Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2551
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
15 กรกฏาคม 2551
 
All Blogs
 
Offside ชัยชนะของคนล้ำเส้น

เนื่องจากช่วงนี้ภาระการงานทำให้ไม่สามารถเขียนบล็อกเกี่ยววิจารณ์ภาพยนตร์ได้ จึงขอนำงานเก่าที่เขียนไว้ตั้งแต่ปีที่แล้วแต่ไม่ได้ลง เนื่องจากหนังสือปิดตัวไปก่อน และบังเอิญว่าหนังฉายจำกัดโรงเรื่องนี้เพิ่งลาโรงไปครับ (จริงๆ ตอนที่เขียนก็ตั้งใจว่าจะให้กึ่งๆ เป็นบทวิจารณ์ไปในตัวด้วยเลย) ถือเป็นการเก็บงานเขียนไม่ให้หล่นหาย และเสียดายในภายหลัง

---------------------------------------




กฎ-กติกา
Offside ตามกฎ-กติกาการเล่นฟุตบอล หมายถึง การล้ำหน้าของนักเตะฝ่ายตรงข้ามที่ครองบอลเพื่อรุกเข้าเขตแดนของผู้เล่นอีกฝ่ายขณะที่เหลือเพียงผู้รักษาประตู...ว่ากันว่านี่คือกฎ-กติกาที่ซับซ้อน และชวนสับสนที่สุดของกีฬาฟุตบอล เรามักพบเห็นบ่อยครั้งว่าการเสียประตู หรือพลาดการทำประตูสำคัญในเกมส์ลูกหนัง หลายร้อยหลายพันนัดการเช็คล้ำหน้าของผู้ตัดสินช่างน่ากังขา ค้านสายตาผู้ชมยิ่งนัก

ทว่าความหมายในหนังเรื่อง Offside ของผู้กำกับ จาฟาร์ ปานาห์ฮี เป็นเรื่องของกลุ่มหญิงสาวที่ปลอมตัวเป็นชายเพื่อหาทางเข้าไปชมฟุตบอลรอบชิงสิทธิ์เข้ารอบสุดท้ายฟุตบอลโลกระหว่าง อิหร่าน - บาห์เรน ในสนามแข่ง Azadi Stadium หากถูกจับได้เสียก่อนตามความผิดของกฎหมายของประเทศซึ่งไม่อนุญาตให้เพศหญิงเข้าไปชมฟุตบอลในสนามแข่ง พวกเธอยังไม่ได้กลับบ้านทันที แต่จะถูกนำมากักบริเวณรวมกันนอกสเตเดี้ยมเพื่อรอการลงโทษ...

ปานาฮีบอกว่าสิทธิและข้อห้ามตามกฎหมายนั้นเป็นสิ่งที่คลุมเครือเหลือเกินในประเทศนี้ เช่น เพลงที่ถูกแบน แต่ประชาชนก็ยังหามาฟังได้ ทุกอย่างจึงขึ้นอยู่กับคนตีความทั้งสิ้น ไม่ต่างกับข้อห้ามสตรีเพศเข้าชมฟุตบอลในสนาม อันเนื่องจากไม่ต้องการให้พวกเธอเห็นพฤติกรรมก้าวร้าว และปล่อยถ้อยคำผรุสวาทจากผู้ชายซึ่งเข้าชมการแข่งขัน จนไม่มีใครสามารถควบคุมได้...ผู้หญิงอย่างพวกเธอจึงกลายเป็นคน ล้ำหน้า ไปแทน

นั่นคือประเด็นสำคัญที่หนังเรื่องนี้ตั้งคำถามเกือบตลอดทั้งเรื่อง ในเมื่อผู้หญิงชาวมุสลิมไม่ได้ผู้กระทำผิด แล้วเหตุใดจึงต้องเข้มงวดกับพวกเธอมากกว่าผู้ชาย ? การ ป้องกัน ไม่ให้ผู้หญิงเห็นและกระทำสิ่งที่ไม่งาม หรือแท้จริงเป็นเพียงการ กีดกัน สิทธอันพึงมีของพวกเธอกันแน่ ?



