ยังคงติดเกมและเล่นเฟสมากกว่า อาจไม่ค่อยมาตอบคอมเม้นท์นะคะ

ยาคูลท์
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 30 คน [?]




ข้าพเจ้าเป็นสุข และเชื่อว่าใครก็ตามซึ่งมีรสนิยมในการอ่านหนังสือดี ย่อมสามารถทนต่อความเงียบเหงาในทุกแห่งได้ -- วาทะของท่านมหาตมะ คานธี


Book Archive by Group



หมายเหตุ: โซน Romance และ การ์ตูน ยังไม่ทำเพราะมีน้อย


Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2549
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
7 พฤษภาคม 2549
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add ยาคูลท์'s blog to your web]
Links
 

 
ตำรามรณะ (The Rule of Four)


ผู้แต่ง: เอียน คาล์ดเวลล์ และ ดัสติน โธมัสสัน
ผู้แปล: กิตติชัย กิตติวรัญญู
สำนักพิมพ์: เมเปิ้ล พับลิชชิ่ง
พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2548
ราคา 275 บาท

เรื่องราวของเด็กหนุ่มสองคนที่พาตัวเองไปพัวพันกับปริศนาดำมืดของหนังสือ “ฮิปเนโรโทมาชเชีย โพลิฟีลี” หนังสือโบราณที่ดึงสัญชาตญาณความกระหายใคร่รู้ในตัวของทั้งคู่ออกมา เฉกเดียวกับที่นักปราชญ์และนักวิชาการในอดีตเคยประสบมาแล้ว

บนทางแยกระหว่างสัญญาของอนาคตและการลวงล่อของอดีต มีเพียงมิตรภาพและความรักเท่านั้นที่จะนำทางพวกเขาไปสู่แสงสว่างได้

* * * * * * *


ความลุ้น: ปานกลาง
ปริศนาในเรื่อง: เพียบ ยากและโบราณ
ฆาตกรรม: มีคนตาย พอเดาตัวฆาตกรและเหตุจูงใจได้

พล็อต: นักศึกษาปรินซ์ตันกำลังจะไขปริศนาของหนังสือโบราณได้ เมื่อบันทึกของนายท่าเรือที่เคยหายไปปรากฏขึ้นมา แต่มันโผล่มาพร้อมความจริงของการทรยศหักหลังในอดีต ซึ่งผู้เกี่ยวข้องกำลังดึงนักศึกษากับเพื่อนเข้ามาร่วมวงด้วยอย่างเลี่ยงไม่ได้

เป็นเรื่องที่เพิ่งได้อ่าน หลังเลื่อนคิวไปหลายครั้งเพราะแทบทุกคนบอกว่าไม่สนุกบ้าง เรื่อย ๆ บ้าง เรียกว่าไม่มีคนชมเลยมั้ง? แต่จขบ. อ่านแล้วคิดว่าเรื่องนี้สนุก และลึกซึ้งมาก ใครชอบนิยายสืบสวนไขปริศนาที่อิงกับหนังสือที่มีอยู่จริง ไม่ควรพลาด (บอกก่อนว่าเขียนบรรยายได้เนื้อ น่าติดตามกว่าดาวินชี่ ซึ่งจขบ. ยังอ่านค้างอยู่เลยค่ะ)

เดินเรื่องด้วยน้ำเสียงบุรุษที่หนึ่งซึ่งเล่าบรรยากาศในมหาวิทยาลัยปรินซ์ตันได้อย่างมีเสน่ห์ (แม้จะดัดแปลงรายละเอียดบางส่วน) มีอุโมงค์ใต้ดิน มีทางลัด มีงานรื่นเริงที่จบด้วยการฆาตกรรม สลับกับการไขปริศนากับเรื่องราวความรักและมิตรภาพในกลุ่ม ทำให้อ่านแล้วไม่เบื่อเลย เป็นนิยายที่สร้างบรรยากาศขณะอ่านได้ดีมาก (ชวนให้นึกถึง Dante Club ของ Mathew Pearl ขึ้นมานิดหน่อย)

