตักบาตรตอนเช้าบ้าง ผมไม่ใส่ตักบาตรตอนเช้ามานานมากแล้วครับ

อิอิ

แปลงร่างก่อนดีกว่า ...

บิด ๆ เบี้ยว ๆ แปลงเป็นมดเขียว วี 3



เป็นมดเขียวแล้ว ขอตัวไปแฝงตัวที่ต้นมะม่วงก่อนนะ

อิอิ

 

โดย: อาคุงกล่อง (อาคุงกล่อง ) 12 มิถุนายน 2550 17:15:28 น.  

 

เนื้อหาน่ารู้จริงๆๆเลยค่ะคุณสิน
เราก็ชอบตักบาตรค่ะ
แต่ก็ตักตามวิธีของตัวเองนะค่ะ

ขอบคุณมากนะค่ะสิ่งดีๆๆที่มอบให้เรียนรู้ค่ะ

ชอบภาพยายสองคนที่แก่นั่ง..ที่พื้นถนนจังเลยค่ะ
รู้สึกอบอุ่นมากค่ะ..ธรรมชาติมากเลยค่ะ






ปล..เรามาคอมเมนต์บล๊อกนี้เกิน 2ครั้งค่ะ
ขอบคุณมากค่ะสำหรับไมตรีที่มอบให้ค่ะ

 

โดย: catt.&.cattleya.. 12 มิถุนายน 2550 17:19:30 น.  

 

เพิ่งทราบว่าจริงๆ แล้วเขาห้ามใส่บาตรผลไม้ที่ยังมีเมล็ดอยู่

ได้สาระอีกตามเคยครับ

 

โดย: คนทับแก้ว 12 มิถุนายน 2550 17:30:54 น.  

 



คุณสิน สบายดีนะคะขอบคุณมากๆ เลยค่ะ สำหรับความรู้ดีๆ เกี่ยวกับการตักบาตร และเกี่ยวกับศาสนาพุทธ

รักษาสุขภาพค่ะ

 

โดย: Malee30 12 มิถุนายน 2550 19:18:57 น.  

 

อืม... สมัยตอนเรียนมัธยมใส่บาตรหน้าบ้านทุกวันเพราะมีแม่คอยปลุกให้ตื่นแต่เช้า
แต่ปัจจุบันไม่ค่อยได้ใส่เลยคะเพราะว่าอยู่คนเดียว ไม่มีคนคอยจ้ำจี้ แต่เมื่อวานก็ตื่นไปตักรบาตรแต่เช้าแล้ว

ขอบคุณสาระดีๆนะคะ

มีความสุขเช่นกันจ้า

 

โดย: fonrin 12 มิถุนายน 2550 19:26:17 น.  

 

แวะมาอิ่มบุญอิ่มกุศลด้วยคนครับปรกติไม่เค่อยได้ไปวัดเลยเป็นคนไร้ศาสนาจริง ๆ

 

โดย: Johann sebastian Bach IP: 203.150.117.216 12 มิถุนายน 2550 20:21:05 น.  

 

อ่านไปก็ยิ้มไปและอิ่มใจมากค่ะ
คุณสินให้ข้อมูลละเอียดมาก เป็นความรู้ดีทั้งนั้น
บางทีชาวพุทธเราก็หลงลืมเรื่องใกล้ตัวที่ควรรู้นะคะ

 

โดย: ซออู้ 12 มิถุนายน 2550 20:49:58 น.  

 


สาธุ




สุขสรรค์...วันอังคารค่ะ

ขอบคุณที่ไปเยี่ยมป้าแมว และ ป้าหู้นะคะ


 

โดย: ป้าหู้เองจ่ะ (fifty-four ) 13 มิถุนายน 2550 0:00:48 น.  

 




สวัสดีตอนค่ำๆของ เนเธอร์แลนด์ นะจ้า

ขอบคุณมากนะจ้าที่ไปอวยพร
วันเกิดให้กับ จอมแก่น
จอมแก่นก็ขอพรที่ได้รับจากคุณนั้น
ย้อนกลับคืนไปหาคุณ เช่นเดียวกัน นะจ้า

** มีความสุขมากๆกับคนที่คุณรักนะจ้า **


ขอบคุณมากนะจ้าที่นำบทความดีๆๆมาให้ได้รู้มากขึ้น..

 

โดย: จอมแก่นแสนซน 13 มิถุนายน 2550 2:03:15 น.  

 

เข้ามาบลอกนี้ แล้วสบายใจอย่างไงไม่รู้ครับ

เยี่ยมครับ

 

โดย: man@ (manatto ) 13 มิถุนายน 2550 18:12:13 น.  

 

สวัสดีครับพี่สิน พี่เขียนเรื่องนี้แม่กับพ่อผมต้องชอบใจแน่ ก็ท่านตักบาตรทุกเช้าเลย
ได้สาระมากเลยครับ

 

โดย: basbas 14 มิถุนายน 2550 1:17:32 น.  

