Ninja!
Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2549
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
5 ตุลาคม 2549
 
All Blogs
 
Brain stroke อัมพาต เส้นเลือดในสมองแตก

อัมพาต (paralysis) หมายถึง อาการอ่อนแรงของแขนขาหรืออวัยวะภายนอกอื่น ๆ (เช่น ใบหน้า ตา ปาก )
ทำให้ร่างกายส่วนนั้นเคลื่อนไหวไม่ได้ หรือได้น้อยกว่าปกติ โดยอาจมีอาการชา (ไม่รู้สึกเจ็บ) ร่วมด้วย
หรือไม่ก็ได้ ถ้าขาทั้งสองข้างมีอาการอ่อนแรงหรือขยับเขยื้อนไม่ได้ เราเรียกว่า อัมพาตครึ่งล่าง
(paraplegia) ถ้าแขนขาทั้ง 4 ขยับเขยื้อนไม่ได้ เรียกว่า อัมพาตหมดทั้งแขนขา (quadriplegia)
อัมพาตทั้ง 2 ลักษณะนี้มักมีสาเหตุจากโรคของไขสันหลัง
แต่ถ้าแขนขาเพียงซีกใดซีกหนึ่งอ่อนแรง หรือขยับเขยื้อนไม่ได้เราเรียกว่า อัมพาตครึ่งซีก (hemiplegia)
ซึ่งเป็นเรื่องที่จะกล่าวถึงต่อไปในที่นี้ส่วนสาเหตุของอาการอัมพาตชนิดต่าง ๆ

อัมพาตครึ่งซีก
อัมพาตครึ่งซีก จัดว่าเป็นโรคที่พบได้บ่อยขึ้นในบ้านเราขณะนี้ มักพบในวัยกลางคนขึ้นไปเป็นส่วนใหญ่
และเป็นได้ทั้งหญิงและชาย โรคนี้เกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือดแดงในสมอง กล่าวคือ อาจมีการ
แตก ตีบ หรือตันของหลอดเลือดเหล่านี้ ทำให้เนื้อสมองบางส่วนที่ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของ
ร่างกายตายไปและหยุดสั่งงาน จึงทำให้เกิดอาการอัมพาตของร่างกายส่วนนั้น ๆ ขึ้นอาการมักจะเกิดขึ้น
ฉับพลันทันที เรียกว่า โรคลมอัมพาต หรือ สโตรก (Stroke) หรืออุบัติเหตุจากหลอดเลือดสมอง
(Cerebrovascular accident/CVA)

สาเหตุ
อาจแบ่งเป็น 3 ประการใหญ่ ๆ ซึ่งมีความรุนแรง และวิธีการรักษาที่ต่างกัน
ดังนี้
1. หลอดเลือดในสมองตีบตัน (Cerebral thrombosis) พบมากในคนสูงอายุ
เนื่องจากหลอดเลือดแดงมีการแข็งตัวหรือเสื่อม ทำให้มีโอกาสตีบตันได้ง่าย
ขึ้น นอกจากนี้ผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง, เบาหวาน, ภาวะไขมันใน
เลือดสูง, คนที่สูบบุหรี่จัด หรือดื่มเหล้าจัด หรือคนอ้วน ก็มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้
มากกว่าคนปกติ เนื่องจากผู้ป่วยเหล่านี้มักมีการเสื่อมและตีบของหลอดเลือด
แดงเร็วขึ้น คนที่มีญาติพี่น้องเป็นอัมพาตครึ่งซีก ก็อาจมีโอกาสเป็นโรคนี้มาก
กว่าปกติสาเหตุนี้พบได้บ่อยกว่าสาเหตุอื่น ๆ และไม่ค่อยมีอันตรายร้ายแรง
2. หลอดเลือดในสมองมีลิ่มเลือดอุดตัน (Cerebral embolism) เนื่องจากมี
ลิ่มเลือดเล็ก ๆ (embolus) ที่เกิดขึ้นในหลอดเลือดที่อยู่นอกสมอง หลุดลอย
ตามกระแสเลือดขึ้นไปอุดตันในหลอดเลือดที่อยู่ในสมอง มักพบในผู้ป่วยที่
เป็นโรคหัวใจ เช่นโรคหัวใจรูมาติก, กล้ามเนื้อหัวใจตาย, หัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นต้น
3. หลอดเลือดในสมองแตก หรือการตกเลือดในสมอง (Cerebral
hemorrhage) เป็นสาเหตุที่มีอันตรายร้ายแรงอาจตายได้ในเวลารวดเร็วมักมี
สาเหตุจากโรคความดันโลหิตสูง นอกจากนี้ ยังอาจมีสาเหตุจากความผิดปกติ
ของหลอดเลือดแดงที่เป็นมาแต่กำเนิด (congenital aneurysm), หลอดเลือด
ฝอยผิดปกติแต่กำเนิด (arteriovenous malformation/AVM) เป็นต้น หลอดเลือดผิดปกติเหล่านี้มักจะแตกและทำให้เกิดอาการอัมพาตเมื่อผู้ป่วยอยู่
ในวัยหนุ่มสาวหรือวัยกลางคน โรคที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับการแข็งตัว เช่น
ตับแข็ง, โรคเลือดบางชนิด เป็นต้น บางครั้งก็อาจกลายเป็นสาเหตุหนึ่งของการ
ตกเลือดในสมองได้