จุดเด่นที่สุดคือบทบรรยายที่แฝงปรัชญาไว้ตลอด ตัวเอกจะหวนนึกถึงคำสอนหรือคำคมที่ใครเคยพูด แล้วนำมาประยุกต์กับเหตุการณ์ที่จะเล่าให้คนอ่านฟัง เวลาอ่านเลยให้อารมณ์สวยละไม ไม่ดุ่ย ๆ แบบอาชญนิยายส่วนใหญ่

จุดที่ชวนให้สับสนเล็กน้อยคือ timeline ของเหตุการณ์ เพราะมีการสลับฉากไปมาตลอด ทีนี้ บางเหตุการณ์เกิดใกล้กันมาก จนแม้แต่จขบ. ก็ต้องยอมรับว่าอ่านหลุดไปช่วงนึง ถ้าไม่ใช่ประโยคที่บอกว่า “X ตายเมื่อคืน” ก็คงไม่รู้ว่าเข้าใจผิด (เผอิญโชคร้ายได้เล่มชำรุด หน้า 313 – 320 สลับกับ 321 – 336 ด้วย เลยยิ่งงง) แต่ส่วนใหญ่แล้ว อ่านเข้าใจดี เพราะรู้ว่าที่สับสนคือช่วงไหนทอมหันมาสนหรือไม่สนการค้นคว้า-คนรักเท่านั้นเอง

แปลอ่านรู้เรื่องค่ะ มีติดบ้างบางจุด แต่ถือว่าผ่าน สำนวนการเล่าเรื่องโดยอิงแอบปรัชญาและปริศนาที่ต้องอ้างอิงความรู้โบราณจะทำให้ "อิน" โดยไม่รู้ตัว แม้ว่าจะเดินเรื่องและจบแบบเอาใจคนอ่านสุดขีดก็ตาม (ตัวละครนักศึกษาเก่งเว่อร์เชียว) ชอบที่เน้นเรื่องความรัก-มิตรภาพด้วย

แนะนำให้อ่านเมื่อว่างพอจะอ่านยาวค่ะ


ฮิปเนโรโทมาชเชีย โพลิฟีลี
ฮิปเนโรโทมาชเชีย โพลิฟีลี เป็นหนังสือที่มีอยู่จริง ภาษาละตินแปลว่า “การตามหารักในความฝันของโพลิฟิโล” (มีแปลเป็นภาษาอังกฤษแล้ว) หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ราวปี ค.ศ. 1499 โดยชาวเวนิสชื่ออัลดัส มานูติอุส แต่ตัวผู้เขียนลึกลับ ฟรานเซสโก โคลอนนา ยังคงเป็นปริศนาให้ถกเถียงกันอยู่

ฮิปเนโรโทมาชเชีย โพลิฟีลี เป็นสารานุกรมในรูปนวนิยาย เป็นเสมือนวิทยานิพนธ์ที่บันทึกเรื่องราวต่าง ๆ นับตั้งแต่สถาปัตยกรรมไปจนถึงสัตววิทยาโดยใช้ภาษาที่แม้แต่เต่ายังเห็นว่าช้า เนื้อเรื่องง่ายมาก โพลิฟิโลฝันประหลาดว่าเขากำลังค้นหาหญิงที่เขารักแค่นั้นเอง แต่หากนำตัวอักษรแรกของทุกบทมาเรียงกัน จะได้ประโยคว่า “พี่ชายฟรานเซสโก โคลอนนา รักโปเลียเกินรำพัน” (Brother Francesco Colonna Loved Polia Tremendously) จึงเกิดคำถามว่าใครคือผู้เขียนหนังสือกันแน่? และมีรหัสอะไรซ่อนอยู่อีกไหม? ผู้เขียนใช้กลวิธีการเล่าที่ซับซ้อนมาก จนแม้แต่นักปราชญ์เรอเนสซองส์ส่วนใหญ่ยังยกให้เป็นหนังสือที่น่าเบื่อและยากมหาหินไปโดยปริยาย เพราะนอกจากจะเล่าเรื่อยเปื่อยจนแทบไม่มีเนื้อเรื่องแล้ว ยังใช้ภาษาในการเขียนหลายภาษา ทั้งกรีก อารบิก ฮิบรู บางคำก็คิดขึ้นมาเองอีกด้วย
รายละเอียดเพิ่มเติม: คลิกที่นี่




