Group Blog
 
<<
เมษายน 2549
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
30 
 
25 เมษายน 2549
 
All Blogs
 
Always – Sunset on Third Street : ถนนแห่งความทรงจำ

ย้อนกลับไปในปี ค.ศ.1958 (ปีโชวะที่ 33) หลังผ่านช่วงเวลาของสงครามโลกครั้งที่ 2 มาได้สิบสามปี โตเกียว เมืองหลวงของญี่ปุ่นยังคงเป็นเมืองเล็กๆ มีถนนเลนแคบที่รถราไม่ขวักไขว่ เต็มไปด้วยร้านรวงเล็กๆ และผู้คนซึ่งต่างมีเพื่อนบ้านที่รู้จักกันเป็นอย่างดี ..แน่ล่ะว่ามันอาจไม่ใช่เป็นเมืองที่เจริญทางเศรษฐกิจ และความทันสมัยเหมือนปัจจุบัน หลายคนยังจมอยู่กับความโศกเศร้าของผู้คนจากการสูญเสียในสงครามกำลัง แต่มันก็กำลังจะหายไป สิ่งที่เข้ามาทดแทนคือความหวังในประเทศที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง จนอาจเรียกได้ว่าช่วงเวลาดังกล่าวเป็นอีกยุคทองของญี่ปุ่นเลยทีเดียว โดยเฉพาะความสุขของผู้คน มันเป็นสุขทางใจที่หาแทบไม่ได้ในวันที่โตเกียวกลายเป็นเมืองเต็มตัวอย่างทุกวันนี้



ถนนที่สามตามชื่อเรื่องนั้น อยู่ห่างไปจอโตเกียว ทาวเวอร์ ที่กำลังสร้างอยู่ไม่ไกลนัก ปัจจุบันที่ดินบริเวณนั้นราคาแพงมหาศาล แต่ในยุคนั้นมันเป็นสถานที่ของผู้คนชั้นแรงงาน ซึ่งไม่ได้มีรายได้มากนัก ตั้งแต่เจ้าของกิจการประกอบรถเล็กๆ โนริฟูมิ ซูซูกิ(ชินอิจิ ทสึสุมิ) เขามีภรรยาที่อารมณ์ดีอย่าง โทโมเอะ(ฮิโรโกะ ยากุชิมารู) ซึ่งต้องรับมือกับ อิปเป ลูกน้อยนิสัยเอาแต่ใจอยู่เสมอๆ ทางร้านกำลังได้สมาชิกมาเพิ่มอีกคนคือ มัตสึโกะ(มากิ โฮริกิตะ) สาวต่างจังหวัดที่เดินทางมาด้วยความหวังจะเข้าทำงานเป็นเลขาในบริษัทรถยนต์ชื่อดัง

ฝั่งตรงข้ามเป็นร้านขายขนมของ ชากาวะ ริวโนสุเกะ(ฮิเดทากะ โยชิโอกะ) เพื่อนบ้านของซูซูกิตั้งแต่สมัยเด็ก ภายนอกเขาเป็นชายหนุ่มผมยาว ที่ไม่ค่อยเป็นมิตรกับใครนักทั้งบุคลิกและคำพูดคำจา เขายังคงหมกมุ่นกับการเป็นนักเขียนงานวรรณกรรมที่มักเอาตนเองไปเปรียบกับ เคนซาบุโร่ โอเอะ(ปัจจุบันเป็นหนึ่งในนักเขียนรางวัลโนเบลของญี่ปุ่น) แต่ตนเองก็ไม่เคยประสบความสำเร็จได้รับรางวัลอะไรเลยสักครั้ง จนต้องหันไปเขียนเรื่องสำหรับเด็กให้ได้เงินมาเลี้ยงชีพแทน สิ่งที่พอจะช่วยเติมเต็มชีวิตชีวาให้กับเขา ก็คือการไปร้านเหล้าของเจ้าของร้านสาวสวยอย่าง ฮิโรมิ(โคยูกิ) แม้เธอจะหาเรื่องที่ทำให้เขาลำบากใจ เมื่อขอร้องให้ช่วยเลี้ยง จุนโนสึเกะ(เคนตะ ซูกะ) เด็กน้อยที่ถูกพ่อและแม่ทิ้ง ซึ่งเธอได้เป็นภาระเลี้ยงดูจากญาติๆ