ก่อนการแข่งขัน
ย้อนกลับไปเมื่อปี 1998 ในนัดชิงสิทธิ์การเข้ารอบสุดท้ายฟุตบอลโลกนัดเพลย์ออฟ อิหร่าน สามารถเอาชนะ ออสเตรเลีย ไปได้ ตามกฎอเวย์โกล(อิหร่านแข่งนอกบ้านเสมอกับออสเตรเลีย 2-2 ขณะที่แข่งในบ้านเสมอกับออสเตรเลีย 1-1 ทำให้ผลการยิงประตูนอกบ้านเหนือกว่า จึงเข้ารอบไป) ขณะที่ประเทศยังคงกฎหมายห้ามผู้หญิงเข้าชมฟุตบอลในสนาม แต่ด้วยการอนุญาตเป็นกรณีพิเศษเพื่อการเฉลิมฉลอง ทำให้ผู้หญิงมุสลิมจำนวนถึง 5,000 คนเดินทางมาเพื่อร่วมงานครั้งนั้น และกลายเป็นข้อถกเถียงขึ้นมาว่าในเมื่อพวกเธอแสดงเจตนาให้เห็นว่าอยากเข้าชม และเชียร์ฟุตบอลนักเตะของชาติเยี่ยงบุรุษ แล้วจะห้ามกันต่อไปอีกหรือ ?

แม้แต่เมื่อ 400 ปีก่อนคริสตกาลในสมัยอารยธรรมกรีก มีเรื่องเล่าว่าผู้หญิงในยุคอดีตก็เคยปลอมตัวเป็นชายเพื่อชมลูกชายของตนแข่งขันในสนามประลองมาแล้ว...ไม่ว่าเรื่องดังกล่าวจะเป็นความจริง หรือเพียงตำนาน แต่เมื่อรวมกับสิ่งที่เกิดในอิหร่าน ทำให้ปานาฮีเกิดไอเดียในการสร้างหนังเรื่องนี้ขึ้นมา แต่ยังนึกไม่ออกว่าหนังแบบนี้จะสร้างออกมาได้ยังไงกัน ?

จนเมื่อ 4 ปีก่อน(ค.ศ.2002) ปานาฮีอยากจะเข้าไปชมการซ้อมของนักฟุตบอลทีมชาติในสนาม เช่นเดียวกับลูกสาวของตนที่แม้เขาจะรบเร้า อธิบายความในข้อห้ามอย่างไรก็ไม่เป็นผล ว่าแล้วปานาฮีกับครอบครัวจึงพากันไปที่สนามแข่งขันโดยตกลงกันว่า “ถ้าลูกสาวของผมไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไป ภรรยาของผมจะพาเธอกลับบ้าน เราจึงเดินทางไปที่ทางเข้าสนาม และเป็นดังคาดครับว่าเขาไม่ให้ลูกผมเข้า แต่พอบอกให้กลับบ้านกับแม่ เธอกลับหาทางเข้ามาเองและทำเอาประหลาดใจที่เข้ามาชมกับผมได้” ดังนั้นเมื่อโอกาสในการเข้ารอบสุดท้ายฟุตบอลโลกของอิหร่านมาถึงอีกครั้ง เขาจึงเห็นสมควรนำประเด็นที่ติดค้างนี้มานำเสนอบนแผ่นฟิล์มเสียที

กรรมการตัดสินการฟาดแข้ง
จาฟาร์ ปานาฮี ผู้กำกับชาวอิหร่านกลุ่มหัวแถว เจ้าของงานอย่าง White Balloon(1995), และ The Mirror(1999) อดีตผู้ช่วยผู้กำกับยอดฝีมืออย่าง อับบาส เคียรอสตามี่ ที่ทำให้ทั่วโลกเห็นว่าศิลปะภาพยนตร์ยังเปิดกว้างในทุกพื้นที่ ภายใต้ทุนอันจำกัด และข้อบังคับมากมาย แม้จะเห็นได้ชัดถึงอิทธิพลของสไตล์หนังนีโอ-รีลลิสม์ของอิตาลี แต่ก็ปรับเข้ากับการตั้งคำถามสังคมชาวเปอร์เซีย พร้อมๆ ไปกับการสร้างช่องว่างให้พวกเขาสร้างภาพเชิญสัญลักษณ์อันเรียบง่าย แต่งดงามราวกวีนิพนธ์ในหนัง...ซึ่งเรื่องราวของเด็กหญิงตัวน้อยที่เฝ้าเก็บหอมรอบริบ เพียงหวังจะซื้อปลาทอง ใน White Balloon ที่ทำให้เขาคว้ารางวัลกล้องทอง ผู้กำกับหน้าใหม่จากคานส์มาแล้วนั้น เป็นเครื่องพิสูจน์เสน่ห์ดังกล่าวของหนังอิหร่านได้อย่างดี