อาการ
1. ผู้ป่วยที่เป็นอัมพาต เนื่องจากหลอดเลือดในสมองตีบตัน มักมีประวัติเป็นคน
สูงอายุ หรือไม่ก็อาจเป็นโรคความดันโลหิตสูง หรือเบาหวาน สูบบุหรี่จัดหรือ
ดื่มเหล้าจัดอยู่ก่อน แล้วอยู่ ๆ ก็มีอาการแขนขาซีกหนึ่งอ่อนแรงลงทันทีทันใด ผู้ป่วยอาจสังเกตพบอาการอัมพาตขณะตื่นนอน หรือขณะเดินหรือทำงานอยู่ก็
รู้สึกทรุดล้มลงไป ผู้ป่วยอาจมีอาการชาตามแขนขา ตามัว ตาเห็นภาพซ้อน
พูดไม่ได้ หรือพูดอ้อแอ้ ปากเบี้ยว หรือกลืนไม่ได้ร่วมด้วยบางคนอาจมีอาการ
ปวดศีรษะ วิงเวียน หรือมีความรู้สึกสับสนนำมาก่อนที่จะมีอาการอัมพาตของ
แขนขา ผู้ป่วยมักจะมีความผิดปกติที่ซีกใดซีกหนึ่งของร่างกายเพียงซีกเดียว
เท่านั้น กล่าวคือ ถ้าการตีบตันของหลอดเลือดเกิดขึ้นในสมองซีกซ้าย ก็จะมี
อาการอัมพาตที่ซีกขวา ถ้าเกิดขึ้นในสมองซีกขวาก็จะเกิดอัมพาตที่ซีกซ้าย
ผู้ป่วยส่วนมากจะรู้สึกตัวดี หรืออาจจะซึมลงเล็กน้อย ยกเว้นในรายที่เป็นรุน
แรง อาจมีอาการหมดสติร่วมด้วยอาการอัมพาตมักจะเป็นอยู่นานกว่า 24
ชั่วโมงขึ้นไป และจะเป็นอยู่นานแรมเดือนแรมปี หรือตลอดชีวิตผู้ป่วยที่เป็น
อัมพาตบางคน อาจมีประวัติแขนขาชา และอ่อนแรง ปากเบี้ยว พูดไม่ได้ ตามัว
หรือเวียนศีรษะ ซึ่งจะเป็นนานเพียง 2-3 นาที (บางคนอาจนานเป็นชั่วโมงแต่
จะไม่เกิน 24 ชม.) แล้วหายเป็นปกติได้เอง โดยไม่ต้องให้การรักษาแต่อย่าง
ใด อาการดังกล่าวเกิดจากสมองขาดเลือดไปเลี้ยง เนื่องจากมีการอุดตันของ
หลอดเลือดแดงในสมองเป็นเพียงชั่วคราว เราเรียกว่า โรคสมองขาดเลือดชั่ว
ขณะ หรือ ทีไอเอ (TIA ซึ่งย่อมาจาก Transient ischemic attack) ผู้ป่วยอาจ
มีอาการดังกล่าวเป็น ๆ หาย ๆ มาก่อนสักระยะหนึ่ง (อาจประมาณ 6 เดือนถึง
1 ปี) จึงค่อยเกิดอาการอัมพาตอย่างถาวรตามมาในภายหลัง
2. ผู้ป่วยที่เป็นอัมพาตเนื่องจากหลอดเลือดในสมองมีลิ่มเลือดอุดตันจะมีอา
การคล้ายในข้อ 1 แต่อาการอัมพาตมักเกิดขึ้นฉับพลันทันที
3. ผู้ป่วยที่เป็นอัมพาตเนื่องจากหลอดเลือดในสมองแตก อาการมักเกิดขึ้น
ทันทีทันใด ขณะทำงานออกแรงมาก ๆ หรือขณะร่วมเพศ โดยไม่มีสิ่งบอกเหตุ
ล่วงหน้า อาจบ่นปวดศีรษะรุนแรง หรือปวดศีรษะซีกเดียวอย่างไม่เคยเป็นมา
ก่อน แล้วก็มีอาการปากเบี้ยว พูดไม่ได้ แขนขาค่อย ๆ อ่อนแรง อาจชักและ
หมดสติในเวลารวดเร็ว ถ้าตกเลือดรุนแรง ผู้ป่วยมักมีอาการหมดสติ ตัวเกร็ง
รูม่านตาหดเล็กทั้ง 2 ข้าง ซึ่งมักจะตายใน 1-2 วัน ถ้าตกเลือดไม่รุนแรงก็อาจ
มีโอกาสฟื้นและค่อย ๆ ดีขึ้น หรือถ้าได้รับการผ่าตัดได้ทันท่วงที ก็อาจช่วยให้
รอดได้