* * * จะเริ่ม Spoiled แล้ว * * *

ตัวละคร
รุ่นพ่อ:
แพทริค ซัลลิแวน – พ่อของทอม เขาศึกษาฮิปเนโรฯ ในแง่ของเรื่องรัก และมองว่ามันเป็นดั่งของกำนัลแด่ความรักที่ชายมีต่อหญิง เป็นงานศิลปะที่เป็นภาพจำลองจากความปั่นป่วนทางอารมณ์
ภายหลัง เขาค้นพบ “เอกสารเบลลาดอนนา” ซึ่งพิสูจน์ได้ว่าฟรานเซสโก โคลอนนา ผู้แต่งฮิปเนโรฯ ไม่ใช่พระชาวเวนิสอย่างที่ศาสตราจารย์ส่วนใหญ่เข้าใจกัน แต่เป็นชนชั้นสูงชาวโรมันในโรมัน อคาเดมี่

วินเซนท์ แทฟท์ – ศาสตราจารย์ที่ติดใจฉากนองเลือดและลึกลับ ความตายและการบูชายัญในเรื่อง เขาเป็นอัจฉริยะที่เข้าใจยาก อารมณ์แรง ชอบเอาชนะ เป็นเหตุให้จ้องวิจารณ์ทำลายคนอื่น โดยเฉพาะแพทริคซึ่งแตกคอกันเพราะตั้งสมมติฐานขัดแย้งกับความเชื่อของเขา

ริชาร์ด เคอร์รี่ – นักศิลปะที่สนใจความยิ่งใหญ่ของฮิปเนโรฯ เช่นกัน เขาชักชวนแพทริคมาร่วมวิจัยฮิปเนโรฯ พร้อมกับแทฟท์ ความสนใจคนละด้านก่อเกิดเป็นวงจรอันสมบูรณ์ จนกระทั่งเคอร์รี่ค้นพบสมุดบันทึกเก่าแก่ของนายท่าเรือชาวจีนัว อันเป็นเหตุให้กลุ่มแตกคอกัน และบันทึกนายท่าเรือหายไป

รุ่นปัจจุบัน นักศึกษาปรินซ์ตัน:
ทอม – ลูกชายของแพทริคที่เห็นพ่องมงายอยู่กับฮิปเนโรฯ จนเหมือนละทิ้งครอบครัว ทำให้กลัวว่าตัวเองจะหลงหนังสือเล่มนี้อย่างพ่อ แต่ในขณะเดียวกัน การค้นคว้าฮิปเนโรฯ ก็ทำให้เขารู้สึกเชื่อมโยงกับพ่อด้วย

พอล – เด็กหนุ่มกำพร้าแต่ปัญญาปราดเปรื่องที่คลั่งไคล้ยุคเรอเนสซองส์และนับถือแพทริคมาก จนหันมาสนใจฮิปเนโรฯ ถึงขนาดเริ่มทำวิทยานิพนธ์เรื่องนี้ตั้งแต่เข้าปีหนึ่ง

ชาร์ลี – นักศึกษาแพทย์จากครอบครัวที่อบอุ่น อารมณ์ดี ชอบดูแลเพื่อน

จิล – ลูกชายเศรษฐีที่ชอบก่อเรื่องจนมาลงเอยที่ปรินซ์ตัน ประธานไอวี่ที่ทุกคนรักใคร่

เคที่ – นักศึกษาปีสอง คนรักของทอม

บิล สไตน์ – นักศึกษารุ่นพี่ที่ทอมขอร้องให้มาช่วยพอลค้นคว้าเรื่องฮิปเนโรฯ หลังจากที่เขาวางมือ

* * * Spoiled สุด ๆ ล่ะนะ * * *


เริ่มเรื่อง เล่าด้วยน้ำเสียงของทอม ฉากปัจจุบันคือปรินซ์ตันปี 4 ขณะที่ทุกคนกำลังจะจบวิทยานิพนธ์ของตน ทอม พอล ชาร์ลีและจิลเป็นเพื่อนร่วมห้องก๊วนเดียวกัน