หลังจากเน้นความจริงจัง เคร่งเครียดมาก่อนหน้าจาก The Circle(2000), และ Crimson Gold(2003) งานชิ้นนี้จึงเป็นการกลับไปหาอารมณ์ขันอีกครั้ง ด้วยความเชื่อที่ว่าผู้ชายอิหร่านส่วนใหญ่ไม่ได้คัดค้านให้ผู้หญิงเข้าชมฟุตบอล แม้ว่าในความเป็นจริงเสียงหัวเราะกับเรื่องขื่นๆ ที่เกิดขึ้นนั้นคงยากจะหัวเราะตามได้

ถึงหนังของเขาจะถูกห้ามฉายอยู่เสมอ แต่ปานาฮีก็หวังจะได้ฉายหนังเรื่องนี้ก่อนการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2006 ทำให้พบอุปสรรคในการสร้างหนังเรื่องนี้อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง ตั้งแต่การตรวจสอบบทจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งทำให้เขาต้องส่งบทหนังเรื่องของกลุ่มเด็กผู้ชายที่อยากไปชมการแข่งฟุตบอลแทน, โอนอ่อนผ่อนตามข้อเสนอของผู้จัดจำหน่ายจากปัญหาในผลงานเรื่องเก่าๆ ของเขา(ซึ่งท้ายที่สุดก็ยอมทำตามไม่ได้) และซ้ำร้ายความยุ่งยากยังตามมาในช่วงการถ่ายทำเมื่อมีการตรวจสอบจากฝ่ายทหาร จนทำถูกระงับการถ่ายทำบริเวณสเตเดี้ยมในวันสุดท้าย ซึ่งถือเป็นฝันร้ายสำหรับหนังแบบ Real Time(ดำเนินเรื่องตรงกับเวลาในเหตุการณ์จริง) อย่าง Offside แต่โชคยังดีเพราะฉากที่เหลือตามบทไม่ได้เกี่ยวข้องกับสนามแข่งแต่อย่างใด จึงปิดกล้องไปได้อย่างเฉียดฉิว

ทีมชาย-หญิง
ผู้เล่นของ 2 ทีมในที่นี้ไม่ได้หมายถึงนักฟุตบอลทีมชาติอิหร่าน และบาห์เรน แม้ในหนังจะมีชื่อนักเตะดังๆ อย่าง อาลี ดาอี, เฟรีดูน ซานดี้, โคดาดัด อซิซี่, เมห์ดี้ มาดาวิเคีย, และ อาลี คาริมี่ ฯลฯ แต่คงไม่สลักสำคัญนัก เพราะผู้เล่นที่มีบทบาทจริงๆ อยู่นอกสนามนั่นคือการปะทะกันของพลทหาร และผู้หญิงที่ปลอมตัวเป็นชาย

นักแสดงหญิงทั้งหมดในเรื่องเป็นนักแสดงสมัครเล่นที่ถูกคัดมาจากนักศึกษามหาวิทยาลัย ผ่านเพื่อนกับผู้ร่วมงานเป็นหลัก โดยเน้นไปที่ความชอบและคลั่งไคล้ฟุตบอลจนอยากไปชมในสนามจริงๆ ตามความเชื่อของปานาฮีที่ว่าใครก็สามารถเป็นนักแสดงได้ เมื่ออยู่หน้ากล้อง หากผู้กำกับรู้จักในสิ่งที่เขากำกับเป็นอย่างดี เป็นคนไปหานักแสดงเหล่านั้นด้วยตนเอง และตราบเท่าที่เขาหรือเธอยอมรับฟังคำชี้แนะของตน...อย่างไรก็ตามผู้กำกับของเราก็สารภาพว่าหนังคงไม่ลื่นไหลอย่างที่เห็น ถ้าไม่ได้การด้นสดฉากต่อฉากของนักแสดงทุกคน