นอกจากชีวิตของคนสองบ้านนี้ ผู้คนในถนนยังรวมไปถึง คุณป้าร้านขายบุหรี่ที่มักขี่จักรยานอย่างรีบเร่ง และชนผู้คนเป็นประจำ, คุณหมอใจดีที่อาจกลายเป็นยักษ์ในสายตาคนไข้, กลุ่มเด็กน้อยซึ่งต่างมาเล่นของเล่นใหม่ๆ และกลุ่มผู้ชายซึ่งหาความสำราญที่ร้านเหล้าหลังตรากตรำทำงานทั้งวัน

เรื่องราวต่างๆ เหมือนจะเริ่มต้นด้วยปัญหาของแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็นความผิดหวังของสาวจากต่างจังหวัดที่ต้องมาทำงานเป็นช่างซ่อมรถในร้านซอมซ่อแทนการเป็นเลขา ซ้ำยังต้องมาทะเลาะกับเจ้าของร้าน-ท่านประธานที่เกิดอาการน๊อตหลุดเมื่อไม่ได้อย่างใจนึก, ชีวิตอมทุกข์ของนักเขียนไส้แห้ง ที่ยังต้องดวงตกมาดูแลเด็กที่ถูกทิ้งท่าทางอมทุกข์ตลอดเวลา, อดีตสาวกลางคืนที่พยายามสร้างเนื้อสร้างตัวใหม่ด้วยการเปิดร้านเหล้า

อย่างไรก็ตามเมื่อเวลาผ่านพ้นไป ชีวิตก็ผันแปรไปตามฤดูกาลที่เปลี่ยผัน เราได้พบว่าแต่ละผู้คนที่ยังต้องเผชิญปัญหาสารพัด ทุกชีวิตต่างก็มีทางออกของตน ร้านซ่อมรถเริ่มมีงานอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงความคล่องแคล่วที่มากขึ้นของมัตสึโกะ, ริวโนสุเกะผูกพันกับจุนโนสุเกะโดยไม่รู้ตัว แถมยังช่วยให้ได้ความสนิทสนมกับฮิโรมิมากขึ้น, เด็กน้อยอย่างจุนโนสุเกะที่มีนิสัยเป็นนักอ่านตัวยง ก็ได้ความเป็นคนช่างเขียนสร้างความรู้จักกับอิปเปได้ในเวลาอันรวดเร็ว และหลายต่อหลายคนที่เคยทะเลาะ-ผิดใจ แต่ก็ยังคงสนิทสนม พูดคุย ปรับทุกข์ ในฐานะเพื่อนบ้านร่วมถนนเดียวกัน

เทคโนโลยีใหม่ๆ กำลังเข้ามาในชีวิตผู้คนเป็นอีกประเด็นที่ปรากฎในหนัง โดยเฉพาะโทรทัศน์ วันแรกที่ครอบครัวซูซูกิได้รับเจ้าเครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดนี้ เพื่อนบ้านต่างแห่แหนเข้ามาชื่นชม และลุ้นการเปิดชมมันเป็นครั้งแรก เพราะนั่นเป็นสิ่งประดิษฐ์แปลกใหม่ที่ทุกคนตื่นตะลึงกับความมหัศจรรย์ของเทคโนโลยี เป็นความบันเทิงที่พวกเขาหาไม่ได้จากชีวิตที่เหนื่อยยาก ฉากที่ทุกคนดูการแข่งขันมวยปล้ำของ ริคิโด้ซัง ผู้ใช้ท่าสับของคาราเต้ อย่างใจจดใจจ่อ ชวนให้นึกถึงสมัยที่ชาวไทยต่างเฝ้าติดหน้าจอ รอการแข่งขันชกมวยกับผู้ท้าชิง ของเขาทราย แกแล็กซี่ อย่างไรก็อย่างนั้น...น่าเสียดายที่ในวันนี้มันอาจเป็นเพียงสิ่งที่ทุกคนคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี รวมถึงอีกหลายนวัตกรรมซึ่งถูกสรรค์สร้างขึ้นมาบนโลกไม่เว้นแต่ละวัน ทั้งคอมพิวเตอร์, อินเตอร์เนต, และโทรศัพท์มือถือ จนเราชาชินไปกับมันโดยปริยาย