มิตรภาพ พอลนับถือแพทริค..พ่อของทอม..จึงตามหาทอมตั้งแต่แรกที่เห็นชื่อเขาในรายชื่อนักศึกษา (แพทริคอุทิศ “เอกสารเบลลาดอนนา” ให้กับทอม)

ชอบตอนที่สองคนพบกันครั้งแรก พอลพูดว่า “เราก็เหมือนมีพ่อคนเดียวกัน” มันสื่อออกมาได้ตรงมาก ทั้งคู่ผูกพันและรู้จักฮิปเนโรฯ เหมือนกัน แต่เป็นความผูกพันที่ต่างกัน เพราะในขณะที่พอลทุ่มเทให้ฮิปเนโรฯ หมดหัวใจ มองมันเป็นเป้าหมายในชีวิต แต่ทอมกลับมองว่าฮิปเนโรฯ เป็นเหมือนมรดกสายเลือดจากพ่อ..เป็นสิ่งยั่วยุที่อาจครอบงำเขาเหมือนที่ทำกับพ่อมาแล้ว จึงไม่ควรเข้าไปผูกพันมากนัก..หากทำได้

ปมของทอม แม่ของทอมกลัวนักกลัวหนาว่าลูกจะรักหนังสือเป็นบ้าเป็นหลังอย่างพ่อ เธอพยายามขัดเกลาให้ลูกเป็นคนมีเป้าหมาย ไม่ไล่ตามสิ่งที่เลื่อนลอย

ในขณะที่พ่อสอนเขาด้วยภาพ “ความรักชนะทุกสิ่ง” ของอาร์กอสติโน การ์รัคชี ซึ่งมีความหมายว่าความรักนั้นทรงพลัง ไม่ว่าเราจะมุ่งมั่นหรือแน่วแน่แค่ไหน ก็เอาชนะมันไม่ได้


Vincit Omnia Amor (Love Conquers All)
source: //www.metmuseum.org/toah/hd/carr/ho_17.3.1853.htm


เหมือนดังที่แพทริครักฮิปเนโรฯ จึงทิ้งมันไปไม่ได้ ทอมจึงมีปมในใจคือกลัวตัวเองจะคลั่งไคล้หนังสือแบบพ่อ แต่อีกใจก็อยากเป็นอย่างพ่อ อยากสานต่องานของพ่อเพื่อแก้ตัวที่เคยไม่เชื่อใจพ่อมาก่อน

ตัวตายตัวแทน ปีแรกที่เข้าปรินซ์ตัน ทอมชวนพอลไปร่วมทานอาหารกับแทฟท์ เพราะไม่อยากร่วมโต๊ะกับเพื่อนเก่าของพ่อที่เคยเขียนวิจารณ์งานพ่อไว้เสีย ๆหาย ๆ ตามลำพัง แล้วพอลก็กลายเป็นเหมือน “ลูกชายของแพทริค” ในกลุ่มเพื่อนเก่าของพ่อทอมไป แทฟท์เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ส่วนเคอร์รี่ก็ออกทุนวิจัยฮิปเนโรฯ ให้พอล ในขณะที่ทอมพอใจกับบทบาทผู้ช่วยในการวิจัยเท่านั้น

ความรัก ทอมตั้งข้อสังเกตจากภาพว่าทำไมรักต้องมีสามเส้าเสมอ หรือธรรมชาติของรักเป็นเช่นนั้น? จิลจับคู่ให้เขาได้เจอเคที่ เธอเข้ากับเขาได้ดีและทั้งคู่ช่วยพอลไขปริศนาอยู่ช่วงหนึ่ง จนฮิปเนโรฯ เริ่มครอบงำทอมมากขึ้นและเคที่ไม่อยากให้เขายุ่งกับมันอีก แต่ทอมก็ทิ้งปริศนาในหนังสือไปไม่ได้