ทั้งหมดถูกนำเสนอโดยไม่มีการบอกชื่อให้ผู้ชมได้ทราบ - ทหารเพียงบอกว่ามาจากเมืองเตหะราน, อาเซอร์ไบจัน และมัชฮัด ส่วนกลุ่มผู้หญิงนั้นถูกนำเสนอด้วยบุคลิกแตกต่างกันไป ได้แก่ เด็กสาวมือใหม่หัดเข้าสนาม, หญิงสาวมากประสบการณ์ที่กล้าถึงขั้นขอสูบบุหรี่, เด็กสาวที่สวมชาดอร์, เด็กสาวที่อ้างว่าเป็นนักฟุตบอล, เด็กสาวผู้หวาดกลัวการโดนจับจนถึงกับร้องไห้ และแม้กระทั่งหญิงสาวที่ปลอมตัวโดยสวมชุดทหารเพื่อเข้าไปชมการแข่งขัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าทุกคนไม่ว่าจะเป็นใคร จะเคร่งครัดทางศาสนาหรือไม่ก็ตาม ไม่ได้เป็นตัวกำหนดความต้องการอยากชมเกมส์กีฬาแต่อย่างใด

ส่องกล้อง-มองเกมส์
ฝีมือของผู้เข้าแข่งนั้น แม้ในข้อบังคับทางกฎหมาย มองเผินๆ ฝ่ายหญิงจะด้อยกว่า แต่ด้วยทักษะที่แตกต่างกันไปของหญิงสาวแต่ละคนซึ่งมีสติและความกล้าเป็นที่ตั้ง เล่นเอาทหารแต่ละนายต้องปั่นป่วนตลอดเวลา พวกเธอไม่เคยรู้จักกันมาก่อนแต่กลับมีทีมเวิร์ค และบุกอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การถกเถียงในประเด็นกฎหมายที่ห้ามผู้หญิงเข้าสนามฟุตบอล, การห้ามไม่ให้สูบบุหรี่ หรือโทรศัพท์มือถือทั้งที่ไม่มีกฎใดบัญญัติไว้ แต่ก็ถูกตั้งขึ้นมาเอง, และเกมส์การแข่งขันอันเร้าใจก็ทำให้ทหารที่ติดตามผลบอลในสนามอย่างลุ้นระทึกไม่แพ้กัน เพลี่ยงพล้ำยอมโอนอ่อนทำตามข้อเรียกร้อง หลายคนยอมพูดคุยในเรื่องต่างๆ และปล่อยให้พวกเธอลุ้นกันอย่างมันส์เต็มที่

ระบบที่ได้ปลูกฝังความเชื่อขวาจัดไปโดยไม่รู้ตัวให้กับทหารเหล่านี้ อาจจะมีผลมากกว่าตัวบทกฎหมายเสียอีกในการสร้างอคติต่อผู้หญิงโดยปราศจากเหตุผลใดมารองรับ ซึ่งประเด็นนี้ยังถูกนำมาอ้างถึงหลายต่อหลายครั้งผ่านตัวละครอย่าง ชายแก่คนหนึ่งที่มาตามหาลูกสาวที่ปลอมตัวมาดูฟุตบอล หรือ คนขายตั๋วผีที่โก่งราคาเพียงเพราะว่าเธอเป็นหญิง จนอาจเรียกว่าสาวคอบอลเหล่านี้ไม่ใช่แค่ต้องรับมือกับทหารอันเข้มงวด แต่ยังรวมถึงทัศนคติผู้ชายกลุ่มหนึ่งอีกด้วย

แต่หากมองอีกมุมหนึ่งสภาพทหารที่ทำหน้าที่คุมพวกเธอนั้นก็เพียงปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา พวกเขาไม่ได้มีสิทธิโดยสมบูรณ์ในการปฏิบัติตามใจตน เพราะหากไม่สามารถคุมกฎให้เป็นไปตามระเบียบได้ พวกเขาเองก็ถูกลงโทษเช่นกัน...ดังภาพเปรียบสภาพสังคมในอิหร่าน ผ่านสายตาของปานาฮี ที่มองว่าที่สุดแล้วพวกเขาก็เป็นเพียงประชาชนที่อยู่ภายใต้ข้อจำกัดบางอย่างที่ยังไม่สามารถหาคำตอบใดให้กระจ่างได้นั่นเอง