บางทีเทคโนโลยีก็นำมาซึ่งความสุข ความสะดวกสบายให้กับชีวิต แต่เมื่อมันมากเกินก็อาจกลืนกินชีวิตจิตใจผู้คนไปโดยเราไม่รู้ตัว

แม้บทสรุปของหลายชีวิตจะไม่ได้สวยงามไปเสียทั้งหมด บางคนยังจมอยู่กับอดีตที่เจ็บปวด บ้างก็รอคอยความสุขที่ยังมองไม่เห็น เพราะเมื่อมีแง่งามก็ย่อมมีความเศร้าคลุกเคล้าอยู่ร่วมในนั้น แต่ทุกคนในถนนต่างมีความหวังกับชีวิต ด้วยความเชื่อที่เป็นหนึ่งเดียวกันว่า “แล้วทุกๆ อย่างก็จะดีขึ้นเอง” ซึ่งถือเป็นแก่นแกนของหนังทั้งเรื่อง

สิ่งหนึ่งที่ปรากฎให้คนในเมืองแห่งนี้ได้มองเห็นความหวังและความภูมิใจที่กำลังรอพวกเขานั้น คือ หอโตเกียว ทาวเวอร์ ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างได้เพียงครึ่งเดียว รอเวลาให้ชาวเมืองได้เชยชม เจ้าของร้านซูซูกิถึงกับบอกเด็กสาวที่เพิ่งทำงานเลยว่า “พอสร้างเสร็จ มันจะกลายเป็นหอที่สูงที่สุด” เช่นเดียวกับเศรษฐกิจ และชีวิตผู้คนของญี่ปุ่น

Always – Sunset on Third Street เป็นหนังที่เรียกร้องให้คนดูเกิดความประทับใจ และหวนรำลึกถึงภาพชีวิตในอดีต ประเภทที่เรียกกันว่า Nostalgia เช่นเดียวกับงานอย่าง American Graffiti(1973), Stand By Me(1986), หรือ Cinema Paradiso(1989) ซึ่งผู้กำกับ ทาคาชิ ยามาซากิ ก็สามารถทำได้อย่างพอเหมาะพอดี ตัวงานอาจมีเนื้อเรื่องที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี มิหนำซ้ำยังมีฉากเร้าอารมณ์อยู่หลายฉาก แต่เมื่อหลายต่อหลายเรื่องประกอบเข้าด้วยกันเป็นงานชิ้นนี้ มันก็ไม่มากไม่น้อยจนน่าเบื่อ คนดูสามารถหัวเราะ และซาบซึ้งไปได้กับจังหวะการดำเนินเรื่องที่ไม่เชื่องช้า หรือเร่งเร้าจนเกินไป

นอกจากยามาซากิ จะเลือกใช้นักแสดงที่ลงตัว งานสร้างที่ถึงพร้อม ความโดดเด่นที่ปฏิเสธไม่ได้ในหนังเรื่องนี้ก็คือการนำเทคนิคพิเศษด้านภาพมาปรับใช้กับหนังประเภทดราม่า โดยไม่ได้บดบังเรื่องราวและอารมณ์ต่างๆ แต่กลับช่วยเสริมให้ทุกอย่างดงามยิ่งขึ้นไปอีก ไมว่าจะเป็นการช่วยเนรมิตสิ่งต่างๆ ให้กลายเป็นภาพได้อย่างสมจริง ทั้งหอโตเกียว ทาวเวอร์, เครื่องบินเด็กเล่น และช่วยตบแต่งทำให้งานภาพออกมางดงาม สีที่ปรากฎทำให้นึกถึงสีของหนังญี่ปุ่นในอดีตได่อย่างดี

หลายต่อหลายครั้งที่งานในลักษณะเดียวกันนี้น้อยเรื่องที่มักจะได้คำชื่นชมทางด้านศิลปะภาพยนตร์ ในแง่หนึ่งก็มองได้เหมือนกันว่างานในลักษณะนี้เป็นหนังที่สร้างให้ดีได้ยาก แต่สำหรับ Always – Sunset on Third Street นั้นถือเป็นหนังคุณภาพได้อย่างไม่ต้องสงสัย

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง: เว็บไซต์ภาพยนตร์


Create Date : 25 เมษายน 2549
Last Update : 25 เมษายน 2549 15:20:32 น. 15 comments
Counter : 931 Pageviews.