สิ่งตรวจพบ
การตรวจร่างกาย นอกจากการอัมพาตของแขนขาซีกหนึ่งแล้ว อาจมีอาการ
ปากเบี้ยว พูดไม่ได้ ซึม ความดันเลือดสูง รีเฟลกซ์ของข้อ (tendon reflex) ไว
กว่าปกติ ในรายที่เกิดจากมีลิ่มเลือดอุดตันการตรวจร่างกายอาจพบความผิด
ปกติของหัวใจ เช่น ฟังได้เสียงฟู่ (murmur) หรือ หัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นต้น

ในรายที่เกิดจากหลอดเลือดในสมองแตก อาจมีอาการหมดสติ คอแข็ง อาจ
ตรวจพบรูม่านตา 2 ข้างไม่เท่ากัน ถ้าเป็นรุนแรงอาจพบรูม่านตาหดเล็กทั้ง 2
ข้าง

อาการแทรกซ้อน
ในรายที่เป็นรุนแรง อาจตายด้วยโรคแทรกทางสมอง โรคหัวใจ หรือภาวะลิ่ม
เลือดอุดตันในหลอดเลือดดำปอด (pulmonary embolism), ปอดอักเสบ ใน
รายที่เป็นอัมพาตเรื้อรัง และลุกนั่งไม่ได้ อาจนอนมากจนมีแผลกดทับ (bed
sores) ที่ก้น หลัง ข้อต่าง ๆ, อาจสำลักอาหาร เกิดภาวะอุดกั้นของทางเดิน
หายใจ หรือปอดอักเสบ, อาจเป็นโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบได้ง่าย หรืออาจ
เป็นแผลถลอกของกระจกตา หรือเป็นโรคซึมเศร้า