ไฮไลท์
ช่วงกลางเรื่อง เมื่อหญิงสาวหนึ่งในนั้นวิ่งออกมาจากที่กั้นเพื่อขอไปเข้าห้องน้ำ แต่เพราะที่นี่ห้ามผู้หญิงเข้า จึงไม่มีห้องน้ำผู้ชาย เพื่อไม่ให้เธอเห็น ทางแก้สุดฮาของทหารนายหนึ่งคือการให้เธอสวมโปสเตอร์ อาลี คาริมี่ นักฟุตบอลยอดเยี่ยมแห่งเอเชีย ปี 2004 ปิดบังหน้า พร้อมกับตามด้วยวิธีแก้ปัญหาเพื่อเข้าห้องน้ำที่สับสนอลหม่าน ไม่ต่างกับขี่ช้างจับตั๊กแตน

ถ้วยรางวัลและเสียงเชียร์
Offside ได้ร่วมเข้าประกวดในเทศกาลภาพยนตร์เบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน ปี 2006 และสามารถคว้ารางวัลหมีเงิน หนังขวัญใจคณะกรรมการ หรือ Jury Prize มาครองได้ แม้ไม่มีฉากการแข่งขัน แต่นักวิจารณ์หลายคนก็ยกให้เป็นหนังฟุตบอลชั้นเยี่ยม เพราะหลายช่วงนั้นสนุกกว่าหนังที่มีฉากฟาดแข้งกันเสียอีก อาจเรียกได้ว่านี่คือการผสมผสานหนังเล่าเรื่องสไตล์สารคดี กับความบันเทิงได้อย่างลงตัว มันมีทั้งความเป็นธรรมชาติของนักแสดง พอๆ กับบทพูดถกเถียงที่ให้เกิดคำถามต่อกฎหมาย และสิทธิสตรีต่อผู้ชมได้อย่างน่าสนใจ

เปลี่ยนกฎ-กติกา
ในเดือนเมษายน ปี 2006 ประธานาธิบดี มาห์มูด อาห์มาดิเนจัด ของอิหร่านประกาศว่าอาจจะมีการสำรองที่นั่งพิเศษในสเตเดี้ยมสำหรับผู้หญิงและครอบครัวซึ่งเสมือนเป็นการตอบรับข้อเรียกร้องของกลุ่มสิทธิสตรี ท่ามกลางเสียงคัดค้านของ 6 อายะตุลเลาะห์*ระดับอาวุโส และบรรดาสมาชิกวุฒิสภาหลายคนซึ่งเห็นว่าเป็นการผิดกฎหมายอิสลามที่ห้ามให้หญิงสาวเห็นร่างกายชายแปลกหน้า แม้ว่านั่นจะเป็นการกระทำที่ไม่ได้เจตนาก็ตาม (แต่ก็น่าแปลกที่ในกีฬาประเภทอื่นอย่าง วอลเล่ย์บอล และ บาสเกตบอล ผู้หญิงกลับสามารถเข้าชมได้ทั้งที่การแต่งกายของนักกีฬาต้องใส่ขาสั้นเหมือนกัน)

ทั้งนี้ท่านประธานาธิบดีมองว่าการออกมาเชียร์กีฬาของผู้หญิงกับครอบครัวนั้นไม่ใช่เรื่องเสียหายแล้วในปัจจุบัน และยังจัดที่นั่งที่ดีที่สุดของสเตเดี้ยมให้อีกด้วย...ถือเป็นการพบกันครึ่งทาง และเป็นสัญญาณอันดีในอนาคต