 
เห็นมีแต่คนชมหนังเรื่องนี้
คงหาโอกาสไปดู

พึ่งไปดู Hell มาค่ะ


โดย: grappa วันที่: 25 เมษายน 2549 เวลา:18:46:48 น.  

 
Hell ก็ไม่อยากพลาดเหมือนกันครับ คงคนละอารมณ์กับหนัง Feel Good แบบเรื่องนี้แน่ๆ


โดย: yuttipung IP: 202.44.8.100 วันที่: 26 เมษายน 2549 เวลา:10:55:36 น.  

 
กะจะไปดูเสาร์นี้ค่ะ (หวังว่าคงจะได้ดูน่ะนะคะ)

เพราะงั้นขอยังไม่อ่านนะคะ

คนเชียร์หนังเรื่องนี้เยอะมั่กๆ


โดย: สาวไกด์ใจซื่อ วันที่: 26 เมษายน 2549 เวลา:19:51:50 น.  

 
น่าดูอย่างมากเลยครับ ต้องไปดูให้ได้ (ถ้ามีโอกาสนะครับ)


โดย: เข็มขัดสั้น วันที่: 26 เมษายน 2549 เวลา:21:41:10 น.  

 
เป็นหนังที่ผมไม่ได้ดูและคงไม่มีโอกาศได้ดูอีกเช่นกัน ขอโทษด้วยที่มาตอบช้าไปหน่อยครับ เพราะเพิ่งมาเห็น ผมก็เบื่อห้องราชดำเนินเหมือนกัน หากินกันเป็นขบวนการ แต่เท่าที่เห็นมามีเพียงจำนวนน้อยที่ตอบแบบมีเหตุผล ส่วนใหญ่จะใช้อารมณ์ ใช้เหตุผลแบบตื้น ๆ ซึ่งถ้าเราเถียง เขาก็ไม่ยอมแพ้ ถึงจะเห็นๆ ว่า เรามีเหตุผลมากกว่า ตรงกับทฤษฎีมากกว่า


โดย: Johann sebastian Bach วันที่: 27 เมษายน 2549 เวลา:9:47:22 น.  

 
ชอบมากๆค่ะ


โดย: ohoh IP: 203.155.206.110 วันที่: 27 เมษายน 2549 เวลา:13:06:12 น.  

 
เป็นหนังที่ผมไม่ได้ดูและคงไม่มีโอกาศได้ดูอีกเช่นกัน ขอโทษด้วยที่มาตอบช้าไปหน่อยครับ เพราะเพิ่งมาเห็น ผมก็เบื่อห้องราชดำเนินเหมือนกัน หากินกันเป็นขบวนการ แต่เท่าที่เห็นมามีเพียงจำนวนน้อยที่ตอบแบบมีเหตุผล ส่วนใหญ่จะใช้อารมณ์ ใช้เหตุผลแบบตื้น ๆ ซึ่งถ้าเราเถียง เขาก็ไม่ยอมแพ้ ถึงจะเห็นๆ ว่า เรามีเหตุผลมากกว่า ตรงกับทฤษฎีมากกว่า

^
^
^
ตอบคุณบาค ผมก็ไม่ได้เชื่อว่าจะเป็นวอร์รง วอร์รูมอะไรนะครับ แต่ก็อย่างที่ว่าคนที่เชื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเต็มตัวแล้ว เขาไม่ได้ฟังเหตุฟังผลของอีกด้านหรอกครับ เขาก็เชื่อในแนวทางของตนทั้งนั้น บางคนยังหาว่าเป็นสาวกสนธิอะไรไปโน่นเลยก็มี

แหะ แหะ นอกเรื่องหนังไปเลยเนี่ย


โดย: yuttipung IP: 124.120.159.110 วันที่: 27 เมษายน 2549 เวลา:15:21:30 น.  

 
หนังดีมากๆครับ
ไม่น่าเชื่อว่าผมเสียน้ำตาให้กับเครื่องโทรทัศน์เครื่องหนึ่งและแหวนหมั้นที่สวยที่สุดในโลก


โดย: keano (jonykeano ) วันที่: 29 เมษายน 2549 เวลา:19:08:03 น.  