ปริศนา
นักปราชญ์สมัยก่อนพบว่านำอักษรตัวแรกของทุกบทในภาษาละตินมาผูกเป็นประโยคได้ จึงเชื่อว่ามีปริศนาซ่อนอยู่ในหนังสือเล่มนี้ แต่ไม่มีใครไขมันได้เท่านั้น

จนปัจจุบัน พอลพบว่าฮิปเนโรฯ แบ่งเป็นบทสั้น สลับกับบทยาว ในบทยาวซ่อนกุญแจสำหรับถอดรหัสข้อความที่แท้จริงไว้ ตัวข้อความซ่อนอยู่ในบทสั้นของหนังสือ และฟรานเซสโกยังแบ่งฮิปเนโรฯ เป็นหลายส่วน ใช้กุญแจหรือปริศนาต่างกัน

เช่น ภาพฮีโรกริฟฟิกรูปตาที่เสา โยงถึง “อัลเบอร์ติ” ซึ่งสร้างศัพท์ละตินจากคำสถาปัตยกรรมกรีก ถ้าแทนชื่อสถาปัตยกรรมในฮิปเนโรฯ ด้วยภาษาละติน แล้วดึงตัวอักษรแรกมารวมกัน จะได้ปริศนา “ใครสวมเขาให้โมเสส”
การแก้ปริศนานี้ ต้องรู้ว่ามีการตีความไบเบิ้ลผิด ตอนโมเสสเดินลงจากเขาซีนายพร้อมรัศมี เนื่องจาก “รัศมี” ในภาษาฮิบรูแปลได้อีกอย่างว่า “เขาสัตว์” คำตอบของปริศนานี้คือ Cortuna
กุญแจ cortuna มี 7 ตัวอักษร หมายถึงให้อ่านทุก ๆ คำที่ 7 ของส่วนข้อความ

ความกลมกลืนที่เล็กที่สุดจากชัยชนะที่ยิ่งใหญ่คืออะไร?
คำตอบคือเกมประลองปัญญาของยูโทเปียที่เรียกว่า “ริโมมาชเชีย” เป็นการแข่งเลขคณิต และชุดตัวเลขที่เล็กที่สุดคือ 3-4-6-9

ต้องใช้แขนมากเท่าไรจึงจะไปถึงเส้นขอบฟ้า?
ปริศนานี้เกี่ยวกับศิลปะ เส้นขอบฟ้าในภาพวาดคือคำตอบ นักมนุษยวิทยาชื่อโคลอนนาบอกว่าการวาดมนุษย์ต้องใช้ 3 ช่วงแขนหรือ 3 “บราคเชีย” คำตอบคือ 3

สิ่งที่ด้วงตาบอด นกเค้าแมวและอินทรีปากโค้ง มีเหมือนกันคืออะไร?
ฮอราพอลโลเขียนหนังสือ “ฮีโรกลิฟฟิกา” อธิบายว่าสัตว์ทั้งสามเป็นสัญลักษณ์ของความตาย ซึ่งตรงกับคำละตินว่า mors

จุดที่เลือดและวิญญาณมาบรรจบกันคือที่ไหน?
อิบน์ อัล นาฟิส แพทย์ชาวอาหรับพบว่าอากาศกับเลือดไปผสมกันที่ ปอด

แต่หลังถอดข้อความทั้งหมดได้ ปรากฏว่ามันเป็นแค่การพร่ำพรรณนาของฟรานเซสโกที่บอกว่ามีศัตรูทรงอำนาจอยู่คนหนึ่งในศาสนจักร ซึ่งกำลังจ้องทำลายศิลปะอย่างบ้าคลั่ง เขาจึงวางแผนจะสร้างสุสานใต้ดินเท่านั้นเอง

รายละเอียดที่ตั้งของสุสานนี้กลับอยู่ในส่วนท้ายของฮิปเนโรฯ ที่ตอนแรกทุกคนคิดว่าแต่งไว้เพื่อความสมบูรณ์เท่านั้น กุญแจของส่วนนี้ตีความจากบันทึกของนายท่าเรือชาวจีนัว ได้เป็น กฏแห่งสี่หรือตำแหน่งตัวอักษร “สี่ใต้ สิบตะวันออก สองเหนือ หกตะวันตก” (หน้า 340)