 


สุ่น…..ขอบคุณที่เข้ามาเมนต์ เป็นคนแรก ท่านนักธรรมตรีเข้ามาอ่านทั้งที เป็นปลื้ม

ผมก็ไม่ค่อยจะได้ตักบาตร ตื่นขึ้นก็จะไปทำงานเลย แต่สังเกตว่า พระที่เดินบิณฑบาต แถวๆบ้าน มีราว2-3รูป พระท่านอ้วนทุกรูป ตอนขากลับจากบิณฑบาตจะเห็นพระบางรูป นั่งรถตุ๊กๆกลับ ราว 7 โมงกว่าๆ เป็นเวลาที่ผมขับรถไปทำงานพอดี บนรถจะมีของใส่บาตรราว 5 – 6 ถังสีเหลือง มีเด็กวัดวัยราว30ปีเศษ คอยช่วยยกถัง

แถวๆบ้านผม มีคนหลายพันคนครับ แต่มีพระเข้ามาบิณฑบาต ไม่มาก ท่านก็เลยรับของใส่บาตรเยอะ และกลับวัดช้า อุอุ


คุณkarnlaka......การตักบาตร เป็นการต่ออายุพระพุทธศาสนา และสอนให้คนสละกิเลส ใช่เลยครับ ขอบคุณนะครับที่เข้ามาเยี่ยม


frank3119......ขอบคุณครับ frank

ชอบคำที่คุณเขียน ขอบคุณเข้าไปในหัว โอ๊ะ คำแปลก น่าก๊อบ


คุณเป๋อน้อย......คอมเมนต์ของคุณ น่าจะไปร่วมตอบในกระทู้ข้างบน ตักบาตรด้วยหนังสือพิมพ์ เพราะเขาถามต่อว่ามีใครตักบาตรแบบแปลกๆบ้าง

ของคุณเป๋อน้อย ตักบาตรด้วย ป๊อกกี้กับกล่องนม แปลกดี ผมว่าพระบางรูปคงจะชอบ

คราวหน้าถ้าผมเจอพระหนุ่มๆ ผมอาจจะใส่บาตรด้วย สตาร์ซอกเกอร์


กะว่าก๋า ......ขอโทษที่ข้อมูลยาว ทำให้เสียเวลา

หากไม่ได้ตักบาตร แต่เป็นคนดี เป็นคนไม่ทำความทุกข์ให้ใคร และเป็นคนมีใจเบิกบาน ก็คงจะเหมาะสมครบถ้วนแล้ว



หวัดดีครับ ลุงแมว.......ขอบคุณที่มาเยี่ยม และช่วยเมนต์


คุณ Htervo......ขอบคุณนะครับที่แวะมาเยี่ยมเสมอๆ


อาคุงกล่อง.......ขอบคุณที่แปลงร่างเป็นมดเขียว V3 ให้ดู

ทำบุญด้วยอะไร ถึงแปลงร่างได้ อยากจะแปลงมั่ง


คุณแคท......คนทำบุญ ของแท้เข้ามาช่วยเติมคอมเมนต์ ขอบคุณครับ

ผมอยากพูดว่า เนื้อหาที่บล็อกคุณ มีสาระเรื่องน่ารู้กว่าบล็อกของผมอีก นานมากๆ ผมจึงจะเขียนบล็อก กลุ่มธรรมะ เพราะผมไม่ใช่คนไปวัดบ่อย จะไปเฉพาะมีเทศกาลเป็นส่วนใหญ่นะครับ แต่ก็พยายามเป็นคนดี และช่วยเหลือคน


คนทับแก้ว......เรื่องห้ามใส่บาตรผลไม้ที่มีเมล็ด อุอุ ผมก็เพิ่งรู้จากการค้นคว้า

ผมคิดแบบเพี้ยนๆว่า น่าจะทำได้นะ เพราะพระท่าน คงจะไม่ฉันเมล็ดหรอก แล้วเมล็ดก็ทิ้งขว้างบนพื้นดิน ก็จะงอกเป็นต้นใหม่ได้ หรืออาจจะช่วยเพาะเมล็ดเป็นต้นอ่อน แล้วมอบคืนให้ชาวบ้านก็ได้ อิอิ ในวัดมีที่เยอะ


คุณแม่น้องกรานต์.....ผมสบายดีครับ ขอบคุณ ตอนนี้น้องกรานต์โตขึ้นแล้ว ได้เสื้อตัวใหม่ แทนเสื้อตัวเดิมจากมาบุญครองด้วย น้องกรานต์คงจะดีใจ อากาศร้อนที่นอรเวย์ คงจะเป็นช่วงที่ได้ออกไปพักผ่อนนอกบ้านได้บ่อยขึ้น ขอให้สมหวังกับเรื่องงานที่อยากจะได้นะครับ