 
แหม ผมอุตส่าห์ไม่เล่าแล้วนะ ผมว่านี่เป็นมุขอันดับต้นๆ ของหนังเลยครับ


โดย: yuttipung IP: 58.9.25.63 วันที่: 29 เมษายน 2549 เวลา:21:46:44 น.  

 
ปัยดูมาแล้วคับ..อุๆๆ พลาดได้ไง หนังทำออกมาได้ดีคับ แต่เดี๋ยวมันก็เศร้าเดียวมันก็ตลกเลย บิ้วอารมณ์ไม่ถูก ให้9 เต็ม10เลยสำหรับหนังดีๆ แบบนี้


โดย: A-leX IP: 203.121.171.114 วันที่: 2 พฤษภาคม 2549 เวลา:10:06:20 น.  

 
แวะมากรี้ดๆ เรื่องนี้ค่ะ
น่ารักจุงๆเลย

"หัวเราะร่า น้ำตาริน" ค่ะ


โดย: LUNATIC SPACE วันที่: 2 พฤษภาคม 2549 เวลา:11:34:10 น.  

 
ดูแล้ว ชอบมากเหมือนทุกๆ คน
ชอบฉาก เครื่องรางของแม่พาผมกลับบ้านได้
ตารื้นเลยครับ


โดย: คนขับช้า วันที่: 13 มีนาคม 2550 เวลา:23:35:25 น.  

 
ดูแล้วสนุกมากๆค่ะ


โดย: เจน IP: 203.113.71.168 วันที่: 15 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:18:07:39 น.  

 
มีใครพอทราบไหมค่ะ ว่าหนังเรื่องนี้ สามารถเชื่มโยงแนวความแบบสัจจนิยมและเสรีนิยมยังบ้าง มีใครพอทราบไหมคะ รบกวนช่วยอธิบายหน่อยคะ


โดย: แก้ว IP: 202.176.68.248 วันที่: 1 สิงหาคม 2551 เวลา:13:15:55 น.  

 
^
^
^
แนวความคิดแบบสัจจนิยม(Realism) แทบไม่น่าจะปรากฎในงานชิ้นนี้เลยครับ เพราะแนวคิดนี้มุ่งเน้นการสะท้อนความจริงในสังคม อีกทั้งยังใช้เทคนิคพิเศษด้านภาเข้ามาเกี่ยวเพื่อสร้างบรรยากาศในลักษณะแบบ Romaticism อยู่มาก ถ้าจะพ้องอยู่บ้างก็คงเป็นเพราะมันสะท้อนภาพของคนสังคมชั้นล่างที่กำลังถีบตัวหลังยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ครับ

ถ้าจะพ้องกับเสรีนิยม น่าจะพ้องกันมากกว่า เพราะว่าด้วยยุคสร้างชาติของประเทศญี่ปุ่นหลังผ่านวิกฤตครั้งใหญ่ ตัวละครบางคนยังไม่สามารถลืมอดีตอันเลวร้ายได้ และเป็นคนหาเช้ากินค่ำ ซึ่งหนังเองก็ให้ความหวังในการมีชีวิตที่เป็นสุขกับผู้คนเหล่านี้ ท่ามกลางการพัฒนาประเทศ ทุกคนสามารถมีสุขได้พร้อมกับทิวทัศน์อันสวยงามจากหอคอยโตเกียว


โดย: yuttipung วันที่: 22 สิงหาคม 2551 เวลา:12:12:04 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

yuttipung
Location :
สมุทรปราการ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




เป็นคนไม่เป็นโล้เป็นพายคนหนึ่งที่ติดอินเตอรเน็ต จนได้งานพอประทังเลี้ยงชีพ Blog นี้มอบให้แก่หญิงสาวที่ให้กำลังใจสำหรับความฝันอันริบหรี่ของผมมาตลอด ปัจจุบันเรียนโทจบแล้ว ทำงานหลายที่ หลักๆ ตอนนี้เพิ่งเริ่มเป็น Webmaster นิตยสารแห่งหนึ่ง ส่วนงานพิเศษคือลงข่าว และข้อมูลหนัง ดูแลเว็บให้กับ Popcornmag กับ เครือข่ายคนดูหนัง และเขียนวิจารณ์ภาพยนตร์ให้กับ Filmax

Friends' blogs
[Add yuttipung's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.