บันทึกนายท่าเรือ
เคอร์รี่เป็นคนได้บันทึกนี้มาในสมัยที่จับกลุ่มวิจัยกับแทฟท์และแพทริค แต่มันหายไป จนปัจจุบัน บิล สไตน์นำมันมาให้พอลดูโดยบอกว่าพบในร้านหนังสือเก่า แต่เคอร์รี่รู้ดีกว่านั้น เขารู้ว่าใครขโมยมันไป และรู้ว่ามีอย่างหนึ่งหายไป นั่นคือพิมพ์เขียว..ส่วนประกอบสำคัญที่จะใช้หาตำแหน่งของสุสานใต้ดิน ที่เก็บมรดกล้ำค่าทางศิลปะวัฒนธรรมจากยุคเรอเนสซองส์ เมื่อบาทหลวงจิโรราโม ซาโวนาโรลา (ค.ศ. 1452-1498) สั่งเผางานศิลปะ ภาพวาดและหนังสือในฟลอเรนซ์ เพราะถือว่าเป็นแหล่งของความเสื่อมทรามในยุคนั้น




Create Date : 07 พฤษภาคม 2549
Last Update : 7 พฤษภาคม 2549 23:31:27 น. 6 comments
Counter : 2273 Pageviews.

 
น่าสนุกจัง ยิ่งมีเค้าของจริงอย่าง หนังสือ
ฮิปเนโรโทมาชเชีย โพลิฟีลี
ยิ่งน่าสน


โดย: แร้ไฟ วันที่: 7 พฤษภาคม 2549 เวลา:12:24:53 น.  

 
ข้ามที่สปอยล์ไปนะคะ เพราะคาดว่าจะอ่านเล่มนี้


โดย: grappa วันที่: 7 พฤษภาคม 2549 เวลา:12:25:51 น.  

 
ข้ามที่สปอยล์เหมือนกันค่ะ แต่ Brother Francesco นั่นน่าจะแปลว่านักบวชนะคะ ไม่ใช่พี่ชาย


โดย: ลูกสาวโมโจโจโจ้ (the grinning cheshire cat ) วันที่: 11 พฤษภาคม 2549 เวลา:12:15:38 น.  

 
อ่านแล้วรู้สึกเหมือนว่า climax ที่แท้จริงไม่ใช่การหาปริศนาคำตอบของหนังสือ

แต่เป็นการที่เด็กหนุ่มจะต้องเติบโตเป็นชายหนุ่ม
และกำลังสับสนกับเรื่องราวต่าง ๆ รอบตัว

ทั้งการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ การก้าวออกจากรั้วมหาวิทยาลัย ไปใชีชีวิตในสังคม
ทั้งการบริหารจัดการเวลาที่มีให้ลงตัว
เพื่อที่จะเป็นเพื่อการทำงาน เพื่อสังคม (เพื่อน ๆ ในเรื่อง) เพื่อคนรัก

หรือจะคิด philosophise ไปก็ไม่แน่ใจนะคะ TT

(ขออนุญาตมานอกเรื่อง TT)


โดย: หมาเลี้ยงแกะ วันที่: 16 พฤษภาคม 2549 เวลา:2:45:34 น.  

 
ผมชอบเรื่องนี้มากเลยละครับ
มันอ่านไปเรื่อยๆแล้วรู้สึกถึงอะไรหลายๆอย่าง
ความสำเร็จ ความฝัน เพื่อน
จบแล้วก้ทำให้เรารู้สึกว่าเราต้องยอมรับในความฝัน และ ความเป็นจริง ควบคู่กันไป


โดย: testsuto IP: 61.47.110.175 วันที่: 22 มีนาคม 2550 เวลา:23:04:47 น.  

 
บอกได้คำเดียว เบื่อ อืดอาด ไม่เข้าใจว่าสื่ออะไร


โดย: Q Tutor IP: 58.9.97.102 วันที่: 27 กรกฎาคม 2554 เวลา:18:55:38 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.