คุณเปิ้น .......ผมก็อยู่คนเดียว ตอนเด็กๆ จะตักบาตรบ่อย ตักบาตรแทนคุณแม่นะครับ เดี๋ยวนี้จะตักบาตรก็มักจะซื้อข้าวอาหารถุงจากแม่ค้า แล้วตักตรงนั้นเลย แต่ตักบาตรน้อยครั้งครับ ไปถวายอาหารเพลที่วัด จำนวนมากครั้งกว่าครับ


คุณJohann sebastian Bach......ไม่ค่อยจะได้ไปวัด แต่เป็นคนทำความดี ผมว่า สมบูรณ์แล้วครับ ขอแนะนำให้ออกกำลังกายด้วยครับ จะได้ดีครบถ้วน


คุณซออู้......ขอบคุณครับที่เข้ามาเยี่ยม คุณซออู้ อัพบล็อกเรื่องใหม่ แล้วยัง

ที่จริง เรื่องธรรมะ เรื่องบุญ จะเป็นเรื่องแนวถนัดของคุณมากกว่า ผมกลับหยิบมาเขียน และยังเขียนไม่แน่น ไม่ครบหรอกครับ



ป้าหู้......มาพร้อมสีวันอังคารเลย สวัสดีวันพฤหัสครับ ขออภัยเมื่อวานผมไม่ได้เข้าบล๊อกเข้ามารีบตอบ


คุณจอมแก่น......ที่บ้านคุณจอมแก่น มีเพื่อนมากนะครับ ทุกคนมีความสุขความหวังดีไปมอบให้คุณทั้งนั้น เห็นภาพแล้วปลื้มใจครับ สุขสันติ์วันเกิดนะครับ


แมน......ผมไม่ค่อยจะทราบเรื่อง เรียน ของนาย คงจะหนักมากๆ

กรุงเทพมักจะมีฝนตกตอนกลางคืน ไม่รู้ต่างจังหวัดจะตกมากแค่ไหน สัปดาห์หน้าผมจะไปทำงานแถวพังงา ระนองครับ


น้องบาส......ตักบาตรกับคุณพ่อคุณแม่ในวันหยุดบ้างมั๊ย?

คุณพ่อคุณแม่คงจะมีความสุข หากน้องบาสจะเข้าไปช่วยในครัวอีกแรง ....เข้าไปช่วยด้วยกำลังใจก็ได้


 

โดย: yyswim 14 มิถุนายน 2550 9:21:26 น.  

 

ได้สาระความรู้เยอะเลย... ขอบคุณค่ะ

ช่วงนี้อยากใส่บาตรบ้างเหมือนกัน แต่อยู่ต่างประเทศหาโอกาสยากจัง

 

โดย: VA_Dolphin 14 มิถุนายน 2550 9:46:57 น.  

 



ผมไม่ได้ตักบาตรนานแล้ว นานๆจะตื่นเช้าซะที

สาระความรู้แน่นเพียบเลยนะค้าบ..

 

โดย: smartman หล่อสุดๆ 14 มิถุนายน 2550 12:50:30 น.  

 

ใส่บาตรทุกวันๆละ 1 องค์เท่านั้น(ยกเว้นพระเบี้ยวไม่มารับบาตร) บางวันพระมาสายจะบาปเพราะหงุดหงิดพระเกรงว่าจะไปทำงานสาย

 

โดย: 9911 IP: 61.90.184.249 14 มิถุนายน 2550 13:34:02 น.  

 


เมื่อวานได้บริจาคเลือดดังใจคิดค่ะ..
เราจะมีความสุขเสมอได้ทำสิ่งที่คิด
และสิ่งนี้จะทำให้สุขมากค่ะ
เพราะถือว่ามีประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์

จึงระลึกถึงมวลมิตรที่รู้จักและนำสิ่งดีๆๆที่ทำมาฝากค่ะ
แรม 14 ค่ำเดือน 7
วันนี้คือหนึ่งพระที่เรามิลืมเลือนมิตรเช่นคุณ
อนุโมทนา...บุญมายังกัลยาณมิตร..ที่ดีของเราเสมอค่ะ




ทำดีเพื่อดี ไม่ทำดีหวังจะได้ดี
ได้เด่น ได้ดัง เพื่อดี คือควรเพื่อคุณธรรม
แต่ถ้าหวังเอาดี เด่น ดัง ต้องแบกหนัก
และเหน็ดเหนื่อย เมื่อยล้า ไม่สมหวัง.เป็นทุกข์


ของท่านพระพุทธทาสภิกขุ..ค่ะ

อนุโมทนาค่ะ

 

โดย: catt.&.cattleya.. 14 มิถุนายน 2550 20:53:30 น.  