การรักษา
ถ้าหมดสติ ซึม คอแข็ง ชัก กินไม่ได้ ควรส่งโรงพยาบาลด่วน ถ้ามีภาวะขาดน้ำ
ควรให้น้ำเกลือมาระหว่างทางด้วย
ส่วนผู้ป่วยที่ยังรู้สึกตัวดี ควรส่งโรงพยาบาลภายใน 24 ชั่วโมง อาจต้องตรวจ
หาสาเหตุด้วยการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง, ถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็ก
(MRI), เจาะหลัง, ตรวจเลือด, ตรวจปัสสาวะและอื่น ๆ แล้วให้การรักษาตาม
สาเหตุ ดังนี้
1. ในรายที่เป็นเพียง ทีไอเอ (สมองขาดเลือดชั่วขณะ) คือ มีอาการของอัมพาต
ไม่เกิน 24 ชั่งโมง แล้วหายได้เอง อาจให้แอสไพริน (ย1.1) วันละ 75-325 มก.
ทุกวันตลอดไป เพื่อป้องกันมิให้มีการตีบตันของหลอดเลือดอย่างถาวรซึ่งจะทำ
ให้ผู้ป่วยกลายเป็นอัมพาตชนิดถาวร
ในรายที่กินแอสไพรินไม่ได้ อาจให้ยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด เช่น
ไทโคลดิพีน (Ticlodipine) มีชื่อทางการค้า เช่น ไทคลิด (Ticlid) ขนาด 250
มก. วันละ 2 ครั้งแทน
2. ในรายที่เกิดจากหลอดเลือดตีบตัน หรือมีลิ่มเลือดอุดตัน ให้การรักษาตาม
อาการ (เช่น ให้น้ำเกลือ ให้อาหารทางสายยาง ให้ยาลดความดันเลือด ให้ยา
รักษาโรคเบาหวาน เป็นต้น) ให้แอสไพริน วันละ 75-325 มก. ทุกวัน หรือ
ไทโคลดิพีน 250 มก. วันละ 2 ครั้ง เพื่อป้องกันมิให้หลอดเลือดตีบตันมากขึ้น
และให้การรักษาทางกายภาพบำบัด
ในรายที่เกิดจากลิ่มเลือดอุดตัน ในระยะ 2-3 วันแรก อาจให้ยาต้านการแข็ง
ตัวของเลือด เช่น เฮพาริน (Heparin) ฉีดเข้าหลอดเลือดดำผู้ป่วยที่อาการไม่
รุนแรง ถ้าจะดีขึ้นก็จะเริ่มมีอาการดีขึ้นให้เห็นภายใน 2-3 สัปดาห์ และจะค่อย
ๆ ฟื้นตัวขี้นเรื่อย ๆ จนสามารถช่วยตัวเองได้ถ้าอาการไม่ดีขึ้นหลัง 6 เดือนไป
แล้ว ก็มักจะพิการ
3. ในรายที่เกิดจากหลอดเลือดในสมองแตก ให้การรักษาตามอาการ และอาจ
ต้องผ่าตัดสมอง เมื่อปลอดภัยแล้ว ค่อยให้การรักษาทางกายภาพบำบัดต่อไป

ข้อแนะนำ
1. เมื่อผู้ป่วยได้รับการรักษาจนพ้นระยะอันตราย เริ่มรู้สึกตัวดี หายใจสะดวก
กินอาหารได้ ควรให้การดูแลพยาบาลต่อ ดังนี้
1.1 พยายามพลิกตัวผู้ป่วยไปมาทุก 2 ชั่วโมง เพื่อป้องกันมิให้เกิดแผลกดทับ
(bed sores) ที่ก้น หลัง ข้อต่าง ๆ
1.2 ให้อาหารและน้ำให้เพียงพอ ถ้าขาดน้ำ ผู้ป่วยจะซึม หรืออาการเลวลง
1.3 พยายามบริหารข้อโดยการเหยียด และงอแขนขาตรงทุก ๆ ข้อต่อบ่อย ๆ
เพื่อป้องกันมิให้ข้อเกร็งแข็ง
2. เมื่ออาการดีขึ้น ผู้ป่วยต้องหมั่นบริหารกล้ามเนื้อ และพยายามใช้แขนขา
เพื่อให้ฟื้นตัวเร็วขึ้น ถ้าผู้ป่วยนอนเฉย ๆ ไม่พยายามใช้แขนขา กล้ามเนื้อก็จะ
ลีบ และข้อแข็ง
3. โรคนี้มักเป็นเรื้อรัง บางคนอาจฟื้นตัวได้เร็ว และช่วยตัวเองได้ บางคนอาจ
ฟื้นตัวช้า หรือพิการตลอดไป แต่สติปัญญาของผู้ป่วยส่วนมากยังดีเช่นปกติ
ญาติควรแสดงความเห็นอกเห็นใจ อย่าแสดงความรังเกียจ และคอยให้กำลัง
ใจผู้ป่วยอยู่เสมอ
4. ในปัจจุบันยังไม่มียาที่ช่วยให้โรคนี้หายเป็นปกติได้ การรักษาขึ้นกับตัวผู้
ป่วยเป็นสำคัญ ในการพยายามฟื้นฟูกำลังแขนขา โดยวิธีกายภาพบำบัด ผู้ป่วย
ควรรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน ไม่ควรเปลี่ยนโรงพยาบาลบ่อย หรือเดินทาง
ไปรักษายังโรงพยาบาลไกล ๆ เพราะการรักษาย่อมไม่แตกต่างกันมาก
5. ผู้ป่วยควรงดเหล้า บุหรี่
6. ถ้าเป็นโรคความดันโลหิตสูง หรือเบาหวาน ควรดูแลรักษาโรคนี้อย่างจริง
จัง (ดูรายละเอียดของโรคเหล่านี้เพิ่มเติม)