โดนแบน
อย่างไรก็ตาม Offside ยังคงเป็นเช่นเดียวกับหนังของปานาฮีทุกเรื่อง ที่ห้ามฉายในประเทศอิหร่าน แม้ว่าผู้จัดจำหน่ายจะชอบมันมากเพราะเชื่อว่าหนังทำเงินถล่มทลายได้แน่ๆ และเขาเองก็หวังว่าหากได้ฉายจะทำให้เกิดการถกเถียงในประเด็นนี้อย่างกว้างขวางก็ตาม “ต้องย้อนกลับไปในสิ่งที่ผมเคยพูดถึงการจับผิดไปเสียทุกเรื่องของเจ้าหน้าที่ แม้เมื่อหนังอิหร่านประสบความสำเร็จในเวทีนานาชาติก็เชื่อว่ามันเป็นการสมคบคิด พวกเขาคิดว่าทั่วทั้งโลกเป็น CIA และพล็อตแบบนี้ทำให้เราได้รางวัล ชื่อเสียงของมันจะช่วยต่อต้านผู้นำรัฐบาลของประเทศตนเอง โดยลืมไปว่ามันแทบไม่ส่งผลอะไรเลย”

เสียงนกหวีดเป่าหมดเวลา...หลายคนโดยเฉพาะคนอิหร่าน และมุสลิมคงเกิดคำถามว่า ปานาฮีต้องการตีวัวกระทบคราดกับชาติของตนไปเพื่ออะไร ? แต่เมื่อดูจนจบก็จะพบว่าหนังไม่ได้มีเจตนาจะตั้งคำถามต่อศาสนาอิสลาม เพราะเจตนาของฮะรอม หรือ กฎบัญญัติห้ามนั้น มุ่งเน้นให้เกิดความเท่าเทียมกันของบุรุษและสตรี นี่จึงเป็นการตั้งคำถามกับความเท่าเทียมในสังคมอันพึงมี กับกฎหมายที่ยังคลุมเครือมากกว่า อีกทั้งเขายังแสดงความเป็นชาตินิยมที่ไม่จำเป็นต้องคลั่งชาติอย่างขาดสติ ผ่านฉากสุดท้ายที่มีเสียงกู่ร้องยินดี, เพลงชาติ, ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวของผู้คน และเปี่ยมความหวังถึงอนาคตของประเทศ

เช่นเดียวกับผลการแข่งขันระหว่าง อิหร่าน และ บาห์เรน ในท้ายที่สุดดูเหมือนจะไม่มีอะไรมารั้งความเปรมปรีดิ์ของผู้หญิงที่มีต่อชัยชนะของชาติ และเสมือนเป็นการประกาศชัยชนะของพวกเธอ...แม้มันจะเป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ ก็ตาม

เชิงอรรถ
* อายะตุลเลาะห์ ตำแหน่งสูงสุดที่มอบให้กับผู้นำศาลนาอิลลามนิกายชีอะห์





Create Date : 15 กรกฎาคม 2551
Last Update : 15 กรกฎาคม 2551 19:11:42 น. 6 comments
Counter : 1339 Pageviews.

 
แวะมาอ่านบล็อคเป็นระยะแหล่ะค่ะ
แ่ต่ไม่ค่อยได้ฝากคำทักทายไว้ เพราะมีปัญหากับการหลุด log-in บ่อยมาก (แจ้งทาง Bloggang ไปแล้ว)

ช่วงหลังๆหลายปีมานี่ไม่ได้มีโอกาสดูหนังมากนัก เพราะเบื่อกับสังคมคนดูหนังรอบๆข้าง บวกกับเป็นคนอารมณ์ร้อน
เลยไม่อยากให้เกิดให้คดีอาชญากรรมในโรงหนัง
พ่อแม่ก็จะพลอยเดือดร้อนได้ด้วย เรื่องก็จะยาววว (ว่าไปโน่น)
เลยอดทนรอ ดูหนังแผ่น (ทีุ่ถูกลิขสิทธิ์) อยู่บ้านดีกว่า

แต่ก็ดูหนังได้น้อยลงอยู่ดีแหล่ะค่ะ ไม่ค่อยมีเวลาหน้าจอทีวีติดต่อกัน นาน 2-3 ชั่วโมง
หลังๆนี่ อาศัยอ่านบทวิเคราะห์ บทวิจารณ์สั้นๆเอา ก็ชื่นใจแล้ว


---------------

อ้อ เรื่องทำกับข้าวทานเองนี่
เริ่มแบบเล็กๆน้อยๆ เอาง่ายๆก่อนนะคะ
เรื่องทำซุปเนื้อนั่น ใช้เวลาทั้งวัน ทำของยากอย่างนี้ซะก่อน เดี๋ยวจะท้อค่ะ
ทำกับข้าวเป็นเรื่องสนุกค่ะ เวลากินฝีมือตัวเอง มันอร่อยกว่าไปซื้อเจ้าดังๆ แพงๆ เป็นไหนๆ



โดย: Shallow Grave IP: 161.200.255.162 วันที่: 16 กรกฎาคม 2551 เวลา:15:40:42 น.  