 

ผมว่าการบิณฑบาตรเป็นสิ่งมหัศจรรย์
ตรงการสอนมนุษย์ให้รู้จักการ "ให้"

 

โดย: พลทหารไรอัน 14 มิถุนายน 2550 22:06:44 น.  

 

 

โดย: law of nature 15 มิถุนายน 2550 3:43:09 น.  

 



คุณVA_Dolphin....... ไม่ได้ตักบาตร ไม่เป็นไรครับ มีวิธีทำจิตให้เป็นกุศลได้หลายวิธี และหลายโอกาส ขึ้นกับจิตใจของผู้ทำ ครับ

คุณโลมา สบายดีนะครับ คงจะอัพบล็อกเรื่องใหม่แล้ว เดี๋ยวจะไปเยี่ยมครับ



น้องsmartman หล่อสุดๆ......การตักบาตรคือการสละ และการให้

การบวช ยิ่งเป็นการสละที่ยิ่งใหญ่ เพราะเป็นการสละกิเลส แถมทำให้พระในบ้าน ท่านมีความสุข และอิ่มบุญ


โต้ง.....นายทำบุญทุกวัน ข้ารู้ นายเป็นคนดี มีจิตใจแจ่มใสทุกๆเช้า ก่อนไปทำงาน


คุณแคท.......เข้ามาเยี่ยม เข้ามาบอกบุญ เตือนสติเรื่องวันพระ ขอขอบคุณครับ


เจฟ......ที่บ้านนาย มีใครตักบาตรเช้าบ้าง คุณแม่ใช่มั๊ย? ที่บ้านผมก็ คุณแม่เหมือนกัน แต่ผมอยู่คนละที่กับคุณแม่แล้ว พรุ่งนี้จึงจะไปเยี่ยมท่าน




 

โดย: yyswim 15 มิถุนายน 2550 10:47:08 น.  

 

ขอบคุณที่ร่วมยินดีเรื่องหลานค่ะ ... หนูโลมาน้อยจะคลอดประมาณปลายเดือนตุลาคม ... ตอนนี้เพียงแต่รู้ว่าเป็นลูกสาวแน่นอน จากผลการเจาะน้ำคร่ำไปตรวจโครโมโซม หลายๆคนก็เลยดีใจกันใหญ่

ส่วนเรื่องคนช่วยเลี้ยง ตอนนี้ตั้งใจจะเลี้ยงเองก่อนค่ะ จะทดลองดูก่อนว่าเป็น full time mom แล้วจะเลี้ยงเองไหวมั๊ย

 

โดย: VA_Dolphin 15 มิถุนายน 2550 11:21:19 น.  

 

คุณสิน ตักบาตรแล้ว อุทิศส่วนกุศลมาให้ข้าน้อยด้วยนะคะ เผื่อจะได้หายร้อน รน อิอิอิ แต่เห็นกระทู้นี้ทำให้ปออยากไปวัดซะแล้วล่ะค่ะ ต้องหาเงลา ไปทำบุญ ซะแล้ว

คุณสิน สบายดีนะคะ

 

โดย: O_Sole_mio 15 มิถุนายน 2550 18:17:38 น.  

 

เรื่องราวดีๆที่น่าอ่านมากครับ ได้ความรู้มากมาย ไปจนถึงรองเท้าของพระสงฆ์เลยทีเดียว ผมเป็นคนหนึ่งที่ไม่ค่อยได้ใส่บาตร เพราะตื่นสายแค่มาทำงานก็ไม่ทันแล้ว น่าอายเนอะ แต่ถ้าได้กลับบ้านที่น่านทีไร ได้ทำทุกวันเลยครับ อ่านแล้วพรุ่งนี้ตื่นเช้าๆดีกว่า วันหยุดด้วยนะครับ

 

โดย: ป้อจาย 15 มิถุนายน 2550 19:02:16 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


yyswim
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 40 คน [?]





บล็อกสรรสาระนี้ จขบ.ไม่ได้เขียน-ไม่ได้ถ่ายภาพ-ไม่ได้อัพโหลดคลิปเอง หากแต่ทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการบล็อก เสาะหาเรื่องดีๆ รูปสวยๆ คลิปแปลกๆ มาไว้ในบล็อก


ขอขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาเยี่ยม ขอเชิญชมหรืออ่านตามสบาย ไม่ต้องคอมเมนต์ก็ได้ จขบ.ชอบการเข้ามาเยี่ยม แบบกันเอง ง่ายๆ สบายๆ




เริ่มเขียนBlog เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ.2548


เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ.2550 เวลา 23.30 น.


เริ่มนับจำนวนผู้เข้าเยี่ยมชม




Latest Blogs

New Comments
Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2550
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
 
12 มิถุนายน 2550
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add yyswim's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friends


 
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.