การป้องกัน
การป้องกันมิให้เป็นโรคอัมพาต อาจกระทำได้โดย
1. งดบุหรี่ แอลกอฮอล์ และอาหารที่มีไขมันมาก, ลดน้ำหนัก (ถ้าอ้วน), และ
หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อป้องกันมิให้หลอดเลือดแข็งตัวเร็ว
2. หมั่นตรวจเช็กความดันเลือดเป็นประจำ
3. ตรวจเช็กไขมันในเลือด ถ้ามีภาวะไขมันในเลือดสูง ควรหาทางควบคุมให้
เป็นปกติ
4. ถ้าเป็นโรคความดันโลหิตสูง หรือเบาหวาน ควรรักษาเป็นประจำอย่าได้ขาด
เพราะเมื่อควบคุมโรคเหล่านี้ได้ ก็จะลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอัมพาต
5. ถ้าเคยมีอาการอัมพาตชั่วคราวจากสมองขาดเลือดชั่วขณะ (ทีไอเอ) ควรรีบ
ปรึกษาแพทย์ และกินยาแอสไพริน (หรือยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด)ตาม
แพทย์สั่งเป็นประจำอย่าได้ขาด


ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล //www.thailabonline.com
ส่วนภาพประกอบนั้นมาจาก //www.vcharkarn.com
คอมเม้นท์จากเจ้าของบล็อค

โรคนี้ป้องกันไว้ดีกว่าที่จะต้องมานั่งแก้ไข อย่าคิดว่ามันเป็นเรื่องห่างไกลสำหรับคนที่ไม่เคยประสบเอง เพราะเราไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่าจะเกิดขึ้นได้เมื่อไหร่และเวลามันเกิดขึ้นมาในลักษณะที่เฉียบพลันมาก ๆ โดยที่ไม่มีเวลาได้ตั้งตัวเลย เกิดขึ้นได้ทุกเวลา เหมือนดั่งที่พ่อผมได้ประสบมา

แรงบันดาลใจในการนำเสนอเรื่องนี้ เพราะพ่อของผมตอนนี้ได้ป่วยเป็นอัมพาตอยู่ เป็นมา 8 ปี เกิดจากเส้นเลือดในสมองแตกสาเหตุนั้นนอกจากบุหรี่ แอลกอฮอล์และข้ออื่น ๆ ดังที่กล่าวไปในตอนท้ายแล้ว ผมว่ายังปัจจัยอีกหนึ่งข้อที่ผมขอตั้งเองคือ "ความเครียด" ผมว่า ความเครียดนั้นคือยาพิษอย่างดีสำหรับร่างกายของเราเลย ไม่ใช่เฉพาะโรคนี้โรคเดียวหรอกครับ มันสามารถบั่นทอนสุขภาพที่ดีอยู่แล้วให้แย่ลงได้หรือทำให้โรคประจำที่เป็นอยู่แล้วกำเริบขึ้นมาได้

ปล.บุญรักษาครับ






Create Date : 05 ตุลาคม 2549
Last Update : 31 มกราคม 2550 3:03:17 น. 4 comments
Counter : 1937 Pageviews.

 
เข้ามาหาความรู้ค่ะ


โดย: miss Florence in Venice วันที่: 5 ตุลาคม 2549 เวลา:6:18:14 น.  

 
ครับ


โดย: keano (jonykeano ) วันที่: 8 ตุลาคม 2549 เวลา:1:22:04 น.  

 
.. ขอบคุณค่ะ


โดย: hayashimali วันที่: 28 ตุลาคม 2549 เวลา:5:05:37 น.  

 
ขอบคุณครับ


โดย: ต้อม (usadang ) วันที่: 25 มิถุนายน 2552 เวลา:16:43:33 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

MaThilDra
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add MaThilDra's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.