Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2554
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
 
25 พฤศจิกายน 2554
 
All Blogs
 
จับกระแสเศรษฐกิจและพลังงาน : นโยบายพลังงานต้องเดินหน้า

จับกระแสเศรษฐกิจและพลังงาน : นโยบายพลังงานต้องเดินหน้าหลังน้ำลด (2) โดย...ดร.โชติชัย สุวรรณาภรณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่นโยบายและเศรษฐกิจพลังงาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) Chodechai.energyfact@gmail.com
สถานการณ์น้ำตอนนี้ก็เริ่มคลี่คลายไปมาก หลายคนคงได้กลับเข้าบ้านกันแล้วนะครับ เรามาไล่เรียงกันต่อถึงนโยบายพลังงานที่รัฐบาลต้องวางแผนเดินหน้าจากนี้ไปครับ


นอกจากการวางแผนทางท่อแล้ว การวางแผนการสร้างคลังสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติมตามภูมิภาคต่างๆ ก็ถือเป็นงานสำคัญที่ต้องเร่งกระทำควบคู่กัน เพราะในภาวะวิกฤติครั้งนี้ยังนับว่าเรายังโชคดีอยู่มากที่มีคลังสำรองน้ำมันและก๊าซบางส่วนกระจายอยู่ตามต่างจังหวัด ซึ่งเราก็ได้อาศัยคลังเหล่านั้นในการกระจายน้ำมันส่งผ่านกลับมายังพื้นที่ที่ประสบปัญหาที่ต้องรับน้ำมันและก๊าซจากส่วนกลาง การดำเนินการเช่นนี้แม้ว่าจะขลุกขลักอยู่บ้าง แต่ก็พอช่วยให้เรารอดพ้นวิกฤติคราวนี้ไปได้
อีกประการหนึ่งคือการสร้างคลังสำรองน้ำมันเพิ่มเติมในระยะต่อไปควรเป็นการดำเนินงานที่เป็นวาระของรัฐบาลเพื่อทำให้การสำรองน้ำมันโดยรัฐนี้เป็นการสำรองเชิงยุทธศาสตร์เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานอย่างแท้จริง เพราะในภาวะวิกฤติเราจำเป็นต้องมีเครื่องมือในการบริหารวิกฤติหลายๆ รูปแบบเพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในการปฏิบัติงาน
ประการถัดมาที่ผมเห็นว่าควรเร่งกระทำคือการขยายเครือข่ายเชื่อมโยงระบบไฟฟ้า จริงอยู่ที่ครั้งนี้ประเทศเราไม่ได้ประสบกับภาวะไฟฟ้าดับอันเกิดจากการขาดแคลนกระแสไฟฟ้า มีเพียงไฟดับในบางพื้นที่ที่น้ำท่วมสูงและจะเป็นอันตรายต่อผู้สัญจรไปมาจึงต้องทำการตัดไฟ ในด้านความเพียงพอของกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองผมเชื่อได้เลยว่าในวันนี้ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยสามารถบริหารวิกฤติคราวนี้ได้อย่างดีเยี่ยม และมีกำลังผลิตสำรองพร้อมจ่ายสูงถึงประมาณ 2,000 เมกะวัตต์
แต่ประเด็นสำคัญคือเรื่องของการจ่ายไฟ ซึ่งสถานีจ่ายไฟในบางพื้นที่ถูกน้ำท่วมและมีความยากลำบากในการแก้ไขให้กระแสไฟฟ้าสามารถส่งผ่านเข้าไปยังเขตชุมชนเมืองและเขตอุตสาหกรรมสำคัญที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง ดังนั้น จึงจำเป็นต้องทบทวนถึงความมั่นคงและปลอดภัยของระบบการจ่ายไฟฟ้าควบคู่กับระบบผลิตไฟฟ้าของประเทศ
ทั้งนี้ เพื่อเป็นหลักประกันถึงความมั่นคงด้านพลังงาน เพราะในยามวิกฤติเช่นนี้ก็ชี้ให้เราเห็นแล้วว่าแม้น้ำจะท่วมบ้านแต่หากน้ำประปายังไหลไฟฟ้ายังสว่างประชาชนก็ยังพออุ่นใจและสามารถคลายความวิตกกังวลที่จะอยู่สู้กับสถานการณ์น้ำท่วมที่บ้านหรือที่ศูนย์อพยพก็ตาม รวมทั้งไฟฟ้าถือเป็นยุทธปัจจัยที่ต้องจัดหาให้มีเพียงพอตลอดเวลาเพื่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการลำเลียงความช่วยเหลือและทำการสูบน้ำออกจากพื้นที่
ส่วนในด้านสุดท้ายที่ผมอยากเสนอว่าควรเร่งกระทำคือการสร้างการบูรณาการสำหรับโครงข่ายพลังงานของประเทศเพื่อรองรับภาวะฉุกเฉินโดยการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่แสดงภาพให้เราสามารถประเมินสถานการณ์ได้ทันที อาจจะเป็นภาพถ่ายดาวเทียมแสดงตำแหน่งที่ตั้งจุดวิกฤติต่างๆ เช่น คลังน้ำมัน สถานีให้บริการน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ แนวท่อส่งน้ำมัน สายส่งไฟฟ้า และโรงไฟฟ้า ที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์เพื่อประสานงานและสั่งการได้อย่างทันท่วงทีในการเฝ้าระวังจุดวิกฤติเหล่านั้น
นอกจากนี้ ควรจัดให้มีการซ้อมแผนการรองรับภาวะฉุกเฉินอย่างสม่ำเสมอเพื่อดูว่ากลไกต่างๆ ที่ได้วางไว้ยังอยู่ในสภาพใช้การได้ทันทีหรือไม่ ซึ่งการซ้อมแผนฉุกเฉินเหล่านี้ต่อไปจะไม่ใช่เป็นแต่เพียงวาระของกระทรวงพลังงานเท่านั้น แต่เป็นวาระแห่งชาติที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องให้ความร่วมมือและเอาใจใส่อย่างจริงจัง เพราะไม่แน่ว่าครั้งต่อไปเราจะมีโอกาสได้มานั่งทบทวนเช่นนี้อีกหรือไม่
-----------------------------------
(จับกระแสเศรษฐกิจและพลังงาน : นโยบายพลังงานต้องเดินหน้าหลังน้ำลด (2) โดย...ดร.โชติชัย สุวรรณาภรณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่นโยบายและเศรษฐกิจพลังงาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) Chodechai.energyfact@gmail.com )


Create Date : 25 พฤศจิกายน 2554
Last Update : 25 พฤศจิกายน 2554 2:07:16 น. 0 comments
Counter : 451 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

yungbin
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add yungbin's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.