 
แหะๆ หายไปซะนานเลยนะครับ...

ชีวิตนี้ผมยังไม่เคยดูหนังของปานาฮีเลยครับ ได้ยินแต่เสียงร่ำลือ และท่าทางในอนาคตอันใกล้นี้ก็คงจะยังไม่ได้ดู คงจะต้องฟังแต่เสียงร่ำลือต่อไปเรื่อยๆ

ดีใจที่กลับมานะครับ


โดย: แฟนผมตัวดำ วันที่: 16 กรกฎาคม 2551 เวลา:15:46:19 น.  

 
Shallow Grave
^
^
ขอบคุณในการมาเยี่ยมเยียนเรื่อยๆนะครับ

แฟนผมตัวดำ
^
^
จริงๆ เพิ่งเขียนถึงการไปญี่ปุ่นแบบเล็กๆ ไว้ก่อนหน้านี้แค่ไม่กี่อาทิตย์เองครับ ไม่ได้หายไปนานเหมือนเคย อ่านดูได้ที่นี่ครับ

https://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=yuttipung&month=07-2008&date=02&group=4&gblog=32


โดย: yuttipung IP: 58.9.185.91 วันที่: 16 กรกฎาคม 2551 เวลา:16:40:28 น.  

 
เข้าไปอ่านเรื่องดูหนังที่ญี่ปุ่นมาแล้วครับ

ฮาตอนท้ายที่วิ่งหนีผู้ชายเข้าโรงแรมนั่นแหละ ที่จริงน่าจะอยู่รอถามนะว่าตามเรามาทำไม แต่อยู่ต่างบ้านต่างเมืองใครจะกล้าล่ะเนอะ เป็นผมก็คงวิ่งเหมือนกัน

ว่าแต่ Magic Hour คงเป็นหนังที่ดีมากเลยนะครับ ขนาดคุณไม่เข้าใจภาษาญี่ปุ่นยังอินเลย


โดย: แฟนผมตัวดำ วันที่: 20 กรกฎาคม 2551 เวลา:21:37:48 น.  

 
ตอนดูตัวอย่างหนังเรื่องนี้อยากดูมาก แต่ช่วงที่หนังฉายไม่ว่าง ก็เลยยังไม่ได้ดูค่ะ

ปล. เรื่องรูป ไม่ได้ตั้งใจเลือกซ้ายนะคะ แต่มันซ้ายเอง


โดย: rebel วันที่: 21 กรกฎาคม 2551 เวลา:21:23:17 น.  

 
แฟนผมตัวดำ
^
^
^
แหะ แหะ ตอบเรื่องคุณภาพไม่ได้หรอกครับ คิดว่าคงไม่ได้ดีขนาดนั้น อารมณ์มันพาไปมากกว่า

rebel
^
^
^
มีแผ่นวางขายนานแล้วครับเรื่องนี้ คิดว่าคุณ rebel น่าจะชอบ


โดย: yuttipung IP: 58.9.201.17 วันที่: 28 กรกฎาคม 2551 เวลา:11:14:35 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

yuttipung
Location :
สมุทรปราการ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




เป็นคนไม่เป็นโล้เป็นพายคนหนึ่งที่ติดอินเตอรเน็ต จนได้งานพอประทังเลี้ยงชีพ Blog นี้มอบให้แก่หญิงสาวที่ให้กำลังใจสำหรับความฝันอันริบหรี่ของผมมาตลอด ปัจจุบันเรียนโทจบแล้ว ทำงานหลายที่ หลักๆ ตอนนี้เพิ่งเริ่มเป็น Webmaster นิตยสารแห่งหนึ่ง ส่วนงานพิเศษคือลงข่าว และข้อมูลหนัง ดูแลเว็บให้กับ Popcornmag กับ เครือข่ายคนดูหนัง และเขียนวิจารณ์ภาพยนตร์ให้กับ Filmax

Friends' blogs
[Add yuttipung's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.